20 กันยายน 2552

ศรีลังกา (นอกตำรา) ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๕


มีคนกลางมาช่วยเจรจาหยุดยิง

แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com


ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ นอร์เวย์ส่งทีมเจรจาเข้ามาช่วยพูดจา หาทางดับไฟสงครามนองเลือดในศรีลังกา ส่งผลให้รัฐบาลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬ มานั่งด้วยกันลงนามหยุดยิงได้สำเร็จ

ผู้เขียนต้องขอเรียนว่า ในประเทศ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ มีองค์กรภาคเอกชน และ/หรือสถาบันที่มีอุดมการณ์ และประการสำคัญคือมีเงิน พร้อมที่จะทำงานเพื่อสันติภาพในรูปแบบ “การเป็นตัวกลาง” เพื่อยุติความรุนแรง ทำงานเพื่อสิทธิมนุษย์ชน ฯลฯ และได้รับความไว้วางใจจากหลายประเทศให้เข้าไปทำงาน ประสบความสำเร็จและล้มเหลวควบคู่กันไป

การเจรจาสันติภาพที่บังเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมใกล้ประเทศไทยมากที่สุด คือ นาย มาร์ติ อาติซารี ( Martti Ahtisaari ) อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ที่อุทิศตน เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาหยุดการยิงในจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซียเป็นผลสำเร็จ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๙ นายอาติซารีและทีมงานสามารถติดต่อตรงกับประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบัง ยุโดโยโน และในเวลาเดียวกันก็สามารถยกหูโทรศัพท์ติดต่อกับนาย มาลิค มาห์มุด ( Malik Mahmud ) ผู้นำฝ่าย GAMในสวีเดน และสามารถพูดคุยกับนาย มูซากีร์ มานาฟ ( Muzakir Manaf ) ผู้นำกองกำลัง GAM หรือขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่คุมกำลังรบในป่าจังหวัดอาเจห์ ให้มาพูดคุย และเจรจากันในประเทศฟินแลนด์ เจรจา ๕ ครั้งในเวลา ๘ เดือน ในที่สุดสงครามกลางเมืองในอาเจห์ที่ยาวนานเกือบ ๓๐ ปีก็ยุติลงได้

ผู้เขียนเองก็ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนจากกลุ่มประเทศอาเซียนให้เข้าไปดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าภารกิจอาวุโส ( Prinicipal Deputy Head of Mission ) ในหน่วยงานที่เรียกว่า Aceh Monitoring Mission หรือ AMM ในการควบคุมการหยุดยิงในอาเจห์พร้อมกับนายทหารไทยอีก ๒๐ นาย

นาย อาติซารี ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ทั้งนี้ องค์กร/สถาบัน เหล่านี้ได้ยอมทุ่มเทออกค่าใช้จ่าย ให้กับการเจราจาเพื่อสันติภาพมาแล้วนับไม่ถ้วน ได้รับทั้งชื่อเสียง หรือบางครั้งก็เจ็บตัว เสียเงินฟรี ก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง

สูตรสำเร็จในการทำงานหยุดยิงประการหนึ่งของทีมงานควบคุมการหยุดยิงคือ “การปลดอาวุธ (Decommissioning)” จากฝ่ายกบฏ

บ้านเมือง ประชาชนศรีลังกาหน้าตาสดใสสถานการณ์กลับฟื้นคืนสู่ความสงบแบบไม่เคยมีมาก่อน รัฐบาลสั่งเปิดถนนหลายสายในเมืองศรีลังกาหลังจากปิดการเดินทางไปมาหาสู่กันมานาน ๑๒ ปี ผู้คนเบิกบาน ออกมาทำมาหากิน เด็ก ๆ ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน รัฐบาลประกาศยกเลิกการต่อต้านกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬ
ฝ่ายกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬ ก็มีน้ำใจ แลกด้วยการประกาศยกเลิกรัฐอิสระ

อนิจจา ประชาชนศรีลังกาได้ชื่นชมกับสันติภาพ ความสงบสุขได้เพียง ๑ ปี กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬประกาศถอนตัวจากการเจราจา บ้านเมืองกลับเข้าสู่วิกฤตมิคสัญญีอีกครั้ง

คราวนี้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬ แตกคอกันเองอีกระรอก ในราวเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗ นาย กรุณา นำกลุ่มนักรบจำนวนหนึ่งแยกออกมาขอปฏิบัติการเป็นอิสระ และปฏิบัติการอย่างได้ผลจนสามารถเข้าควบคุมพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศได้อีกครั้ง และในเดือนกรกฎาคม นักรบพลีชีพเข้าไปสังหารหมู่ในเมืองหลวงได้เป็นครั้งแรก เกิดความพลัดพรากไปทุกระดับ

๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ เป็นวันประวัติศาสตร์ที่ชาวโลกรู้จักกับคำว่าสึนามิที่เกิดแผ่นดินไหวใต้มหาสมุทร นอกชายฝั่งเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ส่งผลให้คลื่นยักษ์ในทะเลออกมากวาดชาวอาเจห์ของอินโดนีเซียตายไปราว ๒๐๐,๐๐๐ คน คลื่นยักษ์อาละวาดมากวาดชีวิตชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่กำลังพักผ่อนนอนหลับในพังงา และพื้นที่ทางชายทะเลอันดามันตายไปประมาณ ๔,๐๐๐ คน

สึนามิมีพลังทำลายล้างข้ามมหาสมุทรอินเดียไปกระชากชีวิตชาวศรีลังกาตายไปประมาณ ๓๐,๐๐๐ คนเช่นกัน

รัฐบาลศรีลังกาให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แบ่งปันความช่วยหรือไปให้ชาวพยัคฆ์ทมิฬโดยไม่ลังเล เพื่อพยายามเอาชนะจิตใจเยียวยาความสูญเสีย

ผู้เขียนขอเรียนยืนยันว่า สำหรับปัญหาการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนของจังหวัดอาเจห์ ของอินโดนีเซียที่ต่อสู้กันมายาวนานถึง ๓๐ ปี ในช่วงที่สึนามิคร่าชีวิตชาวอาเจห์ไปราว ๒๐๐,๐๐๐ คน นั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสู้รบคลายตัวลง ทั้งฝ่ายกบฏอาเจห์และรัฐบาลอินโดนีเซียเกิดความเห็นอกเห็นใจ ถือเป็นจุดเปลี่ยน (turning point) ที่สนับสนุนการเจรจาสันติภาพ ( peace Talk ) ที่ตกลงกันได้แล้วในประเทศฟินแลนด์ และเป็นตัวเร่งให้เกิดลงนามหยุดยิง

แต่สำหรับสงครามกลางเมืองในศรีลังกาหาเป็นเช่นนั้นไม่

------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น