20 กันยายน 2552

ศรีลังกา( นอกตำรา) ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๑


คนจงใจอยากให้เกิด

แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com





..........นับเป็นมหากาพย์แห่งการประหัตประหารที่หฤโหด สุดขั้วของมนุษย์ชาติในประเทศศรีลังกา ที่มีรากฐานความขัดแย้งของกลุ่มชน ๒ เผ่าพันธุ์ คือ ชาวทมิฬกับชาวสิงหล ที่มีมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมไปลากเอาคนสองเผ่าพันธุ์ ให้มาเป็นปรปักษ์ ต่อกัน เพื่อผลประโยชน์ของชาติตนเอง ๓๐ ปีแห่งความหฤโหดได้เป็น “ปฐมบท – ต้นแบบ” ของการก่อการร้ายที่ หลายกลุ่มขอลอกเลียนแบบ

ชาวโลกรู้จัก “ระเบิดพลีชีพ” เมื่อไม่นานมานี้

ต้องขอเรียนว่า “ต้นตำรับ – ของจริง” กำเนิดมาจากสมรภูมิแห่งนี้ครับ

กบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam : LTTE ) เป็นใคร ?

มีบันทึกว่า ในราว ในศตวรรษที่ ๕ ชนเผ่าที่เรียกตัวเองว่าสิงหลซึ่งเป็นชนเผ่าที่เข้มแข็งกว่ากลุ่มอื่นอพยพจากแผ่นดินใหญ่อินเดียเข้ามาตั้งรกรากบนเกาะซีลอน

ย้อนยุคไปในปี พ.ศ.๒๐๔๘ นักล่าอาณานิคมโปรตุเกตแล่นเรือเข้ามาและพยายามครอบครองเกาะซีลอน ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญหารและเครื่องเทศ

ต่อมาประมาณปี พ.ศ.๒๒๐๑ กองกำลังชาวดัทช์ที่มีศักยภาพทางทะเลเข้มแข็งกว่าได้ผลักดันกองกำลังของโปรตุเกตออกไป แล้วเข้าควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะได้ คงเหลือแต่เมืองแคนดี้ ( Kandy)

พ.ศ.๒๓๕๘ นักล่าอาณานิคมตัวจริงคือ อังกฤษ เข้ามาปราบปราม ผลักดันทุกกลุ่มออกไปและสามารถยึดครองพื้นที่ทั้งหมดรวมทั้งเมืองแคนดี้ได้ แล้วจึงเริ่มจัดการโยกย้ายถิ่นฐานของชนเผ่าทมิฬจากทางภาคใต้ของอินเดีย เข้ามาเป็นแรงงานปลูกชา กาแฟ มะพร้าว เพื่อทยอยนำผลผลิตการเกษตรกลับไปเกาะอังกฤษ

ผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องราวของนักปล้น – นักล่าอาณานิคมทั้งหลายมามาก พบว่าไอ้พวกฝรั่งเจ้าเล่ห์ พวกนี้จะต้องใช้เล่ห์เพทุบาย ยุยง เสี้ยม เพื่อก่อให้เกิดการเข่นฆ่า ประหัตประหารระหว่างชนเผ่าในพื้นที่ เพื่อง่ายต่อการเข้าไปยึดแล้วปกครอง มันก่อกรรมทำเข็ญมานานนับร้อยปี แม้ในขณะนี้ก็ยังมิได้คิดจะเลิกรา

การนำผู้คนออกจากพื้นที่แห่งหนึ่ง ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ในลักษณะหนึ่งโยกย้ายนำไปตั้งรกรากในอีกพื้นที่หนึ่งที่ประชากรมีความแตกต่างในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่อย่างสิ้นเชิง นับเป็นปฐมบทแห่งความขัดแย้งของมนุษย์บนโลกใบนี้

มันเป็นความละโมบผสมผสานกับสนุกสนานและเป็นสุดยอดวิชามาร ของประเทศนักล่าอาณานิคมที่จงใจให้คนมันฆ่ากันครับ

ประเทศรอบบ้านเราทั้งหมดคือหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ผมยืนยัน

ในปี พ.ศ.๒๓๗๖ เกาะซีลอนทั้งเกาะก็ตกเป็นของอาณานิคมภายใต้การปกครองของอังกฤษโดยสมบูรณ์ตั้งแต่บัดนั้น

อังกฤษเริ่มให้ชาวสิงหลเรียนรู้ที่จะปกครองตนเอง ในรูปแบบของรัฐสภา และอังกฤษได้มอบความเป็นเอกราชให้ประเทศซีลอนในปี พ.ศ.๒๔๘๑

อำนาจทางการเมืองการปกครองตกอยู่ในมือของชาวสิงหลเบ็ดเสร็จ แน่นอนที่สุด ชนเผ่าทมิฬที่อังกฤษนำเข้ามาทำงานก็แทบจะไม่พื้นที่ยืนในสังคมประเทศซีลอน

ความปรีดาปราโมทย์ของชาวสิงหลที่เพิ่งได้รับเอกราช รสชาติแห่งความเป็นประเทศซีลอนมันหอมหวนตลบอบอวลยิ่งนัก ความรู้สึกเยี่ยงนี้มันเป็นกลุ่มก้อนเฉพาะพวกพ้องสายเลือดเดียวกันเท่านั้น โดยไม่ขอนับญาติกับชาวทมิฬ

ชาวทมิฬจำนวนมากที่อังกฤษพามาตั้งรกรากและให้ทำงานเยี่ยงทาส ให้กับแผ่นดินนี้ เหลียวหน้าเหลียวหลังก็พบแต่ความว่างเปล่า เริ่มรู้ชะตากรรมของตน ว่าตกที่นั่งลำบากแน่นอน เริ่มรวมตัวกันเพื่อแสวงหาความเป็นตัวตนของชนเผ่าตัวเอง และตระหนักว่าโลกนี้คับแคบไปเสียแล้ว

สถานการณ์เริ่มบีบคั้นหนักมากขึ้นใน พ.ศ.๒๔๙๙ เมื่อ นายโซเลมอน บันดาราไนยเก ( Solamon Bandaranaike) ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น จากกระแสชาตินิยมของชาวสิงหล ผลที่ตามมาก็คือมาตรการและข้อจำกัดของรัฐบาล ต่างๆนานาที่มีความเข้มงวดไม่ยอมรับและกีดกันชาวทมิฬ สภาพแวดล้อมในครั้งนั้นเป็นการหล่อหลอมชาวทมิฬให้เริ่มการประท้วงไปทั่วประเทศ การปราบปรามครั้งแรก จบลงด้วยชาวทมิฬถูกสังหารราว ๑๐๐ คน

ประกายไฟกระเด็นตกใกล้ถังน้ำมันเข้าไปทุกที

สองปี ถัดมาในปี พ.ศ.๒๕๐๑ เกิดการจลาจลต่อต้านชาวทมิฬ ทางการออกมาปราบปรามอีกครั้ง มีบันทึกเหตุการณ์ว่า ชาวทมิฬถูกสังหารมากกว่า ๒๐๐ คน ทำให้ชาวทมิฬส่วนใหญ่ต้องหนีตายเข้าป่า บ้างก็หลบลงใต้ดินเพื่อไปเตรียมการต่อสู้แบบกองโจร

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ดำเนินการทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติของทางการในเวลานั้น คือ พวกที่ยึดหลักการลัทธิชาตินิยมของชาวสิงหลที่เป็นชนชั้นปกครอง ทำให้ชาวทมิฬสำนึกอยู่เสมอว่าถ้ายังคงต่อสู้ก็จะยังมีโอกาสรอด แต่ถ้าไม่สู้ ตายลูกเดียว

ผู้เขียนย้อนเรื่องราวความขัดแย้งชนเผ่าสิงหลกับทมิฬมาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านก็คงทราบกันดีว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่พิสดารอะไรที่ไหน ความขัดแย้งซ้ำซาก น้ำเน่าแบบนี้ ประเทศนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย เขียนบทละครให้คนหลายเผ่าพันธุ์บนโลกใบนี้ฆ่ากันเพื่อประโยชน์สุขของเขาตราบจนทุกวันนี้ครับ




-------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น