20 กันยายน 2552

ศรีลังกา(นอกตำรา)ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๖

ปราบกบฏ LTTE
เมื่อผู้นำเลือกวิธีการปราบปรามเด็ดขาด
แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com

ประธานาธิบดี ราชาปักษา เข้ามานั่งเก้าอี้อันร้อนฉ่า ท่ามกลางวิกฤตมิคสัญญี การก่อการร้ายทั่วทุกหัวระแหงในแผ่นดินศรีลังกา กล่าวกันว่าฝ่ายกบฏควบคุมพื้นที่ได้ถึง ๑ ใน ๓ ของประเทศ ผู้นำศรีลังกาสั่งปรับการทำงานของกองทัพทั้ง “เชิงปริมาณและคุณภาพ” ครั้งใหญ่

กองทัพศรีลังกาตัดสินใจปรับกลยุทธ์ “ใช้ยาแรง” โดยใช้การปราบปรามแบบไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพลเรือน เพราะผ่านมาเกือบ ๓๐ ปี ได้ลองผิดลองถูกมาหลายวิธี

การใช้ “ กำปั้นเหล็ก” ของกองทัพศรีลังกา แน่นอนที่สุดที่จะต้องเผชิญกับการต่อสู้กับการปฏิบัติการด้านข่าวสาร ( Information Operations) สารพัด ชาวทมิฬโดยเฉพาะจากนอกประเทศช่วยกันออกข่าวโจมตีรัฐบาลศรีลังกาในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน

องค์กรระหว่างประเทศพยายามเข้ามาแทรกแซง ตรวจสอบ แต่รัฐบาลศรีลังกายังคงมุ่งมั่นใช้การปฏิบัติการทางทหารเข้าปราบปรามเป็นหลัก ผู้เคราะห์ร้ายคงเป็นประชาชน เผ่าทมิฬที่เป็นเสมือนน้ำ ที่ให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬที่เปรียบเสมือนปลาได้อาศัยแหวกว่าย กองทัพศรีลังกา ไม่ให้โอกาสกับปลาและไม่สนใจเรื่องน้ำ
กองทัพศรีลังกาเข้าปิดล้อมตรวจค้น ผลักดันราษฎรนับหมื่นให้ออกจากพื้นที่ที่เคยพักอาศัย เพื่อต้องการเอ็กซ์เรย์พื้นที่ทุกตารางนิ้ว โดยจัดพื้นที่รองรับชั่วคราวให้ประชาชน

องค์กรระหว่างประเทศตะแคงหูฟังข่าวนี้ พยายามใช้อิทธิพลเพื่อจะมาตรวจสอบความจริงและพยายามเข้ามาแทรกแซงจนได้ โดยขอให้มีการเจราจาสงบศึกทั้ง ๆ ที่กองทัพศรีลังกากำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบฝ่ายกบฏ
องค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งมหาอำนาจบางประเทศสามารถกดดัน จนกระทั่งมีการนั่งโต๊ะเจราจากันอีกครั้งในตุลาคม ๒๕๔๙ ที่เจนีวา แต่การเจราจาก็ไปไม่รอด

การปฏิบัติการทางทหารของกองทัพศรีลังกาในหลายพื้นที่ประจักษ์ชัดว่า “ เกาถูกที่คัน” ได้ผลชัดเจนสร้างความเสียหายให้กับกองกำลัง LTTE ซึ่งพยายามแทรกตัวเข้าไปในประชากรชาวทมิฬ แต่กองทัพรู้ทัน จึงดำรงความมุ่งหมายกวาดต้อนประชาชนออกจากพื้นที่ ที่เชื่อว่ามีกองกำลัง LTTE แฝงตัวอยู่ เช่นการย้ายหมู่บ้าน

แน่นอนที่สุดบรรดาชาวทมิฬที่อาศัยอยู่นอกศรีลังกาพยายามที่จะให้เกิดการแทรกแซงจากประชาคมโลก ทำทุกวิถีทางเพื่อบังคับรัฐบาลศรีลังกาให้หยุดการละเมิดสิทธิมนุษย์ชน แต่รัฐบาลศรีลังกาใจแข็งไม่สนใจ ไม่รับฟัง

ผู้นำศรีลังกาประกาศย้ำชัดเจนในเจตนารมณ์ทางการเมืองและการปฏิบัติการทางทหารว่า “ไม่มีความคลุมเครือ” ศรีลังกาจะปฏิบัติทางทหารทางทหารต่อไป เพราะ “ ค้นหาสูตรสำเร็จ” ได้แล้ว
การเจราจาหยุดยิงในเจนีวาล้มเหลว ยิ่งเป็นปฏิกิริยาเร่งให้กองทัพศรีลังกา “ใช้ไม้แข็ง” ได้อย่างเต็มไม้เต็มมือ

ในช่วงเวลาดังกล่าว ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจาก พลเอก สารัฐ ฟอนซีกา (Gen Sarath Fonseka) ที่ถือได้ว่าเป็น ผู้บัญชาการทหารบก ที่มีแนวทางแข็งกร้าว

กองทัพศรีลังการะดมทหารทั่วประเทศจากเดิมประมาณ ๘๐,๐๐๐ คน เพิ่มยอดเป็น ๑๖๐,๐๐๐ คน เพื่อต้องการกวาดล้างกบฏทมิฬให้สิ้นซาก

รัฐบาลศรีลังกา แทนที่จะจำนนต่อการกดดันจากต่างชาติ แต่กลับเรียกร้องความเห็นใจจากประชาคมโลก ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายกบฏ LTTE ไม่มีความจริงใจในการเจรจา

การทำงานทางการเมืองระหว่างประเทศควบคู่กับการปฏิบัติการทางการทหารแบบบูรณาการแน่นแฟ้น เป็นตัวคูณอำนาจกำลังรบ ส่งผลให้อินเดียและประเทศมหาอำนาจหันมาสนับสนุนรัฐบาลศรีลังกาในการใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม

เมื่อกองทัพศรีลังกาเข้ากวาดล้างพื้นที่ทางด้านตะวันออก เพื่อเอ๊กซ์เรย์พื้นที่และตามด้วยขั้นที่สองคือกวาดล้างพื้นที่ทางตอนเหนือ ในยุทธการทางบกนั้น ประสานสอดคล้องอย่างยอดเยี่ยมกับการปฏิบัติการของกองทัพเรือศรีลังกาที่ปิดล้อม สกัดกั้นการหนีเข้า-ออก ของฝ่ายกบฏ ทางทะเล รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่งตลอดแนวเป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทั้งทางบกทางทะเล

ในรายงานของสำนักข่าว BBC ของอังกฤษระบุว่า ความสำเร็จประการหนึ่งคือการเข้าทำลายที่มั่นของฝ่ายกบฏเป็นกลุ่มก้อนได้และสังหารผู้นำฝ่ายกบฏได้เป็นรายตัว

การปฏิบัติการทางทหารของกองทัพศรีลังกา ใช้ยุทธวิธีตั้งแต่หน่วยทหารขนาดเล็กรวมไปถึงการใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศทิ้งระเบิดใส่ที่หมาย ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่ของฝ่ายกองโจร

การปฏิบัติการทางทหารอย่างหนักหน่วงของกองทัพศรีลังกามีรูปแบบของการทำสงครามตามแบบ (Conventional Warfare) กล่าวคือมีการเข้ายึดพื้นที่เช่นการเข้ายึดพื้นที่เมือง พาราธาน (Parathan) ที่ทำให้ชาวเมืองและกองกำลังฝ่ายกบฏต้องล่าถอยอพยพออกจากพื้นที่

กองกำลังหลักที่ทำหน้าที่กวาดล้างคือ พลจัตวา ซิลวา ผู้บัญชาการกองพลน้อย ของกองทัพบกศรีลังกา
ต่อมาได้รับการยกย่องว่าเป็น “กำปั้นหลัก” ในการเข้ากวาดล้างฝ่ายกบฏอย่างได้ผล

พลจัตวา ซิลวา ได้กล่าวอย่างถ่อมตนว่า “เราเผชิญความลำบากในการทำงาน แต่เราก็มุ่งมั่นเดินหน้าเต็มกำลัง ประการสำคัญที่สุดคือเราได้รับคำสั่งและนโยบายที่ชัดเจนจากผู้บังคับบัญชาของเรา”

การต่อต้านจากสังคมโลกภายนอกก็รุนแรงไม่แพ้การทำสงครามในสนามรบ มีการรายงานของสหประชาชาติระบุว่า “ความสำเร็จของกองทัพศรีลังกานั้น ส่งผลให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตประมาณ ๗,๐๐๐ คน มีผู้บาดเจ็บ ๑๓,๐๐๐ คน รวมทั้งประชาชนอพยพหนีจากการกวาดล้างทิ้งบ้านเรือนออกมาราว ๒๗๕,๐๐๐ คน”

ในที่สุดเมื่อ ๑๖ พ.ค. ๕๒ เวลา ๑๕๓๐น. โฆษกกระทรวงกลาโหมศรีลังกาประกาศเป็นทางการว่ากองทัพศรีลังกาสามารถยึดที่มั่นสุดท้าย ( บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกเฉียงเหนือ ) ของ LTTE ได้ทั้งหมดแล้ว

ที่กล่าวมานี้ กองทัพศรีลังกา ทำงานในกรอบเวลาประมาณ ๖ เดือนเท่านั้น
หมู่บ้านและชุมชนที่ต้องสงสัยหลายแห่งถูกทำลายสิ้นซากเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งกบดาน ซ่อนตัวของกองกำลัง LTTE อีกต่อไป

ตลอดระยะเวลาการสู้รบแบบแตกหักตั้งแต่มกราคม ๒๓๕๒ กองทัพศรีลังกาบดขยี้ฝ่ายกบฏแบบไม่ยั้งมือจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ ซึ่งกองทัพศรีลังกาสามารถสังหาร นาย ประภาการัน ผู้บัญชาการกองกำลัง LTTE ได้สำเร็จ ส่งผลให้กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมออกแถลงการณ์ประกาศขอหยุดยิง
รัฐบาลศรีลังกาประกาศชัยชนะ ยุติศึกที่ยาวนานกว่า ๓๐ ปีลงได้

ผู้เขียนขอรวบยอดจากการศึกษาเอกสาร บันทึกเหตุการณ์ จำนวนมาก สรุปได้ว่า “กองทัพศรีลังกา ทำลายทิ้ง ทั้งน้ำ ทั้งปลา”

----------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น