27 ตุลาคม 2552

วิชาการปราบปรามการก่อความไม่สงบ

เอกสารของโรงเรียนเสนาธิการทหารบก


วิชาการปราบปรามการก่อความไม่สงบ
การศึกษาเฉพาะกรณีสาธารณรัฐเวียดนาม

----------------
......ผมได้พบเอกสารเก่าฉบับนี้จากตำราโรงเรียนเสนาธิการทหารบกใน พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่แจกจ่ายให้กับนายทหารไทยในหลายหลักสูตร เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการก่อความไม่สงบ ( Insurgency ) ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากในสมัยนั้น ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แพร่กระจายเข้ามาในอินโดจีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้กองทัพไทยต้องขวนขวายหาความรู้เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
.......ผมเห็นว่าเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ามาก ที่จะทำให้ชนรุ่นหลังในประเทศไทย ได้รู้ซึ้งถึงความขัดแย้งที่ชาวตะวันตกเข้ามาบงการ ยุแหย่และ เกิดการประหัตประหารกันเองของชนชาติเดียวกัน และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย ทำให้คนไทยต้องลุกขึ้นมาจับอาวุธต่อสู้กันเองยาวนานเกือบ ๔ ทศวรรษ
.......ผมตระหนัก รำลึกถึงบรรพบุรุษของชาติ พลเรือน ตำรวจ ทหาร และประชาชนที่ปกป้องบ้านเมืองนี้ไว้ด้วยชีวิต จึงขอเรียบเรียง รวบรวมนำมาและ เปิดเผยใน blog ของผม เพื่อเป็นวิทยาทานครับ
.......มูลเหตุอันสำคัญทำให้เกิดการก่อความไม่สงบขึ้นในเวียดนามนั้น ก็เนื่องมาจากการดิ้นรนของประชาชนเวียดนามส่วนน้อยที่ต้องการที่จะนำเอกราชมาสู่ประเทศเวียดนาม และขับฝรั่งเศสผู้ซึ่งแสวงประโยชน์ในเวียดนามให้ออกไป
.......จากประวัติศาสตร์เราจะเห็นได้ว่าฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจอยู่ในแหลมอินโดจีนและเข้าครอบครองประเทศเวียดนามมาเป็นเวลาช้านาน และก็ได้ใช้ระบบการปกครองต่อประเทศเวียดนามอย่างกดขี่ทารุณ ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มีประชาชนชาวเวียดนามกลุ่มหนึ่งได้รวมตัวกันขึ้น และได้พยายามดิ้นรนหาหนทางที่จะนำเอกราชมาสู่ประเทศของตนตั้งแต่ในสมัยที่ฝรั่งเศสยังครอบครองอยู่ แต่ยังไม่ทันที่ประชาชนกลุ่มนี้จะดำเนินการต่อฝรั่งเศสให้บังเกิดผลอะไรมากนัก ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขึ้น
.......ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้เข้ามายึดครองแหลมอินโดจีนทั้งหมด ประเทศเวียดนามก็เปลี่ยนจากการอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศสมาอยู่ใต้อำนาจการปกครองของญี่ปุ่น ในสมัยที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองประเทศเวียดนามนี้ ประเทศเวียดนามก็ยังมิได้แยกออกเป็นเวียดนามเหนือและใต้ แต่ก็ยังรวมกันอยู่เป็นประเทศเวียดนามภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ในระหว่างที่ญี่ปุ่นปกครองประเทศเวียดนามอยู่นั้น ประชาชนชาวเวียดนามที่ต้องการเอกราช ซึ่งได้ก่อตัวขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยที่ฝรั่งเศสยังปกครองอยู่ ก็ได้หันเหความตั้งใจที่จะต่อต้านฝรั่งเศสมาต่อต้านญี่ปุ่น การต่อต้านของประชาชนชาวเวียดนามที่ต้องการเอกราชกลุ่มนี้ ได้ดำเนินการกับญี่ปุ่นเรื่อยมา ตั้งแต่ต้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ก็ไม่สามารถที่จะนำเอกราชมาสู่ประเทศเวียดนามได้สำเร็จ จนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ ในตอนที่ญี่ปุ่นยอมแพ้นั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เข้าไปปลดอาวุธญี่ปุ่นในอินโดจีน และ ฝ่ายสัมพันธมิตรก็มอบอำนาจให้ฝรั่งเศสปกครองอินโดจีนต่อไป และประเทศเวียดนามก็ตกอยู่ในอำนาจการปกครองของฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นมา ในระหว่างที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเวียดนามครั้งที่ ๒ นี้ ประชาชนชาวเวียดนามที่ต้องการเอกราชนั้น ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนใหญ่แล้ว ประกอบกับตอนที่ญี่ปุ่นจะยอมแพ้นั้น ญี่ปุ่นได้มอบอาวุธเป็นจำนวนมากให้กับเวียดนามกลุ่มนี้เพื่อใช้ต่อต้านกับฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นเมื่อฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจปกครองเวียดนามเป็นครั้งที่ ๒ ประชาชนชาวเวียดนามกลุ่มนี้จึงไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของฝรั่งเศส และได้พยายามทุกวิถีทางที่จะรวมกำลังกันเพื่อใช้ต่อต้านกับฝรั่งเศส และนำเอกราช มาสู่เวียดนาม

.....การดำเนินการก่อความไม่สงบนั้น เวียดนามได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้.-

.....ขั้นที่ ๑ เป็นการต่อต้านญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มต้นด้วยประชาชนชาวเวียดนามกลุ่มหนึ่งได้เดินทางเข้าไปรับการฝึกการรบแบบกองโจรในประเทศจีน เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และได้กลับมาสู่เวียดนามในปี ค.ศ.๑๙๔๔ เพื่อจัดตั้งหน่วยกำลังรบขนาดเล็ก ๆ เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น
.....ขั้นที่ ๒ เป็นการปฏิบัติในระยะเวลาที่ญี่ปุ่นต้องพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ขั้นนี้พวกก่อความไม่สงบของประเทศเวียดนามซึ่งมีโฮจิมินห์เป็นหัวหน้า ได้อาวุธจากญี่ปุ่นที่ยอมจำนนเป็นจำนวนมาก และประชาชนชาวเวียดนามก็ให้การสนับสนุนและมีความนิยมชมชอบในตัวโฮจิมินห์เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะเขาถือว่าโฮจิมินห์เป็นผู้กอบกู้เอกราช และในระยะนี้เองอำนาจในการปกครองของจักรพรรดิเบาได๋ก็เริ่มเสื่อม เพราะประชาชนหันไปสนใจโฮจิมินห์






โฮจิมินห์


.....ในที่สุดจักรพรรดิ์เบาได๋ก็ต้องยอมสละราชบัลลังก์ และได้มอบสิทธิ์ให้โฮจิมินห์เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลของเวียดนามขึ้น และเมื่อฝรั่งเศสได้เข้าไปครอบครองเวียดนามหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในตอนนี้โฮจิมินห์ซึ่งเป็นผู้นิยมลัทธิชาตินิยมอย่างรุนแรงจึงไม่ยอมขึ้นกับฝรั่งเศส และพร้อม ๆ กันนั้นก็ได้จัดตั้งหน่วยกองโจรขึ้นต่อต้านฝรั่งเศส เพื่อความมุ่งหมายแต่เพียงนำเอกราชที่แท้จริงมาสู่เวียดนาม และขับไล่ฝรั่งเศสให้ออกไปจากเวียดนามเท่านั้น
.....ขั้นที่ ๓ คือ ขั้นพัฒนากำลังรบของโฮจิมินห์ เนื่องจากการจัดกำลังเป็นหน่วยกองโจรของโฮจิมินห์ในขั้นแรกนั้นทำงานได้ผลดีแต่ก็ไม่สามารถที่จะขับไล่ฝรั่งเศสให้ออกจากประเทศเวียดนามได้ โฮจิมินห์จึงเปลี่ยนวิธีในการดำเนินการใหม่โดยขอกำลังจากจีนมาสนับสนุนและยังส่งกองโจรให้ไปฝึกที่จีนแดงอีกด้วย เมื่อพวกที่ไปฝึกที่จีนกลับมาก็ยิ่งมีกำลังมากขึ้น ซึ่งกองโจรของโฮจิมินห์ในขณะนั้นจะมีทั้งกำลังพลเป็นจำนวนมาก และก็มีอาวุธสนับสนุนเช่นเครื่องยิงลูกระเบิดและปืนใหญ่สนับสนุนในการรบอีกด้วย

เมื่อหน่วยกองโจรมีกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอ โฮจิมินห์ก็สั่งให้โจมตีฝรั่งเศสเป็นกลุ่มก้อน ในที่สุดฝรั่งเศสก็ไม่สามารถที่จะต้านทานการบุกของโฮจิมินห์ได้ และก็ได้แตกพ่ายถอยลงมาทางใต้ทุกที ฝรั่งเศสยิ่งถอยกองทัพเวียดมินห์ก็ยิ่งติดตามมา และฝ่ายเวียดมินห์ก็มีจำนวนกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ปรากฏว่าในขณะนั้นพวกโฮจิมินห์มีกำลังถึง ๖ กองพลปืนเล็ก และมีปืนใหญ่อีก ๑ กองพล ไว้สำหรับสนับสนุน

.....ส่วนประชาชนชาวเวียดนามอื่น ๆ ในขณะนั้นก็จัดตั้งเป็นหน่วยอาสาขึ้นคล้ายหน่วยอาสารักษาดินแดน เรียกว่า หน่วยกำลังประจำภาคของประชาชน มีหน้าที่คอยก่อกวนพื้นที่ในเขตหลังของฝรั่งเศส เพื่อบังคับให้ฝรั่งเศสต้องกระจายกำลังกันออกไป ในปี ค.ศ.๑๙๕๑ จีนได้ให้ยานพาหนะแก่เวียดนาม เพื่อใช้ในการขนส่งกำลังทหารและกิจการส่งกำลังบำรุง ในระยะนี้การรบของโฮจิมินห์มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น

.....ในขั้นที่ ๔ การปฏิบัติการในขั้นนี้ โฮจิมินห์ได้ส่งหน่วยแทรกซึมขนาดใหญ่เข้าปฏิบัติการตามที่ราบที่ฝรั่งเศสยึดครองอยู่ โดยการตั้งฐานปฏิบัติการขึ้นเป็นแห่ง ๆ ทั้งนี้เพราะได้รับการช่วยเหลือจากประชาชนเป็นอย่างดี โดยเข้าทำลายล้างฐานปฏิบัติการทางอากาศของฝรั่งเศสที่เดียนเบียนฟู ซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสมีกำลังอยู่ประมาณ ๑๔ กองพันอิสระ ส่วนโฮจิมินห์นั้นใช้กำลัง ๓ กองพลปืนเล็ก สนับสนุนด้วยปืนใหญ่ ๑ กองพล และกองพันอิสระอีก ๑ กองพัน ฝรั่งเศสได้พยายามต้านทานอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่ง แต่แล้วก็ต้องยอมเสียพื้นที่แห่งนี้ให้แก่ฝ่ายโฮจิมินห์ไปใน ๗ พ.ค. ๑๙๕๕ และฝรั่งเศสก็ได้ถอยร่นเข้าไปอยู่ในลาว
.....จากการที่กำลังของโฮจิมินห์ได้รับชัยชนะแก่ฝรั่งเศสอย่างงดงามที่เดียนเบียนฟู ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรตกใจเป็นอย่างมาก เกรงว่าคอมมิวนิสต์จะเข้ายึดครองเวียดนามทั้งหมด จึงได้มีการเสนอให้มีการประชุมเพื่อแบ่งเวียดนามออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ โดยใช้เส้นขนานที่ ๑๗ เป็นเส้นแบ่งเขต ตอนเหนือมอบให้อยู่ในความครอบครองของโฮจิมินห์ ส่วนเวียดนามทางใต้ก็ให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพื่อปกครองตนเอง ข้อตกลงนี้ได้กระทำกันที่เจนีวา เมื่อ ๒๑ ก.ค. ๑๙๕๔ ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของเวียดนามใต้ ปรากฏว่า โงดินห์เดียมได้รับชัยชนะอย่างงดงาม โงดินห์เดียม เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีก็ได้ทำการปฎิรูปเวียดนามใต้เป็นการใหญ่ โดยความช่วยเหลือของอังกฤษ และอเมริกา

.....ถึงแม้ว่าเวียดนามจะต้องถูกแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้แล้วก็ตาม แต่ความสงบสุขก็หาได้บังเกิดแก่ประชาชนเวียดนามใต้ไม่ ทั้งนี้ ก็เพราะว่าความมุ่งหมายที่โฮจิมินห์ได้วางไว้ตั้งแต่เริ่มเเรก คือ ต้องการที่จะนำเอกราชมาสู่ประชาชนเวียดนาม และขับไล่จักรวรรดินิยมออกไปนอกประเทศให้หมด แต่เมื่อความมุ่งหมายของโฮจิมินห์ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะถูกประเทศในค่ายประชาธิปไตยเข้ามาดำเนินการขัดขวาง โดยแบ่งแยกเวียดนามออกเป็นสองฝ่าย คือ เวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และโฮจิมินห์ก็ได้พยายามที่จะนำเอาความสามารถของตนที่เคยปฏิบัติงานได้ผลเป็นอย่างดีมาแล้วในอดีตมาดำเนินการต่อไปในเวียดนามใต้อีก นั่นก็คือการใช้กองโจรเข้าดำเนินการในเวียดนามใต้ และในขณะนี้รัฐบาลเวียดนามใต้และสหรัฐฯ ก็ยังไม่สามารถที่จะปราบพวกกองโจรของพวกก่อความไม่สงบในเวียดนามใต้ให้ราบคาบลงได้



----------------


การก่อความไม่สงบ

..........อาจกล่าวได้ว่า การกำเนิดของการก่อความไม่สงบในสาธารณรัฐเวียดนามใต้นี้ เริ่มตั้งแต่เมื่อโฮจิมินห์ ได้ใช้พวกเวียดกงเข้าตีเมืองเดียนเบียนฟู ในครั้งนั้นฝรั่งเศสพ้ายแพ้ ฝ่ายโลกเสรีเห็นว่าถ้าขืนปล่อยให้คอมมิวนิสต์รุกต่อไป เวียดนามทั้งประเทศก็จะต้องตกไปอยู่ในกำมือของคอมมิวนิสต์แน่นอน ฝ่ายโลกเสรีจึงจัดการให้มีการเจรจาตกลงหยุดยิงกันขึ้นที่กรุงเจนีวา โดยมีผู้แทนจาก ฝรั่งเศส อังกฤษ รัสเซีย สหรัฐฯ เวียดนาม ลาว และเขมร ผลการประชุมลงเอยด้วยการแบ่งแยกเวียดนามออกเป็น ๒ ประเทศ ตรงเส้นขนานที่ ๑๗ เมื่อวันที่ ๒๑ ก.ค.๒๔๙๗ ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาฉบับฝรั่งเศสกับฝ่ายเวียดมินห์ โดยที่ทางรัฐบาลเวียดนามใต้ไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาฉบับนั้นด้วย และสหรัฐอเมริกาซึ่งมีแต่ผู้สังเกตการณ์อยู่ในที่ประชุมก็ไม่ยอมรับรู้

.........เนื่องจากว่าโฮจิมินห์ได้ตั้งใจอย่างแน่วแน่แล้วว่า จะต้องรวมเวียดนามทั้งหมดเข้าไว้ในความปกครองของตนให้ได้ ดังนั้นเมื่อได้แบ่งเวียดนามทั้งหมดเข้าไว้ในความครอบครองของตนให้ได้ ดังนั้นเมื่อได้แบ่งเวียดนามออกเป็น ๒ ประเทศเเล้ว ก็มีการแลกเปลี่ยนพลเมืองตามความสมัครใจ บุคคลชั้นหัวหน้าของเวียดมินห์มิได้อพยพไปอยู่เวียดนามเหนือทั้งหมด บุคคลชั้นหัวหน้าบางคนยังปฏิบัติงานอยู่ในเวียดนามใต้ เพื่อที่จะช่วยพวกเวียดมินห์ในการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งจะมีขึ้นภายหลัง ๒ ปี หลังจากลงนามหยุดยิงในอินโดจีน ซึ่งพวกเวียดมินห์ก็เตรียมที่จะยึดครองประเทศตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญเหมือนกัน แต่แผนนี้ต้องล้มเหลวลงเนื่องจากไม่มีการเลือกตั้งตามความคาดหมาย

เมื่อแผนจะเข้าทางรัฐสภาล้มเหลวลง เวียดมินห์จึงได้ดำเนินการก่อกวนเพื่อล้มรัฐบาล ซึ่งเวียดมินห์เรียกว่า สงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้ โดย.-
..........๑. จัดตั้งหน่วยกำลังรบขึ้นในบริเวณที่ห่างไกลคมนาคม และปลอดภัย ประกอบด้วยคอมมิวนิสต์ที่แทรกซึมมาจากเวียดนามเหนือ และที่หลบอยู่ในเวียดนามใต้
..........๒. ให้มีการบ่อนทำลายด้วยการเดินขบวนประท้วงนัดหยุดงาน และก่อความไม่สงบเพื่อปั่นทอนกำลังทางการเมืองของเวียดนามใต้
..........๓. จัดตั้งองค์การแนวร่วมบังหน้าต่าง ๆ หรือองค์การลับ เพื่อทำลายเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็เกลี้ยกล่อมประชาชนให้ร่วมมือและเป็นกำลังฝ่ายตน
..........ในระยะแรก ๆ คือ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๐๐ – ๒๕๐๑ พวกคอมมิวนิสต์ได้รวมกำลังจัดตั้งเป็นหมวดและเป็นกองทัพขึ้นในแบบขององค์การใต้ดินใช้อาวุธที่ได้ซุกซ่อนไว้พร้อมกันนั้นก็ใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ และสนับสนุนให้ก่อการร้ายขึ้นในหมู่ประชาชน

..........ประมาณกลางปี ๒๕๐๒ ขบวนการเวียดกงในเวียดนามใต้ได้เริ่มปฏิบัติการก่อการร้าย สร้างความหวาดกลัวขึ้นตามชนบทในจังหวัดภาคใต้ บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และจังหวัดทางด้านตะวันออกของนครไซ่ง่อนด้วยการลอบสังหารชีวิตเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐบาล เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ก่อวินาศกรรม ทำลายเส้นทางคมนาคม สะพาน สิ่งก่อสร้างของรัฐบาล และในปีเดียวกันนี้พวกหัวหน้าสำคัญ ๆ จำนวนหนึ่งได้ถูกส่งเข้ามาปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานทางการเมือง และอำนวยการรบในเวียดนามใต้ โดยแทรกซึมเข้ามาตามเส้นทางต่าง ๆ คือ
..........๑. ออกจากเวียดนามเหนือ เข้าสู่ดินแดนลาวใต้ ผ่านเข้าสู่เวียดนามตอนใต้เส้นขนานที่ ๑๗
..........๒.ผ่านออกจากเวียดนามเหนือ เข้าสู่ดินแดนลาวใต้ ผ่านเข้าสู่เขตแดนกัมพูชาแล้วจึงกลับเข้าไปในเวียดนามใต้
..........๓. เส้นทางทะเล อาจขึ้นบกได้ทุกแห่งตั้งแต่ฝั่งทะเลใต้เส้นขนานที่ ๑๗ ลงไปจนถึงท่าเรือในดินแดนกัมพูชาแล้วหวนกลับมาทางบก

..........ตามเส้นทางเหล่านี้ มีการลักลอบส่งกำลังพล และสิ่งอุปกรณ์ให้พวกเวียดกงในเวียดนามใต้ ทำให้มีการก่อความไม่สงบร้ายแรงขึ้น เมื่อเวียดนามเหนือเห็นว่าไม่สามารถที่จะล้มล้างรัฐบาลเวียดนามใต้ได้ด้วยการปฏิบัติการของพวกก่อความไม่สงบด้วยการใช้อาวุธโดยตรงแล้ว จึงได้เปลี่ยนเป็นการสงครามแบบยืดเยื้อ และใช้กองโจรขนาดใหญ่เข้าปฏิบัติการทำการระเบิดสถานที่ต่าง ๆ ด้วยหวังที่จะให้ประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายต่อรัฐบาล และเบื่อหน่ายต่อประเทศฝ่ายโลกเสรีที่ให้ความช่วยเหลือและจะได้ขับไล่ประเทศฝ่ายโลกเสรีให้ความช่วยเหลือออกไปจากเวียดนามใต้ ถ้าเวียดนามเหนือทำได้สำเร็จแล้วก็จะสามารถที่จะรวมเวียดนามทั้งหมดเข้าไว้ในความครอบครองได้

..........การต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบในเวียดนามใต้ คือ กำลังพลหลักที่ใช้ต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบในเวียดนามใต้นั้นมี
..........๑. ใช้ทหารประจำการ (ทหารบก, เรือ, อากาศ)
..........๒. หน่วย CIVIL GUARD เป็นหน่วยกึ่งทหาร (Paramilitary) จัดขึ้นในระดับจังหวัด, อำเภอ, มีความมุ่งหมายให้ทำหน้าที่กึ่งทหารกึ่งตำรวจ ภายในจังหวัดและอำเภอ มีการฝึก การจัดและยุทโธปกรณ์ใกล้เคียงกับทหาร เป็นหน่วยที่มีความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ หน่วย civil guard นี้ โดยธรรมดาแล้วจะปฏิบัติอยู่ในจังหวัดที่ตนอยู่ หน้าที่ใช้ได้ทั้งรุกและป้องกัน และใช้เป็นกำลังสนับสนุนแก่หน่วย Self – defence corps
..........๓. หน่วย SELF – Defence corps เป็นหน่วยกำลังป้องกันประจำถิ่น จัดขึ้นในระดับตำบล เพื่อทำหน้าที่ป้องกันในเฉพาะตำบล ปฏิบัติการในพื้นที่ระหว่างหมู่บ้านและเป็นกำลังสนับสนุน (Hamlet Militia) กำลังประจำหมู่บ้าน หน้าที่ของ SELF – Defence corps หนักไปในทางป้องกัน
..........๔. หน่วย (Hamlet Militia) กำลังประจำหมู่บ้านมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน ในหมู่บ้านยุทธศาสตร์ (Strategic Hamlet program) การปราบปรามเวียดกงของรัฐบาลเวียดนามใต้นั้น รัฐบาลเวียดนามใต้แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น ๕ ภาค
...............๔.๑ ภาคกองทัพน้อยที่ ๑ มีกำลัง พล.ร.๑ กับ พล.ร.๒ มีภารกิจในการต่อต้านการรุกรานด้วยกำลังจากภาคเหนือ และจากพรมแดนด้านประเทศลาว และปราบกองโจรเวียดกงในเขตภาคยุทธวิธีที่ ๑
...............๔.๒ ภาคกองทัพน้อยที่ ๒ มีกำลัง พล.ร.๒๒ กับบ พล.ร.๒๓ มีภารกิจในการต่อต้านการรุกรานด้วยกำลังจากพรมแดนด้านกัมพูชา ปราบกองโจรเวียดกงในเขตยุทธวิธีที่ ๒
...............๔.๓ กองทัพน้อยที่ ๓ มีกำลัง พล.ร.๕ กับ พล.ร.๒๙ กับมีเขตปฏิบัติการพิเศษ มีภารกิจในการป้องกันเมืองหลวง ปราบปรามพวกเวียดกงบริเวณไซ่ง่อน และใกล้เคียง
...............๔.๔ กองทัพน้อยที่ ๔ มีกำลัง พล.ร.๗ , พล.ร.๙ , พล.ร.๒๑ มีภารกิจปราบปรามเวียดกงในพื้นที่ภาคใต้บริเวณสามเหลี่ยมปากเเม่น้ำโขง
...............๔.๕ พื้นที่ยุทธวิธีพิเศษ มีเขตรับผิดชอบบริเวณไซ่ง่อนและเกียดินห์

..........เนื่องจากว่าพวกเวียดกงเป็นองค์การที่มั่นคงมาก การปราบปรามไม่สามารถที่จะทำการปราบด้วยน้ำหนักเท่ากันตลอดทั่วทั้งประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ การปราบจึงต้องกระทำให้สำเร็จไปที่ละภาค ในภาค ทน.๔ ลุ่มปากแม่น้ำโขง มีความสำคัญกว่าภาคอื่น ๆ เพราะมีพลเมืองมากกว่า ๘ ล้านคน ในจำนวนพลเมือง ๑๔ ล้านคนของเวียดนามใต้ เป็นชุมชนเศรษฐกิจโดยเป็นแหล่งผลิตอาหาร ทั้งข้าวและอาหารทะเลขนาดเคยครองอันดับหนึ่งของโลกมาแล้วในอดีต รัฐบาลเวียดนามใต้จึงมุ่งทำภาคนี้ให้เป็นสีขาวก่อนภาคอื่น เพราะจะได้พึ่งทางเศรษฐกิจต่อไป ฉะนั้นการปราบเวียดกงจึงมุ่งที่จะปราบในภาคนี้มากกว่าภาคอื่น

..........พื้นที่ในภาคของ ทน.๔ แบ่งออกเป็นเขตทางยุทธวิธีของกองพล เป็น ๓ เขต คือ เขต พล.ร.๗ เขต พล.ร.๙ และ เขต พล.ร.๒๑ แต่ละเขตมีพื้นที่ของจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย ขึ้นอยู่ ๔ – ๖ จังหวัด ตามความเหมาะสม ผบ.พล มีอำนาจเต็มในพื้นที่รับผิดชอบของตน กองพลจะแบ่งพื้นที่ทางยุทธวิธีของแต่ละกองพลออกเป็นเขตตามเขตจังหวัดการปกครองของกระทรวงมหาดไทย แต่เรียกว่า SECTOR ผู้ว่าการจังหวัดซึ่งเป็นตำแหน่งพลเรือนจะได้รับการแต่งตั้งเป็น Sector Commander ขึ้นตรงต่อ ผบ.พล.ในเขตของตน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสำนักงานของผู้ว่าราชการจังหวัดจะมี ๒ สำนักงาน คือ สำนักงานฝ่ายทหาร ซึ่งเป็นสำนักงานที่ทำในตำแหน่ง Sector Commander และสำนักงานพลเรือนซึ่งเป็นสำนักงานในตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ทางสำนักงานที่ทำในตำแหน่ง Sector Commander มีที่ปรึกษาเป็นคณะนายทหารสหรัฐฯ หัวหน้าเป็น พ.ท. มีฝ่ายอำนวยการ นายทหาร นายสิบ ๓๐ – ๕๐ นาย มีหน้าที่วางแผนการใช้หน่วยทหารประจำถิ่น ส่วนสำนักงานฝ่ายพลเรือนมีที่ปรึกษาเรียกว่า “country team” เป็นคณะเจ้าหน้าที่ผู้แทนของยูซอม (USOM) ยูซิส(USIS) สธ.๕ ซีไอเอ (CIA) ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการปกครอง พัฒนาบ้านเมืองและการทำสงครามจิตวิทยา

..........ส่วนการดำเนินการปราบปรามการก่อความไม่สงบ เวียดนามใต้ใช้หลักอยู่ ๓ ประการ คือ.-
..........๑. การพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร
..........๒. การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม
..........๓. การปราบกองโจร
..........ในการพิทักษ์ประชาชนและทรัพยากร นี้รัฐบาลเวียดนามใต้มีจุดมุ่งหมายที่จะมิให้กองโจรเวียด กงขู่เข็ญ
ประชาชนและนำเอาทรัพยากรของประชาชนไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ในเรื่องนี้รัฐบาลเวียดนามใต้จัดตั้งโครงการหมู่บ้านยุทธศาสตร์ขึ้น (Strategic Hamlet program)

..........หมู่บ้านยุทธศาสตร์นี้มีการป้องกันตนเอง ในลักษณะที่จะสามารถต่อต้านการรบกวนรังควาญจากพวกเวียดกงได้ โครงการนี้ USOM เป็นผู้จัดหาวัสดุและเงินทุนสำหรับก่อสร้างโครงการหมู่บ้านยุทธศาสตร์นี้จะได้จัดรวมครอบครัวประมาณ ๒๐–๔๐ ครอบครัว หรืออาจมากกว่า ในบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงประกอบขึ้นเป็นหมู่บ้านยุทธศาสต์ หมู่บ้านยุทธศาสตร์จะจัดการป้องกันหมู่บ้านขึ้น การป้องกันจะมีมากน้อยแตกต่างกันอย่างไรขึ้นอยู่กับลักษณะความ-เป็นไปของท้องที่ว่าจะมีอันตรายจากพวกเวียดกงมากน้อยเพียงใด
..........หมู่บ้านยุทธศาสตร์แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท
..........ประเภทที่ ๑ หมู่บ้านยุทธศาสตร์ในพื้นที่ที่มีความคุ้มครองป้องกันรักษาอย่างแข็งแรง หรือในพื้นที่ที่อยู่ในความควบคุมของฝ่ายรัฐบาล
..........ประเภทที่ ๒ หมู่บ้านยุทธศาสตร์ในพื้นที่ที่มีการรบกวนจากพวกเวียดกง
..........ประเภทที่ ๓ หมู่บ้านยุทธศาสตร์ในพื้นที่บริเวณที่อยู่ในความควบคุมของพวกเวียดกง

..........ประเภทที่ ๑ นั้นมักจะอยู่บริเวณใกล้ ๆ ตัวเมือง และได้รับความคุ้มครองในหน่วยกำลังที่ไปตั้งประจำอยู่ รัฐบาลสามารถควบคุมได้ทั่วถึง หมู่บ้านประเภทนี้จะไม่มีการล้อมรั้วลวดหนาม

..........ประเภทที่ ๒ เป็นหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลออกไป ไม่มีหน่วยกำลังไปตั้งอยู่เป็นการประจำ รัฐบาลยื่นมือออกไปคุ้มครองได้ไม่ทั่วถึง เพราะค่อนข้างจะห่างไกล เมื่อหน่วยทหารออกปฏิบัติการ พวกเวียดกงก็หลบออกไป พอหน่วยกลังเคลื่อนย้ายไปที่อื่น พวกเวียดกงก็เข้ามารบกวน ในบางโอกาส หมู่บ้านประเภทนี้มักจะมีลวดหนามป้องกัน มีที่กำบังหลบภัย มีที่ตั้งอาวุธสำหรับทำการป้องกันตัวและต่อสู้รับมือกับพวกเวียดกงให้ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อรอกำลังสนับสนุนที่อยู่ใกล้ที่สุดจะมาช่วย
..........ประเภทที่ ๓ นั้น อยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกล ทุรกันดาร ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของพวกเวียดกงและพวกเวียดกงครอบครองพื้นที่นั้นอยู่ เมื่อฝ่ายรัฐบาลบุกเข้าไปและยึดไว้ได้แล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องทำการป้องกันให้แข็งแรงมากกว่าหมู่บ้านในประเภทที่ ๒ การกั้นลวดหนามก็แข็งแรงประณีต และอาจกั้นหลายชั้น
..........ส่วนกำลังที่จะทำการต่อต้านเวียดกงในขั้นแรกนั้น แต่ละหมู่บ้านยุทธศาสตร์จะเรียกอาสาสมัครสมาชิกของครอบครัวภายในหมู่บ้านยุทธศาสตร์ซึ่งเราเรียกว่ากำลังประจำหมู่บ้าน (HAMLET MILITIA) ทำหน้าที่เป็นยามช่องทางและตรวจตรารอบ ๆ ภายในหมู่บ้านยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะในเวลากลางคืน อาวุธที่ใช้ก็แล้วแต่จะหาได้

การปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ในเรื่องนี้รัฐบาลเวียดนามใต้ได้มี.-
..........๑. โครงการที่จะพัฒนาหมู่บ้านต่าง ๆ ขึ้น โดยให้แต่ละหมู่บ้านเลือกคณะกรรมการของแต่ละหมู่บ้านขึ้น เพื่อปรับปรุงโรงเรียน โรงพยาบาล หรือสุขศาลา โรงเรียนอาชีพ และเสริมสร้างสาธารณูปโภค คณะกรรมการหมู่บ้านต้องการอะไรเพิ่มเติมหรือต้องการจะปรับปรุงอะไรก็เสนอไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคณะผู้ช่วยเหลือทางด้านพัฒนาเรียกว่า “country team” ซึ่งสมาชิกของ country team นี้ก็คือ สธ.๕ และเจ้าหน้าที่สาขาต่าง ๆ ของ USOM และจากองค์การอื่น ๆ เช่น AID, USIS, CIA คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่นำปัญหาความต้องการต่าง ๆ ตามที่คณะกรรมการหมู่บ้าน, คณะกรรมการตำบล หรือเทศมนตรีเสนอ มาวิเคราะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมต่อไป เมื่อทำแผนเสร็จแล้วก็จะเสนอขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อเสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยในไซ่ง่อน เพื่อให้ได้รับการจัดสันปันส่วนเงินและสิ่งอุปกรณ์มาดำเนินการต่อไป
..........๒. โครงการจัดสรรที่อยู่ที่ทำกินใหม่ให้แก่ชาวเขา (Montagnard Resettlement Program) ทั้งนี้เพื่อชักจูงให้ชาวเขาเข้ามาอยู่ และร่วมมือกับฝ่ายรัฐบาล ขณะนี้ชาวเขาเข้ามาอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก
..........๓. โครงการชักจูงพวกเวียดกงให้สวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล (Chieu Hoi Program หรือ Amnesty Program) โครงการนี้เป็นโครงการที่ชักจูงให้พวกเวียดกงสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาล โดยพยายามจัดสรรบริเวณที่อยู่และฝึกอาชีพให้พร้อม ๆ กับอบรมให้เป็นพลเมืองดี แต่เท่าที่ปฏิบัติมาไม่บังเกิดผลและรู้สึกว่าจะเป็นผลเสียแก่ฝ่ายรัฐบาลอีกด้วย เพราะปรากฏว่าพวกนี้อยู่ได้ไม่นานก็หาช่องทางหลบหนีไปอยู่กับพวกเวียดกงตามเดิม และกลายเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อของเวียดกงอย่างดี ฝ่ายรัฐบาลให้การอยู่ดีกินดีสู้เวียดกงไม่ได้ พวกนี้จึงไม่อยู่กับฝ่ายรัฐบาล พยายามหาทางหนีไปอยู่กับฝ่ายเวียดกงซึ่งมีสวัสดิภาพดีกว่า
..........๔. โครงการสงครามจิตวิทยา เป็นงานที่ปฏิบัติโดยหน่วยสงครามจิตวิทยา กองร้อยกิจการพลเรือน ชุดเสนารักษ์ และชุดเกลี้ยกล่อม เพื่อเปลี่ยนจิตใจพวกเวียดกงให้หันมาใช้ชีวิตใหม่กลับตัวเป็นคนดี ปลูกฝังศีลธรรมจรรยา สร้างความรักชาติ และความรู้สึกที่ถูกต้อง

..........การปราบปรามกองโจร งานในเรื่องการปราบกองโจรนั้น รัฐบาลเวียดนามใต้ได้แบ่งงานออกเป็นภาค คือ.-
..........๑. ภาคการแยก การแยกนี้ คือ การแยกกองโจรออกจากประชาชน แยกกองโจรออกจากกัน และแยกกองโจรออกจากฐานการส่งกำลัง ในภาคนี้งานที่กระทำก็มี.-
..............๑.๑ จัดสร้างป้องสนามเป็นที่ตรวจการณ์ขึ้น โดยใช้ทหารประจำการ หรือกำลังประจำถิ่น เฝ้าประจำอยู่ตามเส้นทางแทรกซึมและเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของเวียดกงไม่ให้เข้ามารบกวนประชาชนได้ ป้อมสนามเป็นที่ตรวจการณ์นี้สามารถติดต่อกับหน่วยทหารประจำการ หรือกำลังทางอากาศเข้าโจมตีเวียดกงได้ ถ้าสามารถรู้การเคลื่อนไหวของพวก เวียดกง
..............๑.๒ จัดด่านตรวจ ตามเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ กำลังใช้ตำรวจหรือสารวัตทหาร เป็นการตัดการติดต่อ การส่งข่าว การส่งสิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็น เช่น น้ำมัน เครื่องเวชภัณฑ์ ไม้ขีด เกลือ วัตถุที่ใช้ทำวัตถุระเบิด ให้กับพวกเวียดกง ถ้าหากว่าราษฎรจะขนย้ายสิ่งจำเป็นเหล่านี้ต้องมีใบอนุญาตขนจากผู้ว่าราชการจังหวัด
..............๑.๓ จัดหมู่ตรวจตามพื้นที่ต่าง ๆ ใช้ทหาร และกำลังประจำถิ่น
..............๑.๔ ทางทะเล กองทัพเรือที่ ๗ ของสหรัฐฯ ควบคุมการเคลื่อนย้ายทางทะเลด้านทะเลจีน ตั้งแต่เส้นขนานที่ ๑๗ ลงมาจนถึงแหลมคาเมา (CA MUA) ส่วนทางทะเลในเวียดนามใต้ตั้งแต่แหลมคาเมา ไปทางทิศตะวันตกจนจดเขตแดนกัมพูชาอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพเรือเวียดนามใต้
..............๑.๕ ทางบก ใช้ทหารวางกำลังปิดกั้นชายแดน และใช้ทหารอากาศเวียดนามใต้ และสหรัฐฯ ทิ้งระเบิด เส้นทางแทรกซึมและลำเลียง และสกัดกั้นการเคลื่อนย้ายของเวียดกงในพื้นที่ประเทศเวียดนามใต้
............๒. ภาคการทำลายล้างพวกเวียดกง เมื่อได้แยกพวกกองโจรเวียดกงออกจากประชาชนและออกจากการสนับสนุนแล้ว กองโจรก็จะค่อย ๆ ปรากฏตัวออกมาให้ฝ่ายปราบทำลาย จะทำลายกองโจรที่ไหน เมื่อใด และทำลายอย่างไรนั้น เรื่องสำคัญที่สุดก็คือเรื่องการข่าว ข่าวการเคลื่อนไหวของเวียดกงแม้จะได้จากแหล่งข่าวต่าง ๆ มากมายหลายแห่งก็ตาม แต่ที่สำคัญจะได้จากการซักถามเชลยศึกเวียดกงที่จับได้และได้จากการลาดตระเวน ข่าวที่ได้รับรายงานจากชาวพื้นเมืองตามหมู่บ้านหรือประสบเหตุการณ์มักจะเชื่อถือไม่ใคร่ได้ และมักจะเกินความจริง การวางแผนเข้าตีแต่ละครั้ง จะกระทำก็เมื่อได้ปฏิบัติการลาดตระเวนอย่างซ้ำซากจนได้ทราบข่าวแน่ชัดและเกาะข้าศึกได้แล้วเท่านั้น วิธีปฏิบัติการลาดตระเวนที่ประสบผลดีและที่ใช้อยู่ในเวียดนามใต้ใน ปัจจุบัน คือ วิธี Area Saturation Tactics วิธีนี้ได้ใช้ในครั้งแรกในจังหวัด Quang Tin ใน ๙ ธ.ค.๐๗ และได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี

..........การลาดตระเวนโดยวิธี Area Saturation Tactics นี้ ได้ข้อมูลมาจากประสบการณ์ในเรื่อง
..........๑. เมื่อล้อมพวกเวียดกงไว้แล้ว เวียดกงมักจะสามารถหลบหนีออกจากวงล้อมได้บ่อย ๆ โดยแยกออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ แทรกซึมผ่านวงล้อมไป
..........๒.เมื่อแทรกซึมผ่านวงล้อมไปแล้ว เวียดกงจะรวมกำลังกันใหม่และเข้าปฏิบัติการโจมตีหมู่บ้านได้ตามต้องการ
..........๓. การเคลื่อนไหวของเวียดกงมักจะกระทำในเวลากลางคืน
..........๔. เวียดกงสามารถกลับคืนเข้าสู่พื้นที่ปฏิบัติการได้รวดเร็วภายหลังที่หน่วยทหารได้ถอนตัวออกไปแล้ว
..........๕. เวียดกงสามารถซุ่มซ่อนและแยกกระจัดกระจายกันออกไปอยู่ได้ประมาณ ๗ วัน พ้นระยะนี้แล้วจะต้องกลับเข้ามารวมกำลังกันใหม่เพื่อรับการส่งกำลังเพิ่มเติมในกรณีที่พวกเวียดกงต้องแยกกระจายกันอยู่นานกว่านี้ ก็จะกลายเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งไป
..........๖. การติดต่อสื่อสารของเวียดกงไม่ดีพอ
จากบทเรียนที่ได้รับเหล่านี้ อเมริกันได้พยายามคิดค้นหาวิธีปฏิบัติการลาดตระเวนแบบ Area Saturation Tactics มีดังนี้.-
..............๖.๑ ทำการลาดตระเวนโดยต่อเนื่องหลาย ๆ เส้นทาง ในพื้นที่บริเวณกว้าง เพื่อหาทางปะทะกับเวียดกงบ่อยครั้ง
..............๖.๒ ปฏิบัติการลาดตระเวนในเวลากลางคืนด้วยกำลัง ๒ ใน ๓ (กำลัง ๑ ใน ๓ ทำการลาดตระเวนในเวลากลางวัน)
..............๖.๓ ทำการลาดตระเวนพื้นที่บริเวณเดิมซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างทั่วถึง เพื่อขัดขวางและจับกุม เวียดกงที่พยายามกลับคืนที่เดิม
..............๖.๔ บังคับให้เวียดกงต้องแยกกระจายกำลังกันออกไปเมื่อถึงเวลาที่จะรวมกำลังกันใหม่ เวียดกงจะออกจากที่ซ่อนฝ่ายปราบจึงเข้าจับกุม
..............๖.๕ ลดน้ำหนักประจำกายของทหารให้เบา อย่างน้อยให้สามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็วเท่า ๆ กับเวียดกง
..........ส่วนยุทธวิธีในการปราบเวียดกงนั้น ก็เหมือนกับยุทธวิธีการปราบกองโจรโดยทั่ว ๆ ไป
หลังจากที่ได้ทำการปราบปรามแล้ว ให้จังหวัด ทางพลเรือนรับช่วงดำเนินงานทางการปกครองป้องักนและรักษาต่อไป ทางจังหวัดพลเรือนจะจัดหน่วย Civil Guard ที่อยู่ในบังคับบัญชาของตนไปจัดตั้งหน่วย Self Defense Corps ขึ้นภายในตำบลตลอดจนถึงดำเนินโครงการหมู่บ้านยุทธศาสตร์ขึ้น เพื่อให้พลเมืองสามารถป้องกันตนเองได้ แล้วหน่วยทหารก็จะถอยตัวออกไปปฏิบัติการในพื้นที่อื่น หน่วย Civil Guard นี้นอกจากจะได้รับโอนพื้นที่ที่จะให้ป้องกันจากหน่วยทหารแล้ว หน่วย Civil Guard อาจจะถูกส่งไปปฏิบัติการร่วมกับหน่วยทหารในการเข้าโจมตีปราบเวียดกง โดยจัดเป็นกำลังขึ้นสมทบกับหน่วยทหารเป็นครั้งคราว
การประสานระหว่างฝ่ายทหารกับฝ่ายบ้านเมืองในการปราบกองโจรเวียดกงดำเนินไปอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ก็เพราะว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอส่วนใหญ่ไปจากทหาร ในบางครั้งบางคราวผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยรบเฉพาะกิจ หรือรองก็ได้
..........๓. ภาคการบูรณะฟื้นฟู
..............ภาคนี้ได้แก่การซ่อมสร้างบ้านเมืองที่เสียหายเนื่องจากการปราบเวียดกง พัฒนาด้านการเมือง การเศรษฐกิจ และสังคมให้ดีขึ้นกว่าเดิม งานชั้นนี้ สธ.๕ จะร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนทำการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่มีการสู้รบกันขึ้น
..........สรุป ความสำเร็จในการปราบกองโจรเวียดกงในเวียดนามใต้ มิได้ขึ้นอยู่กับปัญหาในการปราบปราบด้วยกำลังอาวุธแต่เพียงอย่างเดียว การปราบจะต้องประกอบด้วยปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น เสถียรภาพของรัฐบาล สถานการณ์ทางการเมืองในเวียดนามใต้ และการเอาชนะจิตใจประชาชน ถ้าหากรัฐบาลสามารถทำให้ราษฎรมีความเลื่อมใสและเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ และมั่นใจที่จะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างแท้จริงแล้ว โอกาสที่จะชนะเวียดกงก็ย่อมจะประสบความสำเร็จลงในระยะเวลาอันสั้น ปัญหาจึงน่าจะอยู่ที่ว่าทำอย่างไร รัฐบาลจึงจะเปลี่ยนความรู้สึกของประชาชนที่สนับสนุนเวียดกงให้มาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น


_______________________

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ28/10/53 11:12

    อ่านหนังสือของรุ่นพี่ ฮนุบาลลพบุรีจบแล้วเหนื่อยแทนเลยครับสู้ๆนะครับพี่คนเก่ง
    ครรชิต
    ลืมเบอร์ 089-9266761 ครับ

    ตอบลบ
  2. ผมเข้ามาหาความรู้ครับอาจารย์ (ผมเรียนกับอาจารย์ที่ ม.บูรพา ปี 2545) ปัจจุบันผมมาเป็น อาจารย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหา'ลัยเกษมบัณฑิต ถนนพัฒนาการ ซอย 37 ครับ พ.อ.ดร.บุญเอื้อ บุญฤทธิ์ โทร.08 1639 5118

    ตอบลบ