20 กันยายน 2552

ศรีลังกา( นอกตำรา) ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๒



เมื่อมีวันเสียงปืนแตก


แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com


..........ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ นางสิริมาโว บันดาราไนยเก (Sirimavo Bandaranaike)ได้รับเลือกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของซีลอน มีบันทึกว่าเธอเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของโลก เธอต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรงของคนในชาติที่ถือเป็นประเด็นที่อาจทำให้ประเทศชาติล่มสลายได้ ความเป็นปรปักษ์ของชาวทมิฬกับชาวสิงหล เปรียบเสมือนแผลขนาดใหญ่เรื้อรังที่ยังรักษาไม่หาย และนับวันแผลจะขยายตัวลุกลามออกไป ยังมืดมนไม่เห็นหนทางที่จะแก้ปัญหาได้

ถึงแม้ประเทศซีลอนจะปกครองใน “รูปแบบ” ของประชาธิปไตย แต่ เป็นที่ทราบกันดีว่า “ เนื้อหา” ของเธอชัดเจน คือ ความเป็นชาตินิยม (Nationalism) ที่รัฐบาลลำเอียง เข้าข้างชาวสิงหล และกีดกันชาวทมิฬ
ในช่วงเวลานั้น เริ่มมีการรวมกำลังของกลุ่มชาวทมิฬ อย่างหลวมๆ ซึ่งกระจายตัวไปหลายพื้นที่

ขอเรียนท่านผู้อ่านว่า ประเทศศรีลังกานั้น มีประชากรเพียง ๒๐.๓ ล้านคน เป็นชนเผ่าทมิฬเพียงร้อยละ ๑๔ ชาวทมิฬส่วนใหญ่อาศัยตามริมทะเลด้านเหนือและทางตะวันออกของเกาะ

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ขบวนการนักศึกษาซึ่งเป็นชาวสิงหลในซีลอน ออกมาผสมโรงจัดตั้งสมาคม ต่อต้านชาวทมิฬ ประกาศตัวแสดงพลังก่อเหตุจลาจลในประเทศ

ปี พ.ศ.๒๕๑๕ นายกรัฐมนตรีหญิง ของประเทศซีลอนประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ซีลอน เป็น “ศรีลังกา (Sri Lanka)” ประกาศนโยบาย ให้ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาหลักของชาติ มีแนวนโยบาย ไม่ยอมรับชาวทมิฬที่เป็นชนกลุ่มน้อย ชาวทมิฬที่ตะแคงหูคอยฟัง นโยบายของรัฐ เห็นสัญญาณชัดเจนว่าอยู่ลำบากซะแล้ว

๕ พ.ค.๒๕๑๙ ถือได้ว่าเป็นวันประวัติศาสตร์ที่ชาวทมิฬกลุ่มหนึ่งประมาณ ๔๐ – ๕๐ คน รวมตัวกันประเทศจัดตั้งกลุ่ม พยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam : LTTE)

ในโครงสร้างของกลุ่มมีนายอุมา มาเฮสวารัน เป็น หัวหน้ากลุ่ม นาย ประภาการัน เป็น ผู้บัญชาการกองกำลัง (ฝ่ายทหาร) มีแกนนำระดับหัวหน้า ๕ คน เพื่อควบคุมบังคับบัญชาความเคลื่อนไหวในทุกรูปแบบเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล เป้าหมายคือการจัดตั้งรัฐบาลอิสระในพื้นที่ทางตอนเหนือและพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศศรีลังกา โดยจะใช้การต่อสู้แบบกองโจรมุ่งทำลายรัฐบาลชาวสิงหลที่ปกครองประเทศ

กลุ่ม LTTE ถือเป็นกองกำลังติดอาวุธมีภารกิจหลักในการใช้กำลัง

นาย ประภาการัน และครอบครัว


พัฒนาการต่อมาหลังจากนั้น กลุ่มชาวทมิฬเห็นว่าชาวทมิฬควรมีการต่อสู้ในทางการเมืองควบคู่กันไปด้วย ดังนั้นเมื่อ ๑๔ พ.ค.๒๕๑๙ จึงมีการจัดตั้งแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ ( Tamil United Liberation Front : TULF ) ขึ้นมา โดยมีข้อมติของกลุ่มกำหนดให้กองกำลัง LTTE มีรัฐธรรมนูญสำหรับชาวทมิฬในศรีลังกา
ในระยะต่อมา TULF กับ LTTE เดินไปด้วยกันไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากสมาชิก TULF ดูเหมือนจะมีแนวทางการต่อสู้แบบประนีประนอม เดินสายกลาง หากแต่ LTTE เห็นแย้ง

แต่ในห้วงเวลานั้น “จุดร่วม” ของทั้ง ๒ กลุ่มยังคงต้องการทำงานเพื่อชาวทมิฬ ทั้งสองกลุ่มจึงยังคงเดินหน้าต่อไปโดยมี เป้าหมายคือ การเข้าแย่งชิง ครอบครองพื้นที่ทางภาคเหนือและทางภาคตะวันออกของของศรีลังกา

การเลือกตั้งในปี พ.ศ.๒๕๒๑ กลุ่ม TULF ชนะขาดลอยในพื้นที่ชาวทมิฬ ก่อให้เกิดการจลาจลในศรีลังกาอีกครั้ง มีชาวทมิฬที่ถูกสังหารราว ๑๐๐ คน เหตุการณ์จลาจลครั้งนั้นเป็นเสมือน “กาวใจ” ที่ทำให้ TULF กับ LTTE หันหน้าเข้าหากันได้อีกครั้ง

ในช่วงเวลาดังกล่าวต้องถือว่า “ความขัดแย้ง”ได้ขยายตัวลุกลามออกไป โดยที่ทุกฝ่ายยังไม่สามารถค้นพบแนวทางแก้ไขได้ ยังคงมีการสูญเสียของทั้งสองฝ่ายตลอดเวลา
เหตุการณ์ ๒๓ ก.ค.๒๕๒๖ ทหารรัฐบาล จำนวน ๑๓ คน ถูกกองโจร LTTE ซุ่มโจมตีเสียชีวิตทั้งหมด ถือได้ว่าเป็น “วันเสียงปืนแตก” ในศรีลังกา

ประชาชนศรีลังกาเผ่าสิงหล ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศรับไม่ได้กับการกระทำอันป่าเถื่อนของนักรบทมิฬ ลุกขึ้นจับอาวุธรวมตัวกันไล่ล่าสังหารประชาชนชาวทมิฬเพื่อเป็นการล้างแค้น แม้กระทั่งพลเรือนชาวทมิฬผู้บริสุทธิ์ก็ต้องหนีตาย บ้านเมืองระส่ำระสาย เข้าสู้กลียุค
นี่คือสงครามประชาชน ที่ผู้คน ๒ เผ่าพันธุ์หยิบฉวยทุกอย่างที่เป็นอาวุธมาเข่นฆ่ากัน ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้นคือ “กูเกลียดมึง”

ชาวสิงหลสังหารชาวทมิฬไปราว ๒๐๐ – ๓๐๐ คน เหตุการณ์ครั้งนั้นนักรบ LTTE ประกาศให้เป็น “ปฐมบทของการต่อสู้” ซึ่งกาลต่อมาพิสูจน์ว่า LTTE พูดจริง ทำจริง

อันที่จริงมีนักสังเกตการณ์มองเห็นว่า เมื่ออังกฤษปลดปล่อยศรีลังกาให้เป็นประเทศสมบูรณ์แล้ว ศรีลังกาโดยลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์แล้วมีฮวงจุ้ยดีเลิศ น่าจะรุ่งเรืองโชติช่วง เนื่องจากเป็นเกาะที่เป็นจุดเชื่อมต่อทางทะเล เป็นเมืองท่าที่เรือจำนวนมากต้องมาแวะทำมาค้าขาย

แต่เงื่อนไขทางการเมือง เงื่อนไขความขัดแย้งทางเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ที่มีคนอื่นมาสร้างไว้ให้ ประกอบกับการที่รัฐบาลไม่สามารถสร้างความกลมกลืมระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬได้อย่างแนบเนียน จึงทำให้ชนในชาติต้องถลำเข้าไปในไฟแห่งสงครามนานเกือบ ๓๐ ปี


---------------------------------------------------------------------

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ2/3/54 13:03

    ท่านคือนักต่อสู้เพื่อต่อต้านการกดขี่ชาวทมิฬ
    ขอยกย่องวีรกรรมของท่าน
    และขอให้จิตรวิญญาณของท่านจงอยู่คู่ชาวทมิฬต่อไป

    ตอบลบ