02 พฤศจิกายน 2552

ตำนานเหรียญปราบฮ่อ

ตำนานเหรียญปราบฮ่อ

โดย พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้อำนวยการสำนักวางแผนการฝึกร่วมผสม
กรมยุทธการทหาร บก.ทหารสูงสุด







...........ผมไม่ค่อยจะรู้เรื่องราวของ พระเครื่อง พระกรุ พระพิมพ์ เหรียญหลวงปู่ หรือของดีคล้องคอเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าเห็นใครเค้ายกกล้องขึ้นมาส่องพิจารณาเครื่องลางของขลัง ผมต้องเร่เข้าไปขอร่วมแจม ประเภทครูพักลักจำ ฟังเอาไว้เป็นความรู้ได้ซักพักแล้วก็ลืมเลือนไป
..........ผมว่านายทหารในกองทัพไทยเกือบทุกคนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพบูชา และนำมาคล้องคอเพื่อความเป็นศิริมงคลกันทั้งนั้น มากบ้างน้อยบ้างพวงเล็กพวงใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีทีเด็ดด้วยกันทั้งนั้น ผมรู้จักนายทหารรุ่นพี่ ๒ -๓ ท่าน ที่พกกล้องส่องพระติดตัวและมีกึ๋นที่จะให้พี่น้องได้คว้าของดีมาให้ช่วยส่องกล้อง
..........เซียนพระส่องของดีแล้วเปล่งมธุรสวาจา พรรณนา ความเก่าแก่ ความศักดิ์สิทธิ์ ความสวยงามให้เจ้าของได้ชื่นใจ เซียนพระประเภทนี้ จะมีพันธมิตรเยอะแยะ เพราะใครๆ ก็ชอบฟังว่าของกูเยี่ยม งานการแทบไม่ต้องทำ เขาเอาพระ เอาของดีมาให้ดูทั้งวัน เซียนพระประเภทนี้ผมว่ามีเสน่ห์ครับ แต่เซียนประเภทตรงไปตรงมา ส่องกล้องแล้วปกปิดความรู้สึกไว้ไม่อยู่ แสดงออกทางสีหน้า และยังส่ายหัวอีกต่างหาก ลงความเห็นว่าของดีของพี่มันของเก๊ นี่หว่า ผมขอบอกว่าไอ้ประเภทนี้ พี่ๆ น้องๆ ในกองทัพกำลังหาทางพิจารณาว่าจะไม่ได้ความร่วมมือในงานราชการและงานส่วนตัวตลอดไปครับ (ผมล้อเล่นครับ !)
...........หนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดยเฉพาะวันอาทิตย์ จะมีคอลัมน์เจาะลึกเกี่ยวกับพระเครื่องและนำเอา รูปพระกรุ เหรียญ ของดีนานาชนิดตั้งแต่ครั้งโบราณกาลมาเผยแพร่ให้อ่านกันสนุกๆ
..........ผมไปสะดุดใจตรงเหรียญปราบฮ่อ ที่ว่ากันว่ามูลค่าของการบูชากันนั้นเป็นเลข ๗ หลักทีเดียว เอาเถอะครับ จะว่ากันยังไงผมคงขอผ่านไป แต่มาสงสัยว่า ไอ้ฮ่อ ไอ้แฮ่ นี่มันมาจากไหน รบกันที่ไหน อย่างไร และที่มาของเหรียญปราบฮ่อเป็นอย่างไร ? ซึ่งไปค้นหาคำตอบมาเล่าสู่กัน จึงพบว่าบรรพบุรุษไทย ที่เปรียบเสมือนพระกรเบื้องขวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ท่านทรงเป็นแม่ทัพใหญ่ที่นำทัพไทยนองเลือดรบกับฮ่อ
..........ท่านทรงเป็นอัจฉริยะบุรุษอย่างแท้จริง เพรียบพร้อมด้วยความสัตย์ซื่อ ยุติธรรม เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าชีวิตตน จนได้รับสมญานามว่า “ไฮ้สุยแห่งกรุงสยาม” มีความรู้ความสามารถเสมือนหนุมานของพระราม ซึ่ง “ใช้ไหนได้นั่นดั่งใจ”
..........สรุปได้ว่า ปี พ.ศ.๒๔๐๘ พวกฮ่อได้ก่อสงครามขึ้นทางตอนเหนือของสยามประเทศ จีนฮ่อตั้งตนก่อการกบฎต่อรัฐบาลแมนจู (ราชวงศ์เซ็ง) ต่อมาเรียกว่า กบฎไต้เผ็ง พวกกบฎแม้วรวมพวกได้มาก แต่ก็สู้ความพร้อมของ กองทัพแมนจูไม่ได้ ในที่สุดก็พ่ายแพ้ต่อทหารรัฐบาล ต่างคนต่างก็หนีเอาตัวรอด ลงใต้ หลบซ่อนตัวตามป่าเขา ในเขตมณฑลฮกเกี๋ยน กวางตุ้ง กวางไส และเสฉวน ในปีเดียวกัน (พ.ศ.๒๔๐๘) กบฎฮ่อพวกแรก นำโดยง่ออาจง ตั้งตัวเป็นหัวหน้า รวบรวมพลพรรคได้ประมาณ ๔,๐๐๐ คน ยกพลเข้ามาเขตอ่าวตังเกี๋ย ดินแดนของพวกญวน สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ญวนต้องไปขอกำลังจากเมืองจีน จีนส่งกำลังทัพถึง ๑๐,๐๐๐ คน เข้าตีฮ่อ ไม่นานพวกฮ่อก็แตกพ่าย ง่ออาจงสู้ตายในสนามรบ เมื่อตัวหัวหน้าตาย พรรคพวกที่เหลือต่างพากันหลบหนี
..........ตามประวัติศาสตร์เมืองซันเทียน เขตติดต่อแม้ว ชายแดนจีนติดญวน คือสถานที่พักและหลบซ่อนตัวของกบฎฮ่อ ความกำเริบเสิบสานของฮ่อยังไม่หมด ปวงนันซี กับน้องชายของง่ออาจง รวบรวมพวกได้ ๑๐,๐๐๐ คน ในปี ๒๔๐๙ ลงไว้ว่า บุกตีเมืองเลารายของญวน และสามารถตีได้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐ ต่อมาเกิดความแย่งชิงความเป็นใหญ่ ปวงนันซีกับจอมทัพของตัวเอง ชื่อลิ่วตายัน เข้าสู้รบกันเอง ว่ากันว่าปวงนันซีนั้นพ่ายแพ้แก่ลิ่วตายัน จึงยกพวกหลบมาตั้งมั่นที่เมืองฮานยาง ในสิบสิงจุไทย เป็นที่มาของกองโจรฮ่อ “ธงเหลือง” (ฮ่อธงดำ เป็นพวกลิ่วตายัน ภายหลังรวมพวกเป็นญวน)
..........ในปี ๒๔๑๗ ฮ่อธงเหลืองยกทัพเข้าตีเมืองเชียงขวาง ขณะนั้นท้าวขันติ เจ้าเมืองขอกำลังญวน มาช่วย แต่ก็แพ้ ฮ่อธงเหลืองเดินทัพมาตั้งมั่นที่ทุ่งเชียงคำ พ.ศ.๒๔๑๘ ไทยขณะนั้น พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น กัลยาณมิตร) ข้าหลวงออกมาการสักเลข (เกณฑ์ทหาร) ตามหัวเมืองต่างๆ ทราบข่าวก็แจ้งกลับมายังกรุงเทพฯ ส่วนตัวได้เกณฑ์ชาวบ้านไปป้องกันไว้ก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาภูธราภัย ยกทัพไปเมืองหลวงพระบาง และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ ดำรงเป็นแม่ทัพยกทัพ ไปเมืองหนองคาย ทัพของพระยามหาอำมาตย์ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน ปรากฎว่ารบชนะฮ่อ บุกตะลุยตีฮ่อแตก ที่ทุ่งเชียงคำ ประกอบกับ ทัพหลวงที่ยกมาทันเวลาทำให้พวกฮ่อพ่าย แตกกระจัดกระจายเหตุการณ์ทางหลวงพระบาง
..........ในเวลาเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิไชย (ดิส) เกณฑ์กำลังจากพิษณุโลก แล้วให้ล่วงหน้าไป แต่กำลังพลไม่พอที่จะตีพวกฮ่อได้ ทำได้เพียงป้องกันและตั้งทัพรอทัพหลวง เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยทราบเรื่อง จึงให้พระยาสุริยภักดี (เอก บุณยรัตพันธุ์) รีบยกทัพไปช่วย รวมทัพของพระยาพิไชยด้วยแล้ว ทัพฮ่อก็แตก ฮ่อสงบไปได้เพียง ๙ ปี ในปี พ.ศ.๒๔๒๖ ธงเหลืองพวกฮ่อก็กำเริบขึ้นอีก คราวนี้ กรรมสนองไม่พลาด ปวงนันซีตายขณะพาพวกปล้นเมือง กบฎฮ่อขาดผู้นำก็แตกกระจายเป็นหลายพวก แต่กลับมีฮ่อธงสีต่างๆ เกิดขึ้น กระทั่งอาจึงกับไกว ซึ่งเป็นหัวหน้าฮ่อธงเหลืองรวมพวกได้ใหม่ ที่ตั้งค่ายใหญ่ที่ทุ่งเชียงคำ แขวงเมืองพวน ญวนเรียกเมืองนี้ว่า ตันหมิน ๗ ปีต่อมา เกิดความกำเริบยกทัพตีเมืองหัวพันทั้งห้า ทั้งหก
..........พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิชัย (มิ่ง) พระยาสุโขทัย (ครุฑ) รีบยกทัพสกัดและแต่งตั้งพระยาศรีธรรมธิราชเป็นแม่ทัพใหญ่ รีบยกทัพตามขึ้นไปปรายฮ่อ เมื่อถึงเมืองหลวงพระบาง ฮ่อก็หนีไปตั้งค่ายที่ทุ่งเชียงคำ ต่อสู้กันนานก็ไม่สามารถตีฮ่อแตกได้ และในคราวนี้พระยาราชวรานุกูล ถูกกระสุนปืนพวกฮ่อที่ขา แต่ก็ยังสู้นานถึง ๒ เดือน กองทัพไทยเริ่มอิดโรย ประกอบกับเสบียงอาหารเริ่มขาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ เรียกทัพกลับ ฮ่อสงบลงได้ ๒ ปี
..........พ.ศ.๒๔๒๘ กบฎฮ่อได้กำเริบอีกครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้แยกทัพเป็น ๒ ทัพ ทัพหนึ่งโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พันเอกพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ ศิลปาคม เป็นแม่ทัพ ไปปราบฮ่อเมืองพวน อีกทัพหนึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ จหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสงชูโต) หัวหมื่นมหาดเล็กเวรขวา ผู้บังคับการ กรมทหารมหาดเล็กคนแรก เมื่อปี ๒๔๑๓ ( ต่อมาเป็นจอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี่) เป็นผู้นำทัพในการรบครั้งนี้ ได้นำการทหารที่ทันสมัยแบบยุโรป เข้าตีทำลายกบฎฮ่อ ทำให้กบฎฮ่อพ่ายแพ้อย่างยับเยิน พากันสวามิภักดิ์ พันเอกจหมื่นไวยวรนารถ ได้รวมพวกฮ่อทำสัตย์ปฏิญาณ ยอมรับสวามิภักดิ์ เสร็จเรียบร้อย จึงนำทัพกลับ
..........ปี พ.ศ.๒๔๓๐ เมืองหลวงพระบาง แจ้งข่าวมาว่า พวกฮ่อกำเริบหนักอีก ครั้งนี้ยกทัพมาปล้นเมืองหลวงพระบางและวังหลวง ราษฎรเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เจ้าอุปราชสุวรรณ พรหมา สิ้นพระชนม์ในที่รบ เจ้ามหินทรเทพนิถาธร เจ้านครหลวงพระบาง และพระมเหสี พร้อมด้วยหมู่พระประยุรญาติ จำนวนประมาณ ๕๐ พระองค์ เสด็จหนีทางชลมารค และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งให้จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีรับรองอย่างสมเกียรติ ในครั้งนั้น พระเจ้ามหินทรเทพนิถาธร พระมเหสี และพระประยุรญาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้า ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และโปรดเกล้าฯ พระราชทางเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยาม มหาสุราภรณ์ ชั้นที่ ๑ พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี นำเสด็จกลับเมืองของพระเจ้ามหินทรเทพฯ การยกไปปราบฮ่อครั้งนี้ พวกกบฎฮ่อถูกปราบลงอย่างราบคาบ มีการจัดระเบียบการปกครองเสียใหม่ ฮ่อจึงไม่สามารถหวนกลับมากำเริบเสิบสานได้อีก แต่..ทางไทยกลับต้องเผชิญปัญหาที่หนักกว่าการปราบฮ่อมากมายหลายเท่า ซึ่งก็คือกรณีพิพาทและเสียดินแดน ร.ศ.๑๑๒





จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต)
เมื่อครั้งเป็นนายพันเอก เจ้าหมื่นไวยวรนาถ
แม่ทัพในสงครามปราบฮ่อฝ่ายไทย ใน พ.ศ. 2428 - 2430 (นั่งทางซ้าย)
ถ่ายรูปคู่กับ เจ้าราชวงศ์ (คำสุก) แห่งหลวงพระบาง (นั่งทางขวา)
ที่กองบัญชาการเมืองซ่อน

..........เกี่ยวกับการจัดสร้างเหรียญที่ระลึกพระราชทางปราบฮ่อ บางตำรารวบรวมข้อมูลว่า จัดสร้างเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๒๔๖ (พ.ศ.๒๔๒๗) หากพลิกดูด้านหลังเหรียญจะระบุ จ.ศ. แต่ละครั้งว่า ๑๒๓๙, ๑๒๔๗, ๑๒๔๙ ปีที่ระบุนั้น เกินปีจัดสร้างถึง ๒ ครั้ง ลักษณะของเหรียญ ลักษณะเป็นรูปกลมขนาดใหญ่ เชื่อมหูติดแพรแถบ ด้านหน้ามีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครึ่งพระองค์ ผินพระพักตร์เบื้องขวา ต่ำจากเส้นกั้นของเหรียญ จารึกตัวอักษรไทยว่า จุฬาลงกรณ์บรมราชาธิราช ต่ำลงมาใต้พระบรมรูป จะปรากฎลายช่อชัยพฤกษ์ ตรงกลางผูกโบ รายละเอียดคมชัด ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราช ทรงพระแสงของ้าว ทรงคชาธารยืนอยู่บนศาสตราวุธ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์พวกฮ่อ รอบตัวเหรียญมีอักษรไทยปรากฎว่า ปราบฮ่อ ๑๒๓๙, ๑๒๔๗, ๑๒๔๙ ผู้ออกแบบเหรียญ สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ แพรแถบสีดำ ริมขอบสีเหลือง กว้าง ๒.๕ ซม.
..........การพระราชทานเหรียญปราบฮ่อ มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เหรียญที่มีการพระราชทานให้จะมีตัวเลขกำกับไว้ในเหรียญด้านหน้า ผู้ใดได้ร่วมไปราชการปราบฮ่อในปีใด ก็จะพระราชทานเข็มสำหรับปีนั้น เข็มจะประดับบนแพรแถบ จะหาผู้ใดที่ได้ไปราชการปราบฮ่อ ทั้ง ๓ ครั้งนั้นยากมาก จึงมักพบเข็มที่ประดับ บนแพรแถบเพียงหนึ่งหรือสองเท่านั้น เท่าที่พบจากข้อมูลตำราบางเล่ม


ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญปราบฮ่อ ๓ ครั้ง มี

..........๑. พระวิภาคภูวดล (เจมส์ แมคคาที)
..........๒. หลวงคำนวนคัดฌานต์ (ตรี)
..........๓. ขุนประมาณสถลมารค (ใจ)
..........๔. นายสว่าง นายเวรกรมแผนที่

ผู้ที่ได้รบพระราชทานเหรียญปราบฮ่อ ๒ ครั้ง
..........๑. หลวงพลสินธวาณัตถ์ (ริ ชิ ลิว)
..........๒. ขุนนภาภาคพัติการ (เอม)




จุดสำคัญที่ใช้สังเกตุในพิมพ์เหรียญที่ระลึกปราบฮ่อ


..........๑. เหรียญที่ระลึกปราบฮ่อ เท่าที่พบมีขนาดการสร้างแบบใหญ่ กลาง เล็ก (ย่อ)
..........๒. ชนิดของเนื้อเหรียญมีเงิน, ทองแดง ส่วนมากจะมีหูติดแพรแถบสี ซึ่งเป็นชนิดที่แจกทั่วไป
..........๓. ชนิดไม่มีหู เป็นเหรียญสำรองคงคลัง ขนาดของน้ำหนักเหรียญจะเท่ากัน อาจแตกต่างกันบ้างไม่กี่มิลลิกรัม สร้างแบบใหญ่ กลาง เล็ก (ย่อ)






เหรียญที่ระลึกปราบฮ่อ เนื้อทองแดง (ด้านหน้า)



..........จุดสังเกตด้านหน้า
..........๑. ขอบของเหรียญจะนูนหนา มีเส้นกั้นขอบเหรียญหนึ่งเส้น วิ่งโค้งรอบ เส้นนี้จะโค้ง (ช่างทำไว้เพื่อเป็นโค้ตเหรียญ) เพราะฉะนั้นเหรียญรัชกาลที่ ๕(ปราบฮ่อ) จะเชื่อมหูตรงกัน โดยไม่มีผิดตำแหน่งกันเลย
..........๒. ใบไม้ตรงกลางแกะเป็นจุดนูนค่อนข้างกลม
..........๓. เชือกผูกโบมีเส้นขีดข้างแนวนอนและแนวตั้งชัดเจน
..........๔. จะมีเส้นเรียวเล็ก วิ่งหายไปกับพื้นเหรียญ
..........๕. ตัวหนังสือแกะเป็นแท่งเป็นเหลี่ยม มีเส้นขอบเด่นนูนชัดเจนตรงตัว ณ เณร มีเส้นแกะสองลอน ส่วนแหลมเป็นหยักชัดเจน
..........๖. เป็นรูปตัว A ชัดเจน (เหรียญแท้ลายเส้นจะคมชัด)






เหรียญที่ระลึกปราบฮ่อ เนื้อทองแดง (ด้านหลัง)



..........จุดสังเกตด้านหลัง
..........๑. เส้นกั้นขอบเหรียญนูนใหญ่ชัดเจน
..........๒. ลักษณะของหนังช้างที่ย่นจะเหมือนจริง
..........๓. รอยบากเป็นร่องลึกชัดเจน ตรงปลายพระแสงดาบ
..........๔. เส้นที่ปรากฎตรงด้ามจับพระแสงดาบ วิ่งเป็นทิวแถวชัดเจน
..........๕. ปลายหางเลข ๙ แตกเป็นปากตะขาบ
..........๖. เส้นวิ่งเห็นชัดตรงโคนขาช้าง
..........๗. คำว่าปราบ ร เรือ แกะหัวผิดช้าง


..........ท่านผู้อ่านท่านใดมีเหรียญแบบนี้ในครอบครอง ขอให้ทราบว่ามีค่าเหลือประมาณ เก็บรักษาไว้ให้ดีนะครับ



------------------------


คอบร้าโกลด์ 22 ขวบ

คอบร้าโกลด์ 22 ขวบ




พล.ต.นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้อำนวยการสำนักการฝึกร่วมและผสมกรมยุทธการทหาร
ผู้อำนวยการฝึกคอบร้าโกลด์ 2003




..........เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วจนแทบไม่น่าเชื่อว่า ไทยกับสหรัฐอเมริกา ได้ฝึกคอบร้าโกลด์กันมา 22 ปี (22ครั้ง) แล้วครับ นายทหาร นายสิบในกองทัพไทยจำนวนไม่น้อยคงจะเคยสัมผัสการฝึก หรือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกมาแล้ว นายทหารบางท่านที่รับราชการในหน่วยกำลังรบมานาน บางท่านออกปากด้วยความภาคภูมิใจว่า “ พี่ฝึกมา 5 ครั้งแล้วเว้ยไอ้น้อง ”
..........ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กรุณาแต่งตั้งให้กระผมเป็นผู้อำนวยการฝึกคอบร้าโกลด์ 03 (ก็คือ คอบร้าโกลด์ ปี ค.ศ.2003) นับเป็นการฝึกครั้งที่ 22 บก.ทหารสูงสุดและเหล่าทัพ ได้เตรียมการวางแผนล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 แล้ว เพื่อมาฝึกกันในระหว่าง 15 – 29 พ.ค.46
เราเตรียมการวางแผนกันอย่างไร?
..........1. การประชุมวางแผนร่วมไทย – สหรัฐฯ 5 ครั้ง ประกอบด้วย
...............1.1 การประชุม Preliminary Planning Meeting หรือ PPM เป็นการมานั่งหารือกันว่า การฝึก
ครั้งต่อไปจะมีทิศทางหรือแนวทางในการฝึกอย่างไร กำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตกว้างๆ จะประชุม
ในเดือนมิถุนายน ของทุกปี พอฝึกปีนั้นจบ นายทหารอเมริกันจะอยู่ต่อเพื่อขอประชุมทันที เรียกว่าตีเหล็กกำลังร้อน ๆ
...............1.2 การประชุม Concept Development Conference ไทยกับสหรัฐฯ จะมากำหนดแนวความคิด ในการพัฒนาการฝึกให้เป็นไปตามแนวทางให้ตอบสนองต่อการใช้กำลังทหารของประเทศของตน และต้องสามารถปฏิบัติการร่วมกันได้ เรียกว่าคุยกันเพื่อตีกรอบแนวทางให้แคบลงมาจากข้อ 1.1 จะประชุมในเดือนกันยายน ของทุกปี
...............1.3 การประชุม Initial Planning Conference หรือเรียกว่าการประชุมวางแผนขั้นต้น จะรู้แน่ชัด
ว่าหน่วยใดจะเป็นหน่วยหลักในการฝึก ฝึกที่ไหนบ้าง ฝึกอะไร วัน – เวลา และกำหนดการสำคัญๆ ต่างๆ จะต้องลงตัวด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย กำหนดในเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี
...............1.4 การประชุม Middle Planning Conference หรือ MPC เป็นการประชุมวางแผนขั้นกลาง เราแบ่งกลุ่มย่อยๆ ประมาณ 15 กลุ่ม เพื่อคุยกันในรายละเอียดให้ครอบคลุมทุกเรื่อง เรียกได้ว่ากำหนดการต่างๆ เรื่องที่จะฝึกงานธุรการ งานส่งกำลังบำรุง จะมีความสมบูรณ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เช่น กองกำลังทางบกผสม ในปีหน้าของไทยคือ พล.ร. 3 ส่วนของ สหรัฐฯ คือ พล.ร. 25 จะต้องตกลงกันได้เรียบร้อยแล้วว่าจะต้องฝึกอะไรกันบ้างกำหนดในเดือนมกราคมของทุกปี
...............1.5 การประชุม Final Planning Conference หรือ FPC เป็นการประชุมวางแผนขั้นสุดท้าย
กล่าวได้ว่า งานทุกอย่างที่เหลืออีกประมาณ 10เปอร์เซ็นต์ จะต้องถูกเก็บกวาดจนหมด คำสั่ง แผนการฝึก แผนยุทธการ ที่กำหนดรายละเอียดเป็นชั่วโมง ทั้งภาษาไทยและอังกฤษต้องเสร็จเรียบร้อย บ่งการต่างๆ สำหรับการฝึกต้องเสร็จเรียบร้อย กำหนดในเดือนมีนาคมของทุกปี
..........การประชุมวางแผนทั้ง 5 ครั้งนี่แหละ ผมถือว่าเป็นการฝีกนายทหารไทยในการวางแผน นายทหารจาก บก.ทหารสูงสุดและเหล่าทัพ ทำงานร่วมกับนายทหารสหรัฐฯ ได้อย่างน่าพอใจ ไอ้เรื่องความรู้ทางวิชาการหลักการไม่ต้องห่วง เพราะโดยมากสำเร็จจากโรงเรียนเสนาธิการมาแล้วทั้งนั้น บางคนหิ้วกระเป๋า หอบตำรา มาวางขู่เยอะแยะ ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง ดูทะมัดทะแมงดี แต่ไอ้ที่น่าอึดอัดคือ ปากที่มันพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ดั่งใจนึก นี่ซิครับ บางครั้งทำเอาทหารไทยเหนื่อยโดยไม่ชักช้าเหมือนกัน
..........ผมอยากให้ท่านผู้อ่านสบายใจครับว่านายทหารไทยเกือบทุกคนใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นที่น่าพอใจ ประชุมแสดงความคิดเห็นได้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อะไรไม่รู้เรื่องให้ยิ้มไว้ก่อน ฝรั่งจะเข้าใจทันที หรือบางครั้ง ไม่รู้เรื่องเอามากๆ ก็ตอบ “เยส” มันหมดทุกเรื่อง ฝรั่งก็จะเข้าใจเองว่าทหารไทยขี้เกรงใจ ซึ่งที่จริงแล้วต้องการบอกว่า “โน”
..........สนุกดีครับ น่ารักดีครับ คนไทยสุภาพ ไม่เคยขัดใจใครอยู่แล้ว พวกเราทำหน้าที่ทูตวัฒนธรรมได้ดี เพื่อนฝรั่งแทบทุกคนใครๆ ก็อยากจะมาประชุมกับเราในเมืองไทย เ พราะเรา “ยิ้มสู้” มันทุกเรื่อง E-mail คือหัวใจของการประสานงานที่ดีที่สุด ประชุมกันเสร็จแล้วใช่ว่าจะจบแค่นั้น งานธุรการและการเคลื่อนย้ายกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และสัมภาระต่างๆ ของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่จะต้องประสานกันตลอดเวลา สหรัฐฯ มีการเคลื่อนย้ายขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ช้างเหยีบนา พญาเหยียบเมือง ทั้งทางเรือและทางอากาศ แม้กระทั่งส้วมที่ใช้ในสนามก็ยังอุตส่าห์ ขนมาจากอเมริกาด้วย ฝึกเสร็จก็ขนกลับ ส้วมหน้าตาน่ารักน่าชังพิลึก การติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิด การแก้ไขกำหนดการต่างๆ เราทำให้สะดวกง่ายโดยใช้ E-mail การส่งเอกสารยาวๆ หรือไม่ยาว E-mail เป็นเสมือนหัวใจของการทำงานระหว่างไทยกับสหรัฐฯ วันไหนตัวเซิฟเวอร์ล่ม (failure) เราแทบจะทำงานไม่ได้ แฟกซ์จะเป็นเครื่องมือที่เราไม่เลือกใช้เพราะกระดาษแฟกซ์ แพงชะมัด เรื่องนำสารเลิกพูดได้เลย ขืนวิ่งรถไปมาระหว่าง บก.ทหารสูงสุด – เหล่าทัพ – จัสแมกไทย มีหวังเจ๊งก่อนฝึก ขอบคุณพระเจ้าที่โลกนี้มี E-mail ใช้ โรค SARS แขกผู้ไม่ได้รับเชิญ คอบร้าโกลด์ปี 03 ที่เพิ่งฝึกผ่านไประหว่าง 15 – 29 พ.ค.46 นั้น เกิดปัญหาแทรกซ้อนเรื่องโรคซาร์ส (SARS) เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง ผบ.ทหารสูงสุด ได้สั่งการเด็ดขาดให้กระผมเดินทางไปพบรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติ ที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะว่าจะมีทหารสิงคโปร์ จำนวน 96 คน ทหารจากเวียดนาม 3 คน และจากจีน 3 คน (ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง) เดินทางเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำจดหมายคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ เราจึงส่งต่อไปยังผู้ช่วยทูตทหาร ให้ส่งต่อกลับไปกองทัพของตนเอง เพื่อให้ตรวจสอบสุขภาพก่อนออกเดินทางมาฝึกในประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความร่วมมือส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบอีกครั้งเมื่อกำลังพลกลุ่มเสี่ยงโรค SARS เดินทางมาถึงประเทศไทย ไม่ปรากฎอาการใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะทำการฝึก กองอำนวยการฝึกยังต้องรายงานสุขภาพของกำลังพลทุกวันให้สาธารณสุขจังหวัดชลบุรีทราบ ตราบจนวันสุดท้ายของการฝึก ไม่ปรากฎปัญหาเรื่องโรค SARS แต่อย่างใด สำหรับกำลังพลของสหรัฐฯ ประมาณ 7,600 คน ในส่วนที่เดินทางโดยเครื่องบิน เมื่อทราบปัญหาเรื่องนี้ จึงมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินไม่ไปจอดพักในประเทศกลุ่มเสี่ยง และต้องบินไกลกว่าเดิม ผู้บังคับบัญชาของทหารสหรัฐฯ ตัดสินใจได้รวดเร็ว ถูกต้อง ทันเวลา โรค SARS เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง แต่ในที่สุดเราโล่งใจ เพราะคอบร้าโกลด์ไม่ได้เป็นตัวพาหะนำเชื้อโรคเข้ามาในประเทศไทยครับ
กองกำลังผสมต่างๆ ไปฝึกที่ไหนกันบ้าง?
..........1. กรมการฝึกร่วมและผสมทหาร เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง กอฝ.คอบร้าโกลด์ 03 ณ พื้นที่กองบินทหารเรือ (สนามบินอู่ตะเภา) มีกระผมเองเป็น ผอ.กฝ.คอบร้าโกลด์ 03 ฝ่ายไทย และ พล.ต. Emerson N. Gardner JR. หน.ฝยก.กกล.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เป็น ผอ.กฝ.คอบร้าโกลด์ 03 ฝ่ายสหรัฐฯ
..........2. กองกำลังเฉพาะกิจ ร่วม/ผสม กองเรือยุทธการ เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง กกล.ฉก.ร่วม/ผสม ณ กบร.กร. อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กำลังพลร่วมการฝึกประกอบด้วย ฝ่ายไทย 282 คน ฝ่ายสหรัฐฯ 1,100 คน และฝ่ายสิงคโปร์ 60 คน รวม 1,442 คน นย.สหรัฐฯ โพ้นทะเลที่ 3 เป็น รอง ผบ.กกล.ฉก.ร่วม/ผสม และ พลจัตวา Chin Phei Chen ผบ.พล.ร.6 กองทัพสิงคโปร์ เป็น ผช.ผบ.กกล.ฉก.ร่วม/ผสม
..........3. หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผสม หรือหน่วยรบพิเศษ พล.รพศ.1 เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง ฉก.ปพ.ร่วม/ผสม ณ กองร้อย ปตอ.3 พัน.ปตอ.พล.นย. อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ฝ่ายไทย มี พล.ต.บัณฑูร ติปยานนท์ ผบ.พล.รพศ.1 เป็น ผบ.ฉก.ปพ.ร่วม/ผสม และ ฝ่ายสหรัฐฯ คือ พล.จัตวา Trebone ผบ.หน่วยปฎิบัติการพิเศษ กองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เป็นรอง ผบ.ฉก.ปพ.ร่วม/ผสม
..........4. กองกำลังทางบกผสม ปีนี้สหรัฐฯ ใช้กำลังพลจาก พล.ร.25 จากฮาวาย มี พล.ต. Olson ผบ.พล. มาเป็นรอง ผบ.กกล.ทบ.ผสม ส่วนฝ่ายไทย มี พล.ต.ภิรมย์ ตังคะรัตน์ ผบ.พล.ร.16 เป็น ผบ.กกล.ทบ.ผสมพัน.ร. ของสหรัฐฯ มาฝึกร่วมกับ ร.31 รอ. ของไทยไปฝึกกันอยู่ในค่ายธนะรัชต์ ปราณบุรี ส่วนการฝึก CPX ใช้พื้นที่ พล.ร.16 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย
..........5. กองกำลังทางเรือผสม มีกองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ เป็นหน่วยหลักในการจัดกำลัง ตั้ง บก.กกล.ทร.ผสม ณ พัน สอ.11 กรม สอ.1/รฝ. อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ฝ่ายไทยมี พล.ร.ต. เถกิงศักดิ์ วังแก้ว รน. เป็น ผบ.กกล.ทร.ผสม
..........6. กองกำลังนาวิกโยธินผสม มี กรม ร.3 พล.นย. เป็นหน่วยหลักในการจัดกำลัง จัดตั้ง บก.กกล.นย.ผสม ณ บก.พล.นย. อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มี พล.ร.ต. นิวัติ ศิริพละ รน. ผบ.พล.นย. เป็น ผบ.กกล.นย.ผสม
..........7. หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการจิตวิทยาร่วม/ผสม พัน.ปจว.รพศ.2 เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง ฉก.ปจว.ร่วม/ผสม จัดตั้ง ฉก.ปจว.ร่วม/ผสม ณ บริเวณ กองบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง มี พ.ท.สมบัติ คุณยศยิ่ง ผบ.พัน.ปจว.รพศ.2 เป็น ผบ.ฉก.ปจว.ร่วม/ผสม และ พ.ท. Burke ผบ.พัน.ปจว.กกล.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เป็นรองฯ
ประเทศผู้สังเกตการณ์คัดเลือกกันอย่างไร?
..........ในปีที่แล้วคือ คอบร้าโกลด์ 02 มีประเทศต่างๆ ขอส่งผู้แทนเข้ามาสังเกตการณ์ฝึกรวม 18 ประเทศ นับว่าเป็นภาระพอสมควรในเรื่องของค่าใช้จ่าย และเป็นกลุ่มบุคคลคณะใหญ่อุ้ยอ้าย ไปดูอะไรแต่ละที่ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง มาปีนี้เราจึงตกลงกับสหรัฐฯ ว่าน่าจะกำหนดให้มีแค่ 10 ประเทศ แต่ก็อ่อนตัวได้เล็กน้อย โดยจะต้องพิจารณาร่วมกัน ในที่สุดปีนี้ ผบ.ทหารสูงสุดและกห.สหรัฐฯ มีความเห็นสอดคล้องกันคือ 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มองโกเลีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และบรูไน

ปีหน้าคอบร้าโกลด์ 04 จะเป็นอย่างไร?
..........ตามวงรอบการฝึกปี 2004 นั้น ทภ.2 จะเป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง กกล.ฉก.ร่วม/ผสม ฝ่ายสหรัฐฯ จะใช้กองทัพน้อยที่ 1 (1st CORPS) จากรัฐวอชิงตัน เป็นหน่วยหลัก รายละเอียดอื่นๆ นั้น ฝ่ายไทยและสหรัฐฯ ได้ไปตรวจภูมิประเทศ สถานที่ในพื้นที่ ทภ.2 มาแล้ว เมื่อ 3 มิ.ย.46 และได้ประชุม PPM ไปแล้ว ฟิลิปปินส์จะเป็นน้องใหม่ เข้ามาร่วมฝึกเฉพาะ CPX ญี่ปุ่นได้แจ้งด้วยวาจาแล้วว่าจะขอเข้ามาร่วมฝึก ในขั้น CPX หลังจากมาสังเกตการณ์ฝึกมาแล้ว 2 ปี ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายไทย โดย ผบ.ทหารสูงสุด จะเป็นผู้ตกลงใจร่วมกันอีกครั้ง
..........ความต้องการมีส่วนร่วมของประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นโดยตลอดน่าจะเป็นดัชนีชี้วัดคุณค่าของการฝึกคอบร้าโกลด์ได้ดี แม้กระทั่งนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 5 ซึ่งได้มาดูงานในระหว่างการฝึก ยังได้แสดงความคิดเห็นว่า ขอให้จัดนักเรียนนายร้อยเข้ามาทำหน้าที่เป็นล่ามหรือทำหน้าที่ที่เหมาะสม เพื่อต้องการเรียนรู้และหาประสบการณ์ ก่อนจบเป็นนายทหาร ผมได้ยินแล้วก็ชื่นชมคลื่นลูกหลังที่มาแรงแบบคาดไม่ถึง
คิดว่าเรื่องนี้จะต้องขออนุมัติจาก ผบ.ทหารสูงสุด และจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ผบ.เหล่าทัพ ด้วยนะครับน้อง
..........ทหารไทยในปัจจุบันไปทำงานนอกประเทศ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติมาตลอด ทั้งในติมอร์ ในอาฟกานิสถาน ในอาเจะห์ และอีกหลายพื้นที่ความขัดแย้งในโลกนี้ หลายคนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้จากการฝึกคอบร้าโกลด์ ประการสำคัญที่สุดคอบร้าโกลด์คือ สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกองทัพไทยกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ได้อย่างแนบแน่น เป็นแรงสนับสนุน เป็นกลไกที่ช่วยให้กองทัพไทย และประเทศไทย ได้มีบทบาทโดดเด่น ไม่เป็นรองใครในเวทีโลกจริงๆ ครับ


------------------------------

ชนกลุ่มน้อย….ไม่น้อย ในพม่า (1)


ชนกลุ่มน้อย….ไม่น้อย ในพม่า (1)
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
E-mail: nthonglek@hotmail.com

..........พม่า…ประเทศที่มีพรมแดนเหยียดยาวติดกับประเทศไทยของเรา เป็นระยะทางถึง ๒,๔๐๑ กม. มากกว่าเพื่อนบ้านลาว เขมร และมาเลเซีย มีประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเคยทำสงครามโรมรันพันตูกับไทย ทั้งสงครามเล็ก..ใหญ่ รวมแล้วถึง ๔๔ ครั้ง ในพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไทยทำสงครามกับพม่า รวม ๒๔ ครั้ง ต่อมาเมื่อถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ไทยได้ทำสงครามกับพม่า อีก ๒๐ ครั้ง รวมทั้งสิ้น ๔๔ ครั้ง
..........เรื่องราวต่าง ๆ ในการทำสงคราม เราได้เรียนท่องกันมาในวิชาประวัติศาสตร์สมัยชั้นประถม มัธยม จนโชกชุ่ม ละเม็งละคร ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับสงครามไทย-พม่านั้น ถูกหยิบยกมาสร้างให้หวนระลึกถึงความยากแค้นลำเค็ญ ความพินาศ สูญเสีย และความเจ็บปวดของชาวไทยในอดีต คนไทยมีภาพลักษณ์ของพม่าเป็นคู่อาฆาตผู้เหี้ยมโหด หลับตาลืมตาเมื่อใดก็เห็นภาพบรรพบุรุษไทยผู้กล้าหาญพร้อมดาบ ๒ มือ โชกชุ่มด้วยโลหิตทั่วร่าง กำลังเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ร่ายเพลงดาบกับพม่าข้าศึก
..........เรื่องราวของประเทศพม่าที่เป็นปรปักษ์อยู่ในความสำนึกของคนไทยทั้งปวงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรนำมาศึกษา เตือนสติ อนุชนรุ่นหลังให้เกิด "ความหวงแหนแผ่นดินเกิด รัก บูชาบรรพบุรุษผู้กล้าหาญ" ในเวลาเดียวกันคนไทยก็ควรเรียน "รู้เขา" ให้เห็นไส้เห็นพุงประเทศเพื่อนบ้านใกล้ตัวว่า ประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้ง ๔ ประเทศนี้ มีสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ลักษณะสังคม ประชากร ฯลฯ เพื่อจะได้เข้าใจว่า เขากำลังทำอะไร ? ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ?
..........บทความนี้ผมตั้งใจจะกล่าวถึง "ลักษณะสังคมประชากรของพม่า" โดยมุ่งแยกแยะให้เห็นภูมิหลังที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "ชนกลุ่มน้อย" ในพม่า ซึ่งมีมากมายหลายหลากในแง่มุ่มซึ่งเราคงจะไม่ค่อยได้ทราบมาก่อนว่าแท้ที่จริงแล้ว ในความเป็นประเทศพม่านั้นโดยองค์รวมแล้วประกอบด้วย ผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา แต่ละเผ่าพันธุ์มีฤทธิ์มีเดช มีกองกำลังติดอาวุธ กระจายปนเปกันอยู่ในดินแดนพม่า ลักษณะทางสังคมของพม่ามีความซับซ้อนยุ่งเหยิง มีกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า ๖๗ เชื้อชาติ โดยยังไม่รวมถึงชาวอินเดีย จีน และ ยุโรป
.......... การสำรวจซึ่งทำในปลายสมัยล่าอาณานิคมของอังกฤษทำให้ทราบว่า มีภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกันอยู่ถึง ๒๔๒ ภาษา คิดแล้วผมว่าประเทศไทยของเราโชคดี ไทยเราก็มีหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ ทางภาคเหนือมีชาวเขา เช่น ชาวเขาเผ่าลีซอ มูเซอร์ กะเหรี่ยง เย้า ฯลฯ เช่นเดียวกับพม่า เราเคยห่วงใยกันว่า " ชาวเขา " เหล่านี้จะไม่ยอมเป็น "ชาวเรา" หากแต่โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
..........โครงการมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษ ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ล้นเกล้า ๒ พระองค์ ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลแผ่พระบารมีเข้าไปสร้างความร่มเย็นเป็นสุข ทรงพระเมตตาสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชนกลุ่มน้อย (ชาวเขา) เหล่านี้ให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการปลูกฝิ่น พืชเสพติดทั้งปวงให้หันมา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำงานฝีมือ จนพวกคนเหล่านั้นมีความรู้สึกว่าเขาเป็นคนไทยได้รับการดูแลไม่แตกต่างจากคนไทยในพื้นราบและที่สำคัญคนไทยเหล่านั้นรักและหวงแหนแผ่นดินไทย ยึดมั่นในชาติ ศาสน์กษัตริย์ เราจึงไม่ต้องมารบราฆ่าฟันกันเองเหมือนอีกหลาย ๆ ประเทศ
..........ข้อมูลส่วนใหญ่ของผมเรียบเรียงมาจากหนังสือ Ethnic Groups in Burma ของ Martin Smith ซึ่งผมได้รับเป็นของขวัญมาจาก ร.ศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กัลยาณมิตรของผมที่มักจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับพม่ามาให้ผมจนแทบจะสำลักข้อมูลอยู่บ่อย ๆ ผมเลยขอนำข้อมูลนี้มาคุยกันให้ทราบว่า "ชนกลุ่มน้อย" ในประเทศพม่านั้น มัน "ไม่น้อย"
..........เราลองมารู้จัก “ชนกลุ่มน้อย” ในแต่ละชนเผ่า
..........๑. ชนเผ่าชิน (CHIN) หรือ ZOMI
..........ชนเผ่านี้นี้เป็นลูกผสมระหว่างเชื้อสายพม่ากับเชื้อสายธิเบต มีความเป็นอยู่แบบชาวเขา ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบสูง ทางตะวันตกของประเทศพม่าติดพรมแดนอินเดีย-พม่า ซึ่งดินแดนบริเวณนี้อาจกล่าวได้ว่าทุรกันดารที่สุด มีประชากรประมาณ ๗๕๐,๐๐๐ - ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน นับถือศาสนาคริสต์และส่วนหนึ่งเป็นพวกนับถือภูตผีวิญญาณ มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด อาศัยการแลกเปลี่ยนอาหารกับชนเผ่าอื่นที่อยู่บนพื้นราบ ด้วยสภาพที่ทุรกันดารเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อรัฐบาลพม่าในความพยายามที่จะรวมชาติ ชนกลุ่มนี้มีความรู้สึกว่าเขาเองค่อนข้างจะเป็นญาติกับชาวอินเดีย (ซึ่งอยู่ติดกัน) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในขณะอังกฤษเข้ายึดครองพม่านั้น อังกฤษได้เกณฑ์เอาชาวเผ่าชินจำนวนมากไปเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ ซึ่งก็ได้สร้างเกียรติประวัติการรบให้กับกองทัพอังกฤษ และคนกลุ่มนี้เองที่อยู่ในความดูแลของอังกฤษได้หันมานับถือศาสนาคริสต์
..........ในระหว่างที่อังกฤษได้ยึดครองพม่านั้น อังกฤษได้แบ่งพื้นที่อาศัยของชาวเผ่าชินออกเป็น ๒ ส่วน เมื่อพม่าได้เป็นเอกราชแล้วอาณาเขตที่ถูกแบ่งนี้ก็ยังมีผลบังคับใช้ ทางการพม่าไม่ยอมให้ชินเป็นรัฐอิสระ แต่กลับแบ่งพื้นที่ที่เป็นภูเขาล้วน ๆ ให้ชาวชินอาศัยแล้วตัดแบ่งพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญออกมา
..........ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.๑๙๗๔ ได้ยกฐานะชินขึ้นเป็นรัฐ (State) มีเนื้อที่ประมาณ ๓๖,๐๑๗ ตร.กม. ทางการพม่าโดย SPDC (เดิมเป็น SLORC) พยายามจะเข้าไปพัฒนาภายใต้โครงการ Border Area Development Program (BADP) โดยมีการย้ายผู้คนมาจัดระเบียบใหม่ ผู้นำชาวชิน เองก็หวาดระแวงว่าทางการพม่าซ่อนเจตนาอะไรไว้หรือไม่ในระหว่างการจัดระเบียบใหม่ จึงทำให้ชาวเผ่าชินบางส่วนอพยพเข้าไปในอินเดียบางส่วนก็หนีความยากจนโดยสมัครเข้าไปเป็นทหารในกองทัพพม่า
..........ทางการพม่ามักจะหยิบยกกรณีการพัฒนาในพื้นที่ของชาวเผ่าชินมาเป็นตัวอย่างต้นแบบ ของการพัฒนาที่แสดงให้เห็นถึงความปรองดองเป็นพี่เป็นน้องกันได้ระหว่างชาวเผ่าชินกับชาวพม่าแท้ ในช่วงปี ค.ศ.๑๙๕๐ - ๑๙๖๐ มีชาวเผ่าชินกลุ่มหนึ่งไปเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB)
..........ในปี ค.ศ.๑๙๘๘ พม่ามีการเลือกตั้งและมีผู้แทนของรัฐชิน ได้เข้าไปนั่งในสภา ต่อมาเมื่อทางฝ่ายทหารพม่าประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และมีการกระด้างกระเดื่องจากผู้แทนรัฐชิน SLORC จึงได้สั่งจับผู้แทนของรัฐชินจนทำให้ผู้แทนของรัฐนี้ต้องขอลี้ภัยเข้าไปอยู่ในอินเดีย ต่อมา SLORC ได้ประกาศยกเลิกพรรคการเมืองของรัฐชินทั้งหมด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักศึกษาจำนวนหนึ่งได้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในอินเดีย มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธชื่อ CHIN NATIONAL FRONT ทำงานร่วมกับ ZO NATIONALIST GROUP (ซึ่งทำการสู้รบกับรัฐบาลอินเดีย) มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่ากองกำลัง CNF นี้ ได้รับการฝึกอาวุธจาก KACHIN INDEPENDENCE ARMY (KIA) หรือกองทัพกู้ชาติคะฉิ่น
..........๒. ชนเผ่าคะฉิ่น (KACHIN)
...............ชื่อชนเผ่าคะฉิ่นนี้ เราคงจะพอคุ้นหูกันบ้าง ชนเผ่าคะฉิ่นป็นกลุ่มชาวเขาที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่า (ดูแผนที่) ชาวคะฉิ่นนี้ก็เป็นชนเผ่าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความฝันว่าต้องการจะเป็นรัฐอิสระเช่นกัน ชาวคะฉิ่นผู้รักแผ่นดินเกิดจำนวนหนึ่งได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองขึ้นมา เพื่อหวังจะปลดปล่อยตนเองให้เป็นรัฐอิสระ คะฉิ่นมีประชากรประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน สำหรับพวกผู้หญิงเผ่าคะฉิ่นมีชื่อเสียงในเรื่องความงาม เนื่องจากพื้นที่รัฐคะฉิ่นมีอากาศดี จึงทำให้สาว ๆ เผ่านี้มีผิวงามประกอบกับอัธยาศัยดี ส่วนหนึ่งของชาวคะฉิ่นนับถือศาสนาคริสต์ ส่วนบางพวกนับถือภูตผีวิญญาณ เช่นเดียวกับบรรดาชาวเขาทั่ว ๆ ไป ชนเผ่าคะฉิ่นอยู่กระจัดกระจายมีบางส่วนอาศัยอยู่ในเขตประเทศจีน หรือแม้กระทั่งในอินเดีย
...............ในตอนแรก กองกำลังติดอาวุธคะฉิ่นรวมตัวกันเพื่อต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษ แต่ต่อมาด้วยอิทธิพลทางศาสนาคริสต์ที่แพร่กระจายเข้าไปในชนเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าชิน (โดยคนเหล่านี้เข้าไปเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ) บวกกับความพยายามอย่างหนักของพวกมิชชันนารีที่เข้ามาช่วยจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือและช่วยรักษาพยาบาล จึงทำให้กองกำลังติดอาวุธและประชาชนเผ่าคะฉิ่นหันกลับมาเป็นผู้สนับสนุนกองทัพอังกฤษต่อสู้กับญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒
...............ความพยายามทุ่มเทในการทำสงครามให้กับฝ่ายอังกฤษนั้นเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มคะฉิ่นเกิดความคิดรักถิ่นฐาน รักเผ่าพันธุ์ แต่ปัญหาของชนเผ่าคะฉิ่นเองก็คือสภาพทางภูมิศาสตร์ แต่ละกลุ่มย่อยอยู่กันกระจัดกระจาย ปะปนกับชนเผ่าอื่นและชนเผ่าพม่าแท้ ซึ่งคนเหล่านี้จะคอยขัดขวางชนเผ่าคะฉิ่นไม่ให้แยกตัวเป็นรัฐอิสระได้ หากแต่รัฐบาลพม่าได้ใช้การเจรจาผ่อนสั้นผ่อนยาวยอมให้คะฉิ่นขึ้นเป็นรัฐ ชื่อรัฐคะฉิ่นแล้ว ยกเมืองหลัก ๒ เมือง คือ เมือง MYITKYINA และ BHAMO ให้ผนวกเข้าไปในรัฐคะฉิ่นด้วย จึงทำให้รัฐคะฉิ่นมีเนื้อที่ประมาณ ๙๘,๐๔๒ ตร.กม. มีพลเมืองประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ - ๑๕๐,๐๐๐ คน
..........เช่นเดียวกับรัฐชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ รัฐคะฉิ่นก็มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเองเช่นกัน คือ
..........๑. PAWNGYAWAG NATIONAL DEFENCE FORCE (PNDF) ตั้งขึ้นเมื่อ ๑๕ พ.ย. ๑๙๔๙ มุ่งหมายจะแยกชนเผ่าคะฉิ่นออกมาเป็นรัฐอิสระมีกำลังติดอาวุธประมาณ ๓๐๐ คน ข้ามพรมแดนไปมาระหว่างจีน - พม่า ต่อมาในเดือน ม.ค.๑๙๖๘ กองกำลังนี้บางส่วนได้กลับเข้ามาปฏิบัติการในพม่าในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ (CPB) ปัจจุบันนี้กองกำลังดังกล่าวบางส่วนสลายตัวไป บางส่วนไปรวมตัวกับกลุ่มว้า
..........๒. KACHIN INDEPENDENCE ORGANISATION / ARMY (KIO / KIA) กองกำลังติดอาวุธนี้ก่อตั้งโดยนักศึกษาชาวคะฉิ่น จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งรวมตัวกัน เมื่อ ๕ ก.พ.๑๙๖๑ มีกำลังประมาณ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ คน ต่อมากำลังของกองพลน้อยที่ ๔ ของ KIA ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉานได้แยกตัวไปลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลย่างกุ้งเมื่อ ๑๑ ม.ค.๑๙๙๑ กองกำลังอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมลงนามหยุดยิงได้แปรสภาพไปเป็นกลุ่ม KACHIN DEMOCRATIC ARMY (KDA)
...............ในที่สุดความพยายามอย่างหนักของ SLORC ก็สามารถเกลี้ยกล่อมให้กองกำลังติดอาวุธของคะฉิ่นหยุดยิงกับ SLORC เป็นผลสำเร็จ เมื่อ ๘ เม.ย.๑๙๙๓ อย่างไม่เป็นทางการ
...............การลงนามในสัญญาหยุดยิงที่สมบูรณ์อย่างเป็นทางการระหว่างกองกำลังติดอาวุธของคะฉิ่นทั้ง ก๊กเล็ก ก๊กกลาง ก๊กใหญ่ ได้กระทำขึ้นที่เมือง MYITYINA เมื่อ ๒๔ ก.พ.๑๙๙๔ โดยมี พลตรี ซอ ไม ผบ.กองกำลังติดอาวุธชนเผ่าคะฉิ่น และ พล.ท.ขิ่น ยุ้นต์ เป็นผู้แทนฝ่ายพม่าร่วมลงนาม
...............บทความของผมตอนนี้ขอกล่าวถึงชนกลุ่มน้อยในพม่าเพียงแค่ ๒ กลุ่มก่อนนะครับ แล้วผมจะเขียนถึงชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ยังเหลืออีกหลายกลุ่มมาลงในหนังสือนี้ต่อเนื่องกันไป
...............ท่านคงพอจะเห็นภาพความหลากหลายเผ่าพันธุ์และภูมิหลังของ"ชนกลุ่มน้อย”ในพม่าบ้างแล้วว่ามีหลายกลุ่ม-หลายก๊ก แต่ละกลุ่มมีประชากรเป็นเรือนแสน บางกลุ่มมีประชากรเป็นเรือนล้าน แต่ละก๊กแต่ละกลุ่มมีกองกำลังติดอาวุธเพื่อที่จะต่อสู้กับรัฐบาลกลางย่างกุ้ง แล้วยามว่างก็ยังรบกันเองแก้เหงาอีกต่างหาก ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะมีถิ่นอาศัยอยู่ตามชายขอบประเทศพม่า นำกำลังติดอาวุธข้ามไปข้ามมากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นที่ซุกหัวเมื่อถูกไล่ล่าและจะกลับเข้าไปในประเทศพม่า เมื่อปลอดภัย โดยไม่คำนึงถึงเส้นเขตแดนใด ๆ ทั้งสิ้น จึงทำให้บางครั้งก็มาโผล่ในประเทศไทยของเรา รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่มีชายแดนติดกับพม่า เป็นอย่างนี้มาประมาณ ๕๐ ปีแล้ว ท่านคงทราบดี บ้านไหนเมืองไหนเป็นแบบนี้ก็ลองนึกภาพดูเองก็แล้วกันว่าจะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ? ใช้เวลานานขนาดไหน ?
...............แต่เบื้องหลังความยุ่งยากสับสนแตกเป็นกลุ่มเป็นก๊กนี้ มีไอ้โม่งจากแดนไกลได้วางแผนวางยาเอาไว้อย่างแยบยล ท่านก็คงจะพอเดาออกว่า “ ไอ้โม่ง”เป็นใคร ?
อ่านต่อฉบับหน้า
--------------------------

ชนกลุ่มน้อย…(ไม่น้อย)...ในพม่า (2)

ชนกลุ่มน้อย…(ไม่น้อย)...ในพม่า (2)


แปลและเรียบเรียงโดย พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
E-mail: nthonglek@hotmail.com

..........บทความตอนที่แล้ว ผมได้บรรยายถึงชนกลุ่มน้อยในพม่า 2 กลุ่ม คือ ชนเผ่าชิน (Chin) หนังสือบางเล่มออกเสียงว่า “ชนเผ่าฉิ่น” ชาวเขาที่มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน อยู่ชายขอบทางภาคตะวันตกของพม่า ติดกับพรมแดนอินเดีย และชนเผ่าคะฉิ่น (Kachin) ชาวเขาที่มีประชากรประมาณ 1 – 5 ล้านคน อยู่ชายขอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าติดกับพรมแดนจีน
..........เรื่องตัวเลขประชากรอาจจะดูหยาบไปหน่อย เพราะผมก็ค้นหามาจากหลายแหล่งข้อมูลซึ่งก็ไม่ค่อยตรงกัน ข้อมูลจากซีกโลกตะวันตกก็จะแสดงตัวเลขของชนกลุ่มน้อยเป็นตัวเลขจำนวนมาก โดยกล่าวหาว่าตัวเลขของทางการพม่าบิดเบือน อย่าไปซีเรียส เอาเป็นว่า…ตัวเลขของประชากรชนกลุ่มน้อยเป็นตัวเลขโดยประมาณก็แล้วกัน
..........บรรดา “ชนกลุ่มน้อย” ที่มีความเข้มแข็ง และเป็น “แกนนำ” ให้กับ
“ชนกลุ่มน้อย” กลุ่มอื่น ๆต่อสู้กับกองทัพพม่า คือ “ชนเผ่ากะเหรี่ยง” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 คนกะเหรี่ยงพวกนี้รบกับทหารญี่ปุ่น ตายแทนทหารอังกฤษ โดยคาดหวังว่าเมื่ออังกฤษชนะสงคราม อังกฤษก็คงจะช่วยปลดปล่อยรัฐของชนกะเหรี่ยงกลุ่มน้อยเหล่านี้ให้เป็นอิสระจากพม่า อังกฤษจะทำให้ประชาคมระหว่างประเทศรับรองรัฐอิสระของพวกชนกะเหรี่ยงกลุ่มน้อย ….. แต่รัฐบาลทหารพม่ายอมไม่ได้ ตราบจนวันนี้ “ชนเผ่ากะเหรี่ยง” ก็ยังคงจับอาวุธสู้รบกับกองทัพพม่า

ชนเผ่ากะเหรี่ยง
..........กะเหรี่ยงเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 รองจากชนเผ่าบะม่าร์ (พม่า) กะเหรี่ยงและภาษาที่ใช้ในชนเผ่ากะเหรี่ยงยังแยกย่อยออกไปอีกมาก นักมานุษย์วิทยาประมาณการว่าจำนวนประชากรกะเหรี่ยงน่าจะอยู่ราว ๆ 4 ล้านคน (และอยู่ในประเทศไทยราว 200,000 คน) แต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) แจ้งว่าชนเผ่ากะเหรี่ยงมียอดราว 7 ล้านคน ในขณะที่ SLORC ประกาศว่าประชากรกะเหรี่ยงมียอดรวมแค่ 2.5 ล้านคน 1
..........เรื่องตัวเลขประชากรนี้แต่ละฝ่ายสามารถนำมาเกทับบลั๊ฟแหลก เพื่อให้เป็นประโยชน์ของแต่ละฝ่ายได้
..........ชนเผ่ากะเหรี่ยงเชื่อกันว่าตนเองนั้นสืบเชื้อสายมาจากเผ่ามองโกล อพยพมาจากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณทิศตะวันออกของประเทศพม่าจนถึงทุกวันนี้ กระจายกันอยู่ทั้งบนเขาและอยู่ในพื้นราบ หากดูตามแผนที่แล้วจะพบว่ากะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มหนาแน่นติดกับชายแดนไทย – พม่า แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งตั้งรกรากอยู่บริเวณปากแม่น้ำอิระวดี
..........ชนเผ่ากะเหรี่ยงยังแบ่งย่อยลงไปอีกประมาณ 20 กลุ่ม เช่น กะเหรี่ยงพื้นราบเผ่าโปว์ (Pwo) ซึ่งทำนาข้าวในเขตตะนาวศรี เผ่าสะกอ (Sgaw) เผ่าบะเว (Bwe) ทั้ง 3 เผ่านี้ไปทำนาข้าวพื้นราบบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอะระวดี บริเวณลุ่มแม่น้ำสะโตง และสาละวิน ส่วนที่เราค่อนข้างจะคุ้นสักหน่อยก็คือ “กะเหรี่ยงคอยาว” ที่เอาวงแหวนทองเหลืองมาล้อมคอนั่นแหละ ก็เป็นอีกเผ่าหนึ่งที่อยู่ในรัฐฉาน มีลักษณะชีวิตทำไร่เลื่อนลอย (Slash and Burn) คนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นคาธอลิค
..........เรื่องราวของชนเผ่ากะเหรี่ยงเริ่มปรากฏต่อสังคมโลก เมื่ออังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคม อังกฤษจะเอาใจใส่ดูแลชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นพิเศษ เพราะรู้ว่ากะเหรี่ยงเป็นปรปักษ์กับพม่าอยู่ก่อนแล้ว
..........ตามประวัติศาสตร์ชนเผ่ากะเหรี่ยงถูกปกครองโดยพม่า อังกฤษรู้ภูมิหลังเรื่องนี้ดีจึงได้คัดเลือกเอากะเหรี่ยงมาเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ อบรมบ่มเพาะให้เป็นคาธอลิค กะเหรี่ยงมีความสามารถพิเศษสำหรับการรบในป่าเขา พื้นที่ทุรกันดาร อังกฤษจึงเอากะเหรี่ยงมารบกับญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กะเหรี่ยงก็เห็นว่าอังกฤษนี่แหละจะช่วย “ปลดปล่อย” พวกเขาให้หลุดพ้นจาก “พม่า” เพื่อจัดตั้งรัฐอิสระได้
..........อังกฤษส่งเสริมกะเหรี่ยงออกหน้าออกตา โดยให้หมอสอนศาสนา ซึ่งเริ่มตั้งแต่การวางรากฐานจัดระบอบการปกครอง ดูแลรักษาพยาบาล ให้การศึกษา จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ชักนำกะเหรี่ยงให้ลงมาพื้นราบ ให้เข้าเรียนในระดับสูง ให้เข้ารับราชการเป็นทหาร – ตำรวจ ในเขตที่อังกฤษปกครอง ในขณะที่อังกฤษเฉยเมยต่อชนเผ่าพม่าแท้ ไม่ช้าไม่นานนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) ก็แบ่ง ชนเผ่าพม่าแท้ กับ กะเหรี่ยงออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน
..........ชาวกะเหรี่ยงผู้ได้รับการหนุนหลังจากอังกฤษ ไฉนเลยจะไม่รักอังกฤษ ? กลุ่มกะเหรี่ยงที่มีการศึกษาสูง (บางคนก็ได้ไปศึกษาต่อในอังกฤษ) จึงเคลื่อนไหวเพื่อจะปลดปล่อยชนเผ่ากะเหรี่ยงออกเป็นรัฐอิสระให้ได้ โดยหวังพึ่งอังกฤษ ยอมแม้กระทั่งจะเข้าร่วมเป็นเครือจักรภพ (Commonwealth) ของอังกฤษ
..........การเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านี้ของกะเหรี่ยงสวนทางกับชนเผ่าพม่าอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเกลียดชังและพยายามจะปลดปล่อยตนเองออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
..........กะเหรี่ยงได้เริ่มเรียกร้องอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2471 แกนนำคนสำคัญผู้เรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงแยกออกมาเป็นรัฐอิสระ คือ Dr. San C. PO ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเคารพว่าเป็น “บิดา” ของชนชาติกะเหรี่ยง
..........Dr. San C. PO เคยกล่าวว่า “พวกพม่าเรียกแผ่นดินทั้งหมดนี้ว่าเป็น
แผ่นดินของพม่า แล้วกะเหรี่ยงล่ะ เราจะเรียกแผ่นดินของเราว่าอะไร ? เราจะเรียกแผ่นดินของเราว่า ประเทศกะเหรี่ยงดีไหม ?” 2
..........ตั้งแต่นั้นมาเหล่าปัญญาชนกะเหรี่ยงก็ขานรับ โดยมีการจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ เช่น องค์กรแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Association : KNA) สหภาพแห่ง
ชาติกะเหรี่ยงพุทธ (Buddhist Karen Nation Association :BKNA) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union :KNU)
..........องค์กรเหล่านี้ต่างก็เคลื่อนไหวเพื่อขอตั้งรัฐอิสระขึ้นตรงต่อรัฐบาลอังกฤษ อังกฤษก็ตอบสนองด้วยดี ชาวกะเหรี่ยงที่อังกฤษสนับสนุนให้เข้าเป็นข้าราชการ ทหาร – ตำรวจ ต่างพร้อมใจกันผนึกกำลังจะจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยงให้จงได้
..........สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้พม่าเผชิญหน้ากับกะเหรี่ยงอย่างไม่มีทางเลือก
..........สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น ญี่ปุ่นส่งกำลังบุกพม่า ชาวกะเหรี่ยงนับพันถูกสังหาร ถูกจับกุมในข้อหา “เป็นพันธมิตรกับอังกฤษ” เบื้องหลังเรื่องราวการสังหารหมู่ชาวกะเหรี่ยงนี้ กะเหรี่ยงทราบดีว่า “เป็นฝีมือของพม่า” นั่นเองที่สวมรอยญี่ปุ่น (เหตุการณ์สังหารหมู่นี้ เป็นการสังหารชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี และลุ่มน้ำสาละวิน)

กะเหรี่ยงยังคงเจ็บช้ำน้ำใจพม่ามาจนถึงปัจจุบัน
..........ผู้นำกะเหรี่ยงในตอนนั้นวางแผนสวยหรู มีวิสัยทัศน์ ให้รัฐอิสระของตนจะต้องสามารถดำรงชีพได้ มีทางออกทะเล
..........เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง นายพล ออง ซาน และคณะ ได้เดินทางไปลอนดอนในเดือนมกราคม 2490 เพื่อขอเป็นอิสระจากอาณานิคมอังกฤษ และลงนามใน Aung San – Attlee Agreement ซึ่งอังกฤษอนุญาตให้พม่า จัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ แล้วจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น
กุมภาพันธ์ 2490 นายพล ออง ซาน จัดการประชุมเพื่อแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยกับทุกกลุ่ม เพื่อลงนามในสนธิสัญญาเมืองปางโหลง (Panglong) กะเหรี่ยงไม่เข้าร่วมประชุม รวมทั้งการเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ กะเหรี่ยงก็ไม่เข้าร่วมสังฆกรรมด้วยอีกเช่นกัน 3
..........เป็นกรรมเวรของกะเหรี่ยงเอง กะเหรี่ยงแตกคอกันเองเป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวรวมชาติของ นายพล ออง ซาน ในปี พ.ศ.2491 ด้วยความหวาดระแวงและเกลียดชังพม่า ชาวกะเหรี่ยงจึงจัดตั้งกำลังทหาร KNDO (Karen Nation Defence Organization) เพื่อต่อสู้กับพม่า และวาดหวังจะจัดตั้งรัฐอิสระเมื่อพม่าเห็นว่ากะเหรี่ยงไม่เล่นด้วยกับตน กอร์ปกับเรื่องความแค้นเก่า
เมื่อหนหลัง เหตุการณ์เลวร้ายปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อกองทัพพม่าอิสระ (BIA) ได้เข้าโจมตีชุมชนกะเหรี่ยงในเมือง Kalaw อำเภอเมอกุย ก่อนวันคริสต์มาสปลายปี พ.ศ.2491 ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงกำลังทำพิธีทางศาสนาในโบสถ์ เหตุการณ์นั้นกะเหรี่ยงตายประมาณ 200 คน 4
..........มกราคม 2492 กะเหรี่ยงกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยรวมตัวกันติดอาวุธลุกฮือขึ้น ประกาศเป็นอริกับรัฐบาลรักษาการณ์พม่า หรือจะเรียกว่าเป็นการก่อการกบฎก็ไม่ผิด
..........กองกำลังกบฎกะเหรี่ยงสามารถยึดเมืองอินเส่ง (INSEIN) ได้ ซึ่งเมืองนี้อยู่ห่างจากย่างกุ้งเพียง 8 ไมล์ และยังบุกยึดเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ได้
..........ชัยชนะของกบฎกะเหรี่ยงในครั้งนั้นถึงกับทำให้กะเหรี่ยงประกาศจัดตั้งรัฐอิสระกอตูเล (Kawthoolei) ต่อชาวโลกเมื่อเดือน มิ.ย.2492 5
..........นายกรัฐมนตรี อูนุ (โดยนายพล เนวิน เป็น ผบ.ทหารสูงสุด) พลิกสถานการณ์ได้ โดยกองกำลังทหารพม่าสามารถสังหารประธานาธิบดีกะเหรี่ยง Saw Ba U Gyi ในการรบใน พ.ศ.2493 กองกำลังกะเหรี่ยงเริ่มเสียขวัญ และได้ถูกผลักดันถอยร่น จนเปลี่ยนไปเป็นกองโจรรบกับกองกำลังพม่าตามหมู่บ้าน ป่า เขา
สงครามล้างเผ่าพันธุ์ก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
..........2 มีนาคม 2505 นายพล เนวิน ผบ.ทบ.พม่า ปฏิวัติยึดอำนาจปกครองประเทศ ปรับยุทธศาสตร์การปราบกบฎกะเหรี่ยงใหม่ โดยประกาศใช้นโยบาย “ตัด 4” (Four Cuts) ซึ่งได้ผลชงัด ในห้วง พ.ศ.2511 – พ.ศ.2528 บรรดากะเหรี่ยงราว 50,000 คนถูกผลักดัน สู้พลาง ถอยพลาง อพยพหนีตายเข้ามาในประเทศไทย 6
..........และกะเหรี่ยงอีกนับล้านคน มาจ่อ มาปักหลักอยู่ตามแนวชายแดนไทย – พม่า ที่เหยียดยาว กว่า 2,400 กว่ากิโลเมตร ลักลอบข้ามไปข้ามมา เดี๋ยวมาโผล่ตรงนั้น ตรงนี้ในฝั่งไทย เพราะไม่มีอะไรจะกิน
เมื่อชนเผ่ากะเหรี่ยงที่ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เริ่มเป็นฝ่ายถอย
ไหลมารวมตัวกันกระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย-พม่า ก็เริ่มสร้างที่มั่นถิ่นฐาน
..........โชคชะตาเข้าข้างกะเหรี่ยงพอสมควร กะเหรี่ยงได้ติดต่อค้าขายกับไทยในระดับท้องถิ่นอย่างราบรื่น กะเหรี่ยงสร้าง “เขตปลดปล่อย” เป็นอาณาจักรของตนเองเป็นแนวยาวประมาณ 400 ไมล์ แนวชายแดนพม่า-ไทย
..........กะเหรี่ยงจัดตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล แต่งตั้งผู้รับผิดชอบการปกครอง แบ่งเป็นเขตจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ในเวลานั้นว่ากันว่า กะเหรี่ยงมีกองกำลังติดอาวุธถึง 10,000 คน มีการปกครองบังคับบัญชาโดยอดีตทหารผ่านศึกที่เคยเข้าไปอยู่ในกองทัพอังกฤษ
..........รัฐบาลทหารพม่าเร่งเสริมสร้างกำลังรบขนานใหญ่ เพื่อมุ่งมั่นปราบกะเหรี่ยงที่ตั้งเขตปลดปล่อย อาวุธที่สำคัญที่กองทัพพม่าจัดหามาจากจีน ได้แก่ เครื่องบิน F-7 จำนวน 11 ลำ เรือลาดตระเวน รถถัง รถสายพานลำเลียงพล ปืนต่อสู้อากาศยาน ขีปนาวุธต่อสู่อากาศยาน อาวุธประจำกาย กระสุน ฯลฯ มูลค่าราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจยิ่งในความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่าง ผู้นำทหารของพม่าและจีน
..........พ.ศ.2531 โชคชะตาดูเหมือนจะเข้าข้างกะเหรี่ยงอีก เมื่อประชาชน นักศึกษาในย่างกุ้งลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยถูกทางพม่าปราบปรามตามล่า ประมาณ 10,000 คน หนีออกมาจากย่างกุ้งมุ่งหน้าเข้ามาสมทบกับกองกำลังกะเหรี่ยง เพื่อขอมาลี้ภัย และให้กะเหรี่ยงช่วยฝึกอาวุธให้กลุ่มประชาชน นักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย เหล่านี้ เมื่อหันหน้ามาพึ่งพากะเหรี่ยงต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า จึงมีการจัดตั้งกลุ่ม DAB (Democratic Alliance of Burma) และกลุ่ม NCUB (National Council Union of Burma) ประกาศจัดตั้งรัฐบาลต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าเต็มรูปแบบ
..........ผมขอลำดับเหตุการณ์การสู้รบ 10 ปี ย้อนหลัง ระหว่างกองทัพพม่ากับ กองกำลัง KNU ของชนเผ่ากะเหรี่ยงที่สำคัญดังนี้
..........26 มีนาคม 2532 กองกำลังทหารพม่า เข้าตีที่มั่น Maw Pokay ของฝ่าย KNU ได้สำเร็จ
..........20 พฤษภาคม 2532 กองกำลังทหารพม่า ราว 400 คน ข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย เพื่อจะเข้าตี ที่มั่น กองกำลังกะเหรี่ยง ที่วังข่า จากด้านหลัง และได้เผาบ้านวังแก้วในเขตไทย 7
..........สถานการณ์ในย่างกุ้งก็สับสนวุ่นวายจากการก่อวินาศกรรม การวางระเบิดตามสถานที่สำคัญหลายแห่ง ประชาชน นักศึกษา เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำของนาง ออง ซาน ซูจี ทางการทหารพม่าส่งกำลังออกกวาดล้างจับกุมผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยขนานใหญ่
..........ผมจำได้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในเมืองหลวงของพม่า เริ่มเป็นที่สนใจของสังคมไทย หลังจากเราให้ความสนใจสงครามใน ลาว เขมร และเวียดนาม กว่า 20 ปี
24 มกราคม 2533 กองกำลังทหารพม่า เข้าตี Thay Baw Bo ฐานที่มั่น
กะเหรี่ยงแตก กองกำลังทหารพม่าขยายผลไล่ติดตาม กองกำลังกะเหรี่ยง โดยเข้าตีฐาน Walay ของกะเหรี่ยงใกล้ชายแดนไทย ทำให้กะเหรี่ยงกว่า 6,000 คน หนีตายจากการสู้รบเข้ามาในเขตไทย
..........5 กุมภาพันธ์ 2533 กองกำลังทหารพม่าเข้าตีฐาน กองกำลังชาวมอญ และกะเหรี่ยง บริเวณพื้นที่ด้านตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์ ทำให้พวกมอญ และกะเหรี่ยง ราว 6,000 – 10,000 คน หนีตายเข้ามาในเขตไทย กองกำลังทหารพม่ายิ่งเพิ่มการกดดันกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้ากะเหรี่ยงไม่ตายก็จะหนีข้ามเข้ามาในเขตไทย ไม่รกหูรกตาพม่า งานนี้มีแต่ได้กับได้ !
..........มาถึงในตอนนี้ กองทัพพม่า (ภาษาพม่าเรียกว่า Tatmadaw : ทัด – มา – ดอ) ได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่ ทั้งจำนวนกำลังพล และยุทโธปกรณ์ ราวเดือนเมษายน 2533 พม่าเริ่มใช้ บ.โจมตีฐานที่มั่นต่าง ๆของกะเหรี่ยง ที่อยู่รายรอบค่ายมาเนอปลอ (MANERPLAW) ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงของกะเหรี่ยง และเป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า
..........กะเหรี่ยงนับพัน ทะลักหนีตายเข้ามาในประเทศไทยอีกระลอก
..........(ผมขอออกนอกเรื่องกะเหรี่ยงไปซักนิด กล่าวคือ ในเดือนธันวาคม 2533
..........จากสถานการณ์ไม่สงบในย่างกุ้ง มีการกวาดจับผู้ต้องสงสัยมากมาย พวกมุสลิม โรฮิงยา ประมาณ 20,000 คน ที่อาศัยอยู่ในรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของพม่า ได้อพยพหนีภัยเข้าไปยังบังคลาเทศ สร้างความสับสนวุ่นวาย รัฐบาลบังคลาเทศประกาศว่ารัฐบาลทหารพม่าจะต้องรับผิดชอบ สถานการณ์ตึงเครียด ถึงขนาดกำลังทหารของทั้ง 2 ประเทศ วางกำลังเผชิญหน้ากัน….. ผมอยากจะบอกว่า ปัญหาภายในของพม่านั้นมิใช่ส่งผลกระทบต่อไทยเท่านั้น กับเพื่อนบ้านบังคลาเทศก็ไปสร้างความปั่นป่วนให้เขาด้วย)
..........ในทุก ๆ หน้าแล้ง การสู้รบจะทวีความรุนแรงขึ้น
..........ต้นปี พ.ศ.2535 กองกำลังทหารพม่า ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมกว่าแต่
ก่อน หมายเผด็จศึกกะเหรี่ยงให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงเริ่มการโจมตีระลอกใหม่ต่อเมืองมาเนอปลอว์ กองบัญชาการใหญ่ของกะเหรี่ยง
..........ทหารพม่าส่งกำลังทางบกเข้าตีที่หมายหลัก Sleeping Dog Hill ซึ่งถือว่าเป็นภูมิประเทศสำคัญ (Key Terrain) ที่มีผลต่อมาเนอปลอว์ และสามารถยึดได้ในที่สุด หลังการสู้รบอย่างหนัก 2 เดือน
..........ชนเผ่ากะเหรี่ยงรู้ดีว่าพม่าเอาจริง คาดเดาออกว่าคงจะต้านทานทหารพม่าไม่ไหวแน่ จึงทะยอยหนีตายข้ามเข้ามาในเขตไทยอีก
..........พลจัตวา ติน งวย (Tin Ngwe ) ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 22 เคยประกาศก่อนเข้าตีว่า “อีก 3 ปี ข้างหน้านี้ ถ้าใครต้องการเห็นกะเหรี่ยง ก็ให้ไปดูได้ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น”8
..........กองกำลังทหารพม่ามิได้ใช้อำนาจกำลังรบแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เบื้องหลังความสำเร็จของกองกำลังทหารพม่านั้น พม่าได้ใช้สงครามจิตวิทยา (Psychological Warfare) แยกสลายกะเหรี่ยงด้วยกันเอง โดยใช้พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระที่บรรดากะเหรี่ยงชาวพุทธนับถือ สร้างรอยร้าวลึกทางจิตใจ ให้เห็นความแตกต่างของผลประโยชน์ระหว่างกะเหรี่ยงพุทธกับกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์
..........น้ำหยดลงหินครับ… มิช้ามินาน กะเหรี่ยงก็แยกออกเป็น 2 ขั้ว ระหว่าง กะเหรี่ยงพุทธ กับ กะเหรี่ยงคริสต์
..........ทหารพม่าได้กะเหรี่ยงพุทธไปเป็นแนวร่วม กะเหรี่ยงพุทธส่วนหนึ่งซึ่งเคยอยู่ในค่ายมาเนอปลอว์มาก่อน ก็นำกองทัพพม่าเข้าตีมาเนอปลอว์
..........26 มกราคม 2538 ค่ายมาปลอว์ก็ถึงกาลอวสาน กองกำลังกะเหรี่ยงถูก
เด็ดกล่องดวงใจ นายพลโบเมี๊ยะ เผาค่ายมาเนอปลอว์ทิ้ง แล้วย้ายกองบัญชาการไปเข้าที่มั่นแห่งใหม่ คือ ค่าย คอมูร่า (Kawmoora) บางคนเรียกว่า ค่ายวังข่า (Wangkha)
..........กะเหรี่ยงพุทธที่เข้าไปสวามิภักดิ์กับกองทัพพม่า ประกาศจัดตั้ง “กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ” (DKBA : Democratic Karen Buddhist Army)
..........ผมว่า…พม่าใช้หลักการสงครามได้อย่างเหนือชั้นจริง ๆ โดยใช้ทั้งสงครามจิตวิทยาและใช้สงครามตัวแทน (Proxy War)
..........21 กุมภาพันธ์ 2538 ค่ายคอมูร่าก็ถูกทหารพม่าตีแตกอีก (จากเอกสารที่
ผมค้นคว้า และต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้นระบุว่า กองกำลังทหารพม่ามิได้รบกับกะเหรี่ยงอย่างเดียวนะครับในเวลาเดียวกันนั้น ทหารพม่ายังต้องรบกับคะฉิ่น กกล. MTA. ของขุนส่า กกล.คะยา อีกด้วย ซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวถึง)
..........กะเหรี่ยงสูญเสีย 2 ที่มั่นหลัก ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ทำเอากะเหรี่ยงอ่อนแรงลงไปมาก กะเหรี่ยงปรับทิศทางเพื่อความอยู่รอด โดยหาลู่ทางเจรจาหยุดยิง ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าก็ลดระดับการปฏิบัติทางทหารลง ทั้งพม่าและกะเหรี่ยงสูญเสียกำลังพลไม่น้อย
ผลพลอยได้ที่ตามมา ที่นับว่าเป็นชัยชนะของกองทัพพม่าก็คือ ขุนส่าผู้นำ Mong Tai Army (MTA.) ประกาศวางอาวุธใน 22 ธันวาคม 2538 ในปีเดียวกันนั้น
..........เราก็ทราบดีว่า MTA. นั้นก็เป็นกระดูกชิ้นโตของพม่า กองกำลังติดอาวุธขุนส่าราว 12,000 คน วางอาวุธ (ที่เหลืออีกประมาณ 6,000 คน แตกกลุ่มออกไป เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เชื่อกันว่าหาเลี้ยงตนเองด้วยการผลิตยาเสพติด)
..........28 เมษายน 2539 กะเหรี่ยงเจรจาหาทางสงบศึกกับรัฐบาลพม่าที่เมืองมะละแหม่ง ซึ่งก็ไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไรทั้งสิ้น การประชุมเจรจาหยุดยิงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ไม่คืบหน้า เพราะฝ่ายกองทัพพม่ายืนยันในกฎเหล็กข้อที่ 1 ว่า “ฝ่ายกะเหรี่ยงจะต้องวางอาวุธเสียก่อน แล้วจึงจะมาพูดกัน”
..........กฎเหล็กข้อนี้ ผมเองซึ่งได้ติดตาม พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร อดีต ผบ.ทบ. เคยได้ฟังคำยืนยันจากผู้นำรัฐบาลทหารพม่าโดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลทหารพม่า และฝ่ายกะเหรี่ยงต่างก็แสวงหาข้อตกลงหยุดยิง โดยมีบุคคลที่ 3 ช่วยดำเนินการมาโดยตลอด
..........ทั้งหมดนี้เป็นกิจการภายในของประเทศพม่าครับ ผมไม่มีความเห็น
..........ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของฝ่ายกะเหรี่ยงก็คือราวกลางเดือนมกราคม 2543 นี้เองมีการปรับเปลี่ยนตัวผู้นำกะเหรี่ยงจาก นายพลโบเมี๊ยะ มาเป็น SAW BA THIN SEIN คาดกันว่าการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าน่าจะมีแนวโน้มสูงกว่าแต่ก่อนและผู้นำกะเหรี่ยงคนใหม่ได้ออกมาเรียกร้องให้ อาเซียนสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกะเหรี่ยงด้วย 9
..........ท่านคงจะพอเห็นภูมิหลังของความเป็นมาของ “ชนเผ่ากะเหรี่ยง” ความ
ขื่นขมรวมทั้งรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชนเผ่ากะเหรี่ยง เรื่องราวต่าง ๆ ของชนเผ่ากะเหรี่ยงนี้ได้ส่งผลกระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทยมาช้านาน ผู้คนทุกข์ทรมานบาดเจ็บล้มตายกันไปไม่รู้เท่าไหร่ ?
..........ได้แต่สงสารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตอนเป็นอาณานิคมโดนเขาแบ่งแยกแล้วปกครอง นักล่าอาณานิคมเสพสุขขนเอาทรัพยากรมีค่าออกไป โดนเขาหลอกให้ไปรบ ไปตายแทนเขา โดนยุแยงตะแคงรั่วจนหน้ามืดตามัว แย่งชิงกันเป็นใหญ่ นักล่าอาณานิคมผู้ทิ้งมรดกเลือดไว้เขาไม่มาช่วยดอก หาทางออกกันเอาเองก็แล้วกัน…ผมเอาใจช่วยครับ
อ่านต่อฉบับหน้า
-------------------


1 Martin Smith , Ethnic Groups in Burma , Development , Democracy and Human Rights , 1994 , p.42
2 Bertil Linter , Burma in Revolt Opium and Insurgency since 1948 , 1999 , p.52
3 Martin Smith , p.44
4 พรพิมล ตรีโชติ , ชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลพม่า หน้า 97
5 Bertil Linter , p.437
6 Martin Smith , p.44
7 Bertil Linter , p.466
8 Martin Smith , p.45
9 Bangkok Post , 29 FEB. 2000 , p.4

The Four Cuts หรือ “ตัด 4”


..........รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้ยุทธศาสตร์การจัดระเบียบการตั้งถิ่นฐานประชากร ในประเทศเพื่อแก้ปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่นำมาใช้ครั้งแรก หลังจากนายพลเนวินยึดอำนาจ เมื่อ พ.ศ.2505 เพื่อเป็นกลยุทธในการป้องกันและต่อต้านการก่อความไม่สงบ (Counter Insurgency) นโยบายนี้มีผลกระทบต่อประชากรนับล้านที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน มีการต่อต้านคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวในมุงมองด้านสิทธิมนุษยชน แนวความคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับนโยบาย “Strategic Hamlet” ของสหรัฐที่ใช้ในสงครามเวียดนาม
..........Four Cuts (ภาษาพม่าเรียกว่า Pya Ley Pya) คือการตัดตอนความเชื่อมโยงของอาหาร เงิน ข่าว และกองกำลังของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าให้แยกออกจากกัน โดยใช้กำลังทหารเข้าดำเนินการ แนวความคิดในการปฏิบัตินี้ทำให้พื้นที่บางแห่งถูกประกาศเป็น “พื้นที่ต้องห้าม” ทหารพม่าสามารถสังหารบุคคลในพื้นที่ดังกล่าวได้ทันที โดยไม่ต้องแจ้งข้อหา
..........ชนกลุ่มน้อยถูกกวาดต้อนไปตั้งหลักแหล่งในพื้นที่ที่ทางการจัดไว้ให้เท่านั้น ทหารพม่าจะเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมอย่างเฉียบขาด ผู้ฝ่าฝืนที่ยังคงหลบซ่อนอยู่ในที่เดิม หรือผู้ที่พยายามจะเล็ดลอดออกมาจากพื้นที่ควบคุมจะถูกสังหาร
..........ยุทธศาสตร์ “ตัด 4” นี้เป็นไม้ตายของรัฐบาลทหารพม่าที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี จนถึงปัจจุบัน



เชิงอรรถ

1 Martin Smith , Ethnic Groups in Burma , Development , Democracy and Human Rights , 1994 , p.42
2 Bertil Linter , Burma in Revolt Opium and Insurgency since 1948 , 1999 , p.52
3 Martin Smith , p.44
4 พรพิมล ตรีโชติ , ชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลพม่า หน้า 97
5 Bertil Linter , p.437
6 Martin Smith , p.44
7 Bertil Linter , p.466
9 Bangkok Post , 29 FEB. 2000 , p.4

ชนกลุ่มน้อย…(ไม่น้อย)...ในพม่า (3)

ชนกลุ่มน้อย…(ไม่น้อย)...ในพม่า (3)
(ชนเผ่าว้า-นักรบเถื่อน-นักล่าหัวมนุษย์)

แปลและเรียบเรียงโดย พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
E-mail: nthonglek@hotmail.com


..........บทความของผมผ่านไปแล้ว 2 ตอน ว่าด้วยเรื่องของ "ชนเผ่าชิน" "เผ่า คะฉิ่น" และ "กะเหรี่ยง" ตอนนี้เป็นตอนที่ 3 ยิ่งค้นคว้าก็ยิ่งพบข้อมูลในทางลึกที่แปลกหูแปลกตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของชนกลุ่มน้อยในพม่านั้น โดยมากเป็นการบันทึกของพวกมิชชั่นนารีชาวอังกฤษ และอเมริกันที่ได้ทุ่มเทชีวิตเสี่ยงตายเข้าไปทำหน้าที่เป็นหมอสอนศาสนา โน้มน้าวให้พวกคนเหล่านี้หันมานับถือศาสนาคริสต์
..........ประวัติศาสตร์ภูมิหลังการต่อสู้เพื่อแย่งชิงกันเป็นใหญ่ การต่อสู้เพื่อการแยกตัวเป็นรัฐอิสระ การต่อสู้แย่งชิงทรัพยากร การเกี่ยวพันกับยาเสพติดทั้งทางตรงและทางอ้อมของบรรดาชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ ในแผ่นดินพม่านั้น ลึกลับซับซ้อน ตัวละครมากมายหลากหลาย ยากแก่การจดจำ เอามาสร้างเป็นภาพยนตร์ก็คงเขียนบทได้ยากเต็มที ยอกย้อนซ่อนเงื่อน ไม่สนุกเหมือนดู "บ้านทรายทอง"
..........ในขณะที่ผมกำลังแปลและเรียบเรียงเรื่องบรรดาชนกลุ่มน้อย และตัดสินใจว่าจะเขียนเรื่องชนเผ่าไหนดี ? ก็พอดีมีสถานการณ์ชายแดนที่เกี่ยวข้องกับ "ชนกลุ่มน้อย" ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยเกิดขึ้นมาพอดี
..........ย้อนไปเมื่อ 17 มกราคม 2543 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ลงข่าวว่า ทางการพม่าได้ดำเนินการอพยพ "ชนเผ่าว้า" จากบริเวณชายแดน พม่า - จีน ราว 50,000 คน ลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณชายแดน พม่า - ไทย
..........ความเคลื่อนไหวครั้งนี้น่าสนใจ เรื่องใกล้ตัวติดรั้วบ้าน ผมเลยตัดสินใจจะนำเรื่องราวของ "ชนเผ่าว้า" มาลงในบทความตอนนี้ซะเลย เพราะผมเองก็เคยได้ยินชื่อ "ว้า" เหมือนกัน แต่ยังไม่ค่อยรู้ภูมิหลังที่มาที่ไปเป็นอย่างไร ? โดยผมจะขอนำเสนอในเรื่องของ "ประเพณีและวิธีการล่าหัวมนุษย์ของชาวว้า" และ "บทบาทการต่อสู้ของชนเผ่าว้า"
..........ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของ "ชนเผ่าว้า" นี่หายากจริง ๆ ครับ แต่เท่าที่รวบรวมมาได้ก็คิดว่าน่าจะพอพูดคุยกันได้พอหอมปากหอมคอ
.........."ชนเผ่าว้าเป็นชนเผ่าล่าหัวมนุษย์ เป็นนักรบที่ดุร้ายที่สุด ไม่มีใครอยากจะรบกับพวกว้า ว้าไม่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของใคร"……….หนังสือหลายเล่มจะเริ่มต้นด้วยข้อความนี้ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของอังกฤษซึ่งบันทึกเอาไว้ว่า "ชนเผ่าว้า" ปักหลักอาศัย มีถิ่นฐานเป็นของตนเอง (เป็นอิสระ) อยู่ทางชายขอบทิศตะวันออกของรัฐฉาน (Shan State) อาศัยอยู่บนเขาบริเวณรอยต่อชายแดน พม่า - จีน บริเวณต้นน้ำสาละวิน มียอดประชากรรวมราว 90,000 - 300,000 คน กระจัดกระจายอยู่บนเขา Wa Hills (ดูจากแผนที่) เมื่อดูยอดรวมประชากรเหล่านี้แล้วก็นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับชนเผ่าอื่น ๆ ในพม่า
.........."ชนเผ่าว้า" ยังนับถือภูตผีปีศาจ ชอบสะสมหัวกะโหลก โดยเชื่อว่าหัวกะโหลกมนุษย์จะช่วยป้องกันวิญญาณชั่วร้าย จะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ หัวกะโหลกมนุษย์จะช่วยคุ้มครองให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เมื่อพืชผลอุดมสมบูรณ์ ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วก็จะมีความสุขตามไปด้วย
.........."ชนเผ่าว้า" เชื่อว่ายิ่งได้หัวกะโหลกของคนแปลกหน้า (คนที่ไม่เคยพบมาก่อน) ยิ่งจะมีคุณค่า มีฤทธานุภาพสูง เพราะเมื่อฆ่าคนแปลกหน้าแล้ววิญญาณของเขาจะไม่สามารถหาทางออกไปจากบริเวณภูเขาที่พวกชาวว้าอยู่ได้ วิญญาณคนแปลกหน้าก็จะสถิตย์อยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง
..........มีการสำรวจพบว่าเส้นทางในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของพวกว้ามีหัวกะโหลกมนุษย์เรียงรายตาม 2 ฟากถนนถึง 300 หัวกะโหลก
..........ไม่ใช่เฉพาะหัวกะโหลกมนุษย์อย่างเดียว…… หัวกะโหลกสัตว์ใหญ่ทั้งหลาย เช่น หัวกะโหลกกวาง ฯลฯ ก็จะถูกนำมาประดับประดาในบ้านด้วยเช่นกัน
..........พวกว้ากลุ่มย่อย ๆ ที่กระจายกันอยู่จะมีนิสัยตัดไม้ทำลายป่า การปลูกพืชยังคงเป็นอาชีพหลัก และมีความสามารถในการจัดลำเลียงฝิ่นไปในภูมิประเทศที่เป็นเขาสูง
..........พวกว้าเพาะปลูกข้าว มัน และข้าวโพดเป็นพืชหลัก เมื่อดินจืดพืชพรรณไม่ผลิดอกออกผลก็จะไปหักล้างถางพงเอาใหม่ และที่ถนัดมากที่สุดตั้งแต่บรรพบุรุษคือการปลูกฝิ่น
..........ในอดีตเมื่อ "ชนเผ่าว้า" เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (BCP) นั้น เท่ากับว่าพวกว้ายอมติดต่อกับโลกภายนอก ว้าเรียนรู้การใช้อาวุธปืนที่ทันสมัยจากพื้นเพดั้งเดิมเป็นชนชาติที่ทรหดอดทน ไม่กลัวตาย เมื่อได้รับการฝึกใช้อาวุธก็กลายเป็นนักรบที่ทุก ๆ ฝ่ายอยากได้เป็นพันธมิตร พรรคคอมมิวนิสต์ใช้เวลานานพอสมควรในการสร้างความสนิทสนมไว้วางใจร่วมรบกันได้ระยะหนึ่ง จึงหว่านล้อมให้พวกว้าเลิกประเพณีการล่าหัวมนุษย์ เพราะก็เกรงว่าพวกว้าจะหันมาหาหัวกะโหลกเพื่อนร่วมงานพวกว้าเพิ่งจะเลิกล่าหัวมนุษย์ในต้นทศวรรษ 1970 นี้เอง
..........พวกผู้หญิงว้า จะมีผ้าพันรอบศรีษะสีดำ ประดับด้วยดอกไม้สีต่าง ๆ แซมด้วยอัญมณี ชาวว้าส่วนใหญ่นิยมเคี้ยวหมาก จะทำให้ฟันดำ โดยเห็นว่าฟันสีดำเป็นประเพณีดั้งเดิม และเป็นสิ่งสวยงาม
..........ปัจจุบันว้าแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มว้าเหนือมีถิ่นฐานเกาะติดระหว่างชายแดน พม่า - จีน อยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ประมาณ 15,000 ตารางไมล์ อีกกลุ่มคือกลุ่มว้าใต้ มีถิ่นฐานอยู่บริเวณชายแดน พม่า - ไทย ในเทือกเขาดอยลาง ตามข้อมูลจากหนังสือหลายเล่มระบุว่ากลุ่มว้าใต้นี่แหละจะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากที่สุด
.......... การใช้ชีวิตของชนเผ่าว้านั้น จะเรียบง่าย มี "ไม้ไผ่" เป็นวัสดุหลักในการใช้ชีวิตในป่าเขา ใช้ไม้ไผ่สร้างกระท่อม ทำตู้ เตียง และเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ หุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ กินหน่อไม้เป็นหลัก
..........บ้านของพวกว้าเป็นบ้านยกพื้น คนอาศัยอยู่ชั้นบน ชั้นล่าง (ใต้ถุน) เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ในทุก ๆ บ้านจะมีพื้นที่สำหรับทำพิธีบูชาวิญญาณ

ประเพณี และวิธีการล่าหัวมนุษย์
..........ในระหว่างที่อังกฤษปกครองพม่าอยู่นั้น อังกฤษก็ยอมรับว่ายังไม่สามารถเข้าไปถึงดินแดนที่พวกว้าอาศัยอยู่ได้ ทางการอังกฤษบันทึกเกี่ยวกับชนกลุ่มว้าด้วยความรู้สึกชิงชัง เหยียดหยามว่ามีว้าอยู่ 2 กลุ่ม คือ "ว้าเถื่อน" และ "ว้าเชื่อง"
..........การบันทึกของคนอังกฤษก็จะอคติกล่าวถึงพวก "ว้าเถื่อน" เสียเป็นส่วนใหญ่ มีเรื่องบันทึกไว้ว่าในปี 1939 หมอแขกชาวซิกข์ ผู้มีผ้าโพกหัวแบบแขกทั่วไปและมีหนวดเคราดกงามมีความจำเป็นต้องเดินทางผ่านเข้าไปในพื้นที่ของพวกว้า ปรากฏว่า หมอแขกคนนี้ต้องเผ่นหนีตายออกมาจากพื้นที่กลุ่มว้า โดยมีทหารอังกฤษคุ้มกันออกมาส่งอย่างแน่นหนา ด้วยเหตุที่ว่าชนเผ่าว้า เกิดพิสมัยอยากได้หัวกะโหลกของแขกคนนี้ ซึ่งสวยงามแปลกตาน่าจะสะสมไว้ เป็นหัวกะโหลกหนึ่งประจำหมู่บ้าน
..........ผมพยายามค้นหาข้อมูลประเพณีและวิธีการล่าหัวมนุษย์ของพวกว้า ซึ่งก็โชคดีที่ รศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข มิตรรักของผมได้ไปพบว่า คุณสังคีต จันทนะโพธิ ได้เขียนบรรยายไว้อย่างละเอียดในหนังสือ "ว้าแดงมังกรดอย" ซึ่งผมจะขอสรุปให้ท่านได้อ่านเพลิน ๆ ดังนี้
..........ว้าไม่ฆ่าคนเพื่อเก็บกะโหลกไว้เล่น ๆ เท่านั้น บางทียังกินเนื้อเสียอีกด้วย ผู้ชายที่จะแต่งงานกับหญิงไม่ได้ นอกจากฆ่าคนเอาหัวไปเป็นของกำนัลให้ผู้หญิงเห็นใจเสียก่อน ในหมู่บ้านหนึ่ง ๆ ของว้าจะได้หัวกะโหลกคนมาปีละ 1 หัว เป็นอย่างน้อย มิฉะนั้นเชื่อว่าหมู่บ้านจะต้องประสบภัยพิบัติ ใครก็ตามที่สามารถล่าหัวมนุษย์มาได้ จะได้รับยกย่องว่ามีอุปการคุณแก่คนทั้งหมู่บ้านเป็นอย่างมาก ยกเว้นจากการฆ่าคนแล้ว พวกว้าจัดว่าเป็นเผ่าที่เรียบร้อย คือไม่เป็นขโมย ไม่ปล้นสดมภ์เอาทรัพย์สินของใคร ๆ
..........ว้าบางพวกไม่อาบน้ำ โดยเฉพาะผู้หญิงไม่นุ่งผ้า หรือใส่เสื้อ โดยเฉพาะในหน้าร้อน ฤดูล่าหัวมนุษย์คือหน้าร้อนประมาณเดือนมีนาคม หัวหน้าหมู่บ้านจะประกาศให้ชายฉกรรจ์ในหมู่บ้านทราบ การล่าหัวมนุษย์จะไปสิ้นสุดในราวกลางเดือนเมษายน หากได้หัวมนุษย์มาแล้วจะมีพิธีการไหว้ผี และเลี้ยงดูกันอย่างใหญ่โต คนที่จะออกล่าหัวมนุษย์นี้มีไม่มาก หมู่บ้านที่มีประมาณ 300 หลังคาเรือน คณะชายฉกรรจ์ที่ล่าหัวมนุษย์มีประมาณ 10 - 12 คนเท่านั้น การใช้คนน้อยเสียงก็เบา หา "เหยื่อ" ได้ง่าย โดยเหยื่อจะไม่รู้ตัวก่อน เมื่อได้หัวมนุษย์มาแล้วก็จะรีบเดินทางกลับเข้าหมู่บ้าน หัว
มนุษย์หัวเดียวก็เพียงพอ แต่ถ้าหากได้อีก 1 หัว ย่อมเป็นที่ประกันได้ว่าพืชผลปีนั้นจะงอกงามไม่แห้งแล้งอับเฉา
..........นักล่าจะเดินเงียบมาก และเดินตีนเปล่า จะเริ่มทำงานในเวลาพลบค่ำ การจะเดินไปทิศทางใดใช้วิธีเสี่ยงโยนกระดูกไก่ลงบนพื้น ถ้าข้อกระดูกชี้ไปทางไหน เขาจะไปทางนั้น เมื่อว้าจากต่างหมู่บ้านมาพบกันจะหยุดทักปราศรัยกันด้วยดี การตัด
หัวของคนหมู่บ้านใกล้เคียงนั้นว้าไม่ทำ และถือเป็นการผิดอย่างยิ่ง ว้าจะไม่แตะต้องทรัพย์สินเงินทองของเหยื่อ แค่ตัดศรีษะไปเท่านั้น
..........เมื่อได้ตัดหัวคนมาแล้ว จะให้ผู้หญิงที่เป็นแม่หรือเป็นเมียของคนตัดหัวทำพิธีต้อนรับ โดยจะนำหัวคนตายออกมาจากถุงย่าม แล้วนางจะแสร้งร้องห่มร้องไห้ หลังจากนั้นก็จะเอาไม้ไผ่ปลายแหลมทิ่มแทงที่ลูกตาของหัวนั้น เพื่อทดสอบว่ามันได้หมดความรู้สึกเจ็บปวดแล้ว แล้วนางก็จะตอกไข่สดกรอกเข้าไปในปากของหัวนั้น เพื่อ
พิสูจน์ว่ามันจะไม่หิวอีกต่อไป เสร็จพิธีตรงนี้แล้วเป็นอันว่าหัวมนุษย์ที่ได้มานั้นได้รับอนุญาตให้นำเข้าไปในหมู่บ้านได้
..........ต่อมาก็จะนำหัวคนที่ยังสด ๆ นั้น ไปวางไว้บนเสาไม้ไผ่กลางลานหมู่บ้าน เพื่อเซ่นสรวงผีไร่ผีนา แล้วพวกว้าจะนำเอากระจาดบรรจุข้าวเปลือกไปตั้งไว้ข้างเสานั้น ใช้ไม้ซางเล็ก ๆ ทำเป็นท่อเชื่อมจากเสาไม้ไผ่มายังตะกร้า เมื่อหัวมนุษย์เริ่มเน่าก็จะมีน้ำเหลืองไหลมาตามไม้ซางที่เป็นท่อเชื่อมลงมาถูกข้าวเปลือกที่ตั้งอยู่ข้างล่าง ด้วยวิธีนี้พวกว้าเชื่อว่าข้าวที่ถูกคลุกด้วยน้ำเหลืองจะกลายเป็นข้าวพันธุ์ที่เต็มไปด้วยอาถรรพณ์ จะทำให้ข้าวพันธุ์อื่น ๆ ตกรวงงอกงาม รอดพ้นจากภัยพิบัติของธรรมชาติได้ ข้าวอาถรรพณ์เหล่านี้จะถูกนำไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านทุกครัวเรือนเพื่อเพาะปลูกต่อไป
..........ประมาณ 6 เดือน หัวมนุษย์เหล่านั้นจะย่อยสลาย เหลือเพียงแค่กะโหลก พวกว้าก็จะทำพิธีอัญเชิญหัวกะโหลกลงจากเสาเพื่อนำไปบรรจุไว้ ณ ดงหัวกะโหลกนอกหมู่บ้าน
..........ผมขอคัดลอกมาเล่าย่อ ๆ แต่เพียงเท่านี้ก็แล้วกันนะครับ อันที่จริงยังมีพิธีการบูชายันต์หัวกะโหลกด้วยการฆ่าวัวฆ่าควายอีกจำนวนมาก เพื่อให้พิธีสมบูรณ์ รู้ไว้แค่นี้ก็น่าจะพอ เอาไว้คุยกันพอหอมปากหอมคอ

บทบาทการต่อสู้ของชนเผ่าว้า
..........ผมยอมรับว่าข้อมูลของ "ชนเผ่าว้า" นั้นค่อนข้างกระจัดกระจาย ทั้ง ๆ ที่ "ชนเผ่าว้า" มีบทบาทในการสู้รบอย่างโชกโชน ถือได้ว่าเป็นตัวละครที่สำคัญตัวหนึ่งในสงคราม (ภายใน) ของสหภาพพม่ามากว่า 40 ปี จนถึงปัจจุบัน ผมขอสรุปข้อมูลของ Martin Smith เกี่ยวกับเรื่องการต่อสู้ของว้าพอเป็นสังเขปดังนี้
..........บุคคลผู้ที่ชนเผ่าว้าให้ความเคารพยำเกรง โดยยกให้เป็นหัวหน้าชนเผ่าว้าคือ โบ หม่อง (Bo Moung) ในอดีตเคยเป็นทหารในกองทัพพม่า รับราชการในเหล่าทหารสารวัตร โบ หม่อง ผู้นี้เป็นผู้นำชนเผ่าว้าผู้รักชาติ ปราบปรามการก่อความไม่สงบในรัฐฉาน และเป็นผู้นำกำลังเข้าตีเมือง Tangyan ชนเผ่าว้าราว 2 ล้านคนอาศัยกระจัดกระจายอยู่ในตะวันออกของในรัฐฉานรวมทั้งทางตอนใต้ของรัฐยูนานใน ประเทศจีน และบางส่วนในประเทศไทย พื้นที่ที่ว้าอยู่อาศัยอยู่ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ภูเขาที่
กว้างใหญ่ ทางการจีนประมาณว่ามีชนเผ่าว้าอาศัยอยู่ในมณฑลยูนานประมาณ 300,000 คน นักมนุษย์วิทยาระบุว่าชนเผ่าว้าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ "โลกลืม" ได้รับการกล่าวถึงน้อยที่สุดในบรรดาชนกลุ่มน้อยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
..........เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (BCP) พยายามสถาปนาพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นพื้นที่อิทธิพลของตน จึงพยายามดึงเอา "ชนเผ่าว้า" และ "ชนเผ่าโกกั้ง" เข้าเป็นพันธมิตรด้วย พรรคคอมมิวนิสต์พม่ามุ่งมั่นต้องการเอา "ชนเผ่าว้า" เป็นกำลังรบหลัก เพราะรู้ดีกว่า นักรบชนเผ่าว้านั้น "เป็นของจริง - รบจริง"
..........ในปี 1973 พรรคคอมมิวนิสต์พม่า และว้าก็บรรลุข้อตกลงเป็นพันธมิตรกันในอันที่จะล้มรัฐบาลย่างกุ้ง และแยกตัวเป็นรัฐอิสระ ชนเผ่าว้าไว้วางใจพรรคคอมมิวนิสต์พม่ามากถึงขนาดให้ บก.พรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปตั้งอยู่ในในพื้นที่ของกลุ่มว้า
..........เมื่อกองทัพพม่าใช้ทั้งมาตรการทางทหาร และมาตรการทางการเมืองรุกต่อพรรคคอมมิวนิสต์พม่า จนทำให้ บก.ของ พรรคคอมมิวนิสต์พม่า ณ เมือง BAGO เมือง YOMA ต้องแตกพ่าย พรรคคอมมิวนิสต์พม่าคงเหลือ บก.อยู่ที่เมือง PANHSAN อีกเพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นที่มั่นสุดท้าย
..........เมื่อกองกำลังติดอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเป็น "ชนเผ่าว้า" กองทัพพม่าไม่รีรอที่จะแทรกตัวเข้าไปทันที เพราะรู้ดีว่าสถานการณ์ทุกอย่างกำลังสุกงอม พรรคคอมมิวนิสต์พม่ากำลังระหองระแหงกับกลุ่มนักรบว้าอยู่พอดี เมื่อหันไปมองทางกลุ่มของ "ชนเผ่าโกกั้ง" สภาพความสัมพันธ์ก็คุกรุ่นไม่แพ้กัน
..........กองทัพพม่าพอจะเห็นชัดว่า "ประตูแห่งสันติภาพ" บานนี้เริ่มแง้ม ๆ ออก จึงส่งคนเข้าเกลี้ยกล่อม "ชนเผ่าว้านักรบ" ทันที ทำลับลับล่อล่อ เคลื่อนไหวแบบปกปิดกึ่งเปิดเผยได้พักเดียว พรรคคอมมิวนิสต์พม่า ก็เริ่มหวาดระแวง "นักรบว้า" ถึงขนาดที่ พรรคคอมมิวนิสต์พม่าต้องขอเปิดเจรจาเพราะเริ่มได้กลิ่นว่า "นักรบว้า" จะตีตนออกห่าง
..........พรรคคอมมิวนิสต์พม่าไม่สามารถครองใจ "นักรบกลุ่มว้า" ได้อีกต่อไป จึงได้ส่งคณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ชื่อ นาย โช เต็ง (Soe Thein) ไปเจรจากับชนเผ่าว้า ไปพูดจากันอีท่าไหนไม่ทราบ ดันไปลดระดับความสำคัญของนักรบกลุ่มว้าลง
..........ผู้นำของชนเผ่าว้าในตอนนั้นคือ Kyaun Nyi Lai และ Pauk Yu Chan ได้เรียกประชุมหารือกับบรรดาผู้นำว้ากลุ่มย่อย ๆ เพื่อหาทางออกกรณีความร้าวฉานระหว่าง พรรคคอมมิวนิสต์พม่า กับชนเผ่าว้า
..........ผลปรากฏว่าผู้นำว้ากลุ่มย่อยทั้งหลายมีมติให้ "ชนเผ่าว้า" แยกตัวออกจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ทันที
..........ฝ่ายพม่าซึ่งปรุงแต่งสถานการณ์ตรงนี้มานาน เฝ้ารอด้วยใจระทึก เมื่อเห็นรอยปริตรงนี้จึงมุ่งเข้า "ขยายผล" โดยการขอเจรจากับชนเผ่าว้า และกลุ่มโกกั้ง พร้อมกันในลักษณะรวบหัวรวบหาง
..........17 เม.ย.1989 สุดยอดวิทยายุทธเห็นผลทันตา กองทัพพม่าส่งมือชั้น "อ๋อง" ไปเจรจา ผลออกมาก็คือชนเผ่าว้าเป็นกบฎนำกำลังเข้าตี บก.พรรคคอมมิวนิสต์พม่า ณ เมือง Panhsan จนผู้นำ พรรคคอมมิวนิสต์พม่า นาย Ba Thein Tin และระดับผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์ราว 300 คนหนีตายลักลอบเข้าไปในประเทศจีน กองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ที่เหลือแตกออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งที่สำคัญและมีเขี้ยวเล็บแพรวพราวอยู่จนถึงปัจจุบันนี้ คือ กลุ่ม UWSA (United Wa State Army)
..........นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่งของกองทัพพม่า ที่สามารถกล่อมให้นักรบว้าเข้าปราบปรามกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ที่สู้รบกันมานาน 40 ปีได้สำเร็จ
แก้ปัญหาหนามยอกอกตรงนี้ได้อย่างล้ำลึก เสียกำลังพล (พม่า) และกระสุน (พม่า) แต่เพียงน้อยนิด
..........ทำสงครามนี่ครับ ไม่มีกติกาอยู่แล้ว ใครเก่งกว่า ก็ชนะ…….ก็มีเท่านั้น
..........ข้อมูลตรงนี้ก็น่าสนใจอีก…. หลังจาก พรรคคอมมิวนิสต์พม่า ล่มสลาย พม่าได้ "ชนเผ่าว้า" และ "ชนเผ่าโกกั้ง" มาเป็นพวกอีกต่างหาก กองกำลังว้าซึ่งมียอดกำลังพลราว 15,000 คน ได้สถาปนากลุ่มของกองกำลังตนเองขึ้นเป็น "Myanmar National Solidarity Party" ยังคงสภาพ "ชนเผ่าว้า" ที่ต้องการดำเนินการทางทหารและทางการเมืองควบคู่กันไป
..........ทุกอย่างดูจะราบรื่น กองทัพพม่ายังมิได้ไว้ใจกองกำลังของว้าเสียทั้งหมด ยังคงต้องการให้มีหลักประกันและข้อตกลงหยุดยิง และสร้างสันติภาพต่อไป
..........มิถุนายน 1989 คณะทำงานของ พล.ต.ขิ่น ยุ้นท์ (ยศในขณะนั้น) ได้เดินทางเข้าไปเพื่อหาลู่ทางเจรจา "หยุดยิง" และ "พัฒนาร่วมกัน" ครั้งนี้นับว่าเป็นการพบกันครั้งแรก
..........สิงหาคม 1989 ชุดเจรจาสันติภาพของ พล.ต.ขิ่น ยุ้นท์ ได้พบกลุ่มผู้นำว้าเป็นครั้งที่ 2 เพื่อขยายผลแห่งความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยฝ่ายพม่าเริ่มหยิบยื่นความช่วยเหลือในรูปของการพัฒนาความเป็นอยู่ สร้างถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และส่งมอบอาหาร
..........เดือนพฤศจิกายน 1989 บรรยากาศการเจรจาสันติภาพยังคงราบรื่นและต่อเนื่อง ชนิดที่เรียกว่าไม่สะดุดอะไรเลย เมื่อฝ่ายเสธ.ได้กรุยทางในรายละเอียดของการเจรจาหยุดยิงไว้เรียบร้อย ก็เป็นหน้าที่ของ "นายของทั้งสองฝ่าย" มา "กดปุ่ม"
..........การเจรจาหยุดยิงเป็นทางการระหว่างผู้นำกองทัพพม่ากับชนเผ่าว้า เป็นครั้งที่ 3 ณ เมืองลาชิโอ โดยฝ่ายพม่ามี พล.ต.ขิ่น ยุ้นท์ แม่ทัพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่ทัพภาคตะวันออก และผู้บัญชาการกองพล เข้าเจรจากับผู้นำของกลุ่มว้า
..........การที่ชนเผ่าว้าถูกพรรคคอมมิวนิสต์พม่าใช้เป็นกำลังรบหลักไปสู้รบกับกองทัพพม่าเป็นเวลาราว 20 ปีนั้น ทำให้ชนเผ่าว้าอ่อนล้า ประสบกับความสูญเสียประชากรไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ชายว้านั้น ร่อยหลอหาทำยายากเหลือเกิน
..........ผมขอเสริมว่า พล.ท.ขิ่น ยุ้นท์ นั้น ดำรงตำแหน่งสำคัญ 3 ตำแหน่ง คือ เจ้ากรมข่าวทหาร (Directorate of Defense Services Intelligence : ทำหน้าที่ด้านการข่าว โดยเฉพาะข่าวลับ) ตำแหน่งเลขาธิการ SPDC คนที่ 1 และผู้อำนวยการสถาบันทางยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Studies : ทำหน้าที่คล้ายกับ กอ.รมน.) ตำแหน่งทั้ง 3 นี้ เป็นการรวมเอาอำนาจหน้าที่ทั้งด้านการทหารและการเมืองเข้ามาไว้ในคนเดียว สามารถตกลงใจและสั่งการได้ทันที เรียกง่าย ๆ ว่า "เบ็ดเสร็จเด็ดขาด" จึงนับว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่งคนหนึ่งในประเทศพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทการทำงานเจรจาสงบศึกกับชนกลุ่มน้อย 17 กลุ่ม เพื่อยุติสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยด้วยกันเอง และสงครามระหว่างชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลทหารพม่า
..........การประชุมสันติภาพครั้งที่ 3 เป็นความสำเร็จ ได้มีการตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับชนเผ่าว้า (ซึ่งแปลงสภาพเป็น Myanmar National Solidarity
Party แล้ว) ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าตกลงยอมรับข้อเสนอว่า "จะไม่ถือว่าชนเผ่าว้าเป็นกลุ่มนอกกฎหมายอีกต่อไป โดยมีผลตั้งแต่ 9 พ.ค.1989"
..........นอกจากนั้น รัฐบาลอนุมัติให้พื้นที่ซึ่งชนเผ่าว้าอาศัยอยู่นั้นเป็น "เขต ปกครองพิเศษ (2)" ในรัฐฉานตอนเหนือ (Northern Shan State Special Region (2)) โดย รัฐบาลกลางจะสนับสนุนในเรื่องงบประมาณ และอาหาร
..........กองทัพพม่ากับกองกำลังว้า (UWSA) ก็เคยกระทบกระทั่งกันจนเกือบจะต้องรบกันอีกครั้งในเหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคม 1992 นายซอ ลู (Saw Lu) บุคคลสำคัญคนหนึ่งของกลุ่มว้าถูกทหารพม่าจับกุมที่เมืองลา ชิ โอ เนื่องจากนายทหารฝ่ายข่าวของพม่าชื่อ พ.ต.ตัน เอ รายงานว่า เขาได้เข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องยาเสพติด ซอ ลู พร้อมด้วยเมียและลูกอีก 4 คน ถูกจับเข้าคุกทั้งหมด ซอ ลู ถูกทรมานจับห้อยหัวลง และทหารพม่าใช้ไฟฟ้าช็อต เพื่อให้สารภาพ
..........เมื่อ จ้าว ยี่ ลาย (Zhao Yilai) ผู้นำ UWSA ทราบเรื่องนี้ จึงยื่นคำขาดต่อกองทัพพม่าทันที ขอให้ปลอยตัว ซอ ลู ก่อนวันที่ 26 มีนาคม 1992 มิฉะนั้น จะยกเลิกสัญญาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า ในที่สุด 16 มีนาคม 1992 กองทัพพม่าต้องจำใจปล่อยตัว ซอ ลู พร้อมครอบครัว
..........นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของอำนาจการต่อรองของ UWSA ต่อทางการพม่า
..........ผมขอสรุปผลงานของนักรบว้า ที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่โดดเด่นก็คือ กองทัพพม่าเองสูญเสียอย่างหนัก ติดต่อกันมา 20 ปี จากการปราบปรามคอมมิวนิสต์พม่า ยังคงเหลือกระดูกชิ้นโตอีกหนึ่งชิ้น คือการปราบปราม "กองกำลังขุนส่า ( Mong Tai Army : MTA)" ที่อยู่ในรัฐฉาน
..........กองทัพพม่าใช้สูตรสงครามตัวแทน "หนามบ่งหนาม" เช่นเคย โดยเกลี้ยกล่อมนักรบว้าเป็นกำลังหลัก เพื่อปราบ MTA กองกำลังว้าทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ของย่างกุ้งแน่นอน จะช่วยให้ภาพลักษณ์ของย่างกุ้งดูดีในเรื่องของการปราบปรามยาเสพติดการนำเอากำลังของว้ามาปราบ MTA นี้ หน่วยปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐ (DEA) ก็ทราบดีและร่วมมือในทางลับโดยหวังว่าน่าจะจับตัวขุนส่าได้
..........ทุกอย่างเป็นไปตามแผนของพม่า กองกำลังของว้า UWSA กดดัน MTA อย่างหนักสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมากด้วยกันทั้งสองฝ่าย กองทัพพม่าขอเล่นบทนักเจรจา ผลออกมาก็คือ ขุนส่าราชายาเสพติดระดับโลก ยอมวางอาวุธ สงบศึก โดยนำกำลังรบจำนวนประมาณ 15,000 คน มอบตัวต่อทางการพม่า ณ เมือง Ho Mong ใน 7 ม.ค.1996
..........มาถึงตรงนี้แล้วท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่า เรื่องราวประเพณีการล่าหัวมนุษย์ของชนเผ่าว้าเป็นอย่างไร ประการสำคัญที่สุดท่านคงเห็นภาพความสัมพันธ์ของ "กองทัพพม่า" กับ "กองทัพว้า" นั้น รบเคียงบ่าเคียงไหล่ ว่ามีสัมพันธภาพแนบแน่นกันขนาดไหน

สวัสดีครับ


******************


บรรณานุกรม


1. Maung Pho Shoke , "Why did Khun Sa' MTA Exchange Arms for Peace". Yangon, Meik Kaung Press, 1999
2. Martin Smith, "Burma Insurgency and the Politics of Ethnicity". New York, Zed Books Ltd.,1999
3. Bertil Lintner , "Burma in Revolt opium and Insurgency since 1948" .Bangkok, O.S.Printing House,1999
4. Yan Nyein Aye, "Endeavors of The Myanmar Armed Forces Government for National Reconciliation". Yangon, U Aung Zaw Publisher,2000
5. พรพิมล ตรีโชติ, "ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า" . กรุงเทพ, สำนักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย, 2542
6. สังคีต จันทนะโพธิ, "ว้าแดงมังกรดอย" . กรุงเทพ, บริษัท ไพลินสีน้ำเงิน จำกัด, 2542


*****************


(1) Martin Smith : หน้า 34
(2) Richard K.Diran : The Vanishing Tribes of Burma, หน้า 114
(3) Richard K.Diran : หน้า 118

ผู้หญิงคนนี้...โลกต้องฟังเธอ

ผู้หญิงคนนี้...โลกต้องฟังเธอ



แปลและเรียบเรียงโดย
พล.ต. นิพัทธ์ ทองเล็ก



..........ผมติดตามเรื่องของ ดร.คอนโดลีซซ่า ไรซ์ มานาน ผมสนใจ “ ในความเป็นตัวตน ” ของเธอ “ ระบบการทำงาน ” ของเธอ ตำแหน่งนี้มีความรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีอย่างไร แค่ใหน ? ประธานาธิบดีสหรัฐ นั้นตื่นเช้าขึ้นมา ท่านทำอะไรบ้าง ในเมื่ออเมริกาคือมหาอำนาจเดี่ยวของโลกปัจจุบัน มีกำลังทหารอยู่ใน 5 กองบัญชาการกระจายอยู่ทั่วโลก มีคนทำงานด้านความมั่นคงเคลื่อนไหวทั้งเปิดเผยเปิดเผยและปกปิดใน 4 มิติ ในอวกาศ ภาคพื้นดิน บนผิวน้ำ และใต้ทะเล หน่วยงานด้านความมั่นคง ทำงานในแทบทุกซอกทุกมุมของโลก รายงานข้อมูล ข่าวกรอง เข้ามาในวอชิงตันทั้งวันทั้งคืน ประธานาธิบดีสหรัฐ “ ต้องรู้อะไรบ้าง ? ” ใครรับผิดชอบงานในส่วนนี้ต่อประธานาธิบดีสหรัฐ ? น่าสนใจดีจัง
..........ผมเองมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร. ไรซ์ ขณะนั่งในเต้นท์ สนามหน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อครั้ง ดร. ไรซ์ติดตามประธานาธิบดีบุชมาประชุมเอเปคที่กรุงเทพ เดือนตุลาคม 2546 เธอสุภาพ บุคลิกดี เป็นกันเอง สนใจงานความมั่นคงของประเทศไทย
..........ดร.คอนโดลีซซ่า ไรซ์ (ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ) ในอดีตเคยทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงต่อประธานาธิบดีสหรัฐ สตรีผิวสี คนนี้ โดยตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เธอคือบุคคลท่านแรกที่จะได้เข้าชี้แจงต่อ ประธานาธิบดีบุช ทุกวันในเวลา 0600 น. เพื่อสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกในภาพรวมให้ ประธานาธิบดีบุช ฟังในกรอบงานของกระทรวงกลาโหม รวมกับงานของกระทรวงการต่างประเทศ

ประวัติของ ดร.ไรซ์ น่าสนใจ เธอเป็นใครมาจากไหน ?
............คอนโดลีซซ่า ไรซ์ เกิดเมื่อ 14 พ.ย. 1954 ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐอาลาบามา ซึ่งเป็นชุมชนที่มีปัญหามากที่สุดในเรื่องการเหยียดผิว คนผิวดำจะถูกกีดกันออกไปไม่มีสิทธ์เท่าคนผิวขาว ไม่เรียนรวมกัน ขึ้นรถเมล์แบ่งเป็นที่นั่งของคนขาว ที่นั่งของคนดำ เธอและครอบครัวใช้ชีวิตที่ไม่รื่นรมย์ เต็มไปด้วยอันตรายรอบด้าน
...........วันหนึ่งเมื่อเธอ 8 ขวบขณะสวดมนต์ในโบสถ์ ทันใดนั้นโบสถ์สั่นสะเทือนแทบพังลงมา เพราะห่างไป 2 ช่วงตึกในโบสถ์แบ๊บติสต์ กลุ่ม Ku Klux Klan ( กลุ่มล่าสังหารคนผิวดำ ) วางระเบิดสังหาร เด็กหญิงผิวดำเสียชีวิต 4 คนตายในโบสถ์ และ 1 ในนั้นคือเพื่อนที่โรงเรียนของเธอเอง
..........ชื่อของเธอ Condoleezza มาจากศัพท์ในวิชาดนตรีของอิตาลี แปลว่า อ่อนหวาน คุณพ่อเธอ จอห์น ทำงานเป็นที่ปรึกษาแนะแนวการศึกษาในวิทยาลัย คุณแม่ เเองเจลีน่า เป็นครู ครอบครัวนี้ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวอุปถัมภ์โบสถ์เล็ก ๆ ในชุมชน วันอาทิตย์ จอห์นไปเป็นนักเทศน์ เเองเจลีน่าเล่นออแกน ส่วน ด.ญ.ไรซ์ เล่นเปียโนในโบสถ์ เธอสามารถอ่าน นสพ.ได้ตั้งแต่ตอน 3 ขวบ
..........สภาพแวดล้อมใน เบอร์มิงแฮม เต็มไปด้วยความชิงชังคนผิวสี ความรุนแรง การทำร้ายคนผิวสี และไม่มีอนาคต ทำให้ครอบครัวไรซ์ ต้องย้ายถิ่นพำนักโดยเด็ดขาด ในปี 1967 จอห์น ไปเป็นรองอธิการบดีที่ มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ไรซ์ ได้เข้าเรียนในเกรด 10 ในไฮสคูล เป็นครั้งแรกของเธอที่ได้เรียนกับคนผิวขาว ไรซ์มีความคิดเป็นผู้ใหญ่เกินกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เรียนเร็วกว่าเพื่อน 2 ปี เรียนเก่งได้พาสชั้น มีศักยภาพในการเล่นดนตรี กีฬา อายุ 15 ปี จบไฮสคูล และคิดจะเรียนปริญญาตรี วิชาเอกทางการดนตรี
..........ปี 1972 ในระหว่างเรียนปี 3 เธอได้ค้นพบตัวเองว่าหลงใหลในวิชาโซเวียตศึกษา โดย ศจ.โจเซฟ คอเบล อดีตชาวเชค (Czech ) ลี้ภัยมาอยู่อเมริกาที่มีลีลาการสอนหนังสือที่เร้าใจแถมเป็นคุณพ่อของ เมดลีน อัลไบร์ท อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยคลินตัน ไรซ์ จึงหันมาทุ่มเทความชอบในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ดนตรี และการเมือง การปกครองของโซเวียต โดยเฉพาะการใช้อำนาจของโซเวียตที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลกเทียมเท่ากับ อเมริกา
..........ปี 1974 จบปริญญาตรี พร้อมด้วยเกียรตินิยมอันดับ 3 แล้ว ศึกษาต่อ ปริญญาโท ในเรื่องโซเวียต ที่ ม.นอร์ทเทอร์เดม
..........ปี 1976 กลับมาศึกษาต่อปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ พร้อมกับเรียนภาษารัสเซีย เพื่อหาข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ แน่นอนที่สุดเธอรู้ ภาษารัสเซีย
..........ในช่วงจังหวะนั้นเอง เหมือนกับคำกล่าวที่ว่าสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ประธานาธิบดี คาร์เตอร์ เข้ารับตำแหน่งไม่นาน โซเวียตกรีธาทัพบุกอัฟกานิสถาน ดร.ไรซ์ ซึ่งรู้ซึ้งกับ “ระบอบการปกครองโซเวียต ” ถึงกับเสนอความเห็นว่าวิธีการของ คาร์เตอร์ นั้น “ มันอ่อนแอเกินไป ” แท้ที่จริงแล้วเธอรู้ดีว่า “ความเข้มแข็ง ของอเมริกา “ เท่านั้นที่จะจัดการกับโซเวียตได้ ความคิดเช่นนั้นคือแรงส่งที่ทำให้เธอกลายเป็นรีพับลิกัน เต็มตัว
..........ปี 1981 เธอเป็น ผศ. ที่อายุน้อยมาก ในอายุ 26 ปีมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด ให้ทุนพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องโซเวียต พร้อมกับสอนหนังสือสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ได้รับรางวัลการสอนหนังสือดีเด่น 2 รางวัลขณะเป็นอาจารย์ เป็นสตรีเป็นคนผิวสีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของสแตนฟอร์ด บริหารงบประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญต่อปี ดูแลอาจารย์1,400 คน นักศึกษาราว 14,000 คน เขียนหนังสือมากมาย ได้รับเทียบเชิญเป็นบอร์ดบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Chevron บอร์ดบริษัท Hewlett Packard รวมทั้ง The Rand Corporation
..........ดร.ไรซ์ เป็นคนที่มีสัมมาคารวะ จริงใจ ตรงไปตรงมา มุ่งมั่นเด็ดขาด แต่ก็
อ่อนหวาน น้อยคนอาจไม่ทราบว่าเธอเคยเล่นเปียโน เพื่อหาเงินเข้าการกุศล เจ้าหน้าที่ ด้านความมั่นคงสหรัฐชมเชยเธอตรงที่มีจริยธรรมในการนำเสนอข้อมูลต่อ ประธานาธิบดี โดยไม่มีสอดใส่ความเห็นส่วนตัว ในปี 1987 ตอนเธอได้รับการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่ช่วยงานประธานาธิบดีบุช ผู้พ่อ ในทำเนียบขาว
..........ปี 2000 เธอได้รับเชิญไปทานอาหารกับครอบครัว บุช และได้มีโอกาสพบกับ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ซึ่งกำลังรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง บุช พบว่าเธอนี่แหละคือคนที่ต้องการที่สุดสำหรับงานต่างประเทศ ดร.ไรซ์ ช่วยบุชปราศัยหาเสียง และเมื่อทันทีที่ประกาศผลการเลือกตั้ง บุช แต่งตั้งเธอเป็น ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงโดยสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 22 ม.ค. 2001 พ่อของ ดร.ไรซ์ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายในวัย 77 ปีในวันคริสต์มาสปี 2000 ซึ่งก่อนตายพ่อของเธอได้ขอร้องไว้ว่ามิให้เธอรับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล เพราะด้วยความห่วงใยลูกสาวผิวสีคนนี้ อาจจะต้องมีอันเป็นไปเพราะเธอเป็นอัฟริกันอเมริกัน หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน เธอคือเจ้าของหลักการ “สหรัฐมีสิทธ์ที่จะโจมตีก่อนหากพบว่าประเทศนั้นเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ” เธอนี่แหละคือคนสำคัญในกรณี สหรัฐตัดสินใจโจมตีอัฟกานิสถาน และบุกอิรัก
..........มาจนถึงวันนี้ ดร.ไรซ์ ก้าวขึ้นมาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อย่างเต็มตัว ทุกคำพูดการปฏิบัติของเธอถูกจับจ้องตลอดเวลา เธอเป็นสุภ าพสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในปฐพีนี้



-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-


สุนทรพจน์ยื่นคำขาดต่ออิรัก

สุนทรพจน์ยื่นคำขาดต่ออิรัก

แปลและเรียบเรียงโดย พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้อำนวยการสำนักวางแผนการฝึกร่วมผสมทหาร
กรมยุทธการทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด


..........จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวสุนทรพจน์ต่อชาวอเมริกันและชาวโลก เมื่อค่ำวันที่ 17 มีนาคม 2546 หรือ 18 มีนาคม 2546 เวลา 0800 น. ตามเวลาในประเทศไทย เป็นการยื่นคำขาดให้ประธานาธิบดีอิรักและบุตรชายต้องเดินทางออกนอกประเทศ เป็นสัญญาณว่าสงครามจะเกิดขึ้นแน่ ขณะที่ผมลงมือแปลสุนทรพจน์นี้ กองกำลังภาคพื้นดินของสหรัฐและพันธมิตรได้รุกออกจากคูเวตเข้าไปทางตอนใต้ของอิรักแล้ว
..........ผมตั้งข้อสังเกตุว่า ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที 2 เป็นต้นมา ยังไม่เคยมีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการเลยสักครั้งและสุนทรพจน์นี้น่าจะเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งที่นักการทหารควรได้รับรู้แนวทางการดำเนินการทั้งการทูตและการทหารของประเทศมหาอำนาจไว้เป็นกรณีศึกษา “ ความเป็นมาและเหตุผล”ก่อนตัดสินใจใช้กำลังทหาร ผมคิดว่าสุนทรพจน์ฉบับนี้สหรัฐประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน เปิดเผย ตรงไปตรงมา : เพื่อนร่วมชาติที่รัก เหตุการณ์เกี่ยวกับอิรักในเวลานี้ ได้มาถึงเวลาที่เราต้องตัดสินใจกันแล้ว เพราะว่าเป็นเวลากว่าสิบปี ที่สหรัฐและนานาชาติได้ดำเนินความพยายามมาด้วยความอดทน และให้เกียรติต่ออิรัก ในอันที่จะปลดอาวุธโดยปราศจากสงคราม ผู้ปกครองอิรักเองเป็นผู้ให้สัญญาว่า จะเปิดเผยและทำลายอาวุธทำลายล้างทั้งหมดที่ตัวเองมีอยู่ และเป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลงเพื่อที่จะยุติสงครามอ่าวเปอร์เซีย เมื่อปี 1991
..........นับตั้งแต่นั้นมา โลกได้ดำเนินการตามวิถีทางการทูตมาโดยตลอดระยะเวลา 12 ปีเต็ม ได้มีการออกคำสั่งบังคับใช้กับอิรักผ่านที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาตินับสิบฉบับ ส่งคณะเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาวุธนับร้อยคนไปอิรักเพื่อดำเนินการปลดอาวุธอิรัก แต่ความศรัทธาเชื่อมั่นของเรากลับไม่ได้รับการสนองตอบ

..........ผู้ปกครองอิรักกลับใช้ช่องทางการทูตเป็นเครื่องมือหน่วงเหนี่ยวเวลา เอารัดเอาเปรียบ หลีกเลี่ยงมติคณะมนตรีความมั่นคงในการปลดวางอาวุธทั้งหมด และเป็นเวลานานหลายปี ที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอาวุธแห่งสหประชาชาติ ต้องถูกข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่ของอิรัก มีการใช้เครื่องมือดักฟังทางอิเล็กทรอนิกส์ และหลอกลวงกันอย่างเป็นระบบ
..........ความพยายามที่จะปลดอาวุธอิรักโดยสันติต้องล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะว่าแท้ที่จริงแล้ว คนที่เรากำลังทำงานด้วย มิใช่คนที่รักสันติภาพ ข้อมูลข่าวกรองที่รัฐบาลชุดนี้ และรัฐบาลชาติอื่นๆ รวบรวมมาไว้ ได้บ่งชี้ว่า ผู้ปกครองอิรักยังคงครอบครองและซ่องสุมอาวุธที่มีอันตรายร้ายแรงที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้ปกครองของอิรักยังได้เคยใช้อาวุธทำลายล้างนี้ให้เห็นมาแล้วทั้งกับประชาชนประเทศเพื่อนบ้านและกับประชาชนของอิรักเอง ผู้ปกครองอิรักในปัจจุบัน มีประวัติความก้าวร้าวที่ไม่หยุดหย่อนในตะวันออกกลาง ด้วยจิตใจที่ซ่อนลึกไว้ด้วยความจงเกลียดจงชังสหรัฐ ตลอดจนมิตรประเทศของสหรัฐ ได้มีการช่วยเหลือ ฝึกฝน และเป็นฐานที่พักให้แก่ผู้ก่อการร้าย รวมทั้งหน่วยปฏิบัติการของอัลเคด้า อันตรายที่เห็นได้ชัดคือ หากวันใดวันหนึ่งผู้ก่อการร้ายเหล่านี้มีอาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ หรืออาวุธนิวเคลียร์ไว้ในมือ เรื่องที่เคยประกาศไว้ว่าจะเข่นฆ่าสังหารประชาชนผู้บริสุทธิ์นับหมื่นนับแสนในประเทศของเรา และประเทศอื่นๆ ก็มีทางเป็นจริงได้สหรัฐอเมริกามีอำนาจตามหลักอธิปไตย ที่จะใช้กำลังของตนปกปักรักษาความมั่นคงของชาติเราเองเอาไว้ และภาระหน้าที่นี้เป็นของข้าาพเจ้า ตามที่ได้สาบานเอาไว้ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุด และจะต้องรักษาสัจจะคำสาบานนี้ไว้ด้วยภัยคุกคามที่มีต่อประเทศของเรา สภาคองเกรสสหรัฐจึงได้ลงคะแนนเสียงแสดงมติเมื่อปีที่แล้วอย่างท่วมท้นสนับสนุนการใช้กำลังกับอิรัก อเมริกาได้พยายามประสานงานกับสหประชาชาติ ให้รับทราบภัยคุกคามที่เกิดขึ้น เพราะว่าเรายังต้องการที่จะแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีด้วยความเชื่อมั่นในภารกิจของสหประชาชาติ เพราเหตุผลประการหนึ่งในการก่อตั้งสหประชาชาติภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ มีหน้าที่จัดการกับประเทศผู้รุกรานก่อนที่จะมีการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ และรักษาไว้ซึ่งสันติภาพ ในกรณีของอิรัก คณะมนตรีความมั่นคงได้ดำเนินการดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ตามมติ 678 และ 687 ที่ยังมีผลบังคับใช้ สหรัฐพันธมิตรมีอำนาจในการใช้กำลังเข้าจัดการอาวุธทำลายล้างสูงได้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเรามีอำนาจที่จะจัดการหรือไม่ ว่าแต่ว่าเราจะทำหรือไม่เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ กล่าวเรียกร้องให้นานาประเทศรวมตัวกันขจัดภัยอันตรายที่กล่าวมาให้จบสิ้นไป และในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว คณะมนตรีความมั่นคงก็ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ เห็นด้วยกับร่างมติที่ 1441 ประกาศถึงการละเมิดพันธกรณีที่อิรักมีอยู่กับสหประชาชาติ ซึ่งอิรักจะต้องได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตามมา หากอิรักยังไม่ปลดวางอาวุธทั้งหมดทันทีวันนี้ยังไม่มีประเทศใดที่จะออกมากล่าวอ้างได้ว่า อิรักได้ปลดอาวุธแล้ว และอันที่จริงอิรักจะไม่มีวันปลดอาวุธตราบเท่าที่ซัดดัม ฮุสเซ็น ยังอยู่ในอำนาจช่วง 4 เดือนครึ่งที่ผ่านมา สหรัฐและพันธมิตรได้ทำงานภายในกรอบของคณะมนตรีความมั่นคง บังคับใช้คำสั่งที่มีมาแต่แรก และก็มีประเทศสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงบางประเทศประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่าจะใช้สิทธิพิเศษยับยั้งคำสั่งมาตรการใดๆ ที่เป็นการบีบบังคับให้อิรักต้องปลดวางอาวุธ ทั้งๆ ที่รัฐบาลประเทศเหล่านี้ก็เห็นด้วยกับอันตรายที่อาจเกิดจากอิรัก แต่รัฐบาลประเทศเหล่านั้นยังไม่คิดจะแก้ปัญหาร่วมกันเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก หลายประเทศต่างมีแนวทางแก้ไขและความอดทนต่อภัยคุกคามสันติภาพแตกต่างกัน ในเมื่อคณะมนตรีความมั่นคงไม่อาจแบกรับภาระรับผิดชอบนี้ไว้เอง สหรัฐก็จะเป็นฝ่ายที่แบกรับภารกิจนี้ และสหรัฐจะขอดำเนินการแก้ไขด้วยตัวเอง หลายวันที่ผ่านมา รัฐบาลของประเทศในตะวันออกกลางบางประเทศก็ได้ดำเนินการในส่วนของตนเอง ด้วยการสื่อข่าวสารทั้งโดยเปิดเผยและโดยส่วนตัวเรียกร้องให้ผู้นำเผด็จการเดินทางออกจากอิรัก เพื่อที่กระบวนการปลดอาวุธจะได้สามารถดำเนินไปได้อย่างสันติ...แต่คำตอบกลับมาจวบจนบัดนี้ มีแต่คำปฏิเสธ ความโหดร้ายทารุณที่ดำเนินติดต่อกันมานานนับทศวรรษ ถึงเวลาที่จะต้องสิ้นสุดลง ซัดดัม ฮุสเซ็น พร้อมด้วยบุตรชายจะต้องออกจากอิรักภายใน 48 ชั่วโมง และการปฏิเสธที่จะทำตาม จะส่งผลให้เกิดการใช้กำลังทหาร สหรัฐจะเป็นผู้เลือกเวลาปฏิบัติการ สำหรับชาวต่างชาติ นักข่าว คณะผู้ตรวจสอบอาวุธ เราขอให้ท่านเดินทางออกนอกประเทศอิรักทันทีชาวอิรักจำนวนมากคงจะได้ยินได้ฟังสิ่งที่ข้าพเจ้ากล่าวในคืนนี้ด้วย และจะมีการแปลในระหว่างการถ่ายทอดสัญญาณวิทยุ ซึ่งข้าพเจ้าก็ขอบอกกล่าวด้วยว่า หากเราจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติการทางทหาร เราจะมุ่งไปยังตัวบุคคลที่เป็นผู้นำประเทศของท่าน ไม่ใช่กับพวกท่าน และในขณะที่กองกำลังทหารของเราดำเนินการถอดถอนอำนาจของพวกเขาเหล่านั้น เราจะส่งอาหารตลอดจนเวชภัณฑ์ที่จำเป็นไปให้แก่ท่าน เราจะทำลายตัวต้นเหตุก่อเรื่องสยองขวัญ และเราจะช่วยท่านสร้างประเทศอิรักใหม่ ที่มั่งคั่งและมีอิสสระเสรีประเทศอิรักใหม่จะไม่ใช่ประเทศผู้ก่อสงครามรุกรานประเทศเพื่อนบ้านของท่านอีกต่อไป ไม่มีโรงงานผลิตยาพิษ ไม่มีการประหารผู้ที่เห็นแตกต่างกับผู้ปกครองอีกต่อไป ไม่มีห้องลับไว้ทรมาน และไม่มีห้องที่มีไว้สำหรับข่มขืนใคร ในอีกไม่ช้า ทรราชจะหายไป วันแห่งการปลดปล่อยสู่เสรีภาพใกล้จะมาถึงแล้วซัดดัม ฮุสเซ็น อยู่ในอำนาจมานาน แต่ไม่สายเกินไปที่ทหารอิรักจะรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและปกปักรักษาประเทศชาติของท่านไว้ ด้วยการเปิดทางให้กองกำลังพันธมิตรเข้าสู่ประเทศของท่านโดยสันติ กองกำลังของเราจะมีคำชี้แนะแก่กองทหารต่างๆ ของอิรักอย่างชัดเจนว่า จะต้องดำเนินการอย่างใด เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีข้าพเจ้าขอเรียกร้องให้ทหารอิรักและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทุกคนว่า หากมีสงครามเกิดขึ้น จงอย่าสู้เพื่อผู้ปกครองที่กำลังจะต้องจากไปและจะไม่คุ้มกับชีวิตของพวกท่าน ทหารอิรักทุกๆ นาย ตลอดจนเจ้าหน้าที่พลเรือนควรจะฟังคำเตือนนี้ไว้ด้วยว่า ในการเผชิญหน้ากัน ชะตาของท่านจะขึ้นอยู่กับการกระทำของท่าน จงอย่าทำลายบ่อน้ำมันชึ่งเป็นแหล่งที่มาของความมั่งคั่งของประชาชนชาวอิรัก อย่าเชื่อฟังคำสั่งให้ใช้อาวุธทำลายล้างกับใครรวมทั้งกับประชาชนชาวอิรัก เพราะจะมีการดำเนินการฟ้องร้องตามมาในข้อหาอาชญากรสงคราม ซึ่งจะต้องถูกลงโทษ ท่านไม่อาจแก้ตัวได้เลยว่า "ผมทำไปตามคำสั่ง"หากซัดดัม ฮุสเซ็น เลือกที่จะเผชิญหน้า เราชาวอเมริกันเชื่อได้เลยว่า เราได้มีมาตรการต่างๆ ไว้ในอันที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงคราม และก็พร้อมที่จะเป็นฝ่ายชนะ ชาวอเมริกันต่างรู้ดีอยู่แล้วถึงสิ่งที่จะต้องสูญเสียในการแก้ไขปัญหาขัดแย้ง เช่นเดียวกับที่เราได้เคยสูญเสียมาแล้วในอดีต สงครามไม่ได้มีความแน่นอนอะไร นอกจากการที่จะต้องเกิดการเสียสละ หนทางเดียวที่จะลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียและความยืดเยื้อของสงคราม มีแต่ต้องทุ่มกำลังแสนยานุภาพอย่างเต็มกำลังเข้าหากัน ซึ่งเราพร้อมแล้วถ้าซัดดัม ฮุสเซ็น พยายามที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป นั่นเท่ากับตั้งตนเป็นศัตรูไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ ชาวอเมริกันและพันธมิตรของเราไม่อาจมีชีวิตอยู่ภายใต้ความกดดันของการก่อการร้าย ภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายต้องถูกกำจัดไปพร้อมๆ กับการปลดวางอาวุธ

..........รัฐบาลอเมริกันตระหนักดีถึงภัยอันตรายในภายภาคหน้า แต่เราก็พร้อมและแน่ใจว่าเราจะต้องชนะ เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องมาตุภูมิของเรา เราได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ของเราที่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวไปประสานกับเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของอิรัก ข้าพเจ้าสั่งการให้เข้มงวดความปลอดภัยของท่าอากาศยาน เพิ่มการลาดตระเวนของหน่วยรักษาชายฝั่ง หน่วยงานด้านความมั่นคงของเรากำลังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพทั่วทั้งแผ่นดินอเมริกา หากศัตรูจะโจมตีเราเพื่อให้เสียขวัญ เราขอบอกว่าเราจะไม่เสียขวัญสหรัฐอเมริกาจะยังมั่นคงยืนหยัดตลอดไป
..........เราคือประชาชนผู้รักสันติ แต่ก็ไม่ใช่พวกเปราะบางแตกตื่นขวัญเสียได้ง่ายๆ เราจะไม่ยอมให้อันธพาลมาข่มขู่เราได้ และถ้าศัตรูกล้าที่จะทำการโจมตีเรา คนเหล่านั้น ตลอดจนคนที่ให้ความช่วยเหลือจะต้องได้รับเคราะห์กรรมที่น่ากลัวยิ่งกว่าการที่เรากำลังจะเป็นฝ่ายลงมือปฏิบัติการในเวลานี้ เป็นเพราะว่าหากเรามัวแต่นั่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย จะเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายยิ่งกว่า เพราะว่าในอีกปีเดียว หรือ 5 ปีข้างหน้า อำนาจในการทำลายล้างของอิรักต่อบรรดาประเทศเสรีทั้งหลายจะมีมากขึ้นกว่านี้หลายเท่าตัว ด้วยขีดความสามารถต่างๆ ที่มีอยู่ ซัดดัม ฮุสเซ็น พร้อมด้วยพลพรรคผู้ก่อการร้าย จะเป็นฝ่ายเลือกเวลาลงมือทำร้ายประเทศอื่นเมื่อมีกำลังกล้าแข็งมากที่สุด ทำให้เราต้องเลือกที่จะเผชิญหน้ากับภัยคุกคามนั้นเสียตั้งแต่วันนี้ ในขณะที่มันเริ่มปรากฎขึ้นมาให้เห็น และก่อนที่มันจะปรากฎขึ้นมาเหนือขอบฟ้าและเมืองต่างๆ ของเรา
..........การแสวงหาสันติภาพนั้นย่อมต้องการความร่วมมือจากทุกประเทศ เราจะต้องยอมรับความเป็นจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้นี้ ซึ่งในช่วงศตวรรษที่ 20 ได้มีบทเรียนที่บางประเทศยอมโอนอ่อนผ่อนตามให้กับผู้นำเผด็จการที่มีความเป็นนักฆ่าอยู่ในตัว ปล่อยให้ภัยร้ายเหล่านี้เติบใหญ่กลายเป็นตัวการสร้างสงครามโลก สังหารหมู่ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติมาแล้ว ในศตวรรษใหม่นี้ เกิดมีบุคคลที่เป็นภัยขึ้นมาพร้อมกับแผนการที่จะใช้อาวุธเคมี อาวุธชีวภาพ และอาวุธนิวเคลียร์ สร้างความสยองขวัญกับชาวโลก การโอนอ่อนผ่อนตามจะนำมาซึ่งการเป็นฝ่ายถูกทำลายล้างอย่างที่ไม่เคยปรากฏกันมาก่อนในโลกนี้ บรรดานักก่อการร้ายและรัฐก่อการร้ายไม่เคยที่จะเปิดเผยและประกาศแผนคุกคามนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ การตอบสนองต่อศัตรูประเภทที่ว่านี้หากต้องรอให้มันลงมือโจมตีก่อน ย่อมไม่ใช่เป็นการป้องกันตัวเอง หากแต่เป็นการฆ่าตัวตาย .โลกจะต้องปลดอาวุธซัดดัมฮุสเซ็นตั้งแต่บัดนี้ในขณะที่เรากำลังปฏิบัติตามคำสั่งอันชอบธรรมของประชาคมโลก เราย่อมปกป้องประเทศของเราเองไปด้วย ตามนัยที่กล่าวมานี้ ซึ่งตรงข้ามกับซัดดัม ฮุสเซ็น เพราะเราเชื่อว่า ประชาชนชาวอิรักก็สมควรได้รับอิสรภาพ เสรีภาพตามสมควรกับความเป็นมนุษย์ และเมื่อผู้นำเผด็จการรายนี้จากไป สิ่งนี้จะเป็นตัวอย่างอันดีแก่เหล่าชาติตะวันออกกลางที่รักสันติ มีอำนาจปกครองตนเอง สหรัฐพร้อมด้วยประเทศอื่น ๆ จะร่วมสร้างสรรค์เสรีภาพและสันติภาพในภูมิภาค นี่เป็นเป้าหมายที่ใช่ว่าจะสามารถบรรลุผลในเวลาเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องอาศัยเวลาอำนาจและเสรีภาพในความเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งซึ่งปรากฏอยู่ในทุกๆ ชีวิต ทุกหนแห่งในโลก และอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งความมีอิสรภาพ ย่อมมีไว้เพื่อเอาชนะความเกลียดชังฝังลึกและความรุนแรงและจะ แปรเปลี่ยนความคิดสร้างสรรค์อันเป็นพรสวรรค์ของมนุษย์ทั้งชายและหญิง ในการใฝ่หาสันติ
..........นี่คือเส้นทางในอนาคตที่อเมริกาเลือกเดิน ชาติที่เป็นอิสระย่อมมีภาระหน้าที่ที่จะต้องปกปักรักษาประชาชนของตนเอง รวมตัวกันคัดค้าน ต่อต้านความรุนแรงอย่างที่เราได้เคยกระทำกันมาแล้ว อเมริกาและพันธมิตรจะเป็นผู้แบกรับความรับผิดชอบนี้ไว้

----------------------------