20 กันยายน 2552

ศรีลังกา( นอกตำรา) ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๑


คนจงใจอยากให้เกิด

แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com





..........นับเป็นมหากาพย์แห่งการประหัตประหารที่หฤโหด สุดขั้วของมนุษย์ชาติในประเทศศรีลังกา ที่มีรากฐานความขัดแย้งของกลุ่มชน ๒ เผ่าพันธุ์ คือ ชาวทมิฬกับชาวสิงหล ที่มีมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมไปลากเอาคนสองเผ่าพันธุ์ ให้มาเป็นปรปักษ์ ต่อกัน เพื่อผลประโยชน์ของชาติตนเอง ๓๐ ปีแห่งความหฤโหดได้เป็น “ปฐมบท – ต้นแบบ” ของการก่อการร้ายที่ หลายกลุ่มขอลอกเลียนแบบ

ชาวโลกรู้จัก “ระเบิดพลีชีพ” เมื่อไม่นานมานี้

ต้องขอเรียนว่า “ต้นตำรับ – ของจริง” กำเนิดมาจากสมรภูมิแห่งนี้ครับ

กบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam : LTTE ) เป็นใคร ?

มีบันทึกว่า ในราว ในศตวรรษที่ ๕ ชนเผ่าที่เรียกตัวเองว่าสิงหลซึ่งเป็นชนเผ่าที่เข้มแข็งกว่ากลุ่มอื่นอพยพจากแผ่นดินใหญ่อินเดียเข้ามาตั้งรกรากบนเกาะซีลอน

ย้อนยุคไปในปี พ.ศ.๒๐๔๘ นักล่าอาณานิคมโปรตุเกตแล่นเรือเข้ามาและพยายามครอบครองเกาะซีลอน ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญหารและเครื่องเทศ

ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๒๐๑ กองกำลังชาวดัทช์ที่มีศักยภาพทางทะเลเข้มแข็งกว่าได้ผลักดันกองกำลังของโปรตุเกตออกไป แล้วเข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะได้ คงเหลือแต่เมืองแคนดี้ ( Kandy)

พ.ศ.๒๓๕๘ นักล่าอาณานิคมตัวจริงคือ อังกฤษ เข้ามาปราบปราม ผลักดันทุกกลุ่มออกไปและสามารถยึดครองพื้นที่ทั้งหมดรวมทั้งเมืองแคนดี้ได้ แล้วจึงเริ่มจัดการโยกย้ายถิ่นฐานของชนเผ่าทมิฬจากทางภาคใต้ของอินเดีย เข้ามาเป็นแรงงานปลูกชา กาแฟ มะพร้าว เพื่อทยอยนำผลผลิตการเกษตรกลับไปเกาะอังกฤษ

ผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องราวของนักปล้น – นักล่าอาณานิคมทั้งหลายมามาก พบว่าไอ้พวกฝรั่งเจ้าเล่ห์ พวกนี้จะต้องใช้เล่ห์เพทุบาย ยุยง เสี้ยม เพื่อก่อให้เกิดการเข่นฆ่า ประหัตประหารระหว่างชนเผ่าในพื้นที่ เพื่อง่ายต่อการเข้าไปยึดแล้วปกครอง มันก่อกรรมทำเข็ญมานานนับร้อยปี แม้ในขณะนี้ก็ยังมิได้คิดจะเลิกรา

การนำผู้คนออกจากพื้นที่แห่งหนึ่ง ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ในลักษณะหนึ่งโยกย้ายนำไปตั้งรกรากในอีกพื้นที่หนึ่งที่ประชากรมีความแตกต่างในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่อย่างสิ้นเชิง นับเป็นปฐมบทแห่งความขัดแย้งของมนุษย์บนโลกใบนี้

มันเป็นความละโมบผสมผสานกับสนุกสนานและเป็นสุดยอดวิชามาร ของประเทศนักล่าอาณานิคมที่จงใจให้คนมันฆ่ากันครับ

ประเทศรอบบ้านเราทั้งหมดคือหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ผมยืนยัน

ในปี พ.ศ.๒๓๗๖ เกาะซีลอนทั้งเกาะก็ตกเป็นของอาณานิคมภายใต้การปกครองของอังกฤษโดยสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้น

อังกฤษเริ่มให้ชาวสิงหลเรียนรู้ที่จะปกครองตนเอง ในรูปแบบของรัฐสภา และอังกฤษได้มอบความเป็นเอกราชให้ประเทศซีลอนในปี พ.ศ.๒๔๘๑

อำนาจทางการเมืองการปกครองตกอยู่ในมือของชาวสิงหลเบ็ดเสร็จ แน่นอนที่สุด ชนเผ่าทมิฬที่อังกฤษนำเข้ามาทำงานก็แทบจะไม่พื้นที่ยืนในสังคมประเทศซีลอน

ความปรีดาปราโมทย์ของชาวสิงหลที่เพิ่งได้รับเอกราช รสชาติแห่งความเป็นประเทศซีลอนมันหอมหวนตลบอบอวลยิ่งนัก ความรู้สึกเยี่ยงนี้มันเป็นกลุ่มก้อนเฉพาะพวกพ้องสายเลือดเดียวกันเท่านั้น โดยไม่ขอนับญาติกับชาวทมิฬ

ชาวทมิฬจำนวนมากที่อังกฤษพามาตั้งรกรากและให้ทำงานเยี่ยงทาส ให้กับแผ่นดินนี้ เหลียวหน้าเหลียวหลังก็พบแต่ความว่างเปล่า เริ่มรู้ชะตากรรมของตน ว่าตกที่นั่งลำบากแน่นอน เริ่มรวมตัวกันเพื่อแสวงหาความเป็นตัวตนของชนเผ่าตัวเอง และตระหนักว่าโลกนี้คับแคบไปเสียแล้ว

สถานการณ์เริ่มบีบคั้นหนักมากขึ้นใน พ.ศ.๒๔๙๙ เมื่อ นายโซเลมอน บันดาราไนยเก ( Solamon Bandaranaike) ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น จากกระแสชาตินิยมของชาวสิงหล ผลที่ตามมาก็คือมาตรการและข้อจำกัดของรัฐบาล ต่างๆนานาที่มีความเข้มงวดไม่ยอมรับและกีดกันชาวทมิฬ สภาพแวดล้อมในครั้งนั้นเป็นการหล่อหลอมชาวทมิฬให้เริ่มการประท้วงไปทั่วประเทศ การปราบปรามครั้งแรก จบลงด้วยชาวทมิฬถูกสังหารราว ๑๐๐ คน

ประกายไฟกระเด็นตกใกล้ถังน้ำมันเข้าไปทุกที

สองปี ถัดมาในปี พ.ศ.๒๕๐๑ เกิดการจลาจลต่อต้านชาวทมิฬ ทางการออกมาปราบปรามอีกครั้ง มีบันทึกเหตุการณ์ว่า ชาวทมิฬถูกสังหารมากกว่า ๒๐๐ คน ทำให้ชาวทมิฬส่วนใหญ่ต้องหนีตายเข้าป่า บ้างก็หลบลงใต้ดินเพื่อไปเตรียมการต่อสู้แบบกองโจร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ดำเนินการทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติของทางการในเวลานั้น คือ พวกที่ยึดหลักการลัทธิชาตินิยมของชาวสิงหลที่เป็นชนชั้นปกครอง ทำให้ชาวทมิฬสำนึกอยู่เสมอว่าถ้ายังคงต่อสู้ก็จะยังมีโอกาสรอด แต่ถ้าไม่สู้ ตายลูกเดียว

ผู้เขียนย้อนเรื่องราวความขัดแย้งชนเผ่าสิงหลกับทมิฬมาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านก็คงทราบกันดีว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่พิสดารอะไรที่ไหน ความขัดแย้งซ้ำซาก น้ำเน่าแบบนี้ ประเทศนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย เขียนบทละครให้คนหลายเผ่าพันธุ์บนโลกใบนี้ฆ่ากันเพื่อประโยชน์สุขของเขาตราบจนทุกวันนี้ครับ




-------------------------------------------------------------

ศรีลังกา( นอกตำรา) ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๒



เมื่อมีวันเสียงปืนแตก


แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com


..........ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ นางสิริมาโว บันดาราไนยเก (Sirimavo Bandaranaike)ได้รับเลือกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของซีลอน มีบันทึกว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก เธอต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงของคนในชาติที่ถือเป็นประเด็นที่อาจทำให้ประเทศชาติล่มสลายได้ ความเป็นปรปักษ์ของชาวทมิฬกับชาวสิงหล เปรียบเสมือนแผลขนาดใหญ่เรื้อรังที่ยังรักษาไม่หาย และนับวันแผลจะขยายตัวลุกลามออกไป ยังมืดมนไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหาได้

ถึงแม้ประเทศซีลอนจะปกครองใน “รูปแบบ” ของประชาธิปไตย แต่ เป็นที่ทราบกันดีว่า “ เนื้อหา” ของเธอชัดเจน คือ ความเป็นชาตินิยม (Nationalism) ที่รัฐบาลลำเอียง เข้าข้างชาวสิงหล และกีดกันชาวทมิฬ
ในช่วงเวลานั้น เริ่มมีการรวมกำลังของกลุ่มชาวทมิฬ อย่างหลวมๆ ซึ่งกระจายตัวไปหลายพื้นที่

ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า ประเทศศรีลังกานั้น มีประชากรเพียง ๒๐.๓ ล้านคน เป็นชนเผ่าทมิฬเพียงร้อยละ ๑๔ ชาวทมิฬส่วนใหญ่อาศัยตามริมทะเลด้านเหนือและทางตะวันออกของเกาะ

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ขบวนการนักศึกษาซึ่งเป็นชาวสิงหลในซีลอน ออกมาผสมโรงจัดตั้งสมาคม ต่อต้านชาวทมิฬ ประกาศตัวแสดงพลังก่อเหตุจลาจลในประเทศ

ปี พ.ศ.๒๕๑๕ นายกรัฐมนตรีหญิง ของประเทศซีลอนประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ซีลอน เป็น “ศรีลังกา (Sri Lanka)” ประกาศนโยบาย ให้ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาหลักของชาติ มีแนวนโยบาย ไม่ยอมรับชาวทมิฬที่เป็นชนกลุ่มน้อย ชาวทมิฬที่ตะแคงหูคอยฟัง นโยบายของรัฐ เห็นสัญญาณชัดเจนว่าอยู่ลำบากซะแล้ว

๕ พ.ค.๒๕๑๙ ถือได้ว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ชาวทมิฬกลุ่มหนึ่งประมาณ ๔๐ – ๕๐ คน รวมตัวกันประเทศจัดตั้งกลุ่ม พยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam : LTTE)

ในโครงสร้างของกลุ่มมีนายอุมา มาเฮสวารัน เป็น หัวหน้ากลุ่ม นาย ประภาการัน เป็น ผู้บัญชาการกองกำลัง (ฝ่ายทหาร) มีแกนนำระดับหัวหน้า ๕ คน เพื่อควบคุมบังคับบัญชาความเคลื่อนไหวในทุกรูปแบบเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล เป้าหมายคือการจัดตั้งรัฐบาลอิสระในพื้นที่ทางตอนเหนือและพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศศรีลังกา โดยจะใช้การต่อสู้แบบกองโจรมุ่งทำลายรัฐบาลชาวสิงหลที่ปกครองประเทศ

กลุ่ม LTTE ถือเป็นกองกำลังติดอาวุธมีภารกิจหลักในการใช้กำลัง

นาย ประภาการัน และครอบครัว


พัฒนาการต่อมาหลังจากนั้น กลุ่มชาวทมิฬเห็นว่าชาวทมิฬควรมีการต่อสู้ในทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นเมื่อ ๑๔ พ.ค.๒๕๑๙ จึงมีการจัดตั้งแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ ( Tamil United Liberation Front : TULF ) ขึ้นมา โดยมีข้อมติของกลุ่มกำหนดให้กองกำลัง LTTE มีรัฐธรรมนูญสำหรับชาวทมิฬในศรีลังกา
ในระยะต่อมา TULF กับ LTTE เดินไปด้วยกันไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากสมาชิก TULF ดูเหมือนจะมีแนวทางการต่อสู้แบบประนีประนอม เดินสายกลาง หากแต่ LTTE เห็นแย้ง

แต่ในห้วงเวลานั้น “จุดร่วม” ของทั้ง ๒ กลุ่มยังคงต้องการทำงานเพื่อชาวทมิฬ ทั้งสองกลุ่มจึงยังคงเดินหน้าต่อไปโดยมี เป้าหมายคือ การเข้าแย่งชิง ครอบครองพื้นที่ทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกของของศรีลังกา

การเลือกตั้งในปี พ.ศ.๒๕๒๑ กลุ่ม TULF ชนะขาดลอยในพื้นที่ชาวทมิฬ ก่อให้เกิดการจลาจลในศรีลังกาอีกครั้ง มีชาวทมิฬที่ถูกสังหารราว ๑๐๐ คน เหตุการณ์จลาจลครั้งนั้นเป็นเสมือน “กาวใจ” ที่ทำให้ TULF กับ LTTE หันหน้าเข้าหากันได้อีกครั้ง

ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องถือว่า “ความขัดแย้ง”ได้ขยายตัวลุกลามออกไป โดยที่ทุกฝ่ายยังไม่สามารถค้นพบแนวทางแก้ไขได้ ยังคงมีการสูญเสียของทั้งสองฝ่ายตลอดเวลา
เหตุการณ์ ๒๓ ก.ค.๒๕๒๖ ทหารรัฐบาล จำนวน ๑๓ คน ถูกกองโจร LTTE ซุ่มโจมตีเสียชีวิตทั้งหมด ถือได้ว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก” ในศรีลังกา

ประชาชนศรีลังกาเผ่าสิงหล ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศรับไม่ได้กับการกระทำอันป่าเถื่อนของนักรบทมิฬ ลุกขึ้นจับอาวุธรวมตัวกันไล่ล่าสังหารประชาชนชาวทมิฬเพื่อเป็นการล้างแค้น แม้กระทั่งพลเรือนชาวทมิฬผู้บริสุทธิ์ก็ต้องหนีตาย บ้านเมืองระส่ำระสาย เข้าสู้กลียุค
นี่คือสงครามประชาชน ที่ผู้คน ๒ เผ่าพันธุ์หยิบฉวยทุกอย่างที่เป็นอาวุธมาเข่นฆ่ากัน ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้นคือ “กูเกลียดมึง”

ชาวสิงหลสังหารชาวทมิฬไปราว ๒๐๐ – ๓๐๐ คน เหตุการณ์ครั้งนั้นนักรบ LTTE ประกาศให้เป็น “ปฐมบทของการต่อสู้” ซึ่งกาลต่อมาพิสูจน์ว่า LTTE พูดจริง ทำจริง

อันที่จริงมีนักสังเกตการณ์มองเห็นว่า เมื่ออังกฤษปลดปล่อยศรีลังกาให้เป็นประเทศสมบูรณ์แล้ว ศรีลังกาโดยลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์แล้วมีฮวงจุ้ยดีเลิศ น่าจะรุ่งเรืองโชติช่วง เนื่องจากเป็นเกาะที่เป็นจุดเชื่อมต่อทางทะเล เป็นเมืองท่าที่เรือจำนวนมากต้องมาแวะทำมาค้าขาย

แต่เงื่อนไขทางการเมือง เงื่อนไขความขัดแย้งทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่มีคนอื่นมาสร้างไว้ให้ ประกอบกับการที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างความกลมกลืมระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬได้อย่างแนบเนียน จึงทำให้ชนในชาติต้องถลำเข้าไปในไฟแห่งสงครามนานเกือบ ๓๐ ปี


---------------------------------------------------------------------

ศรีลังกา ( นอกตำรา ) ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๓

กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมแตกคอกันเอง

แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com

ใช่ว่า LTTE ที่ทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อชาวทมิฬจะมีเอกภาพราบรื่น จากเหตุการณ์ที่ไปซุ่มโจมตีทหารตายไป ๑๓ นาย จนทำให้ชาวสิงหลออกมาไล่ฆ่าชาวทมิฬเป็นผักเป็นปลาตายไป ๒๐๐ – ๓๐๐ คนนั้น ทำให้ชาวทมิฬเองก็ตระหนักดีว่า “ตกที่นั่งลำบากเสียแล้ว” ต่อไปนี้จะอยู่อาศัยทำมาหากินในประเทศศรีลังกานี้ได้อย่างไร ตัวเองก็เป็นเพียงชนกลุ่มน้อย ที่นักล่าอาณานิคมอังกฤษไปลากมา

นักรบ LTTE ที่กอดคอร่วมอุดมการณ์กันมาเกิดแตกคอกันแยกออกเป็น ๒ กลุ่ม

นักรบส่วนใหญ่ตามไปกับกลุ่มของนายอุมา มาเฮสวารัน ที่ไปจัดตั้งกลุ่มองค์กรปลดปล่อยส่วนพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (People's Liberation Organization of Tamil Eelam : PLOTE)

กลุ่มที่เหลือของนักรบ LTTE ที่มีจำนวนไม่มากนักแยกไปเข้ากับนายประภาการัน (Prabhakaran) ซึ่งนับเป็น “จุดตกต่ำ” สุด ๆ ของ LTTE หมดศักยภาพจนไม่สามารถเคลื่อนไหวทั้งทางการเมืองและการทหารได้อีกต่อไป

นายประภาการัน ตัดสินใจหลบไปซ่อนตัวในอินเดีย ปล่อยให้ ๓ สหายคือนายมหัทยา นายสีลัน และนายรากู ประคับประคอง บริหารจัดการกองกำลัง LTTE แบบไม่มีความหวัง

ในขณะเดียวกันในมุ้งใหญ่ยังมีมุ้งเล็กซ่อนอยู่อีก ๑ กลุ่ม คือ องค์กรปลดปล่อยทิฬอีแลม (Tamil Eelam Liberation Organization : TELO) ซึ่งนำโดยนาย ทังกาทูโร และ นายกุตติมานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ LTTE จำเป็นต้องเข้าไปซบปีก เพื่อไม่ให้ล้มหายตายจากไปเสียก่อน

นายประภาการัน ครั้งหนึ่งเคยได้คิดจะรวบหัวรวบหางทั้งสองกลุ่มรวมให้เป็นมุ้งเดียวกัน แต่ไม่สำเร็จ
ทางการศรีลังกาเองก็ส่งกำลังทหารออกกวาดล้างไล่ล่า LTTE อย่างเต็มรูปแบบ และประสบความสำเร็จบ้างเมื่อ กองทัพเรือศรีลังกาสามารถจับตัวนายทังกาทูโร และนายกุตติมานี ได้ในทะเล

เป็นอันว่ากลุ่ม TELO สูญสิ้นไปโดยปริยาย แต่ LTTE ยังอยู่ครับ นายประภาการัน หลบหนีไปตั้งหลักต่อสู้ใหม่โดยยืนหยัดต่อสู้ทั้งในนามของชาวทมิฬและเป็น ผู้บัญชาการกองกำลัง LTTE ควบคุมการรบด้วยตนเอง แต่ต่อมาทำงาน ๒ หน้าที่ไม่ไหว จึงมอบอำนาจให้นาย ซีลัน เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังเข้าทำการรบ ตนเองไปตระเวนหาสมาชิกมาเพิ่ม จนสามารถลุกขึ้นมาจัดตั้งแกนนำได้ ๓๐ คนอีกครั้ง พร้อมทั้ง “มวลชน” จำนวนหนึ่ง

มีแหล่งข่าวกรองระบุว่า การฝึกอาวุธและการจัดหาอาวุธให้กับกลุ่มนักรบ LTTE นั้น มาจากประเทศเพื่อนบ้านของศรีลังกานั่นเอง

กองทัพศรีลังกากับนักรบทมิฬอีแลมรบกันมานาน มีคำถามว่า มีความพยายามในการ “เจรจา” เพื่อสงบศึกหรือไม่? คำตอบคือ มีครับ

ครั้งแรกเป็นความพยายามที่จะคุยกันเองในปี ๒๕๒๘ แต่ล้มเหลว

ในราวปี พ.ศ.๒๕๓๐ กองทัพศรีลังกาเริ่มมีความคืบหน้า ประสบความสำเร็จในการผลักดันนักรบทมิฬให้ไปอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะศรีลังกา

รัฐบาลศรีลังกาพยายามปรับยุทธศาสตร์การทำงานโดยใช้การโอนอ่อนเข้าหาชนเผ่าทมิฬ โดยลงนามอนุญาตให้ “จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลชาวทมิฬ” ที่ไปรวมตัวกันอยู่บริเวณตอนเหนือและทางตะวันออก พร้อมกันนั้นก็ตกลง ยอมให้อินเดียส่งกองกำลังรักษาสันติภาพมาร่วมกับกองทัพศรีลังกา และเข้ามาปฎิบัติงานในรูปแบบของการรักษาสันติภาพในศรีลังกาได้เป็นครั้งแรก

นักสังเกตการณ์ทางทหาร ตั้งข้อสังเกตว่า กองกำลัง LTTE และประชาชนเผ่าทมิฬที่ถูกต้อนไปอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของเกาะศรีลังกานั้น สามารถสร้างอาณาจักรของตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง มีการจัดตั้งสถานีตำรวจ จัดตั้งศาลพิจารณาคดี จัดตั้งสำนักงานจัดเก็บภาษีทางการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองได้ รวมทั้งการออกกฎหมายใช้ในดินแดนของตน เฉกเช่น เขตปกครองตนเอง

ในเรื่องอำนาจกำลังรบนั้นกองกำลัง LTTE กลับพลิกฟื้นความแข็งแกร่งขึ้นมาได้อย่างน่าฉงน มีการจัดตั้งกองพลน้อยทหารราบ หน่วยนักรบหญิง หน่วยวางทุ่นระเบิด หน่วยลอบสังหาร มีการประดิษฐ์เครื่องยิงลูกระเบิด มีหน่วยต่อสู้รถถัง รถหุ้มเกราะ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องยกนิ้วให้ในความมานะ พยายาม ที่มีความเป็นเลิศทางสติปัญญาเข้ามาผสมผสาน

ผู้เขียนนึกเปรียบเทียบกับนักรบชาวเวียดนามรักชาติในอดีตที่สามารถเข็นปืนใหญ่ด้วยแรงคนทั้งหมด ทีละคืบ ทีละศอก ขึ้นไปตั้งบนภูเขา ทั้งกลางวัน กลางคืนแบบไม่ให้ฝรั่งเศสรู้ตัว เมื่อล้อมฝรั่งเศสไว้ทุกด้าน และเมื่อฝรั่งเศสโอหังประกาศจะทำตัวเป็น “ เครื่องบดเนื้อ” เคี้ยวทหารเวียดนาม ไม่นานนักนักรบเวียดนามระดับชาวบ้านจึงยิงปืนใหญ่จากบนภูเขา สังหารทหารฝรั่งเศสในเดียนเบียนฟูตายเหมือนมดเหมือนปลวก จนทหารฝรั่งเศสต้องยกมือยอมแพ้เดินแถวออกมาให้กองทัพประชาชนเวียดนามจับขังจนอับอายไปทั่วโลก
ในขีดความสามารถทางทะเล LTTE สามารถจัดตั้งหน่วยกำลังรบทางทะเลที่เรียกว่า SEA TIGERS มีเรือรบสามารถผลิตอากาศยานขนาดเบา และต่อมาประสบความสำเร็จในการบินไปทิ้งระเบิดลงค่ายทหารของรัฐบาลศรีลังกามาแล้ว นี่เป็นเรื่องที่ทำเอานักการทหารเองก็นึกไม่ถึงว่า LTTE ไปไกลถึงขนาดนั้น

ผู้เขียนจำได้ว่าหลายปีมาแล้ว ทางการศรีลังกาเคยมาขอความช่วยเหลือจากทางการไทยเพื่อการตรวจค้นอู่ต่อเรือแห่งหนึ่ง ในจังหวัดทางชายทะเลด้านตะวันตกของไทย และพบว่ามีการจ้างเพื่อต่อเรือดำน้ำขนาดจิ๋ว ซึ่งก็ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด และต่อมาเมื่อพบว่าอาจจะมีความเชื่อมโยงกับหน่วย SEA TIGERS จึงประสานขอให้ยกเลิกการต่อเรือลำนั้นในที่สุด

เรื่องของ “เครือข่ายสนับสนุนจากนอกประเทศ” แน่นอนครับ งานการก่อความไม่สงบทุกกรณีจะต้องมีเครือข่าย ทำงานด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งสามารถ “กดปุ่ม” สั่งให้ปฏิบัติการ

ชาวทมิฬที่อาศัยในต่างประเทศมีเครือข่ายสั่งการให้พรรคพวกออกมาชู้ป้ายประท้วงเรื่องการละเมิดลิทธิมนุษย์ชน หรือเคลื่อนไหวได้ในหลายประเทศในโลกตะวันตก

ทางการศรีลังกาเข้มงวดการตรวจตราทางทะเลเป็นพิเศษ เพราะทราบดีว่า “ท่อน้ำเลี้ยง” จากนอกประเทศส่วนใหญ่มาจากทางทะเล เพื่อสนับสนุนการก่อความไม่สงบและกองทัพเรือศรีลังกามีส่วนในการสกัดกั้น “ตัดท่อน้ำเลี้ยง” ได้

นักสังเกตการณ์ด้านความมั่นคง นักวิชาการ หน่วยงานด้านความมั่นคงต้อง “ยกนิ้ว” ให้กับ “ความเป็นเลิศ” ของ LTTE ในการสร้างทุกอย่างขึ้นมาเพื่อการต่อสู้ หลังจากการเพาะบ่มตัวเองเพียง ๒๕ ปี เท่านั้น

--------------------------------------------------------------------

ศรีลังกา (นอกตำรา) ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๔


กองกำลังรักษาสันติภาพของอินเดียขอถอนตัว

แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com

เหตุนองเลือดในศรีลังกา จากผู้คน ๒ เผ่าพันธุ์เข่นฆ่ากันเองยืดเยื้อมากระทั่งปีพ.ศ.๒๕๓๐ รัฐบาลศรีลังกามีทางเลือกไม่มากนัก พยายามหาทางออกอย่างนิ่มนวล โดยยอมให้กองกำลังรักษาสันติภาพของอินเดีย ( Indian Peace Keeping Forces ) เข้ามาเป็นตัวช่วย

ต้องทำความเข้าใจนะครับว่า หน่วยงานที่เรียกว่า กองกำลังรักษาสันติภาพนั้น หน่วยงานในลักษณะนี้ไม่ใช่หน่วยกำลังรบที่ขนเอารถถังปืนใหญ่ เครื่องบินเข้ามาทำการรบเพื่อปราบปรามไล่ล่าใครแน่นอน แต่ภารกิจคือการเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการ “หย่าศึก” แต่กรรมการเอง เมื่อเข้าไปอยู่ท่ามกลางห่ากระสุน ดงระเบิด ก็ต้องมีอาวุธที่เหมาะสมเพื่อการป้องกันตัวในระดับหนึ่งเหมือนกัน

๓ ปีผ่านไป ฝ่ายค้านศรีลังกาออกโรงคัดค้านนโยบายรัฐบาลที่ไปยอมให้หน่วยทหารของอินเดียซึ่งเป็นกองกำลังต่างชาติเข้ามายุ่มย่ามในบ้านของชนชาวศรีลังกา

ในขณะที่กองกำลังรักษาสันติภาพอินเดียเข้ามาทำงานนั้น มีผู้วิจารณ์ว่ากองกำลังของอินเดียก็เข้ามา “ติดหล่มเสียเอง” กับการก่อความไม่สงบในทางตอนเหนือของศรีลังกาและเมื่อสถานการณ์มันสลับซับซ้อน ที่ดุเหมือนว่าจะลากอินเดียเข้ามาในวงจรของความขัดแย้งในที่สุดกองกำลังรักษาสันติภาพของอินเดีย ก็ประกาศถอนตัวออกจากภารกิจในศรีลังกา

เมื่อไม่มีกรรมการคอยห้ามปราม สงครามในยกที่ ๒ ระหว่างกองทัพศรีลังกากับกองทัพ LTTE ก็ปะทุขึ้นอีก เข้มข้นดุเดือดกว่าเดิม

มีผู้เปรียบเทียบว่าสงครามโลกครั้งที่ ๑ รบกันนาน ๔ ปี สงครามโลกครั้งที่ ๒ มนุษย์ชาติบนโลกใบนี้ฆ่ากันนาน ๖ ปี แต่สงครามในศรีลังกายาวนานมากกว่า ๒ ทศวรรษ ชาวทมิฬยอมพลีชีพตายแล้วตายอีกแบบไม่อั้น ทำให้ชาวทมิฬเองอ่อนล้า ลำบากยากเข็ญแสนสาหัสไม่น้อย

สังคมโลกหันมาสนใจสงครามในศรีลังกามากขึ้น เพราะนี่คือ “ของจริง” นี่เป็นต้นแบบของความโหดเหี้ยมสุดระห่ำ ในการประหัตประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบาย “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” และนโยบาย “ฆ่ามันให้หมด – เผาให้เกลี้ยง” วันแล้ววันเล่า ก่อให้เกิดความบอบซ้ำทางสังคมของศรีลังกา เปรียบได้กับนรกบนดิน
รัฐบาลศรีลังกาใช้ความพยายามทุกทางโดยหันมาใช้มาตรการทางการทูต ร้องขอและกดดันอินเดียให้ระงับความช่วยเหลือที่ผ่านไปยังชาวทมิฬ เพราะในประเทศอินเดียก็มีชาวทมิฬในรัฐทมิฬนาดูที่นับญาติกันกับชาวทมิฬในศรีลังกา ในที่สุดความพยายามทางการทูตประสบผลสำเร็จ อินเดียรับปากถอนการสนับสนุนทมิฬในศรีลังกา

นักรบทมิฬในศรีลังกาแค้นสุดขีด ตอบแทนอินเดียอย่างสาสม โดยสร้างเหตุการณ์เขย่าโลกในปี พ.ศ.๒๕๓๔ ที่ช็อคผู้คนทั้งโลกคือ ส่งนักรบหญิงทมิฬหน่วยระเบิดพลีชีพของ LTTE ข้าไปยิ้มแย้ม แสดงคารวะอย่างนอบน้อม พร้อมนำพวงมาลัยไปคล้องคอ นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายราจิฟ คานธี แล้วกดระเบิดพลีชีพ สังหาร นายกรัฐมนตรีอินเดีย ได้สำเร็จ นี่คือศักยภาพของ LTTE ที่โลกต้องตะลึง

รัฐบาลศรีลังการะส่ำระสายหนักเพราะกองกำลัง LTTE สร้างศักยภาพที่น่าสะพรึงกลัว การศึกษาหยุดชะงัก ระบบการเกษตร การประมง การทำมาหากินได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศทรุด ปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เด็กกำพร้า เต็มบ้านเต็มเมืองศรีลังกา

ชาวทมิฬที่รวมตัวกันต่อสู้มานานบางส่วนเริ่มทะยอยหลบหนีออกนอกประเทศ ส่วนที่ไปต่างประเทศไม่ได้ก็หาทางอพยพจากพื้นที่การรบ ถ้าจะว่าไปแล้ว สัดส่วนประชากรทมิฬในศรีลังกามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับชาวสิงหล ถ้าสงครามยืดเยื้อยาวนานความเป็นต่อของประชากรสิงหลจะอยู่ในฐานะที่เหนือกว่ามาก

รัฐบาลศรีลังกามีความมั่นใจว่า อย่างไรเสีย การต่อสู้ชาวทมิฬก็ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่ในเวลาเดียวกันศรีลังกายังคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรจึงจะยุติสงครามได้

สงครามกลางเมืองในศรีลังกา ปรากฏหลักฐานว่าเข้ามาเกี่ยวข้องกับประเทศไทยของเรา กล่าวคือเมื่อ ๑๕ ธ.ค.๒๕๔๖ ตำรวจระนองได้จับกุมชาวศรีลังกา ๓ คน ในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฏหมายและมีอาวุธไว้ในครอบครอง

ต่อมาศาลตัดสินจำคุกในเรือนจำคลองเปรม ติดคุกได้ ๓ ปี ๙ เดือน ก็พ้นโทษ ทางการไทยติดต่อขอส่งกลับประเทศต้นทาง แต่ศรีลังกาไม่ยอมรับกลับ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไทยสอบถามความสมัครใจ ปรากฏว่าชาวศรีลังกาทั้ง ๓ ร้องขอไปสหรัฐ ซึ่งได้รับการปฏิเสธ เนื่องจากสหรัฐมีหลักฐานว่า ทั้ง ๓ คน เป็นกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

เรื่องราวยืดเยื้อยาวนานมาจนกระทั่ง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองขอเจรจาอีกครั้งให้ทางการศรีลังการับตัวไปเป็นผลสำเร็จเมื่อ ๑๕ ส.ค. ๕๐ นี่เอง

เรื่องราวที่วนเวียนมาสมาชิกทมิฬอีแลมมาป้วนเปี้ยนในเมืองไทยอีกครั้งคือ เมื่อ ๑๓ พ.ค. ๕๑ ที่ตำรวจ สน.ลุมพินี สามารถจับกุมนาย ฮีลาล เชาว์ตูรี อายุ ๓๔ ปี ชาวบังคลาเทศที่สารภาพว่าเข้ามาซื้ออาวุธสงครามให้กับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน การก่อความไม่สงบ การก่อการร้าย ในปัจจุบันสมัย ไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในวงจำกัดที่ขีดเส้นลากแนวและแบ่งเขตการต่อสู้ต่อไปอีกแล้ว

หลังจากเหตุการณ์ ๙/๑๑ ในอเมริกา วันนี้สหรัฐต้องส่งกำลังรบเข้าไปในอัฟกานิสถาน ในอิรัก และอีกหลายพื้นที่ในโลกนี้เพื่อต้องการขุดรากถอนโคนการก่อการร้าย

การจับกุมสมาชิก LTTE ของตำรวจไทยที่ปรากฏ นับว่าช่วยงานการข่าวของรัฐบาลศรีลังกาและช่วยระแวดระวังตัวเราเองได้ไม่น้อยครับ

------------------------------------------------------------------

ศรีลังกา (นอกตำรา) ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๕


มีคนกลางมาช่วยเจรจาหยุดยิง

แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com


ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ นอร์เวย์ส่งทีมเจรจาเข้ามาช่วยพูดจา หาทางดับไฟสงครามนองเลือดในศรีลังกา ส่งผลให้รัฐบาลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬ มานั่งด้วยกันลงนามหยุดยิงได้สำเร็จ

ผู้เขียนต้องขอเรียนว่า ในประเทศ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ มีองค์กรภาคเอกชน และ/หรือสถาบันที่มีอุดมการณ์ และประการสำคัญคือมีเงิน พร้อมที่จะทำงานเพื่อสันติภาพในรูปแบบ “การเป็นตัวกลาง” เพื่อยุติความรุนแรง ทำงานเพื่อสิทธิมนุษย์ชน ฯลฯ และได้รับความไว้วางใจจากหลายประเทศให้เข้าไปทำงาน ประสบความสำเร็จและล้มเหลวควบคู่กันไป

การเจรจาสันติภาพที่บังเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมใกล้ประเทศไทยมากที่สุด คือ นาย มาร์ติ อาติซารี ( Martti Ahtisaari ) อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ที่อุทิศตน เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาหยุดการยิงในจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซียเป็นผลสำเร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ นายอาติซารีและทีมงานสามารถติดต่อตรงกับประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโดโยโน และในเวลาเดียวกันก็สามารถยกหูโทรศัพท์ติดต่อกับนาย มาลิค มาห์มุด ( Malik Mahmud ) ผู้นำฝ่าย GAMในสวีเดน และสามารถพูดคุยกับนาย มูซากีร์ มานาฟ ( Muzakir Manaf ) ผู้นำกองกำลัง GAM หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่คุมกำลังรบในป่าจังหวัดอาเจห์ ให้มาพูดคุย และเจรจากันในประเทศฟินแลนด์ เจรจา ๕ ครั้งในเวลา ๘ เดือน ในที่สุดสงครามกลางเมืองในอาเจห์ที่ยาวนานเกือบ ๓๐ ปีก็ยุติลงได้

ผู้เขียนเองก็ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนให้เข้าไปดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าภารกิจอาวุโส ( Prinicipal Deputy Head of Mission ) ในหน่วยงานที่เรียกว่า Aceh Monitoring Mission หรือ AMM ในการควบคุมการหยุดยิงในอาเจห์พร้อมกับนายทหารไทยอีก ๒๐ นาย

นาย อาติซารี ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ทั้งนี้ องค์กร/สถาบัน เหล่านี้ได้ยอมทุ่มเทออกค่าใช้จ่าย ให้กับการเจราจาเพื่อสันติภาพมาแล้วนับไม่ถ้วน ได้รับทั้งชื่อเสียง หรือบางครั้งก็เจ็บตัว เสียเงินฟรี ก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง

สูตรสำเร็จในการทำงานหยุดยิงประการหนึ่งของทีมงานควบคุมการหยุดยิงคือ “การปลดอาวุธ (Decommissioning)” จากฝ่ายกบฏ

บ้านเมือง ประชาชนศรีลังกาหน้าตาสดใสสถานการณ์กลับฟื้นคืนสู่ความสงบแบบไม่เคยมีมาก่อน รัฐบาลสั่งเปิดถนนหลายสายในเมืองศรีลังกาหลังจากปิดการเดินทางไปมาหาสู่กันมานาน ๑๒ ปี ผู้คนเบิกบาน ออกมาทำมาหากิน เด็ก ๆ ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน รัฐบาลประกาศยกเลิกการต่อต้านกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬ
ฝ่ายกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ก็มีน้ำใจ แลกด้วยการประกาศยกเลิกรัฐอิสระ

อนิจจา ประชาชนศรีลังกาได้ชื่นชมกับสันติภาพ ความสงบสุขได้เพียง ๑ ปี กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬประกาศถอนตัวจากการเจราจา บ้านเมืองกลับเข้าสู่วิกฤตมิคสัญญีอีกครั้ง

คราวนี้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬ แตกคอกันเองอีกระรอก ในราวเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗ นาย กรุณา นำกลุ่มนักรบจำนวนหนึ่งแยกออกมาขอปฏิบัติการเป็นอิสระ และปฏิบัติการอย่างได้ผลจนสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศได้อีกครั้ง และในเดือนกรกฎาคม นักรบพลีชีพเข้าไปสังหารหมู่ในเมืองหลวงได้เป็นครั้งแรก เกิดความพลัดพรากไปทุกระดับ

๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นวันประวัติศาสตร์ที่ชาวโลกรู้จักกับคำว่าสึนามิที่เกิดแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทร นอกชายฝั่งเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ส่งผลให้คลื่นยักษ์ในทะเลออกมากวาดชาวอาเจห์ของอินโดนีเซียตายไปราว ๒๐๐,๐๐๐ คน คลื่นยักษ์อาละวาดมากวาดชีวิตชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่กำลังพักผ่อนนอนหลับในพังงา และพื้นที่ทางชายทะเลอันดามันตายไปประมาณ ๔,๐๐๐ คน

สึนามิมีพลังทำลายล้างข้ามมหาสมุทรอินเดียไปกระชากชีวิตชาวศรีลังกาตายไปประมาณ ๓๐,๐๐๐ คนเช่นกัน

รัฐบาลศรีลังกาให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แบ่งปันความช่วยหรือไปให้ชาวพยัคฆ์ทมิฬโดยไม่ลังเล เพื่อพยายามเอาชนะจิตใจเยียวยาความสูญเสีย

ผู้เขียนขอเรียนยืนยันว่า สำหรับปัญหาการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนของจังหวัดอาเจห์ ของอินโดนีเซียที่ต่อสู้กันมายาวนานถึง ๓๐ ปี ในช่วงที่สึนามิคร่าชีวิตชาวอาเจห์ไปราว ๒๐๐,๐๐๐ คน นั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสู้รบคลายตัวลง ทั้งฝ่ายกบฏอาเจห์และรัฐบาลอินโดนีเซียเกิดความเห็นอกเห็นใจ ถือเป็นจุดเปลี่ยน (turning point) ที่สนับสนุนการเจรจาสันติภาพ ( peace Talk ) ที่ตกลงกันได้แล้วในประเทศฟินแลนด์ และเป็นตัวเร่งให้เกิดลงนามหยุดยิง

แต่สำหรับสงครามกลางเมืองในศรีลังกาหาเป็นเช่นนั้นไม่

------------------------------------------------------

ศรีลังกา(นอกตำรา)ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๖

ปราบกบฏ LTTE
เมื่อผู้นำเลือกวิธีการปราบปรามเด็ดขาด
แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com

ประธานาธิบดี ราชาปักษา เข้ามานั่งเก้าอี้อันร้อนฉ่า ท่ามกลางวิกฤตมิคสัญญี การก่อการร้ายทั่วทุกหัวระแหงในแผ่นดินศรีลังกา กล่าวกันว่าฝ่ายกบฏควบคุมพื้นที่ได้ถึง ๑ ใน ๓ ของประเทศ ผู้นำศรีลังกาสั่งปรับการทำงานของกองทัพทั้ง “เชิงปริมาณและคุณภาพ” ครั้งใหญ่

กองทัพศรีลังกาตัดสินใจปรับกลยุทธ์ “ใช้ยาแรง” โดยใช้การปราบปรามแบบไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพลเรือน เพราะผ่านมาเกือบ ๓๐ ปี ได้ลองผิดลองถูกมาหลายวิธี

การใช้ “ กำปั้นเหล็ก” ของกองทัพศรีลังกา แน่นอนที่สุดที่จะต้องเผชิญกับการต่อสู้กับการปฏิบัติการด้านข่าวสาร ( Information Operations) สารพัด ชาวทมิฬโดยเฉพาะจากนอกประเทศช่วยกันออกข่าวโจมตีรัฐบาลศรีลังกาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน

องค์กรระหว่างประเทศพยายามเข้ามาแทรกแซง ตรวจสอบ แต่รัฐบาลศรีลังกายังคงมุ่งมั่นใช้การปฏิบัติการทางทหารเข้าปราบปรามเป็นหลัก ผู้เคราะห์ร้ายคงเป็นประชาชน เผ่าทมิฬที่เป็นเสมือนน้ำ ที่ให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬที่เปรียบเสมือนปลาได้อาศัยแหวกว่าย กองทัพศรีลังกา ไม่ให้โอกาสกับปลาและไม่สนใจเรื่องน้ำ
กองทัพศรีลังกาเข้าปิดล้อมตรวจค้น ผลักดันราษฎรนับหมื่นให้ออกจากพื้นที่ที่เคยพักอาศัย เพื่อต้องการเอ็กซ์เรย์พื้นที่ทุกตารางนิ้ว โดยจัดพื้นที่รองรับชั่วคราวให้ประชาชน

องค์กรระหว่างประเทศตะแคงหูฟังข่าวนี้ พยายามใช้อิทธิพลเพื่อจะมาตรวจสอบความจริงและพยายามเข้ามาแทรกแซงจนได้ โดยขอให้มีการเจราจาสงบศึกทั้ง ๆ ที่กองทัพศรีลังกากำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบฝ่ายกบฏ
องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งมหาอำนาจบางประเทศสามารถกดดัน จนกระทั่งมีการนั่งโต๊ะเจราจากันอีกครั้งในตุลาคม ๒๕๔๙ ที่เจนีวา แต่การเจราจาก็ไปไม่รอด

การปฏิบัติการทางทหารของกองทัพศรีลังกาในหลายพื้นที่ประจักษ์ชัดว่า “ เกาถูกที่คัน” ได้ผลชัดเจนสร้างความเสียหายให้กับกองกำลัง LTTE ซึ่งพยายามแทรกตัวเข้าไปในประชากรชาวทมิฬ แต่กองทัพรู้ทัน จึงดำรงความมุ่งหมายกวาดต้อนประชาชนออกจากพื้นที่ ที่เชื่อว่ามีกองกำลัง LTTE แฝงตัวอยู่ เช่นการย้ายหมู่บ้าน

แน่นอนที่สุดบรรดาชาวทมิฬที่อาศัยอยู่นอกศรีลังกาพยายามที่จะให้เกิดการแทรกแซงจากประชาคมโลก ทำทุกวิถีทางเพื่อบังคับรัฐบาลศรีลังกาให้หยุดการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน แต่รัฐบาลศรีลังกาใจแข็งไม่สนใจ ไม่รับฟัง

ผู้นำศรีลังกาประกาศย้ำชัดเจนในเจตนารมณ์ทางการเมืองและการปฏิบัติการทางทหารว่า “ไม่มีความคลุมเครือ” ศรีลังกาจะปฏิบัติทางทหารทางทหารต่อไป เพราะ “ ค้นหาสูตรสำเร็จ” ได้แล้ว
การเจราจาหยุดยิงในเจนีวาล้มเหลว ยิ่งเป็นปฏิกิริยาเร่งให้กองทัพศรีลังกา “ใช้ไม้แข็ง” ได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ

ในช่วงเวลาดังกล่าว ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก พลเอก สารัฐ ฟอนซีกา (Gen Sarath Fonseka) ที่ถือได้ว่าเป็น ผู้บัญชาการทหารบก ที่มีแนวทางแข็งกร้าว

กองทัพศรีลังการะดมทหารทั่วประเทศจากเดิมประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน เพิ่มยอดเป็น ๑๖๐,๐๐๐ คน เพื่อต้องการกวาดล้างกบฏทมิฬให้สิ้นซาก

รัฐบาลศรีลังกา แทนที่จะจำนนต่อการกดดันจากต่างชาติ แต่กลับเรียกร้องความเห็นใจจากประชาคมโลก ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายกบฏ LTTE ไม่มีความจริงใจในการเจรจา

การทำงานทางการเมืองระหว่างประเทศควบคู่กับการปฏิบัติการทางการทหารแบบบูรณาการแน่นแฟ้น เป็นตัวคูณอำนาจกำลังรบ ส่งผลให้อินเดียและประเทศมหาอำนาจหันมาสนับสนุนรัฐบาลศรีลังกาในการใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม

เมื่อกองทัพศรีลังกาเข้ากวาดล้างพื้นที่ทางด้านตะวันออก เพื่อเอ๊กซ์เรย์พื้นที่และตามด้วยขั้นที่สองคือกวาดล้างพื้นที่ทางตอนเหนือ ในยุทธการทางบกนั้น ประสานสอดคล้องอย่างยอดเยี่ยมกับการปฏิบัติการของกองทัพเรือศรีลังกาที่ปิดล้อม สกัดกั้นการหนีเข้า-ออก ของฝ่ายกบฏ ทางทะเล รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่งตลอดแนวเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งทางบกทางทะเล

ในรายงานของสำนักข่าว BBC ของอังกฤษระบุว่า ความสำเร็จประการหนึ่งคือการเข้าทำลายที่มั่นของฝ่ายกบฏเป็นกลุ่มก้อนได้และสังหารผู้นำฝ่ายกบฏได้เป็นรายตัว

การปฏิบัติการทางทหารของกองทัพศรีลังกา ใช้ยุทธวิธีตั้งแต่หน่วยทหารขนาดเล็กรวมไปถึงการใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศทิ้งระเบิดใส่ที่หมาย ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ของฝ่ายกองโจร

การปฏิบัติการทางทหารอย่างหนักหน่วงของกองทัพศรีลังกามีรูปแบบของการทำสงครามตามแบบ (Conventional Warfare) กล่าวคือมีการเข้ายึดพื้นที่เช่นการเข้ายึดพื้นที่เมือง พาราธาน (Parathan) ที่ทำให้ชาวเมืองและกองกำลังฝ่ายกบฏต้องล่าถอยอพยพออกจากพื้นที่

กองกำลังหลักที่ทำหน้าที่กวาดล้างคือ พลจัตวา ซิลวา ผู้บัญชาการกองพลน้อย ของกองทัพบกศรีลังกา
ต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็น “กำปั้นหลัก” ในการเข้ากวาดล้างฝ่ายกบฏอย่างได้ผล

พลจัตวา ซิลวา ได้กล่าวอย่างถ่อมตนว่า “เราเผชิญความลำบากในการทำงาน แต่เราก็มุ่งมั่นเดินหน้าเต็มกำลัง ประการสำคัญที่สุดคือเราได้รับคำสั่งและนโยบายที่ชัดเจนจากผู้บังคับบัญชาของเรา”

การต่อต้านจากสังคมโลกภายนอกก็รุนแรงไม่แพ้การทำสงครามในสนามรบ มีการรายงานของสหประชาชาติระบุว่า “ความสำเร็จของกองทัพศรีลังกานั้น ส่งผลให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตประมาณ ๗,๐๐๐ คน มีผู้บาดเจ็บ ๑๓,๐๐๐ คน รวมทั้งประชาชนอพยพหนีจากการกวาดล้างทิ้งบ้านเรือนออกมาราว ๒๗๕,๐๐๐ คน”

ในที่สุดเมื่อ ๑๖ พ.ค. ๕๒ เวลา ๑๕๓๐น. โฆษกกระทรวงกลาโหมศรีลังกาประกาศเป็นทางการว่ากองทัพศรีลังกาสามารถยึดที่มั่นสุดท้าย ( บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ) ของ LTTE ได้ทั้งหมดแล้ว

ที่กล่าวมานี้ กองทัพศรีลังกา ทำงานในกรอบเวลาประมาณ ๖ เดือนเท่านั้น
หมู่บ้านและชุมชนที่ต้องสงสัยหลายแห่งถูกทำลายสิ้นซากเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งกบดาน ซ่อนตัวของกองกำลัง LTTE อีกต่อไป

ตลอดระยะเวลาการสู้รบแบบแตกหักตั้งแต่มกราคม ๒๓๕๒ กองทัพศรีลังกาบดขยี้ฝ่ายกบฏแบบไม่ยั้งมือจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ ซึ่งกองทัพศรีลังกาสามารถสังหาร นาย ประภาการัน ผู้บัญชาการกองกำลัง LTTE ได้สำเร็จ ส่งผลให้กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมออกแถลงการณ์ประกาศขอหยุดยิง
รัฐบาลศรีลังกาประกาศชัยชนะ ยุติศึกที่ยาวนานกว่า ๓๐ ปีลงได้

ผู้เขียนขอรวบยอดจากการศึกษาเอกสาร บันทึกเหตุการณ์ จำนวนมาก สรุปได้ว่า “กองทัพศรีลังกา ทำลายทิ้ง ทั้งน้ำ ทั้งปลา”

----------------------------------------------------------------

18 กันยายน 2552

ศรีลังกา(นอกตำรา)ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๗

(เรา) เรียนรู้อะไรจากการพิชิตศึกพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com


สังคมโลกต่างหันมามองชัยชนะของรัฐบาลศรีลังกา ที่ประกาศความสำเร็จในการปราบปรามโดยเด็ดขาดต่อกองกำลังลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ว่ามียุทธศาสตร์ ยุทธการ ยุทธวิธีอย่างไร

ในบทวิเคราะห์ของนาย Paul Reynolds ผู้สื่อข่าว BBC ตั้งข้อสังเกตว่า

ชัยชนะของกองทัพศรีลังกาในครั้งนี้นับว่าเป็นการสวนทางกับทฤษฎีว่าด้วยการปราบปรามการก่อความไม่สงบอย่างสิ้นเชิง เพราะตัวบททฤษฎีกำหนดว่า กองทัพจะต้องเอาชนะจิตใจของประชาชนให้ได้ก่อน เพื่อให้ได้สันติภาพอย่างยั่งยืน

ทฤษฎีดังกล่าวระบุไว้ในคู่มือ “การต่อต้านก่อความไม่สงบ” ของกองทัพสหรัฐฯ ที่ได้รับการสนับสนุนโดย พลเอกเดวิด เพทราอุส (Gen David Petraus) ที่ได้เป็นผู้นำหลักการดังกล่าวมาใช้และสามารถสร้างเสถียรภาพได้จนเป็นที่น่าพอใจ ในอัฟกานิสถาน

ในข้อเขียนของนายพลผู้นี้ยังกล่าวว่า “หลักการของการปราบปรามการก่อความความไม่สงบ ( Counter Insurgency )นั้น จะต้องเป็นการปฏิบัติเพื่อหวังผลระยะยาว การใช้การปฏิบัติการทางทหาร ในลักษณะเข้าปราบปราม นั้น เป็นได้เพียงการเริ่มต้นทำงาน”

แต่นาย Paul Reynolds กลับเห็นว่าการปราบปรามการก่อความไม่สงบในศรีลังกากว่า ๓๐ ปี เป็นการทำงานหวังผลในระยะยาว แต่การปฏิบัติการเชิงรุก ( การปราบปราม ) ของกองทัพต่างหากเป็นจุดสุดท้ายของการเริ่มต้น

ในส่วนของกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมที่ถูกจัดตั้งมาแบบกองทัพประจำการมีสมาชิกประมาณ ๘,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ คน เป็นนักรบประมาณ ๓,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ คน ใช้การสู้รบแบบกองโจรมุ่งทำลายเป็นเป้าหมายสำคัญ บุคคลสำคัญของประเทศศรีลังกา กลยุทธ์หลักคือการใช้ระเบิดพลีชีพ การลอบสังหาร การวางระเบิด การก่อวินาศกรรม ถึงแม้จะต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด ก็ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า เป็นต้นฉบับดั้งเดิม-ของแท้ การก่อการร้ายโดยเฉพาะระเบิดพลีชีพ ที่ถูกนำไปใช้ในการทำสงครามจิฮัดในตะวันออกกลางและอีกหลาย ๆ แห่งในโลก

เกือบ ๓๐ ปี ของการสู้รบ กองทัพศรีลังกาคิดค้น ปรับ พัฒนา แสวงหากลยุทธ์ที่เหมาะสมมาตลอด ในเมื่อพบว่า ยังไม่เคยใช้ “ ยาแรง” โดยเฉพาะการปิดล้อมและการเข้าตี การโดดเดี่ยวกองกำลัง LTTE ย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ต้องสงสัยโดยไม่ต้องการการสนับสนุนจากประชาชนอีกต่อไป บีบบังคับให้มีพื้นที่ทำงานที่แคบลงเรื่อยๆ แล้วให้กำลังทหารเข้าบดขยี้ กองทัพศรีลังกาเข้าควบคุมพื้นที่ได้จริง การปราบกบฏในศรีลังกา มีการใช้ปืนใหญ่ยิงสนับสนุนด้วยในบางโอกาส

มีบทเรียนจากการรบในเรื่องการใช้อาวุธหนักแตกต่างกันออกไปหลากหลาย เช่น กองทัพรัสเซียปราบกบฏเชเชนในปี ๒๕๔๐ – ๒๕๔๓ นั้นมีการใช้อาวุธหนักเพื่อเน้นอำนาจกำลังยิง

ส่วนการปราบกองโจรใน อัฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีการใช้อาวุธหนักแต่อย่างใด

ในกรณีของกองทัพตุรกีสู้รบกับกองกำลัง PKK บนเทือกเขาทางตะวันออกเฉียงใต้และตอนบนของประเทศ รวมทั้งกองทัพโคลัมเบีย ในการปราบปรามการก่อความไม่สงบก็มุ่งเน้น ให้กำลังทหารเข้าทำการรบแบบประชิดตัวมากกว่าการใช้อาวุธหนัก

นักวิเคราะห์ทางทหารหลายสำนัก นำเสนอให้คิดว่า รูปแบบการปราบปรามการก่อความไม่สงบในหลายพื้นที่ในโลกนี้ อาจมีความแตกแตกต่างและอ่อนตัวไม่เท่ากัน แต่ต้องยอมรับแนวคิดของกองทัพศรีลังกาที่ใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยยอมรับผลกระทบต่อการสูญเสียผู้บริสุทธิ์ควบคู่กันไปนั้น และในที่สุดก็สามารถ “เอาชนะ” สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานได้

การแทรกแซงจากประชาคมโลกเป็นความอึดอัดที่รัฐบาลศรีลังกาตัดใจไม่รู้ไม่เห็นในช่วงการรบอย่างดุเดือดประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ ศรีลังกาถูกสำนักงานข้าหลวงใหม่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ( UNHCR) กล่าวหาว่าเป็นการกระทำของอาชญากรสงคราม หรือแม้แต่องค์กรกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เสนอเงินกองทุนฉุกเฉินให้รัฐบาลศรีลังกาเป็นมูลค่าถึง ๑.๙ พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้นำเงินมาพัฒนาประเทศและชะลอการใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้รัฐบาลศรีลังกาปฏิเสธโดยสิ้นเชิง เพราะรู้ดีว่าถ้าไม่หนักแน่น ไม่เด็ดขาด และรับความช่วยเหลือ ( ที่แฝงด้วยเงื่อนไข ) ก็ไม่มีวันจะพบกับความสงบสุขได้

ความร่วมมือ ความเข้าใจ ความจริงใจ ของอินเดียโดยการลาดตระเวนร่วมทางทะเลกับกองทัพเรือศรีลังกาเพื่อสกัดกั้น มุ่งมั่นตัดท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มกองโจร LTTE เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ เช่นกัน

เป็นที่น่าชื่นชมยินดี สำหรับรัฐบาลศรีลังกาที่ “ตัดสินใจเด็ดขาด” นำความสันติสุข ความสงบมามอบให้มาตุภูมิอย่างไม่ต้องสงสัย

นักสังเกตการณ์ทางความมั่นคง เฉลยให้ชาวโลกฟังอย่างน่าสนใจในปัจจัยแห่งความสำเร็จของการปราบกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในครั้งนี้

๑. รัฐบาลและกองทัพ ไม่ลังเล ใช้ความหนักแน่น มุ่งมั่น และเห็นตรงกันว่า ใช้วิธีการอะไรก็ได้ที่จะชนะ โดยเฉพาะตัวประธานาธิบดีได้ให้ความเห็นว่า การเจรจาต่อรองที่ผ่านมาไม่ได้ผล จะไม่มีการเจรจาอีกต่อไป
๒. การทุ่มเทกำลังพลโดยเกณฑ์ทหารเพิ่มจาก ๘๐,๐๐๐ คน เป็น ๑๖๐,๐๐๐ คนเน้นการใช้อาวุธที่ไม่ต้องมีเทคโนโลยีสูงนัก
๓. กองทัพศรีลังกา สามารถตัดการสนับสนุนจากภายนอกได้ โดยเฉพาะจากอินเดีย โดยใช้มาตรการทางการทูตและอินเดียให้ความร่วมมือ
๔. รัฐบาลศรีลังกา ไม่ยอมให้มีการแทรกแซงจากนานาชาติ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้กำลังทหารเข้าโจมตีที่มั่นฝ่ายกบฏ ซึ่งพลเรือนผู้บริสุทธ์จะต้องได้รับผลกระทบ บาดเจ็บล้มตายส่วนหนึ่ง
เคยมีปราชญ์กล่าวว่า “ในโลกนี้เราไม่สามารถยุติการต่อสู้ของมนุษย์ชาติได้ แต่ เราอาจทำได้เพียง เปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ เท่านั้น”

ขอแสดงความยินดีที่ ศรีลังกาพบกับสันติภาพ ความสงบสุขเสียที หลังจากทนทุกข์มานานเกือบ ๓๐ ปี และศรีลังกาคงจะต้องหาทางรักษาความสงบสุขให้มั่นคง ยั่งยืน ตราบนานเท่านานครับ

-----------------------------------------------------------------

09 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 1

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า….
กองทัพพม่าในปัจจุบันนี้มาก่อมาตั้งในแผ่นดินไทยนี่เอง


แปลและเรียบเรียงโดย

พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก


..........อังกฤษเข้าปกครองพม่าอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.1886 เจ้าอาณานิคมศึกษาหาข้อมูลมาเป็นอย่างดีว่า "ชาวพม่าแท้" กับบรรดา "ชนกลุ่มน้อย" ที่มีถิ่นพำนักอาศัยตามชายขอบประเทศนั้น มีความผูกพันธ์กันอย่างหลวม ๆ เป็นปรปักษ์ต่อกันเป็นครั้งคราว บรรดาชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ บางกลุ่มมีวัฒนธรรมเจริญทัดเทียมกับชาวพม่า เช่น พวกไทยใหญ่ในรัฐฉานมีระบบศักดินา มี "เจ้าฟ้า" ปกครองสืบทอดบัลลังค์ต่อกันมา เทียบเคียงได้กับระบบกษัตริย์ของพม่า

อังกฤษรู้เท่าทันเกมส์ในการชิงไหวชิงพริบของคนเหล่านี้ จึงใช้นโยบาย "แบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and Rule)" คือ แยกชาวพม่าแท้ (Proper Burma) ออกจากชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามแนวชายแดน (Frontier Areas)

สำหรับชาวพม่าแท้ (Proper Burma) นั้น อังกฤษได้วางรากฐานการปกครอง โดยส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษเข้ามาปกครอง จัดตั้งสภา วางรากฐานให้คนพม่าส่วนกลางเรียนรู้การปกครองตามแบบฉบับของอังกฤษ หากแต่บรรดาชนกลุ่มน้อยตามขอบชายแดนนั้น อังกฤษจะปล่อยให้ ปกครองตนเอง เคยทำอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้นต่อไป

ความแตกต่างในลักษณะทวิมาตรฐานนี้ อังกฤษก็ไม่ต้องเหนื่อยยากอะไร คน 2 กลุ่มในที่สุดจะระแวงกันเอง และประการสำคัญก็คือจะไม่มีวันที่จะมารวมตัวกัน แล้วกัดเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ ทุกวันนี้…

นี่ก็ปี ค.ศ.2001 แล้ว มรดกเลือดที่อังกฤษวางรากฐานไว้ บัดนี้ชาวพม่าแท้กับบรรดาชนกลุ่มน้อยก็ยังคงต้องรบกันต่อไป ผมขอแถมเป็นความรู้สักเล็กน้อยว่า การแบ่งเขตการปกครองของพม่านั้น แบ่งออกเป็น 7 รัฐ (State) และ 7 เขต (Division)

ด้วยความที่ประเทศพม่าไม่เป็นเนื้อเดียวกันนั้นจะสังเกตได้จาก พม่าใช้คำว่า "รัฐ" กับพื้นที่อาศัยของบรรดาชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ได้แก่ รัฐมอญ รัฐอะระกัน (ยะไข่) รัฐชิน รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐคะยาห์ และ รัฐกะเหรี่ยง แต่พม่าใช้คำว่า "เขต" (Division) กับพื้นที่ที่มีชาวพม่าแท้อาศัยอยู่หนาแน่น เช่น เขต สะแกง เขตมะกวย เขตพะโค เขตมัณฑะเลย์ เขตอิระวดี เขตตะนาวศรี และ เขตย่างกุ้ง อังกฤษวางหมากไว้ 2 ชั้น ก่อนการจัดตั้งกองทัพพม่า เพื่อมิให้เป็นหอกข้างแคร่สำหรับอังกฤษเอง

กล่าวคือ อังกฤษสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ มากกว่าชาวพม่าแท้ เพียงเท่านี้อังกฤษก็ปกครองได้ง่าย ใช้งานได้ทุกรูปแบบ และหมดห่วงเรื่องจะรวมตัวกันหันมาเเข็งข้อกับนายตัวเอง ทุกครั้งที่ชาวพม่าแท้รวมตัวกันต่อต้านขัดขืนคำสั่งของอังกฤษ ผู้ปกครองอังกฤษก็จะใช้ทหาร ตำรวจ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยเข้าทำการปราบปราม โดยเฉพาะกะเหรี่ยงที่อังกฤษดูเหมือนจะเอาใจใส่เป็นพิเศษ จะได้รับมอบหมายให้เป็น "หัวหมู่ทะลวงฟัน" ปราบปรามชาวพม่าผู้แข็งข้ออยู่เสมอ ๆ

แล้วอย่างงี้พม่ากับกะเหรี่ยงจะรักกันได้อย่างไร ? ยิ่งนานวัน "ยาพิษเคลือบน้ำตาล" ที่ชาวอังกฤษมอบให้แก่ชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยนั้นยิ่งได้ผล ชาวพม่าแท้นับวันจะจงเกลียดจงชังอังกฤษเข้ากระดูกดำ ในทางตรงข้ามกับบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายกลับได้รับการดูแล วางรากฐานชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีวันดีคืน มีการสอนภาษาอังกฤษ จัดตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ทั้งนี้รวมไปถึงการเผยแพร่ศาสนาเข้าไปอีกด้วย บทบาทในทางสังคมเหล่านี้ทหารอังกฤษเพียงแต่กำกับดูแลเท่านั้น

หมอสอนศาสนา บาทหลวง แม่ชีทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินการครับ สถานการณ์เข้าขั้นที่เรียกว่าบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายยอมเป็นทาสรับใช้อังกฤษ เชื่อฟัง และยอมตายแทนอังกฤษก็ว่าได้ อังกฤษก็อยู่ในพม่าได้อย่างราชา ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในพม่าอีกหลายประการที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบได้แก่ สภาพภูมิประเทศของพม่า

ซึ่งถ้าเราจะจินตนาการว่าชายขอบประเทศนั้นล้อมรอบด้วยภูเขาสูงเหมือนเกือกม้าเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาชนกลุ่มน้อยนับร้อยเผ่าพันธุ์ แต่บริเวณที่ราบลุ่มกลางประเทศเป็นที่อยู่ของพวกพม่าแท้ ไม่ปะปนกัน ก็เท่ากับว่าภูมิประเทศที่เป็นเขาสูง ป่าทึบ ที่ราบลุ่ม เป็นปัจจัยแยกแยะคนพม่าออกจากชนกลุ่มน้อย การเดินทางไปมาหาสู่ในสมัยก่อนไม่เอื้ออำนวย ก็เลยต่างคนต่างอยู่

การเรียนรู้และการผสมผสานกัน รวมทั้งความรู้สึก "สำนึกร่วมในความเป็นชาติ" น่าจะเป็นสิ่งที่ห่างไกล และประการสำคัญ ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีผู้นำในลักษณะ "เจ้า" ปกครองอาณาเขตของตนเอง บ้างก็มี "กษัตริย์" ปกครอง ไฉนเลยจะยอมรวมกันได้ ? มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านจะยังไม่เห็นวี่แววกองทัพพม่าเลยใช่ไหมครับ เพราะอะไร ? ก็เพราะอังกฤษแยกสลายการรวมตัวทุกรูปแบบของคนพม่าเเท้โดยสิ้นเชิง

เรื่องราวในประวัติศาสตร์นี้ คงจะพอให้เราเห็นภาพบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้อ่านคงจะเคยเห็นว่าบรรดาผู้นำชนกลุ่มน้อยในพม่าสามารถให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว บางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ใช้ชื่อเป็นฝรั่งมังค่า เช่น เจ้าฝาแฝด จอห์นนี่ เจ้า หนูน้อยลูเธอร์ (แฝดลิ้นดำสูบบุหรี่เหมือนโรงสี) ตั้งชื่อกลุ่มเป็นภาษาอังกฤษ เช่น God's Army และทุกกลุ่มตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษเพื่อการต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ขอยกตัวอย่างชื่อกองกำลังของชนกลุ่มน้อยที่ลงนาม “หยุด”ยิงกับรัฐบาลนับตั้งแต่ปีค.ศ.1989 จนถึงปีค.ศ.1996 มีดังนี้

1. Myanmar National Democratic Alliance (MNDA)
2. Myanmar National Solidarity Party (MNSP)
3. National Democratic Alliance Army Military and Local Administration Committee
4. Shan State Army (SSA)
5. New Democratic Army (NDA)
6. Kachin Democratic Army (KDA)
7. Pa-O National Organization (PNO)
8. Paluang State Liberation Party (PSLP)
9. Kayan National Guards (KNG)
10. Kachin Independence Organization (KIO)
11. Kayinni National Liberation Front (KNLF)
12. Kayan Pyithit Party (KPP)
13. Shan State Nationalities Peoples Liberation Organization
14. Karenni National Progressive Party (KNPP)
15. New Mon State Party (NMSP)

ในปัจจุบันบางกลุ่มก็เปลี่ยนใจไปรวมตัวจับขั้วกันใหม่หันมาจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่าอีกก็มี ในการต่อสู้และเปิดเผยข้อมูลของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต่อสังคมโลก เขาใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ผมเคยอ่านข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ทางอินเตอร์เนท และเชื่อว่าสังคมโลกเข้าใจ เห็นใจชนกลุ่มน้อย จึงและกดดันรัฐบาลพม่าทุกรูปแบบ ขมิ้นกับปูน - พม่ากับชนกลุ่มน้อย ฉันใดก็ฉันนั้น



(อ่านต่อฉบับหน้า)

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 2


แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า….กองทัพพม่าในปัจจุบันนี้
มาก่อมาตั้งในแผ่นดินไทยนี่เอง

แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

เป็นอันว่า เมื่ออังกฤษปกครองพม่าเป็นอาณานิคมนั้น อังกฤษสนับสนุนชนกลุ่มน้อยออกหน้าออกตา โดยเฉพาะกะเหรี่ยง ฉาน (ไทยใหญ่) และ คะฉิ่น ผลักดันคนพวกนี้ให้ได้รับการศึกษาตามแนวทางโลกตะวันตก บางคนโชคดีได้ไปเรียนต่อในประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาก็ได้บรรจุให้เข้าทำงานในระดับบริหารภายใต้การกำกับดูแลของอังกฤษ หนำซ้ำอังกฤษสนับสนุนให้เข้ามาเป็นทหาร - ตำรวจ อีกต่างหาก

ความรู้สึกของชาวพม่านั้น "อกไหม้ไส้ขม"

ชาวพม่าไม่คิดกอบกู้เกียรติภูมิของตัวเองบ้างละหรือ ? มีครับ กล่าวคือในห้วงปี ค.ศ.1930 - 31 ขบวนการชาตินิยมของนักศึกษา ประชาชนชาวพม่า ซึ่งได้รวมตัวกันมาก่อนแล้วอย่างลับ ๆ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ขบวนการชาตินิยม" ได้เป็นกำลังหลักก่อการกบฎต่ออังกฤษที่เรียกว่า "กบฎ ซาย่า ซัน (Saya San Rebellion)" ที่พอจะเล่าสู่กันพอสังเขปดังนี้

ในช่วงปี ค.ศ.1930 ถือเป็นปีข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ พืชผลขายไม่ได้ราคาทั่วโลก ประชากรพม่าก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ชาวนาไม่มีเงินใช้หนี้นายทุน ประกอบกับในสังคมเมือง ชาวพม่าที่รับจ้างทำงานในเมืองก็เกิดเขม่นกับพวกแขกอินเดียที่อพยพเข้ามาแย่งงานกรรมกรพม่า กรรมกรอินเดียทำงานหนักกว่า ค่าแรงต่ำกว่า (โดยเฉพาะกรรมกรตามท่าเรือ) เหตุการณ์เหล่านี้คุกรุ่นมานานแล้ว นอกจากนั้นบรรดาคนงานพม่าก็ยังด้อยกว่าคนจีนที่อดทนกว่า หากินเก่งกว่าอีกด้วย จึงทำให้ทั้งในชนบทและในเมือง “ชาวพม่าแท้”เจ้าของประเทศแทบจะอดตาย

ชาวบ้านในเมือง เยเต็ก ในอำเภอธารวดีที่รวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่น ตั้ง อู ยา จ่อ (อดีตพระสงฆ์) เป็นหัวหน้า จัดตั้งสมาคมกาลอง (Galon) รวบรวมบรรดาเยาวชนพม่าจัดตั้งและขยายเครือข่ายออกไปทุกหนทุกแห่งที่มีความทุกข์ยาก เมื่อถึงคราวลำบาก ชาวพม่ารวมตัวกันเป็นปึกเป็นแผ่นเป็นครั้งแรกอย่างได้ผลยิ่ง เพื่อเป็นการลดแรงเสียดทาน อังกฤษตั้งชาวพม่าแท้ ชื่อนายโจเซฟ ออกัสตัส หม่อง จี ให้บรรดาศักดิ์เป็นถึง “ท่านเซอร์” (นับเป็นชาวพื้นเมืองคนแรกของพม่าที่ได้รับบรรดาศักดิ์นี้)

ท่านเซอร์โจเซฟ หม่อง จี เดินทางไปแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่อำเภอธารวดี อยู่ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ชาวบ้านร้องขอให้ยกเลิกหรือพักชำระหนี้ 1 ปี เซอร์โจเซฟปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย

วันต่อมาบรรดาชาวนาที่รวมตัวกันก็ประกาศเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล

อู ยา จ่อ ไปเทียบเชิญ ซาย่า ซัน (Saya San) มาเป็นหัวหอกดำเนินการ ซาย่า ซัน ประกาศสถาปนาตัวเองเป็น "กษัตริย์" ทันที จัดตั้งกองทัพชาวนาเป็นฐาน รู้ทั้งรู้ว่ากองทัพชาวนามีแต่มือเปล่า จะต้องสู้รบตบมือกับกองทัพอังกฤษซึ่งมีปืนเล็กยาวใช้แล้ว

พวกชาวบ้านที่เข้าร่วมกับกบฎ ซาย่า ซัน เริ่มลงมือผลิตอาวุธเท่าที่พอจะดัดแปลงได้ เช่น ท่อเหล็กจากตัวถังจักรยาน ผลิตธนู หอก ดาบ

ชาวพม่าจำนวนไม่น้อยเห็นชอบกับ ซาย่า ซัน ที่จะสถาปนาระบบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ชาวพม่าพร้อมใจกันจัดทำบัลลังค์พร้อมฉัตรประดับเกียรติยศ พูดกันปากต่อปากว่า ซาย่า ซัน เป็น "เทพ" ลงมาจุติเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจน

กองกำลังกบฎ ซาย่า ซัน ทำงานได้ผล ชาวบ้านผู้ยากจน คับแค้น ยึดที่ดิน ทวงเงินคืนมาได้จากเจ้าของที่ดิน เรื่องราวของกบฎ ซาย่า ซัน เริ่มผันแปรไปเป็น "ขบวนการชาตินิยม" ต่อต้านอังกฤษผู้กดขี่

การปล้นสดมภ์แพร่กระจายออกไปใน 12 เมือง หัวหน้ากบฎไปตั้งกองบัญชาการใน ป่าลึก Pegu Yona ทางเหนือของกรุงย่างกุ้ง อังกฤษเห็นสถานการณ์ลุกลามจึงส่งกำลังเข้าปราบปรามโจมตีกองกำลังกบฎในป่า

กองกำลังทหารอังกฤษปราบปรามอย่างเฉียบขาด รุนแรง ด้วยอาวุธทันสมัย ในช่วงนี้พม่าบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเองไว้อย่างขมขื่น ชาวบ้านบางหมู่บ้านถูกสังหารทิ้งทั้งหมด โดยการตัดหัวเสียบต้นเสา หมู่บ้านแห่งหนึ่งถูกตัวหัว 15 หัว แล้วนำไปเสียบไว้ที่หน้าที่ทำการรัฐบาล ทหารอังกฤษถ่ายรูปผลงานการตัดหัวกบฎไปลงหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ และแถลงผลงานในสภาผู้แทนของอังกฤษ

28 พฤศจิกายน 1931 กว่าทุกอย่างจะจบลงชาวพม่าถูกสังหารไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน ถูกจับขังคุกประมารเก้าพันคน ซาย่า ซัน และบริวารใกล้ชิดถูกจับแขวนคอ รวม 128 คน ส่วนฝ่าย รัฐบาลบาดเจ็บประมาณ 50 คน เชื่อกันว่ากองกำลังฝ่ายอังกฤษที่ปราบกบฎพม่านั้น อังกฤษใช้ ชนกลุ่มน้อยเป็นกำลังหลักมาปราบปรามคนพม่า

รอยแค้นนี้ พม่าคงไม่สามารถยกโทษให้อังกฤษ และชนกลุ่มน้อยได้ง่าย ๆ

ตัวอย่างของกบฎ ซาย่า ซัน นี้เป็นอุทาหรณ์ว่าชาวพม่าเองกล้าหาญพอที่จะต่อสู้กับจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษ และเป็นรากฐานสำคัญให้ชาวพม่ารวมตัวรวมใจกันเป็นชาตินิยม และเป็นการปูทางในการจัดตั้งกองทัพของตนเองเพื่อเตรียมกอบกู้เอกราช

ความเคลื่อนไหวของชาวพม่าในช่วงนี้เริ่มก่อตัวเป็นรูปธรรมมากขึ้น บรรดาแกนนำเคลื่อนไหวเป็นพวกนักศึกษา โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่เดิมคนพม่าให้เกียรติคนอังกฤษ (หรือชาวยุโรป) โดยเรียกว่า

"ตะขิ่น" แล้วตามด้วยชื่อคน หมายถึงเขาคนนั้นเป็น "เจ้านาย" แต่ต่อมาแกนนำนักศึกษาเหล่านี้รณรงค์ให้ใช้คำนำหน้า "ตะขิ่น" กับผู้นำพม่าเสียเอง เพื่อต้องการให้รู้ว่าอังกฤษจะไม่ใช่เจ้านายของพม่าอีกต่อไป "ตะขิ่น" ที่เป็นดาวรุ่งเตรียมการเรียกร้องเอกราชในขณะนั้นล้วนศึกษาในมหาวิทยาลัยในย่างกุ้ง มี 5 คน คือ ตะขิ่น นุ (ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อ อู นุ) ตะขิ่น ออง ซาน (ต่อมาเป็นนายพล ออง ซาน บิดาแห่งทัดมาดอ : กองทัพพม่า) ตะขิ่น จ่อ เยน ตะขิ่น เต็ง เป และ ตะขิ่น รา ชิด (เป็นมุสลิม อินเดีย) หากท่านผู้อ่านที่เคยได้รับรู้เหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ในประเทศไทย ฉันใด เหตุการณ์ นักศึกษาพม่าผู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ก็ฉันนั้น ตะขิ่น 5 คนนี้ จัดตั้ง Rangoon University Student's Union หรือ RUSU เป็นองค์กรขับเคลื่อน โดยมีตะขิ่น นุ เป็นประธาน

ในปี 1936 นักเรียน นักศึกษาในย่างกุ้ง และอีกหลายเมือง พร้อมใจก่อการสไตร์คขับไล่อังกฤษครั้งใหญ่ ผลปรากฎว่า ตะขิ่น นุ และ ตะขิ่น ออง ซาน ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย นักเรียน นักศึกษายิ่งก่อความรุนแรงหนักขึ้นอีก จนกระทั่งอังกฤษต้องยอมให้ทั้ง 2 คน กลับเข้ามามีสถานภาพเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย อีกครั้ง ในขณะนั้นความรู้สึกต่อต้านอังกฤษได้แผ่ซ่านกระจายไปในทุกชุมชนของชาวพม่าแล้ว แม้กระทั่งสังคมชนบทก็ขานรับ เพราะความยากจนอันเป็นผลจากการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ ไฟแห่งการเรียกร้องเอกราชในพม่าได้ถูกจุดขึ้นแล้ว

(อ่านต่อฉบับหน้า)

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 3

ทุกครั้งที่ชาวพม่าลุกขึ้นก่อจลาจลขับไล่อังกฤษ
อังกฤษจะใช้กะเหรี่ยงมาปราบพม่า
-------------
แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

ไฟเพื่อนำเอกราชมาสู่แผ่นดินพม่าได้ถูกจุดขึ้นแล้วหลังจากที่อังกฤษปกครองพม่ามาแล้ว 52 ปี

ในปี ค.ศ.1938 หลังจากเยาวชน นักเรียน นักศึกษาพม่าเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชอย่างเป็นรูปธรรมมาแล้ว 2 ปีเต็ม แกนนำนักศึกษาได้ก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว โดยกำหนดให้ปี ค.ศ.1938 เป็น "ปีแห่งการปฏิวัติ" (The Year of Revolution) หรือ "The 1300 Movement" (ถ้านับตามปีปฏิทินพม่า นับเป็นปีที่ 1300)

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษเสมอ ในทุกเหตุการณ์จลาจลที่ต่อต้านอังกฤษจะมีวีรบุรุษเกิดขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวพม่าแข็งข้อกับอังกฤษมากขึ้นเป็นลำดับ เหตุการณ์จลาจลทุกครั้งมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าทำเพื่อขับไล่อังกฤษ และคนพม่าต้องการเอกราช

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าทหาร ตำรวจ ที่อังกฤษใช้ปราบปรามจลาจลคนพม่านั้น จะเป็น "ชนกลุ่มน้อย" โดยเฉพาะกะเหรี่ยง ที่อังกฤษฝึกเอาไว้ มิใช่ "คนพม่า"

เหตุการณ์จลาจลในปี 1938 ที่นับว่ารุนแรงอีกครั้ง คือเหตุการณ์ที่คนงานพม่าในเมือง เยนายอง ที่ทำงานกับบริษัทน้ำมันของอังกฤษก่อการสไตร์ค สมทบกับบรรดานักศึกษาในย่างกุ้งเดินขบวนขับไล่อังกฤษ

ในการปราบจลาจลครั้งนั้น นายออง จ่อ นักศึกษาพม่าถูกตำรวจตีด้วยไม้กระบอง และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ข่าวนาย ออง จ่อ เสียชีวิตแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมเมือง โดยเฉพาะชาว มัณฑะเลย์ออกมาเดินขบวนประท้วงอังกฤษครั้งใหญ่ ตำรวจแก้ปัญหาโดยยิงผู้เดินขบวนเสียชีวิต 17 คน ประการสำคัญ 7 คน ใน 17 คนนั้นเป็นพระสงฆ์

เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชาวพม่าจะขื่นขมอย่างไร ก็ได้แต่เพียงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย มีแต่มือเปล่า

"กองทัพพม่า เพื่อชาวพม่า ยังไม่เกิด และจะเกิดไม่ได้ถ้าเป็นเมืองขึ้น"

ในขณะที่เหตุการณ์เสมือน "บ้านแตกสาแหรกขาด" นั้น ชาวพม่าผู้ต้องการขับไล่อังกฤษก็ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน หันหน้าไปพึ่งใคร ว่ากันตามจริงความรู้สึกของชาวพม่าในขณะนั้นแทบจะยังไม่มี "ความรู้สึกร่วม" ว่ามีชาติมีประเทศ รวมตัวกันได้เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยตามชาติพันธุ์ ต่างคนต่างอยู่

อุดมการณ์และแนวทางการต่อสู้ของ "พรรคคอมมิวนิสต์" ก็เปรียบเสมือน "ขอนไม้" ที่ลอยมาตรงหน้า "คนกำลังจะจมน้ำ"

แกนนำนักศึกษา 5 คน รวมทั้งตะขิ่ง ออง ซาน ได้เป็นแกนนำจัดการประชุมเยาวชน นักวิชาการพม่าเป็นการลับ ผลการประชุมเมื่อ 15 ส.ค.1939 มีมติให้จัดตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์พม่า" (CPB) ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรขับเคลื่อน เป็นแนวทางในการรวบรวมพลังต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชของพม่า โดยมี ตะขิ่น ออง ซาน เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

ในขณะเดียวกันบรรดาชาวจีนในพม่าก็จัดตั้ง "ขบวนการคอมมิวนิสต์พม่า" ในกลุ่มชาวจีนด้วย ก็เป็นอันว่าในขณะนั้นเกิดมีคอมมิวนิสต์ 2 กลุ่ม

โชคชะตาดูเหมือนจะเริ่มเข้าข้างพม่าบ้างแล้ว ในปี 1939 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตะขิ่น ออง ซาน และขบวนการชาตินิยมเริ่มมองเห็นเค้าลางลู่ทางการกอบกู้เอกราชของพม่า มีการเคลื่อนไหววางแผนจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ออง ซาน เอง ในขณะนั้นอายุเพียงประมาณ 25 ปี แต่มากด้วยอุดมการณ์ และประสบการณ์ จึงจัดตั้งองค์การ "โดบาม่า" (The Dohbama Asiayone หมายถึง We Burmans Association : เราชาวพม่า) เป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า มุ่งหวังจะพึ่งพาชาว เอเซียด้วยกันที่จะมาช่วยปลดปล่อยพม่าให้เป็นเอกราช นั่นก็หมายถึงญี่ปุ่น

ในเดือนมีนาคม 1940 อังกฤษสังเกตเห็น ออง ซาน เคลื่อนไหวเป็นปฏิปักษ์ จึงจับ ออง ซาน ขังคุกนาน 17 วัน

กองทัพญี่ปุ่นสนใจอยากครอบครองพม่าด้วยเหตุผล 2 ประการคือ พม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมั่งคั่งโดยเฉพาะน้ำมันและป่าไม้ หากยึดพม่าได้จะเป็นเส้นทางส่งกำลังไปให้กองกำลังของ เจียงไคเช็ค ในเมืองจงกิงในประเทศจีนเพื่อทำให้ญี่ปุ่นเผด็จศึกกับจีนได้เร็วขึ้น(หมายความว่าญี่ปุ่นต้องการเข้าตีจีนจากประเทศพม่า) ญี่ปุ่นส่งสายลับมาติดต่อกับ บามอ ขอให้ขบวนการชาตินิยมของพม่าทั้งหลายที่ต่อต้านอังกฤษหันมาสนับสนุนญี่ปุ่น

หมูไป-ไก่มา หากพม่าช่วยญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะช่วยขับไล่อังกฤษและให้พม่าเป็นเอกราช

การเจรจาลับเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งพม่าและญี่ปุ่นพอใจในผลประโยชน์ร่วมกัน ในขณะนั้น ออง ซาน ออกจากคุกแล้วไปร่วมประชุมกับ อินเดีย เนชั่นแนล คองเกรสในอินเดียซึ่งเป็นโอกาสทองที่ได้พบกับ เนห์รู และ คานธี รวมทั้งขบวนการชาตินิยมอินเดียที่มีอุดมการณ์ต่อต้านอังกฤษ

ก่อน ออง ซานเดินทางกลับพม่า ทราบว่ารัฐบาลได้ออกหมายจับเขา จึงตัดสินใจร่วมกับเพื่อนรัก ตะขิ่น ลา เมียงเดินทางออกนอกประเทศพม่าโดยอาศัยเรือบรรทุกสินค้าของจีนที่จอดอยู่ท่าเรือย่างกุ้ง ความตั้งใจที่แท้จริงของออง ซานคือการออกไปแสวงหาพันธมิตร ในที่สุดออง ซานและเพื่อนปลอมตัวเป็นกะลาสีทำงานบนเรือสินค้าจีน ออกเดินทางไปเมือง อะมอย ในประเทศจีนที่ กองทัพญี่ปุ่นยึดอยู่และในที่สุดทหารญี่ปุ่นได้นำตัวออง ซาน และลา เมียงเดินทางไปโตเกียว

ออง ซานประสานกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อวางแผนใช้ขบวนการชาตินิยมของพม่าที่จัดตั้งไว้แล้วประสานการปฏิบัติกับกองทัพญี่ปุ่น โจมตีทหารอังกฤษในพม่า จัดตั้งหน่วยข่าวกรอง มินามิ คิคัน (Minami Kikan) ควบคุมโดย พันเอก ซูซูกิ เพื่อเป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติ ออง ซานประสบ ผลสำเร็จอย่างยิ่งสำรับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น ในด้านอาวุธ กระสุนและญี่ปุ่นตกลงจะฝึกคนพม่าให้เป็นนักรบ

กองทัพญี่ปุ่น จัดส่งออง ซานและลา เมียงกลับพม่า โดยให้เข้ามาในกรุงเทพฯ

ออง ซานเข้ามาทำอะไรในกรุงเทพฯ…..น่าสนใจครับ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 4

ญี่ปุ่นฝึก ออง ซาน และ "กลุ่ม 30สหาย"
เป็นนักรบกู้ชาติบนเกาะไหหลำ ฝึกจบแล้ว
"กลุ่ม 30 สหาย" กู้ชาติมาแวะกรุงเทพ ฯ
----------------------
แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

หลังจาก ออง ซานและลา เมียงประสบความสำเร็จในการเจรจาลับกับกองทัพญี่ปุ่นในโตเกียว ญี่ปุ่นสัญญาว่าจะส่งมอบอาวุธ กระสุนและฝึกวิชาทหารให้กับสมาชิกขบวนการชาตินิยมพม่า

กองทัพญี่ปุ่นนำตัวออง ซานและลา เมียงมาส่งที่กรุงเทพฯ ทั้ง 2 คนอยู่ในเมืองไทยได้ระยะหนึ่ง ออง ซานลักลอบกลับเข้าไปในพม่า ส่วนลา เมียงยังคงอยู่ประสานงานในกรุงเทพฯ ซึ่งในห้วงเวลานั้น บรรดาแกนนำการต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่าส่วนหนึ่งแฝงตัวอยู่ในประเทศไทย

ราวเดือนมีนาคม 1941 ออง ซานกับแกนนำอีก 28 คนลักลอบทยอยเดินทางออกจาพม่าด้วยเรือสินค้าญี่ปุ่น มุ่งหน้าไปเกาะไหหลำ เพื่อรับการฝึกทางทหาร ต่อมา ลา เมียงที่อยู่ในกรุงเทพฯได้เดินทางไปสมทบกับบรรดาแกนนำทั้งหลายที่เกาะไหหลำ 29 คนจึงรวมเป็น 30 คน

พวกแกนนำขนานนามกลุ่มตัวเองว่า "กลุ่ม 30 สหาย" (Thirty Comrades)

มีข้อมูลบันทึกโดย โบ จ่อ ซอ (Bo Kyaw Zaw) ในหนังสือ Burma in Revolt โดย Bertil Lintner เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆในระหว่าง”กลุ่ม30 สหาย”ทำการฝึกบนเกาะไหหลำ บันทึกว่า

“ออง ซานและเนวินมีปากเสียงกันบ่อยครั้งขณะทำการฝึกบนเกาะไหหลำ ออง ซานเป็นคนตรงไปตรงมา ส่วนเนวินเป็นคนหลักแหลม เป็นนักวางแผนมือฉกาจ ออง ซานมักจะมีความเห็นไม่ตรงกับเนวิน ที่เนวินมักทำตัวเป็นนักการพนันและเจ้าชู้ ซึ่งขัดกับบุคคลิกของ ออง ซาน ส่วนพวกที่เหลือก็เห็นด้วยกับ ออง ซาน แต่เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมและความสามัคคีเราจึงต้องอยู่ร่วมกันให้ได้”

เมื่อลองมาวิเคราะห์ “กลุ่ม30 สหาย” แล้วจะพบว่าบุคคลเหล่านี้มีแหล่งที่มาแตกต่างกัน เช่นมาจากกลุ่ม Dohbama Asiayone (กลุ่มเราชาวพม่า) มาจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า กลุ่มประชาชนปฏิวัติ กลุ่มคนจน และจากพรรคเล็กพรรคน้อยอีกหลายพรรค ราวเดือนธันวาคม 1940 กองทัพญี่ปุ่นส่ง “กลุ่ม30 สหาย” มาถึงกรุงเทพฯ

ในราวปลายเดือนธันวาคม โดยมี พันเอก ซูซูกิ เป็นผู้บังคับหน่วยและประสานงานกับกองทัพญี่ปุ่น

“กลุ่ม 30 สหาย” ประกาศจัดตั้ง “ Burma Independence Army(BIA) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของพม่าที่บันทึกว่ากองทัพพม่าที่แท้จริงมีกำเนิดจากคน 30 คนและมาประกาศจัดตั้งในกรุงทพฯ ประเทศไทยนี้เอง ถ้าผมจำไม่ผิดในพิพิธภัณฑ์กองทัพพม่าในกรุงย่างกุ้ง เขาเก็บโต๊ะ-เก้าอี้และของใช้บางชิ้นที่ “กลุ่ม30 สหาย” ใช้ประกาศจัดตั้ง BIA ไว้เป็นประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อประกาศจัดตั้ง BIA เป็นทางการ บรรดาชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 200 คนและคนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยในคราบของนักธุรกิจได้เผยโฉมหน้าและเข้าร่วมกับ BIA ทันที

ผมขอยืนยันว่าในหนังสือประวัติศาสตร์พม่าทุกเล่ม โดยเฉพาะหนังสือต่างประเทศได้ยืนยันตรงกันว่า “กลุ่ม30 สหาย” มาประกาศจัดตั้ง Burma Independence Army ในกรุงเทพ เป็นต้นกำเนิดของกองทัพพม่าในปัจจุบันนี้

นอกจากการจัดตั้ง BIA แล้ว “กลุ่ม30 สหาย” ยังกรีดเลือดสาบานแล้วดื่มร่วมกัน ถือฤกษ์ถือยามเปลี่ยนชื่อ เหมือนนักมวยไทยนั่นแหละครับ ชื่อต้อง “ดุ” ไว้ก่อน เช่น เสาหิน หลักหิน แรมโบ้ อะไรเทือกนั้น ออง ซานก็เปลี่ยนชื่อเป็น “โบ ที ซา” แปลว่า “นายพลที่มีอำนาจ” (Powerful General) คำว่า “โบ” แปลว่า “นายพล”

ชู หม่อง เปลี่ยนชื่อเป็น “โบ เน วิน” แปลว่า “นายพลที่จรัสแสงดั่งดวงอาทิตย์”

“กลุ่ม30 สหาย” เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียงกันหมดก่อนออกศึกรบกับอังกฤษ

ผมรู้สึกเสียดายว่าความเคลื่อนไหวที่พม่าจัดตั้ง BIA ในตอนนั้นหน่วยงานของไทยหรือบุคคลใดบ้างที่รับทราบและสนับสนุนช่วยเหลือ ผมไม่พบบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไว้ที่ไหนเลย น่าจะบันทึกไว้ถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลังได้ทราบบ้างว่า “ประเทศไทยก็เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ที่เอื้ออาทรต่อคนพม่า สนันสนุนให้พม่าพ้นจากการ เป็นอาณานิคม”

เรื่องดี ๆ แบบนี้ต้องช่วยกันพูด ช่วยกันเผยแพร่บ้าง

มกราคม 1942 หน่วยข่าวลับของญี่ปุ่นเป็นตัวประสานงานของ “กลุ่ม30 สหาย” กับกองทัพญี่ปุ่นให้ญี่ปุ่นบุกเข้าพม่าทางรัฐตะนาวศรี จากทะเลอันดามัน BIA ได้ช่วยอำนวยความสดวกให้กองทัพญี่ปุ่นและนำกำลังทหารญี่ปุ่นเข้าตีที่ตั้งทหารอังกฤษเป็นผลสำเร็จหลายครั้ง

ตะขิ่น ชู หม่อง แทรกซึมเข้าไปในย่างกุ้งเพื่อจัดตั้งและรับผิดชอบการก่อวินาศกรรมทำงานได้ผลดี ซึ่งต่อมาเป็นที่ทราบกันดีว่าเขาคือ “นายพล เนวิน” นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ (มีนาคม 2001) ก็คงเป็นรัฐบุรุษของพม่า กองทัพอังกฤษถอนตัวไปมัณฑะเลย์ มุ่งหน้าเข้าอินเดียโดยมีกองกำลังกะเหรี่ยงผู้จงรักภักดีสนธิไปกับกองทัพอังกฤษด้วย

มีนักประวัติศาสตร์ได้แสดงความเห็นไว้น่าสนใจว่าในสถานการณ์ขณะนั้นหาก วินสตัน เชอร์ชิล จะมีนโยบายอ่อนตัวสักหน่อย คือให้พม่ามีความหวังว่าจะได้เป็นเอกราช พม่าอาจตัดสินใจอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรช่วยอังกฤษรบก็ได้

ตรงกันข้ามกับฝ่ายญี่ปุ่นที่พยายามสร้างภาพให้พม่าเห็นว่า “เราชาว เอเซียกำลังร่วมมือกันขับไล่ นักล่าอาณานิคมผิวขาว”

ประเด็นนี้บรรดาตะขิ่นทั้งหลายไม่สนใจว่าใครจะผิวขาว-ผิวเหลือง ตะขิ่นเลือก “ทำอย่างไรจึงจะทำให้พม่าเป็นเอกราชเร็วที่สุด ?”

มีบันทึกในหนังสือBurma in Revolt ของBertil Lintner บันทึกชื่อ ประวัติย่อ พฤติกรรมของ “กลุ่ม30 สหาย” ไว้ทั้งหมด ผมชื่นชม “ความใจกว้าง” ที่บันทึกเรื่องราวของบรรพบุรุษตัวเองไว้ให้ลูกหลานได้รับทราบทั้งดีมาก-ดีน้อย

(อ่านต่อฉบับหน้า)

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 5


กองทัพพม่าช่วยญี่ปุ่นโจมตีอังกฤษออกจากพม่า…
แล้วพม่าก็กลับมาช่วยอังกฤษโจมตีขับไล่ญี่ปุ่น
------------------

แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

กองทัพพม่ากำเนิดจากทหารแค่ 30 คน นำโดยอองซาน ไปรับการฝึกจากญี่ปุ่นบนเกาะไหหลำแล้วมารวมตัวกันประกาศจัดตั้ง Burmese Independence Army (BIA) ในประเทศไทยในเดือนธันวาคม ค.ศ.1941 เพื่อเตรียมสนับสนุนญี่ปุ่นโจมตี กองทัพอังกฤษให้ถอนตัวจากพม่า

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพลูกพระอาทิตย์บุกขึ้นพม่า โจมตีกองทัพอังกฤษจนต้องร่นถอยเข้าไปในอินเดียและกองทัพญี่ปุ่นก็ยึดครองพม่าได้โดยเด็ดขาด

ในจังหวะที่ BIA ของพม่าสนับสนุนนำกำลังกองทัพญี่ปุ่นบุกพม่านั้น ก็มีความหวาดระแวงกันอยู่ระหว่าง ออง ซาน กับกองทัพญี่ปุ่น ที่จริง ออง ซาน คาดหวังว่า BIA และกองทัพญี่ปุ่นควรมีภารกิจเพียงแค่การจัดตั้งและขยายกองทัพพม่าให้เติบโต ส่งมอบอาวุธ กระสุนให้ แต่ญี่ปุ่นกลับมุ่งโจมตี ยึดเอาทรัพยากรของพม่าเป็นลำดับแรกโดยเข้าตีเมืองมะละแหม่ง (บางคนเรียกว่าเมืองเมาะลำไย) ทางใต้ของพม่าก่อน

สถานการณ์รบในครั้งนั้นบรรดา “กลุ่ม 30 สหาย” เริ่มไม่พอใจกองทัพญี่ปุ่นแต่ต้องอดกลั้นเก็บความรู้สึกเอาไว้ ที่ร้ายไปกว่านั้น ชาวพม่าที่เข้าร่วมรบกับ กองทัพญี่ปุ่น เมื่อมีอาวุธในมือแล้วกลับทำตัวเป็น “กองโจร” ไร้การควบคุม ไม่มีใครเชื่อฟังใคร ไม่มีสายการบังคับบัญชา

มุ่งประสงค์ตั้งอกตั้งใจสังหารบรรดา “หัวหน้าชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยง” ใครที่เคยรับใช้ เป็นลูกน้องอังกฤษถูกโดนจับยิงเป้าทั้งหมด

งานนี้สับสนอลหม่าน กลายเป็น “แค้นต้องชำระ” พม่าฆ่าพม่า-พม่าฆ่ากะเหรี่ยง โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่น่าเวทนา กองทัพ BIA ถือโอกาสสังหารเป็นว่าเล่นเพราะเก็บความแค้นมานาน พม่าฆ่ากะเหรี่ยงก็สะใจเหมือนได้ฆ่าคนอังกฤษ

แม่ทัพญี่ปุ่นได้รับทราบพฤติกรรมเยี่ยงโจรของกลุ่ม BIA ซึ่ง ออง ซาน ก็ควบคุมไม่ได้จึงสั่ง “ยุติบทบาทและสลายกองทัพพม่า (BIA)” ทันที

คำสั่งของแม่ทัพญี่ปุ่นครั้งนี้ ออง ซาน สะเทือนใจมากถึงขั้นล้มป่วย เข้าโรงพยาบาล เป็นโอกาสได้พบกับ ดอ ขิ่น จี (ต่อมาได้แต่งงานกัน)

สิงหาคม ค.ศ.1942 ญี่ปุ่นตั้ง บา มอ เป็นนายกรัฐมนตรีของพม่าและตั้ง ออง ซาน เป็นผู้บัญชาการกองทัพพม่า มีกำลังพลประมาณ 4000 คน

มกราคม ค.ศ.1943 นายกรัฐมนตรี ฮิเดกิ โตโจ ของญี่ปุ่นประกาศว่าจะให้เอกราชแก่พม่าในราวปลายปี พอถึงเดือนสิงหาคมในปีนั้น…..ได้รับการสถาปนาเป็นประมุขของประเทศ แต่งตั้ง ออง ซาน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติ (Burma National Army : BNA) และอู นุ เป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

มาถึงช่วงเวลานี้ นับว่าพม่าพอจะเป็นรูปเป็นร่างเฉพาะในกลุ่มชาวพม่าในบริเวณภาคกลางของประเทศเท่านั้น บรรดาชนกลุ่มน้อยอีก 5-7 กลุ่มที่เหลือ ตามชายขอบประเทศยังมิได้มี “ความรู้สึกร่วม” ในสถานการณ์ความเป็นไปต่างๆ ชนกลุ่มน้อยเช่น กะเหรี่ยงยังคงมีความรู้สึกผูกพันกับอังกฤษ ส่วนชนกลุ่มน้อยที่เหลือก็จ้องรอจังหวะแยกตัวเป็นรัฐอิสระ

ความมุ่งหวังของชาวพม่าที่ต้องการเห็นพม่าเป็น “ประเทศที่สมบูรณ์” ยังอีกยาวไกล

เหมือนหนีเสือปะจระเข้…รัฐบาลของบา มอ เป็นเพียงรัฐบาลหุ่นแทบไม่มีอำนาจการตัดสินใจ อันที่จริงญี่ปุ่นมองพม่าเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการทำสงคราม นายพล ออง ซาน เริ่มรู้สึกได้เมื่อได้รับเชิญไปเยือนโตเกียวในเดือนมีนาคม 1943 โดย พันเอก ซูซูกิ (อดีตผู้ประสานงานกับกองทัพพม่า) บอกกับนายพล ออง ซาน ว่าเขาถูกปลดพ้นหน้าที่ในข้อหาสนิทกับพม่ามากเกินขอบเขต

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาปกครองพม่าเต็มรูปแบบ ทหารญี่ปุ่นกลับกลายเป็นผู้กดขี่ข่มเหงชาวพม่าเสียเอง โดยเกณฑ์ชาวพม่าไปเป็นลูกหาบ กรรมกรในกองทัพญี่ปุ่นนับพันคน หน่วยทหารสารวัตรกองทัพญี่ปุ่นเป็นที่หวาดผวาของชาวพม่า
นายกรัฐมนตรีบา มอ เริ่มไม่พอใจและปฏิเสธที่จะร่วมมือกับนายทหารญี่ปุ่น ส่วนหน่วยข่าวกรองของทหารญี่ปุ่นใช้วิธีซ้อม ทรมานชาวพม่าเพื่อ “รีดข่าว” ขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องไต่สวน ชาวพม่าเริ่มรู้ตัวว่าญี่ปุ่นร้ายกว่าอังกฤษเสียอีก

บรรดาตะขิ่นทั้งหลาย รวมทั้งผู้นำระดับสูงของพม่าเริ่มคิดจะไล่ญี่ปุ่นออกจากพม่า นายทหารกะเหรี่ยงในกองทัพพม่ารับอาสาติดต่อกับ “หน่วยรบพิเศษของอังกฤษที่ 136” ประสานการปฏิบัติ “เฉพาะกลุ่มวงใน” รวมทั้งนายพล ออง ซาน ได้รวบรวมทุกกลุ่มในขณะนั้น เช่น กลุ่มนายทหารในกองทัพพม่า กลุ่มสังคมนิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์มาจัดตั้ง “กลุ่มสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” (Anti-Fascist People’s Freedom League : AFPFL) ขึ้นมา โดยมีนายพล ออง ซาน เป็นแกนนำ และต่อมา ออง ซาน ก็สามารถไปดึงเอากลุ่มกะเหรี่ยงเข้ามาด้วยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

ท่านที่อ่านบทความของผมมาตั้งแต่ตอนที่ 1 จะเห็นว่านี่เป็นลักษณะเฉพาะของพม่า คิดจะทำอะไรสักอย่างจะต้อง ตั้งกลุ่ม ตั้งชื่อ ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นว่า “ขาดเอกภาพ” มานานแล้ว ไม่มีเรื่องเดือดร้อนก็ไปคนละทิศละทาง สังคมแบบนี้ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าขาดผู้นำที่แข็งแกร่ง เด็ดขาด จึงจะพาประเทศชาติไปรอดได้
การเดินเกมกำจัดญี่ปุ่นเป็นไปด้วยดี ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเทน ผู้บัญชาการกองกำลังสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกลงร่วมมือกับนายพล ออง ซาน

เค้าลางสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มส่งสัญญาณว่าญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำ ออง ซาน เองคิดหนักที่จะ “กลับลำ 180 องศา” คิดทรยศต่อญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเองก็คาดไม่ถึง

ออง ซาน ใคร่ครวญแล้วว่า “ประเทศพม่าต้องเป็นของชาวพม่า” เมื่อ มุ่งมั่นจะเป็นเอกราชให้ได้ เหตุการณ์บังคับให้พม่าจำต้อง “เลือกฝ่าย”อีกครั้ง

นายพล ออง ซาน เลือกฝ่าย อังกฤษ !!!
(อ่านต่อฉบับหน้า)

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 6


เมื่อกองทัพอังกฤษที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพพม่า
โจมตีแตกพ่ายออกจากพม่า หันกลับมาร่วมมือกับพม่าโจมตีญี่ปุ่น
---------------------

แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก


ในปี 1944 ขณะที่นายพล ออง ซาน และทุกกลุ่มในพม่าหันมาจับมือกันจัดตั้ง "สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์(AFPFL)" เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นโดยใช้กะเหรี่ยงเป็น "ลอบบี้ยิสต์" ขอหวนมาคืนดีกับอังกฤษอีกครั้งนั้น กองทัพญี่ปุ่นกำลังรุกออกจากพม่าเข้าตีผ่านเมืองมณีปุระ แต่กองทัพญี่ปุ่นต้องประสบกับการต้านทานอย่างหนัก และ ล้มเหลว

ต้นปี 1945 กองทัพสัมพันธมิตรยึดเมืองมิตจิน่า (Mgitkyina) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพม่าเกือบติดพรมแดนจีนได้ ญี่ปุ่นยังไม่ระแคะระคายเลยว่าพม่าวางแผนหักหลังญี่ปุ่น

ลอร์ดหลุยส์เมาท์แบทเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "เชื่อใจ" นายพลออง ซาน จึงส่งสัญญาณให้กองทัพพม่าเคลื่อนไหวได้ภายใต้การสนับสนุนของอังกฤษ

27 มีนาคม 1945 กองทัพพม่าเคลื่อนย้ายออกจากย่างกุ้งในฐานะส่วนหนึ่งของกองทัพญี่ปุ่น เข้าไปตั้งกองบัญชาการในป่า แล้วเริ่มปฏิบัติการเข้าตีที่ตั้งหน่วยทหารญี่ปุ่นอย่างได้ผล

ญี่ปุ่นเองก็นึกไม่ถึงว่านี่พม่าเล่นพิสดารอะไร ?

กองทัพที่ 14 ของอังกฤษ รุกลงมาจากทางเหนือของพม่า นำโดย นายพล Slim ในช่วงมีนาคม 1945 กองทัพญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำในทุกสมรภูมิ และ BNA ของพม่าก็ยึดย่างกุ้งกลับคืนมาได้ และใน 15 สิงหาคม 1945 ญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่ออังกฤษเข้าควบคุมปกครองพม่าได้เบ็ดเสร็จ ปัญหาใหม่ตามมา คืออังกฤษมีคำถามอยู่ว่า นายพล ออง ซาน คือ วีรบุรุษ หรือ อาชญากรสงคราม?

นายพล ออง ซาน ถูกเชิญไปพบกับ พลเอก Slim แม่ทัพสนามที่ 14 ของอังกฤษ

นายพล ออง ซาน ยืนยันว่ากองทัพของพม่าและรัฐบาลรักษาการของพม่าเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ

พลเอก Slim ปฎิเสธคำยืนยันของ นายพล ออง ซาน ยืนยันว่าตามกฎหมายอังกฤษ นายพล ออง ซาน มีพฤติการณ์เป็นผู้ทรยศ

แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นกองทัพพม่า (BNA) ค่อนข้างเป็นปึกแผ่น และกระแสความชื่นชมของชาวพม่าต่อ นายพล ออง ซาน ค่อนข้างแรง อังกฤษจะคิดทำอะไรคงต้องไต่ตรอง ดีไม่ดีอาจจะต้องเผชิญหน้ากับพลังประชาชนชาวพม่าที่กำลังเห็นว่า นายพล ออง ซาน เป็นวีรบุรุษของชาวพม่า

ผมเขียนมาถึงตอนนี้ ทำให้ผมนึกถึงช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยที่ละม้ายคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดกับ นายพล ออง ซาน ท่านผู้อ่านคงจะนึกถึงเหตุการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กองทัพไทย ยุวชนทหาร และประชาชน คนไทยยอมพลีชีพต่อสู้กับกองทัพมหาอำนาจญี่ปุ่น เรียกว่าอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย แต่วีรบุรุษคนไทยเหล่านั้นก็ยอมตายเพราะความสำนึกในหน้าที่

เกียรติยศ และอธิปไตยของชาติไทย ฝ่ายไทยต่อสู้กับญี่ปุ่นอยู่ไม่นานก็มีคำสั่งจากรัฐบาลให้ยุติการต่อสู้ เปิดทางให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกได้ รัฐบาลไทยตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่คนไทยส่วนหนึ่งในอเมริกามีความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลไทย จัดตั้ง "กลุ่มเสรีไทย" เป็นพันธมิตรกับฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เราก็เหมือนกับ นายพล ออง ซาน ว่าไทยเราเป็นฝ่ายไหนกันแน่ ? ในที่สุดไทยก็รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ด้วย "ความอัจฉริยะ" ของเหล่าบรรพบุรุษของเราชาวไทย ผมและประชาชนชาวไทยทุกคนขอคารวะบูชาการตัดสินใจที่ถูกต้องของบรรพบุรุษไทยทุกท่านที่ทำให้บ้านเมืองไทยเรารอดจากการเป็นเมืองขึ้นจวบจนทุกวันนี้ มีประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งต้องการไทยเป็นเมืองขึ้น แต่มีมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่งไม่เห็นด้วย ลองฟื้นความจำกันเอาเองนะครับว่า ประเทศอะไรบ้าง ?

กลับมาเรื่องของชะตากรรมของ นายพล ออง ซาน อาชญากรสงคราม หรือวีรบุรุษกันแน่ ?

ลอร์ด เมาท์แบทเทน ซึ่งรู้ภูมิหลังเกี่ยวกับพม่าดี จึงใช้อำนาจของแม่ทัพสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงส่งจดหมายตัดสินชะตาของ นายพล ออง ซาน ความว่า :

"ไม่มีสาเหตุใดที่จะต้องจับกุม ออง ซาน ขอให้ ออง ซาน ตระหนักว่าอังกฤษชื่นชมการสนับสนุนของกองทัพพม่าในเหตุการณ์ที่ผ่านมา อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งท่านเคยขัดขืนต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอาจจะต้องมีการสอบสวนคดีความ นับแต่นี้ไปความร่วมมือจากฝ่ายพม่าทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเป็นสิ่งที่เราจะพิจารณาและพิสูจน์"

ชัดเจนครับ ! อังกฤษฉลาดที่จะพลิกสถานการณ์จาก "วิกฤติ" เป็น "โอกาส"

ผมว่าพม่าเองก็โชคดีที่ ลอร์ดเมาท์แบทเทน ได้ใช้อำนาจชี้เป็นชี้ตายตรงนี้ได้อย่างถูกต้อง ลองคิดดูว่าถ้าเหตุการณ์เป็นไปตามที่ นายพล Slim ตัดสิน พม่าจะเป็นอย่างไร?

ความเห็นของ ลอร์ดเมาท์แบทเทน นี้ ถูกข้าหลวงอังกฤษที่ปกครองอินเดียคัดค้านอย่างรุนแรง รวมทั้งบรรดาผู้ใหญ่ในลอนดอนต่างก็เห็น ออง ซาน ทรยศต่ออังกฤษ และจะต้องได้รับโทษเป็น "อาชญากรสงคราม" โทษคือ ประหารชีวิต แต่ เมาท์แบทเทน มองการณ์ไกล เห็นว่า ออง ซาน นี่แหละที่จะเป็นผู้ประสานประโยชน์กับทุกกลุ่มในพม่า และประชาชนพม่าสนับสนุนให้ ออง ซาน เป็นผู้นำของเขา เพื่อเรียกร้องเอกราช

ลอร์ดเมาท์แบทเทน ช่วยชีวิต นายพล ออง ซาน ไว้ !

กองทัพอังกฤษเข้าบริหารประเทศพม่าได้ราว 4 เดือน กรมกิจการ พลเรือนของอังกฤษจึงเข้ามาบริหารแทน โดย นายพล Hubert Rance

ผมขอแถมเป็นความรู้ครับว่า ในกองทัพจะมี "หน่วยกิจการพลเรือน" (Civil Affairs Service) เพื่อไปจัดการปกครองดินแดนข้าศึกที่ยึดได้ เช่น สหรัฐอเมริกา ในช่วงยึดญี่ปุ่นได้ ก็ส่งหน่วยกิจการพลเรือนเข้าไปจัดการปกครองญี่ปุ่นที่แพ้สงคราม กองทัพไทยก็มี "กรมกิจการพลเรือน" เช่นกัน

พลเอก Hubert Rance ต้องเผชิญกับภารกิจ "การสลายกองกำลัง" ของกองทัพพม่า (BNA) แล้วปรับโอนกำลังพลบางส่วนไปเป็นทหารประจำการ (Regular Army) เรียกว่าอังกฤษจะปรับโครงสร้างกองทัพใหม่ ออง ซาน อยู่ในสภาพถูกมัดมือชก งานนี้เท่ากับว่าอังกฤษจะบงการจัดตั้งกองทัพพม่าใหม่ และควบคุมเอง กำลังพลในกองทัพทราบความเคลื่อนไหวที่เกิดความไม่พอใจ จึงเคลื่อนไหวอย่างลับ ๆ มาร่วมกลุ่มกันราว 3,500 คน จัดตั้งกองทัพกันเองในนามของ People's Volunteer Organization (PVO) แล้วเทียบเชิญ ออง ซาน มาเป็นผู้บัญชาการ

เอาอีกแล้ว แยกตัว ตั้งกลุ่ม ตั้งชื่อ กันอีกแล้วไม่รู้จักจบจักสิ้น ชอบนัก มุ้งเล็ก มุ้งใหญ่ มุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ ในมุ้งลวด

อังกฤษจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

(อ่านต่อฉบับหน้า)

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 7

นายพลอองซานยังไม่พ้นบ่วงกรรม
ข้าหลวงอังกฤษผู้ปกครองพม่าถูกชาวพม่าขับไล่
-------------
แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

นายพลฮิวเบอร์ต แรนซ์ ของอังกฤษเข้าปกครองพม่าแล้ว “สั่งสลาย” กองทัพพม่าทันที กำลังพลประมาณ 3,500 คน ของพม่าไม่พอใจ ไปรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม People’s Volunteer Organization (PVO) แล้วไปเชิญนายพลอองซาน มาป็นผู้บัญชาการ โดยไม่ยอมมอบอาวุธคืนแก่ทางการอังกฤษ รวมกันไปชักชวนกันมาเป็นทหารได้ กำลังพลถึงประมาณ 14,000 คน

ลอร์ด เมาท์แบทเทน พยามหาทางออกโดยยื่นข้อเสนอว่ากองทัพพม่าที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ (ตามแบบฉบับของอังกฤษ) นั้นจะแต่งตั้งนายพลอองซานเป็น “รองจเรทหารทั่วไป (Deputy Inspector General)” และเปิดโอกาสให้นายพลอองซาน เลือกทางเดินชีวิต ว่าจะเป็น “ทหาร” ต่อไปหรือจะเป็น “ผู้นำทางการเมือง” ในเดือนกันยายน 1945 นายพลอองซานตกลงใจเลือกที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง เขียนจดหมายตอบปฏิเสธตำแหน่ง “รองจเรทหารทั่วไป”

การตัดสินใจของนายพลอองซานในครั้งนี้มีผลกระทบอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศพม่าที่กำลังจะก้าวเป็นประเทศเอกราช ทำให้ภาพของกองทัพแห่งชาติพม่า เลือนลางเต็มที

เดือนตุลาคม 1945 หน่วยกิจการพลเรือนของกองทัพอังกฤษจบภารกิจถอนตัวออกจากพม่า อังกฤษส่ง Sir Reginald Dorman-Smith กลับมาเป็นข้าหลวงปกครองพม่าซึ่งไม่ค่อยจะถูกชะตากับนายพลอองซานอยู่ก่อนแล้ว ข้าหลวงคนนี้มีใจเอนเอียงสนับสนุน อู ซอ ที่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองเคยประกาศเป็นคู่แข่งทางการเมืองของนายพลอองซาน

องค์กรทางการเมืองที่ควบคุมประเทศพม่าที่แข่งแกร่งที่สุดในขณะนั้นคือ “สันนิบาตเสรีต่อต้านฟาสซิสต์(AFPFL)” ซึ่งข้าหลวงอังกฤษพยายามริดรอนบทบาทโดยอู ซอ ร่วมมือกับ ข้าหลวงอังกฤษประกาศจัดตั้ง “สภาบริหารประเทศ” ทำหน้าที่เสมือน “คณะรัฐมนตรี” ปกครองประเทศ โดยไม่เลือกบุคคลจาก AFPFL เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารแต่กลับเลือก อู ซอ และ เซอร์ ปอ ตุน (พวกอังกฤษ) เข้ามาร่วมทำงาน

สถานการณ์สับสนวุ่นวายอีกครั้งเมื่อตะขิ่น ตัน ตุน ผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์ ใน AFPFL จัดการเดินขบวนและเริ่มก่อสงครามกองโจรเพื่อต่อต้าน “สภาบริหารประเทศ” ที่จัดตั้งโดยข้าหลวงอังกฤษ

เดือนกันยายน 1946 นักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย ก่อการสไตร์คทั่วประเทศ เกิดภาวะจลาจล ข้าหลวงอังกฤษจึงเชิญนายพลอองซานมาพบเพื่อเข้าร่วมใน “สภาบริหารประเทศ” โดยให้นายพลอองซานเป็น “รองประธานสภา” เชิญสมาชิก AFPFL 6 คนมาร่วมด้วยจากจำนวนทั้งหมด 11 คน

2 ตุลาคม 1946 เหตุการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ

เหตุการณ์ทั้งปวงนี้ชาวพม่ากำลังดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อขอเป็นเอกราชจากอังกฤษ หากแต่ในการดิ้นรนนี้ ยังแฝงไปด้วยเขี้ยวเล็บการแย่งชิงอำนาจกันเองของชาวพม่าอีกด้วย

องค์กร AFPFL นั้นมีแนวทางกระเดียดไปทางแนวสังคมนิยม สมาชิกแกนนำมาจากบรรดาตะขิ่นทั้งหลายเป็นส่วนใหญ่ ที่นำโดยนายพลอองซาน โน้มเอียงไปทางแนวสังคมนิยมแต่ก็ไม่ใช่คอมมิวนิสต์

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีตะขิ่นบางคนจากกลุ่ม 30 สหายไปจัดตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์เป็นรูปเป็นร่างตั้งชื่อกลุ่มว่า Red Flag Communist (คอมมิวนิสต์ธงแดง) นำโดยตะขิ่น โซ มีนโยบายต่อต้านอังกฤษที่กลับเข้ามาปกครองพม่าอีกครั้ง เมื่อเห็นอังกฤษเข้ามาปกครองจริงจึงนำกลุ่ม คอมมิวนิสต์ธงแดง แยกออกไปขอต่อสู้กับอังกฤษใต้ดิน

ส่วนพวกที่เหลือไม่ได้ไปไหน ร่วมมือกับนายพลอองซานจัดตั้งกลุ่ม White Flag Communist (คอมมิวนิสต์ธงขาว) มีน้องเขยนายพลอองซาน ตะขิ่น ตาน ตุน ร่วมอยู่ด้วย

พม่า แม้กระทั่งจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็รวมกันไม่ได้ ยังอุตส่าห์แบ่งออกเป็นคอมมิวนิสต์สองสี ผมว่าเจ้าของลัทธิคอมมิวนิสต์เองก็คง “งง” เหมือนกัน

ฝ่ายอู ซอ ที่ข้าหลวงอังกฤษหนุนหลังอยู่ก็จัดตั้ง “พรรคเมียวชิต(Myochit)” รอจังหวะเสียบขึ้นเป็นผู้นำพม่า สถานการณ์ทางการเมืองเรียกได้ว่าถึงทางตัน เคยมีนักวิชาการคุยกับผมว่า อังกฤษปกครองอาณานิคมมาทั่วโลกแต่ก็ไม่เคยปวดเศียรเวียนเกล้าเหมือนปกครองพม่า คลีเมนต์ แอตลี นายกรัฐมนตรีอังกฤษเชิญอองซานและคณะไปลอนดอนเพื่อหารือความคืบหน้าเรื่องการให้เอกราชแก่พม่า

คลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ที่นิ่งเงียบรอโผล่ขึ้นมาถล่มพม่าก็คือบรรดา “ชนกลุ่มน้อย” ที่ยังคงแข็งแกร่งอีกหลายกลุ่มอยู่ตามชายขอบประเทศ เฝ้ารอดูผลการเจรจาระหว่างอังกฤษกับนายพลอองซานว่าจะออกหัวออกก้อย ลุ้นระทึกอยากจะแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระ

ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยเฝ้ามองการแย่งชิงอำนาจของชนเผ่าพม่าด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องกลุ่มกะเหรี่ยง กลุ่มไทยใหญ่ (ฉาน) กลุ่มชิน กลุ่มมอญ กลุ่มอาระกัน กลุ่มคะยาและกลุ่มคะฉิน คิดวางแผนอาศัยความชุนละมุนแยกตัวออกจากพม่า เต็มใจจะอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษโดยตรง

โดยเฉพาะกะเหรี่ยงประกาศหัวเด็ดตีนขาดว่าจะไม่ขอรวมกับพม่า แม้กระทั่งวันนี้ (ปี ค.ศ.2001) ก็ยังรบกับพม่าอยู่ รวมทั้งกลุ่ม SURA(กองทัพปฏิวัติไทยใหญ่) ซึ่งผมจะไม่ขอพาออกไปนอกเรื่อง

พูดถึงกะเหรี่ยง(Karen) แล้วเป็นคนละเผ่าพันธุ์กับคนพม่าเลยนะครับส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ภายใต้การปกครองของอังกฤษ อังกฤษเคยนำกะเหรี่ยงไปเป็นทหารในกองทัพอินเดีย แทนที่จะเอาคนพม่าไป เพราะว่าพม่ากับแขกอินเดียก็ไม่ค่อยจะลงรอยกันอยู่แล้ว

ในราวเดือนมกราคม 1995 ไม่นานมานี้เอง กองทัพพม่ายุยงให้กะเหรี่ยงแตกคอกันเองเป็นผลสำเร็จโดยกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธแยกตัวออกมาจัดตั้งกลุ่ม Democratic Karen Buddhist Army (DKBA) แล้วพม่าก็หนุนให้ DKBA ไปโจมตีกลุ่มกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์จนค่ายมาเนอปลอร์และค่ายคอมูราที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยแตกกระเจิงไปแล้ว

ผมขอวกกลับมาเรื่องพม่ากำลังเรียกร้องเอกราชดีกว่า

เมื่อนายพลอองซานและคณะเดินทางไปลอนดอน ในเดือนมกราคม 1947 เพื่อเจรจาเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษนั้นไม่ปรากฏผู้แทนของชนกลุ่มน้อยไปด้วยเลย

นายพลอองซานทำสำเร็จ....... 27 มกราคม 1947 อังกฤษลงนามตกลงใจให้ เอกราชแก่พม่าและมีรายละเอียดของสนธิสัญญาดังนี้

1.ให้เวลาพม่าเตรียมการ 1 ปี ก่อนเป็นประเทศเอกราช
2. ให้พม่าจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญภายใน 4 เดือน
3. อังกฤษจะสนับสนุนพม่าให้เป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ
4. สัญญาว่าจะให้รัฐชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนเข้ารวมกับพม่า
5. จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่พม่า

ในระหว่างที่นายพลอองซานกำลังสาละวนอยู่กับการเจรจาเพื่อเอกราช บรรดาชนกลุ่มน้อยที่สนิทสนมกับอังกฤษก็เฝ้าติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด

บรรดา “เจ้าฟ้า” ในรัฐฉาน เชิญบรรดาชนกลุ่มน้อยมาร่วมหารือ (อย่างไม่เป็นทางการ) เตรียมหาแนวทางที่จะรับมือกับพม่าโดยจัดประชุมที่เมืองปางโหลง (Panglaung)

การประชุมครั้งประวัติศาสตร์คือการประชุมที่เมืองปางโหลง อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 1947 ที่นายพลอองซานและอูนุ เข้าร่วมประชุมด้วย ผลสรุปก็คือ

ชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยจะรวมกันในรูปของสหภาพ(Union) รัฐฉาน รัฐชิน รัฐกะเรนนี และรัฐกะฉิ่น จะเข้ารวมกับพม่าแต่ขอแสงวนสิทธิ์ความเป็นอิสระในการ ปกครองภายในรัฐของตนเอง

รัฐฉานและรัฐกะเรนนีมีข้อตกลงเพิ่มเติมว่าเมื่อรวมกับพม่าครบ 10 ปีจะขอแยกตัวออกจากสหภาพพม่า (Union of Burma)

ส่วนกลุ่มกะเหรี่ยงและมอญเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตุการณ์ จะขอเจรจาโดยตรงกับอังกฤษด้วยประสงค์จะเป็นรัฐอิสระโดยไม่ขอรวมกับพม่า อยากจะเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (อังกฤษเป็นกัลยาณมิตรกับกะเหรี่ยงมาช้านาน)

ข้อตกลงทั้งหมดนี้คือข้อตกลงปางโหลง (Panglaung Agreement) ที่ถือว่าเป็น “พิมพ์เขียวอนาคตสหภาพพม่า” ที่ลงนามกันเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1947

ตกลงกันแล้วมีการเบี้ยวกันไปเบี้ยวกันมา ก็เลยต้องรบกันมาตลอด 50 ปี จนบัดนี้ก็ยังรบกันอยู่

(อ่านต่อฉบับหน้า)

08 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 8

พม่าต้องการได้เอกราชอย่างสมบูรณ์
ไม่ต้องการอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ
ไม่ต้องการกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขพม่า
-----------

แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก


ผมขอแทรกเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับกะเหรี่ยงสักเล็กน้อย เพราะว่าในบรรดาชน กลุ่มน้อยด้วยกัน กะเหรี่ยงเป็นชาติพันธุ์ที่มีลักษณะแตกต่างจากชาติพันธุ์อื่นๆ

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน ในราวศตวรรษที่ 6 หรือ 7 พัฒนาการของกะเหรี่ยงได้รับการหล่อหลอมมาจากพวกมิชชันนารี เมื่อได้รับการอบรมวางรากฐานชีวิตมาจากชาวตะวันตก ความคิดความอ่านก็เปลี่ยนไป จากนับถือผีสางเทวดา ค่อยๆเปลี่ยนหันมานับถือศาสนาคริสต์ จะคิดจะอ่านอะไรก็ดูจะแตกต่างไปจากชนเผ่าพม่าหรือชนเผ่ามอญที่มีศาสนาพุทธเป็นรากฐานชีวิต

ในสมัยพม่าปกครองด้วยระบบกษัตริย์ กะเหรี่ยงมีรอยจารึกที่เลวร้ายกับราชวงค์ของพม่า ผู้นำกะเหรี่ยงเคยรวมตัวกันจัดตั้ง National Karen Association ตั้งแต่ปีค.ศ. 1881 ประมาณ 120 ปีมาแล้ว เป็นปึกเป็นแผ่นมีอารยะธรรมเป็นของตัวเอง เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองพม่าเต็มรูปแบบ เห็นความเป็นเอกภาพของกะเหรี่ยง “มิตรภาพ” ระหว่างอังกฤษกับกะเหรี่ยงจึงเป็นเรื่องง่ายดาย

เมื่อพม่ากำลังจะได้เอกราช กะเหรี่ยงจึงไม่ลังเลใจที่จะขอแยกทางกับพม่าและจะขอเป็นอาณานิคมของอังกฤษให้ได้

พม่าเห็นเค้าลางของเอกราชอยู่รำไรแต่ก็ยังมีปัญหาใหญ่สำหรับ “ประเทศ สหภาพพม่า” ว่าจะยอมเป็นเครือจักรภพอังกฤษหรือไม่? อังกฤษยังคงเดาใจพม่าไม่ออกว่าพม่าจะเอาอย่างไร ?

สำหรับบรรดาผู้นำชาวพม่าแล้วแทบจะไม่ต้องคิดเรื่องนี้เลย แต่บรรดาชาวพม่าบางส่วนก็มีความเห็นกันไปต่างๆนานา นายพลอองซานเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มที่ซ่องสุมพลพรรครอจังหวะเสียบเข้ามาขัดขวางหรือรอจังหวะบวกเป็นผู้ร่วมด้วยช่วยชนะในขบวนการที่กำลังจะนำไปสู่เอกราชของประเทศ ถ้าหากประเทศสหภาพพม่าเข้าร่วมเครือจักรภพอังกฤษ ประชาชนส่วนหนึ่ง คิดว่าประเทศคงจะไม่เป็นเอกราชอย่างแท้จริง

ประการสำคัญที่สุดคือ ชาวพม่าไม่ต้องการเห็นกษัตริย์อังกฤษมาดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศสหภาพพม่า ชาวพม่าไม่พร้อมรับสถานภาพนี้

ตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัวพม่าคือกรณีของประเทศอินเดีย ในตอนแรกอังกฤษลังเล คิดว่าไม่น่าปล่อยพม่าหลุดมือไป แต่ทุกอย่างสายไป อังกฤษได้ให้เอกราชแก่พม่าโดยสมบูรณ์ พม่าหลุดลอยไปจากมืออังกฤษแล้ว

ตามที่กล่าวไว้แล้วว่า “ข้อตกลงปางโหลง” ที่ได้ลงนามกันไปเรียบร้อยแล้วเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1947 มีเงื่อนไขที่พอใจด้วยกันทุกฝ่าย คงเหลือแต่เพียงกลุ่มกะเหรี่ยงเท่านั้นที่ยังไม่ตัดสินใจ จะขอเป็นรัฐอิสระอาณานิคมของอังกฤษ

ความสำร็จของข้อตกลงปางโหลงนั้นพม่าบันทึกประวัติศาสตร์ว่าเป็นเพราะความพยายาม ความตั้งใจจริง และความเป็นผู้นำของนายพลอองซานอย่างแท้จริง

ในทรรศนะส่วนตัวของนายพลอองซานนั้นเขามีความคิดค่อนข้างจะเสรีนิยมและเปิดกว้าง ซึ่งตรงข้ามกับบรรดาบรรพบุรุษของพม่าที่เคยยึดถือหลักการว่า “ชาวพม่าจะต้องเป็นศูนย์กลางของบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย” ชาวพม่าแต่เดิมคิดว่านี่คือความคิดชาตินิยม

นายพลอองซานได้เน้นย้ำความเท่าเทียมกันของชาวพม่าแท้และชนกลุ่มน้อยตามชายแดนโดยประกาศว่าเขาจะเคารพในเสรีภาพ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์

นายพลอองซานได้ประกาศหลักการว่า “สามารถมีเอกภาพในความแตกต่างได้ (Unity in Diversity) เขาใช้ความสุขุมละเอียดอ่อนในการแก้ปัญหาเรื่องการรวมประเทศตั้งใจจะให้เป็น “ประเทศสหภาพพม่า” ให้จงได้

ในความพยายามของนายพลอองซานเขาได้พูดประโยคที่เป็นประวัติศาสตร์เพื่อให้บรรดาชนกลุ่มน้อยเห็นความเท่าเทียมกันว่า “ถ้าคนพม่าได้เงิน 1 จ๊าต ท่านก็จะได้ 1 จ๊าต (If the Burmese receive one Kyat , you will also get one Kyat)”

ตามที่ตกลงกับอังกฤษไว้ เดือนเมษายน 1947 พม่าได้ จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้แทนจากพรรค AFPFL ได้รับเลือก 172 ที่นั่ง พรรคคอมมิวนิสต์พม่าได้รับเลือก 7 ที่นั่ง ส่วนกะเหรี่ยงปฏิเสธร่วมการเลือกตั้ง

นายพลอองซานเป็นประธานเปิดการประชุมสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของชาติ 7 ประการตามที่พรรค AFPFL ร่างขึ้นมา แนวทางแก้ไขปัญหาของชาติประเด็นหลักๆได้แก่

1. พม่าเป็นประเทศเอกราชมีอธิปไตยแห่งรัฐเรียกว่า “สหภาพพม่า”
2. อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน
3. รัฐธรรมนูญจะให้ความเสมอภาคในทางสังคม เศรษฐกิจและขบวบการ ยุติธรรม
4. ชนกลุ่มน้อยจะได้รับการคุ้มครอง
ฯลฯ

ในวันรุ่งขึ้น สมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิก 75 คนและอนุกรรมการอีกหลายคณะเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่าแนวทางและรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือประเทศไทยเราเรียกว่า “สสร.”แนวขั้นตอนต่างๆคงจะไม่แตกต่างมากนักกับห้วงที่เราปฏิบัติในประเทศไทย แนวทางดังกล่าวน่าจะเป็นสากลสำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ทั่วโลก

ถ้าจะลองจินตนาการย้อนยุคเหตุการณ์ในพม่าในขณะนั้น ดูเหมือนว่าทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย ถ้าเอาบรรทัดฐานโลกตะวันตกมาวัด พม่าก็กำลังแล่นฉิวไปสู่ประเทศ เอกราชและประชาธิปไตย

ตัวผู้นำโดยเฉพาะนายพลอองซานได้แสดงวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างยอมรับความเป็นจริงในความแตกต่างหลากหลายความคิดระหว่างชนกลุ่มน้อยต่างๆ มีความมุ่งมั่นที่จะเห็น “สหภาพพม่า” ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปรองดอง สงบสุขและสันติภาพโดยไม่ยึดติดกับความคิดดั้งเดิมที่ว่า “พม่าต้องปกครองชนกลุ่มน้อยเหล่านี้” กลุ่มนักการเมืองพม่าอีกจำนวนไม่น้อยเห็นตรงข้าบกับนายพลอองซานและจะไม่ยอมปล่อยให้นายพลอองซานดำเนินการเช่นนั้น

กลุ่มกะเหรี่ยงที่บอยคอตการเลือกตั้งสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญยังมีเขี้ยวเล็บจากอาวุธที่หลงเหลือจากการสนับสนุนของอังกฤษ (ที่ให้กะเหรี่ยงรบกับญี่ปุ่น) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษทำจดหมายขอร้องให้กะเหรี่ยงมอบอาวุธคืนให้แก่ทางราชการ สมาชิก กองกำลังกะเหรี่ยงที่ได้รับการฝึกจากหน่วยรบพิเศษของอังกฤษตอบจดหมายไปว่า

“ในระหว่างสงครามกองทัพ BIA ของพม่าได้สังหารหมู่ชาวกะเหรี่ยงในเหตุการณ์เมืองมองเมี๊ยะ และเมืองปาปัน เราจะขอจำความโหดร้ายของพม่าและการข่มเหงน้ำใจชาวกะเหรี่ยงตลอดไป เราจะไม่ยอมวางอาวุธไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม”

ท่านที่ติดตามข่าวโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์คงทราบตื้นลึกหนาบางแล้วนะครับว่าพม่ากับกะเหรี่ยงเหมือนขมิ้นกับปูนมาเป็นศตวรรษแล้ว

ราวเดือนกรกฎาคม 1947 สหภาพกะเหรี่ยงประกาศจัดตั้ง Karen National Defence Organization (KNDO) มี มาน บา ซาน (Mahn Ba Zan) เป็นหัวหน้า บรรดา ผู้บังคับบัญชาในกองกำลังนี้ล้วนเคยผ่านการฝึกและการรบมาแล้วจากหน่วยรบพิเศษ 136 ของอังกฤษ ตั้งกองบัญชาการในเมือง ซาน ชอง นอกเมืองย่างกุ้ง มีเครื่องแบบเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง กำลังพลออกมาฝึกในค่ายให้คนทั่วไปได้เห็น

กะเหรี่ยงแผลงฤทธิ์จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเผชิญหน้ากับกองทัพแห่งชาติพม่าซะแล้ว

ผมเล่าให้ทราบไปแล้วว่า นายพลอองซานกำลังนำพาประเทศไปสู่เอกราชโดยมีแนวนโยบายเปิดกว้างต่อชนกลุ่มน้อย

กลุ่มคนที่เห็นขัดแย้งอย่างรุนแรงกับนายพลอองซานและยอมไม่ได้....มีครับ จะเกิดอะไรขึ้นกับนายพลอองซาน วีรบุรุษหนุ่มอายุเพียง 32 ปี ?


(อ่านต่อฉบับหน้า)

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 9


กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย
และรับไม่ได้ กับความคิดของ ออง ซาน ผู้ให้กำเนิดทัดมาดอ
วางแผนสังหาร ออง ซาน
-----------------------
แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

เมื่ออังกฤษเปิดไฟเขียวให้พม่าเตรียมการเป็นเอกราชภายใน 1 ปี การดำเนินการทางการเมืองและขั้นตอนต่างๆพุ่งไปข้างหน้าเหมือนจรวด

เมษายน 1947 พม่าจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและคณะทำงาน ต่างเดินหน้าเต็มตัวเพื่อร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 6 เดือน โศกนาฏกรรมบังเกิดแก่ออง ซานวีรบุรุษหนุ่มของชาวพม่าอายุเพียงแค่ 32 ปี

ในหนังสือ Who killed Aung San โดย Kin Oung บรรยายว่า.... เช้าวันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม 1947 เป็นช่วงฤดูเข้าพรรษา เช้าวันนั้นท้องฟ้าฉ่ำด้วยเมฆ ที่หน้าบ้านของอู ซอ (U Saw) นักการเมืองอาวุโสของพม่า มีชายกลุ่มหนึ่งกำลัง รวมตัวกันตั้งใจฟังคำชี้แจงเป็นครั้งสุดท้ายจากอู ซอ คนกลุ่มนี้กำลังจะปฏิบัติภารกิจที่จะเปลี่ยนอนาคตของประเทศพม่าตลอดไป ชั่วครู่หนึ่งชายกลุ่มนั้นแยกย้ายขึ้นไปนั่งบน รถบรรทุกทหารยี่ห้อ Fordson

ไม่มีใครสนใจรถบรรทุกคันนี้ เพราะสงครามเพิ่งจะเลิกไม่นาน รถบรรทุกทหาร วิ่งกันไปมาในย่างกุ้งเป็นเรื่องปกติ ครึ่งชั่งโมงต่อมารถคันนี้ไปจอดหน้าตึก 2 ชั้นสไตล์ วิคทอเรียก่อด้วยอิฐสีแดง

ชายฉกรรจ์ 3 คนโดดลงมาจากรถแล้วเดินสำรวจบริเวณรอบๆตึกเพื่อให้แน่ใจว่า “เป้าหมาย” กำลังอยู่ในห้องประชุม หนึ่งในสามคนนั้นนามว่าคิน หม่อง ยิน โทรศัพท์กลับไปบอกเจ้านายโดยใช้รหัสว่า “ได้รับแหวนลูกสูบแล้ว”

ทันทีที่ปลายทางได้รับแจ้ง รถจี๊บอีกคันหนึ่งพุ่งออกจากบ้านอู ซอไป ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 10 โมงเช้า ด้านหลังรถจี๊บมีผ้าใบคลุมหลังคามิดชิดซ่อน 6 เพชฌฆาตพร้อมด้วยปืนกลทอมมี่และปืนสเตนครบมือ ทั้งหมดแต่งกายชุดฝึกเขียวหมวกปีก

ในเวลาใกล้เคียงกัน อองซานวัย 32 ปีกำลังนั่งรถออกจากบ้านมีคนขับ มุ่งหน้าไปที่ประชุมแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ (นุ่งโสร่ง) ถึงแม้จะเป็นวันเสาร์ คณะทำงานก็มาประชุมเพื่อเตรียมการเป็นเอกราชในอีก 6 เดือนข้างหน้า

บา ยุนท์ ไม่ได้พกอาวุธเดินเข้าไปสำรวจในอาคารเพื่อดูว่าใครบ้างจะชะตาขาด มองหาตะขิ่น นุ (อูนุ) ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งน่าจะอยู่ในห้องประชุมแต่ไม่พบ หากแต่ “เป้าหมาย” อื่นๆ อยู่ครบ จึงเดินกลับไปที่รถบรรทุก แจ้งว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน รถจี๊บเคลื่อนมาจอดหน้าตึก ถนนโล่งสะดวกไม่มีอะไรกีดขวาง

10.30 น. องค์ประชุมมาครบนั่งตามที่จัดเป็นรูปตัว u ออง ซานนั่งหัวโต๊ะ. การประชุมกำลังจะเริ่มขึ้น แต่ก็ถูกขัดจังหวะโดยอู ออน หม่อง รัฐมนตรีช่วยคมนาคมซึ่งเพิ่งเดินเข้ามาในห้องประชุมและรีบชี้แจงต่อที่ประชุมว่ารัฐมนตรีว่าการคมนาคมไปตรวจงานต่างจังหวัด จึงมาขอชี้แจงเรื่องด่วนก่อนและจะรีบเดินทางไปราชการ


4 เพชฌฆาตพร้อมอาวุธครบมือรีบวิ่งขึ้นบันไดตรงสู่ห้องประชุม หม่องโซกระชากประตูให้เปิด ลูกสมุนอีก 3 คนกรูเข้าไปในห้องประชุม หม่องโซตะโกน “หยุดอย่าขยับ”

ออง ซาน เป็นคนเดียวที่ลุกขึ้นยืน หม่องโซ สั่งยิงทันที ออง ซานล้มคว่ำลงไปจมกองเลือดด้วยกระสุน 13 นัดเจาะร่าง

สมุนที่เหลือสาดกระสุนจากปืนกลทอมมี่ ยาน ยี คุกเข่าลงสาดกระสุนใส่บรรดาผู้เข้าประชุมที่หมอบลงใต้โต๊ะ เสียงปืนกลคำรามลั่นประมาณ 30 วินาที 4 เพชฌฆาตจึงถอนตัว

10.40 น. เลขานุการและนายทหารคนสนิทของออง ซานวิ่งมาถึงพื้นที่สังหาร สมาชิกสภาที่ประชุมอยู่ในห้องอื่นแตกตื่นวิ่งมาที่เกิดเหตุ กลิ่นดินปืนคลุ้งตลบอบอวนผสมกับกลิ่นคาวเลือด โต๊ะเก้าอี้ล้มคว่ำระเกะระกะ

นายพลออง ซานวัย 32 ปีวีรบุรุษของชาตินอนจมกองเลือดตายคาที่บนพื้นห้อง สมาชิกคนอื่นๆอีก 6 คนโดนปลิดชีพบนโต๊ะ บนเก้าอี้ และใต้โต๊ะ

แท้ที่จริงแล้วนายพลออง ซานคือ “เป้าหมาย” แต่เพียงผู้เดียว ในจำนวนนั้นมีผู้รอดตายราวปาฏิหาริย์ 2 คนที่นั่งริมประตูแล้วกระโดออกไปได้

ระหว่างที่ 4 เพชฌฆาตถอนตัวจากอาคารยังสังหารยามประจำตึกอีก 1 คนพร้อมทั้งตะโกน “เราชนะแล้ว-เราชนะแล้ว” รีบขึ้นรถจี๊บหนีออกจากที่เกิดเหตุ นักข่าวประจำสภาคนหนึ่งวิ่งตามออกมาเห็นแผ่นป้ายทะเบียนรถ รถจี๊บมุ่งหน้ากลับไปที่บ้านอู ซอด้วยความเร็ว เกือบจะชนร้อยเอกข่าน เพื่อนบ้านของอู ซอ ร้อยเอกข่าน เห็นรถจี๊บคันนี้มีพิรุธผิดสังเกตุ รถเลี้ยวเข้าไปจอดในบ้านของอู ซอกลุ่มคนบนรถจี๊บโดดลงมาพูดคุยกับอู ซอที่ยืนรออยู่

อู ซอสวมเสื้อเชิ้ตสีขาวกางเกงขาสั้นสีน้ำเงินกระโดดเข้ากอดเพชฌฆาตทุกคนอย่างมีความสุขพร้อมทั้งตะโกน “เราชนะแล้ว-เราชนะแล้ว” อาหารและเครื่องดื่มที่เตรียมไว้เพื่อฉลองความสำเร็จถูกยกมาบริการเต็มคราบกลั้วด้วยเสียงหัวเราะอย่างเมามัน

อู ซอถามลูกน้องว่า “อูนุตายมั้ย?” บายุ้นท์ชี้แจงว่าอูนุไม่ได้มาร่วมประชุมและ เล่ารายละเอียดอื่นๆให้อูซอเห็นภาพ อูซอพอใจมากเพราะอูนุไม่ใช้ “เป้าหมายหลัก” ในการสังหารครั้งนี้

ทุกลมหายใจอูซอกระวนกระวายรอฟังเสียงโทรศัพท์จาก เซอร์ฮิวเบอร์ต แรนซ์ข้าหลวงอังกฤษผู้ปกครองพม่าโทรศัพท์มาตามเพื่อให้อูซอไปเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน ออง ซาน เพราะเมื่อสิ้นออง ซานแล้วไม่มีใครโดดเด่นเท่ากับอู ซอผู้มากด้วยประสบการณ์ทางการเมือง อายุเพียง 47 ปี กว้างขวางในหมู่นักการเมือง สนิทสนมกับกองทัพ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ The Sun เป็นหัวหน้าพรรคเมียวชิต (แปลว่ารักชาติ) แถมยังเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของพม่าในห้วงปี 1940-1942 ก่อนญี่ปุ่นบุกพม่า

เหมือนสายฟ้าฟาดกลางวันแสกๆ ข้าหลวงใหญ่อังกฤษกลับเชิญอูนุมาพบแล้วขอให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันทีแล้วรีบจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ของประเทศ

ในตอนนั้น ออง ซานมีลูก 3 คน คือ ด.ช. ออง ซานอู ด.ช. ออง ซานลิน และ ด.ญ. ออง ซานซูจี

อูซอพร้อมด้วยลูกสมุนมือปืนยังคงคอยโทรศัพท์ด้วยความร้อนรุ่มคละเคล้าด้วยความปลาบปลื้มที่กำจัดคู่แข่งทางการเมืองได้สำเร็จ

บ่าย 3 โมงวันเดียวกันนั้นรถบรรทุกตำรวจจำนวนหนึ่งได้จู่โจมเข้าล้อมบ้านพักอูซอ มือปืนทุกคนหยิบอาวุธเตรียมต่อสู้ แต่อูซอกลับใจเย็นจิบวิสกี้เดินออกไปพบตำรวจด้วยท่าทางสงบเหมือนไม่มีอะเกิดขึ้น ตำรวจเข้าค้นบ้านพบปืนและกระสุนจำนวนมากแต่มีใบอนุญาตถูกต้องจึงยึดไปเป็นหลักฐาน ตำรวจคุมตัวอูซอและลูกสมุนไปคุกอินเส่ง ในบ้านตำรวจยังพบนามบัตร ตรายางที่ทำเตรียมไว้เรียบร้อยพร้อมใช้เขียนว่า “ฯพณฯนายกรัฐมนตรี อูซอ”

อูซอมีบุคลิกเป็นคนทะเยอทะยาน มักใหญ่ไฝ่สูงในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี (1940-1942) ใช้อำนาจเหมือนเผด็จการ เคยสั่งจับนักการเมืองคู่แข่งเช่นอูนุและบรรดากลุ่ม 30 สหายอีกหลายๆคนรวมทั้งสั่งจับผู้ต้องสงสัยว่ามีความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น ในเวลาเดียวกันทำตัวเป็นลูกสมุนชั้นดีของข้าหลวงอังกฤษทุกคน อูซอเคยได้รับเชิญไปลอนดอนเพื่อพบกับเซอร์ วินสตัน เชอร์ชิล และบรรดาผู้นำอังกฤษเพื่อแสดงบทบาทเจรจาปลดปล่อยพม่าแต่ให้เป็นเครือจักรภพอังกฤษ

มีบันทึกว่าก่อนอูซอเดินทางไปเจรจากับอังกฤษนั้น เขาบวชเป็นพระแล้วไปสักการะขอพรจากพระเจดีย์ชเวดากอง แต่ด้วยความระห่ำ อูซอขึ้นเครื่องบินรุ่น Tiger Moth แล้วไปบินวนเหนือเจดีย์ชเวดากองเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธ์แต่ชาวพม่าและพระสงฆ์ทั้งหลายลงความเห็นว่าเขาเป็นโรคจิต ลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธ์สูงสุด

กระบวนการสอบสวนฆาตกรรมออง ซานดำเนินมาจนถึง 30 ธ.ค. 1947 ศาลอ่านคำพิพากษากว่า 1 ชั่งโมงเป็นภาษาอังกฤษ อูซอฟังเข้าใจส่วนลูกน้องอีก 8 คนไม่รู้เรื่อง ศาลตักสินประหารชีวิตโดยการแขวนคออูซอและมือปืนอีก 5 คนส่วนที่เหลืออีก 3 คนจำคุกคนละ 20 ปี

ศพของออง ซานถูกนำมาวางให้ประชาชนเคารพเป็นเวลาประมาณ 9 เดือนในJubilee Hall บนถนนชเวดากองแล้วจึงทำพิธีฝังอย่างสมเกียรติ์ในสุสานเมื่อ 11 เมษายน 1948 มีชาวพม่ามาร่วมพิธีศพกว่า 500,000 คน

นับว่าเป็นการปิดฉากชีวิตนิรันดร์กาลของวีรบุรุษผู้ก่อตั้งทัดมาดอ (กองทัพพม่า) และผู้ปลดปล่อยพม่าให้เป็นเอกราช ความสูญเสียในครั้งนี้ได้พลิกผันโฉมหน้าความเป็นไปของประเทศพม่าจนเราเห็นเช่นทุกวันนี้ที่มีผลกระทบต่อคนไทยและประเทศไทยไม่มากก็น้อย

(จบบริบูรณ์)