20 กันยายน 2552

ศรีลังกา ( นอกตำรา ) ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๓

กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมแตกคอกันเอง

แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com

ใช่ว่า LTTE ที่ทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อชาวทมิฬจะมีเอกภาพราบรื่น จากเหตุการณ์ที่ไปซุ่มโจมตีทหารตายไป ๑๓ นาย จนทำให้ชาวสิงหลออกมาไล่ฆ่าชาวทมิฬเป็นผักเป็นปลาตายไป ๒๐๐ – ๓๐๐ คนนั้น ทำให้ชาวทมิฬเองก็ตระหนักดีว่า “ตกที่นั่งลำบากเสียแล้ว” ต่อไปนี้จะอยู่อาศัยทำมาหากินในประเทศศรีลังกานี้ได้อย่างไร ตัวเองก็เป็นเพียงชนกลุ่มน้อย ที่นักล่าอาณานิคมอังกฤษไปลากมา

นักรบ LTTE ที่กอดคอร่วมอุดมการณ์กันมาเกิดแตกคอกันแยกออกเป็น ๒ กลุ่ม

นักรบส่วนใหญ่ตามไปกับกลุ่มของนายอุมา มาเฮสวารัน ที่ไปจัดตั้งกลุ่มองค์กรปลดปล่อยส่วนพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (People's Liberation Organization of Tamil Eelam : PLOTE)

กลุ่มที่เหลือของนักรบ LTTE ที่มีจำนวนไม่มากนักแยกไปเข้ากับนายประภาการัน (Prabhakaran) ซึ่งนับเป็น “จุดตกต่ำ” สุด ๆ ของ LTTE หมดศักยภาพจนไม่สามารถเคลื่อนไหวทั้งทางการเมืองและการทหารได้อีกต่อไป

นายประภาการัน ตัดสินใจหลบไปซ่อนตัวในอินเดีย ปล่อยให้ ๓ สหายคือนายมหัทยา นายสีลัน และนายรากู ประคับประคอง บริหารจัดการกองกำลัง LTTE แบบไม่มีความหวัง

ในขณะเดียวกันในมุ้งใหญ่ยังมีมุ้งเล็กซ่อนอยู่อีก ๑ กลุ่ม คือ องค์กรปลดปล่อยทิฬอีแลม (Tamil Eelam Liberation Organization : TELO) ซึ่งนำโดยนาย ทังกาทูโร และ นายกุตติมานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ LTTE จำเป็นต้องเข้าไปซบปีก เพื่อไม่ให้ล้มหายตายจากไปเสียก่อน

นายประภาการัน ครั้งหนึ่งเคยได้คิดจะรวบหัวรวบหางทั้งสองกลุ่มรวมให้เป็นมุ้งเดียวกัน แต่ไม่สำเร็จ
ทางการศรีลังกาเองก็ส่งกำลังทหารออกกวาดล้างไล่ล่า LTTE อย่างเต็มรูปแบบ และประสบความสำเร็จบ้างเมื่อ กองทัพเรือศรีลังกาสามารถจับตัวนายทังกาทูโร และนายกุตติมานี ได้ในทะเล

เป็นอันว่ากลุ่ม TELO สูญสิ้นไปโดยปริยาย แต่ LTTE ยังอยู่ครับ นายประภาการัน หลบหนีไปตั้งหลักต่อสู้ใหม่โดยยืนหยัดต่อสู้ทั้งในนามของชาวทมิฬและเป็น ผู้บัญชาการกองกำลัง LTTE ควบคุมการรบด้วยตนเอง แต่ต่อมาทำงาน ๒ หน้าที่ไม่ไหว จึงมอบอำนาจให้นาย ซีลัน เป็น ผู้บัญชาการกองกำลังเข้าทำการรบ ตนเองไปตระเวนหาสมาชิกมาเพิ่ม จนสามารถลุกขึ้นมาจัดตั้งแกนนำได้ ๓๐ คนอีกครั้ง พร้อมทั้ง “มวลชน” จำนวนหนึ่ง

มีแหล่งข่าวกรองระบุว่า การฝึกอาวุธและการจัดหาอาวุธให้กับกลุ่มนักรบ LTTE นั้น มาจากประเทศเพื่อนบ้านของศรีลังกานั่นเอง

กองทัพศรีลังกากับนักรบทมิฬอีแลมรบกันมานาน มีคำถามว่า มีความพยายามในการ “เจรจา” เพื่อสงบศึกหรือไม่? คำตอบคือ มีครับ

ครั้งแรกเป็นความพยายามที่จะคุยกันเองในปี ๒๕๒๘ แต่ล้มเหลว

ในราวปี พ.ศ.๒๕๓๐ กองทัพศรีลังกาเริ่มมีความคืบหน้า ประสบความสำเร็จในการผลักดันนักรบทมิฬให้ไปอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะศรีลังกา

รัฐบาลศรีลังกาพยายามปรับยุทธศาสตร์การทำงานโดยใช้การโอนอ่อนเข้าหาชนเผ่าทมิฬ โดยลงนามอนุญาตให้ “จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลชาวทมิฬ” ที่ไปรวมตัวกันอยู่บริเวณตอนเหนือและทางตะวันออก พร้อมกันนั้นก็ตกลง ยอมให้อินเดียส่งกองกำลังรักษาสันติภาพมาร่วมกับกองทัพศรีลังกา และเข้ามาปฎิบัติงานในรูปแบบของการรักษาสันติภาพในศรีลังกาได้เป็นครั้งแรก

นักสังเกตการณ์ทางทหาร ตั้งข้อสังเกตว่า กองกำลัง LTTE และประชาชนเผ่าทมิฬที่ถูกต้อนไปอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของเกาะศรีลังกานั้น สามารถสร้างอาณาจักรของตัวเองได้อย่างน่าทึ่ง มีการจัดตั้งสถานีตำรวจ จัดตั้งศาลพิจารณาคดี จัดตั้งสำนักงานจัดเก็บภาษีทางการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองได้ รวมทั้งการออกกฎหมายใช้ในดินแดนของตน เฉกเช่น เขตปกครองตนเอง

ในเรื่องอำนาจกำลังรบนั้นกองกำลัง LTTE กลับพลิกฟื้นความแข็งแกร่งขึ้นมาได้อย่างน่าฉงน มีการจัดตั้งกองพลน้อยทหารราบ หน่วยนักรบหญิง หน่วยวางทุ่นระเบิด หน่วยลอบสังหาร มีการประดิษฐ์เครื่องยิงลูกระเบิด มีหน่วยต่อสู้รถถัง รถหุ้มเกราะ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องยกนิ้วให้ในความมานะ พยายาม ที่มีความเป็นเลิศทางสติปัญญาเข้ามาผสมผสาน

ผู้เขียนนึกเปรียบเทียบกับนักรบชาวเวียดนามรักชาติในอดีตที่สามารถเข็นปืนใหญ่ด้วยแรงคนทั้งหมด ทีละคืบ ทีละศอก ขึ้นไปตั้งบนภูเขา ทั้งกลางวัน กลางคืนแบบไม่ให้ฝรั่งเศสรู้ตัว เมื่อล้อมฝรั่งเศสไว้ทุกด้าน และเมื่อฝรั่งเศสโอหังประกาศจะทำตัวเป็น “ เครื่องบดเนื้อ” เคี้ยวทหารเวียดนาม ไม่นานนักนักรบเวียดนามระดับชาวบ้านจึงยิงปืนใหญ่จากบนภูเขา สังหารทหารฝรั่งเศสในเดียนเบียนฟูตายเหมือนมดเหมือนปลวก จนทหารฝรั่งเศสต้องยกมือยอมแพ้เดินแถวออกมาให้กองทัพประชาชนเวียดนามจับขังจนอับอายไปทั่วโลก
ในขีดความสามารถทางทะเล LTTE สามารถจัดตั้งหน่วยกำลังรบทางทะเลที่เรียกว่า SEA TIGERS มีเรือรบสามารถผลิตอากาศยานขนาดเบา และต่อมาประสบความสำเร็จในการบินไปทิ้งระเบิดลงค่ายทหารของรัฐบาลศรีลังกามาแล้ว นี่เป็นเรื่องที่ทำเอานักการทหารเองก็นึกไม่ถึงว่า LTTE ไปไกลถึงขนาดนั้น

ผู้เขียนจำได้ว่าหลายปีมาแล้ว ทางการศรีลังกาเคยมาขอความช่วยเหลือจากทางการไทยเพื่อการตรวจค้นอู่ต่อเรือแห่งหนึ่ง ในจังหวัดทางชายทะเลด้านตะวันตกของไทย และพบว่ามีการจ้างเพื่อต่อเรือดำน้ำขนาดจิ๋ว ซึ่งก็ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด และต่อมาเมื่อพบว่าอาจจะมีความเชื่อมโยงกับหน่วย SEA TIGERS จึงประสานขอให้ยกเลิกการต่อเรือลำนั้นในที่สุด

เรื่องของ “เครือข่ายสนับสนุนจากนอกประเทศ” แน่นอนครับ งานการก่อความไม่สงบทุกกรณีจะต้องมีเครือข่าย ทำงานด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งสามารถ “กดปุ่ม” สั่งให้ปฏิบัติการ

ชาวทมิฬที่อาศัยในต่างประเทศมีเครือข่ายสั่งการให้พรรคพวกออกมาชู้ป้ายประท้วงเรื่องการละเมิดลิทธิมนุษย์ชน หรือเคลื่อนไหวได้ในหลายประเทศในโลกตะวันตก

ทางการศรีลังกาเข้มงวดการตรวจตราทางทะเลเป็นพิเศษ เพราะทราบดีว่า “ท่อน้ำเลี้ยง” จากนอกประเทศส่วนใหญ่มาจากทางทะเล เพื่อสนับสนุนการก่อความไม่สงบและกองทัพเรือศรีลังกามีส่วนในการสกัดกั้น “ตัดท่อน้ำเลี้ยง” ได้

นักสังเกตการณ์ด้านความมั่นคง นักวิชาการ หน่วยงานด้านความมั่นคงต้อง “ยกนิ้ว” ให้กับ “ความเป็นเลิศ” ของ LTTE ในการสร้างทุกอย่างขึ้นมาเพื่อการต่อสู้ หลังจากการเพาะบ่มตัวเองเพียง ๒๕ ปี เท่านั้น

--------------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น