14 ธันวาคม 2552


เรื่อง การมีส่วนร่วมของกองทัพไทย
กับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย
-----------------
ลักษณะวิชายุทธศาสตร์
ผู้วิจัย พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก
หลักสูตร ปรอ. รุ่นที่ 20




จังหวัดอาเจห์ ตั้งอยู่บนส่วนปลายสุดของเกาะสุมาตรา ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา เหตุแห่งความรุนแรงได้อุบัติขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างกองกำลังที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการอาเจห์เสรี (Gerakan Aceh Merdeka ;GAM) ทำการต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยมุ่งหมายที่จะปลดปล่อยอาเจห์ให้เป็นรัฐอิสระ แยกตัวออกจากอินโดนีเซีย และในการวิจัยนี้จะตีกรอบในประเด็นของความขัดแย้งในอาเจห์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เพื่อศึกษาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์ ประวัติความเป็นมาของขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) ที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในหลายมิติ บทบาทของ EU และอาเซียน รวมทั้งการจัดองค์กร ในการสนับสนุนภารกิจกระบวนการสันติภาพ การมีส่วนร่วมของกองทัพไทยในกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์ และตรวจสอบการเชื่อมโยงกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

กระบวนการสันติภาพในอาเจห์จัดว่าประสบความสำเร็จ โดยสามารถยุติปัญหาความรุนแรงในอาเจห์ได้ ถึงแม้จะยังคงมีปัญหาทางเทคนิคอีกหลายประการที่รัฐบาลอินโดนีเซียจำเป็นต้องเจรจา ตกลงกับขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) ต่อไป ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่รัฐบาลอินโดนีเซีย เปิดโอกาสให้ขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) เสนอความต้องการ และรัฐบาลอินโดนีเซียพิจารณาตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้น โดยอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย สำหรับการทำบันทึกความเข้าใจ(MOU) ซึ่งเป็นผลผลิตจากการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างยึดถือ MOU เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ทำให้การปฏิบัติต่างๆ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้ง Aceh Monitoring Mission (AMM) นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางการไกล่เกลี่ยในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติของอีกฝ่าย นอกจากนี้การที่ Aceh Monitoring Mission (AMM) ได้เข้าไปตรวจสอบ การปฏิบัติตาม MOU ของทั้งสองฝ่าย ยังเป็นการขจัดความไม่ไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพให้หมดไปได้

ความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ นับเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งไทยสามารถนำมาพิจารณาใช้เป็นตัวอย่างในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทย โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ และพิจารณานำรูปแบบกระบวนการสันติภาพในอาเจห์มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม


บทที่ 1
บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

จังหวัดอาเจห์ ตั้งอยู่บนส่วนปลายสุดของเกาะสุมาตรา ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา เหตุแห่งความรุนแรงได้อุบัติขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างกองกำลังที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการอาเจห์เสรี (Free Aceh Movement เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า Gerakan Aceh Merdeka หรือ GAM) ทำการต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดย GAM มุ่งหมายที่จะปลดปล่อยอาเจห์ให้เป็นรัฐอิสระ แยกตัวออกจากอินโดนีเซีย รากเหง้าของความขัดแย้งดังกล่าวมาจากแนวคิดที่ว่าชาวอาเจห์มิใช่เชื้อชาติเผ่าพันธุ์เดียวกับชาวอินโดนีเซีย กอรปกับอดีตประธานาธิบดี ซูการ์โน (ประธานาธิบดีคนแรกของ อินโดนีเซีย) ได้เคยให้สัญญาว่าจะให้สถานะพิเศษแก่จังหวัดอาเจห์ ในฐานะที่ชาวอาเจห์ได้ร่วมในการต่อสู้เพื่อให้อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ แต่สัญญาดังกล่าวถูกยกเลิก ความพยายามต่อสู้ของชาวอาเจห์เพื่อปกป้องมาตุภูมิ อนุรักษ์กลุ่มชาติพันธ์ตนเองนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเป็นสังคมอิสลามที่เคร่งครัด ที่เคยมีสุลต่านปกครองมาก่อน



อดีตประธานาธิบดี ซูการ์โน (Sukarno)

แผนภาพที่ 1 : อดีตประธานาธิบดี ซูการ์โน (Sukarno)“เคยสัญญาว่าจะให้สถานะพิเศษแก่จังหวัดอาเจห์”

ระยะเวลาที่ผ่านมา ความขัดแย้ง การต่อสู้ การก่อความไม่สงบในอาเจห์ส่งผลกระทบต่อนโยบายการสร้างชาติของรัฐบาลอินโดนีเซีย จนถึงรัฐบาลซูฮาร์โต้ ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซีย ต้องประสบกับความยุ่งยากทางการเมือง และเศรษฐกิจตลอดมา ซึ่งการวิจัยนี้จะตีกรอบในประเด็นของความขัดแย้งในอาเจห์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 รวมทั้งการดำเนินการต่อสู้ของกลุ่ม GAM การเข้ามามีส่วนเจรจาหยุดยิงของ สหภาพยุโรป (EU) ที่ร่วมกับอาเซียน (ASEAN) บทบาทของ ทหารไทย (บางส่วน) ของหน่วยสังเกตการณ์หยุดยิงในอาเจห์ (Aceh Monitoring : Mission AMM) และปัจจัยแห่งความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพในอาเจห์

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.เพื่อศึกษารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทยทางทะเล
2. เพื่อศึกษาความเป็นมาของขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) ที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในหลายมิติ
3. เพื่อศึกษาบทบาทของ EU และอาเซียน รวมทั้งการจัดองค์กร ในการสนับสนุนภารกิจกระบวนการสันติภาพ
4. เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของกองทัพไทยในกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์
5. เพื่อตรวจสอบการเชื่อมโยงปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์กับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ขอบเขตการวิจัย

1. เริ่มตั้งแต่ 15 ส.ค.2548 ซึ่งตรงกับวันที่ผู้แทนรัฐบาลอินโดนีเซีย ผู้นำ GAM และนาย อาติชารี ( Ahtisari ) อดีตประธานาธิบดี ฟินแลนด์ ในฐานะแกนหลักในการเจรจาสันติภาพ ลงนามใน MOU Helsinki ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จนถึง วันที่ 14 มี.ค.2549 ซึ่งถือว่าจบภารกิจหลักของ AMM
2. ศึกษารากเหง้าของความไม่ลงรอย การไม่ยอมรับของกลุ่มชาติพันธ์ชวากับกลุ่มชาติพันธ์อาเจห์
3. วิเคราะห์การทำงานของกลุ่มบุคคลที่ทำงานในทางลับ เพื่อให้เกิดการเจราจาระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย กับกลุ่ม GAM จนเป็นผลให้เกิดการลงนามใน MOU Helsinki
4. พิจารณาการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ AMM ที่เป็นการบูรณาการอย่างสมบูรณ์แบบ (Fully Integrated) ระหว่าง สหภาพยุโรป ( EU ) กับอาเซียน ( ASEAN )ที่ทำให้เกิดความราบรื่นในการปฏิบัติภารกิจ
5. ศึกษาการปฏิบัติภารกิจตามเงื่อนไข MOU ของทางการอินโดนีเซีย และGAM
6. ศึกษาบทบาทของกำลังพลของกองทัพไทยในการเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ
7. วิเคราะห์ปัจจัยแห่งชัยชนะและความสำเร็จของภารกิจในทัศนะของผู้วิจัย

แผนภาพที่ 2 แสดงกรอบแนวความคิด

สมมติฐานการวิจัย

ความมุ่งมั่นของรัฐบาลอินโดนีเซีย ในการยุติปัญหาการก่อความไม่สงบในอาเจห์ และต้องการให้เกิดความสันติภาพในอาเจห์นั้น มีองค์ประกอบและปัจจัยในการดำเนินการที่สลับซับซ้อน มีทั้งการปฏิบัติตามหลักการและนอกหลักการ ในที่สุดสันติภาพในอาเจห์ได้เป็น
“ตัวแบบ” ของกระบวนการสันติภาพที่ได้รับการยกย่องจากสังคมโลก สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดสันติภาพ ซึ่งงานวิจัยนี้จะเปิดเผยและมุ่งเน้นเปิดเผย “ภาคปฏิบัติ” หรือ การแปลงแผนงานไปสู่การปฏิบัติ (Implementation) ของทุกภาคส่วนที่ประสานกลมกลืนอย่างดียิ่ง

ข้อตกลงเบื้องต้น

1. ข้อมูลส่วนมากมาจากการพบปะสนทนาแบบไม่เป็นทางการระหว่างผู้วิจัยกับอดีตนักรบของขบวนการอาเจห์เสรี ( GAM ) ซึ่งต่อมาได้รับการนิรโทษกรรมจากรัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อ 31 ส.ค.2548 และข้อมูลบางส่วนมาจาก บุคคลที่เกี่ยวข้องในระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ไม่สามารถหาทฤษฎี หรือหลักฐานใดมาประกอบได้ รวมทั้งการค้นคว้าเพิ่มเติมจากเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. ข้อมูลและ/หรือ การปฏิบัติใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ทั้งทหาร ตำรวจ อินโดนีเซีย และ GAM) ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ถือว่าเป็นข้อมูลจากบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรมจากรัฐบาลอินโดนีเซียแล้ว และบุคคลเหล่านั้น ปัจจุบันเป็นผู้บริสุทธิ์ การปฏิบัติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก่อนการนิรโทษกรรมนั้น ไม่มีผลทางกฎหมายย้อนหลังในการสืบสวนสอบสวนทั้งสิ้น

วิธีการดำเนินการวิจัย

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีกรอบเวลาตั้งแต่ 4 ส.ค.2548 ถึง 14 มี.ค.2549 ขณะที่ผู้วิจัยได้ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย ทำการศึกษาโดยใช้แหล่งข้อมูลจากประสบการณ์ในการทำงานด้วยตนเอง จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างการปฏิบัติงาน กับผู้ร่วมงาน รวมทั้งค้นคว้าจากเอกสาร ทั้งนี้ผู้วิจัยได้มีการเก็บข้อมูลไว้เป็นส่วนตัวตั้งแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่จนจบภารกิจ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

1. ทราบถึงปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย และ ความเป็นมาของขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) ที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในหลายมิติ รวมทั้งบทบาทของ EU และอาเซียน ในการจัดองค์กรสนับสนุนภารกิจในกระบวนการสันติภาพ เป็นการรวบรวมหลักฐาน ข้อมูล สถิติไว้เป็นกรณีศึกษาของกระบวนการทำงานที่ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มี อาณาเขตติดต่อทางทะเลกับประเทศไทย
2. ทราบถึงบทบาทของกองทัพไทย (กำลังพลจากกองทัพไทย) จำนวนหนึ่งที่เข้าไปมีส่วนในความสำเร็จ และได้รับความชื่นชมจากทุกฝ่าย ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์
3. ทราบถึงความเชื่อมโยงของปัญหาการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทย กับปัญหาการก่อความไม่สงบ (Insurgency) ในอาเจห์ ซึ่งจากการเปิดเผยของอดีตผู้ร่วมปฏิบัติงานในกลุ่มของขบวนการอาเจห์ (GAM) จนทำให้ทราบถึงสายสัมพันธ์ทางอุดมการณ์ของชาวอาเจห์ที่เชื่อมต่อกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และเป็นข้อมูล นำมาวิเคราะห์ เพื่อเสนอแนะเป็นแนวทางในการทำงานของทุกภาคส่วนราชการ ในการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คำจำกัดความ

AMM Aceh Monitoring Mission
ASEAN Association of Southeast Asian Nations
ASNLF Aceh Sumatra National Liberation Front
Brimob Indonesian Paramilitary Riot Police
BRA Aceh Rehabilitation Board
CMI Crisis Management Initiative
COSA Commission of Security Arrangements
COHA Cessation of Hostilities Agreement
DOM Daerah Opevari Militier
EU European Union สหภาพยุโรป
ESDP Commission of Security Arrangements
GAERC General Affairs and External Relations Council
GAM Gerakan Aceh Merdeka ขบวนการอาเจห์เสรี(Free Aceh Movement)
HDC Henry Dunant Centre for Humanitarian Dialogue
IOM International Organization for Migration
IMP Initial Monitoring Presence
JSC Joint Security Committee
JICA Japanese Government Aid Organization in Indonesia
KPA Veteran Organization of GAM
LOGA Law on the Governing of Aceh
MP Majelis Pemrintahan
MOU Memorandum of Understanding
SBY Susilo Bambang Yudoyhono ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
SGI Indonesian Army Intelligence Service
SRSG Special Representative Secretary General
TAM Technical Assessment Mission
TNA GAM Military Wing
TNI Indonesian Armed Force
UNHCR UN High Commission for Refugee หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ
เพื่อผู้ลี้ภัย
USAID UAS Government Development Development Organization
UNDP UN Development Programme
WHO World health Organization องค์การอนามัยโลก
Yufuf Kalla รองประธานาธิบดี อินโดนีเซีย

บทที่ 2 ภูมิหลังความขัดแย้ง กับการปฏิบัติการ


บทที่ 2
ภูมิหลังความขัดแย้ง กับการปฏิบัติกา


ในการศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมของกองทัพไทยกับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย ได้ใช้ข้อมูลจากประสบการณ์ในการทำงานในตำแหน่ง รองหัวหน้าภารกิจอาวุโส หน่วยสังเกตการณ์การหยุดยิงในอาเจห์ (Principal Deputy Head of Mission: Aceh Monitoring Mission) ตั้งแต่ 14 ส.ค.2548 – 14 มี.ค.2549 โดยได้มีโอกาสทำงานในฐานะ “คนกลาง” ในการปฏิบัติงาน จึงทำให้ทราบข้อมูล แนวคิด เจตนารมณ์ ของทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกัน
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษา แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลภูมิหลัง/ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์ ความเป็นมาของขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) การดำเนินงานของ EU ร่วมกับ 5 ชาติจากอาเซียน ประกอบด้วย บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย ในกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ และการดำเนินงานบางส่วนของกำลังพลจากกองทัพไทยในอาเจห์

ข้อมูลภูมิหลัง/ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งใน จังหวัดอาเจห์

อาเจห์ (Aceh) หรือชื่อเต็มปัจจุบัน เขตปกครองพิเศษอาเจห์ (Nanggore Aceh Darussalam) เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเกาะสุมาตราเหนือ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเกาะสุมาตราบนแผนที่จะอยู่ด้านซ้ายของช่องแคบมะละกา ตั้งอยู่ ที่ 2◦ - 6◦ ละติจูดองศาเหนือ และ 95◦ - 98◦ ลองติจูดองศาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมด 57,365.57 ตารางกิโลเมตร (ประมาณจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงมาถึง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย) อาเจห์ห่างจากจังหวัดสตูล ของไทย และรัฐเปอร์ลิส รัฐเคดาห์ของมาเลเซีย โดยเดินทางทางเรือไม่เกิน 6 ชม. มีเมืองหลวงชื่อ บันดา อาเจห์ ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของเกาะ พื้นที่ของอาเจห์ มีเกาะทั้งหมด 119 แห่ง ภูเขา 35 ลูก และแม่น้ำ 73 สาย มีประชากรทั้งสิ้น 3,970,853 คน แบ่งเป็นชาย 1,972,230 คน และหญิง 1,998,623 คน มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสเตนท์และคาทอลิก ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ คองฮูชู และอื่นๆ

ตารางที่ 1 : จำนวนผู้ที่นับถือศาสนาต่างๆ ในอาเจห์

ที่มา : ปรับจาก Badan Pusat Statistik (BPS)-Statistics,Population of Nanggroe Aceh Darussalam ฉบับหลังแผ่นดินไหว และสึนามิ, จาการ์ตา:อินโดนีเซีย,2005.หน้า97-99

ภูมิประเทศของอาเจห์ เป็นเทือกเขาบริเวณตอนกลางทอดยาวแนวเหนือใต้ สำหรับพื้นที่ราบเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งของทั้งสองด้านของเกาะ ที่สำคัญอาเจห์มีทรัพยากรธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ และที่ยังไม่สำรวจอีกจำนวนมาก อาเจห์ เป็น เมืองท่าสำคัญแห่งแรกในภูมิภาคนี้ตั้งแต่โบราณ ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาแรกที่เข้าเผยแผ่ใน ภูมิภาคนี้ ในบางพื้นที่ของอินโดนีเซีย ยังคงเหลือวัฒนธรรมจากฮินดูให้เห็น เช่นที่ เกาะชวา บาหลี และหลายส่วนของอินโดนีเซีย ต่อมาศาสนาอิสลามเข้ามาแทนที่ โดยเข้ามาที่อาเจห์เป็นแห่งแรก และแผ่ขยายไปยังหมู่เกาะรัฐมาเลย์ แล้วเข้ามาที่ปัตตานีตอนใต้ของไทย รวมทั้ง หมู่เกาะต่างๆ ในอินโดนีเซีย และบางส่วนของหมู่เกาะตอนใต้ประเทศฟิลิปปินส์ ในปัจจุบันอินโดนีเซียประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ชาวอาเจห์มีภาษาพูดเป็นของตนเองที่แตกต่างจากภาษาหลักของอินโดนีเซีย (Bahassa) ในแต่ละพื้นที่ของอาเจห์มีความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม และลักษณะกลุ่มชนที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ อาเจห์เป็นเมืองท่าที่สำคัญด้านตะวันตกของหมู่เกาะมาเลย์ตั้งแต่ยุคค้าเครื่องเทศ เดิมเคยเป็นรัฐฮินดู เริ่มปรากฏหลักฐานใน พ.ศ.1347 ว่าอาเจห์เป็นฐานของการเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปสู่หมู่เกาะมาเลย์ เกิดอาณาจักรอิสลามแห่งแรกขึ้นที่อาเจห์เรียก Perlak ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โปรตุเกส อังกฤษ และ เนเธอร์แลนด์ (หรือฮอลแลนด์) เข้ามามีอิทธิพลในเขตหมู่เกาะมาเลย์ แต่อาเจห์ มีการปกครองโดยสุลต่าน ยังคงรักษาความเป็นเอกราชไว้ได้ และมีศักยภาพเป็น ฐานการค้าที่สำคัญควบคุมการค้าบริเวณช่องแคบมะละกา สุลต่านที่สร้าง อาเจห์ให้เข้มแข็งและ เป็นยุคทองของอาเจห์ คือ สุลต่าน Iskandar Muda ปกครองอาเจห์ระหว่าง พ.ศ.2150 – พ.ศ. 2179

ช่วงยุคศตวรรษที่ 16 โปรตุเกส อังกฤษ และดัทช์ เข้ามามีอิทธิพลบริเวณหมู่เกาะ รัฐมาเลย์ ขณะนั้นอาเจห์เป็นฐานการค้าที่สำคัญมีการปกครองเจริญรุ่งเรืองโดยสุลต่าน ไม่ตกเป็นอาณานิคมของใคร ใน พ.ศ.2367 อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ได้ลงนามใน London Treaty ซึ่งอังกฤษตกลงส่งมอบดินแดนที่ยึดครองได้ของหมู่เกาะมาเลย์รวมทั้งเกาะสุมาตราให้กับเนเธอร์แลนด์ เพื่อแลกกับดินแดนอินเดีย และสิงคโปร์ ที่เนเธอร์แลนด์ยึดครองไว้ หลังจากรับมอบดินแดนจาก อังกฤษแล้ว ฮอลแลนด์ได้ยอมรับความเป็นเอกราชของอาเจห์ แต่ต่อมาใน พ.ศ.2414 ฮอลแลนด์มีความต้องการ อาเจห์ไว้ในครอบครองและอังกฤษเองอนุญาตให้ฮอลแลนด์ยึดครองอาเจห์ ทั้งนี้เพื่อสกัดอิทธิพลของฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้ ใน พ.ศ.2416 ฮอลแลนด์ได้ประกาศสงครามกับอาเจห์ ซึ่งฮอลแลนด์ประสบความยากลำบากในการยึดครองอาเจห์ ใช้เวลาในการรบยาวนานกว่า 30 ปี สงครามยุติใน พ.ศ.2446 แต่การต่อต้านจากประชาชนอาเจห์ยังคงมีอยู่โดยแปรสภาพเป็นการรบแบบกองโจร การรบยืดเยื้อจนถึงอย่างน้อยใน พ.ศ.2457 แต่ฮอลแลนด์ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะยึดครองอาเจห์ ได้ดำเนินการจนถึง พ.ศ.2485 ทำให้สูญเสียกำลังพลในการรบมากกว่า 10,000 คน จึงสามารถชนะชาวอาเจห์และยึดครองได้ในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองหมู่เกาะมาเลย์ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2485

แผนภาพที่ 3 : ชาวอาเจห์ร่วมในการต่อสู้เพื่อให้อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์




หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ใน พ.ศ.2488 อินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชและครอบครองดินแดนทั้งหมดที่เคยเป็นของฮอลแลนด์ เมื่อ 17 ส.ค.2488 อาเจห์ได้กลายเป็น จังหวัดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย กำลังทหารรัฐบาลจำนวนมากเข้าไปในจังหวัดอาเจห์ มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษย์ชน การกดขี่ข่มเหงจากกำลังทหาร การเข้าครอบครองทรัพยากร ธรรมชาติต่างๆ จากรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย ทำให้มีความพยายามต่อต้านจากชาวอาเจห์ และ กลุ่มรัฐอิสลามขึ้น เกิดแนวคิดต้องการแยกอาเจห์ออกจากการปกครองของอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียสมัยนั้นได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยประกาศว่าจะให้จังหวัดอาเจห์ เป็นเขตการปกครองพิเศษ

แม้ว่าอินโดนีเซียจะประกาศเอกราชและครอบครองดินแดนทั้งหมดแล้ว แต่อังกฤษและฮอลแลนด์ยังคงรักษาอิทธิพลในภูมิภาคนี้ไว้ เพื่อหวังผลทางการเมือง และเศรษฐกิจ ในเดือน มี.ค.2490 อังกฤษได้เป็นสื่อกลางให้มีการลงนามในข้อตกลง Linggarjati ความมุ่งหมายเพื่อให้ฮอลแลนด์รับรองเอกราชของอินโดนีเซีย เหนือเกาะสุมาตราและเกาะมาดูลา แต่อินโดนีเซียถือว่าฮอลแลนด์ได้ละเมิดอธิปไตยของอินโดนีเซีย ที่ได้ประกาศเขตแดนไว้แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2488 ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับดินแดนระหว่างฮอลแลนด์กับอินโดนีเซีย เป็นเวลา 4 ปี ในปัจจุบันยังคงมีสุสานทหารฮอลแลนด์ในนครบันดา อาเจห์ (Kerkoff) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ.2485 ที่พวก อูลามาหรือพวกผู้นำศาสนาชาวอาเจห์ขับไล่ฮอลันดาออกจากอาเจห์ กลุ่มชนพวกนี้ในปัจจุบันได้รวมตัวเป็น “สมาคมอูลามาแห่งอาเจห์” หรือ “กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามแห่งอาเจห์” เมื่อการปกครองอาณานิคมฮอลันดาสิ้นสุดลง อาเจห์ก็ยังเป็นเขตที่มีการปฏิวัติ ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยมีพวกอูลามาเป็นแกนนำระหว่าง พ.ศ.2496 – 2502 เหตุการณ์สำคัญที่เป็นปัญหาต่อทัศนคติของชาวอาเจห์อย่างมาก คือ การประชุมโต๊ะกลมภายใต้การจัดการของสหประชาชาติใน พ.ศ.2492 เพื่อส่งมอบดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของ ฮอลแลนด์ให้กับอินโดนีเซีย และอินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ เป็น Republic of Indonesia เมื่อ 27 ธ.ค.2492 และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติใน พ.ศ.2493 อาเจห์จึงได้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ พ.ศ.2492 ภายใต้การรับรองของสหประชาชาติ และอินโดนีเซีย ได้ส่งกำลังทหารเข้าควบคุมอาเจห์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ความเป็นมาของการจัดตั้งขบวนการอาเจห์เสรี (GAM)

ชาวอาเจห์ส่วนหนึ่งมีความผังใจว่า อาเจห์มีเอกราชมาก่อนและมีความยึดมั่นในความเป็นดินแดนอิสลามที่แท้จริง ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับอินโดนีเซีย มีบันทึกภาพประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าอาเจห์มีสุลต่านปกครองตนเองมาก่อนที่เนเธอร์แลนด์จะเข้ายึดครองในปี พ.ศ.2416 และยังคงพยายามปกป้องรักษาเอกลักษณ์เผ่าพันธุ์ของตนเองอย่างเหนียวแน่นจนกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากจาการ์ตาโดยเฉพาะการไม่เห็นชอบกับนโยบายในการสร้างชาติของอดีต ประธานาธิบดีซูการ์โน (ที่ปกครองสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ.2488 – 2510) อีกทั้งยังยืนหยัดต่อต้านมาจนถึงสมัย อดีต ประธานาธิบดีซู ฮาร์โต้ (พ.ศ.2508 – 2541) สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า อาเจห์กับจาการ์ตานั้นไม่ลงรอยกันมาตลอด ชาวอาเจห์มีความสำนึกและรอคอยว่า สักวันหนึ่งอาเจห์จะแยกการปกครองจากจาการ์ตา อาเจห์จะต้องมีสถานะพิเศษที่จาการ์ตาสัญญาว่าจะมอบให้ แต่ในเวลาเดียวกันจาการ์ตาจะมีภาพอาเจห์ในคราบของ “กบฏแบ่งแยกดินแดน”

บรรพบุรุษของชาวอาเจห์ได้ต่อสู้มา 2 ศึกใหญ่ ครั้งแรกเป็นการต่อสู้เมื่อครั้ง ความเป็นรัฐอิสลามบริสุทธิ์ (Darul Islam Rebellion) ซึ่ง Daud Beureueh เป็นผู้จุดประกาย การต่อสู้ในปี พ.ศ.2496 ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อ ม.ค.2494 ได้มีการประกาศให้อาเจห์เป็นจังหวัดหนึ่งของสุมาตราเหนือ การต่อสู้ของชาวอาเจห์ในครั้งแรกนี้กินเวลา 10 ปี ยุติลงในปี พ.ศ.2505 การต่อสู้ยาวนาน 10 ปีนี้เป็นผลให้เกิดการเจรจาและลงเอยด้วยการทำข้อตกลงว่า อาเจห์จะมีสถานะพิเศษ (Daerah Istimewa) มีความเป็นเอกเทศในเรื่องศาสนา มีธรรมเนียมปฏิบัติและมีการจัดการศึกษาของตนเอง ในการต่อสู้ครั้งที่สอง เริ่มต้นในปี พ.ศ.2519 การก่อตั้ง GAM โดยTengku Hasan M.di Tiro ที่มีรอยแค้นตกค้างมาจากการต่อสู้ครั้งแรก ซึ่งจาการ์ตารับปากว่าจะดำเนินการสนับสนุน อาเจห์ตามที่เคยเจรจาแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า การตั้ง GAM ขึ้นมาในครั้งนี้เป็นการขยายเจตนารมณ์ออกไปอีก คืออาเจห์ต้องการเป็นเอกราช หลักฐานข้อมูลต่างๆ ในการต่อสู้ของอาเจห์ครั้งแรก ไม่ปรากฏมากนัก หากแต่การจัดตั้ง GAM เมื่อปี พ.ศ.2519 และกระบวนการต่อสู้ที่เริ่มมานี้ เริ่มมีบันทึกอย่างเป็นระบบ มีเอกสารทางราชการจำนวนหนึ่งระบุว่าการที่อดีต ประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ หมดอำนาจลงในปี พ.ศ.2541 นั้น เป็นเหตุทำให้จาการ์ตาลดความแข็งแกร่งลง จาการ์ตามีทางเลือกในการแก้ปัญหาอาเจห์ได้มากขึ้น ซึ่งแต่เดิม ซูฮาร์โต้ แข็งกร้าวที่จะใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขปัญหาเสมอมา ขณะที่จาการ์ตาสับสนกับปัญหาการเมืองภายใน เมื่อซูฮาร์โต้ก้าวลงจากตำแหน่งนั้น GAM ได้ฉวยโอกาสในการเสริมสร้างอำนาจกำลังรบในทุกรูปแบบ
ในปี พ.ศ.2546 ฝ่ายกำลังรบ GAM พยายามขยายอิทธิพลออกมาจากพื้นที่ป่าภูเขา ออกมาครอบครอง มีอิทธิพลพื้นที่ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ของอาเจห์ ด้วยกำลังติดอาวุธ และมีอิทธิพลในการปกครองท้องถิ่นทุกระดับหรือแม้กระทั่งของการชี้นำ ข่มขู่ข้าราชการให้ปฏิบัติตามได้ทุกเมื่อGAM ขยายตัวในทุกมิติ อำนาจกำลังรบและส่วนที่เป็นมันสมองในการขับเคลื่อนการทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน บันทึกทางการอินโดนีเซีย ระบุว่าการขยายตัวและปรับรูปแบบการต่อสู้เป็นผลมาจากปัจจัย 3 ประการคือ
1. กองทัพอินโดนีเซียเปิดยุทธการปราบปรามการก่อความไม่สงบ อย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี พ.ศ.2532 – 2541
2. ทางรัฐบาลอินโดนีเซียไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลง เรื่องการให้เป็นเขตปกครองพิเศษตั้งแต่ ม.ค.2545 ผสมผสานกับปัญหาคอรัปชั่นในจังหวัดอาเจห์
3. เกิดช่องว่างทางอำนาจของจาการ์ตาใน ม.ค.2545 ถึง พ.ค.2546
ปัจจัยทั้ง 3 ประการ เป็นผลให้ชาวอาเจห์หันไปผักใฝ่ให้ความเชื่อถือ GAM เพราะชาวอาเจห์ต้องการแสดงออกถึงความเคียดแค้นที่หน่วยงานของรัฐใช้มาตรการรุนแรงเข้าปราบปราม ประกอบกับความห่างเหินที่นับจะทวีขึ้น ในระหว่างเกิดสุญญากาศทางอำนาจนั้น GAM ช่วงชิงการนำโดยขยายผลยุทธวิธีสงครามกองโจร และถือโอกาสรุกทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสบความสำเร็จในการยกระดับให้เป็นปัญหาระดับโลกได้ นักการทหารในอินโดนีเซีย ยืนยันในประเด็นที่ว่าในช่วงที่ กองทัพอินโดนีเซียได้ยุติการปฏิบัติการลงในปี พ.ศ.2543 – 2544 (Humanitarian Pause) และในช่วง “การยุติความเป็นปรปักษ์” ( Cessasion of Hotilities Agreement :COHA ) ในปี พ.ศ.2545 – พ.ศ. 2546 เป็นช่วงที่ GAM เติบใหญ่ ปรับองค์กร เกณฑ์พลพรรค ฝึก และสะสมอาวุธ นั้นเป็นช่วงที่ GAM เสริมอำนาจกำลังรบได้สูงสุด

การจัดตั้ง GAM

เมื่อ ต.ค.2519 Tengku Hassan M.di Tiro ประกาศจัดตั้ง GAM ในนามของ Aceh Sumatra National Liberation Front (ASNLF) นาย di Tiro เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากครูสอนศาสนาอิสลามผู้มีชื่อเสียงของอาเจห์และมีศักดิ์เป็นหลานของ Tengu Gik ai Tiro โดยพำนักอาศัยในสหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2493 – ต.ค.2519 เรียนหนังสือและทำธุรกิจ มีประสบการณ์เคยเป็นหนึ่งในคณะทางการของอินโดนีเซีย ในสหประชาชาติ ในนิวยอร์ก เคยดำรงตำแหน่งผู้แทนในนครนิวยอร์กของดารุล อิสลาม (Darul Islam) มาก่อน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ Darul Islam ในปี พ.ศ.2496 นาย di Tiro จึงหันมาสนับสนุน Daud Beureueh ในการสร้างอาเจห์ให้เป็นรัฐอิสลามบริสุทธิ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2519 di Tiro เดินทางกลับอาเจห์ เพื่อต้องการสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษที่ต้องการต่อสู้ให้อาเจห์เป็นเอกราช ได้เข้าร่วมกลุ่มกับชาวอาเจห์ที่ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจขนาดเล็กและข้าราชการพลเรือนที่มีการศึกษา และเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมในขบวนการติดอาวุธ มีนักรบประมาณ 200 คนรวมตัวกัน ด้วยจำนวนอาวุธที่มีจำกัด

ปฏิบัติการของ GAM

หลังจากจัดตั้ง GAM ขึ้นมา มีความเคลื่อนไหวที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงด้วยกันในช่วงแรก คือในปี พ.ศ.2519 – 2522 GAM เป็นกลุ่ม/แนวร่วมขนาดเล็ก แต่รวมตัวกันมีสมาชิกเพียง 70 คน ผู้นำ GAM ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีการศึกษาสูง มีทั้ง หมอ วิศวกร นักวิชาการและนักธุรกิจ ปลายปี พ.ศ.2522 กองทัพอินโดนีเซียกวาดล้างกลุ่มต่อต้านครั้งใหญ่ ทำให้สมาชิกต้องหนีไปต่างประเทศ บ้างก็ ถูกจำคุกและหลบไปปฏิบัติการใต้ดิน ในปี พ.ศ.2532 สมาชิก GAM ที่หลบลงต่อสู้ใต้ดิน แล้วแอบไปฝึกการต่อสู้จากลิเบีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ได้กลับมารวมตัวกันได้อีกครั้งใน อาเจห์ โดยเริ่มจากการสถาปนาความแข็งแกร่งในพื้นที่ Greater Aceh ในอำเภอ Pidie อาเจห์เหนือ และ ใน อาเจห์ตะวันออก นักรบที่ผ่านการฝึกมาจากลิเบีย แปรสภาพมาทำหน้าที่ครูฝึกให้กับสมาชิก/พลพรรค เพื่อทำสงครามกองโจรอย่างเต็มรูปแบบ

ในปี พ.ศ.2533 – 2541 กองทัพอินโดนีเซียเปิดยุทธการ Jaring Merah Red uet หรือยุทธการตาข่ายแดง เพื่อเข้าต่อสู้กับกลุ่มนักรบ GAM การขยายระยะเวลาดังกล่าวที่กองทัพอินโดนีเซียใช้มาตรการขั้นรุนแรงที่รู้จักกันดีในชื่อของ DOM (Daerah Opevari Militier หรือ Military Operation Zone) เพื่อเข้าจัดการกับบ้านที่เชื่อว่ามีส่วนในการสนับสนุนกลุ่มกองโจร การปฏิบัติการทางทหารในช่วงเวลานั้นถูกเปิดเผยต่อสังคมโลก จนกระทั่งกลุ่ม NGO ที่ เรียกว่า Amnesty International ประณามว่าเป็นยุทธวิธี “Shock Therapy” หรือนักสังเกตการณ์กลุ่มอื่นๆ ขนานนามว่า “การสร้างความหวาดกลัวเพื่อขจัดความหวาดกลัวเพื่อถอนการสนับสนุน GAM” ดังปรากฏในรายงานว่า กองทัพอินโดนีเซียใช้การโจมตีหมู่บ้านแล้วเข้าตรวจค้นบ้านทีละหลัง ในบ้านที่ถูกสงสัยว่าจะมีส่วนร่วม จะถูกเผาทำลาย ครอบครัวของผู้ต้องสงสัยจะถูกควบคุมตัวไว้เป็นตัวประกัน ผู้ต้องสงสัยว่ามีการติดต่อกับกลุ่ม GAM จะต้องเสี่ยงต่อการจับกุม ทรมาน หรืออาจหายตัวไป หรือถูกสังหาร กองทัพอินโดนีเซียจะควบคุมและจับตามองชาวบ้าน หรืออาจจะต้องบังคับให้ย้ายที่อยู่อาศัยมีการจัดตั้ง Militia หรือ ทหารบ้าน เพื่อทำหน้าที่ สนับสนุนการปฏิบัติการกวาดล้างฐานที่มั่นกองโจร ในช่วง 4 ปีแรกของยุทธการดังกล่าว มีกองโจรและประชาชนถูกลอบสังหาร ทรมาน หายตัว จำนวนหนึ่ง ผู้ที่หายตัวไปสารภาพว่าได้ถูกบังคับให้ขุดหลุมฝังคนที่ถูกทหารสังหาร ผู้หญิงจะถูกข่มขืน มีตัวเลขระบุจาก Amnesty International ว่า ในยุทธการ Daerah Opevari Militier;DOM ดังกล่าวมีผู้ที่ถูกสังหารราว 1,258 ถึง 2,000 คน และ 3,439 คน ถูกทรมาน หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระบุตัวเลขว่ามีผู้สาบสูญราว 500 คน แต่หน่วยงานราชการในอาเจห์ระบุตัวเลขว่าสาบสูญราว 1,000 คน และ NGO Forum Aceh เชื่อว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติภารกิจทางทหารครั้งนี้ราว 39,000 คน แต่อย่างไรก็ตาม มีบันทึกว่ามีคดีข่มขืนและทรมานสตรีจำนวน 625 คดี มีสถิติประมานการว่าเด็ก 16,375 คน กลายเป็นเด็กกำพร้า ผู้หญิงราว 3,000 คน ต้องเป็นหม้าย หลังยุติยุทธการ DOM มีการบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนกว่า 7,000 คดี มีการตรวจสอบหลุมฝังศพ 12 แห่ง แต่มีเพียง 5 คดีที่ถูกนำไปพิจารณาสอบสวน

ในปี พ.ศ.2534 ฝ่าย GAM เคลื่อนย้ายฐานที่มั่นออกจากอาเจห์ด้วยเหตุผล 3 ประการคือประการแรก ผู้นำต้องอยู่รอดให้ได้เพื่อควบคุมสั่งการให้อาเจห์เป็นเอกราช ประการที่สอง ผู้นำ GAM คนสำคัญพร้อมทั้ง ผบ.หน่วย ได้ไปหลบไปอยู่ในมาเลเซีย ปะปนอยู่กับบรรดาผู้อพยพทั้งหลาย โดยที่ชาวอาเจห์ที่อพยพมาก่อนให้การสนับสนุน ประการสุดท้าย ยุทธการ DOM ของกองทัพอินโดนีเซีย ได้ก่อให้เกิดนักรบ GAM รุ่นใหม่ บรรดาชาวอาเจห์ที่พำนักอาศัยในพื้นที่ Pidie North Aceh และ East Aceh ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามอย่างรุนแรง เป็นที่คาดหวังจากชาวอาเจห์ว่าเมื่อ ซูฮาร์โต้ หมดอำนาจแล้ว กระบวนการยุติธรรมน่าจะทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ชาวอาเจห์ต้องผิดหวังหมดที่พึ่ง จึงส่งผลให้ GAM กลับกลายเป็นที่พึ่งและชาวบ้านให้การสนับสนุน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา

อุดมการณ์และความมุ่งหวังของ GAM


แน่นอนที่สุด GAM มีอุดมการณ์อย่างแรงกล้าในการปลดปล่อยอาเจห์ มุ่งหวังเป็นอิสระจากการควบคุมทางการเมืองทั้งปวงที่มาจากจาการ์ตา GAM ดำรงสถานภาพการต่อสู้ที่ยาวนาน โดยต้องการให้เห็นว่าเป็นการต่อสู้เนื่องมาจากการต่อสู้ที่ต่อเนื่องจากการต่อต้านการล่าอาณานิคม (ที่เริ่มต่อสู้กับ Dutch มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2416 ที่ดัชท์พยายามยึดครองดินแดนของสุลต่าน อาเจห์) มีบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเองที่ขัดกับบันทึกของทางราชการอินโดนีเซีย กล่าวคือ GAM ระบุว่า ในปี พ.ศ.2488 อาเจห์มิได้สมัครใจเข้าร่วมกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย แต่เป็นเพียงความร่วมมือแบบไม่เปิดเผย โดยมีเหตุผล 2 ประการคือ

1. สังคมโลกรับรู้ทั่วไปว่า อาเจห์เป็นรัฐเอกราชอยู่แล้วในปี พ.ศ.2362 ดังปรากฏในสนธิสัญญาระหว่างสุลต่าน อาเจห์ กับสหราชอาณาจักร และ ไอร์แลนด์ หรือสนธิสัญญาที่ทำกับ ดัทช์ในปี พ.ศ.2367 ดังนั้นอำนาจอธิปไตยหรือดินแดนควรมอบคืนให้กับสุลต่าน อาเจห์ แทนที่จะไปมอบคืนให้กับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นาย di Tiro ให้ข้อมูลว่า “ชาวอาเจห์” ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ “ชาวชวา” ในปี พ.ศ.2416 ชาวดัชท์ประกาศสงครามกับชาวอาเจห์ ไม่ได้ประกาศสงครามกับอินโดนีเซีย ซึ่งในปี พ.ศ.2416นั้น อินโดนีเซียยังไม่เป็นชาติด้วยซ้ำไป อินโดนีเซียเพิ่งปรากฏเป็นตัวตนเมื่อ ชาวอาเจห์ได้ชนะสงครามกับดัชท์และต้องล่าถอยไปเมื่อ มี.ค.2485 และเมื่อเนเธอร์แลนด์ มอบอธิปไตยให้แก่อินโดนีเซีย เมื่อ 27 ธ.ค.2492 นั้น เนเธอร์แลนด์มิได้ มาเกี่ยวข้องใดๆ กับอาเจห์”
2. ประชาชนชาวอาเจห์ไม่เคยได้รับการปรึกษาเรื่องการรวมอาเจห์เข้ากับอินโดนีเซีย ดังนั้นจะเห็นชัดเจนเลยว่าอินโดนีเซียละเมิดสิทธิในการครองใจของชาวอาเจห์ หลักฐานข้อนี้ปรากฏในคำประกาศเอกราชของ GAM ใน 4 ธ.ค. 2519 ที่ระบุว่าการโอนอธิปไตย อาเจห์ จาก ดัทช์ ไปสู่นักล่า อาณานิคมชวา เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย GAM ยังระบุข้อความในเวปเพจของตนเองว่า ชาวอาเจห์จะต้องกำหนดความเป็นรัฐ มีความเป็นอิสระทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และมรดกทางศาสนา ซึ่งกำลังถูกทำลาย โดยนักล่าอาณานิคมชาวชวา และยังตระหนักเสมอว่าอาเจห์กำลังถูกเข้าครอบครองเป็นอาณานิคมอีกครั้ง โดย Dutch East India หรืออินโดนีเซียที่แปลงร่างมานั่นเอง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการต่อสู้ของ GAM มุ่งประสงค์ที่จะสถาปนารัฐของชาว อาเจห์โดยเริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 มีการปรับแต่งวิธีการดำเนินการมาโดยตลอดเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ โดยเห็นได้ชัด 3 ประการคือ ความเป็นชาตินิยมของชาวอาเจห์ ความเป็นมุสลิม และต่อต้านทุนนิยมแบบตะวันตก

ความสำนึกในเลือดอาเจห์

กลุ่ม GAM จุดประกายแห่งความสำนึกให้ชาวอาเจห์รู้ว่าชาวอาเจห์มีตัวตนที่แท้จริงและเป็นกลุ่มก้อน อยู่เป็นหมู่เหล่าของตนเอง เป็นกลุ่มชาติพันธ์เฉพาะ (ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า Suku) ได้ตั้งถิ่นฐานมาช้านานหลายชั่วอายุคน และตัวตนที่แท้จริงของบรรพบุรุษเป็นมุสลิมใน 9 กลุ่ม คือ กลุ่มอาเจห์ ฮาลาส กาโย ซิมกิล ตาเมียง คลูเอท อาเนคอามี บูลโลลีฮี และ ซิมูลู มีเอกลักษณ์ปรากฏชัดเจนในภาษา (อาเจห์) วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ นาย di tiro พยายามสร้าง อัตตลักษณ์ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในการต่อสู้เพื่อเอาตัวเป็นเอกราชนั้น di Tiroได้ผลิตปฏิทินแจกจ่ายในหมู่ชาวอาเจห์ โดยไม่มีวันชาติของอินโดนีเซียและไม่ยอมรับวันหยุดอื่นๆ นอกจากวันหยุดของมุสลิม และในปฏิทินดังกล่าวยังกำหนดวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาวอาเจห์ไว้ในปฏิทิน กล่าวคือ วันTeungku Cak di Tiro วันCut Nyak Dien วันTeunku Umar และ วัน Iskandar Muda เหนือสิ่งอื่นใด ทางการอินโดนีเซียพยายามกำหนดให้อินโดนีเซียมีภาพลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวคือ เป็นชาวชวาที่เคยถูกดัชท์เข้ามาปกครองและเป็นการรวมตัวกันของหมู่เกาะต่างๆ ภายใต้การปกครองนั้น ซึ่ง di Tiro กล่าวว่านี่เป็นเรื่องโง่เขลาที่สุดที่ทางการอินโดนีเซียพยายามกุขึ้นมาเพื่อพยายามบังคับให้คนเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวชวาต้องเชื่อและทำตาม di Tiro ยังย้ำอีกด้วยว่า คำว่า “อินโดนีเซีย” นั้นเป็นประเทศที่ไม่เคยมีตัวตนมาก่อนเลย อาเจห์ต่างหากที่มีหลักฐานภาพประวัติศาสตร์แห่งความเป็นรัฐที่สืบค้นกลับไปได้ยาวนานนับทศวรรษ หากแต่ไม่ปรากฏชัดในความเป็นรัฐสมัยใหม่เท่านั้นเอง

ความเป็นอิสลาม

ศาสนาเป็นส่วนเติมเต็มให้กับอุดมการณ์ของ GAM ศาสนาอิสลามช่วยส่งเสริมและขับเน้นความเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมประเพณีของชาวอาเจห์เท่านั้น มิได้เป็น “เครื่องมือ” ในการจัดตั้งกลุ่ม/การรวมตัวเพื่อต่อสู้แต่อย่างใด ต้องยอมรับว่าความเข้มข้นของศาสนาอิสลามในห้วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาคือในห้วง พ.ศ.2513 – 2533 นั้น มีความแตกต่างกันในกรณีช่วงการฟื้นฟูศาสนาของสุลตานที่ปกครองอาเจห์ โดยต้องการให้เป็น “รัฐอิสลาม” แต่ในหลักการประกาศนโยบาย Stavanger เมื่อ ก.ค.2545 นั้น มีความพยายามสถาปนา “ระบอบประชาธิปไตย” ในขณะเดียวกัน ผู้นำชาวอาเจห์ที่ลี้ภัยในต่างประเทศกลับให้ความสำคัญกับความเคร่งครัดของศาสนาอิสลามอย่างเข้มข้นโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการยึดมั่นในหลักการทางศาสนาในระดับหมู่บ้าน GAM ต้องอาศัยและพึ่งพาข่าวตามหน่วยงานผ่านระบบมัสยิด และ GAM ยังใช้การปลูกฝังการต่อสู้ผ่านช่องทางศาสนาอิสลาม เช่น กำหนดการต่อสู้โดย “ให้ประณามเหยียดหยามผู้ปกครองที่ลบหลู่” จงต่อสู้เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (Syariah Law) และจะต้องเป็นรัฐอิสลามที่เป็นเอกราช

ทั้งนี้ผู้นำ GAM หลายคนถึงกลับตีความเลยเถิดไปว่า ตนเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ “เพศหญิง “ ไปเลยก็มี แต่ผู้นำ GAM ส่วนใหญ่ไม่คล้อยตามแนวคิดดังกล่าว ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าศาสนาอิสลามเป็นทั้งศาสนาและวัฒนธรรมที่เปรียบเสมือนเกลียวเชือกที่พันกันแน่น ยากที่จะแยกจากกันและยังถูกโยงไปถึงความเป็นชาวอาเจห์ GAM หนักแน่นเสมอมาว่า อาเจห์เป็นรัฐอิสลามมาก่อนดัชท์เข้ามาปกครอง ซึ่งขณะนั้นดินแดนอาเจห์มีสุลต่านที่เป็นอิสลามปกครองอยู่ ศาสนาอิสลามเป็นตัวหล่อหลอมชาวอาเจห์กับกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ ในดินแดนอาเจห์ GAM พยายามใช้ความเสมอภาค ความยุติธรรมของอิสลาม เพื่อบอกกล่าวกับประชาชนที่ยังสับสน การใช้กลยุทธ์/ปรัชญาดังกล่าวนี้ ได้สร้างความอึดอัดใจให้กับกลุ่มครูสอนศาสนาอิสลามบางส่วน เพราะผู้นำ GAM พยายามแสวงหาช่องว่างในหลักศาสนาเพื่อสอดแทรกเอา Syariah Law เข้ามาไว้ด้วยเสมอและใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจและควบคุมสั่งการ

การต่อต้านลัทธิทุนนิยมที่นำไปสู่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ในขณะที่ GAM เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นอิสระนั้น ความรู้สึกเป็นชาตินิยมในประชาชนค่อนข้างหนักแน่นด้วยความภักดีในศาสนาอิสลาม จึงเริ่มมีการแสวงหาการสนับสนุนจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในช่วง 15 ปีแรก GAM ดำรงความมุ่งหมายในการต่อต้านระบบทุนนิยมและต่อต้านจักรวรรดินิยมรวมทั้งต่อต้านชาติตะวันตก เริ่มเรียนรู้และให้ความสนใจกับค่านิยมใหม่ในชาติตะวันตกคือ คำว่า “Human right” และคำว่า “Democracy” และได้นำประเด็นต่างๆ เหล่านี้มาขยายผลเพื่อสร้างความนิยมให้กับกลุ่มของตนโดยได้ตำหนิ ประธานาธิบดี ซู ฮาร์โต้ ที่ไปร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติอันมั่งคั่งไปจากอาเจห์ นาย di Tiroได้บันทึกไว้ว่า “ชาวชวาได้จับเรานอนขึงพืดเปลือยเปล่าเพื่อรอให้นานาชาติมาข่มขืน” และบันทึกอีกว่า “สหรัฐฯ มีนโยบายที่จะให้รัฐบาลเข้ามาจัดการผลประโยชน์จากเรา เช่น การให้บริษัท Mobil Oil Cooperation เข้ามาซื้อ – ขาย” GAM เอาจุดนี้มาตีแผ่ มิได้ประสงค์จะต่อต้านสหรัฐฯ โดยตรงแต่ประการใด แต่นำมาเผยแพร่ในกรอบของแง่คิดด้านสิทธิมนุษยชน และกล่าวหา Exxon Mobil ว่าร่วมมือกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพื่อให้เข้ากับกระแสการเห่อเหิมสิทธิมนุษยชนของโลกในปี พ.ศ.2533
GAM มีชั้นเชิงและใช้กระแสโลกเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเหมาะสมโดยการใช้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติและในระดับประเทศและเป็นเครื่องมือป่าวประกาศความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอินโดนีเซีย อย่างรุนแรงโดยไม่ต้องออกแรงมากนัก ความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกทั้งปวงมีผลทำให้มีการปรับยุทธศาสตร์ของตนเอง ให้สอดคล้องเสมอมาโดยเฉพาะกระแสการแยกตัวออกจากประเทศอิสระ (เช่นกรณีการล่มสลายของโซเวียตและแยกตัวออกเป็นประเทศย่อย ๆ ) รู้ถ่องแท้ว่า การที่จะเป็นเอกราชได้นั้นจะต้องมาจาก “นานาชาติ” เท่านั้น เช่น สหรัฐฯ หรือ UN มา กดดันรัฐบาลอินโดนีเซีย การที่ ซู ฮาร์โต้ ต้องก้าวลงจากอำนาจและกำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย ตัวอย่างที่ชัดเจนและเห็นผลมากที่สุดคือ กรณีติมอร์ตะวันออก ที่สามารถเรียกร้อง ต่อสู้ จนเป็นประเทศเอกราช ได้ประสบความสำเร็จทำให้ GAM มีแรงบันดาลใจใน 3 ประเด็นแห่งความสำเร็จ คือ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและการลงประชามติ ที่นำมาเป็นหลักการที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งอันที่จริงแล้วประเด็น “Human rights” เป็นประเด็นที่มีน้ำหนักมากที่สุดในการบรรลุความสำเร็จของติมอร์ตะวันออก
สำหรับชาวอาเจห์ที่หาเช้ากินค่ำทั่วไป เน้นเรื่องของการฆ่าตัดตอน การลักพาตัว การทรมาน และการข่มขืนว่า เป็นเรื่องที่ขมขื่นที่สุดและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยมองไม่เห็นทางแก้ไข ความคับแค้นเหล่านี้ GAM ได้นำมาเป็นประเด็นในการ “สร้างความนิยม” ให้กับตนเองโดยพยายามเป็นปากเสียงให้กับประชาชนชาวอาเจห์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เมื่อเสียงเรียกร้องดังมากขึ้นจึงทำให้บรรดา NGO กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ ผสมผสานคลุกเคล้าหลักสิทธิมนุษยชนปนเปไปกับเรื่อง “การแบ่งแยกดินแดง” ได้อย่างลงตัว ผลสุดท้ายกลับกลายเป็นบทสรุปที่ว่า รัฐบาลจาการ์ตาขาดความชอบธรรมในการปกครองดูแลอาเจห์ เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกตีแผ่ออกมาเป็นเช่นนี้ ดูเหมือน GAM กำลังเป็นต่อในเวทีโลกแต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องหันมามองตนเองเช่นกัน กล่าวคือต้องไม่คิดที่จะนำระบบกษัตริย์มาปกครองอาเจห์อีก ต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้ชาว อาเจห์ได้ประจักษ์และจะต้องรับฟังเสียงของพี่น้องอาเจห์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

กระบวนการของความขัดแย้งในอาเจห์
ในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ชาวอาเจห์ได้มีส่วนสำคัญต่อการสร้างชาติอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ.2492 ในสังคมชาวอาเจห์ ฉันทามติของคณะกรรมการคือ อาเจห์จะเป็นหัวหอกในขบวนการชาตินิยม และยอมพลีชีพเพื่อคุณค่าทางศาสนาอิสลามในประเทศ ซึ่งมีชาวมุสลิมถึง 88 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด นับตั้งแต่อินโดนีเซียได้รับเอกราช ระบบการปกครองรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งแสดงบทบาทในการปกครองเฉพาะส่วนภูมิภาคได้ปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วในอินโดนีเซีย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Guided Democracy) (พ.ศ.2492 – 2510)
ในห้วงยุคการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order Period) (พ.ศ.2510 – 2541) ทหารกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในทางการเมืองของอินโดนีเซีย และเป็นเสาหลักของการปกครอง ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากต่อส่วนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามเกาะแก่งถึง 18,000 เกาะ ในอินโดนีเซีย ที่มีผู้อาศัยอยู่ถึง 300 ชุมชน ในอาเจห์ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2519 รัฐบาลกลางพยายามที่จะสลายความไม่พอใจของชาวอาเจห์ และในปี พ.ศ.2522 จึงเกิดมีการยกเลิกการรณรงค์การปราบปรามโดยใช้กำลังทางทหาร แต่ 10 ปี ต่อมา ในปี พ.ศ.2532 ได้มีการใช้ปฏิบัติการทางทหารอีกครั้ง ทำให้ห้วงเวลา 16 ปี ที่ GAM เข้าไปมีส่วนในการต่อสู้ประปรายกับกองทัพอินโดนีเซีย แม้ว่าจะไม่มีการต่อสู้อย่างหนักเกิดขึ้น สงครามกองโจรที่เกิดขึ้นแบบการปะทะด้วยหน่วยกองโจรขนาดเล็กนี้ ได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันอย่างกว้างขวาง ในประชากรชาวอาเจห์ทั้งหมด 4 ล้านคน คาดว่ามีคนราว 10,000 คน ถูกสังหาร
ระหว่างปี พ.ศ.2533
กำลังทหารได้ปราบปรามกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ หลังจากสิ้นยุคภาวะผู้ปกครองแบบเผด็จการ (Dictatorship) ในปี พ.ศ.2541 ความพยายามที่จะไปสู่การสร้างหลักปักฐานทางการเมืองล้มเหลว เหมือนความขัดแย้งอื่นๆ ในอินโดนีเซียที่ทหารซึ่ง อุทิศตนเสมอมาที่จะทำการปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม ดุลแห่งอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไปในกองทัพระหว่างอำนาจของทหารและพลเรือน มีโอกาสขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการสร้างสันติภาพ โดยการมุ่งไปที่ความสนใจของนานาชาติเกี่ยวกับอาเจห์ ความสูญเสียจากมหันตภัยสึนามิ เมื่อ 26 ธ.ค.2547 กระตุ้นให้เกิดเงื่อนไขที่น่าพึงพอใจต่อแนวทางทางการเมืองที่มีต่อความขัดแย้ง แม้ว่าข้อตกลงจะมีการลงนามใน ส.ค.2548 ระหว่าง GAM และรัฐบาลอินโดนีเซีย มีการดำเนินงานที่เป็นเงื่อนไข มีกลไกการสังเกตการณ์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะเอาชนะความไม่ไว้วางใจกันใน กลุ่มต่างๆ

การเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาวอาเจห์
ในตอนกลางปี พ.ศ.2483 ขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซีย ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นอิสรภาพ อาเจห์ได้กลายเป็นแนวหน้า ซึ่งเป็นแหล่งสนับสนุนการเงินที่สำคัญต่อกองกำลังชาตินิยมที่จะต่อสู้กับอำนาจของนักล่าอาณานิคมชาวดัชท์ ในยุทธศาสตร์การแบ่งแยกการปกครองแบบดั้งเดิม เจ้าหน้าที่ที่ล่าอาณานิคม ได้เสนอสถานภาพแบบสหพันธรัฐต่อผู้นำชาวอาเจห์ สิ่งนี้นับเป็นก้าวแรกที่มีต่อความมีอิสรภาพในภูมิภาคนี้ จริงๆ แล้ว อาเจห์เป็นรัฐที่มีอิสรภาพมายาวนาน อำนาจของนักล่าอาณานิคมได้เอาชนะรัฐนี้ เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 หลัง 30 ปี ของสงคราม อย่างไรก็ตามผู้นำชาวอาเจห์ ได้ปฏิเสธข้อเสนอนั้น เอกลักษณ์ส่วนภูมิภาคที่เข้มแข็งบนพื้นฐานทางศาสนาอิสลาม ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อต้านการครอบครองของกลุ่มนักล่าอาณานิคม และความทรงจำในความเป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเองในอดีต ไม่อยู่ในกรณีที่นำไปสู่ประเด็นของการแบ่งแยกดินแดน ความขัดแย้งที่หลากหลายจำนวนมากในลักษณะของความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของอินโดนีเซีย ที่เห็นได้ชัดคือ การก่อความไม่สงบในติมอร์ตะวันออก อิเรียน จายา และหมู่เกาะมะละกา หรือ สุลาเวสี ในจังหวัดไรอู (Riau) (ตอนกลางของสุมาตรา) หรือกะลิมันตัน (บอร์เนียว) ระบบการปกครองที่ผ่านกองทัพลงไปในพื้นที่ กลับกลายเป็นการกระตุ้นและเร่งรัดให้ฝ่ายต่อต้านปรากฏตัวออกมามากขึ้น กฎระเบียบทางสังคมถูกท้าทาย ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจมักจะกระจายไปสู่ชุมชนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ไม่สามารถสร้างความหวังที่ดีได้ ประชาชนมีทางเลือกอยู่อย่างจำกัด ความไม่พึงพอใจและชิงชังต่ออำนาจจากส่วนกลางได้รับการสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เอกลักษณ์ของชาวอาเจห์ ได้เปลี่ยนไปและกลายเป็นการต่อต้านต่อเอกลักษณ์ของชาติ นำไปสู่การขับไล่เจ้าหน้าที่ชาวดัชท์ และเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นที่มีต่อผลประโยชน์ของผู้นำทางศาสนาอิสลามและเครือญาติ (ผู้ชาย) จึงเป็นการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาวอาเจห์ อำนาจส่วนท้องถิ่นและการจัดระเบียบทางสังคมและศาสนาได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อกระทรวงศาสนาของอินโดนีเซียปฏิเสธที่จะให้ความสำคัญต่อศาลทางศาสนาที่ใช้กฎหมายอิสลามในปี พ.ศ.2493 สิ่งนี้ได้ท้าทายฐานอำนาจของกลุ่มผู้นำทางศาสนาอิสลาม ความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งส่วนของการจัดระเบียบทางสังคมในพื้นที่ชนบทห่างไกล การตัดสินใจเช่นนั้น มุ่งไปสู่หนทางให้เกิดสถาบันศาล แทนกฎหมายจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น การปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันและการปฏิบัติทางศาสนา เช่น กิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านที่จัดให้มีขึ้น อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มผู้สูงอายุและบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่จะนำไปสู่การสร้างนักสวดมนต์ 5 คนต่อวัน เป็นต้น
รัฐบาลจาการ์ตา ถูกท้าทายอำนาจจากบุคคลที่มีชื่อเสียงของท้องถิ่น
ในปี พ.ศ.2493 เพียง 1 ปีหลังได้รับอิสรภาพ สหพันธรัฐที่มีรัฐเดียวแต่หลายกลุ่มรวมกันซึ่งบุคคลชั้นสูงชาวอาเจห์สนับสนุนอยู่ และได้รับการยอมรับในช่วงสั้นๆ ต้องประสบกับความพ่ายแพ้และถูกยกเลิกโดยรัฐบาลจาการ์ตา นโยบายจากส่วนกลางที่จะแยกสลายชาวอาเจห์โดยส่งชาวอาเจห์ไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของเกาะสุมาตรา ขณะที่คนที่ไม่ใช่ชาวอาเจห์ จะถูกแต่งตั้งให้ทำงานอยู่ในอาเจห์ โครงสร้างการบริหารที่เคยถูกนำโดยชาวอาเจห์ในห้วง 5 ปี ของการต่อสู้เพื่อชาตินิยม ได้ถูกทำให้แตกแยกออกไป เมื่อจังหวัดอาเจห์ ถูกรวมเข้าไปในจังหวัดที่ใหญ่กว่าของสุมาตราตอนเหนือ ( North Sumatra ) ในปี พ.ศ.2493 ทั้งอุดมการณ์ของรัฐอินโดนีเซียและฐานอำนาจส่วนท้องถิ่น ถูกท้าทายจากชนชั้นสูงชาวอาเจห์ ที่เป็นผู้นำทางศาสนา ข้าราชการพลเรือนและทหาร ซึ่งมีส่วนร่วมในการปฏิวัติของ ดารุล อิสลาม (Darul Islam) /กองทัพอิสลามอินโดนีเซีย (Tentara Islam Indonesia)
การปฏิวัติเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2496 ทางชวาตะวันตกและมุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนอินโดนีเซียให้เป็นรัฐอิสลาม สาขาอาเจห์ของดารุส ซาลามได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางให้เป็นที่รู้จัก ในปี พ.ศ.2483 การแยกตัวไปจากอินโดนีเซียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในประเด็นของอาเจห์ การก่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติให้เข้ากับประเด็นของท้องถิ่นยังคงเป็นแรงจูงใจหลักที่ทำให้มีส่วนร่วมกับการปฏิวัติครั้งนี้ สภาวะแวดล้อมดังกล่าวเป็นปัจจัยเสริมในการรับรู้ถึงความมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอาเจห์ แม้การต่อสู้ในจังหวัดจะมีอย่างจำกัดก็ตาม จนกระทั่งสิ้นปีแห่งการปฏิวัติในปี พ.ศ.2505 การสังหารพลเรือนชายอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ โดยกองทัพอินโดนีเซีย ได้ฟื้นความทรงจำของความรุนแรงในอดีตที่เกิดขึ้น ขณะที่การต่อต้านอำนาจจากกลุ่มนักล่าอาณานิคม อำนาจจากส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นจากชาวดัชท์ หรือชาวอินโดนีเซียได้ถูกซึมซับว่าเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงซ้ำอย่างฉับพลันและส่งผลรุนแรง ประสบการณ์ร่วมเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความไม่ไว้วางใจในระยะยาวแล้ว ยังเป็นตัวกระตุ้นความรุนแรงที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของชาวอาเจห์ด้วย
กองทัพอินโดนีเซียไม่สามารถที่จะปราบปรามการต่อต้านนี้ได้ การตั้งถิ่นฐานในระยะแรกของกลุ่มต่อต้านเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2500 แม้ว่าจะเอื้อต่อการทำให้สิ้นสุดความขัดแย้ง แต่ กลับกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับชาวอาเจห์ ยิ่งไปกว่านั้น ชนชั้นสูงชาวอาเจห์ ได้เลิก ความเป็นชาตินิยม และมุ่งเน้นไปที่อำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับสถานภาพพิเศษสำหรับการก่อตั้งใหม่ว่าเป็น “ภูมิภาคแห่งหนึ่ง” ผู้ว่าการจังหวัดอาเจห์ ได้รับแต่งตั้งและเลือกตั้งภายในองค์กรที่สนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้ การปกครองที่เป็นหนึ่งเดียวกันของอาเจห์ได้ถูกจัด วางไว้อย่างเข้าที่เข้าทาง ได้รับการเห็นชอบให้นำกฎหมายอิสลามมาใช้ในอาเจห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเต็มที่ในปี พ.ศ.2505 เหตุการณ์ในปี พ.ศ.2508 – 2509 เป็นตัวอย่างหนึ่งโดยมุ่งไปที่ประเด็นส่วนภูมิภาค การถูกท้าทายโดยส่วนของกองทัพ ประธานาธิบดีซูการ์โน และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยชี้นำ ยังคงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของอำนาจที่ขึ้นอยู่ระหว่างพรรคการเมืองและทางการทหาร จะได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนสำคัญและโดยปริยายจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ในการปลุกกระแสการเกิดรัฐประหารที่เชื่อว่าเป็นไปเพื่อพรรค PKI
ในปี พ.ศ.2493 รัฐบาลจาการ์ตาได้ผิดสัญญาในการปฏิบัติตามข้อตกลงในอดีต สร้างความไม่ไว้วางใจต่อการตั้งถิ่นฐานในระยะเริ่มแรกที่จะรับประกันความมีลักษณะเฉพาะส่วนภูมิภาคของอาเจห์ ในต้นปี พ.ศ.2513 สถานภาพส่วนภูมิภาคที่มีลักษณะเฉพาะในอาเจห์โดย พฤตินัยนี้ได้ถูกลบเลือนไป กฎหมายว่าด้วยการปกครองส่วนภูมิภาคได้เข้ามาในปี พ.ศ.2517 และวางพื้นฐานการควบคุมจากส่วนกลางอย่างเข้มงวด ต่อองค์ประกอบของการปกครองส่วนภูมิภาค ให้ทหารเป็นตัวแก้ปัญหาหลักสำหรับกองกำลังที่แตกแยก ส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ทำให้ความรับผิดชอบของเขาที่มีต่อสมัชชาจังหวัดได้ถูกกำจัดให้หมดไป แทนที่บทบาทก่อนหน้านี้ การอุทิศตนเพื่อผลประโยชน์ต่อรัฐบาลจาการ์ตา ทำให้กลายเป็นผู้แทนของอำนาจจากส่วนกลาง ยิ่งไปกว่านั้น ระบอบการปกครองยังสนับสนุนให้เกิดกลุ่มบุคคล ที่มีชื่อเสียงทั้งด้านการเมืองและวิชาการใหม่ (Technocrats) ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การปกครองระดับท้องถิ่นได้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะปฏิบัติตามนโยบายที่ได้รับจากรัฐบาลจาการ์ตา โดยไม่ต้องมีการปรึกษาหารือมาก่อน การปกครองที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางอย่างสูงสุดนี้ ผลที่ตามมาผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นต้องต่อสู้แย่งชิงเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจาการ์ตา จนกลายเป็นความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น ความสูญเสียและความไม่พอใจอย่างมากที่มีรากเหง้ามาจากนโยบายทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ทำให้ “บันทึกที่ปกปิด” ก้าวไปสู่ความยั่งยืน และเติมเต็มเข้าไปในความทรงจำของความรุนแรง ความไม่ไว้วางใจทางการเมือง รวมทั้งความรู้สึกที่ก่อตัวอย่างมั่นคงที่จะแยกเป็นอิสระและเน้นความมีลักษณะที่โดดเด่นของชาวอาเจห์ ที่ปราศจากการรับรู้จากรัฐบาลจาการ์ตา ทำให้เกิดการขยายตัวของช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างสังคมของชาว
อาเจห์และอำนาจจากส่วนกลาง

ผลของระบบเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอินโดนีเซีย
เช่นเดียวกับประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมทั้งหลาย อินโดนีเซียได้รับการปลูกฝังทั้งทางเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานจากการสร้างบริษัทสาธารณะ โดยข้อเท็จจริง การดำเนินงานได้สร้างระบบผูกขาดและเส้นทางการค้าที่มีต่อชาวชวา ความใกล้ชิด วงในแห่งอำนาจของรัฐบาลจาการ์ตา เป็นที่พึ่งสำหรับระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เน้นศูนย์กลางอย่างสูงสุดนำไปสู่การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วน การรวมตัวของเอกชนที่ไปด้วยกันได้ดี ก่อให้เกิดการผูกขาดในตลาดที่ทำกำไรได้มากอย่างสูงสุด ขณะที่การแต่งตั้งตำแหน่งในบริษัทสาธารณะหลักๆ ได้รับแรงกระตุ้นจากทางการเมือง ทหารก็ได้ผลประโยชน์จากระบบนี้ โดยการเพิ่มรายจ่ายงบประมาณผ่านทางนายทหารอาวุโส ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดูแลบริษัททั้งของรัฐและเอกชน
อาเจห์ประสบความยากลำบากจากระบบเศรษฐกิจแบบนี้อย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบในวงกว้างของผู้คนที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ชาวประมงจนถึงคนขายของและชาวไร่ชาวนา จากเมื่อก่อนที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าส่วนภูมิภาค กลับกลายเป็นจังหวัดที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจสำหรับประชาชนลดลง แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวของคนใกล้ชิดวงในกับรัฐบาลจาการ์ตา ขณะที่มีการลงทุนอย่างจำกัดในระดับท้องถิ่น สิ่งนี้ได้สร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง มีการรับรู้กัน มากขึ้นในฐานะการใช้อำนาจเอารัดเอาเปรียบ โรงกลั่นแก๊สธรรมชาติเริ่มที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งแก๊สชายฝั่งในพื้นที่ของ เมืองล็อกซูมาเว (Lhokseumawe) ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทางตอนเหนือของอาเจห์ ไม่เกินสิ้นปี พ.ศ.2523 อาเจห์จะมีการส่งออกน้ำมันและแก๊สถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ มีการสร้างเขตอุตสาหกรรมขึ้นรอบๆ โรงกลั่น แม้ว่าศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะมี การส่งออกไปที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น ไม่ช้าก็กลับกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการแสวงหาผลประโยชน์ของรัฐบาลจาการ์ตา อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักมีโอกาสการ จ้างงานอย่างจำกัด ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นไม่มีในระดับท้องถิ่น คนงานต้องรับเข้ามาจากท้องถิ่นอื่นของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะจากชวา เขตอุตสาหกรรมและบริเวณชานเมืองถูกมองในฐานะที่เป็น ผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานและมีฐานะร่ำรวย ซึ่งตรงข้ามกับสภาพชีวิตชองชาวอาเจห์บางคนที่ขาดแคลนสาธารณูปโภค น้ำ และไฟฟ้า เขตอุตสาหกรรมกลับมีแต่สร้างมลพิษจำนวนมาก ซึ่งมลพิษที่ปนเปื้อนทางทะเล ได้ส่งผลกระทบต่อฝูงปลาด้วย จากสถิติ 60 เปอร์เซ็นต์ ของชาวประมงยังมีฐานะยากจน นอกจากนี้ชาวชนบทบางคนยังได้รับผลกระทบ เมื่อมีการก่อสร้างและขยายเขตอุตสาหกรรม ชาวอาเจห์ที่ถูกขับไล่ออกจากผืนดินของเขาโดย เงินชดเชยที่สัญญาว่าจะให้ แต่ไม่ถึงมือผู้ที่ถูกไล่ที่ ไม่มีการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เว้นแต่ เขตอุตสาหกรรมเท่านั้น ในส่วนอื่นๆ ของอาเจห์ อุตสาหกรรมค้าไม้ ได้นำไปสู่ความไม่พึงพอใจให้กับชาวอาเจห์เช่นกัน การจำกัดสิทธิ์ชาวบ้านในท้องถิ่นที่เข้าไปทำมาหากินในป่าและที่ดินทำการเพาะปลูก คนงานก็ไม่ใช่ชาวอาเจห์ เป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทต่างๆ จะเป็นของนักธุรกิจชาวจีนที่มีความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดวงในของรัฐบาลจาการ์ตา ในมุมมองของชาวอาเจห์ นักธุรกิจต่างด้าวรายใหม่ที่ได้รับมอบอำนาจในฐานะคนต่างด้าวกำลังตักตวงเอาผลประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรของอาเจห์ ธุรกิจสองประเภทดั้งเดิมในระบบเศรษฐกิจของอาเจห์ยังได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลจาการ์ตาทั้งพ่อค้าแม่ค้าและชาวชนบท อุปสรรคทางการค้าได้ขัดขวางเครือข่ายการค้าแบบดั้งเดิมกับทางมาเลเซีย นอกจากนั้นธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมเล็กๆ จำเป็นที่ต้องค้าขายผ่านทางท่าเรือเมดาน (Medan) ในตอนกลางของเกาะสุมาตรา ในขณะที่ท่าเรือล็อกซูมาเว เป็นท่าเรือพิเศษเฉพาะในการส่งออกของแก๊สและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นักธุรกิจรายใหม่บางคนสามารถที่จะทำการแข่งขันทางการค้า แต่ก็ยังจะตักตวงผลประโยชน์ทางระบบใบอนุญาตของผู้ส่งออกที่ทำขึ้นอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
ก่อนหน้านี้อาเจห์จัดเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อกันได้ดี แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทจำเป็นที่จะต้องแข่งขันกับนโยบายการพัฒนาที่ได้นำมาปฏิบัติโดยรัฐบาลจาการ์ตา จากมุมมองทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจาการ์ตาได้พิจารณาว่า อาเจห์ควรจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ที่ร่ำรวยของสุมาตราได้ ขณะที่ระบบสัมปทานได้รับการคาดว่าจะพัฒนาการเกษตรแบบส่งออก ผลิตภัณฑ์ข้าวที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การตั้งราคาขาย ขณะที่ราคาของเครื่องใช้ที่มีประโยชน์กลับเพิ่มขึ้น แต่ผู้ผลิตกลับแย่ลง ยิ่งไปกว่านั้นทางเลือกที่มีจำกัดต่อวิถีทางทางการเกษตร พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรไม่มีทางเลือก ที่จำต้องอาศัยอยู่ข้างๆ กับที่ดินผืนนั้น โครงการการเคลื่อนย้ายผู้คน ( Resettlement program ) ก็เป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดความ ไม่พอใจ โครงการเคลื่อนย้ายผู้คนถูกออกแบบมาให้สนับสนุนผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานให้มีการเพิ่มการผลิตพืชผลทางการเกษตรในอาเจห์ ครอบครัวหลายหมื่นครอบครัวได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในปี พ.ศ.2513 และ พ.ศ.2523 พวกเขาสามารถได้ประโยชน์จากที่ดินแบบแปลนจัดสรรขนาด 2.5 เฮกเตอร์ และสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน ชาวอาเจห์รับรู้ว่าเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างดีนั้น ส่วนใหญ่ต้องมาจากชวา เป็นสิ่งที่เก็บสะสมที่ก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจอีกครั้ง
ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในอดีตของอาเจห์มีที่มาจากการผลิตและการส่งออกยางพารา ชา กาแฟ และพริกไทย ความทรงจำที่เกี่ยวพันกับความเป็นอิสระในอดีตของอาเจห์ หรือการปกครองตนเองโดยพฤตินัย ในห้วงสงครามประกาศอิสรภาพ สำหรับความไม่พึงพอใจที่เกิดขึ้นนั้นมิได้ทำให้เกิดการเผชิญหน้าแบบขยายวงกว้าง เป็นเพียงอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจำกัดและ เป็นระยะๆ เป็นการรณรงค์ต่อต้านที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การเรียกรวมตัวอย่างฉุกเฉินไม่ให้มีการจ่ายภาษี เป็นต้น ผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลจาการ์ตา ก็เก็บความไม่พอใจนี้ไว้ และขัดขวางไม่ให้มีการสนับสนุนการเผชิญหน้ากัน ในกลางปี พ.ศ.2513 พวกเขาได้ก่อให้เกิด สิ่งสำคัญอันนำไปสู่การแยกออกเป็น GAM และความพยายามที่จะส่งกลุ่มกองโจรแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธออกปฏิบัติการ
การปราบปรามของกองทัพเป็นชนวนให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน
กองกำลังติดอาวุธของ GAM ยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างแท้จริง ทั้งในปลายปี พ.ศ.2513 และ พ.ศ.2533 การปฏิบัติยังเป็นการใช้หน่วยขนาดเล็กทำการรบแบบกองโจร มี นาย di Tiro เป็นแกนนำ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากภายใน และการช่วยเหลือจากต่างประเทศ การขาดแคลนผู้สนับสนุนที่สำคัญทั้งสองอย่างนี้ ขบวนการกองโจร GAM จึงถูกกดดันได้ง่ายจากทหาร และกลุ่มพันธมิตรของบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวอาเจห์ในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ขณะที่ di Tiro ทิ้งอาเจห์ไปเมื่อปี พ.ศ.2522 ก็ยังคงมีนักรบเหลืออยู่ประมาณ 20 – 30 คน ในพื้นที่ตอนกลางของภูเขาและป่า แม้ว่าจะไม่มีการปฏิบัติการทางทหารเกิดขึ้น แต่การที่ยังคงมี GAM บางส่วนเหลืออยู่ ทำให้มีการถกเถียงกันว่า ขบวนการนี้ควรที่จะได้รับการกล่าวอ้างหรือไม่ในฐานะผู้ต่อสู้ มาเป็นเวลา 30 ปีแห่งสงครามเพื่ออิสรภาพ
การเคลื่อนไหวของ GAM เกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2532 โดยยังคงมีกลุ่มติดอาวุธเล็กๆ ของนักรบประมาณ 200 คน จำนวนของทหารและตำรวจจำนวนหนึ่ง ที่ถูกปลดออกได้กลับเข้าร่วมกับนักรบจำนวน 150 คนที่เคยผ่านการฝึกในลิเบียมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์จากแหล่งสนับสนุนภายนอกใดๆ ยังคงไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงกับขบวนการต่อต้านชาวอินโดนีเซียอื่นๆ ได้ di Tiro ได้พยายามในการสร้างความเชื่อมโยงกับเฟรทติลิน (Fretilin) ซึ่งเป็น ขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวติมอร์ตะวันออก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีความพยายามในการก่อตั้งรัฐอิสลามอีกครั้ง เพื่อเป็นองค์ประกอบสำคัญในการโฆษณาชวนเชื่อ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับกลุ่มเจมา อิสลามิยา (JI) ซึ่งเป็นองค์กรอินโดนีเซียที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอัลเคด้า (Al Qaeda) ขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวอาเจห์ ยังคงเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ขาดเอกภาพและแยกตัว ซึ่งไม่สามารถ รปภ. เส้นทางส่งกำลังบำรุงตามปกติที่จะขยายจำนวนของอาวุธภัณฑ์ มีปฏิบัติการลอบสังหาร ทหาร ตำรวจ เป็นครั้งคราว โจมตี อาคารที่ทำการรัฐบาล การลอบวางเพลิง หรือการจลาจลที่เกิดขึ้นในอาเจห์ ทั้งที่มีความอ่อนแอ GAM ได้รับประโยชน์จากภาพลักษณ์ในทางบวกที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมชาวอาเจห์ เรื่องราวที่เล่าต่อกันมาได้ถ่ายทอดไปสู่นักเรียนชาวอาเจห์ในสถานศึกษา เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นความต่อเนื่องของภาพลักษณ์ที่กล้าหาญของวีรบุรุษนักต่อสู้ในอดีต ขณะที่นักต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน ถูกทำให้เชื่อว่าจะมีอำนาจวิเศษ อาทิ การหายตัว หรือลูกปืนยิงไม่เข้า สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นภาพลักษณ์ทางบวกของทหารในสังคมของชาวอาเจห์ แม่ทัพภาคอาเจห์ ได้นำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ ในลักษณะที่ GAM เป็น ผู้ก่อความไม่สงบต่างๆ ที่เป็น “การร่ำลืออย่างไม่ทราบที่มา” เป็นสาเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลอินโดนีเซีย สถิติของเหตุร้ายที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรม โดยเฉพาะการต่อสู้กับการปลูกกัญชา
ใน ส.ค.2533 การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปประจำในอาเจห์ที่มุ่งเน้นการปราบปราม คำสั่งจากส่วนกลางที่ส่งมาจากรัฐบาลจาการ์ตามุ่งเน้นการปฏิบัติทางทหาร มีการเสริมกำลังทหารเพื่อไปทำหน้าที่กดดันผู้ก่อความไม่สงบ หน่วยทหารที่มีประสิทธิภาพ 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยรบพิเศษและกองกำลังทางยุทธศาสตร์ (Kostradt) ได้ถูกส่งไปประจำการในอาเจห์ นายทหารส่วนใหญ่มีตำแหน่งสำคัญๆ ในหน่วยและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทหารที่อยู่วงใน นายพล พราโบโว สุเบียนโต บุตรเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ได้รับการแต่งตั้งให้ไปประจำที่ อาเจห์ อิทธิพลของเขากำลังเพิ่มมากขึ้นในกองทัพ รวมทั้งนายทหารอีกหลายคนที่เคยปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบในติมอร์ หรือเคยทำงานในลักษณะปฏิบัติการลับระหว่าง ปี พ.ศ.2508 – 2509 ประสบการณ์และความมั่นใจของทหารเหล่านี้จึงทำให้กองทัพมิได้คิดแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยใช้การเจรจา แนวทางการทำงานของทหารอินโดนีเซีย แบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นวิธีที่โหดเหี้ยม ผบ.ภูมิภาคทหาร ได้กล่าวต่อสำนักพิมพ์รอยเตอร์ว่า หากทหารพบผู้ก่อการร้าย ให้ฆ่าได้เลย ไม่จำเป็นต้องสอบสวนแต่อย่างใด ถ้าเขาไม่ทำตามสั่งให้ยิงหรือลงมือฆ่าได้เลย ซึ่งชาวอาเจห์ทราบดีถึงคำสั่งที่ไม่เป็น ลายลักษณ์อักษรนี้ มีรายงานว่า หน่วยรบพิเศษ เผาบ้านผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกของ GAM การบุกค้นบ้านตอนกลางคืนและค้นจากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงบางคนที่ถูกระบุว่า เป็นสมาชิกของ GAM จะถูกข่มขืน มีการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะ ศพจะถูกนำไปทิ้งที่ข้างถนน การผ่านด่านตรวจของทหารได้กลายเป็นความกลัวว่าอาจถูกยิง ส่วนในเมืองประชาชนเริ่มหลีกเลี่ยงที่จะออกจากบ้านหลัง 20.00 น. เนื่องจากกลัวถูกจับ การเดินผ่านเส้นทางที่มีทหารจึงกลายเป็นสิ่งที่ชาวอาเจห์กังวลมากที่สุด
GAM ได้ทำการตอบโต้โดยโจมตีรถบรรทุกทหารเป็นครั้งคราว ความไม่ปลอดภัย บนถนนทำให้การจราจรบางตา ผู้นำในท้องถิ่นได้ไปเยี่ยมพบปะทหารเพื่อที่จะให้ควบคุมตัวและแสดงความรับผิดชอบด้วยตนเอง แต่เรื่องก็ยังคงเงียบไป ภายใต้การปฏิบัติร่วมระหว่าง ทหาร และ พลเรือน พลเรือนถูกบังคับให้ร่วมในปฏิบัติการทางทหาร โดยการบังคับเยาวชนลาดตระเวนร่วมกับทหารในตอนกลางคืน การจัดให้ชาวบ้านเดินเป็นแถวนำหน้ากองกำลังทหารระหว่างปฏิบัติการ สู้รบกับกองโจร และให้แสดงบทบาทเชิงบังคับในการหาข่าวของฝ่ายตรงข้าม การรวมพลจัดแถวชาวบ้านถูกจัดให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เขาถูกกระตุ้นให้ “ กำจัดผู้ก่อการร้าย” และเพื่อจะประกันว่าเขาจะ“ทำลายมันจนสิ้นซาก” ชาวบ้านที่ไม่ร่วมมือ และขาดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติการจะได้รับการลงโทษ เรื่องราวข่าวลือในลักษณะนี้ สร้างความหวาดกลัวจนนำไปสู่ปัญหาการคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะที่ด่านตรวจของทหารที่จะเรียกเก็บเงิน รวมทั้งหน่วยงานพลเรือนที่เกี่ยวกับงานการปกครองที่เรียกเงินใต้โต๊ะสำหรับประชาชนที่มาติดต่องาน มีรายงานว่า ระหว่างปี พ.ศ.2532 และ พ.ศ.2534 ชาวอาเจห์ ราว 2,000 คนถูกฆ่า กลุ่มผู้ต่อต้านได้รับการปราบปราม อาเจห์เป็นพื้นที่การปฏิบัติการที่มีทหารกุมอำนาจเด็ดขาด เป็นการเปิดโอกาสให้ทหารได้รับผลประโยชน์ตอบแทน มีการสร้างเครือข่ายระหว่างทหาร และนักธุรกิจของอาเจห์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหน่วยรบพิเศษ สามารถทำเงินเพิ่มได้ในฐานะผู้คุ้มครองความปลอดภัย หรือช่วยสนับสนุนการแข่งขันทางธุรกิจในท้องถิ่น ผลประโยชน์ทางธุรกิจเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ที่สร้างความความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถูกสร้างขึ้นทีละเล็กทีละน้อยภายในกองทัพ และร่วมกันในระบอบการปกครองอันสูงสุด ประธานาธิบดีซูฮาร์โต ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ความทรงจำนี้ โดยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งที่เรียกว่า “การรักษาอาการช็อก” (Shock Therapy) ได้รับการพิจารณาว่าเป็นเครื่องมือที่ชอบด้วยกฎหมายชนิดหนึ่ง ใครก็ตามที่ต่อต้านไม่ว่าจะชอบหรือไม่ จะถูกยิง
คำกล่าวของ ผบ.ภูมิภาคทหารของอาเจห์ ได้สะท้อนถึงหนทางของความรุนแรงที่เป็นทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นธรรมดาและเป็นหลุมหลบภัยสำหรับองค์กรลับด้านความมั่นคง ทั้งประสบการณ์ส่วนบุคคลของนายทหารและประวัติศาสตร์ความรุนแรงถูกนำไปสร้างความรุนแรงในฐานะที่เป็นหลักการสำคัญของการปกครอง นายทหารในติมอร์ หรือในอาเจห์ ที่ปฏิบัติงานตอบสนองในแนวทางการปราบปรามมักได้รับความเจริญก้าวหน้า ภายใต้ระบอบการจัดโครงสร้างกองทัพใหม่ ทหารจะได้รับการปกป้องจากการวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติที่ปรากฏในปลายปี พ.ศ.2523 จึงไม่มีผลต่อกองทัพอินโดนีเซียแม้แต่น้อย

การฝึกอบรมนายทหาร มุ่งเน้นมาตรการปราบปราม ความกดดันจากผู้ร่วมงานภายในกองทัพ ทั้งหมดดังกล่าวรวมตัวกันนำไปสู่การปฏิบัติการอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2531 รัฐสภายุโรปเรียกร้องเป็นครั้งแรกให้อินโดนีเซียถอนทหารออกมาจากติมอร์ สภาคองเกรส แห่งสหรัฐฯ ได้แสดงออกเป็นครั้งแรกถึงข้อห่วงใยอย่างมาก เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในติมอร์ มีการเสด็จมาเยือนติมอร์ ของพระสันตะปาปา เรียกความสนใจต่องานด้านสิทธิมนุษยชนของกองทัพอินโดนีเซียมากขึ้น ยุทธวิธีของกองทัพอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า “การรักษาอาการช็อก” ที่อาจจะขาดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับผู้ปฏิบัติระดับล่างในระยะเริ่มต้น เป็นตัวเลือกที่น่าพอใจมากที่สุดของทหาร และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางโดยปราศจากการคัดค้าน
การเปลี่ยนแปลงในอินโดนีเซียทำให้เกิดแนวคิดในการเจรจา
ในปี พ.ศ.2540 ภาวะวิกฤตทางการเงินเกิดขึ้นในประทศไทย และกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใตอินโดนีเซียได้รับการประเมินจากองค์กรด้านการเงินนานาชาติ (IMF) ว่าระบบการเงินกำลังล่มสลาย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอันนำไปสู่การประท้วงระบอบการปกครอง รัฐบาลประธานาธิบดี ซูฮาร์โต อยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอลงและมีความกดดัน หากปล่อยให้บานปลาย อินโดนีเซียจะไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างประเทศ มีการคัดค้านการใช้กำลังทางทหารขยายตัวมากขึ้น ในการสัมมนาภายในกองทัพ การเลือกปฏิบัติและการคอร์รัปชั่น ได้ถูกหยิบยกมาโต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์ กลุ่มของนายทหาร ที่มีความคิดที่จะทำการปฏิรูป มีอิทธิพลอย่างมากในกองทัพ โฆษกประจำรัฐสภาเรียกร้องให้กองทัพจำกัดตัวเองในการใช้วิธีการปราบปราม เนื่องจากกองทัพ มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนชาวอินโดนีเซียลดน้อยลง กลุ่มต่างๆ กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ขณะที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โต พยายามลดอิทธิพลของกลุ่มคู่แข่ง โดยการแต่งตั้งนายทหารที่มีความสนิทสนมเป็นส่วนตัว และมีความจงรักภักดี การที่ประธานาธิบดีเข้ามามีบทบาทในสายการบังคับบัญชาของกองทัพอย่างเป็นทางการและรวมทั้งเกิดขัดผลประโยชน์ในคนบางกลุ่มในกองทัพ ทำให้ความไม่พอใจในหมู่ทหารขยายตัวมากขึ้น มีการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ มีการประท้วงของมวลชนเกิดขึ้นเพื่อประท้วงความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของระบอบซูฮาร์โตและการปกครองแบบเผด็จการ มีการแก่งแย่งชิงดีกันภายในกองทัพและองค์กรลับด้านความมั่นคงที่ปกปิดอยู่ได้ออกมาแสดงพลังโดยใช้การประท้วงของมวลชนเป็นเครื่องมือขับไล่ซูฮาร์โตให้ลาออก หลังจากซูฮาร์โตออกจากตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ.2541 การต่อสู้แย่งชิงอำนาจได้ขยายไปในรัฐบาลจาการ์ตา และกลายเป็นความเร่งด่วนอันดับแรก สถานการณ์ในอาเจห์ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่มีความสำคัญรองลงมา ยุทธศาสตร์สร้างความหวาดกลัวในอาเจห์ยังคงดำเนินต่อไป แต่มีการปรับแนวทางใหม่ เมื่อพิจาณาลำดับของการเกิดกระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะพบว่า นโยบายที่นำมาปฏิบัติในการแก้ปัญหาอาเจห์ค่อนข้างจะสับสน ไม่ชัดเจนว่าจะปราบปรามหรือเจรจา แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีการเจรจาในสมัย พล.อ.ยุโดโยโน (ตั้งแต่ ก.ย.2547) 3 เดือนหลังจากซูฮาร์โตออกจากตำแหน่ง รมว.กห. และผู้นำกองทัพ พล.อ.วิรันโต ได้ออกมากล่าวต่อสาธารณะโดยขอโทษต่อประชาชนชาวอาเจห์ ที่ถูกทำร้าย และได้รับความเดือดร้อนทุกข์ทรมาน เขาประกาศที่จะถอนกองกำลังทางทหารออกไปและให้สิ้นสุดการปฏิบัติทางทหารในพื้นที่ดังกล่าว สิ่งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนซึ่งโดยหลักใหญ่จะเกี่ยวข้องกับคู่แข่งของเขาที่เป็น ผบ.หน่วยรบพิเศษ ซึ่งเป็นลูกเขยของ ซูฮาร์โต (พล.ท. พราโบโว) มีความพยายามจะถอนกำลังหน่วยรบพิเศษออกจากพื้นที่แต่ถูกขัดจังหวะ มีการจลาจลและทำลายทรัพย์สินและอาคารของทางราชการรวมทั้งบรรดาอาคารต่างๆ ของนักธุรกิจ ที่ไม่ใช่เป็นชาวอาเจห์ ความไม่พอใจที่ทำให้อุบัติการณ์ในท้องถิ่นลุกลามกลายเป็นการจลาจลที่ต่อต้านผู้แทนของรัฐและสถาบันต่างๆ บุคคลที่ทำงานร่วมกันในกองกำลังรักษาความมั่นคงทั้งที่จริงและกล่าวอ้างกลับตกเป็นเป้าและต้องเผชิญกับการแก้แค้นที่รุนแรง มีการเสริมกำลังเข้าไปเพิ่ม การปราบปรามจึงยังคงดำเนินต่อไปและกลายเป็นการต่อสู้แบบประปรายระหว่างทหารรัฐบาลกับทหารของ GAM
ในห้วง ม.ค.2542 พล.อ.วิรันโต สามารถรักษาตำแหน่งของเขาในกองทัพไว้ได้ แนวร่วมที่เป็นนายทหารนักปฏิรูปถูกย้ายไป ขณะที่กลุ่มทหารเหล่านี้ประสงค์จะให้มีสั่งการอีกครั้งสำหรับความเร่งด่วนของกองทัพในบทบาทการป้องกันภัยคุกคามทางทะเลและไม่ใช่ความมั่นคงภายใน กลุ่มของวิรันโต ต้องการที่จะสร้างความความมั่นคงให้เกิดขึ้นในกองทัพ โดยการสร้างความเข้มแข็งและควบคุมความเป็นเอกภาพในกลุ่มทหาร ในการสัมมนาของ ทบ. ได้เน้นย้ำถึงความมั่นคงภายในว่าเป็นความเร่งด่วนของกองทัพอินโดนีเซีย นายทหารที่มีภูมิหลังด้านการข่าวและการปราบปรามเหตุการณ์ความไม่สงบได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งโดยเฉพาะนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามอันโหดร้ายในติมอร์ตะวันออกได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ กองทัพอินโดนีเซีย ได้นำเอาวิธีการปราบปรามมาใช้อีกในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบ คณะผู้นำอาเจห์ได้เดินทางไปที่จาการ์ตาและเข้าพบกับประธานาธิบดีฮาบิบี ยืนยันว่า อาเจห์จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย โดยขอให้มีการดำเนินการกับผู้ที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง และขอให้มีสถานะเป็นการปกครองตนเองพิเศษ ข้อเสนอไม่ได้รับการปฏิเสธหรือตอบรับโดยทหารหรือรัฐสภา ประธานาธิบดีฮาบิบี ไปเยือนอาเจห์ และให้ข้อคิดเห็นที่จะปรับปรุงสถานการณ์ ในการที่จะขยายฐานทางการเมือง ได้ริเริ่มกฎหมายหลายๆ ฉบับเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น การเพิ่มอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น มีความเห็นชอบร่วมกันว่า สัดส่วนของผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติระหว่างอาเจห์กับจาการ์ตานั้น ในกรณีของอาเจห์ จะเป็น 30เปอร์เซ็นต์ จากแก๊สธรรมชาติ และ 80 เปอร์เซ็นต์ จากอุตสาหกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ และประมง กฎหมายเพิ่มเติมอื่นๆ ที่จะฟื้นฟูสถานภาพพิเศษของอาเจห์ อย่างไรก็ตามบทบัญญัติกฎหมายไม่ได้ตอบสนองความต้องการของอาเจห์ให้เป็นที่น่าพึงใจนัก เพราะการปกครองดังกล่าวเคยผิดสัญญากันมาก่อน ทำให้อาเจห์เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติจริง ยิ่งไปกว่านั้น ฮาบิบียังประกาศให้มีการลงประชามติในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (Referendum on self – determination) เช่น ในติมอร์ โดยเลือกที่จะอยู่อย่างเดิมหรือแยกตัวออกไป และยังกล่าวต่อไปอีกว่า อาเจห์จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ ขบวนการนี้ก่อให้เกิดการรบกันประปรายระหว่าง GAM และTNI GAM โจมตีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ขณะที่กองทัพโจมตีหมู่บ้านที่สงสัยว่าจะเป็นที่ลี้ภัยของทหาร GAM
หลังจากฮาบิบีพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เมื่อ ต.ค.2542 ประธานาธิบดีคนใหม่คือ นายอับดุรามาน วาฮิด ต้องการที่จะสร้างอิทธิพลเหนือกองทัพ จึงคิดลดอำนาจ พล.อ.วิรันโต โดยการให้มีการดำเนินงานด้านสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นนี้จึงเข้าไปอยู่ใน ความสนใจของสังคม มีการเรียกร้องค่าคอมมิชชั่นในติมอร์ได้มีการฟ้องร้องกล่าวโทษ พล.อ.วิรันโต และ นายพลอีก 5 นาย จนทำให้ พล.อ.วิรันโต จำเป็นต้องลาออกเมื่อ ก.พ.2543 การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจที่เกิดขึ้นนี้ นายทหารนักปฏิรูปพลอยได้รับอิทธิพลและผลประโยชน์จากการสนับสนุนของวาฮิด ความเต็มใจที่จะเป็นผู้สร้างสันติภาพ (peacemaker) และเผชิญกับแรงต้านน้อยลงจากกองบัญชาการทางทหารส่วนกลาง วาฮิดจึงอยู่ในบทบาทที่ทำให้เริ่มมีการเจรจากันโดยตรงเป็นครั้งแรกระหว่างจาการ์ตาและ GAM มีการเปิดศูนย์เจรจาทางมนุษยธรรม ณ กรุงเจนีวา (Geneva – based Center for Humanitarian Dialogue) ได้มีการลงนามในข้อตกลงเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ค. 2543 โดยเน้นที่ “การหยุด (ชั่วขณะ) ทางมนุษยธรรม” (Humanitarian Pause) เพื่อที่จะให้การเจรจาระหว่างกลุ่มต่างๆ ง่ายขึ้น การฟันฝ่าอุปสรรคด้วยความตั้งใจที่จะนำไปสู่การเจรจา ยังไม่ประสบผล การโจมตีของแต่ละฝ่ายบนหลักการยังไม่หยุด ยิ่งไปกว่านั้น นายวาฮิดยังถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกับรัฐสภาและการทหาร รัฐสภาได้ประวิงเวลาการรับสถานภาพพิเศษใหม่สำหรับอาเจห์ ขณะที่ได้รับการสนับสนุนโดยนายวาฮิด ความพยายามที่จะควบคุมทางการทหารโดยการแต่งตั้งนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อเขาทำให้เกิดผลที่ไม่คาดคิด นายทหารที่ถูกจัดลำดับไว้ต้นๆ ในการดูแลความมั่นคงได้สร้างอำนาจขึ้นมาใหม่และบ่อนทำลายนายวาฮิด โดยการสนับสนุนรองประธานาธิบดีและเป็นคู่แข่งนายวาฮิด คือ นางเมกาวาตี
นายวาฮิดได้รับนโยบาย 6 ข้อสำหรับอาเจห์ แนวทาง การดำเนินงานระยะแรกยังไม่ถูกยกเลิก แต่ใน 6 ประเด็น ประธานาธิบดีวาฮิด อนุมัติให้มีการปฏิบัติการสำหรับการฟื้นฟูความมั่นคงซึ่งเท่ากับอนุญาตให้ทหารจัดการเรื่องนี้ ประธานาธิบดีวาฮิดจำเป็นต้องลาออก เมื่อ ก.ค.2544 ทำให้นางเมกาวาตี อดีตรองประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนได้เห็นด้วยกับแนวคิดแบบประเทศเดียวปกครองหลายกลุ่ม (unitary approach) ของฝ่ายทหาร ทำให้ กองกำลังทหารถูกส่งไปประจำที่อาเจห์ ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ และการบาดเจ็บหมู่ขยายวงกว้าง อย่างไรก็ตามการเจรจา ณ กรุงเจนีวา ไม่ได้ถูกขัดขวาง และมีการลงนามในกฎหมายฉบับประธานาธิบดีว่าด้วยการปกครองตนเองพิเศษ แต่กระนั้นไม่ได้นำมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมกองกำลังของ GAM สูญเสียดินแดนที่ควบคุม แต่ยังคงรักษากำลังทหารไว้ราว 1,000 คน แม้ว่าหัวหน้าหน่วยทหารที่ประจำการหลักจะถูกสังหาร แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของ GAM แต่อย่างใด เมื่อ ธ.ค.2545 Center for Humanitarian Dialogue ได้เสนอข้อตกลงใหม่ รวมถึง การหยุดเป็นปรปักษ์กัน กำหนดให้มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ.2547 มีมาตรการการ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และทีมสังเกตการณ์ร่วมภายใต้คณะกรรมการด้านความมั่นคงร่วม (Joint Security Committee/JSC) ซึ่งประกอบด้วย ทหารของ GAM และกองทัพอินโดนีเซีย ทีมสังเกตการณ์ JSC ได้ถูกให้ออกจากบันดา อาเจห์ เนื่องจากได้รับการต่อต้านจากกลุ่มประท้วงที่ถูกจัดตั้ง และเรื่องการทำลายอาวุธ มีการนำกฎอัยการศึกมาบังคับใช้ในอาเจห์ การปฏิบัติการ ทางทหารได้เกิดขึ้นอีกครั้ง
เมื่อ พล.อ.ซูซิโล บัมบัง ยุโดโยโน ชนะนางเมกาวาตี ในการเลือกตั้งเมื่อ ก.ค.2547 ความท้าทายใหม่ได้เกิดขึ้น จากการที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มทหารที่เป็นนักปฏิรูป และในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่ง รมต.กระทรวงกิจการเพื่อความมั่นคง สังคม และการเมือง พล.อ.ยุโดโยโน ยังได้เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นของอาเจห์ โดยการสนับสนุน “ การเจรจาที่เป็นสาระสำคัญ” เขาถูกมองว่าเป็นนายทหารที่ใช้รูปแบบการประนีประนอมมากกว่า รองประธานาธิบดี ยูซุป คัลลา ( Yusuf Kalla) ที่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับผู้แทนของ GAM ความพยายามในการเจรจาที่ผ่านมาได้รับการยอมรับจากทหาร และได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ นอกเหนือไปกว่านั้นการที่มีการระเบิดที่บาหลีในปี พ.ศ.2545 ภาวะคุกคามจากการก่อการร้ายกลุ่ม JI ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญสำหรับกองกำลังรักษาความมั่นคงอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้อำนาจอันชอบธรรมใหม่กับกองทัพอินโดนีเซีย ที่จะทำงานให้สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษาความมั่นคงภายใน รวมทั้งคงไว้ซึ่งอิทธิพลของทหารในการเมืองอินโดนีเซีย ความสำคัญของประเด็นอาเจห์ จึงได้รับการถ่วงดุลโดยภาวะคุกคามที่เกิดขึ้นนี้
บริบทใหม่ดังกล่าวนี้เอื้อให้การเจรจาคืบหน้า เมื่อ ม.ค.2548 มีการเจรจา รอบใหม่เริ่มขึ้น ณ กรุงเฮลซิงกิ โดยนาย มาร์ติ อาติซารี ( Martti Ahtisaari) อดีตประธานาธิบดีของฟินแลนด์ เป็นผู้นำทีมไกล่เกลี่ย ทีมงานที่ริเริ่มด้านการบริหารวิกฤติการ (Crisis Management Initiative) ได้ศึกษาข้อตกลงที่ผ่านมา จุดอ่อนและหลักการที่ได้ตกลงไปแล้ว รวมทั้งปรึกษาผู้มีชื่อเสียงในสังคมและเคยเกี่ยวข้องกับการเจรจาครั้งก่อนๆ ในการสร้างข้อตกลงที่ผ่านมารวมทั้งต้องเอาชนะจุดอ่อนดังกล่าว ทีมไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จในการเสนอข้อตกลงหลังจากการเจรจามาแล้ว 5 รอบ มีการลงนามใน MOU ณ กรุงเฮลซิงกิ ซึ่งครอบคลุมถึงการปกครองในอาเจห์ มีการก่อตั้งหน่วยงาน AMM เพื่อการระงับข้อพิพาท จุดเด่นของ AMM คือการมีบุคคลจาก EU และอาเซียนจากนานาชาติ เข้ามาปฏิบัติงาน และ GAM เริ่มยอมรับอย่างเป็นทางการ อีกทั้งได้รับแรงส่งจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ โดยความร่วมมือกันทางการเมืองภายในและความเกี่ยวพันกับอำนาจหน้าที่ของ นาย มาร์ติ อาติซารี โดยมีการเจรจานอกรอบถึง 3 ครั้ง
แผนภาพที่ 4 : ผู้แทนรัฐบาล อซ. ผู้นำ GAM และ นาย Ahtisari อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ตกลงหยุดยิงใน Helsingki และลงนามใน MOU Helsinki ณ กรุงเฮลซิงกิ เมื่อ 15 ส.ค.48





องค์กรทางด้านพลเรือน ( ฝ่ายการเมือง)

GAM ที่อยู่ในอาเจห์มีการจัดออกเป็น 2 หน่วยงานคือ รัฐบาลพลเรือนและกองกำลัง ซึ่งกองกำลังจะอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การตัดสินใจส่วนใหญ่จะมีผลมาจาก ผบ.กองกำลัง ที่เผชิญอยู่กับปัญหา มีผู้กล่าวว่ารูปแบบของรัฐบาลพลเรือนของ GAM นี้เป็นรูปแบบเดียวกับรัฐบาลอาเจห์เมื่อสมัยโบราณ (สุลต่านปกครอง) ที่ di Tiro ได้พยายามพื้นฟูขึ้นมาเมื่อปี 2520 เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของอาเจห์ โดยตำแหน่งสูงสุดคือสุลต่านก็คือตัว Hasan di Tiro เอง GAM ยังคงต้องการให้เรียกตำแหน่งนี้ด้วยภาษาพื้นเมืองว่า Wali Negara (แทนที่จะเรียกว่า Sultana) เพื่อจะสะท้อนให้เห็นบทบาทความเป็น “ผู้ปกป้อง”

องค์กรที่ถัดรองลงไปจาก Wali Negara คือ Nanggror หรือ Province ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ Ulee Nanggroe เป็นผู้รับผิดชอบและมี ผบ.หน่วยทหารประจำจังหวัด หรือ Paylina Nanggror เป็นผู้ช่วย ในแต่ละ Nanggror จะมีหลาย Aiue หรือ Sagor ที่มีนายอำเภอ หรือ Ulee Sagoe โดยมี ผบ.หน่วยทหาร หรือ Panylina Sagoe เป็นผู้ช่วยแต่ละ Sagoe ประกอบด้วยหลายกิ่งอำเภอ หรือ Mukim ซึ่งจะมี Imum เป็นหัวหน้าในแต่ละ Mukim ประกอบด้วยหลายหมู่บ้าน ซึ่งมี หัวหน้าหมู่บ้าน คือ Geutihik ผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้าน คือ Waki และมีผู้อาวุโส 8 คน ที่เรียกว่า Tuha Puet หมู่บ้านคือหน่วยปกครองที่เล็กที่สุด

ในเดือน ก.ค.2545 ในการประชุมที่ Starmager ประเทศนอร์เวย์ ฝ่าย GAM มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และโครงสร้างตนเองในหลายๆ เรื่อง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าที่จริงแล้วเป็นแค่เปลี่ยนชื่อขององค์กรภายในเท่านั้น ไม่มีอะไรใหม่น่าตื่นเต้น อย่างไรก็ตามมีการปรับคณะผู้บริหาร โดยกำหนดบรรดาผู้นำที่อยู่ในสวีเดนมีสถานะเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น หน่วยการปกครอง ที่ใหญ่ที่สุดคือ ภาค (Region หรือ Wilayah) ซึ่งจะมีผู้ว่าการภาค และมีผู้ช่วยเป็น ผบ.ตร.ภาค (Uler Bentara) GAM กำหนดให้มี 17 Wilayah ในแต่ละ Wilayah ประกอบด้วย 4 อำเภอ (Daerah) แต่ละอำเภอประกอบด้วยหลาย Sagor หน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดคือ หมู่บ้าน องค์กร การปกครองในทุกระดับของ GAM มีหน้าที่ในการเก็บภาษี ตลอดจนออกใบสูติบัตร ออก ใบทะเบียนสมรส ซึ่งเหมือนกับองค์กรการปกครองพลเรือนทั่วไป การบริหารดังกล่าวนักวิชาการทั้งหลายกลับมองว่าเป็นการหาเงินที่ผิดกฎหมายและปล้นประชาชน ในส่วนของ GAM มองในลักษณะที่ตรงข้ามว่าเป็นองค์กรที่กำลังทำหน้าที่เพื่อความเป็นเอกราชของอาเจห์ ของรัฐบาล พลัดถิ่นจึงสามารถจัดเก็บภาษีจากประชาชนของตนเองตามกฎหมายสากลได้

การจัดการองค์กรทางด้านกองกำลังติดอาวุธ

หน่วยกำลังรบของ GAM ขนานนามกองกำลังว่าเป็น Tentara Negara Aceh หรือ TNA (Army of the State of Aceh) มีผู้บัญชาการ TNA หรือ Panglima TNA ซึ่งครั้งหนึ่ง นาย มูซากี มานาฟ (Muzzakir Manaf) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมี ผบ.ภาค (Panglima Wilayah) จำนวน 17 คน/17 ภาค แต่ละ Wilayah ประกอบด้วย 4 Daerah มี Pomylima Darvah เป็น ผบ.ควบคุมในระดับอำเภอ และมี Panglima Sagor เป็น ผบ.หน่วย รองลงไป และระดับต่ำสุดจะเป็นระดับส่วน (Cell) ซึ่งทราบกันดีว่ากองกำลัง GAM ในระดับล่างนี้แตกต่างและไร้วินัยมากที่สุด งานที่กองกำลังในระดับล่างปฏิบัติ คือ การหาประโยชน์ส่วนตัว และบางครั้งดำเนินงานสวนทางกับนโยบายข้างบนอยู่เนืองๆ มีคำถามว่า GAM ติดต่อกันอย่างไร ได้พบว่าในขณะปฏิบัติหน้าที่ในอาเจห์นั้น ทุกฝ่ายใช้โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมติดต่อกัน มีการใช้เครื่องบอกพิกัด GPS โดยมากจะใช้ส่งข้อความแบบ SMS บรรดากองกำลังในสนามทั้งหลายจะรายงานผลการปฏิบัติต่อผู้บังคับบัญชา ข้าราชการเป็นประจำ รวมทั้ง ผบ.กองกำลัง GAM และรายงานหัวหน้าที่เป็น ผู้นำสูงสุดที่อยู่ในสวีเดน

สายงานบังคับบัญชาของ GAM มีความชัดเจน มีกระบวนการติดต่ออย่างเป็นระบบ ผู้นำ GAM ในสวีเดนสามารถตรวจสอบลงไปจนถึงระดับล่างได้ไม่ยาก หรือผู้นำกับหน่วยในระดับล่างก็สามารถติดต่อกับผู้นำในสวีเดนได้ ทำให้ข้อมูลทุกอย่างไหลลื่นและทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลา กลไกดังกล่าวนับเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง อย่างกรณีการเสียชีวิตของ ผบ.กองกำลัง GAM คือ Abdullah Sgafif เมื่อ 22 ม.ค.2545 ถูกบันทึกไว้ว่า“การสูญเสีย Abdullah Sgafif เป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวง แต่จะไม่สามารถตัดการติดต่อสื่อสารของพวกเราได้เลย เพราะเรายังคงติดต่อกับบรรดา ผบ.หน่วย ในสนามทั้งหลายโดย เรายังควบคุมสั่งการได้ การตายของ Abdullah ไม่ส่งผลต่องานของเรา เรายังได้รับรายงานจาก ผบ.หน่วยต่างๆ สม่ำเสมอ มันเป็นโครงข่ายการทำงานที่ดี ถ้าการทำงานในสนาม มีปัญหา เราช่วยพวกเขาให้ติดต่อกันได้”

อย่างไรก็ตามการใช้โทรศัพท์ติดต่องานดังกล่าว บางครั้งก็สร้างความสับสนในแง่ของสายการบังคับบัญชา อย่างเช่นในกรณี ผบ.หน่วย Central Command โดย มาลิค มามุด ออกคำสั่งจากสวีเดน ลงมายัง ผบ.ทหารสูงสุด GAM และยังปรึกษาไปยัง ผบ.หน่วย ระดับล่าง และ ลงไปถึงสอบถามทางหน่วยในพื้นที่ลงไปอีก ซึ่งทำให้เกิดการสับสน หรือบางครั้งเป็นการก้าวล่วงลงมามากเกินไป

การสร้างอาณาจักรของ GAM และการหาแนวร่วม

เมื่อตอนก่อตั้ง GAM ในปี พ.ศ.2519 นั้น GAM มีแนวร่วมและฐานที่มั่นไม่มากนัก ชาวอาเจห์ทั่วไปมีความรู้สึกเห็นใจ GAM แต่ก็มิได้ฝักใฝ่กระตือรือร้น ที่จะเข้าไปร่วมกิจกรรมด้วยเนื่องจากเหตุผลที่ว่าพวก GAM ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านศาสนามากนัก ซึ่งทำให้เกิดความห่างเหิน di Tiro บันทึกไว้ว่า มีแนวร่วมเพียง 70 คน เท่านั้น ที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์ในการจัดตั้ง GAM ระยะแรกทำหน้าที่ในด้านการส่งกำลังบำรุงให้กับกลุ่มกองโจร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ Pidie และหมู่บ้าน Tiro แนวร่วมเหล่านั้นล้วนมาจากพื้นที่ห่างไกล มีเชื้อสายซูกู ( Suku) อาเจห์ มี ความภักดีต่อตระกูล di Tiro และโดยเฉพาะมีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลอินโดนีเซีย แนวร่วมคนหนึ่งคือ ฮัสซันนั้นเจ็บแค้นทางราชการมานานเนื่องจากคนในครอบครัวของเขาถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐสังหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวร่วมระดับบริหารของ GAM เป็นผู้มีการศึกษาดีในระดับมหาวิทยาลัย เช่น ตัวของ di Tiro Dr.Husaini Humam Dr.Laini Abdullah Dr.Zubir Mahmud และ Dr.Muchter Hasbi ซึ่งเป็นระดับนักธุรกิจ ส่วนผู้นำองค์กรระดับกลางๆ โดยมากจะเป็นแนวร่วมที่ทำการสู้รบในสมัยปี พ.ศ.2496 – 2502 (ที่มีจุดมุ่งหมายให้อาเจห์เป็นรัฐอิสลามบริสุทธิ์) ช่วงที่บรรดาผู้นำ GAM ต้องหลบหนีออกนอกประเทศเป็นผลให้เกิดการมอบตัว มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกใน 2 ห้วงระยะเวลา คือ ในช่วงปี พ.ศ.2529 – 2532 ประเทศลิเบียได้เข้ามาให้การสนับสนุน ในการฝึกให้กับ GAM บรรดาชาวอาเจห์ที่สนับสนุนได้เดินทางเข้าไปในลิเบีย เพื่อรับการฝึกทางทหาร นาย มาลิค มามุด ได้บันทึกไว้ว่า “ท่าน Hasan di Tiro ได้รับจดหมายจากบรรดาชาวนาอาเจห์ ผู้ยากไร้ทั้งหลายว่า จะขอมอบลูกชายให้เป็นของขวัญและขอให้ท่านนำลูกของเราไปฝึก เพื่อเป็นนักรบอาเจห์ที่เก่งกล้า ซึ่งสร้างความตื้นตันให้เป็นอย่างมาก”

ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น ผบ. GAM คือ โซเฟียน ดาวูด (Sofyan Dawood) และ อิชาค ดาอูด (Ishak Daud) โฆษก GAM ภาคตะวันออก ได้เข้ามาเป็นแนวร่วมดังกล่าวรวมทั้งเป็น แรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มอาเจห์ในช่วงหลังเข้ามาร่วมขบวนการ และตัวโซเฟียนเองได้เข้ามาเป็นนักรบ GAM ในปี พ.ศ.2529 โซเฟียน ไม่ได้ไปฝึกที่ลิเบีย และไม่ได้ฝึกในอาเจห์แต่อย่างใด แต่ต้องกระโดดเข้ามา เพราะสถานการณ์บังคับในห้วง DOM โดยเฉพาะความเจ็บแค้นที่คนในครอบครัว ถูกสังหารในปี พ.ศ.2520 บิดาของโซเฟียนซึ่งเป็น GAM รุ่นแรกถูกทหารอินโดนีเซียสังหาร พี่น้องอีก 2 คน ได้รับความทุกข์ทรมาน เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบที่มีความสามารถ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโฆษกของ GAM ในภาคเหนือ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกใหญ่ของ GAM หลังจาก Ismail Shah Putra เสียชีวิตในเดือน มี.ค.2545 โซเฟียน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผบ.กองกำลัง GAM ภาคเหนือของอาเจห์แทน มูซากี มานาฟ ( Mazzakir Manaf ) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ทหารสูงสุด ของ GAM (AGAM/TNA) แทนที่ Abdullah Syahlif

แผนภาพที่ 5 : หนังสือพิมพ์ Modus ในอาเจห์ลงภาพ พล.ท.นิพัทธ์ฯ คู่กับ นายโซเฟียน ดาวูด ผบ.กกล.GAM ที่ไม่เคยปรากฏตัวมานาน 15 ปี



สมาชิกคนสำคัญอีกคนของ GAM คือ อิชาค ดาอูด ตัดสินใจเข้ามาเป็นแนวร่วมของ GAM พร้อมกับ โซเฟียน ในปี พ.ศ.2529 โดยพักอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ อิชาค ไปเข้าร่วมในการฝึกจากหลายสำนักในต่างประเทศ เดือน มี.ค.2533 เขาถูกจับในข้อหาสังหารทหารอินโดนีเซีย 2 นาย และ เด็ก 2 คน ในการเข้าโจมตีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่ติดคุกไม่นานก็สามารถแหกคุกหลบหนีเข้าไปในมาเลเซีย ทางการอินโดนีเซียใช้เวลาสืบสวนทำคดีอยู่ 2 ปี จึงจับขึ้นศาลได้และถูกศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี แต่ติดคุกได้เพียง 1 ปี ก็ได้รับนิรโทษกรรมจาก ประธานาธิบดี ฮาบีบี เขาจึงหันกลับไปร่วมขบวนการ GAM อีกจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษกของ GAM อิชาค ได้เคยให้เหตุผลในการเข้าร่วมต่อสู้ว่า “ผมเองและ ผบ.ทหารสูงสุด GAM คือ มูซากี มานาฟ (Mazzakir Manaf) ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันในห้วงเวลาที่ di Tiro กำลังทำความฝันให้เป็นจริง ผู้คนชาวอาเจห์จำนวนมาก ได้รู้เห็นเป็นประจักษ์พยานถึงความทุกข์ยากที่กองทัพอินโดนีเซียเข้ามาปราบปรามพวกเราเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี”

GAM ขยายพื้นที่อิทธิพลของตนเองอย่างได้ผล เมื่อบรรดากลุ่มกองโจรกลุ่มแรกกลับมาจากการฝึกในลิเบีย GAM เข้าไปควบคุมพื้นที่ Greater Aceh North Aceh และ East Aceh มีการระดมสรรพกำลังอย่างเข้มแข็งโดยเฉพาะชาวอาเจห์พื้นเมืองที่มีความผูกพันกันทางสายเลือดอยู่แล้ว พื้นที่อิทธิพลของ GAM มักจะเป็นพื้นที่ที่เห็นว่ามีเงื่อนไขในเรื่องความเสมอภาค มี ความเหลื่อมล้ำเปราะบาง มีการ ตอกย้ำความคิดลงไปให้แนวร่วมทั้งหลายได้เห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของพวกเขานั้นกลับถูกกอบโกย ออกนอกพื้นที่สร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้แก่คนอื่น ในขณะที่เจ้าของพื้นที่อาเจห์ยากจนต่อไป บรรดาพ่อค้าประชาชนทั้งหมดต่างเห็นสอดคล้องได้โดยง่าย แต่สำหรับแนวร่วมที่ GAM พุ่งเป้าเข้าไปหาคือบรรดาเด็กหนุ่มที่ไม่มีงานทำในพื้นที่ป่าเขาที่ไม่มีพื้นฐานการศึกษา ยิ่งทางการอินโดนีเซียเร่งปราบปรามมากเท่าใด เด็กหนุ่มเหล่านี้ยิ่งพากันเข้ามาเป็นแนวร่วมมากขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะมาล้างแค้นให้กับ ญาติพี่น้องของตนที่ถูกทางการรังแก

ส่วนสมาชิกคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ อัมรี บิน อับดุล วาฮับ (Amri Bin Abdul Wahab ) ซึ่งเป็น ผบ.ภาค ในพื้นที่ภาค di Tiro ก็มีประวัติความเป็นมาในการเข้ามาเป็นแนวร่วม GAM หลังจาก ทางการอินโดนีเซียประกาศกวาดล้างครั้งใหญ่ (DOM) ในปี พ.ศ.2540 ก่อนเข้ามาร่วมงานเขาฝักใฝ่ในขบวนการเอกราชตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 โดยลุงของ อัมรี ได้เคยไปรับการฝึกในลิเบียมาก่อน จึงชักชวนเขาให้เข้าร่วมกับ GAM ประกอบกับเพื่อนสนิทหลายคนถูกสังหาร อัมรี เป็นนักรบในป่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผบ.กองกำลัง ในปี พ.ศ.2544 ในช่วงที่ Abdullah Syalfi เป็น ผบ.ทหารสูงสุด อัมรี มีความมุ่งมั่น โดยกล่าวว่า “ช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของพวกเราคือช่วงที่ดัชท์ปกครองเรา ประเทศที่อังกฤษปกครองจะมีโอกาสดีทางการศึกษาและสร้างความเป็นปึกแผ่น แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด อันที่จริงแล้วไม่ได้เกิดจากดัชท์ แต่เกิดจากแนวคิดหลังยุคอาณานิคมของอินโดนีเซีย”

การขยายตัวของ GAM ในช่วงที่ 2 เริ่มในห้วงปี พ.ศ.2542 หลังจากยุทธการปราบปรามความไม่สงบครั้งใหญ่ของทางการอินโดนีเซียมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนออกมา จึงทำให้ GAM มีแนวร่วมเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก บรรดาแนวร่วมเหล่านี้ต่างฝังใจที่จะเข้ามาแก้แค้นกับทางการอินโดนีเซีย และต้องการเข้ามาเพื่อแสวงหาความความยุติธรรมที่อาจหลงเหลืออยู่ ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นการดึงผู้คนเข้ามาเป็น แนวร่วมได้อย่างมหาศาล จนทำให้เกิดนักรบหญิงขึ้นมาด้วยที่เรียกกันว่า “Inong Bale” ซึ่งบรรดาสตรีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแม่หม้ายที่สามีถูกสังหารในยุทธการ DOM เพราะเธอต่างประกาศตนเองเป็นลูกสาวของวีรชนผู้กล้าชาวอาเจห์

ในขณะเดียวกันสตรีชาวอาเจห์อีกจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเป็นแนวร่วม GAM เพราะว่าเธอเหล่านั้นเคยตกเป็นเหยื่อของบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Brimob) ที่มาสร้างความขมขื่น ความรุนแรงต่อสตรีในพื้นที่ GAM มองเห็นโอกาสที่ดีตรงนี้ จึงตั้งเป้าในการดึงสตรี แม่หม้าย เหล่านี้เข้ามาเป็นแนวร่วม และก็ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ยากนัก เพราะสตรีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ชิงชังเจ้าหน้าที่ของรัฐแบบเข้ากระดูกดำ ในบางพื้นที่ถึงกับมีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่าเป็น “หมู่บ้านแม่หม้าย” เพราะผู้ชาย ส่วนใหญ่ถูกสังหารในระหว่างยุทธการ DOM บรรดา “แนวร่วมใหม่” ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับ GAM อย่างเห็นได้ชัด และขยายตัวออกไปในพื้นที่อาเจห์ที่เหลือ แต่ผลกระทบในด้านลบได้ปรากฏขึ้นมาด้วย กล่าวคือ การมีแนวร่วมใหม่ของ GAM จำนวนหนึ่ง พบว่าการเข้ามาเป็น GAM ทำให้หาเงินได้มากขึ้นในเชิงคุณภาพพบว่าแนวร่วมใหม่ยังไม่มี ขีดความสามารถที่น่าพอใจ กลุ่มที่ไม่ใช่สายเลือดอาเจห์ดั้งเดิม ยังมีอุดมการณ์ไม่เข้มข้นเท่ากับ กลุ่มสายเลือดอาเจห์ ในขณะเดียวกันที่ในบางพื้นที่ก็ไม่สามารถเข้าไปมีอิทธิพลได้ เพราะทางการอินโดนีเซียได้เข้าไปปราบปรามประกอบกับเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีปัญหาหรือความยากจน

ดังนั้นจึงมีเรื่องที่บอกเล่ากันว่า GAM ได้พยายามขอให้แต่ละหมู่บ้านส่งผู้แทน 1 - 2 คน เข้าเป็นแนวร่วมให้ได้ และในทางปฏิบัติ GAM ก็ต้องใช้การคุกคาม ข่มขู่ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อสร้างความยำเกรงให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด จึงทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ติดตามมามากมาย รัฐบาลอินโดนีเซียเคยดำเนินนโยบายหยุดยิง 2 ครั้ง ซึ่ง GAM เข้าฉวยโอกาสนี้รีบเสริมความมั่นคงให้กับตนเอง ในช่วงการประกาศหยุดยิงครั้งแรก GAM มุ่งระดมหาแนวร่วมจากพื้นที่ฐานที่มั่น (Greater Aceh, north Aceh และ East Aceh) และพื้นที่บริเวณโดยรอบ โดยกำหนดให้เป็นฐานที่มั่น การหยุดยิงครั้งที่สองในช่วงนี้เรียกว่า Cessation of Hostilities Agreement หรือ COHA ในห้วงระหว่าง 9 ธ.ค.2542 – 18 พ.ค.2543 นั้น GAM มีเอกเทศมากขึ้นในการเสริมความมั่นคงแข็งแกร่ง ซึ่งแกนนำ GAM อาเจห์ในพื้นที่ ดารูมาลัม (Darumalam) ของอาเจห์ได้ให้ข้อมูลว่า “GAM พุ่งเป้าไปที่บรรดานักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อจะไห้เข้ามาเป็นแนวร่วม ซึ่งนาย อัมมิน บิน มาซากี ( Amin bin Marxaki) อธิบายว่ามีเหตุผล 3 ประการที่ผู้คนต่างเข้ามาเป็นแนวร่วม GAM คือ ประการแรก ประชาชนเห็นว่า GAM แข็งแกร่งและต้องการเข้ามาร่วมงาน ประการที่สอง ประชาชนทราบดีว่าทหารจะเข้ามาปฏิบัติการจึงทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมและคิดต่อสู้เพื่อชาติพันธ์ตนเอง และประการสุดท้าย ประชาชนไม่เชื่อใจรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่อย่างไร ก็ตามแนวร่วมเหล่านี้ต้องการให้โอกาสรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อมอบความเป็นอิสระและความเป็นอยู่ ที่ดีให้ชาวอาเจห์ เราพบว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่เคยปรับเปลี่ยนนโยบายและประชาชนไม่เคยได้รับประโยชน์แต่อย่างใด มีแต่ผู้ปกครองท้องถิ่น (Pemda : regionalgov) และกองทัพเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์”

บทที่ 3

บทที่ 3
กระบวนการจัดการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์
บทบาทของสหภาพยุโรป (EU) และ อาเซียน
ในการจัดตั้ง AMM


..........การเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM เริ่มเป็นทางการในระหว่าง 27 – 29 ม.ค.2548 ซึ่งได้รับแรงส่งจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ โดยความร่วมมือกันทางการเมืองภายใน และความเกี่ยวพันกับอำนาจหน้าที่ของอดีตประธานาธิบดีของฟินแลนด์ นาย มาร์ติ อาติซารี (Martti Ahrttisari) ผ่านทาง Crisis Management Initiative หรือ CMI ผ่านการเจรจานอกรอบ 3 ครั้ง เมื่อ ก.พ. เม.ย. และ พ.ค. กลุ่มต่างๆ ได้มีการสรุปข้อตกลงว่าด้วยเนื้อหาของ MOU ในการประชุมครั้งที่ 4 เมื่อ 12 – 17 ก.ค.2548

องค์กร CMI (Crisis Management Initiative) ได้ดำเนินการกระบวนการสันติภาพอย่างเป็นอิสสระจากโครงสร้างของ EU และผู้ปฏิบัติงานรายหนึ่งกล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้ได้จัดหาแหล่งเงินทุนสำหรับกิจกรรมต่างๆ ของการเจรจาเอง ทุกคนทราบดีว่าบทเรียนจากความล้มเหลว ที่ผ่านมาส่วนมากเกี่ยวกับการละเมิด “ข้อตกลงหยุดเป็นศัตรู” (Cessation of Hostility Agreement) เมื่อ พ.ค.2546 มีความสำคัญต่อการเลือกชาติที่น่าเชื่อถือที่จะมาตรวจสอบการเคารพข้อตกลงนี้ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากสำหรับรัฐบาลอินโดนีเซีย จากความทรงจำที่เจ็บปวดที่สูญเสียติมอร์ตะวันออกซึ่งเคยเป็นจังหวัดของอินโดนีเซีย ด้วยการเข้าแทรกแซงของ UN และนานาชาติ กลุ่มสังเกตการณ์ย่อย จำเป็นต้องเข้มแข็งพอให้น่าเชื่อถือและมีความมุ่งมั่นทางการเมืองเป็นตัวสนับสนุน EUเป็นผู้เสนอตัวที่อยู่ในระดับสูงสุดของภารกิจนี้ ในการเป็นหุ้นส่วนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน หลังจากติดต่อกันระหว่างประธานาธิบดี Ahtisaari และ นาย ฮาเวียร์ โซลานา (HR/SG Javier Solana) ด้วยการยินยอมของกลุ่มที่ขัดแย้งต่างๆ EU ได้ส่งมอบภารกิจการประเมิน (assessment mission) ต่ออาเจห์ เมื่อสิ้น มิ.ย.2548 ในระยะเริ่มต้น เจ้าหน้าที่ EU ก็ต้องพบกับความยุ่งยากในการดำเนินงานวางแผนที่ต้องดูแลอย่างเต็มที่ เพราะข้อกำหนดของข้อตกลงต้องเก็บเป็นความลับและไม่เปิดเผยจนกว่าจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการใน 15 ส.ค.2548 บุคคลผู้เกี่ยวข้องค่อนข้างอึดอัดที่ไม่ได้เข้าไปรับรู้ตั้งแต่แรกกับกระบวนการสันติภาพ ไม่แน่ใจว่ารัฐสภายุโรปนำไปสู่ข้อผูกมัดหรือไม่ อย่างไร เจ้าหน้าที่จากสภาและคณะกรรมาธิการได้เดินทางไปกรุงเฮลซิงกิ ตอนรอบสุดท้ายของการเจรจาในกลางเดือน ก.ค. ที่พอจะได้มีโอกาสพบกับผู้เข้าร่วมในการเจรจาบางคน โดยไม่ได้มีส่วนร่วมในการประชุมจริงๆ EU ได้รับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับภาวะของการปฏิบัติ ผ่านทางการประชุมแบบไม่เป็นทางการกับผู้แทนของ Crisis Management Initiative ณ กรุงบรัสเซลส์

เมื่อ 18 ก.ค.2548 สภาวิเทศสัมพันธ์และกิจการทั่วไป (General Affairs and External Relations Council/GAERC) ได้รับทราบข้อมูลที่จะต้องมีการใช้กำลังพลจากยุโรปในอาเจห์ สภาได้บันทึกในรายงานของ “ภารกิจสังเกตการณ์” (Monitoring Mission) และยอมรับในบทสรุปที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งวันก่อนที่จะมีการเจรจา ณ กรุงเฮลซิงกิ ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่า ในหลักการ EU มีการเตรียมตัวเพื่อที่จะจัดหาผู้สังเกตการณ์ที่จะติดตามการดำเนินงานของ MOU และซักถามคณะกรรมการที่มีความสามารถชุดต่างๆ ที่จะดำเนินงานวางแผนสำหรับภารกิจสังเกตการณ์ต่อไป และเพื่อที่จะสร้างการติดต่อกับอาเซียน กลุ่มกรรมการที่โดดเด่นจะเป็นคณะกรรมการด้านความมั่นคงทางการเมือง (Political and Security Committee) และส่วนมากมีความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติงาน ขณะที่บางประเทศ เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ได้ผลักดันให้ EU เข้าร่วมปฏิบัติการสันติภาพในอาเจห์ แต่ประเทศสมาชิกบางประเทศมิได้มองภารกิจของอาเจห์เป็นความจำเป็นเร่งด่วน

นับเป็นภารกิจด้านนโยบายทางการทหารและความมั่นคงของยุโรปฉบับแรก (European Security and Defiance Policy/ESDP) ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอยู่ห่างจากยุโรป ถึง 10,000 ก.ม. (อยู่ในภูมิภาคที่ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรป ยกเว้นชาวดัชท์ และรู้จักกันน้อยมาก) บางคนรู้สึกว่า EU ควรที่จะทุ่มเทเอาใจใส่กับปัญหาที่อยู่ใกล้บ้านมากว่า ผลงานที่โดดเด่น อาทิ การสร้างเสถียรภาพของ บัลข่าน (Balkans) ภารกิจของ EU คือรอบๆ ซาฮาราน แอฟริกา และในประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนใหญ่ การต่อสู้กับปัญหาเร่งด่วนเกี่ยวกับผู้อพยพและองค์กรอาชญากรรมที่มาจากนอกทวีป อังกฤษที่ทำหน้าที่เป็นประธานโดยตำแหน่ง EU (EU British Presidency) ในระยะแรกๆ ยังไม่เฉียบคมกับภารกิจนี้นัก แต่เมื่อมีทัศนคติในทางบวกมากขึ้น จึงได้เข้าร่วมกับประเทศใน กลุ่มสแกนดิเนเวีย และฝรั่งเศส ภารกิจในอาเจห์ ถูกกล่าวถึงในฐานะที่ให้ประโยชน์ที่เป็นไปได้ในแง่มุมต่างๆ

1. แสดงถึงว่า Commission of Security Arrangements;ESDP ยังยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองและสามารถที่จะส่งความช่วยเหลือไปได้ ทั้งๆ ที่มีการคัดค้านสนธิสัญญารัฐธรรมนูญและมีการคุมเชิงงบประมาณกันอยู่
2. ภารกิจในอินโดนีเซีย จะเป็นที่กล่าวขวัญของคนที่กล่าวถึง EU ในฐานะที่เป็นผู้แสดงบทบาทในระดับโลก ไม่จำกัดเฉพาะการทำให้เกิดเสถียรภาพในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ให้การดูแลในเรื่องเป้าหมายที่ท้าทาย
3. ภารกิจนี้จะเสนอกรณีตรวจสอบการทำงานของกลไกของ ESDP สำหรับการจัดการภาวะวิกฤตของประชาชน และโดยเฉพาะ การตั้งหน่วยร่วมทหาร – พลเรือน (CilMil Cell) ใหม่ นอกจากนั้น ด้วยการมองเหตุการณ์จากพื้นฐานจะเห็นค่อนข้างชัดเจนว่า การขาดผู้สังเกตการณ์ ที่ไม่ลำเอียง และมีความน่าเชื่อถือจะนำไปสู่การทำลายข้อตกลงด้านสันติภาพ และเกิดเป็นศัตรูกันอีกครั้ง
การจำแนกในช่วงแรกของหัวหน้าคณะผู้แทน ที่จะกำหนด AMM (หัวหน้าของ IMP อีกตำแหน่ง) ซึ่งเป็น Deputy Director General for ESDP and Operations ในเลขาธิการสภา นายปีเตอร์ เฟธ (Peter Feith) ชาวดัชท์ และยังมีหัวหน้าภารกิจประเมินด้านเทคนิคอีก (Head of Technical Assessment Mission/TAM) ซึ่งโดยตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะInitial Monitoring Presence; IMP และ AMM นาย ปีเตอร์ เฟธ นับเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสและมีประสบการณ์จากแผนกบริหารความเสี่ยงของเลขาธิการ
แผนภาพที่ 6 : รูปแบบของกระบวนการสันติภาพในอาเจห์




การวางพื้นฐานของภารกิจ
เมื่อ 1 – 2 ส.ค.2548 เจ้าหน้าที่วางแผนจาก EU และอาเซียนพบกัน ณ กรุงจาการ์ตา เพื่อกำหนดรายละเอียดของงานที่ได้รับมอบหมาย ในบริบทของการได้รับมอบอำนาจร่วมกันจาก MOU ที่ลงนามแล้ว มีข้อตกลงว่า EU จะเป็นองค์กรนำ และอาเซียนจะคัดเลือกรองหัวหน้าภารกิจอาวุโส (Principal Deputy Head of Mission) 1 คน จะบรรจุผู้สังเกตการณ์ 220 คนหรือมากกว่า ในจำนวนนี้ 120 คน จะมาจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม EU ผู้สังเกตการณ์จาก EU และ อาเซียน จะปฏิบัติการร่วมกันเป็นทีม สำหรับ 5 ประเทศในกลุ่มอาเซียน (บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ ไทย) เห็นชอบที่จะร่วมใน IMP เจ้าหน้าที่จากเลขาธิการสภา (DGEIX) หน่วยร่วมทหาร - พลเรือน (CilMil Cell) และคณะกรรมาธิการ ตลอดจนประธาน EU โดยตำแหน่ง ได้มีส่วนเข้าร่วมในการประชุมครั้งก่อน หลังจากที่ Technical Assessment Mission ;TAM ได้ถูกจัดลงประจำการที่อาเจห์อย่างทันทีทันใด รวมทั้งบุคลากรจากกรรมการชุดต่างๆ ของ EU ประเทศสมาชิกอาเซียน และ CMI

15 ส.ค.2548 EU ร่วมกับประเทศในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ ได้เข้าร่วมในภารกิจนี้ ประกอบด้วย บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ผู้สังเกตการณ์จำนวน 50 คน จากทั้ง EU และอาเซียน ได้ร่วมกันสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในหมู่ประชาชนของอาเจห์ ในช่วงแรกของการปฏิบัติการตาม MOU ทั้งนี้บทบาทดังกล่าว มี พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองหัวหน้าภารกิจอาวุโส (Deputy Principal Head of Mission) จากประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ

การวางแผนของหน่วย IMP มีความสำคัญ ที่จะให้มั่นใจว่า ภารกิจสามารถจะเริ่มต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพใน 15 ก.ย.2548 ความคาดหวังที่สูงมากและเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องแสดงความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมให้ปรากฏต่อกระบวนการสันติภาพซึ่งเร่งให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ประเด็นที่เป็นความท้าทายสำหรับ EU คือ รัฐบาลอินโดนีเซียจะยอมนิรโทษกรรมทหารฝ่าย GAM ใน 30 ส.ค.2548 หรือไม่ และต่อมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้ปฏิบัติตาม MOU อย่างเคร่งครัด โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้นิรโทษนักโทษการเมือง และผู้ต้องหาที่เป็นชาวอาเจห์ทั้งหมดจากที่คุมขังในจาการ์ตาและจากเรือนจำต่างๆ เดินทางโดยเครื่องบินมาทำพิธีปล่อยตัวให้เป็นอิสระ ณ สนามบิน บันดา อาเจห์ ตามข้อตกลง ผลที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้ EU คลายกังวล และความไว้เนื้อเชื่อใจของ ทุกฝ่ายมีอย่างเปี่ยมล้น ความท้าทายต่อมา คือ ทหารฝ่าย GAM พร้อมและเต็มใจที่จะปลดอาวุธหรือไม่ จะมีการถอนกำลังทหารจากอาเจห์หรือไม่ การแลกเปลี่ยน Package แบบบูรณาการตามสัญญาที่รัฐบาลอินโดนีเซียสัญญาให้ไว้สำหรับโครงการกลับคืนสู่สังคมจะปฏิบัติได้หรือไม่

การก่อตั้ง IMP ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหาการวางแผนขั้นพื้นฐาน นาย ปีเตอร์ เฟธ หัวหน้าภารกิจอาวุโส เร่งรัดการประสานงานกับ บรัสเซล และมอบให้ พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองหัวหน้าภารกิจอาวุโส ทำหน้าที่ที่เรียกว่า การสร้างความเข้าใจตามข้อตกลง (MOU Familialisation) กล่าวคือ การนำทีมที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก EU และอาเซียนไปพบปะกลุ่มประชาชน สมาคม แหล่งสมาคม สถานศึกษา ผบ.หน่วยทหาร ในอาเจห์ ทุกวัน วันละหลายแห่ง เพื่อสร้างความเข้าใจ อธิบาย ตอบข้อซักถาม

แผนภาพที่ 7 : พล.ท.นิพัทธ์เข้าพบ ผบ.พลน้อย ในอาเจห์เพื่อขอความร่วมมือ ในการหยุดยิง




แผนภาพที่ 8 : พล.ท.นิพัทธ์ฯ เชิญแม่ทัพภาคอาเจห์ ผวจ.อาเจห์ แกนนำ GAM
และ เจ้าหน้าที่จากสหภาพยุโรปประชุมเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 ส.ค.48 ณ เรือนรับรองบันดาอาเจห์





ในห้วง IMP ตลอดทั้งเดือน (15 ส.ค.ถึง 14 ก.ย.2548) การปฏิบัติภารกิจในอาเจห์เป็นไปด้วยความราบรื่น เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติภารกิจนี้ที่ปฏิบัติภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพ คือนายจัสติน เดวี่ (Justin Davies) อดีตนายทหารของ ทบ. อังกฤษที่ทำหน้าที่ Chief of Staff ที่ควบคุมการทำงานของทุกฝ่ายให้ประสานสอดคล้อง ทันเวลา และต้องขอชมเชยวัฒนธรรมในการทำงานของเจ้าหน้าที่ IMP ดังนี้
1. การมีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ในงานด้านความมั่นคง (Security Matters) เป็นอย่างดี หลายคนเป็นนายทหารที่ประจำการใน กองบัญชาการของ EU ดังนั้น การทำแผนปฏิบัติการต่างๆ เป็นงานที่ถนัดอยู่แล้ว
2. เจ้าหน้าที่ทุกคนที่มาจากต่างชาติ ต่างภาษา มีความหลากหลายทางความคิด สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการยึดถือ กฎ ระเบียบ หลักนิยมที่ EU ใช้ปฏิบัติ และใช้ รปจ. เป็นตัวตัดสินทุกปัญหา นายทหารจากประเทศไทยที่ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเสาหลักให้กับ IMP ในช่วงการวางรากฐานคือ พ.อ.นพดล มังคละทน จาก บก.ทหารสูงสุด ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น บก.กองทัพไทย
3. เจ้าหน้าที่จาก EU มีระเบียบวินัยเคร่งครัด โดยเฉพาะการตรงต่อเวลาทุกวัน ในเวลา 0800 น. จะมีการประชุมเพื่อรับทราบสถานการณ์ กำหนดแผนงาน และปรับแผนการทำงาน เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความรับผิดชอบสูง
4. ระบบการส่งกำลังบำรุงและระบบงบประมาณ ต้องตอบสนองการทำงานในสนาม บางครั้งสามารถใช้การบอกด้วยวาจา ก็สามารถเบิกสิ่งอุปกรณ์ในการทำงานได้ หรือการจัดหาสิ่งของด้วยตนเองแล้วนำเพียงใบเสร็จไปให้ เจ้าหน้าที่การเงิน ก็สามารถรับเงินทดแทนได้ในทันที แต่อย่างไรก็ตาม นาย ปีเตอร์ เฟธ ต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ได้ งบประมาณมาปฏิบัติงานในช่วงต้น ส.ค.2548 และเขาต้องไปสร้างความมั่นใจต่อสภา EU ว่า ภารกิจนี้จะได้รับการช่วยเหลือด้านเงินทุนตลอดไป ตัวอย่าง ของความขลุกขลักในช่วงต้น เช่น เจ้าหน้าที่ของ IMP เคยได้รับคำสั่ง ให้นำเงินสด 7,000 ยูโร ติดตัวไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายส่วนตัว บางคนนำเงินส่วนตัวมาใช้และแม้แต่การจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินเอง ขณะเดียวกัน IMP มีการกระตุ้นให้เปิดบัญชีธนาคารไว้ในบันดา อาเจห์ จึงทำให้เกิดความขลุกขลักไม่น้อย


ในระยะเริ่มต้นของภารกิจนี้ ประเทศสวีเดนได้แสดงบทบาทนำการจัดการงานบริการ และการส่งกำลังบำรุง รวมทั้งระดมเงินสดให้อย่างเป็นรูปธรรม อังกฤษที่ทำหน้าที่เป็นประธานโดยตำแหน่ง และฟินแลนด์ ได้บริจาคเป็นตัวเงินสดให้เพิ่มเติม ในนาทีสุดท้ายที่ทำให้ IMP สามารถเริ่มทำงานต่อไปได้และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับงานอื่นๆ ที่รวมถึงการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการสืบสวนการละเมิด MOU ใน 2 เรื่องที่ร้ายแรง เกิดขึ้นก่อน 15 ก.ย.2548 IMP ได้ให้การดูแลองค์กรที่ฝึกอบรมสำหรับผู้สังเกตการณ์ของ EU และอาเซียน ที่เดินทางมาถึงระหว่าง 10 – 12 ก.ย.2548 นั้นได้จัดให้มีการปฐมนิเทศอย่างเข้มข้น ณ เมืองเมดาน

ผู้วิจัยในตำแหน่ง รองหัวหน้าภารกิจอาวุโส ได้ไปเป็นประธานกล่าวต้อนรับสมาชิก IMP ทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จาก EU อาเซียน ที่จะทำหน้าที่ในบทบาทของ AMM เจ้าหน้าที่ทุกคนจะได้รับทราบบทเรียนภูมิหลังทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของจังหวัด ทหารและตำรวจอินโดนีเซีย GAM การปกครองในอาเจห์ และเน้นในส่วนของเทคนิคด้านการปลดอาวุธ(Decommissioning) การตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน การประเมินผลโดยทั่วไปของห้วงการฝึกอบรมเป็นไปในทางบวก และได้รับการกล่าวอย่างชื่นชมและเกิดความเชื่อมั่นว่าที่จะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมและเป้าหมายของภารกิจได้

ข้อสังเกตด้านงบประมาณ
การจัดทำงบประมาณมีความไม่คล่องตัวนัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจในกรุงบรัสเซลส์ที่ต้องจัดหาจากประเทศสมาชิก เลขาธิการสภา EU ได้เตรียม Roadmap ที่แท้จริง รวมทั้งการประชุมต่างๆ ของ PSC เงินทุนต่างๆ ก็เตรียมไว้พร้อมแล้ว หน่วยงาน (cell) ได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยเลขาธิการสภาที่จะตรวจสอบและสนับสนุนการเริ่มปฏิบัติภารกิจในระยะต่างๆ ตลอดเดือน ส.ค. ตั้งแต่ Technical Assessment Mission;TAM ไปจนถึง Initial Monitoring Presence;IMP จนกระทั่งเริ่มดำเนินการ AMM ใน ก.ย.2548 โดยเฉพาะ อังกฤษในฐานะประธานโดยตำแหน่ง ได้ยืนกรานให้ CilMil Cell เข้ามารับผิดชอบในการวางแผน อย่างไรก็ตาม CilMil Cell ยังทำงาน ไม่ถึงขีดความสามารถอย่างเต็มที่ การแก้ปัญหาอย่างมีรูปธรรม พบว่า ความร่วมมือตามเงื่อนไข ที่กำหนดระหว่าง CilMil Cell และ DG EIX ที่รับผิดชอบต่อการจัดการภาวะวิกฤตฝ่ายพลเรือน

เมื่อ 18 ก.ค. มีการสรุปของสภา เพื่อประสานความร่วมมือของ EU ในอาเจห์ หัวหน้าหน่วยงานด้านวิเทศสัมพันธ์ (External Relations Directorate General) ของคณะกรรมาธิการ ได้ตรวจสอบเงินทุนในการปฏิบัติภารกิจ การสนับสนุนดังกล่าว และนำเสนอต่อ PSC ในวันต่อมา จนเกิดการตอบโต้กันอย่างรุนแรง (Bitter Confrontation) ระหว่างหน่วยงานด้านกฎหมายของสภาและคณะกรรมาธิการ จากความแตกต่างของการนำไปใช้ในระยะยาวและกว้างขวางขึ้นเกี่ยวกับเงินทุนของ AMM ระหว่างสถาบันของ EU และ รัฐสมาชิกนั้น จึงขอนำรายละเอียดบางประการของรูปแบบของมุมมองดังกล่าวมาบันทึกในเอกสารวิจัย ดังต่อไปนี้
1. โครงการความช่วยเหลือจากเหตุสึนามิ โดยเฉพาะการช่วยเหลือในการพัฒนาชุมชนส่งผลในทางบวกต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งของอาเจห์อย่างสันติ
2. คณะกรรมาธิการพร้อมที่จะวางแนวการสนับสนุนซึ่งถูกส่งผ่านมาทางเครื่องมือชุมชนที่เป็นกรอบด้านการเมืองที่เห็นชอบแล้วโดยมาถึงในนามของ CFSP และพร้อมที่จะมั่นใจว่าในระดับปฏิบัติการ การปฏิบัติการชุมชนได้รับการแนะนำโดยการควบคุมด้านการเมืองและการชี้แนะทางยุทธศาสตร์ของ PSC
3. คณะกรรมาธิการไม่สามารถให้การช่วยเหลือด้านเงินทุนอย่างถูกกฎหมายกับบางส่วนของ ภารกิจว่าซึ่งเป็นลักษณะงานทหารเช่น การปลดอาวุธ (Decommissioning)
4. ในช่วงต้นของภารกิจ AMM จะได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินโดยกลไกการตอบสนองแบบเร่งด่วน (Rapid Reaction Mechanism;RRM) จำนวน 3 ล้านเหรียญยูโร เงินกองทุนที่เหลือจะถูกจัดหาโดยโครงการของละตินอเมริกาและเอเชีย
5. คณะกรรมาธิการจะให้เงินช่วยเหลือแก่ภารกิจนี้ ผ่านทางทุนที่ให้ต่อรัฐสมาชิกที่อยู่ในกรอบ หลังจากกำหนดการเรียกร้องข้อเสนอต่อรัฐสมาชิกทั้งหมดและการคัดเลือกประเทศต่างๆ ซึ่งแสดงความสนใจที่จะเป็นรัฐสมาชิกของกรอบดังกล่าว ข้อเสนอที่ถูกส่งไปที่คณะกรรมาธิการจะรวมเข้าไปในแนวคิดการจัดการด้านวิกฤต CONOPS และเอกสารที่สอดคล้องกับ OPLAN อย่างโดดเด่น
6. เงินเดือนของเจ้าหน้าที่จะได้รับการช่วยเหลือโดยรัฐสมาชิก งบประมาณจะครอบคลุมค่าเบี้ยเลี้ยง (per diems) ค่าเดินทาง เงินเดือนเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ค่าเช่าอาคารที่พัก และเครื่องอุปกรณ์ที่จำเป็นทั้งหมด ขั้นตอนการจัดหาอย่างเร่งรีบและยืดหยุ่นได้ถูกคาดการณ์ไว้
7. PSC จะได้รับรายงานด้านภารกิจและจัดทำข้อแนะนำทางการเมืองในภาพรวม และจะมีการรายงานการปฏิบัติการแบบคู่ขนานต่อคณะกรรมาธิการและสภาโดยรัฐสมาชิกของกรอบดังกล่าว เฉพาะการแก้ไขสำคัญต่อแผนและงบประมาณเดิมเท่านั้นที่ต้องยื่นต่อคณะกรรมาธิการเพื่อขออนุมัติ
8. ประเทศสมาชิกสามารถเสนอชื่อ หัวหน้าภารกิจ (Head of Mission) รวมทั้งเสนอชื่อหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการที่รับผิดชอบการบริหารจัดการประจำวันและการรายงานเกี่ยวกับสัญญาต่อคณะกรรมาธิการ หัวหน้าภารกิจได้รับการแต่งตั้งโดยสภา ด้วยการทำหน้าที่ทางการเมืองขั้นเริ่มต้น
9. ภารกิจดังกล่าวจะได้รับการนำเสนอในฐานะที่เป็นภารกิจอย่างหนึ่งของ EU ที่ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างองค์ประกอบของ ESDP และ EC คณะกรรมาธิการจำเป็นต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับคำกล่าวสาธารณะและปัจจัยนำเข้า (Input) ที่ได้รับการรับรองในการติดตามภารกิจดังกล่าว

จากมุมมองด้านงบประมาณ ในที่สุดมีการอนุมัติเงิน 3 ล้านเหรียญยูโร ตามที่กำหนดไว้สำหรับขั้นตอนแรกของ AMM แต่งบประมาณดังกล่าวจะไม่นำไปใช้จ่ายในภารกิจอื่นๆ ในการสนับสนุนสถาบันและงานการเมือง เมื่อตอนสิ้นเดือน ก.ค.2548 ยังคงไม่ชัดเจนว่า EU จะอยู่ในบทบาทที่จะปฏิบัติตามข้อผูกมัด (ครึ่งหนึ่ง) ที่จะดำเนินการภารกิจสังเกตการณ์ในอาเจห์หรือไม่ รัฐสมาชิกจำนวนมากไม่ค่อยให้ความสนใจที่จะชื่นชมภารกิจ ผู้แทนประเทศสมาชิกในกรุงบรัสเซลส์ที่จะรู้จักสถานการณ์จริงในภาวะพื้นฐานเป็นอย่างดีมีน้อยมาก ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะหาเงินนั้นมาจากไหน เจ้าหน้าที่สภาทั้ง 3 คน ได้รับการร้องขอให้ส่งทำงานทั้งคืนเพื่อจัดทำงบประมาณ ทีมดังกล่าวนึกวาดภาพจากประสบการณ์งานการปฏิบัติการเพื่อสันติภาพที่ผ่านมาซึ่งเป็นภาพที่ไม่ราบรื่นนัก

ภาวะขาดแคลนด้านการเงินและการเผชิญกับความลังเลใจ ไม่เต็มใจของประเทศต่างๆ ที่จะเข้าร่วมปฏิบัติการในอินโดนีเซีย เป็นอุปสรรคไม่น้อย แต่กระนั้นสถานการณ์ดังกล่าว ก็ได้รับการแก้ไขโดย นาย โซลานาในที่สุด รัฐสมาชิก 7 ประเทศเสนอให้การช่วยเหลือแบบเป็นค่าตอบแทนสำหรับจำนวนเงินในภาพรวมทั้งหมดประมาณ 5 ล้านเหรียญยูโร ขณะที่ 1 ล้านเหรียญยูโรมาจากการช่วยเหลือแบบทวิภาคีของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกที่รู้กันดี คือ นอรเวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ที่จัดวางผู้สังเกตการณ์ประเทศละ 3 คน สวีเดนเป็นประเทศที่ให้การช่วยเหลือมากที่สุดของกลุ่มประเทศ EU โดยให้มากกว่า 4 ล้านเหรียญยูโร เป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนระบบ การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร และอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้วิจัยเองได้เข้ามามีส่วนร่วมในแผนการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศตั้งแต่เริ่มต้นภารกิจและในระหว่างภารกิจ ผู้วิจัยได้กำหนดให้มี website เพื่อการ ปชส. ภารกิจของ AMM ซึ่งทีมงานของสวีเดนได้ตอบสนองอย่างมีประสิทธิภาพ

ภารกิจของ AMM
AMM มีภารกิจในการสังเกตการณ์และตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงสันติภาพ (MOU) ซึ่งเป็นพันธกรณีที่ทั้งฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย (GOI) และ GAM ได้ตกลงที่จะปฏิบัติตามเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งสันติภาพในอาเจห์ ภารกิจหลักที่ AMM รับผิดชอบ ประกอบด้วย
1. ตรวจสอบและติดตามการปลดอาวุธของสมาชิกขบวนการอาเจห์เสรี
2. ตรวจสอบและติดตามการถอนกำลัง ทหารและกำลังตำรวจที่ไม่ได้สังกัด มีที่ตั้งในจังหวัดอาเจห์ กลับสู่ที่ตั้งเดิม
3. ตรวจสอบและติดตามการกลับคืนสู่สังคม และการช่วยเหลือด้านต่างๆ ต่อขบวนการอาเจห์เสรี
4. ตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และการช่วยเหลือให้คำแนะนำ
5. ตรวจสอบและติดตามกระบวนการนิติบัญญัติ
6. ตรวจสอบและติดตามการนิรโทษกรรม
7. ตรวจสอบ ติดตาม และสอบสวนข้อร้องเรียนของการละเมิดข้อตกลงสันติภาพของทั้งสองฝ่าย
8. การติดตามและดำรงไว้ของความสัมพันธ์ และร่วมมือกันของทุกฝ่าย

การดำเนินงานของภารกิจ AMM
1. ห้วง 14 ส.ค.– 14 ก.ย.2548 : การวางกำลังขั้นต้น (Initial Monitoring Presence : IMP) เป็นการวางกำลังผู้สังเกตการณ์ก่อนการลงนามในข้อตกลงสันติภาพเพื่อวางแผนและเตรียมการสำหรับการเริ่มภารกิจ AMM ใน 15 ก.ย.2548 จัดกำลังจากสหภาพยุโรปและประเทศอาเซียน 5 ประเทศ มีกำลังรวม ประมาณ 70 คน
2. ห้วง 9 ก.ย. – 12 ก.ย.2548 : ห้วงการฝึกก่อนการวางกำลัง เป็นการเคลื่อนย้ายกำลังผู้สังเกตการณ์จากประเทศต่างๆ ทั้งหมดเข้ารับการฝึกอบรมและเตรียมการก่อนการวางกำลังใน 15 ก.ย.2548 ซึ่งถือเป็นวันแรกของการเริ่มภารกิจ AMM ตามข้อตกลงสันติภาพ
3. ห้วง 13 ก.ย. – 14 ก.ย.2548 : ห้วงการวางกำลังผู้สังเกตการณ์ ภารกิจ AMM วางกำลังผู้สังเกตการณ์ในชุดสังเกตการณ์ประจำพื้นที่จำนวน 11 ชุด ชุดรับมอบ/ทำลายอาวุธ จำนวน 4 ชุด และ บก.ภารกิจ AMM ณ เมืองบันดา อาเจห์

แผนการปฏิบัติของ AMM จะแบ่งออกเป็น 4 ขั้น การปฏิบัติ คือ
ขั้นที่ 1 คือ ขั้นการฝึก และการวางกำลัง ซึ่ง AMM ได้เริ่มวางกำลังส่วนล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่ 14 ส.ค.2548 มีเจ้าหน้าที่ของไทย จำนวน 4 นาย รวมอยู่ในส่วนนี้ด้วย การวางกำลังทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ใน 15 ก.ย.2548 และจะมีการฝึกเจ้าหน้าที่ ในระหว่าง 10 - 13 ก.ย.2548
ขั้นที่ 2 คือ ขั้นการปลดอาวุธ และถอนกำลังทหาร ในขั้นตอนนี้จะเป็นการดำเนินการในการปลดอาวุธสมาชิก GAM และการถอนกำลังทหารอินโดนีเซีย
ขั้นที่ 3 คือ การสถาปนาความมั่นคง และ ส่งมอบความรับผิดชอบ ในขั้นนี้จะเป็นการฝึกอบรม และดูแลอดีตสมาชิก GAM เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่สังคม และใช้ชีวิตตามปกติได้ นอกจากนี้ยังมีการปฏิบัติอื่นๆ เพื่อเป็นการสร้างเสริมให้เกิดสันติภาพขึ้นอย่างถาวรในพื้นที่
ขั้นที่ 4 ซึ่งเป็นขั้นสุดท้าย คือ การถอนกำลังของ AMM ออกจากพื้นที่ปฏิบัติการ

การปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพเฮลซิงกิ (MOU Helsinki)

หลักการและขั้นตอนการไปสู่สันติภาพร่วมกันมีความเหมาะสม (MOU)
1. การยุติการใช้ความรุนแรงทั้งปวงโดยไม่มีเงื่อนไขจากทั้งสองฝ่าย
2. การนิรโทษกรรมและปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมเนื่องจากการเคลื่อนไหวร่วมกับ หรือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอาเจห์เสรี (Amnesty to GAM’s Prisoners)
3. การปลดอาวุธ และปลดประจำการนักรบติดอาวุธของ GAM (GAM’s Decommissioning and Demobilization)
4. การให้หลักประกันในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของนักโทษการเมือง อดีตนักรบ และสมาชิก GAM ในกระบวนการสันติภาพ
5. การถอนกำลังทหารและตำรวจที่รัฐบาลนำเข้ามาเสริมกำลังในอาเจห์ออกไปทั้งหมด (Redeployment of non – Organic Military and Police)
6. การตรวจสอบกำลังทหารและตำรวจประจำการในอาเจห์ (Organic Military and Police Forces)
7. การดำเนินการโครงการกลับคืนสู่สังคม (Reintegration Program) และการฟื้นฟูสังคมโดยรัฐบาล ให้กับอดีตนักรบ และสมาชิกของ GAM และการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งด้วยอาวุธ
8. การออกกฎหมายปกครองอาเจห์ (Law on the Governing of Aceh)
9. การจัดการเลือกตั้งในอาเจห์ และการถ่ายอำนาจการปกครองจังหวัดไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง
10. การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของการเมืองท้องถิ่นในอาเจห์ให้มีความยั่งยืน (Sustenance of Sustainable Democracy and Political Development)
เป็นที่ชัดเจนว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและ GAM ยอมรับร่วมกันว่า ภารกิจ AMM นั้น ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ฝ่ายรัฐบาลกล่าวว่า “แม้ว่า มีงานอีกหลายงานที่ยังทำ ไม่แล้วเสร็จ แต่ฝ่ายรัฐบาลก็สามารถจะร่วมมือกับฝ่าย GAM ดำเนินการต่อไปให้สำเร็จได้ เพราะ หลายเรื่องต้องใช้เวลาในการดำเนินการ แม้ว่าจะเร่งให้จบภายในห้วงเวลาที่ AMM ยังไม่จบภารกิจ แต่ก็ไม่ทันเพราะ มีข้อจำกัดในเรื่องระเบียบ ข้อบังคับ ของทางราชการของฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนมาก รวมทั้งการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการเงินและงบประมาณ”
ฝ่าย GAM เห็นว่า “AMM ควรจะอยู่จนกว่า การดำเนินการตามข้อตกลงจะสำเร็จสมบูรณ์ การที่ AMM จากไปก่อนที่ข้อตกลงทั้งหมดจะได้รับการปฏิบัติให้สำเร็จ เช่น เรื่อง กฎหมายปกครองอาเจห์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญของการอยู่ร่วมกันในอนาคตระหว่างอาเจห์กับรัฐบาลกลางนั้น ทำให้ GAM ขาดความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม ฝ่าย GAM หวังว่า รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามที่ MOU กำหนด ตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดโดยเร็ว และถือเป็นความเร่งด่วน แต่ทั้งนี้ GAM ไม่ได้หมายความว่า ภารกิจ AMM ไม่ประสบความสำเร็จ GAM ถือว่า ภารกิจ AMM ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในทุกเรื่องที่ได้รับการแก้ไข และดำเนินการมา นับว่า เป็นกลาง และยุติธรรมกับทุกฝ่าย”

แผนภาพที่ 9 : MOU Helsingki ซึ่งเป็นผลผลิตจากการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาล อซ. และGAM เป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในกระบวนการสันติภาพ




ความสำเร็จของภารกิจ AMM ที่นับว่าสำคัญยิ่ง คือ การวางรากฐานความเชื่อมั่นระหว่างทั้งสองฝ่าย ว่าการดำเนินการตาม MOU สามารถบรรลุผลได้ บนพื้นฐานแห่งความพอใจของทั้งสองฝ่าย ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้พิสูจน์ความจริงใจต่อกันในขั้น การมอบอาวุธ และการถอนกำลังทหาร

การดำเนินการของกองทัพไทยในอาเจห์

กรมยุทธการทหาร ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด เรื่อง การพิจารณาคัดเลือกและจัดส่ง บุคลากรทางทหารเข้าร่วมคณะ ผู้สังเกตการณ์รักษาสันติภาพ ในจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย โดยให้คณะกรรมการฯ ดำเนินการคัดเลือก นายทหารสัญญาบัตรชั้นยศ ร.อ. - พ.ต./นต. 19 นาย ไปปฏิบัติหน้าที่คณะผู้สังเกตการณ์รักษาสันติภาพ ในจังหวัดอาเจห์ ทั้งนี้ การเข้าปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบกระบวนการสันติภาพในอาเจห์เป็นการปฏิบัติการครั้งแรก ตั้งแต่มีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงเพื่อยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างตัวแทนของรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM จากสถานการณ์รุนแรงที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยพื้นที่ปฏิบัติการนั้นเป็น พื้นที่ทางบกและพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานในลักษณะของการเฝ้าตรวจและสังเกตการณ์ โดยไม่ติดอาวุธ นอกจากนี้ประชาชนทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม ผู้ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติการในสนาม ทั้งทางบกและทางทะเล และหากเป็น ผู้นับถือศาสนาอิสลามหรือมีความรู้ภาษาอินโดนีเซียก็จะมีความเหมาะสมเป็นพิเศษ


ครม. มีมติ เมื่อ 29 พ.ย.2545 อนุมัติหลักการให้ยืมตัวบุคลากรทางทหารของไทย เข้าร่วมคณะผู้สังเกตการณ์ในการตรวจสอบกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์ครั้งแรก ตามคำขอขององค์กร Henri Dunant Center : HDC และรัฐบาลอินโดนีเซียขอรับการสนับสนุนเมื่อ 19 พ.ย.2545 และเมื่อ 6 ธ.ค.45 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติให้กองบัญชาการทหารสูงสุดดำเนินการเตรียมบุคลากรและคัดเลือกกำลังพลเพื่อสนับสนุนภารกิจดังกล่าว ผลการคัดเลือกได้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 3 คน บรรจุในตำแหน่งของคณะผู้แทนอาวุโส และประธานคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงร่วม (Senior Envoy/Chief of Joint Security Committee : JSC) นอกจากนี้ยังบรรจุเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ตรวจสอบในสนาม (Field Monitoring Team) อีกเป็นจำนวน 24 คน โดยทั้งหมด ถูกส่งเข้าปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ 16 ธ.ค. และ 23 ธ.ค.2545

สาเหตุที่ไทยส่งกำลังเข้าร่วม
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนอาเจห์ ทำให้มีองค์กรเอกชนชื่อ อังรี ดูนังต์ (Henri Dunant Centre for Humanitarian Dialogue : HDC) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดำเนินการผลักดันให้ขบวนการอาเจห์เสรี และรัฐบาลอินโดนีเซียหันมาเจรจาอย่างสันติวิธี โดย HDC มีที่ตั้งในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก International Wisemen Group ประกอบด้วยกลุ่มอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศต่างๆ ซึ่งในส่วนของไทยคือ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็นแกนนำ ความสำเร็จของ HDC คือการไกล่เกลี่ยให้ทั้ง 2 ฝ่ายลงนามในข้อตกลงยุติการเป็นปฏิปักษ์หรือ Cessation of Hostility Agreement (COHA) โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2545

การเข้าไปมีส่วนร่วมของกองทัพไทยเกิดจากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียได้ทาบทามไทย และฟิลิปปินส์ ให้จัดส่งบุคลากรทางทหารเข้าร่วมในคณะผู้สังเกตการณ์ด้านความมั่นคง “Joint Security Committee : JSC” อันประกอบด้วยบุคลากรของอินโดนีเซีย 50 คน GAM จำนวน 50 คน, และ HDC จำนวน 50 คน ซึ่งใน HDC จะเป็นคนไทยและฟิลิปปินส์ประเทศละประมาณครึ่งหนึ่ง

จำนวนกำลังพลที่เข้าร่วมภารกิจ
1. คณะสังเกตการณ์ตรวจสอบกระบวนการสันติภาพในอาเจห์รอบแรก (Aceh Monitoring Mission I) เริ่มตั้งแต่ 23 ธ.ค.2545 ถึง 12 พ.ค.2546 ระยะเวลาการปฏิบัติงาน 6 เดือน โดยแบ่งกำลังพลดังนี้
....1.1 ส่วนกองบัญชาการของ คณะสังเกตการณ์ตรวจสอบกระบวนการสันติภาพใน อาเจห์ จำนวน 3 นาย
....1.2 คณะสังเกตการณ์ตรวจสอบกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ จำนวน 24 นาย
....1.3 เมื่อ 26 ก.พ.2546 ได้จัดกำลังพลนายทหารสัญญาบัตรเพิ่มเติมอีกจำนวน 19 นาย ตามการร้องขอของ HDC รวมกำลังพลทั้งสิ้น 46 นาย
....1.4 เมื่อ 12 พ.ค.2546 กำลังพลจำนวน 46 นาย ได้ถอนตัวและจบภารกิจเนื่องจาก สาเหตุเกิดจากการขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างฝ่าย GAM กับฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย
2. คณะสังเกตการณ์ตรวจสอบกระบวนการสันติภาพในอาเจห์รอบสอง (Aceh Monitoring Mission II)
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2548 เห็นชอบให้ส่งเจ้าหน้าที่จำนวน 20 นายเข้าร่วมใน AMM (Aceh Monitoring Mission) ตามคำเชิญของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ไทยชุดดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไนฯ (ประเทศละ 20คน) และสหภาพยุโรป (120 คน) รวมจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งสิ้น 220 คน

ทั้งนี้ คาดว่าการปฏิบัติหน้าที่ของ AMM จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยมี นายปีเตอร์ เฟธ (Pieter Feith) เจ้าหน้าที่สำนักเลขาธิการสภาสหภาพยุโรป ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าภารกิจผู้สังเกตการณ์ในอาเจห์ (Principal Head of Mission ของ AMM) พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าภารกิจอาวุโสฝ่ายทหารสังเกตการณ์ในอาเจห์ (Principal Deputy Head of Mission of the Aceh Monitoring Mission) พ.อ.นพดล มังคละทน ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการหน่วยสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพ ไทย/อาเจห์ การส่งทหารไทยไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวสืบเนื่องจากการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM รอบที่ 4 เมื่อเดือน พ.ค.2548 ณ ประเทศ ฟินแลนด์ ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้มีกองกำลังต่างชาติที่เป็นกลางเข้ามา ทำหน้าที่ควบคุมดูแลและสังเกตการณ์การปฏิบัติตามข้อตกลงสันติภาพ

แผนภาพที่ 10 : พ.อ.นพดล มังคละทน นายทหารไทยที่มีบทบาทนำในการทำงานของ AMM
รวมทั้งทำหน้าที่ดูแลนายทหารไทย 20 นายที่แยกย้ายกันปฏิบัติงานทั่วพื้นที่ จ.อาเจห์



บทบาทของกองทัพไทยใน AMM

ภารกิจของหน่วยสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพไทย/อาเจห์
(นสก.ไทย/อาเจห์)
1. กิจเฉพาะ
....ภารกิจที่ถูกกำหนดในการปฏิบัติการของ AMM โดยผ่านทาง MOU ดังนี้
....1.1 การสังเกตการณ์การถอนกำลังของ GAM
....1.2 การสังเกตการณ์และช่วยในการปลดและทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์ กระสุนปืน ดินระเบิด และวัตถุระเบิด
....1.3 การสังเกตการณ์การถอนกำลังทหารและกำลังตำรวจที่ไม่มีฐานที่ตั้งปกติในภูมิภาค
....1.4 การสังเกตการณ์การกลับคืนสู่สังคมของสมาชิก GAM ที่กำลังปฏิบัติการอยู่
....1.5 การสังเกตการณ์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและจัดหาความช่วยเหลือในด้านนี้ในบริบทของงานต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
....1.6 การสังเกตการณ์กระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎหมาย
....1.7 การควบคุมและดูแลกรณีที่นิรโทษกรรมจากความขัดแย้ง
....1.8 การตรวจสอบและดูแลข้อร้องเรียนและการละเมิด MOU
....1.9 การสร้างและการคงไว้ซึ่งเจ้าหน้าที่ติดต่อและความร่วมมืออันดีระหว่างกลุ่มต่างๆ

การปฏิบัติการตาม MOU มีข้อจำกัดในขอบเขตของการสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของ AMM (การสังเกตการณ์การถอนกำลัง การปลดอาวุธ การเคลื่อนย้ายกำลังและการกลับคืนสู่สังคมของสมาชิก) ในระยะเริ่มแรก ได้มีการคาดการณ์ว่า EU จะรับผิดชอบในการสังเกตการณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตามไม่นานนัก มีความชัดเจนที่ว่าภารกิจจำเป็นต้องดำเนินการ ครอบคลุมไปถึงการปลดอาวุธ ทหารของ GAM ต้องการให้กลุ่มประเทศที่ 3 ที่น่าเชื่อถือได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ GAM ปฏิเสธที่จะยอมแพ้ต่อกองกำลังทหารอินโดนีเซีย การรับผิดชอบต่อการปลดอาวุธกำหนดให้ภารกิจต้องมีการจัดเตรียมเครื่องมือที่จะทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ และได้รับการควบคุมโดยผู้สังเกตการณ์ที่เป็นผู้ชำนาญการทางทหาร

แผนภาพที่ 11 : การจัดหน่วยสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพไทย/อาเจห์


2. การเข้าไปเกี่ยวข้องกับ AMM
ในการสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและในกระบวนการทางการเมืองทั่วๆ ไป ขณะที่บางรัฐสมาชิกยืนกรานว่าการสังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนเชิงรุกต้องเป็นภารกิจหลัก งานสำคัญๆ ที่ประกอบด้วยการสังเกตการณ์การปลดอาวุธและการเคลื่อนย้ายกำลังกลับสู่ที่ตั้งเดิม ด้วยการมีอาวุธของทุกฝ่ายน้อยลงสถานการณ์จะดีขึ้นอย่างแน่นอน มีการเห็นพ้องต้องกันว่า ความมั่นคงปลอดภัยของผู้สังเกตการณ์จะได้รับการรับรองโดยกองกำลังทางทหารอินโดนีเซีย
3. โครงสร้างของ AMM
AMM ได้รับการจัดตั้งขึ้นด้วยเจตนารมณ์ในการเป็นหน่วยงานหลักและดูแลการเคลื่อนไหวทั่วภูมิภาคเพื่อจะให้การรับรองการดำเนินการของ MOU หัวหน้าภารกิจได้รับการช่วยเหลือจากรองหัวหน้าภารกิจ 3 ท่าน ได้แก่ รองหัวหน้าภารกิจอาวุโสชาวไทยรวมทั้งทำหน้าที่เป็นผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนคือ พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากประชาคมอาเซียนและได้รับความเห็นชอบจาก EU และรัฐบาลอินโดนีเซียแล้ว ขณะอีก 2 ท่านคือ พล.ต.จาโก อ็อกซาแนน( MG Jaakko Oksanen ) นายทหารจากฟินแลนด์และนางเรนาตา ( Renata Tardioli ) นักกฎหมายชาวอิตาลีตามลำดับ ในทำนองเดียวกัน Chief of Staff คือ นาย จัสติน เดวี่ส์ เป็นอดีตนายทหารอังกฤษที่นับเป็นชาวยุโรป (อังกฤษ) ส่วน Deputy Chief of Staff เป็นชาวฟิลิปปินส์ ซึ่งโดยทั่วไปทุกแผนก (departments) และทุกหน่วย (units) จะขึ้นอยู่กับกองบัญชาการที่บูรณาการระหว่าง EU กับ ASEAN

แผนภาพที่ 12 : บุคคลสำคัญใน AMM ที่ควบคุมการหยุดยิงในอาเจห์



ผู้วิจัยในฐานะรองหัวหน้าภารกิจอาวุโสได้เสนอต่อที่ประชุมให้ EU และอาเซียนทำงานแบบบูรณาการสมบูรณ์แบบ (Fully Integrated) กล่าวคือ ในสำนักงานของ AMM ในระดับอำเภอ หากหัวหน้าหน่วยเป็นชาวยุโรปต้องให้รองหัวหน้าหน่วยเป็นชาวอาเซียน และในทางกลับกันหากหัวหน้าหน่วยเป็นชาวอาเซียน รองฯ ต้องเป็นชาวยุโรป ซึ่งที่ประชุมในห้วง IMP ชื่นชมในความคิดดังกล่าว เพื่อแสดงออกถึงข้อผูกมัดและความร่วมมืออันดีที่มีต่อกันระหว่าง EU และอาเซียน ซึ่งกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้การปฏิบัติงานมีการผสมผสานและความราบรื่นตลอดภารกิจ

กองบัญชาการประกอบด้วยที่ปรึกษาประจำหัวหน้าภารกิจ 4 ท่าน (ที่ปรึกษาด้านการเมือง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ที่ปรึกษาพิเศษ และที่ปรึกษารับผิดชอบเป็น นตต. ประจำ ประธาน EU โดยตำแหน่ง) แผนกปฏิบัติการเป็นที่ซึ่งหน่วย (Cell) ด้านการรายงานและวิเคราะห์ถูกจัดตั้งขึ้น องค์ประกอบที่เกี่ยวกับการปลดอาวุธ (Decommissioning component) สำนักงานสารสนเทศและสารนิเทศ (Press and Information Office) สำนักงานรักษาความปลอดภัย และหน่วยแพทย์ (Medical Cell) (แพทย์ 1 ท่านมาจากสิงคโปร์) รวมทั้งหน่วยสนับสนุน (ธุรการ การเงิน การจัดหา บัญชี การส่งกำลังบำรุง) ตั้งอยู่ที่กองบัญชาการ มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 57 คน

หัวหน้าทีมจากอาเซียนมี 6 คน ที่ดูแลสายการบังคับบัญชาสำนักงานระดับอำเภอ 11 สำนักงาน แต่ละสำนักงานมีผู้สังเกตการณ์ 11 คน มีความโดดเด่นของบุคลากรของ EU ที่อยู่ในทีมปลดอาวุธเคลื่อนที่ 4 ทีม แต่ละทีมมีผู้สังเกตการณ์ 9 คน มีหนึ่งทีมจากหน่วยบริการกู้ภัยแห่งสวีเดน (Swedish Rescue Services Agency) สนับสนุนภารกิจทั้งหมด และแสดงบทบาทสำคัญในการนำภารกิจออกจากที่ตั้งครั้งแรก จำนวนบุคลากรของ AMM ทั้งหมด 234 คน

แผนภาพที่ 13 : การจัด บก. ในภารกิจAMM



ข้อสังเกตเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายทหารไทยที่ไปปฏิบัติหน้าที่ใน AMM

ภารกิจของ AMM ในอาเจห์ที่มีสหภาพยุโรป (EU) เป็นผู้สนับสนุนหลักนั้น แตกต่างไปจากการปฏิบัติภารกิจเพื่อสันติภาพที่กองทัพไทยเคยปฏิบัติมาในอดีต (ที่มีสหประชาชาติเป็นผู้สนับสนุน ) กล่าวคือภารกิจ AMM มิใช่เป็นการปฏิบัติกิจแบบเป็นหน่วยทหาร ( Military unit ) เช่นการจัดของหน่วยทหาร กำลังพลทหารไทยทั้ง 20 นาย จะกระจายตัวปะปน แบบบูรณาการกับเจ้าหน้าที่จากต่างชาติ เช่นการแยกภารกิจออกไปจัดตั้งสำนักงานประจำถิ่น
ใน 11 อำเภอ (District office) ของอาเจห์ “ความสามารถเฉพาะตัวโดยเฉเพาะเรื่องภาษาอังกฤษ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้

ปัญหาที่ผู้วิจัยขอนำเสนอ คือ
นายทหารไทยยังมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในระดับปานกลางค่อนข้างต่ำ นายทหารบางนายที่ได้รับมอบภารกิจให้เข้าเวรติดตามสถานการณ์ (Watch officer) ประจำอยู่ที่ บก. AMM จะต้องรับการรายงานเหตุการณ์จาก 11 สำนักงานประจำถิ่นตลอดทั้งคืน และสรุปรายงานต่อที่ประชุมต่อหน.ภารกิจ รอง หน.ภารกิจ และ จนท. อาวุโส ของ AMM ใน
ห้องประชุมทุกเช้านั้น ปรากฏว่านายทหารไทยประสบปัญหามาก เนื่องจากต้องรายงานด้วยตนเอง เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งนายทหารหรือเจ้าหน้าที่ AMM ที่มาจากกลุ่มประเทศอาเซียน 4 ชาติคือ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ไม่ประสบปัญหาดังกล่าวแต่อย่างใด

จากปัญหาและความไม่ราบรื่นดังกล่าว จึงทำให้ผู้วิจัยในฐานะนายทหารไทยที่มีอาวุโสสูงสุดและทำหน้าที่รอง หน.ภารกิจอาวุโส ต้องร้องขอต่อ หน.ภารกิจอาวุโส คือ นาย ปีเตอร์ เฟธ ให้มีการปรับย้าย เพื่อมิให้นายทหารไทยโดนวิพากษ์วิจารณ์ และนายทหารที่มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหา คือ พ.อ.นพดล มังคละทน

ตัวอย่างของความเด็ดขาด ตรงไปตรงมาแบบชาวตะวันตก คือการที่ หน.ภารกิจอาวุโส คือ นายปีเตอร์ เฟธ ส่งตัวนายทหาร ยศ พันเอก ของ สเปน กลับประเทศ แบบไม่เกรงใจ เมื่อทราบว่ามีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาอังกฤษ
ดังนั้นผู้วิจัยเห็นว่า “การวิเคราะห์รูปแบบของภารกิจ (Type of Mission)” เป็นเรื่องที่กองทัพไทยต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า มีลักษณะงาน/ภารกิจ เป็นเช่นใด และประการสำคัญคือ การกำหนดคุณสมบัติและกระบวนการคัดเลือกโดยการสอบภาษาอังกฤษ ที่เคยปฏิบัติต่อกันมาช้านานคือ ที่คัดเลือกกำลังพลไปปฏิบัติภารกิจ AMM ในอาเจห์ นั้น ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

นอกจากนั้นกองทัพไทยควรคัดเลือกและใช้ความพยายามมากกว่านี้ในการสรรหานายทหารที่มีความรู้ความสามารถในภาษาท้องถิ่น คือ ภาษาอินโดนีเซีย ด้วย เพื่อชดเชยในส่วนที่ขาดหายไป ผู้วิจัยเชื่อว่ากำลังพลในกองทัพไทยจำนวนหนึ่ง ที่มีความสามารถในการใช้ภาษาท้องถิ่น หากแต่กองทัพไทยยังมิได้มีการจัดทำฐานข้อมูลสำหรับกำลังพลที่มีความรู้พิเศษเช่นนี้
จึงทำให้จังหวะและโอกาสในการรับฟังข้อมูลข่าวสารจากประชาชนชาวอาเจห์เป็นศูนย์
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะนิสัยของคนไทยที่เป็นมิตรกับคนทั่วไป มีจิตใจ
โอบอ้อมอารี ยิ้มแย้มแจ่มใส มีอารมณ์ขันสอดแทรกในการทำงานตลอดเวลา ก็สามารถทำให้ทหารไทยได้รับการยอมรับในที่สุด เจ้าหน้าที่ AMM โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป ตัดสินใจมาพักผ่อนในประเทศไทย (ในระหว่างการฝึก) โดยมีนายทหารไทยที่เป็นเพื่อนร่วมงานจากอาเจห์ต้อนรับ ดูแลและพาไปทัศนะศึกษาในประเทศไทย แทนที่จะเดินทางกลับไปยุโรปเป็นจำนวนมาก

การปฏิบัติงานของทหารไทยในกรอบ AMM
AMM ได้จัดตั้งขึ้นในช่วง 6 สัปดาห์ มีข้อยุ่งยากไม่น้อยในการสนับสนุนด้านการ ส่งกำลังบำรุง ผู้วิจัยได้รับอนุมัติจาก ครม. ให้เดินทางเข้าพื้นที่ใน 14 ส.ค.2548 นับเป็น
ความประทับใจยิ่งที่ นายปีเตอร์ เฟธ หัวหน้าภารกิจอาวุโส และคณะได้เดินทางมารับ ณ
ท่าอากาศยาน บันดา อาเจห์ด้วยตนเอง ในช่วงแรกต้องเข้าพัก Sultan Hotel มีนายทหารติดต่อ คือ พ.อ.Sonny มาอำนวยความสะดวก เพราะเห็นว่าเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่จากประเทศ เพื่อนบ้าน ในทุกเช้าเวลา 0730 จะมีรถมารับไปสำนักงานชั่วคราวซึ่งเป็นบ้านเช่าขนาดกลาง ที่จัดตั้งเป็นที่ทำการชั่วคราว ในช่วงต้นภารกิจ ที่พักอาศัยและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกของสำนักงาน จำเป็นต้องหาจากสิ่งที่มีเหลืออยู่ อุปกรณ์พื้นฐาน เช่น คอมพิวเตอร์ และเครื่องมือสื่อสารเคลื่อนที่ได้รับการจัดหาโดยรัฐสมาชิกตามพื้นฐานของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยจะสอดคล้องกันนัก AMM ได้จัดวางกำลังกระจายตัวในพื้นที่ทั่วจังหวัดอาเจห์ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ถูกทำลายโดยคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อ ธ.ค.2547


1. ภารกิจตรวจสอบการกลับคืนสู่สังคม (Reintegration)
EU ใช้งบประมาณถึง 4 ล้านเหรียญยูโร เพื่อที่จะช่วยในการปล่อยตัวพวก GAM 2,000 คนที่ถูกคุมขัง และกำลังรบของ GAM จำนวน 3,000 คนที่ถูกถอนกำลัง อันเนื่องมาจากการปฏิบัติตาม MOU เป็นที่เข้าใจกันว่า ความพยายามขั้นต้นได้รับการติดตามโดยโครงการ การกลับคืนสู่สังคมที่กว้างมากขึ้น เพื่อที่จะจัดหา “ส่วนแบ่งสันติภาพ” ที่มองเห็นได้ และเพื่อที่จะรับรองในความสามารถของการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการในกระบวนการทางการเมือง อย่างไร ก็ตามเพียงส่วนเดียวของข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเดิมได้รับการดำเนินการมาแล้วจริงๆ ตั้งแต่นั้นมา เงินทุนของ EU ได้รับการจัดสรรให้เฉพาะกับนักโทษเดิมเท่านั้น รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้ตัดสินใจที่จะรับผิดชอบในระยะเริ่มต้นของการกลับคืนสู่สังคมของทหารที่ทำการสู้รบในอดีต ในการทำเช่นนั้นผู้มีอำนาจของอินโดนีเซีย ต้องการแสดงข้อผูกมัดของเขาต่อกระบวนการสันติภาพ และได้รับความน่าเชื่อถือจากสิ่งนั้น

ความท้าทายของการกลับคืนสู่สังคมน่าจะเป็นการเผชิญหน้าที่หนักหน่วงที่สุดสำหรับความพยายามของ EU ที่จะทำให้สันติภาพเกิดขึ้น มันไม่ใช่เพียงแค่สาระของการจ่ายเงินเป็นงวดๆ ในปริมาณเล็กน้อย แต่มันยังเป็นคำถามของการจัดสรรที่ดินและบ้านซึ่งรับรองความมั่นคงปลอดภัยทางด้านกายภาพและสิ่งแวดล้อมที่สามารถทำให้เกิดการเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ การบริการด้านสุขภาพที่มีให้ รวมทั้งการจัดให้มีการอบรมและอบรมซ้ำทางวิชาชีพ มีการตรวจสอบการกลับคืนสู่สังคมที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆ อีก ผู้วิจัยพบว่าในช่วงต้นของภารกิจ ฝ่าย GAMไม่สะดวกนักที่จะให้ข้อมูลประวัติส่วนตัวต่อเจ้าหน้าที่ของAMM โดยเฉพาะความไม่ชัดเจนว่าใครเป็นพลเรือนที่ได้รับผลกระทบซึ่งควรจะได้รับการช่วยเหลือ
AMM ได้ดำเนินการสัมภาษณ์นักโทษในอดีตทั่วภูมิภาคนี้ทั้งหมด จำนวนมากกว่า 500 คน การสัมภาษณ์เหล่านี้สามารถทำให้ผู้สังเกตการณ์ได้รับความเข้าใจมากขึ้นในมุมมองและความเร่งด่วนต่างๆ ของผู้รับความช่วยเหลือ ในฐานะพื้นฐานสำหรับการช่วยเหลือที่ได้รับการปรับให้เหมาะสมเป็นอย่างดี AMM ได้แสดงออกถึงการประเมินทางบวกโดยรวมของการพัฒนาจากที่ตั้งพื้นฐานร่วมกับข้อห่วงใยเกี่ยวกับการขาดข้อมูลในระยะต่อไปของการกลับคืนสู่สังคมที่อาจนำไปสู่ความท้อแท้ใจและการสูญเสียความเชื่อมั่นในกระบวนการสันติภาพดังกล่าว


2. กฎหมายว่าด้วยการปกครองอาเจห์
MOU คาดการณ์เกี่ยวกับองค์ประกอบของการออกกฎหมายทั้งหมดของสถานภาพการปกครองตนเองในอนาคตของอาเจห์ ถูกรวมอยู่ในกฎหมายว่าด้วยการปกครองอาเจห์ หากได้รับเข้ามาในห้วงเวลาของการเลือกตั้ง เม.ย.2549 กฎหมายจะถือเป็นหลักสำคัญของกระบวนการสันติภาพอย่างยั่งยืน ครอบคลุมไม่เฉพาะส่วนของความสามารถระหว่างผู้มีอำนาจในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การแบ่งแยกอำนาจภายในอาเจห์และการสถาปนาชายแดนและสัญลักษณ์ แต่ยังเป็นหลักการสำคัญในการสถาปนากลุ่มการเมืองระดับท้องถิ่นและการเสนอผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในระดับท้องถิ่นอีกด้วย

กระทรวงมหาดไทยจะยื่นร่างนี้ต่อรัฐสภาไม่เกินสิ้น ธ.ค. 2549 และจะมีผลใช้ได้ประมาณ มี.ค. 2550 การใช้งานดำเนินไปค่อนข้างจะราบรื่นผ่านการให้คำปรึกษาอย่างกว้างขวาง ความตึงเครียดบางอย่างมีที่มาจากความพยายามของผู้นำทางศาสนาอิสลามที่จะนำกฎหมายศาสนาอิสลามเข้าไปใช้ในอาเจห์ GAM ถูกผูกมัดอย่างเต็มที่ต่อกระบวนการดังกล่าว และมองเห็นกฎหมายในลักษณะส่วนแบ่งหลักของสันติภาพและการรับรองรัฐบาลที่ปกครองตนเองต่อไป เป็นสิ่งสำคัญที่ว่า GAM ถูกทำโดยหลักการใหม่ (new provisions) ให้สามารถที่จะพัฒนาเข้าไปเป็นผู้แสดงบทบาททางการเมืองระดับท้องถิ่น และสามารถที่จะบูรณาการเข้าไปในโครงสร้างการปกครองดังกล่าว สำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ ย่อมสำคัญอยู่ที่กฎหมายได้ถูกรับมาใช้ได้ทันเวลาในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นสมัยหน้า ซึ่งกำหนดจัดให้มีขึ้นในช่วงสั้นๆ หลังจากอาณัติของ AMM สิ้นสุดลง


3. การตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน
สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอาเจห์ แสดงถึงสัญญาณของการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยการแสดงบทบาทของ AMM ที่ไม่สามารถมีใครมาแทนที่ได้ และการทำให้หลักนิติธรรมมีความมั่นคงและแข็งแรงขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตามในห้วงเดือนแรกตั้งแต่ที่มีการดำเนินภารกิจ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 2 ประเด็นหลักประกอบไปด้วยด้านการใช้กำลังมากเกินไปในส่วนของกองทัพอินโดนีเซีย ทั้งด้านสมาชิกของ GAM และประชาชนพลเรือนที่เป็นเหยื่อของการบังคับ ข่มขู่ รบกวนให้เดือดร้อน โดยกองกำลังทหารและตำรวจอินโดนีเซีย หรือโดยสมาชิก GAM ที่แยกกลุ่มออกมาและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้นำ
ความเชื่อมั่นในหลักนิติธรรมและการติดตามผู้ที่กระทำความผิดทางอาญาของกองทัพอินโดนีเซียยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่สถานการณ์โดยทั่วไปกำลังปรับปรุงให้ดีขึ้นโดยมาตรฐานทั้งหมดจากการสนับสนุนของสำนักงานอำเภอทั่วภูมิภาค AMM ได้เข้าไปพบปะหารือประจำวันกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและพลเรือนในระดับท้องถิ่น เพื่อที่จะเพิ่มความตระหนักในมาตรฐานของนานาชาติเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติของตำรวจ การสร้างศักยภาพในทิศทางนี้จัดเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่กล่าวมาแล้วข้างต้นของคณะกรรมาธิการ พลเรือนแสดงความเต็มใจมากที่จะเดินหน้าต่อไปและประณามการละเมิดด้านต่างๆ แม้ว่าการดำเนินการจะเป็นกระบวนการที่เป็นไปอย่างช้าก็ตาม เจ้าหน้าที่ AMM ได้ทำการสอบสวนเชิงรุกในอุบัติการณ์ต่างๆ ที่นำมาสู่ความสนใจของเขา

4. การปลดอาวุธ (Decommisioning) และการถอนกำลังทหารอินโดนีเซีย
ตารางกำหนดการของกระบวนทั้งสองเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด อย่างเป็นที่เข้าใจกัน กองกำลังทหารและตำรวจจะรักษาพันธะสัญญาที่จะไม่เข้าปฏิบัติการกับกองกำลังที่ไม่มีฐานที่ตั้งปกติในภูมิภาค เพียงแค่เงื่อนไขการปลดอาวุธที่ดำเนินการอยู่ตามแผน ทั้งการปลดอาวุธและการจัดวางกำลังใหม่ ได้รับการคาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะที่ 4 ซึ่งทั้ง 3 ระยะแรกได้เสร็จสิ้นและประผลสำเร็จภายใต้การกลั่นกรองของ AMM ชุดปลดอาวุธเคลื่อนที่ต่างๆ ของภารกิจได้แสดงบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลการปลดและทำลายอาวุธที่ยอมจำนนโดยทหาร GAM ความเสี่ยงของการปะทะยังคงมีอยู่ ที่เห็นชัดเจนก็เนื่องมาจากการขนย้ายคลังอาวุธจำนวนมากไปทั่วภูมิภาคและจากการเสียความควบคุมโดย GAM ที่มีผู้บังคับการระดับอำเภอจำนวนเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เต็มใจปฏิบัติตาม MOU ตั้งแต่นั้นมา กองกำลังอินโดนีเซียได้บรรลุผลสำเร็จในการเข้าปฏิบัติการกับ กองกำลังมากกว่า 15,000 กองกำลัง ภายในไม่เกินสิ้น ต.ค. โดยระยะที่ 3 จะเริ่มต้นกลางเดือน พ.ย. ความท้าทายประการหนึ่งในการควบคุมการหยุดยิงในอาเจห์ คือ การปลดอาวุธที่อยู่ในมือของ GAM การปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นไปตามข้อ 4.2 ของ MOU เฮลซิงกิ ซึ่งระบุว่า AMM จะต้องได้รับมอบอาวุธ (ที่ใช้การได้) จาก GAM จำนวน 840 กระบอก
ห้วงระยะเวลาที่ใช้ในการปลดอาวุธ กำหนดเพิ่มเติมใน MOU ข้อ 4.3 ซึ่งกล่าวว่า การปลดอาวุธของ GAM เริ่มเมื่อ 15 ก.ย.2548 โดยดำเนินการ 4 ขั้น และสรุปผลได้ไม่เกิน 31 ธ.ค.2548 การทำงานโดยทั่วไปของชุดปลดอาวุธ (MDTs) ในการปลดอาวุธ แบ่งออกได้เป็น 3 ห้วงเวลากว้างๆ ดังนี้

ห้วงที่ 1 : ห้วงเวลาก่อน IMP 3 ส.ค. – 14 ส.ค.2548
ห้วงที่ 2 : ห้วงเวลา IMP 15 ส.ค. – 14 ก.ย.2548
ห้วงที่ 3 : ห้วงเวลา AMM 5 ก.ย. – 31 ธ.ค.2548


ห้วงเวลาก่อน IMP ประกอบด้วย การสร้างความคุ้นเคยและการวางแผนการปลดอาวุธ รวมถึงการเตรียมการที่จะบ่งถึงสภาพการดำรงอยู่ของอาเจห์ เมื่อ MOU เฮลซิงกิ ได้รับการลงนามเมื่อ 15 ส.ค.2548

การเตรียมการต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม สำหรับการปลดอาวุธ ได้มีการดำเนินการในห้วงเวลา IMP โดยบุคลากรหลักได้เดินทางมาถึงเมืองเมดาน เมื่อ 9 ก.ย.2548 เพื่อรับการฝึกอบรม กระบวนการภายในที่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในบันดา อาเจห์ ที่ซึ่ง MDTs ได้รับการจัดตั้งขึ้นพร้อมด้วยอุปกรณ์ติดตั้งพร้อมใช้ มีการส่งชุด MDTs เหล่านี้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ในสนาม เมื่อ 13 ก.ย.2548 สิ่งนี้ทำให้เกิดความราบรื่นในการจัดการเรื่องการปลดอาวุธในบันดา อาเจห์ เมื่อ 15 ก.ย.2548 ซึ่งตรงกับวันที่มีการดำเนินการของ AMM อย่างเป็นทางการ

แนวคิดการปฏิบัติการจะอยู่บนพื้นฐานตามความประสงค์ของ GAM ซึ่งต้องการวิธีที่ทำให้เขาเกิดความภาคภูมิใจและปลอดภัยในการที่จะเก็บอาวุธ อาวุธจะถูกส่งมอบให้กับคณะกรรมการระหว่างประเทศเท่านั้น ชุดที่ทำการปลดอาวุธต่างๆ จะเคลื่อนย้ายที่ตั้งเป็นประจำจากในท้องถิ่นไปที่แห่งอื่นเพื่อทำการเก็บอาวุธ โดยไม่จำเป็นต้องมีการเผยแพร่กับสาธารณะ อย่างไร ก็ตามรัฐบาลอินโดนีเซียเน้นในเรื่องความโปร่งใส แต่ยังคงไว้ซึ่งทหารและตำรวจ รวมทั้งการควบคุมด้านการปลดอาวุธ ระยะเพียง 2 – 3 วัน ก่อนการปลดอาวุธครั้งแรก GAM เลือกที่จะเก็บอาวุธด้วยตนเอง และขนไปเก็บไว้ที่คลังเก็บอาวุธ (Weapon Collection Sites : WCS) ที่มีการรักษาความปลอดภัยโดยผู้สนับสนุนฝ่าย GAM และกลุ่มชาวบ้านรายรอบอยู่ ก่อนการส่งมอบอาวุธครั้งแรกนั้น คณะทำงานของ AMM และเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างมีความวิตกกังวลว่าฝ่าย GAM จะมีความจริงใจต่อ MOU หรือไม่ ผู้นำ GAM มีอิทธิพลที่จะสั่งการให้นักรบที่ถืออาวุธนำอาวุธมามอบให้ได้จริงหรือไม่ จะมีการพลิกแพลงตลบตะแลงอย่างไร และจะ มีการขนส่งอาวุธจากทางไกลเพื่อมาเก็บไว้ และจะนำมามอบให้ที่ไหน อย่างไร นักรบชาว GAM ไม่ได้มีการลงทะเบียนแจ้งชื่อตัวเองเป็นหลักฐานเมื่อมีการส่งคืนอาวุธที่ WCS จึงเป็นที่ชัดเจนส่วนหนึ่งถึงข้อห่วงใยด้านความมั่นคง โดยที่จะปรากฏว่ามี กองทัพอินโดนีเซียและตำรวจให้เห็นทั่วไปในบริเวณ WCS ทั้งหมด เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นคำถามที่ ผู้วิจัยเองและคณะเจ้าหน้าที่ทุกคนมีความกังวลเป็นอย่างยิ่ง

ในระหว่างการประชุม COSA อย่างเคร่งเครียดก่อนวันที่ 15 ก.ย.2548 นั้น ผู้วิจัยได้เสนอกระบวนการและวิธีการ (Process) โดยการเขียนแผนผังขั้นตอนการส่งมอบอาวุธที่สามารถปฏิบัติได้จริง (Practical) เหมาะสม สะดวก เสนอในเวทีการประชุม ซึ่งทำให้ พล.ต.บัมบัง ดาร์โมโน ผู้แทนรัฐบาลอินโดนีเซีย นาย เออร์วันดี ยูซุฟ ผู้แทนของ GAM พ.อ.แคลลี ไลเซนัน (Kalle Liesinen) หัวหน้าภารกิจด้านการปลดอาวุธ และนายปีเตอร์ เฟธ เกิดความพอใจและยอมรับในกระบวนการดังกล่าว ซึ่งผู้วิจัยเองก็เกิดความภูมิใจที่สามารถค้นหาสูตรสำเร็จได้บนโต๊ะประชุมนั่นเอง

แผนภาพที่ 14 : พล.ท.นิพัทธ์ฯ เป็นประธานการประชุม COSA
ซึ่งต้องเจรจาต่อรองกับนาย Irwandi Yusuf
และ พล.ต. Bambang Darmono จก.ยก.ทหาร อซ. ผู้แทนรัฐบาล อซ.



แนวคิดแบบใหม่นี้จำกัดกระบวนการ DDR ปกติ(Disarmament Demobilization and Reintegration : การปลดอาวุธ การเลิกระดมสรรพกำลัง และการฟื้นฟูบูรณาการ) ในการปลดอาวุธ อาวุธชุดสุดท้ายที่ทำการเก็บเมื่อ 19 ก.ย.2548 และทำการปลดอาวุธปิดฉากลงอย่างเป็นทางการใน “พิธีส่งมอบอาวุธชุดสุดท้าย (Last Weapon Ceremony)” เมื่อ 21 ธ.ค.2548 GAM ได้ประกาศให้มีการเลิกระดมสรรพกำลัง เมื่อ 27 ธ.ค.2548 การเก็บอาวุธต่างๆ นี้ช่วยกระตุ้นให้เกิดเสียงที่มีพลังต่อการทำงานของ AMM ในห้วงฤดูใบไม้ร่วงปี พ.ศ.2548 การปลดอาวุธเกิดขึ้นตั้งแต่ ก.ย. ถึง ธ.ค. แบ่งเป็น 4 ระยะ โดยเน้นวันช่วงกลางเดือน ในแต่ละระยะจำนวนอาวุธกองหนึ่งที่มีอยู่ 210 กระบอก จะได้รับการปลดอาวุธ และสิ่งนี้ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำลังทางทหารของกองทัพอินโดนีเซีย (TNI) และตำรวจในห้วง 10 วันสุดท้ายของแต่ละเดือน

ในระยะเริ่มต้น แง่มุมที่สำคัญคือ วิธีที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับบุคคลสำคัญของฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย (GOI) และผู้ติดตาม ที่เดินทางมาที่คลังเก็บอาวุธ (WCS) โดยไม่ให้กระทบต่อความเป็นกลางของสภาพการณ์ที่เกิดขึ้น ในการนี้ อาจทำให้เกิดภาพของการเข้ามามีอิทธิพลต่อ WCS โดยไม่ได้ตั้งใจของกองกำลังทหารอินโดนีเซีย (TNI) และการสูญเสียการควบคุมของ AMM สิ่งนี้สามารถทำให้เข้าที่เข้าทางได้ในระดับท้องถิ่นภายในเวลาที่กำหนด และไม่เป็นอุปสรรคต่อการเก็บอาวุธแต่อย่างใด

ในระหว่างการดำเนินการปลดอาวุธนั้น ในบางโอกาส ผู้แทนรัฐบาลอินโดนีเซีย ไม่เห็นด้วยกับอาวุธบางส่วนที่ถูกปลด เนื่องมาจากอาวุธบางชิ้น สามารถผลิตได้ในท้องถิ่น (hand made) หรือเป็นอาวุธแบบแสวงเครื่อง (Improvised) ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วทางรัฐบาลอินโดนีเซียต้องการได้รับมอบอาวุธที่ทำมาจากโรงงาน (Factory made) มากกว่า ทำให้เกิดการต่อรองเจรจากันตลอดมา แต่บรรยากาศก็เป็นไปด้วยความสร้างสรรค์ ประนีประนอม เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่รับมอบอาวุธที่ทำงานร่วมกันระหว่าง EU กับ ASEAN มีความรู้แตกฉานในอาวุธทุกชนิดที่ฝ่าย GAM นำมามอบให้ นายทหารไทย ที่ทำหน้าที่ดังกล่าวสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการของ AMM ยอมรับว่าในบางส่วนของอาวุธที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากอาวุธบางตัว ไม่สามารถทำงานในลักษณะอาวุธปืนสังหารได้ (Non Functioning) ซึ่งตาม MOU กำหนดไว้ว่า GAM จะต้องส่งมอบอาวุธต่อ AMM ให้ได้ 840 กระบอกภายใน 31 ธ.ค.48
ในตอนปลายระยะที่ 3 ของการปลดอาวุธที่บ่งชี้ว่าอาวุธที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 840 กระบอก นั้น อาจไม่เป็นไปตามที่กำหนด ทั้งนี้จากการหารือในระดับสูงรวมทั้งความพยายามอย่างมาก ก็ทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้เมื่อ 19 ธ.ค.2548 GAM จึงไม่มีอาวุธเพิ่มขึ้นอีกเลยภายใต้การบังคับบัญชาในอาเจห์

ในระหว่างกระบวนการปลดอาวุธได้กระตุ้นให้สื่อมวลชนจากหลายสำนักทั่วโลก รวมทั้ง ITV จากประเทศไทย มาทำข่าวกันอย่างกว้างขวาง เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการเก็บอาวุธทั้งหมดเกิดขึ้นด้วยการทำงานเป็นทีม โดยผู้แทนของ GAM นาย เออร์วันดี ยูซุฟ ผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลอินโดนีเซีย พล.ต.บัมบัง ดาร์โมโน ทำให้เกิดความมั่นใจในความร่วมมืออย่างเต็มที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐ เหตุการณ์เหล่านี้ได้ดึงดูดความสนใจอย่างกว้างขวางจากประชาชนในท้องถิ่น กระบวนการ 4 ขั้นดังกล่าว ได้สร้างความเชื่อมั่นอย่างมากระหว่างกลุ่มต่างๆ

งานด้านการปลดอาวุธที่ประสบผลความสำเร็จนี้เกิดขึ้นได้ภายใต้ภาวะผู้นำด้านการสนับสนุนของหัวหน้าภารกิจ นาย ปีเตอร์ เฟธ หัวหน้าภารกิจอาวุโส พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองหัวหน้าภารกิจอาวุโส ซึ่งแบกรับภาระอันใหญ่หลวงในการนำไปสู่การเจรจา ที่สำคัญๆ ระหว่างกลุ่มต่างๆ รองหัวหน้าภารกิจ พล.ต ยาโก้ อ๊อกซาเนน ที่มาที่ WCS เป็นประจำ รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะและให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดี ทำให้กระบวนการดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ ที่ปรึกษาพิเศษ นาย ยูฮา คริสเตนเซ่น ที่ขันอาสาจะใช้การติดต่อประสานงานโดยตรงของเขาในการช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานให้เกิดการขับเคลื่อนในการปฏิบัติ บก. AMM และสำนักงานเขตการปกครองได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อองค์ประกอบพื้นฐานของภารกิจ

การปฏิบัติการครั้งนี้ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ปลดอาวุธ 44 คน จาก 12 ประเทศ บุคคลเหล่านี้ได้ให้การสนับสนุนต่อกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ด้วยความเต็มใจยิ่งและมีผลการปฏิบัติงานที่ดีเยี่ยม


5. สำนักงานด้านการปลดอาวุธ บก. AMM (Decommissioning Office, HQ AMM)
1. บุคคลแรกขององค์ประกอบด้านการปลดอาวุธ นาย Kalle Liesinenได้เดินทางมาถึง อาเจห์ เมื่อ 3 ส.ค.2548 เขาได้เริ่มลาดตระเวนรวบรวมแนวคิด และวางแผนปฏิบัติการด้านการปลดอาวุธในอนาคต ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะส่วนล่วงหน้าของ AMM เมื่อ 12 ส.ค.2548 นาย Tarmo Kauppila, นาย Jukka Pöllänen และ นาย Matti Majoinen ได้เดินทางมาถึงบันดา อาเจห์ ตามด้วย นาย Tham Chong Yean เมื่อ 14 ส.ค.2548 พร้อมกันนี้ เขาได้จัดตั้งสำนักงานด้านการปลดอาวุธในการสังเกตการณ์ขั้นต้นของ EU (Initial Monitoring Presence : IMP) และเริ่มต้นวางแผนและเตรียมการสำหรับปฏิบัติการด้านการปลดอาวุธของ AMM โดยเริ่มตั้งแต่ 15 ก.ย.2548
2. องค์ประกอบหลักในการวางแผนและเตรียมการ ประกอบด้วย
....2.1 การรวบรวมแนวความคิดของการปฏิบัติการในการปลดอาวุธของ AMM
....2.2 การดำเนินขั้นตอนการปฏิบัติและวิธีการทางเทคนิคของการปลดอาวุธให้สัมฤทธิผล
....2.3 การดำเนินกระบวนการและงานด้านเอกสารให้สัมฤทธิผล
....2.4 ส่วนของโครงสร้างและองค์กร MDTs และบุคลากรที่ได้รับการแต่งตั้งหลายตำแหน่งจากผู้สังเกตการณ์ของ EU และ
....2.5 การจัดหาและเตรียมการเกี่ยวกับอุปกรณ์ เครื่องมือ และยานพาหนะที่จำเป็นของ MDTs
....2.6 การเตรียมการรับและฝึก MDTs
3. การวางแผนและการเตรียมการทั้งหมดดำเนินการไปอย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จ อาทิ เมื่อ 10 – 11 ก.ย.2548 บุคลากรด้านการปลดอาวุธจำนวนมากของ MDTs ได้เดินทางมาถึงเมดาน สุมาตรา อุตรา เพื่อที่จะเข้าร่วมในการฝึกร่วมของ AMM และเมื่อ 12 ก.ย.2548 ได้มาถึงบันดา อาเจห์ สำหรับการฝึกปลดอาวุธชุดสุดท้ายและเพื่อที่จะรับอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ในวันเดียวกันนาย Günter Neuroth ก็ได้เข้าร่วมกับทางสำนักงานฯ เมื่อ 13 ก.ย.2548 MDTs ทั้ง 4 ชุด พร้อมที่จะเข้าประจำการและปฏิบัติการปลดอาวุธ ซึ่งเริ่มเมื่อ 15 ก.ย.2548 โดยถูกส่งไปที่ฐานปฏิบัติการปลดอาวุธ MDTs ตามลำดับดังนี้
....3.1 MDT ทางเหนือของบันดา อาเจห์
....3.2 MDT ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ อ.บิรุน (Bireuen)
....3.3 MDT ทางตะวันออกของ อ.ล๊อกซูมาเว (Lhokseumawe)
....3.4 MDT ทางตะวันตกของ อ. ตาปั๊กตวน (Tapaktuan)


6. ภารกิจ แนวคิดการปฏิบัติการ และขั้นตอนการปฏิบัติ
....1. ภารกิจ : องค์ประกอบในการปลดอาวุธของ AMM มีไว้เพื่อดำเนินการด้านการปลดอาวุธและทำลายอาวุธปืนเล็กและอาวุธเบา (Small Arms and Light Weapons :SALW) ซึ่งเป็นความรับผิดชอบในการปลดและทำลายอาวุธ กระสุนและวัตถุระเบิดทุกชนิดที่ GAM ใช้
....2. แนวคิดแบบกว้าง : แนวคิดโดยทั่วไป เพื่อที่จะบริหารจัดการ MDTs ทั้ง 4 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดในอาเจห์ MDT แต่ละชุด จะมีพื้นที่รับผิดชอบ (AOR) ของตน แต่เคลื่อนที่ได้ โดยสามารถที่จะเคลื่อนเข้าไปในพื้นที่รับผิดชอบของ MDT ส่วนอื่นได้ เพื่อจะเสริมสร้างหรือสนับสนุนการปฏิบัติการปลดอาวุธ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์และความจำเป็น สำนักงานด้านการปลดอาวุธจะติดต่อกับ GAM ทางคณะกรรมการบริหารจัดการด้านความปลอดภัย (Committee of Security Arrangement : COSA) และการประชุมต่างๆ เพื่อที่จะจัดเวลาและสถานที่ของการปลดอาวุธ รวมทั้งวางแผนและแจกจ่ายคำสั่งให้ MDTs ที่จะดำเนินการปลดอาวุธต่างๆ การปลดอาวุธคาดว่าจะเกิดขึ้นด้วยเป้าหมาย 4 ขั้น ดังนี้
........2.1 จำนวนอาวุธ 210 กระบอก ไม่เกิน 20 ก.ย.2548
........2.2 จำนวนอาวุธ 210 กระบอก ไม่เกิน 20 ต.ค.2548
........2.3 จำนวนอาวุธ 210 กระบอก ไม่เกิน 20 พ.ย.2548
........2.4 จำนวนอาวุธ 210 กระบอก ไม่เกิน 20 ธ.ค.2548
....3. ความสัมพันธ์กับการถอนกองกำลังทหารอินโดนีเซียที่มิได้ประจำการในอาเจห์ (Non – organic Troop) ขั้นตอนการปลดอาวุธดังกล่าวข้างต้น จะต้องสอดคล้องกับการถอนกองกำลังทหารอินโดนีเซีย (TNI) ที่กำหนดไว้ใน MOU Helsinki ที่เจ้าหน้าที่ของ AMM จะต้องควบคุมให้เป็นไปตามข้อตกลง ในระหว่างการดำเนินการดังกล่าวปรากฏว่า ทางการอินโดนีเซียถอนกำลังทหารออกจากอาเจห์ล่าช้ากว่ากำหนด ทั้งนี้เนื่องจากการถอนกำลังแต่ละระลอก ต้องใช้เรือของ ทร.อซ. ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางไปกลับ คราวละ 7 วัน และในบางโอกาส เรือชำรุดต้องซ่อมแซม ทำให้ฝ่าย GAM ต้องคอยกระตุ้น ทวงถามที่จะให้ TNI เร่งรัดการทำงานให้รวดเร็ว ผู้วิจัยต้องทำหน้าที่เป็นประธานในการถอนทหารอินโดนีเซีย ที่เป็นหน่วยทหารจากพื้นที่อื่นของอินโดนีเซีย (Non Organic Troop) โดยทุกครั้งทีมงานจะต้องใช้เครื่องบินจากสนามบิน บันดา อาเจห์มายังสนามบิน อ.ล๊อกซูมาเว เพื่อทำพิธีอำลาบริเวณท่าเรือขนาดใหญ่ ที่หน่วยทหารนับพันนายเข้าแถวอยู่ รวมทั้งอาวุธประจำหน่วยบางชนิด เช่น ปืนใหญ่ การปฏิบัติดังกล่าวถึงแม้จะมีอุปสรรคบ้างแต่ก็เป็นไปด้วยความราบรื่นภายใต้การกำกับดูแลของ AMM ที่ต้องยอมรับว่าทั้ง GAM และ รัฐบาลอินโดนีเซียมีความจริงใจต่อกระบวนการหยุดยิงอย่างแท้จริง (MOU ระบุว่ารัฐบาลอินโดนีเซียจะต้องถอนกองกำลังทหารและตำรวจที่เป็นหน่วย non – organic ออกจากอาเจห์ หลังการปลดอาวุธแต่ละขั้นต้องใช้เวลา 10 วัน ที่จะทำให้เกิดการถอนตัวในแต่ละขั้น)

แผนภาพที่ 15 : รัฐบาล อซ. ดำเนินการถอนทหาร อซ. ออกจากอาเจห์ ตาม MOU Helsingki




แผนภาพที่ 16 : พล.ท.นิพัทธ์ฯ เป็นผู้แทน AMM
กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีถอนทหาร (Redeployment) อินโดนีเซีย
ออกจากอาเจห์ ระลอกสุดท้าย เมื่อ 31 ธ.ค.48



....4. ขั้นตอนการปฏิบัติของ MDT
........1. การจัดกลุ่ม MDT และหน้าที่หลัก : MDT แต่ละชุดมีความพอเพียงและสมบูรณ์ในตัวเองในด้านยานพาหนะและสิ่งอุปกรณ์ สำนักงานด้านการปลดอาวุธ อุปกรณ์และเครื่องมือของ MDT) MDT สามารถแบ่งเป็นการภายในได้เป็น 3 กลุ่มการทำงาน
............1.1 กลุ่ม บก. รับผิดชอบด้านการวางแผน การบังคับบัญชา การประสานงานเอกสาร และการสนับสนุนด้านการแพทย์ทั้งหมด
............1.2 กลุ่มติดต่อ รับผิดชอบในการติดต่อทั้งหมดกับ GAM TNI ตำรวจ เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อที่จะจัดตั้ง WCS
............1.3 กลุ่มทำลายสรรพาวุธและวัตถุระเบิด (ด้านเทคนิค) รับผิดชอบในการทำลายอาวุธและกระสุนปืนทุกชนิด โดยทำลายอาวุธด้วยเครื่องตัดแบบหมุนขนาด 1.7 กิโลวัตต์ ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องไดนาโม (57 กิโลวัตต์) รวมทั้งทำลายเครื่องอุปกรณ์เสริมของอาวุธต่างๆ ด้วยค้อน และเครื่องตัดตะปู และทำลายกระสุนปืนด้วยวัตถุระเบิด (ที่ถูกจัดหาโดย TNI) อาวุธและกระสุนปืนทุกชนิดได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารทั้งก่อนและหลังการทำลายเพื่อความโปร่งใส และอาวุธที่เหลืออยู่จะถูกส่งกลับไปที่ TNI ทั้งหมด
.......2. คลังเก็บอาวุธ (WCS) : WCS ต่างๆ เป็นที่ ซึ่งGAM จะนำอาวุธและกระสุนปืนต่างๆ มาส่งมอบให้กับ MDTs MDTs จะกำกับดูแลแต่ละ WCS และประสานกับฝ่ายตำรวจในการ รปภ. รวมทั้งวางมาตรการควบคุมฝูงชน อาทิ เชือกขึงทำทางและจุดที่จะเข้าถึง (tapes and access points) ในแต่ละ WCS จะมีพื้นที่ตรวจสอบอาวุธ พื้นที่ลงทะเบียนอาวุธ พื้นที่เก็บอาวุธ พื้นที่ทำลายอาวุธ พื้นที่เก็บอาวุธที่เหลือ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ เช่น พื้นที่การเยี่ยมชมของแขก VIP และผู้มาเยือน และพื้นที่สื่อมวลชน/ผู้สื่อข่าว
........3. ขั้นตอนการปฏิบัติในการปลดอาวุธ
............3.1 การรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่เก็บอาวุธจาก GAM
............3.2 การกำหนดสถานที่ที่ถูกต้องของ WCS
............3.3 การจัดการเกี่ยวกับเส้นทางการเชื่อมต่อของขบวนการเสรีกับกลุ่มต่างๆ และแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับเส้นทาง WCS และเวลาที่ใช้ดังกล่าว
............3.4 การจัดตั้ง WCS
............3.5 การเข้าควบคุมและจัดการลงทะเบียนอาวุธ กระสุน และวัตถุระเบิดที่ส่งมาโดย GAM
............3.6 การเป็นตัวแทนด้านอาวุธต่อพยานฝ่ายต่างๆ ทั้งรัฐบาลอินโดนีเซียและ GAM
............3.7 การทำลายอาวุธและกระสุนในที่ที่เป็นจุดสนใจ
............3.8 การตรวจสอบการทำลายอาวุธและกระสุนด้วยเอกสารที่เข้าใจง่าย
............3.9 การส่งมอบเศษชิ้นส่วนของอาวุธให้กับ TNI ที่ต่อต้านหลักฐาน การรับเงิน
............3.10 การดำรงไว้ซึ่งการติดต่อกับ TNI ตำรวจ และ GAM ในระหว่างกระบวนการดังกล่าว
............3.11 การปิดตัวและจัดทำ WCS ให้เรียบร้อย
............3.12 การรายงานต่อสำนักงานด้านการปลดอาวุธ
........4. การให้คำจำกัดความอาวุธปืนที่ได้มาตรฐานการทำงาน : MOU ตั้งเป้าหมายให้มีปริมาณของอาวุธ 840 กระบอกที่จะส่งมอบโดย GAM ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดคุณลักษณะ ของสิ่งที่ยอมรับว่าผ่านเกณฑ์โดย AMM ที่จะต้องนับให้ได้ถึง 840 กระบอก เพื่อให้ได้มาตรฐานตรงตามวัตถุประสงค์ในการปลดอาวุธ บนพื้นฐานของคำจำกัดความนี้และหลักของการนับเฉพาะอาวุธปืนที่มีคุณสมบัติเพียงพอในการทำงาน มีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดอันตรายถึงตาย AMM จะแบ่งประเภทอาวุธแต่ละชิ้นที่ส่งมอบโดย GAM ออกเป็นประเภท ผ่านเกณฑ์ (accepted) หรือ ไม่ผ่านเกณฑ์ (disqualified) อาวุธที่ไม่ผ่านเกณฑ์โดยพื้นฐานแล้วจะไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากมีคุณภาพต่ำ ส่วนประกอบชำรุดหรือสูญหาย หรือไม่มีประสิทธิภาพสมกับที่เป็นอาวุธปืนอันตรายถึงชีวิต ทั้งนี้อาจมาจากกรรมวิธีการผลิตและวัสดุที่ใช้มีคุณภาพต่ำ รวมทั้งบกพร่องด้านเทคนิคต่างๆ ซึ่งจำกัดประสิทธิภาพในการยิงด้วยกระสุนปืนที่ร้ายแรงจากโรงงานผลิตวัตถุระเบิด
........5. ผลที่ได้รับจากการปลดอาวุธขั้นสุดท้าย
............5.1 ในตอนสิ้นสุดของการปลดอาวุธขั้นที่ 4 ผลที่ออกมาขั้นสุดท้าย มีดังนี้

ตารางที่ 2 : ผลที่ได้รับจากการปลดอาวุธขั้นสุดท้าย


............5.2 การตัดสินใจเกี่ยวกับอาวุธที่ยังไม่ได้ข้อยุติ รัฐบาลอินโดนีเซียเข้าพบ GAM เมื่อ 19 ก.ย.2548 เพื่อตรวจสอบคำแถลงการณ์ที่ระบุว่า จะส่งอาวุธคืนให้ทั้งหมด ซึ่งหลังจากที่มีแลกเปลี่ยนจดหมายและการตอบสนองในทางบวกจาก GAM แล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียได้กล่าวในพิธีส่งมอบอาวุธชุดสุดท้าย เมื่อ 21 ธ.ค.2548 ว่าแม้จะยังไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับอาวุธบางส่วน แต่เขาก็จะให้การยอมรับผลที่เกิดขึ้น
............5.3 คณะกรรมการระหว่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้ง AMM ได้ให้การยอมรับอาวุธที่ยังไม่ได้ข้อยุติและประกาศให้ทราบว่า GAM ได้ดำเนินการตามพันธะที่ให้ไว้ในการติดปลดอาวุธจำนวน 840 กระบอก ภายในระยะเวลาไม่เกินสิ้นปี พ.ศ.2548 ซึ่ง GAM ได้กล่าวไว้เมื่อ 27 ธ.ค.2548 ว่า ได้มีการปลดอาวุธในหน่วยทหารแล้ว
............5.4 สรุปบทเรียนสำคัญ : จากการปลดอาวุธขั้นสุดท้าย ดังนี้
..................1. อุปกรณ์สำรอง : การที่ MDTs ปฏิบัติการในที่ห่างไกลและกว้างขวางทั่วตลอดทั้งอาเจห์ ในทุกสภาพอากาศ และห่างไกลจากแหล่งที่พร้อมสำหรับการจับจ่ายใช้สอย จึงนับว่าสำคัญที่ต้องติดตั้งชุดสำรองของอุปกรณ์เฉพาะจุดที่ส่งผลต่อการทำงาน (single – point failure equipment) เพื่อที่การปฏิบัติการปลดอาวุธจะได้ไม่หยุดชะงักจากความผิดพลาดทางเทคนิคของชิ้นส่วนอุปกรณ์ชนิดนั้นเพียงชนิดเดียว สิ่งเหล่านี้ถูกกำหนดไว้แล้วว่าเป็นตัวไดนาโม (จากประสบการณ์ของ MDT–NEs ในขั้นที่ 2) และเครื่องตัดแบบหมุน ดังนั้นทุก MDTs จึงต้องได้รับชุดสำรองไดนาโมและเครื่องตัดแบบหมุนดังกล่าวก่อนถึงขั้นที่ 3 ทั้งนี้อาจจะพิจารณาจัดซื้อเครื่องจักรกลชนิดหนักที่นำเข้าด้วยตัวเอง เมื่อสถานการณ์ต่างๆ เอื้ออำนวยแทนอุปกรณ์ที่สามารถหาซื้อได้ในท้องถิ่น
..................2. การตัดสินใจของคณะทำงานปลดอาวุธ AMM เกี่ยวกับ WCS : ในขั้นที่ 1 GAM จัดเป็นกลุ่มเดียวที่มีการกำหนดสถานที่ WCS แต่ละแห่ง ในขั้นที่ 2 MDTs เริ่มที่จะแสดงบทบาทมากขึ้นที่จะประสานกับ GAM ในประเด็นนี้ ซึ่งมีองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ความเหมาะสมของ WCS จากการเข้าถึงได้ง่าย ในแง่ของสื่อสารมวลชน เฮลิคอปเตอร์ และมุมมองด้านเทคนิคต่างๆ ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงเรื่องความมั่นคงปลอดภัยในการเชื่อมโยงกับกระสุนและวัตถุระเบิด ซึ่ง MDTs จำเป็นต้องคำนึงถึง
..................3. ชุดทำลายสรรพาวุธ เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงบล็อก TNT ขนาด 200 กรัม ที่จัดหาโดย TNI ในฐานที่เป็นวัตถุระเบิดที่ใช้ทำลาย อันเป็นวิธีการทำลายกระสุนของอาวุธขนาดเล็ก ที่แม้ว่ามีประสิทธิภาพแต่สิ้นเปลืองอย่างมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าในความจริง ยังไม่พอเพียงสำหรับหน่วยที่ทำการยิงด้วยไฟฟ้าหรือสายเคเบิ้ลทำลายในการที่จะเป็นตัวเริ่มจุดเชื้อปะทุระเบิด ซึ่งชุดทำลายสรรพาวุธจำเป็นต้องใช้ไดนาโมเป็นตัวเริ่มจุดทำการระเบิดในแต่ละครั้ง (แบตเตอรี่ 24 โวลต์ ไม่เพียงพอสำหรับสายเคเบิ้ล) โดยข้อเท็จจริงแล้ว เรื่องของการทำลายนั้น AMM ต้องพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์พื้นฐานทั้งหมดที่รัฐบาลอินโดนีเซียจัดหาให้ ซึ่งในอนาคตสิ่งอุปกรณ์ที่เป็นมืออาชีพรวมทั้งวัตถุระเบิดควรจะจัดเป็นเงื่อนไขก่อน สำหรับภารกิจ DDR ที่คล้ายกัน
..................4. ชุดทำลายสรรพาวุธควรได้รับการจัดหาอุปกรณ์ตัวทำระเบิดไฟฟ้าและสายเคเบิ้ล ที่เพียงพอ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับการจัดอันดับความสำคัญ (จากที่กล่าวข้างต้น) เพราะปรากฏการณ์ของประจุที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะมาจากการกระตุ้นทางไฟฟ้าในครั้งแรก ซึ่งข้อพิจารณานี้ควรต้องมีให้กับหน่วย X – Ray เคลื่อนที่ที่ตั้งอยู่ในส่วนกลางประจำอยู่กับชุดทำลายสรรพาวุธ สิ่งนี้นับว่าไม่แพงนักเมื่อเทียบเคียงกับสิ่งอื่น และยังช่วยหลีกเลี่ยงตำแหน่งที่ไม่ถูกต้องของประจุ หากต้องมีการทำลายสิ่งเหล่านี้ในสนาม และเพื่อหลีกเลี่ยงอาการปวดศีรษะจากการขนส่งวัตถุต่างๆ ที่นำเข้าโดยบุคคลผ่านระบบการอนุญาตนำเข้าอย่างเป็นทางการ (Carnet System) รวมทั้งการเข้าถึงฐานข้อมูลด้านอาวุธและกระสุนปืนที่มีอยู่ทั่วไปทางการค้า เช่น Jane’s เป็นต้น
..................5. ประเด็นของการควบคุมฝูงชน มีศูนย์กลางหลักอยู่ที่ VIP อาวุโสของ TNI และสมาชิกบางคนของ GAM ที่ประสงค์จะเดินผ่านพื้นที่และหารือเรื่องต่างๆ บางครั้ง การสังเกตการณ์สำนักงานของ AMM ทำให้เกิดความผิดปกติอย่างน่าสงสัยรอบบริเวณที่ทำงาน สาธารณชนทั่วไปซึ่งมีพฤติกรรมดีอย่างสม่ำเสมอจะปนกับข้อกำหนดต่างๆ ของชุดทำงาน ดังนั้นจึงเห็นควรแนะนำให้มีการร่างระเบียบการเข้าพื้นที่ WCS สำหรับVIPs อาวุโสจากทั้งสองฝ่ายและแจ้งให้ทราบ ซึ่งรวมถึงสิ่งจำเป็นที่เป็นข้อสังเกตของการเข้าชม และการจัดหาเจ้าหน้าที่ติดต่อสำหรับทั้งสองฝ่ายที่บริเวณ WCS ด้วย
..................6. การจัดหาฐานที่ตั้งกึ่งถาวรสำหรับชุดเคลื่อนที่นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นและควรจัดเป็นเรื่องสำคัญของการปฏิบัติการในอนาคต สิ่งนี้ช่วยเอื้อให้ชุดเคลื่อนที่ดังกล่าวได้มีการพัฒนาการบริหารจัดการท้องถิ่นด้วยตัวเอง เพื่อการติดต่อสื่อสารและการจัดการดูแลรักษา ขณะที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งศักยภาพในการเคลื่อนที่
..................7. เอกสารคำแนะนำอย่างสั้นเกี่ยวกับแนวทางการใช้จ่ายเงินสดเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรมีไว้ในช่วงเวลาของการจัดวางกำลังพล การที่โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ทเป็นวิธีการที่สำคัญของการติดต่อสื่อสารและการจัดตั้งระบบต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งของการจัดลำดับความสำคัญในการจัดวางกำลังพล จึงควรทำให้มีความยืดหยุ่นให้มากที่สุดสำหรับการใช้จ่ายในพื้นที่เหล่านี้ อย่างน้อยก็ในระยะเริ่มแรก คำแนะนำของเจ้าหน้าที่การเงินที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ บก.หน่วยปฏิบัติการ (HQ Ops cell) ควรมีไว้อย่างเป็นอิสระจากจุดเริ่มต้น
..................8. เมื่อมีการจัดสรรพนักงานขับรถ ลงประจำในชุดต่างๆ ข้อมูลเกี่ยวกับบ้านเกิดของพนักงานขับรถควรนำมาพิจารณา เพื่อที่หากเป็นไปได้พนักงานขับรถจะได้รับการจัดสรรให้ลงปฏิบัติงานในพื้นที่ที่เขาคุ้นเคย เพราะในบางโอกาสเกิดการหลงทางจะสามารถแก้ปัญหาได้
..................9. เจ้าหน้าที่ติดต่อสื่อสารด้านภารกิจ ควรอยู่ในชุดส่วนล่วงหน้าและควรที่จะมีโอกาสคุ้นเคยกับอุปกรณ์ด้านการปลดอาวุธที่ใช้ในภารกิจ
..................10. สรุป : ผู้วิจัยมีความเห็นว่า ตลอดระยะเวลาสามเดือนครึ่งของการปฏิบัติการปลดอาวุธจาก GAM องค์ประกอบพื้นฐานด้านการปลดอาวุธได้ดำเนินการจนครบถ้วน 4 ขั้นอย่างราบรื่น ปฏิสัมพันธ์บวกกับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ GAM และรัฐบาลอินโดนีเซีย เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ (key to the success) อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ของการปฏิบัติภารกิจปลดอาวุธจาก GAM การสนับสนุนโดย บก. AMM และ ที่ทำการ ด้านการปลดอาวุธ (District Offices) นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ภายในที่ทำการ DO และ MDTs ได้ผสมผสาน ความรู้และประสบการณ์ สัมพันธภาพในการทำงานและการให้กำลังใจที่ดีเยี่ยมในความร่วมมือกันของเจ้าหน้าที่ด้านการปลดอาวุธทั้ง 44 คน ที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติจาก 12 ประเทศ นับเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการประสบความสำเร็จของภารกิจ จึงหวังว่าหยาดเหงื่อและการทำงานอย่างหนักของเจ้าหน้าที่ปลดอาวุธ แม้ว่าจะเล็กน้อยเมื่อเทียบกับความยุ่งยากที่เกิดขึ้นเป็นเวลา 30 ปี ของความขัดแย้งระหว่างประชาชนชาวอาเจห์ และชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ ช่วยนำไปสู่การยุติความขัดแย้งและบังเกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืนต่อประชาชนชาวอาเจห์

อนึ่ง ในภารกิจการปลดอาวุธจาก GAM นี้ ผู้วิจัยขอบันทึกไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่า มีอาวุธปืนเล็กยาวชนิด HK33 ที่สัญลักษณ์ ตรากงจักรของ ทบ.ไทยจำนวน 3 กระบอกที่ใช้การได้ดี กระบอกแรกหมายเลข S/N 023040 กระบอกที่ 2 หมายเลข S/N 126161 และกระบอกที่ 3 หมายเลข S/N 037456 ปะปนมาในอาวุธที่ส่งมอบให้กับหน่วย MDT ซึ่งตามกระบวนการทำงานที่ตกลงกันไว้ จะต้องตัดทำลายเป็น 3 ท่อนทันที ซึ่งผู้วิจัยได้ถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานทั้งหมด และได้รายงานในทางลับกลับมาให้ บก.ทหารสูงสุด และ ทบ.ไทย เพื่อตรวจสอบหากระบวนการลักลอบค้าอาวุธสงคราม ที่อาจจะส่งผลเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปรากฏว่าเรื่องดังกล่าวเงียบหายไป ทั้งนี้ผู้วิจัยพยายามที่จะติดตามเป็นการภายใน ซึ่งในที่สุดได้รับคำตอบที่ไม่เป็นทางการว่า กรมสรรพาวุธทหารบก ของไทยได้ผลิต ปลย. HK 33 จำหน่ายให้กับส่วนราชการหลายหน่วย โดยเฉพาะกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลย. ทั้ง 3 กระบอกนี้ อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้

แม้ในปัจจุบัน ผู้วิจัยยังคงติดใจสงสัยในเรื่องดังกล่าวอยู่ หน่วยงานด้านการข่าว น่าจะสืบสวนขยายผลเพื่อให้ได้ร่องรอยกระบวนการค้าอาวุธสงครามจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพราะการที่ทรัพย์สินของทางราชการที่ถูกตรวจพบอย่างประจักษ์แจ้งเช่นนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบหาความจริงได้อย่างไร

แผนภาพที่ 17 : ปลย.HK 33 จากประเทศไทยที่ตรวจพบในอาเจห์
จำนวน 3 กระบอก



บทสรุปการทำงานของ AMM
..........ด้วย AMM EU ได้ก้าวออกไปอีกขั้นหนึ่งบนวิถีทางที่กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทระดับโลกและเป็นผู้ที่ให้การดูแลด้านความมั่นคง นับเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องเน้นอีกครั้งว่า EU ในความสัมพันธ์กับอาเซียน เป็นเพียงคณะเดียวที่ได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่มในต่างประเทศถึงการดำเนินงานตาม MOU นั่นเป็นสิ่งที่ต้องระลึกถึงในความน่าเชื่อถือที่นานาชาติมอบให้สำหรับการแทรกแซงของ EU ภายใต้ ESDP ในความร่วมมือกับอาเซียนยังได้จัดให้มีการสาธิตเพิ่มเติมเกี่ยวกับความมุ่งมั่นตั้งใจของสหภาพที่จะช่วยเหลือสนับสนุนองค์กรส่วนภูมิภาคในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพทั่วโลก ตามด้วยสิ่งที่สำคัญแต่ไม่ใช่ความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จทั้งหมดกับสหภาพแอฟริกัน (African Union) สิ่งนี้นับว่าสำคัญ เป็นการช่วยเหลือสนับสนุนที่จับต้องได้ต่อแนวคิดของระบบพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ


การเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีต ผู้ปฏิบัติงานของ EU ทุกคน ได้ทำสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้เพื่อที่จะสร้างความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และทำสม่ำเสมอจนเป็นปกติด้วยมุมมองที่จะให้ได้ผลงานของ AMM ออกมาให้มากที่สุด และเพื่อที่จะเตรียมมุมมองด้านสันติภาพที่ยั่งยืนในระยะยาว แม้ว่าความตั้งใจจะมีมาก ซึ่งแน่นอนก็ขึ้นอยู่กับข้อผูกพันอันมั่นคงและยาวนานของกลุ่มต่างๆ ในระดับท้องถิ่น บทเรียนต่างๆ ควรดึงมาจากการแสดงความเป็นมืออาชีพในระดับสูงและเป็นไปในเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ของ AMM และของคณะกรรมาธิการ ด้วยมุมมองที่จะรวมกองกำลังใหม่ ที่มีการปฏิบัติการที่มีการเรียกร้องความต้องการให้มากขึ้น เช่น กองกำลังในปาเลสไตน์ หรือในโคโซโว


ในเวลาเดียวกัน ความสำเร็จของ AMM ควรได้รับการประเมินด้วยสายตาที่สร้างสรรค์มากขึ้นและวางไว้ในมุมมองข้างหน้า อุปสรรคของภารกิจด้านการเงินและขนาดมีพอประมาณแม้ว่าจะไม่สำคัญนักโดยมาตรฐานของ ESDP ความยุ่งยากในการดำเนินภารกิจเป็นตัวเตือนความจำที่บอกถึงข้อบกพร่องต่างๆ ที่บ่อนทำลายความยั่งยืนในระยะยาวของ ESDP ประเด็นด้านการเงิน การจัดหา ศักยภาพและการสนับสนุนด้านส่งกำลังบำรุงเพื่อการจัดวางกำลังอย่างรวดเร็ว รอไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิด ในฐานะที่ได้รับแจ้งให้ทราบโดยแผนปฏิบัติการ 2547 และเอกสารว่าด้วยเป้าหมายที่เป็นหัวข้อเรื่องฝ่ายพลเรือน 2008 (Civilian Headline Goal 2008) การจัดที่คาดการณ์ไว้ของ CRT และความคืบหน้าต่อกระบวนการวางแผนแบบเบ็ดเสร็จสำหรับ ภารกิจของ ESDP ที่เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ในเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาเกี่ยวกับกฎหมาย และของยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงของยุโรป อย่างไรก็ตาม เป็นก้าวต่อไปที่ควรถูกคาดการณ์ที่จะเป็นการระดมทรัพยากรและศักยภาพที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นต่อสหภาพ การข้ามสะพานที่มีการแบ่งแยกทางสถาบัน ขณะที่คงรักษาไว้ซึ่งความสามารถตามลำดับและอำนาจพิเศษของผู้แสดงบทบาทของชาวยุโรปและในระดับชาติ AMM เริ่มภารกิจ โดยปฏิบัติงานเมื่อ 15 ก.ย.2548 และจบภารกิจลงเมื่อ 15 ธ.ค.2549 หากนับเวลาการปฏิบัติงานทั้งหมด 1 ปี 3 เดือน แบ่งห้วงการปฏิบัติงานตามการปรับกำลังและแผนงาน เป็น 3 ห้วง คือ

ห้วงที่ 1 : 5 ก.ย.2548 – 15 มี.ค.2549 มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 240 คน
ห้วงที่ 2 : 16 มี.ค.2549 – 15 ก.ย.2549 มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 85 คน
ห้วงที่ 3 : 16 ก.ย.2549 – 15 ธ.ค.2549 มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 35 คน

เนื่องจากงานหลักของ AMM นั้น เป็นงานการสังเกตการณ์ และตรวจสอบการดำเนินงานของทั้งสองฝ่ายว่า เป็นไปตามข้อตกลงสันติภาพฯ หรือไม่ เป็นหลัก งานนอกเหนือจากนั้นจะเป็นการให้ข้อเสนอแนะ การช่วยเหลือสนับสนุนในการจัดทำข้อตกลงย่อยของทั้งสองฝ่าย การให้ข้อมูล การประสานงานหรือการสนับสนุนอื่นๆ แก่ทั้งสองฝ่ายเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงในขั้นสุดท้าย เป็นต้น ความรับผิดชอบหลักในการปฏิบัติเพื่อผลักดันขับเคลื่อนให้งานตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงสันติภาพฯ บรรลุเป้าหมายนั้นเป็นของทั้งฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ที่จะต้องให้ความร่วมมือ และถือเป็นพันธกรณีที่จะดำเนินการให้บรรลุผลตามข้อตกลงสันติภาพ

แผนภาพที่ 18 : สื่อมวลชนและชาวอาเจห์เดินทางมาส่งทหารไทย
ที่สนามบินบันดาอาเจห์หลังจบภารกิจ ควบคุมการหยุดยิง เมื่อ 14 มิ.ย.49



จากการประเมินผลการปฏิบัติงานของภารกิจ AMM ตามงานที่ระบุในข้อตกลงสันติภาพฯ ที่กล่าวมาแล้ว สรุปได้ ดังนี้
การนิรโทษกรรมและปล่อยตัวนักโทษการเมือง
1. ผลการดำเนินงาน รัฐบาลอินโดนีเซียนิรโทษกรรมและปล่อยตัวนักโทษการเมือง จำนวน 1,346 คน เดินทางโดยเครื่องบินมาจาก จาการ์ตา มาทำพิธีส่งมอบ ณ สนามบิน บันดาอาเจห์ ซึ่งผู้วิจัยได้รับมอบให้ไปตรวจสอบ ซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจครั้งแรกในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของทั้งสองฝ่าย

แผนภาพที่ 19 : บรรดานักโทษการเมืองซึ่งสนับสนุน GA
M ได้รับนิรโทษกรรมตามMOU Helsingki



2. ประเมินความสำเร็จของทั้งสองฝ่ายเห็นว่า การดำเนินการประสบความสำเร็จ แม้ว่าจะไม่สามารถนิรโทษกรรม และปล่อยตัวได้ทั้งหมด จากยอดนักโทษทั้งหมด จะเห็นว่า ผู้ที่ได้รับนิรโทษกรรมมีประมาณ ร้อยละ 48
3. ปัญหาในขั้นต้นฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถปล่อยผู้ต้องขังที่ฝ่าย GAM อ้างว่าเป็นนักรบและผู้ปฏิบัติงานของ GAM ที่ต้องคดีอุฉกรรจ์ พิจารณาแล้วไม่เกี่ยวกับการเมือง และ คดีการก่อการร้าย จำนวน 16 คน คาดว่า ฝ่ายรัฐบาลจะยืนยันไม่ปล่อยตัวนักโทษกลุ่มนี้ เพราะพิจารณาว่า เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองในอาเจห์ และเป็นอาชญากรรม


การปลดอาวุธและปลดประจำการนักรบ GAM
1.ผลการดำเนินงาน GAM ส่งมอบอาวุธ จำนวน 1,018 กระบอก AMM รับรอง จำนวน 840 กระบอก และทำลายอาวุธที่ส่งมอบทั้งหมด GAM ประกาศยุบกองกำลังติดอาวุธ (Tentara Nusa Aceh : TNA) เมื่อ 27 ธ.ค.2548 เป็นการปลดปล่อยนักรบจำนวน 3,000 คนให้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาเดิมของตน
2. ประเมินความสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่า การดำเนินการในส่วนนี้ประสบความสำเร็จตามที่ข้อตกลงฯ ได้กำหนดไว้
3. ปัญหา คือ ฝ่ายรัฐบาล มีข้อมูลว่า ฝ่าย GAM มีอาวุธมากกว่า 1,018 กระบอก แต่ ไม่ยอมส่งมอบทั้งหมด ฝ่าย GAM กล่าวว่า อาวุธ และนักรบจำนวนหนึ่งของตนสูญหายไประหว่างสึนามิ ฝ่ายรัฐบาลจึงให้ GAM รับรองว่า ได้ส่งมอบอาวุธทั้งหมดให้กับรัฐบาลแล้ว และหากมีการตรวจพบอาวุธอีกในอนาคต ให้ถือว่า เป็นการครอบครองโดยผิดกฎมาย และเป็นอาชญากรรม

การให้หลักประกันในการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนให้กับนักรบ และนักโทษการเมือง
1.ผลการดำเนินงาน ในช่วงการดำเนินงานของภารกิจ AMM มีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพียงเล็กน้อย ไม่เป็นปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เป้าหมายของ AMM คือ การดูแลปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่างการดำเนินงานของภารกิจ ที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงฯ อย่างไรก็ตาม MOU ต้องการให้แก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในอดีตอย่างเป็นธรรมด้วย จึงได้กำหนดให้จัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน และคณะกรรมการเพื่อค้นหาความจริงขึ้น ซึ่งได้ระบุการจัดตั้งองค์กรทั้งสองไว้ในกฎหมายปกครองอาเจห์แล้ว แต่การจัดตั้งยังไม่เกิดขึ้น
...1.1 การจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน (Human Rights Court) ตามที่ LOGA กำหนดไว้ว่า จะต้องจัดตั้งขึ้นภายใน 1 ปีหลังจากที่ LOGA ได้ประกาศเป็นกฎหมาย
...1.2 การจัดตั้ง คณะกรรมการเพื่อค้นหาความจริงเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (Truth and Reconciliation Commission – TRC) ตามที่ LOGA กำหนด การจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน (Human Rights Court) ตามที่ LOGA กำหนดไว้ว่า จะต้องจัดตั้งขึ้นภายใน 1 ปีหลังจากที่ LOGA ได้ประกาศเป็นกฎหมาย
...1.3 ต้น ธ.ค.2549 อินโดนีเซียมีหนังสือตอบ AMM เรื่องการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน (HRC) ว่า อินโดนีเซียจะสามารถจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชนเฉพาะกิจ (Ad Hoc Human Rights Court) เพื่อพิจารณาคดีเป็นกรณีๆ ไปเท่านั้น ซึ่ง AMM มีความเห็นว่า จะเป็นการดำเนินการที่ไม่ตรงกับที่ MOU กำหนด
2 ประเมินความสำเร็จ
...2.1 การจัดตั้ง HRC และ TRC เป็นข้อกำหนดที่กำหนดไว้ใน MOU โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาคดีสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เริ่มการต่อสู้กันด้วยอาวุธเมื่อปี พ.ศ.2519 เป็นต้นมา
...2.2 แต่ฝ่ายรัฐบาลต้องการแยกความรับผิดชอบของ HRC และ TRC ที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อให้พิจารณาคดีเฉพาะที่เกิดขึ้นหลังการออกกฎหมายปกครองอาเจห์
...2.3 ในขณะที่ผู้วิจัยปฏิบัติงานและใกล้จบภารกิจ ยังไม่มีความก้าวหน้าเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลทั้งสองประเภท การจัดตั้งศาลทั้งสองเป็นไปตามกฎมาย ประธานาธิบดี จะต้องตรา Presidential Decree และแต่งตั้งคณะกรรมการตุลาการของศาลทั้งสอง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการ
การถอนกำลังทหารและตำรวจ
1. ผลการดำเนินงาน ผู้วิจัยได้รับมอบให้เดินทางไปตรวจสอบการถอนกำลังทหารที่เสริมกำลังมาจากพื้นที่อื่น (non organic troops) ออกจากอาเจห์ จำนวน 25,890 คน และตำรวจที่นำเข้ามาจากพื้นที่อื่นอีก จำนวน 5,791 คน
2. ประเมินความสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า การดำเนินการถอนกำลังทหารและตำรวจออกจากอาเจห์ประสบความสำเร็จด้วยดี
3. ปัญหา คือ ฝ่าย GAM ร้องเรียนอยู่เสมอว่า ฝ่ายรัฐบาลลักลอบนำกำลังหน่วยข่าวนอกเครื่องแบบเข้ามาปฏิบัติการในอาเจห์อีก

การตรวจสอบกำลังทหารและตำรวจประจำการ
1. ผลการดำเนินงาน AMM ได้ตรวจสอบและรับรองยอดทหารและตำรวจประจำการในอาเจห์ สรุปว่า มีกำลังทหารประจำการ จำนวน 8,9000 คน (ข้อตกลงสันติภาพฯ กำหนด ยอดทหารประจำการ 9,1000 คน) และตำรวจประจำการ 14,000 คน (ข้อตกลงฯ กำหนดให้ มีกำลังตำรวจประจำการได้ 14,700 คน)
2. ประเมินความสำเร็จ โดยทั้งสองฝ่ายรับรองความสำเร็จของการดำเนินการ ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ MOU กำหนด
โครงการกลับคืนสู่สังคม
1. ผลการดำเนินงาน
...1.1 ทั้งสองฝ่ายตกลงโครงการให้ความช่วยเหลืออดีตนักรบ (GAM ex – combatants) จำนวน 3,000 คน จำนวนคนละ 25 ล้านรูเปีย โครงการนี้ ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อ ต้น ธ.ค.2549
...1.2 โครงการให้ความช่วยเหลือสมาชิกองค์การประชาชนต่อต้านการแยกตัว อาเจห์เป็นเอกราช (PETA) จำนวน 5,000 คน โดยได้รับเงินตอบแทนคนละ 10 ล้านรูเปีย
2. ประเมินความสำเร็จ ประเมินความสำเร็จได้ประมาณ ร้อยละ 20 แต่ถือว่า ความสำเร็จ 20 เปอร์เซ็นต์นี้ เป็นส่วนสำคัญของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะเกี่ยวข้องกับกำลังที่สู้รบกันโดยตรงมาก่อน การดำเนินการต้องการงบประมาณจำนวนมาก (ประมาณ 175 พันล้านรูเปีย) และต้องการเวลาอีกประมาณ 2 ปี ฝ่ายรัฐบาลยังคงไม่สามารถดำเนินการโครงการด้านการสนับสนุนการกลับคืนสู่สังคมและฟื้นฟูบูรณะอาเจห์ที่เกิดจากความขัดแย้ง อีกหลายโครงการ เช่น
...2.1 การให้ความช่วยเหลือสมาชิก GAM ที่ไม่ใช่นักรบ จำนวน 2,200 คน ยังไม่ได้ดำเนินการ
...2.2 การให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ/ความขัดแย้งที่ผ่านมา โครงการสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economic empowerment program) ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบไปแล้ว จำนวน 324 คน เป็นเงินคนละ 10 ล้านรูเปีย ให้ความช่วยเหลือทายาทผู้เสียชีวิตไปแล้ว 758 คน ผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆ ประมาณ 63,000 คน ยังไม่ได้ดำเนินการ ยกเว้น กลุ่มอดีตผู้ต่อต้านการแยกดินแดน จำนวน ประมาณ 6,500 คน ได้รับความช่วยเหลือไปเรียบร้อยแล้ว คนละ 10 ล้านรูเปีย
...2.3 เงินช่วยเหลือผู้ที่บ้านหรือที่พักอาศัยถูกทำลาย : จำนวนทั้งสิ้น 5,00 หลัง หลังละ 34.5 ล้านรูเปีย ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 3,254 หลัง
...2.4 เงินช่วยเหลือผู้พิการ จำนวนประมาณ 3,000 คน ยังไม่ได้ดำเนินการ การให้ความช่วยเหลือสมาชิก GAM ที่มอบตัวก่อน MOU จำนวน 2,704 คน ให้ความช่วยเหลือไปแล้ว 500 คนๆ ละประมาณ 2 ล้านรูเปีย
...2.5 การดำเนินการให้ความช่วยเหลือในรูปของโครงการพัฒนาชุมชน (Community basd programs) เป็นความเร่งด่วน ดำเนินการไปประมาณ ร้อยละ 25 เท่านั้น โครงการนี้มีหมู่บ้านในโครงการประมาณ 7,000 หมู่บ้าน
3. ปัญหา คือ รัฐบาลยังไม่สามารถกำหนดนโยบายในการให้ความช่วยเหลืออดีตข้าราชการ เช่น ทหาร ตำรวจ ครู และเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับจังหวัด ที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะให้การสนับสนุน GAM ในช่วงที่มีการสู้รบกันที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งสิ้นประมาณ 80 คน


การออกกฎหมายปกครองอาเจห์ (Law on the Governing of Aceh – LOGA)
1. ผลการดำเนินงาน สภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย (DPR) สามารถผ่านกฎหมายปกครองอาเจห์ (Law on the Governing of Aceh – LOGA) ได้เมื่อ 11 ก.ค.2549 อย่างไรก็ตาม ฝ่าย GAM ไม่เห็นด้วย 11 ประเด็น โดยมีประเด็นที่เห็นว่า เป็นปัญหาวิกฤติ 3 ประเด็น คือ เรื่อง การให้ความเห็นชอบในการออกกฎหมาย หรือข้อบังคับต่ออาเจห์ที่จะต้องหารือกับอาเจห์ก่อน เรื่อง การกำหนดมาตรฐานกลางของประเทศ และเรื่อง บทบาทของกำลังทหารในอาเจห์ เกี่ยวกับ การเข้าร่วมในการรักษาความมั่นคงภายใน ส่วนเรื่องอื่นๆ มีความสำคัญ และ ต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม
2. ประเมินความสำเร็จ
...2.1 รัฐบาลยังไม่ได้เสนอเอกสารอย่างเป็นทางการต่อ AMM เกี่ยวกับ กำหนดการในการออกกฎหมายและข้อกำหนดประธานาธิบดี (LOGA Implementation Timeline that involves Government’s Regulations and/or Presidential Decrees) เพื่อรองรับการดำเนินการตามกฎหมายปกครองอาเจห์ (LOGA) เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และใช้เป็นกรอบในการดำเนินการตามกฎหมายปกครองอาเจห์ของฝ่ายรัฐบาล
...2.2 รัฐบาลยังไม่เสนอข้อกำหนดของประธานาธิบดี (Presidential Decree) เกี่ยวกับ การหารือ และการร่วมพิจารณาระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลท้องถิ่น (Consultation and consideration) ซึ่งฝ่ายรัฐบาลกำหนดจะจัดทำให้แล้วเสร็จก่อนการจบภารกิจของ AMM
การจัดการเลือกตั้ง และการถ่ายอำนาจการปกครองจังหวัด
1. ผลการดำเนินงาน รัฐบาลสามารถจัดการเลือกตั้งในอาเจห์ได้เมื่อ 11 ธ.ค.2549 ผลการเลือกตั้ง ผู้แทนฝ่าย GAM ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด และมีอดีตสมาชิก GAM ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายอำเภออีก ประมาณ 8 คน
2. ประเมินความสำเร็จ ตามการประเมินของคณะกรรมการเลือกตั้ง และหน่วยสังเกตการณ์เลือกตั้งต่างประเทศที่เข้าไปสังเกตการณ์ สรุปได้ว่า การเลือกตั้ง ดำเนินไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการใช้อิทธิพลข่มขู่ แต่อย่างใด แม้ว่า จะมีปัญหาเทคนิคบางประการก็ตาม แต่เป็นเรื่องเล็กน้อย

การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยและการเมืองท้องถิ่น
1. ผลการดำเนินงาน นับเป็นงานที่ทั้งรัฐบาลและฝ่าย GAM ต้องให้ความร่วมมือกัน แม้ว่า เรื่องนี้จะไม่ได้ระบุไว้ในข้อตกลงสันติภาพฯ แต่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ และความยั่งยืนของสันติภาพและประชาธิปไตย งานที่ได้ดำเนินมาตั้งแต่ต้น ประกอบด้วย การจัดการศึกษาอบรมเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายปกครองอาเจห์ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมขององค์การภาคประชาชน (civil society organizations) ในกระบวนการทางการเมือง
2. ปัญหา
...2.1 ยังไม่สามารถยุบGAM และสำนักงานผู้แทน GAM (KPA) ในระดับอำเภอได้
...2.2 GAM ยังคงต้องเป็นคู่เจรจากับรัฐบาลไปจนกว่าการดำเนินการตาม MOU จะได้ข้อยุติที่เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย
...2.3 รัฐบาลต้องรีบประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมืองท้องถิ่นในอาเจห์โดยเร็ว เพราะ GAM จะแปรสภาพเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยต่อไปเมื่อมีกฎหมายพรรคการเมืองท้องถิ่นรองรับ

โอกาส ปัญหาและอุปสรรคในระหว่างการปฏิบัติภารกิจของกองทัพไทยใน AMM

โอกาสในระหว่างการปฏิบัติการกิจของกองทัพไทยใน AMM
1.รัฐบาลไทยตอบสนองข้อเสนอของอาเซียนอย่างรวดเร็ว ส่วนกองทัพไทย มีการเตรียมการในด้านกำลังพลไว้ให้มีความพร้อมในระดับหนึ่งจึงทำให้ กองทัพไทยได้รับการยกย่องจากรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (Government of Indonesia : GOI)
2. EU ให้การยอมรับและมีการสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ กล่าวคือ ผู้วิจัยได้นำนาย ปีเตอร์ เฟธ หน.ภารกิจอาวุโส เดินทางมาเยี่ยมคำนับ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รมว.กห.ในขณะนั้น เพื่อมอบโล่เกียรติยศให้กระทรวงกลาโหมไทยในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติภาพในอาเจห์
3. นายทหารไทยได้สร้างมิตรภาพที่ดีกับทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่าย GAM ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงาน ในอาเจห์ ผู้วิจัยเองได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับ พล.ต.บัมบัง ดาร์โมโน เจ้ากรมยุทธการทหาร ของกองทัพอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญ ที่เป็นหลักให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย มีโอกาสได้รายงานสถานการณ์โดยตรงต่อ ผบ.ทหารสูงสุดอินโดนีเซีย ทางการอินโดนีเซียให้เกียรติแก่ผู้วิจัยในทุกโอกาส ซึ่งในทางหลักการแล้ว กระทำมิได้เนื่องจากการมีสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์นั้น จะต้องเป็นกลางไม่ฝักใฝ่ใกล้ชิดกับรัฐบาลอินโดนีเซียรวมทั้ง GAM แต่ในทางปฏิบัติผู้วิจัย มีความจริงใจและมีความคิดในเชิงบวกตลอดเวลาจึงทำให้เกิดเป็นมิติใหม่ในความสัมพันธ์ กล่าวคือ เมื่อผู้วิจัยจบภารกิจในอาเจห์แล้ว ได้เสนอแนะต่อ พล.อ. เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.ทหารสูงสุดในขณะนั้นให้มีการสร้างกลไกความสัมพันธ์ ระหว่างกองทัพทั้งสองประเทศ คือคณะกรรมการระดับสูง ( High Level Committee : HLC ) และต่อมาได้รับอนุมัติจาก ครม. กล่าวคือ ผบ.ทหารสูงสุดของทั้งสองประเทศจะมีการปะชุมหารือแบบทวิภาคี ปีละครั้งโดยผลัดกันเป็นเจ้าภาพ โดยกองทัพไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2550 ณ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกรมกิจการชายแดนทหารเป็นสำนักงานเลขานุการการประชุม และผู้วิจัยเป็นเลขานุการการประชุม
4. เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ในการทำงานในลักษณะ “การคิดนอกกรอบ” ในทุกโอกาสจะต้องใช้สติปัญญาในการทำงาน โดยเฉพาะการตกลงใจในการแก้ปัญหาของคนที่เป็นปรปักษ์กัน การายงาน การร้องเรียนเกิดขึ้นตลอดเวลา ผู้วิจัยในฐานะผู้อาวุโสเป็นลำดับสอง ต้องรับการร้องทุกข์ กล่าวโทษจากทางโทรศัพท์มือถือ เป็นภาษาอังกฤษสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ ในเวลากลางคืนที่มีข้อพิพาท
5. เกิดประสบการณ์ใหม่ เนื่องจากภารกิจนี้ มี EU เป็นเจ้าภาพ มีกระบวนการการทำงานที่แตกต่างจาก UN
6. เกิดสัมพันธภาพที่ดีกับฝ่าย GAM โดยลักษณะนิสัยพื้นฐานของคนเอเชีย โดยเฉพาะคนไทย ที่มีความประนีประนอมสูง ยิ้มแย้มแจ่มใสแม้ในห้วงเวลาตรึงเครียด ได้ทำให้ทุกฝ่ายประทับใจ โดยเฉพาะ GAM ที่คาดว่าเจ้าหน้าที่ AMM จะมาจับผิดคิดร้าย หากในความเป็นจริง กำลังพลของไทยที่ทั้งหมดเป็นนายทหาร กลับเป็นตัวกลางที่ดีและเห็นใจ ให้เกียรติ GAM เสมอ และในที่สุดเมื่อเกิดการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดอาเจห์ นาย เออร์วันดี ยูซุป อดีตแกนนำ GAM ที่ทำหน้าที่ในการเจรจากับผู้วิจัย ได้รับเลือกเป็น ผู้ว่าราชการ ฯ และในวันเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ได้เชิญผู้วิจัยเพียงคนเดียวจากประเทศไทยไปเข้าร่วมพิธี ณ ศาลากลางจังหวัด เมื่อ 8 ก.พ. 2550

แผนภาพที่ 20 : พล.ท.นิพัทธ์ฯ ได้รับการต้อนรับจาก ผบ.กกล.GAM ในทุกพื้นที่ของ จ.อาเจห์





อุปสรรคในระหว่างการปฏิบัติการกิจของกองทัพไทยใน AMM

1.อันตรายจากการสู้รบ
แม้ว่า การต่อสู้กันด้วยอาวุธจะต้องหยุดลงตามข้อตกลงสันติภาพ แต่ในสภาพความ เป็นจริงของสถานการณ์นั้น กองกำลังของทั้งสองฝ่ายยังคงตรึงกำลังและเผชิญหน้ากันอยู่ในพื้นที่ โดยยังคงมีอาวุธกระสุนอยู่ครบมือ เพื่อรอการปลดอาวุธ และการถอนกำลังทหาร-ตำรวจ ตามลำดับขั้น นอกจากนั้น การต่อสู้กันทางการเมืองยังคงดำรงต่อไปในรูปแบบต่างๆ เช่นการเดินขบวนเรียกร้องสิทธิประโยชน์ขององค์กร - กลุ่มการเมืองต่างๆ และการก่อความไม่สงบ ด้วยการลอบเผาสถานที่ราชการ โดยเฉพาะการปิดล้อมสถานีตำรวจ และทำลายทรัพย์สินของฝ่ายรัฐบาล การเคลื่อนไหวนอกกรอบข้อตกลงของกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ เช่น กลุ่มอดีต กองกำลังชาวบ้านที่รัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นในระหว่างการสู้รบที่ผ่านมา (militias) กลุ่มขบวนการที่รู้ตัวว่ามีคดีอาญาติดตัว ไม่สามารถได้รับการอภัยโทษได้ ซึ่งได้แปรสภาพเป็นกลุ่มอาชญากร ปฏิบัติการนอกกฎหมายต่างๆ เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้มุ่งปฏิบัติต่อเป้าหมายที่เป็นเจ้าหน้าที่ของภารกิจ AMM โดยเฉพาะนายทหารผู้สังเกตการณ์ เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลและ GAM ล้มเลิกภารกิจและข้อตกลงสันติภาพ

เหตุการณ์ที่สำคัญ ประกอบด้วย การปะทะกันด้วยอาวุธเมื่อ 28 ก.ย.2548 กองกำลังติดอาวุธของ GAM และชุดลาดตระเวนของหน่วยทหาร ใน ตำบล Indrapuri ในพื้นที่เมือง Aceh Besar เกิดขึ้นเนื่องจาก ความเข้าใจผิดของทั้งสองฝ่ายในการปฏิบัติตามขั้นตอนของข้อตกลงสันติภาพฯ การปะทะกันดังกล่าวหยุดลงได้ด้วยการที่นายทหารผู้สังเกตการณ์เข้าขวางการปะทะและเจรจา ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากนายทหารผู้สังเกตการณ์นั้น ปฏิบัติงานแบบพลเรือนโดยไม่ติดอาวุธ

การเสี่ยงภัยเข้าไปในพื้นที่ของฝ่ายขบวนการฯ โดยปราศจากการคุ้มครองและให้การรักษาความปลอดภัยจากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักปฏิบัติที่ภารกิจกำหนดให้นายทหารผู้สังเกตการณ์ปฏิบัติได้หากมีความจำเป็นเพื่อการช่วยเหลือบุคคล เพื่อให้ได้ข่าวสารข้อเท็จจริง หรือเพื่อการประสานงานลับเพื่อแก้ปัญหาบางประการ หรือการแสวงหาข้อตกลงใจที่ยังไม่ได้ ข้อยุติซึ่งเป็นผลมาจากการที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อกันเพียงพอ นับเป็นความจำเป็นของการปฏิบัติงานที่ภารกิจ AMM จะต้องยอมรับให้ปฏิบัติเพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นของฝ่ายขบวนการฯ ซึ่งนับว่า เป็นการเสี่ยงภัยที่สูงยิ่ง เพราะนายทหารผู้สังเกตการณ์อาจถูกจับเป็นตัวประกัน หรือถูกลอบโจมตี ตัวอย่างเหตุการณ์ในลักษณะนี้ เช่น การที่ รองหัวหน้าภารกิจ อาวุโส คือผู้วิจัยและ เจ้าหน้าที่ เดินทางเข้าไปพบ ผู้นำคนสำคัญของขบวนการฯ (นาย Zakaria Zaman) ที่ ตำบล Tiro อำเภอ Pidie เมื่อ 10 ก.ย.2548 หรือ การเดินทางเข้าไปในเขตพื้นที่สีดำ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมโดยฝ่ายขบวนการฯ โดยสมบูรณ์ ที่ ตำบล Paya Bakong เป็นต้น

แผนภาพที่ 21 : พล.ท.นิพัทธ์ฯ นำคณะ AMM
ไปพบและเจรจากับบรรดา ผบ.หน่วย นักรบ GAM ในป่า
ซึ่งเป็นที่มั่นของ GAM เพื่อตกลงในรายละเอียดของการหยุดยิง



ยังมีกรณีอื่นๆ อีก เช่น การปิดล้อมสถานีตำรวจและวางเพลิงสถานีตำรวจที่ เมือง Langsa ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้ง การปิดล้อมและหน่วงเหนี่ยวคณะนายทหารผู้สังเกตการณ์ที่ อำเภอ Lhokseumawe เพื่อให้ปล่อยตัวชาวบ้านที่สูญหาย การปะทะกันระหว่างกำลังทหารฝ่ายรัฐบาล และกำลัง GAM ที่ ตำบล Paya Bakong อำเภอ Lhokseumawe เมื่อ 3 ก.ค.2549 อันเป็นเหตุให้มีสมาชิกขององค์กรผู้แทน GAM ในพื้นที่เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย และ ในเหตุการณ์นี้ รถลาดตระเวนและผู้สังเกตการณ์ของภารกิจ AMM ถูกยิงในที่เกิดเหตุ นอกจากนั้น ยังมีการลอบก่อวินาศกรรมระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของรัฐ เป็นต้น


2.อันตรายจากกระสุนและวัตถุระเบิด
การปฏิบัติงานของนายทหารผู้สังเกตการณ์นั้น จะต้องเสี่ยงต่ออันตรายจากกระสุนและวัตถุระเบิดที่อาจระเบิดขึ้นระหว่างการรับมอบจากฝ่ายขบวนการฯ นายทหารผู้สังเกตการณ์ของไทย เป็นหัวหน้าทีม จำนวน 1 ใน 4 ทีมที่รับผิดชอบการรับมอบและทำลายอาวุธจากฝ่ายขบวนการฯ ในพื้นที่ด้านตะวันตกของอาเจห์ การรับมอบและทำลายอาวุธ ต้องเดินทางเข้าไปรับมอบในพื้นที่ที่ฝ่ายขบวนการกำหนด โดยจะยังไม่ทราบจำนวนและประเภท และต้องดำเนินการตามกระบวนการทำลายภายในเวลา 1 วัน ดังนั้น จึงมีความเสี่ยงจากทั้งอุบัติเหตุจากการระเบิดของกระสุน - วัตถุระเบิด และ การลอบโจมตี เพราะเป็นการเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่อาจจะทราบข้อมูลข่าวกรองของสถานการณ์ได้ล่วงหน้า

3.การก่อความไม่สงบ และการลอบทำร้ายผู้สังเกตการณ์
การเดินขบวนประท้วงของกลุ่มผลประโยชน์ที่ได้รับการจัดตั้ง และประชาชน นิสิต นักศึกษาในอาเจห์ นับว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีข้อตกลงสันติภาพแล้ว เหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก หลังจากที่กฎหมายปกครองอาเจห์ (LOGA) ได้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซียเมื่อ 11 ก.ค.2549 เนื่องจากมีหลายกลุ่มไม่พอใจต่อกฎหมายดังกล่าว กลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงมากขึ้นต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และต่อเจ้าหน้าที่ของภารกิจ AMM เช่น เหตุการณ์ที่ผู้ประท้วงทำร้ายร่างกาย และทำลายทรัพย์สินต่างๆ ในการประท้วงสหภาพยุโรป กรณีภาพล้อการ์ตูนพระนะบี โมฮัมหมัด เมื่อต้น มี.ค.2549 และการประท้วงอย่างต่อเนื่องหน้า บก.ภารกิจ AMM ในบันดา อาเจห์ เช่น เมื่อ 9 และ 25 ก.ค.2549 เป็นต้น

4.ภัยพิบัติธรรมชาติ
หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในเอเชีย เมื่อ 26 ธ.ค.2547 อาเจห์ซึ่งถือเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของแผ่นดินไหว ได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุด มีผู้เสียชีวิตและสูญหายถึงประมาณ 200,000 คน หลังจากนั้น ยังคงเกิดปรากฏการณ์แผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับความรุนแรงปานกลาง และระดับสูง ในปี พ.ศ.2548 ปีเดียว มีแผ่นดินไหวในระดับความรุนแรงปานกลางและสูง รวมกันถึง 83 ครั้ง และประมาณ 20 ครั้งที่เป็นเหตุให้เกิดการพังทลายของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง สร้างความเสียหายและอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 11 ต.ค.2548 ที่ผู้วิจัยได้รับอุบัติเหตุ เนื่องจากวัสดุจากอาคารที่พักพัง ทลายตกถูกศีรษะเป็นแผลฉกรรจ์เย็บ 8 เข็ม นับว่า เป็นภัยพิบัติที่มีผลต่อจิตวิทยา และสภาพขวัญของนายทหาร ผู้สังเกตการณ์เป็นอย่างมาก

5.สภาพภูมิประเทศที่ทุรกันดาร เส้นทางคมนาคมที่ยากลำบาก
การเดินทางทั้งทางข่ายถนนทางพื้นดินและทางอากาศนับว่าเสี่ยงต่ออันตรายมากสำหรับนายทหารผู้สังเกตการณ์ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศในอาเจห์เป็นพื้นที่ป่ารกทึบ และมีภูเขาสูงชันอยู่ทั่วทั้งจังหวัด มีภูเขาที่มีความสูงตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไปจำนวนมาก ทำให้ภูมิประเทศโดยทั่วไปมีสภาพทุรกันดาร ฝนตกชุก มักเกิดแผ่นดินถล่มและน้ำท่วมโดยทั่วไป นอกจากนั้น ยังมีข่ายถนนจำกัดมาก ถนนและเส้นทางส่วนใหญ่ตัดผ่านภูเขาสูงชัน หรือตามชายฝั่งทะเล แคบและคดเคี้ยว และมักมีถนนขาดเนื่องจากแผ่นดินถล่ม น้ำท่วม หรือสะพานชำรุด เป็นต้น ทำให้การเดินทางด้วยรถยนต์ในการลาดตระเวนของผู้สังเกตการณ์เป็นไปด้วยความยากลำบาก และมีอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีฝนตก ทำให้เกิดอุบัติเหตุในการเดินทางบ่อยมาก เนื่องจากการเดินทางบนพื้นดินถือเป็นการปฏิบัติหลักในการลาดตระเวนของผู้สังเกตการณ์ซึ่งต้องรับผิดชอบการปฏิบัติในพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น จึงนับว่า เป็นการปฏิบัติงานที่เสี่ยงภัยจากอุบัติเหตุในการเดินทางสูงมาก

6.ความขาดแคลนปัจจัยอำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต และโรคภัยไข้เจ็บ
หลังจากที่อาเจห์ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อ 26 ธ.ค.2547 ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในหลายอำเภอตามชายฝั่งทะเลได้รับความเสียหาย ทำให้มีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการให้บริการสาธารณสุขต่อประชาชน และส่งผลให้เกิดโรคติดต่อและขยายการติดต่อได้ในวงกว้าง เช่น โรคทางเดินอาหาร ไทฟอยด์ เป็นต้น นอกจากนั้น การที่สุขอนามัยโดยทั่วไปยังไม่ได้มาตรฐาน ทำให้การประกอบอาหารไม่สะอาดพอ ปรากฎว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษกันมาก นอกจากนั้น น้ำใช้อาบและซักล้างยังใช้จากน้ำในลำคลอง หรือ น้ำบาดาล ทำให้เป็นโรคตาแดง และคันตามผิวหนังกันเสมอ อนึ่งเนื่องจากอาเจห์ มีป่าเขาอยู่ติดกับเมืองทำให้ยุงชุกชุมมากทั้งยุงก้นปล่อง ยุงลาย ยุงดำ ทำให้หลายคนเป็นไข้เลือดออก และบางคนป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรีย จากการที่นายทหารผู้สังเกตการณ์ ต้องอยู่อาศัยในชุมชนร่วมกับประชาชน ต้องอาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกและปัจจัยในการดำรงชีวิตในพื้นที่ จึงนับได้ว่า นายทหาร ผู้สังเกตการณ์มีความเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บสูงมากอีกด้วย