02 พฤศจิกายน 2552

ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

..........เรียนท่านผู้อ่านครับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นต้นมา ประเทศไทย กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ( ผกค. ) ที่แพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยและคุกคามในทุกประเทศรอบบ้านเรา แม้กระทั่งประเทศมาเลเซีย ( ชื่อเดิมคือ มาลายา )



..........กองทัพบก และตำรวจตระเวณชายแดนในสมัยนั้น มีความตื่นตัว ขวนขวายที่จะต้องศึกษา เรื่องของคอมมิวนิสต์ในลักษณะการเปรียบเทียบ เพื่อให้ “รู้เขา”
..........บันทึกข้างล่างนี้เป็นข้อมูลประวัติศาสตร์ ในยุคสมัยนั้น ที่กองทัพบกอังกฤษได้เผยแพร่ออกมาและกองทัพบกไทยได้นำมาศึกษาในโรงเรียนทหาร คุณพ่อของผม คือ ร.ต.สนอง ทองเล็ก ได้รับทุนจากกองทัพบกไทยให้ไปฝึกการรบในป่า (Jungle Warfare) ในมาลายาในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ และต่อมาได้ เข้ารับการอบรมเรื่องการต่อต้านการก่อความไม่สงบ (Counter Insurgency) ที่ศูนย์การทหารราบ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๗ และได้เก็บเอกสารนี้ไว้ในตู้หนังสือ ผมไปค้นพบ จึงขอนำมาเผยแพร่ เพื่อชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เพื่อเห็นการก้าวข้ามอุปสรรคในแต่ละยุคสมัย
..........ในโลกมนุษย์ของเรานี้ ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ จนมาถึงทุกวันนี้ มนุษย์ มีความขัดแย้งมีการประหัตประหาร รบราฆ่าฟัน ต่อสู้ แย่งชิง มาโดยตลอด ประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นใกล้บ้านเราในช่วงนั้นควรได้เรียนรู้
ผมต้องขอขอบพระคุณคุณพ่อของผมที่ท่าน ที่ได้เก็บเอกสารนี้ไว้อย่างดี ทำให้ผมได้มีโอกาสนำมาเผยแพร่ต่อชนรุ่นหลัง เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา
การใช้ภาษาและตัวสะกดในบทความนี้ เป็นไปตามต้นฉบับในสมัยโน้นครับ

..........ประวัติความเป็นมาของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในมาลายา

..........๑. กำเนิดแห่งคอมมิวนิสต์ในมาลายา
คอมมิวนิสต์ในมาลายานี้เป็นผลโดยตรงจากองค์การซึ่งเป็นตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน โดยถ่ายทอดเข้าไปสู่ชนชาวจีนพวกเล็กๆ พวกหนึ่งในมาลายา สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์ในจีนเองนั้นก็ถูกควบคุมโดยองค์การตะวันออกไกลแห่งคอมมิวนิสต์สากล (Comintern) ซึ่งเป็นตัวแทนของ โซเวียตรัสเซียในการพยายามปลุกปั่นให้เกิด “การปฏิวัติสากล” ขึ้น ทั้งนี้โดยมุ่งหมายที่จะแผ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ในประเทศฟิลิปปินส์, อินโดจีน, ไทย, พม่า, หมู่เกาะอินเดีย ตะวันออก (อินโดนีเซีย) และมาลายา เพื่อจุดประสงค์ที่จะทำลายล้างประเทศมหาอำนาจตะวันตกอันได้แก่ อังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส และฮอลันดา ซึ่งมีเมืองขึ้นในบริเวณภูมิภาคเหล่านั้น
...............พรรคคอมมิวนิสต์ในมาลายา ได้จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๐ – ๒๔๗๑ โดยองค์การ Comintern แห่งประเทศจีน ซึ่งได้ใช้ตัวแทนของคณะคอมมิวนิสต์จีนอันมีอิทธิพลเหนืออยู่ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๓ รัสเซียซึ่งได้ยื่นมือเข้ามาดำเนินการต่อไป พรรคคอมมิวนิสต์ในมาลายาได้ตั้งตัวขึ้นอย่างมั่นคงในปี ๒๔๗๖ และได้รับนโยบายจากพรรคคอมมิวนิสต์สากลว่า ให้คอมมิวนิสต์มาลายาดำเนินการรวบรวมกำลังผลิตผลทั้งหมดและปฏิบัติการแทรกซึมเข้าควบคุมการกรรมกร เพื่อจุดประสงค์ในการนัดหยุดงาน ตลอดจนพยายามขยายลัทธิคอมมิวนิสต์เข้าไปสู่เยาวชนอีกด้วย ผลของนโยบายทำให้มีการหยุดงานกันอย่างแพร่หลายในปี ๒๔๗๙ – ๒๔๘๐
...............ฉะนั้นจึงเห็นได้จัดว่า คอมมิวนิสต์ในมาลายานี้มิได้เป็นการเคลื่อนไหวอันเกิดจากพลเมืองภายในประเทศ และมิได้ฟักตัวจากความทุกข์ยากของพวกชนบทหรือกรรมกร ทั้งมิได้เป็นความต้องการ อันถูกต้องขัดขวางเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชจากส่วนของประชาชนในท้องถิ่นซึ่งถูกปกครองโดยมหาอำนาจต่างประเทศแต่อย่างใด
..........๒. กองทัพประชาชนชาวมาลายาในการต่อสู้กับญี่ปุ่น
...............เมื่อเริ่มทำสงครามกับญี่ปุ่น ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา (พคม.) ได้มีส่วนช่วยเหลืออังกฤษในด้านการสนับสนุนทางการส่งกำลังบำรุงให้แก่ขบวนการต่อต้าน พคม. ได้เกณฑ์ชาวจีนประมาณ ๒๐๐ คน จัดส่งให้ขึ้นในบังคับบัญชาของอังกฤษ ชาวจีนหน่วยนี้จึงได้ดำเนินการติดต่อกับหน่วยต่างๆ ของทหารอังกฤษ ซึ่งมาหลังแนวรบของญี่ปุ่น
...............ขณะที่การติดต่อระหว่างมาลายา และอังกฤษได้ชะงักลงใน ระหว่างเดือน ก.พ.๒๔๘๕ ถึงเดือน พ.ค.๒๔๘๖ ทหารจีนดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญในการโจมตีหน่วยทหารญี่ปุ่นหลายครั้งหลายคราว จนกระทั่งหน่วยทหารญี่ปุ่นต้องทำการควบคุมอย่างเข้มงวดกวดขัน เป็นผลให้หน่วยต่อต้านต้องประสบกับอุปสรรคในเรื่องอาวุธและอาหาร และต้องตกเป็นฐานฝ่ายตั้งรับ โดยอาศัยอยู่ในป่าอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ดีหน่วยต่อต้านนี้ก็ยังทำการติดต่อและช่วยเหลือทหารอังกฤษที่ยังกระจัดกระจายอยู่ตลอดเวลา และขอร้องให้ทหารอังกฤษช่วยฝึกให้ แต่ก็ไม่ได้ยินยอมให้อังกฤษมีสิทธิควบคุมแต่อย่างใด
...............ในเดือน ธ.ค. ๒๔๘๖ ได้มีการตกลงเป็นครั้งแรกระหว่างทหารอังกฤษในฐานะตัวแทนของทหารพันธมิตร กับผู้นำ “คอมมิวนิสต์” ซึ่งเป็นตัวแทนของ พคม. และขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น โดยตกลงให้มีการจัดการต่อต้านร่วมกันขึ้น หน่วยทหารสัมพันธมิตรจะเป็นผู้ออกคำสั่ง และคำแนะนำการปฏิบัติให้อังกฤษเองก็ได้จัดการส่งอาวุธ, ทำการฝึก และส่งกำลังบำรุงให้เท่าที่สามารถจะกระทำได้ ในตอนนี้ได้จัดแบ่งกองทัพประชาชนมาลายา ในการต่อสู้ญี่ปุ่นขึ้นเป็น ๔ พวก แต่ละพวกมีหัวหน้าของตนภายในพวกยังแบ่งออกเป็นค่ายเล็ก ๆ หลบซ่อนอยู่ในป่า โดยได้รับการสนับสนุนทางอาหารจากองค์การต่อต้านญี่ปุ่น และจากการทำสวนครัวขึ้นในป่าของตนเองในเดือน ก.พ. ๒๔๘๘ กองทัพประชาชน ได้จัดแบ่งออกเป็น ๗ กรม แต่ละกรมประกอบด้วยหน่วยลาดตระเวน ๔ หน่วยๆ ละประมาณไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน หน่วยเหล่านี้มีนายทหารติดต่ออังกฤษประจำอยู่ทุกหน่วย และทุกกรมหรือทุกพวก นตต. ของอังกฤษ คงควบคุมในด้านทางยุทธการเท่านั้น เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้นั้น มีสมาชิกอยู่ในกองทัพ ประมาณ ๔,๐๐๐ คน และรวมอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์ใกล้ถนนหลักและเส้นทางรถไฟ อังกฤษเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้แก่สมาชิกในอัตรา ๓๐ เหรียญต่อเดือน นับตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นยอมแพ้ ในขณะเดียวกันอังกฤษก็ได้วางมาตรการควบคุมไว้ว่า หน่วยใดซึ่งมีอาวุธปืนที่ใช้ได้ผลดี และสมัครเข้าเป็นหน่วยลาดตระเวน ก่อนถึงกำหนดวันประกาศยุบแล้ว ก็ให้กระทำได้
...............ในเดือน ธ.ค. ๒๔๘๘ ได้ประกาศยุบหน่วยกองทัพประชาชนมาลายานี้ และให้ส่งคืนอาวุธทุกชนิด วัตถุระเบิด และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ รวมทั้งยกเลิกเครื่องหมายดาวสีแดง ๓ ดวงของหน่วยด้วย คือ หมายความถึงห้ามแต่งเครื่องแบบอีกต่อไป ทั้งนี้อังกฤษได้ตอบแทนทหารในหน่วยรบแบบกองโจรทุกคน โดยให้เงินคนละ ๓๕๗ เหรียญ และให้คำมั่นว่าจะกระทำทุกวิถีทางที่จะหางานอันเหมาะสมให้ ฉะนั้นจึงเป็นผลให้ทหารในหน่วยประมาณ ๖,๐๐๐ คน ถูกปลดออกจากประจำการไป ได้อาวุธคืนมาประมาณ ๕๐๐ ชิ้น อย่างไรก็ตามยังมีอาวุธและกระสุนเหล่านั้นเหลืออีกจำนวนมากซึ่งได้ ทิ้งพลาดที่หมายจากทางอากาศ มิได้นำมาส่งคืนอาวุธเหล่านั้นได้ซ่อนไว้ในคลังอาวุธอันเร้นลับตลอดทั่วไปในประเทศ เพื่อแผนอนาคตของ พคม.
...............ในตอนปลายปี ๒๔๘๘ นี้เอง องค์การลับมีจำนวนพลพรรคประมาณ ๔,๐๐๐ คน พลพรรคเหล่านี้มีความชำนาญ และปฏิบัติการมานานที่สุด องค์การลับนี้ ยังคงเก็บอาวุธและกระสุนของ ตนไว้ มิได้แสดงตัวออกมาเพื่อปลดประจำการ ส่วนมากหน่วยของกองทัพประชาชน ซึ่งมิได้มาทำการติดต่อด้วยตนเอง อังกฤษจึงมิได้รับทราบ องค์การลับนี้จัดตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะปฏิบัติการแบบกองโจร หากอังกฤษได้นำลัทธิประชาธิปไตยแห่งประชาชนเข้ามาในมาลายาตามความเห็นชอบของ พคม.
เมื่อมีการยกเลิกกองทัพประชาชนแล้ว พคม. ได้จัดตั้งสมาคมทหารกองหนุนกองทัพประชาชนขึ้น โดยอ้างว่าเพื่อรักษาประโยชน์ของเหล่าทหารผ่านศึกของหน่วยรบแบบกองโจร แต่ที่จริงนั้นเพื่อรักษาไว้ซึ่งอิทธิพลของ พคม. ต่อทหารผ่านศึกเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน พคม. ก็ใช้องค์การลับนี้เป็นจุดศูนย์กลางสำหรับทำการระดมพลและฝึกพลพรรคของตนต่อไป
..........๓. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลสหพันธ์มาลายา
...............ในขณะที่กองทัพประชาชนมาลายาต่อสู้ญี่ปุ่นกำลังดำเนินการต่อต้านอยู่นั้น พคม. ก็ดำเนินการเผยแพร่โฆษณาลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นข้อสำคัญ โดยยกย่องการกระทำต่างๆ ในการต้านทางญี่ปุ่นในขณะที่ถูกยึดครอง นอกจากนั้น พคม. ก็ได้วางแผนที่จะเข้ายึดอำนาจรัฐบาลมาลายาเมื่อสงครามสิ้นสุดลง แต่แผนนี้ พคม. ไม่อาจปฏิบัติได้เพราะอังกฤษได้ส่งกำลังทหารเข้ามาในมาลายาอย่างมากมายหลังจากการยอมแพ้ของญี่ปุ่น พคม. จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ คือ ภายนอกทำเป็นให้ความร่วมมือ ในขณะเดียวกันก็ใช้วิธีการส่งสายลับแทรกซึมเข้าตามกรมกองของรัฐบาล, ตามองค์การสาธารณะ และสมาคมต่างๆ ฯลฯ กับทั้งยังพยายามที่จะกระชับพวกกรรมการไว้ในอิทธิพลโดยเข้าควบคุมต่อสมาคมการค้าต่างๆ อีกด้วย
...............ในเดือน ธ.ค. ๒๔๙๐ พคม. ได้ใช้นโยบายรุนแรงยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการก่อความวุ่นวายและการพักหยุดงานของกรรมกร ประมาณเดือน มี.ค. ๒๔๙๑ จึงตัดสินใจ เริ่มการใช้อาวุธเข้าต่อสู้กับรัฐบาล พคม. ได้เพิ่มการก่อการอุกฉกรรจ์ขึ้นทั่วประเทศ ยางพาราถูกขโมย และที่ทำการสวนยางพาราถูกวางเพลิง ผู้จัดการสวนยางและเหมืองแร่ – ชาวอังกฤษถูกฆาตกรรม คนงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวจีน, อินเดีย หรือมาลายา ก็ถูกสังหารเช่นเดียวกัน
...............ฉะนั้นรัฐบาลแห่งสหพันธ์มาลายา จึงตกลงในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและใช้อำนาจเป็นเข้าจัดการกับพวกก่อคดีอุกฉกรรจ์เหล่านั้นเมื่อ ๑๘ มิ.ย.๒๔๙๑ และต่อมาเมื่อ ๒๓ ก.ค. ๒๔๙๑ รัฐบาลสิงคโปร์และสหพันธ์มาลายาได้ประกาศโดยเฉพาะว่า พคม. เป็นสมาคมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
..........๔. กำลังทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ (พคม.)
กำลังทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ ก็คือ กองทัพกู้ชาติมาลายา (The Malayan Races Liberation Army) นั่นเอง กำลังทหารนี้ได้จัดขึ้นเป็นหน่วยกรมในตอนต้น ต่อมาเนื่องจากประสบกับข้อขัดข้องทางการส่งกำลังบำรุง จึงต้องล้มเลิกไป คงเหลือแต่เพียงกองบัญชาการเท่านั้น กองทัพ กู้ชาติมาลายาครั้งนั้นจัดขึ้นเป็นหมวดอิสระทั้งหมด บางหมวดใช้สำหรับทำการคุ้มกัน โดยส่วนมากจะปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยกำลังขององค์การมินยาน (Min Yuen Movement)
...............ในการปฏิบัติงานนั้น กรรมการกลาง พคม. จะดำเนินการโดยตรงและเพื่อจะให้เกิดผลทางการปฏิบัติ มักจะออกคำสั่งในรูปของกองบัญชาการทหารสูงสุด ส่วนคณะกรรมการประจำรัฐและภาคนั้น จะสั่งการในเรื่องกว้างๆ เกี่ยวกับนโยบายในนามของ “กองบัญชาการกรม” สำหรับหมวดอิสระซึ่งเป็นหน่วยหลักของกำลังทหาร พคม. ดังกล่าวแล้ว ก็จะมีจำนวนลดลงไปตามส่วนสัมพันธ์กับ “หน่วยแรงงานทหาร” (Armed Work Forces) โดยปกติหมวดเหล่านี้ปฏิบัติการภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการ ประจำรัฐ กำลังภายในหมวดแต่ละหมวดประมาณ ๑๕ – ๓๐ คน และเมื่อปฏิบัติการรบแล้ว หมวดเหล่านี้ จะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยแรงงานทหาร
..........๕. นโยบายของ พคม. หลังจากประกาศภาวะฉุกเฉิน
...............ได้กล่าวแล้วว่า พรรคคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย และจีนเป็นผู้บงการนโยบาย พคม. โดยตรง จุดประสงค์ก็เพื่อจะจัดตั้งสาธารณรัฐแห่งประชาชนมาลายาขึ้นโดยการล้มล้างรัฐบาลตามกฎหมายเสีย ก่อนที่จะมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน นโยบายก็เพ่งเล็งไปสู่การมีอิทธิพลเหนือสมาคมการค้า แต่เมื่อมีการประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว พคม. ก็จำเป็นจะต้องเปลี่ยนเป็นการดำเนินการใช้อาวุธทันที ซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นของการก่อการร้ายในปี ๒๔๙๑
...............ต่อมาในปี ๒๔๙๔ พคม. เห็นว่านโยบายใช้การก่อการร้ายนี้ไม่อาจนำไปสู่ความสำเร็จสมความมุ่งหมายแห่งนโยบายได้ เพราะเหตุว่าผู้ก่อการร้ายนี้ได้ทำความลำบากยากแค้นให้กับประชาชนมาลายา ด้วยเหตุนี้ พคม. จึงออกคำสั่งให้ลดการปฏิบัติงานด้วยก่อการร้ายให้เพลาลงไป แต่ให้เพิ่มการโจมตีเป้าหมายทางทหารแทน
...............ในเวลาเดียวกัน ก็ได้ตั้งองค์การบังหน้า (United Front) ขึ้นโดยพิจารณาเห็นว่า สมาชิกการเมือง , สมาคมแห่งเชื้อชาติ, องค์การค้า ฯลฯ จะต้องมีจุดประสงค์ร่วมกันแห่งนโยบาย เช่น ที่ดินของชาวนา, การขยายตัวของอุตสาหกรรม และการค้ากับต่างประเทศ, ความเป็นเอกราช เป็นต้น ฉะนั้น พคม. จึงต้องประดิษฐ์คำขวัญของตนขึ้นใหม่ เริ่มแรกก็เพื่อต้องการจะได้ชัยชนะจากการช่วยเหลือของคนชั้นกลางกับคนชั้นสูง ซึ่งมีอิทธิพลในของการเมืองอยู่โดยให้เกิดความเชื่อถือว่าองค์การบังหน้านี้สามารถจะก่อรูปเป็นรัฐบาลขึ้นได้ จนกระทั่งรัฐบาลมีอำนาจอยู่นั้นหันเข้ามาหา พคม. และเลิกใช้การประกาศภาวะฉุกเฉินนั้นเสีย และใช้อำนาจบังคับอังกฤษออกไปเสียจากมาลายา
...............พคม. ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะแทรกซึมอย่างลับๆ เข้าไปในวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศ เพื่อให้การดำเนินการขององค์การดำเนินการไปอย่างได้ผล แต่การประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องไปเช่นนี้ ได้ทำอันตรายให้แก่ พคม. เป็นอย่างมาก จนทำให้ พคม. จำเป็นต้องแสวงหาทางยุติการประกาศภาวะฉุกเฉิน เสียให้ได้อย่างรีบด่วน แต่ไม่ยอมแพ้
ในการประชุมเพื่อสันติในเดือน ธ.ค. ๒๔๙๘ นั้น เป็นที่ประจักษ์ได้แน่ชัดว่า ข้อเสนอของ พคม. ไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้เลย
..........๖. การจัดหน่วยของ พคม.
...............พคม. ได้จัดตั้งหน่วยขึ้นโดยมีระบบการบังคับบัญชาดังต่อไปนี้
...............ก. กรรมการกลาง (Central Committee)
...................กรรมการกลางประกอบด้วยสมาชิกชั้นสำคัญสูงสุดของพรรคประชาชน ๑๒ คน มีหน้าที่บริหารงานภายในการกำบังดูแลของเลขาธิการพรรค (Secretary General) กรรมการกลางนี้มักจะไม่ใคร่ร่วมประชุมกันบ่อยครั้งนัก การดำเนินงานจริงๆ นั้นคงมีสมาชิกเพียง ๓ – ๔ คน เท่านั้น (รวมทั้งเลขาธิการพรรคด้วย)
...............ข. กองบัญชาการทหารสูงสุด (Military High Command)
...................กองบัญชาการนี้มีแต่เพียงชื่อเท่านั้น กรรมการกลางอาจดำเนินการสั่งการไปยังกำลังทหารของ พคม. ได้โดยตรง
...............ค. สำนักงานประจำภาค (Regional Bureau)
....................การสั่งการและการตกลงใจของกรรมการกลางจะส่งผ่านไปยังสำนักงานประจำภาคเหนือและภาคใต้ เพื่อส่งต่อไปยังคณะกรรมการประจำรัฐบาล และประจำภาคต่างๆ ตามสายการบังคับบัญชา
...............ง. คณะกรรมการประจำรัฐและประจำภาค (State and Regional Committee)
...................เพื่อให้มีการควบคุมทางปฏิบัติของคณะกรรมการประจำรัฐเป็นไปโดยรวดเร็วในพื้นที่ๆ กว้างขวาง จำเป็นจะต้องแยก แยกการควบคุมย่อยออกไป คือ คณะกรรมการประจำภาค เช่น คณะกรรมการประจำ รัฐยะโฮร์ภาคเหนือ หรือภาคใต้ เป็นต้น
..............จ. คณะกรรมการประจำจังหวัด (District Committee)
..................คณะกรรมการประจำรัฐและภาค ดำเนินการควบคุม คณะกรรมการประจำจังหวัดในรัฐ หรือภาค ของตน รัฐหรือภาคต่างๆ อาจประกอบด้วยคณะกรรมการประจำจังหวัด ๔ – ๗ คณะ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่ของรัฐหรือภาคดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการนี้เป็นคณะกรรมการระดับสำคัญของ พคม.
..............ฉ. คณะกรรมการประจำสาขา (Branch Committee)
..................คณะกรรมการนี้ปฏิบัติงานโดยขึ้นตรงต่อคณะกรรมการประจำจังหวัด คณะกรรมการประจำสาขานี้ทำการควบคุมหน่วย พคม. ซึ่งเป็น “หน่วยแรงงานทางทหาร” (Armed Work Forces) ทหารในหน่วยนี้เป็นตัวเชื่อมต่ออย่างสำคัญระหว่างหน่วยรบแบบกองโจร และหน่วยสนับสนุนกองโจรเหล่านั้น
..............ช. องค์การลับ (Masses Organization)
..................คณะกรรมการประจำสาขาจะติดต่อกับองค์การลับนี้โดยผ่านทางคณะผู้บริหารขององค์การลับ องค์การลับนี้พูดง่ายๆ ก็คือ พคม. นั่นเอง คณะผู้บริหารดังกล่าวก็อาศัยอยู่ในที่ๆ เปิดเผย และก็อาจเป็นสมาชิกของ พคม.ด้วยก็ได้ องค์การลับนี้ปฏิบัติงานสนับสนุนหน่วยต่างๆ ของ พคม. , การจัดหาอาหารและสิ่งอุปกรณ์, การรวบรวมทุนรอน, การข่าวกรอง และการกระจายข่าวโฆษณาของคอมมิวนิสต์ โดยทั่วๆ ไปก็ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบ่อนทำลายในระหว่างประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ
..........๗. การจัดหน่วยของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (Communist Terrorist)
...............ก. ลักษณะของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.)
...................ผกค. เป็นชาวจีนประมาณ ๙๐ % นอกจากนั้นเป็นชาวมาลายาและอินเดีย มีชาวชวา, ไทย , และญี่ปุ่น ประมาณ ๑ – ๒ % ผกค. ส่วนมากอยู่ในรุ่นฉกรรจ์ มีความคุ้นเคยกับวิถีชีวิตในป่าและภูมิประเทศเป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถอยู่ในป่าได้เป็นเวลานานๆ โดยยังชีพอยู่ได้จากผลในป่านั้นๆ ผกค. เหล่านี้มีวินัยดี และปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด ทั้งยังมีความสามารถในการใช้อาวุธประจำกายได้ดี
ขวัญของ ผกค. ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยหลายประการ กล่าวคือ การดำเนินการของฝ่ายปราบปราม (Security Forces) , อาหาร , การส่งกำลังบำรุง , ความเป็นผู้นำ, การประสบผลสำเร็จ ฯลฯ โดยทั่วๆ ไปแล้ว ผกค. นิยมใช้ยุทธวิธี HIT AND RUN เพื่อผลแห่งการจู่โจม และจะทำการต่อสู้อย่างเต็มที่เมื่อจนมุมเท่านั้น
...............ข. เครื่องแบบและเครื่องใช้ประจำตัว
...................ผกค. สวมเครื่องแบบต่างๆ ชนิดกันและบางทีก็แต่งกายพลเรือน บางครั้งก็ใช้เครื่องแบบสีกากี หรือเครื่องแบบสีเขียวแบบรบในป่า ทั้งยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ประจำตัวและเครื่องหลังด้วย หมวกมีใช้ต่างๆ กัน เช่น หมวกแก๊ปที่มีดาวแดง, หมวกพลเรือน หรืออาจไม่ใช่หมวกเลย
...............ค. อาวุธ และกระสุน
...................อาวุธ และกระสุนส่วนมากอยู่ในสภาพที่ไม่ดี เนื่องจากขาดการบำรุงรักษา บางส่วนก็ใช้ไม่ได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการป้องกันมิให้ ผกค. ได้อาวุธไปจากคลังของฝ่ายปราบปราม ผกค. ก็มีนโยบายที่จะผลิตอาวุธจากหน่วยลาดตระเวน, ฐานปฏิบัติการและจากพาหนะของฝ่ายปราบปรามด้วย ตัวอย่างของอาวุธซึ่งใช้ในหมวดอิสระของกองทัพประชาชนมาลายา มีดังนี้.-
...................ปก.เบรน ๒
...................ปกม. เสตน หรือ TSMG ๖
...................คาร์ไบน์ ๖
...................ปลย. ๑๒
...................ปืนลูกซอง ๗
...................ปพ. ๒
...................ลข. ๑๐
...................โรงซ่อมสร้างอาวุธ จะจัดให้มีขึ้นสำหรับซ่อมแซมอาวุธที่ชำรุด หรือใช้ทำลูกระเบิดขว้าง และ กับระเบิด
...............ง. ค่ายพัก
...................การเลือกค่ายพักส่วนมากมีลักษณะเหมือนๆ กัน คือมีลักษณะดังนี้.-
...................- ใกล้เคียงกับลำธาร, แม่น้ำหรือหนองบึง
...................- มีที่ตั้งยามรักษาการณ์อยู่บนเส้นทางสำคัญซึ่งจะเข้าสู่ที่พัก
...................- ประกอบด้วยกระท่อม หลายๆ กระท่อม
...................- ตัวค่ายมักจะอยู่บนที่ลาดบนเขา หรือข้างหลัง หรือข้างหน้าของหนองบึง
...................- การป้องกันที่พักมักจะไม่ได้กระทำ เมื่อได้ยินเสียงปืนหรือได้รับข่าวสารจากยามแล้ว มักกระจัดกระจายเข้าป่าไปในพื้นที่ และไปพบกันยังจุดนัดพบที่ได้เลือกไว้ล่วงหน้าแล้ว
...................- ในค่ายพักใหญ่ๆ และกำลังมาก อาจจัดหน่วยตีโต้ตอบหนึ่งหรือหลายหน่วย
...............จ. การติดต่อสื่อสาร
....................ในป่ามักจะใช้การติดต่อส่งข่าวสารเป็นพวกๆ ละ ๒ – ๓ คน คนที่อยู่ข้างหลังสุดของแต่ละพวก จะเป็นผู้เก็บเอกสารที่สำคัญที่สุด เอกสารมักจะใส่ลงไปในขวดหรือถุง
....................ในหมู่บ้านโดยปกติใช้ส่งข่าวสารทางการขนส่งสาธารณะ, แท็กซี่ หรือจักรยาน และใช้สมาชิก พคม. เป็นผู้ดำเนินการ โดยปกติข่าวสารจะทำเป็นกระดาษม้วนกลมเล็ก และปิดผนึกส่งชื่อผู้รับโดยตรง
การส่งข่าวสารทางวิทยุนั้นมีจำกัด พคม. ขาดแคลนวิทยุรับ – ส่ง มาก โดยมากมักจะใช้เครื่องรับวิทยุทางการค้า รับฟังวิทยุมาลายา หรือจากประเทศจีนเป็นประจำ
...............ฉ. ยุทธวิธีของ ผกค.
....................ยุทธวิธีหลักได้มาจากเอกสารซึ่งได้แปลมาจากตำราอังกฤษและรัสเซีย รวมทั้งต้นฉบับของจีนด้วย ครูส่วนมากมาจากสมาชิกอาวุโสของ พคม. ซึ่งแต่เดิมปฏิบัติการอยู่ในกองทัพประชาชนมาลายา และได้รับการฝึกมาจากนายทหารของหน่วยรบเฉพาะกิจที่ ๑๓๖ ของอังกฤษนั่นเอง



-------------------------------






การปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในมาลายา


..........ความรับผิดชอบในการปราบปราม ผกค. นี้ก็ตกอยู่กับรัฐบาลฝ่ายพลเรือน โดยมีกำลังตำรวจเป็นเครื่องมือในการใช้อำนาจปราบปราม แต่เมื่อได้ประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นแล้วก็ได้มีกำลังทหารมาสนับสนุนในการปราบปรามอีกทางหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลก็จะได้มอบภารกิจให้กวาดล้าง ผกค. ต่อไป นอกจากนี้ก็ได้จัดตั้งหน่วยอาสารักษาดินแดน (Home Guard) ขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มเติมกำลังปราบปรามดังกล่าวแล้วอีกด้วย๑. ระบบการควบคุมทางปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉิน
..........เมื่อรัฐบาลฝ่ายพลเรือนได้มีกำลังในการปราบปราม ผกค. ตามอำนาจที่ได้รับจากการประกาศภาวะฉุกเฉิน สิ่งสำคัญในการที่จะปฏิบัติในขั้นต่อไปก็คือ การจัดตั้งระบบควบคุมเป็นพิเศษขึ้น เพื่อให้การปฏิบัติการปราบปรามทั้งสิ้นในทุกระดับ ระหว่างกรมกองของรัฐบาล และกำลังหน่วยปราบปราม (Security Forces) ฉะนั้นรัฐบาลจึงได้ตั้ง “สภาการรบฉุกเฉิน” (The Emergency Operations Council) ขึ้น โดยจัดให้มีคณะกรรมการรับผิดชอบในการดำเนินการปราบปรามทั้งสิ้น และให้ขึ้นตรงต่อรัฐบาลสหพันธ์มาลายาโดยตรง เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการสนธิกรรมมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลและกำลังฝ่ายปราบปรามเข้าด้วยกัน
คณะกรรมการมีดังต่อไปนี้.-
...............ประธานกรรมการ รมต.กลาโหม
...............รองประธานกรรมการ รมต.คลัง
...............สมาชิก รมต.สาธารณะสุข
...............รมต.มหาดไทยและยุติธรรม
...............รมต.เกษตร
...............รมต.แรงงานและสังคม
...............รมต.พาณิชย์ และอุตสาหกรรม
...............ผู้บัญชาการกองกำลังฉุกเฉิน
...............ผู้บัญชาการทหารบก สหพันธ์มาลายา
...............ปลัดกระทรวงกลาโหม
...............อธิบดีกรมตำรวจ
...............ผู้บัญชาการกองเรือรบ
...............ผู้บังคับกองบินที่ ๒๒๔ กองทัพอากาศอังกฤษ
...............ผู้บัญชาการกองกำลังทางบก โพ้นทะเลเครือจักรภพ
...............เลขาธิการ แต่งตั้งจากฝ่ายอำนวยการหลักของผู้อำนวยการรบฉุกเฉิน
..........๒. ผู้อำนวยการรบฉุกเฉิน (Director of Emergency Operations)
...............ผู้อำนวยการรบฉุกเฉินเป็นนายทหารชั้นนายพล จากกองทัพอังกฤษในการปฏิบัติการให้กับรัฐบาลสหพันธ์มาลายา ผู้อำนวยการนี้รับผิดชอบโดยตรงต่อ รมว.กห. ในเรื่องการรบประจำวันและการประมาณการรบโดยทั่วไป ตัวผู้อำนวยการเองจะไม่ได้รับมอบหน้าที่ให้บังคับบัญชาหน่วยกำลังปราบปราม (Security Forces) แต่จะได้รับมอบให้ปฏิบัติการปราบควบคุม และสั่งการแก่หน่วยปราบปรามที่บรรจุมอบให้เท่านั้น โดยผ่านทาง ผบ.หน่วยปราบปรามตามลำดับ ผู้อำนวยการจะส่งคำชี้แจงให้แก่คณะกรรมการดำเนินการรอบของรัฐ (State War Executive Committee) ทราบด้วย
..........๓. คณะอนุกรรมการอำนวยการรบ ( Sub – Committee)
...............คณะอนุกรรมการอำนวยการประกอบด้วย
.....................ประธานกรรมการ ผู้อำนวยการรบฉุกเฉิน
.....................ผู้อำนวยการทหารบกสหพันธ์มาลายา
.....................อธิบดีกรมตำรวจ
.....................ผู้บัญชาการกองเรือรบ
.....................ผู้บัญชาการกองกำลังทางบก โพ้นทะเลเครือจักรภพ
.....................ผู้บังคับกองบินที่ ๒๒๔ กองทัพอากาศอังกฤษ
.....................คณะอนุกรรมการนี้มีหน้าที่รับผิดชอบในการตกลงใจใช้นโยบายเกี่ยวกับการปฏิบัติการของหน่วยกำลังปราบปราม ซึ่งเป็นไปตามนโยบายหลักของสภากองรบฉุกเฉิน
..........๔. ฝ่ายอำนวยการของผู้อำนวยการรบฉุกเฉิน
...............ประกอบด้วยฝ่ายอำนวยการร่วม (Joint Staff) ซึ่งมีอำนาจเพียงเล็กน้อย โดยมีหัวหน้าฝ่ายอำนวยการหลักเป็นผู้รับผิดชอบ ฝ่ายอำนวยการนี้ก็มีหน้าที่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการช่วยเหลือ –ผู้อำนวยการรบฉุกเฉิน และแจกจ่ายคำสั่งคำชี้แจงตามความเหมาะสม เพื่อเป็นการเพิ่มเติมแนวความคิดในการตกลงใจของสภา การรบฉุกเฉิน และคณะอนุกรรมการอำนวยการ
..........๕. คณะกรรมการอำนวยการรบประจำรัฐ (State War Executive Committee : SWECS),
...............คณะกรรมการอำนวยการรบประจำจังหวัด (District War Executive Committee : DWECS) และคณะกรรมการอำนวยการรบพิเศษ (Special War Executive)
................ก. คณะกรรมการดำเนินการรบประจำรัฐ (SWECS)
.....................รัฐแต่ละรัฐย่อมมีคณะกรรมการอำนวยการรบประจำรัฐ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการรบภายในรัฐของตน คณะกรรมการ นี้ประกอบด้วย
.....................ประธานกรรมการ * นายกรัฐมนตรี
.....................รองประธานกรรมการ

.....................* รมต.กลาโหม หรือตำแหน่งที่ตั้งขึ้นเพื่อการนี้
.....................* ผู้บังคับการตำรวจ ประจำรัฐ
.....................* ผู้บังคับหน่วยทหารที่มีอาวุโส
.....................* ผู้บังคับหน่วยอาสารักษาดินแดน
.....................เจ้าหน้าที่ประจำรัฐ
.....................เจ้าหน้าที่แถลงข่าวประจำรัฐ
.....................เลขาธิการ
.....................สมาชิกชั้นหัวหน้าซึ่งเลือกมาจากกลุ่มชุมนุมชนอีก ๖ นาย

..........หมายเหตุ * บุคคลที่จะต้องเป็นคณะอนุกรรมการอำนวยการรบของรัฐ ซึ่งจะต้องทำการรบ ประชุมกันเป็นประจำทุกวัน
...............ข. คณะกรรมการอำนวยการรบประจำจังหวัด (DWECS)
....................แทบทุกจังหวัดจะจัดตั้ง คณะกรรมการอำนวยการรบประจำจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการรบในจังหวัดนั้นๆ ประกอบด้วย. –
....................ประธานกรรมการ ผู้ว่าราชการจังหวัด
....................สมาชิก เจ้าหน้าที่ธุรการ (เฉพาะรัฐยะโฮร์เท่านั้น)
....................ผู้กำกับการตำรวจ
....................ผู้บังคับหน่วยทหารที่มีอาวุโส
....................ผู้บังคับหน่วยอาสารักษาดินแดน
....................เจ้าหน้าที่แถลงข่าวประจำจังหวัด
....................สมาชิกชั้นหัวหน้าซึ่งเลือกมาจากกลุ่มชุมนุมชนอีก ๓ นาย
...............ค. ถ้าหากในพื้นที่ใดไม่สามารถจะดำเนินการจัดตั้ง DWECS ได้ ก็จะจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการรบพิเศษ (Special War Executive Committee) ขึ้นแทน เช่น ในรัฐเคดาห์ จะไม่จัด DWECS (Circle War Executive Committee) ก็ได้ ในกรณีนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นประธานโดยตำแหน่ง
..........๖. สายการบังคับบัญชาของกรมอำนวยการรบฉุกเฉิน
สายการบังคับบัญชานี้เป็นแต่เพียงสามารถให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นสามารถสั่งการต่อหน่วยทหารในบังคับบัญชาของตน ปฏิบัติการรบได้ทันที อย่างไรก็ตาม หน่วยปราบปรามนั้นมักจะจัดให้อยู่บริเวณพื้นที่ของ SWECS/DWECS สายการบังคับบัญชาอาจเขียนเป็นรูปได้ดังนี้
...............กรมอำนวยการรบฉุกเฉิน
...............คณะอนุกรรมการอำนวยการรบ
...............คณะกรรมการอำนวยการรบประจำรัฐ
...............คณะกรรมการอำนวยการรบประจำจังหวัด
..........๗. งานสำคัญของหน่วยปราบปราม
วิธีดำเนินการของหน่วยปราบปรามในการทำลาย ผกค. และจัดการให้มีภาวะปกติในสหพันธ์ มีดังต่อไปนี้.-
...............ก. ควบคุมพื้นที่ๆ ประชาชนอาศัยอยู่อย่างใกล้ชิด เช่น พื้นที่บริเวณเมือง หมู่บ้านใหม่, ละแวกหมู่บ้านที่เรียกว่า Kampongs และพื้นที่ซึ่งนำประโยชน์ขึ้นแล้ว พื้นที่เหล่านี้นับว่าเป็นแหล่งอาหารสำคัญของ ผกค. และอาจถือได้ว่าการควบคุมพื้นที่เหล่านี้อย่างได้ผลย่อมเป็นความปลอดภัย แห่งความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศอีกฝ่ายหนึ่งด้วย
...............ข. การปฏิบัติการรุกบริเวณรอบพื้นที่ๆ ประชาชนอาศัยอยู่ ด้วยความมุ่งหมายที่จะขจัดและกวาดล้าง ผกค. ให้พ้นไปจากแหล่งสนับสนุนทางอาหาร
...............ค. การตรวจในป่าลึกๆ และการปฏิบัติการค้นหาทำลายกองบัญชาการแหล่งสะสมเสบียงอาหาร, คลังอาวุธ, และพื้นที่เพาะปลูกของ ผกค. อีกด้วย
...............ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกวาดล้าง ผกค. ได้นั้นก็คือ การแยกให้ ผกค. อยู่ต่างหากจากที่อยู่อาศัยของชุมชนอย่างสิ้นเชิง จะเป็นการทำให้ขาดเงิน, อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ ได้เลย ฐานปฏิบัติการของหน่วยปราบปรามจะต้องจัดให้มีขึ้นด้วยความปลอดภัยในเมืองต่างๆ ในหมู่บ้านใหม่ๆ หรือในละแวกหมู่บ้านต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ความรวดเร็ว, ความอ่อนตัว และกำลังยิง ก็จะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง และก็สามารถทำลายล้าง ผกค. คลังอาวุธ, ค่ายพักและพื้นที่ทำการเพาะปลูกได้สมความมุ่งหมาย
..........๘. แผนบริ้กส์ (The Briggs Plan)
...............แผนบริ้กส์ ได้นำมาใช้เมื่อ ๑ มิ.ย. ๒๔๙๓ มีจุดมุ่งหมายที่จะทำการควบคุมประชาชนด้วยวิธีการอันถูกต้อง ซึ่งส่วนมากมิได้ดำเนินการมาแต่ก่อน ลักษณะอันสำคัญของแผนนี้ คือ. –
...............ก. การจัดที่อยู่ใหม่ให้แก่พวกอพยพอย่างรวดเร็ว ภายใต้การเฝ้าตรวจของตำรวจ
...............ข. การจัดแบ่งพวกใหม่ในบรรดากรรมกรเหมืองแร่และสวนยางของท้องถิ่น
...............ค. การเกณฑ์และการฝึกตำรวจ และตำรวจปฏิบัติการพิเศษ
...............ง. ให้กองทัพบกจัดวางกำลังทหารอย่างน้อยที่สุด ขึ้นทั่วประเทศ สำหรับช่วยเหลือกำลังตำรวจและในขณะเดียวกันให้จัดการรวมกำลังเพื่อกวาดล้างบริเวณสำคัญๆ ตามลำดับความเร่งด่วน
...............จ. ตำรวจกับทหารจะต้องปฏิบัติการให้สอดคล้องกันโดยสมบูรณ์ เพื่อให้ช่วยเหลือให้สำเร็จในการนี้ ได้มีการจัดตั้งการควบคุมการปฏิบัติการรบร่วมไว้ ณ ทุกระดับและจัดการสนธิกรรม การข่าวกรองของตำรวจ และการทหารอย่างใกล้ชิด
...............จากแผนบริ้กส์นี้ ทำให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการอำนวยการรบของรัฐและจังหวัดขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่า
...............ก. จะต้องมีการสนธิกรรมการดำเนินการตามภาวะฉุกเฉิน เสมอไป
...............ข. หน่วยปราบปรามจะต้องปฏิบัติการช่วยเหลือรัฐบาลฝ่ายพลเรือนเสมอไป แผนบริ้กส์ยังก่อให้เกิดหลักการเกี่ยวกับคณะกรรมการอำนวยการรบของรัฐและจังหวัด ซึ่งสมาชิกของคณะกรรมการทั้งหมดจะต้องพิจารณาการตกลงใจร่วมกันและเมื่อตกลงใจแล้วก็จะแจกจ่ายคำสั่งไปยังหน่วยรองผ่านสายการบังคับบัญชาต่อไป
...................แผนบริ้กส์นี้นับเป็นแผนสำคัญในการปฏิบัติการระยะยาว อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะไม่สามารถมองเห็นผลอย่างรวดเร็ว เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าแผนนี้จะต้องจัดการกวาดล้าง ผกค. ในประเทศ จากใต้ถึงเหนือ จะจัดให้มีกำลังตำรวจอย่างแข็งแรงและการดำเนินการปกครองฝ่ายพลเรือนไว้ในพื้นที่ๆ จัดการกวาดล้างแล้วเท่านั้น แผนนี้ยังมีจุดมุ่งหมายที่จะแยกกองทัพประชาชนชาวมาลายา (MRIA) จากพื้นที่ชุมนุมชนอาศัยอยู่ ซึ่งจะทำให้ปลอดภัยจากการส่งข่าวสารล่วงหน้า ในขณะเดียวกันก็ทำการขับไล่กองทัพประชาชนนี้ออกไปจาก การช่วยเหลือใดๆ และบังคับให้ต้องอยู่ในพื้นที่เปิดเผย เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วก็จะเป็นการดีที่สุด ถ้าหากจะใช้หน่วยปราบปรามเข้าทำลายต่อไป
..........๙. บทบาทของกองทัพบกในการปราบปราม
...............ก. หน้าที่
...................หน้าที่หลักของกองทัพบก คือ การค้นหาและทำลายกองโจรที่ปฏิบัติการอยู่ในป่า หรือตามชายป่านั้นๆ เพื่อให้ได้ผลตามความมุ่งหมายนี้ จำเป็นต้องดำเนินการตัดการติดต่อระหว่างกองโจรกับประชาชนในทุกๆ วิถีทางให้ได้ เพราะจะเป็นการบังคับให้กองโจรต้องออกมาจากในป่าเพื่อแสวงหาอาหาร เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็ทำการจัดการทำลายล้างเสียในที่สุด
...................สำหรับหน้าที่รองของกองทัพบกนั้นก็ได้แก่การช่วยเหลือตำรวจสหพันธ์ในบริเวณซึ่งมีประชาชนอาศัยอยู่ ด้วยการวางมาตรการการควบคุมทางอาหาร, การกำหนดเวลาออกนอกเคหสถาน ฯลฯ
...............ข. การใช้
...................หลักการอันสำคัญในการใช้หน่วยทหารปฏิบัติการนั้นก็คือ จัดการให้มีการประสานกันในทุกระดับระหว่างทหารบก ตำรวจ และฝ่ายพลเรือน ซึ่งปรากฏอยู่ในแผนบริ้กส์ดังกล่าวแล้ว ฉะนั้นแต่ละรัฐจะต้องจัดให้มี.-
...................๑.) บก.ทางทหาร ควบคู่ไปกับ บก.ทางตำรวจของรัฐ และให้รับผิดชอบตลอดไปถึงการปฏิบัติการทางทหารของคณะกรรมการอำนวยการรบของรัฐ (SWECS) ด้วย
...................๒.) บก.พลน้อย หรือ บก.พัน. อยู่ใกล้กับกองกำกับการตำรวจ และสามารถติดต่อกับศาลากลางจังหวัดได้ด้วยและให้รับผิดชอบตลอดไปถึงการปฏิบัติการทางทหารของคณะกรรมการอำนวยการรบประจำจังหวัด (DWECS)
..........................ด้วยวิธีการข้างต้นนี้ ทำให้เป็นหลักในการจัดหน่วยกำลังทางบก ทั้งยังเป็นการประกันว่า กองทัพบก จะสามารถปฏิบัติการอย่างได้ผลต่อกำลังทางทหารของข้าศึกเมื่อจำเป็น
..........................ภายใต้ระบบการนี้ พื้นที่สีดำของสหพันธ์มาลายา ก็จะมี ผบ.หน่วยกำลังทหารบก ปฏิบัติงานร่วมไปกับตำรวจ และพลเรือนอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามปัจจัยต่างๆ เช่น หน่วยกำลังทหารที่มีอยู่ หรือการปฏิบัติการรบในพื้นที่ต่างๆ กัน แต่มีการปฏิบัติของ ผกค. เพียงน้อยครั้ง ตัว ผบ.พัน. ก็จะต้องเป็นผู้แทนทางการทหารของคณะกรรมการอำนวยการรบประจำรัฐ ผบ.ร้อย ก็จะเป็นผู้แทน ณ ระดับคณะกรรมการอำนวยการรบประจำจังหวัด กองพลน้อยทั้งกองพล อาจจัดให้ปฏิบัติการเป็นพิเศษชั่วระยะเวลาอันหนึ่ง ณ จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งก็ได้ เมื่อการปฏิบัติการได้ดำเนินการไปอย่างได้ผลแล้ว จะทำให้พื้นที่สีดำกลายเป็นสีขาว กำลังตำรวจจะสามารถควบคุมพื้นที่ต่างๆ ได้มากขึ้นโดยไม่ต้องมีกำลังทหารปฏิบัติการเลย
.........................สำหรับหน่วยทหารที่ให้การสนับสนุนในการช่วยรบนั้น จะอยู่ที่ บก.กำลังทางบกของเครือจักรภพ หรือ ณ บก.ทบ. สหพันธ์มาลายา และจะปฏิบัติการสนับสนุนการรบเท่าที่จำเป็น หรืออาจบรรจุมอบให้กองพลน้อยเป็นการประจำเลยก็ได้



---------------------------------------



บทเรียนที่ได้รับจากการปราบปราม ผกค. ในมาลายา




..........การก่อการร้ายในมาลายาในครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนให้เห็นว่า “สงครามปลดแอก” ของคอมมิวนิสต์นั้น ไม่จำเป็นต้องมีสาเหตุมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ หรือความไม่พอใจต่อรัฐบาล หรือไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะประชาชนได้รับการกดขี่และมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้นเท่านั้น
..........ในระยะแรกๆ ของการปฏิบัติก่อการร้ายโดยเปิดเผยนั้น รัฐบาลอังกฤษยังไม่เข้าใจถึงลักษณะที่แท้จริงของการปฏิบัติการของคอมมิวนิสต์ เพราะคอมมิวนิสต์ได้พยายามสร้างสถานการณ์ให้เกิดการสับสน และเข้าใจผิดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ปราบปรามได้ยาก และพิสูจน์ให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่ใช้ในทางปราบปรามนั้นยังไม่เพียงพอ ทางการทหารก็เข้าใจว่างานปราบปรามนี้เป็นงานของทหารโดยเฉพาะ จึงมุ่งที่จะใช้วิธีการทางทหารแต่อย่างเดียว คือ การเป็นทำลายกองโจรและฐานปฏิบัติการของกองโจร และก็หวังว่าจะได้ผล หลังจากที่ฝ่ายทหารได้ดำเนินการเช่นนี้อยู่หลายปีจึงรู้ตัวว่าผิดพลาด และกว่าจะเข้าใจกับลักษณะที่แท้จริง ก็ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายและทรัพย์สินไปอย่างมากมาย
..........ในทางตรงข้าม ส่วนบริหารราชการฝ่ายพลเรือนกลับประมาณการณ์ได้อย่างถูกต้องว่าการปฏิบัติการทางทหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีการที่จะใช้ปราบปรามการก่อการร้ายที่มีอยู่ทั้งสิ้นทางพลเรือน การปราบปรามให้ได้ผลอย่างแท้จริงนั้นจะต้องใช้มาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น มาตรการทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ จิตวิทยา และสมมาตรการทางการบริหาร เหตุการณ์ต่างๆ ได้เพิ่มความคลี่คลายไปในทางที่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เมื่อทางทหารเข้าใจดีว่า การปราบปรามนั้นเป็นงานที่ต้องมีประสพการปฏิบัติกันอย่างแน่นแฟ้น และต้องใช้แนวความคิดในการปฏิบัติการร่วมกันอย่างแน่นอน โดยตั้งเป็นองค์การทหาร – พลเรือน ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
..........การปราบปรามผู้ก่อการร้ายในสมัยที่ พล.อ.เซอร์ เจราลด์ เทมเปลอร์ (General Sir Gerald Templer) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงใหญ่และผู้อำนวยการรบ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ นั้น นายพลผู้นี้ได้รับมอบอำนาจเต็มที่ในการอำนวยการต่อพลังทั้งสิ้นประกอบด้วยทหาร ตำรวจ พลเรือน และเศรษฐกิจ พล.อ. เทมเปลอร์ มีความเชื่อมั่นว่า “การปราบปรามพวกก่อการร้ายนี้ต้องอาศัยจิตใจ และความนึกคิดของประชาชน มิใช่อยู่ที่การส่งทหารเข้าไปในป่าให้มากขึ้น” การปฏิบัติการของ พล.อ.เทมเปลอร์ นี้ได้นำเอาแนวความคิดของการปฏิบัติการเป็นพื้นที่ (Area Operation) ที่ฝรั่งเศสเคยใช้ในแอลจีเรีย – ในระยะหลังและได้ใช้มาตรการในการปราบปรามต่างๆ ของ Sir Oliver Lyttleton รมว.กต. ของมาลายา ซึ่งมีดังต่อไปนี้คือ. –
..........- การรวมการอำนวยการทั้งกำลังทหารและกำลังฝ่ายพลเรือน
..........- การเพิ่มและปรับปรุงการจัดกำลังตำรวจใหม่
..........- จัดตั้งกำลังป้องกันส่วนท้องถิ่น (Home Guards) ขึ้นในหมู่บ้าน ตำบล และในนิคมต่างๆ
..........- ปรับปรุงมาตรฐาน การคัดเลือกข้าราชการฝ่ายพลเรือน
..........- ฝึกเจ้าหน้าที่ทางทหาร พลเรือน ตำรวจ และกำลังป้องกันส่วนท้องถิ่น
..........- จัดหายานหุ้มเกราะให้ฝ่ายพลเรือน
..........- กระตุ้นเตือนให้ประชาชนเกิดความทะเยอทะยานและมีความจงรักภักดีแล้วคัดเลือกประชาชนเหล่านี้ให้เข้ารับราชการเป็นกำลังป้องกันส่วนท้องถิ่น
..........๑. ผลที่เกิดขึ้นจากการบริหารของรัฐและองค์การพลเรือน
..............การบริหารงานของรัฐบาลและองค์การพลเรือนมีผลช่วยให้งานปราบปรามได้รับผลสำเร็จอยู่มาก รัฐบาลอังกฤษ และ พล.อ.เทมเปลอร์ ได้ดำเนินนโยบายทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการสมัย ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบ
...............ในเดือน ส.ค. ๒๕๐๑ ประชาชนในมาลายาตระหนักดีว่าตนกำลังจะได้รับเอกราช และเอกราชที่จะได้รับนี้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนจากคอมมิวนิสต์ และไม่ต้องใช้กำลังเข้าทำลาย เป็นต้น ขณะที่ประชาชนกำลังตื่นตัว พล.อ.เทมเปลอร์ ได้เริ่มนโยบายทางการเมือง ทันทีโดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศมากขึ้น เมื่อประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเช่นนี้ ปัญหาการปราบปรามกบฏในมาลายา จึงกลายเป็นปัญหาของชาติหาใช่เป็นปัญหาของอังกฤษไม่ ในขณะเดียวกันก็ดำเนินการกับฝ่ายที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์อย่างเข้มแข็ง
...............รัฐบาลได้จัดตั้งประชาชนให้เป็นเจ้าหน้าที่ขึ้นหลายสาขา ทำให้ประชาชนมีโอกาสที่จะแถลงความนึกคิดของตน บรรดาสมาคมการค้าสภา หมู่บ้าน พรรคการเมือง และสมาคมชาวจีนได้รับ ความสนใจเพิ่มขึ้น รัฐบาลได้จัดตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่อีก และในหมู่บ้านที่สร้างใหม่นี้ได้สร้างโรงเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกด้วยสาธารณสุข และเป็นสาธารณูปโภค นับว่าได้เกิดผลอย่างสูงสุดในด้านการพัฒนาให้เกิดงานสัมพันธ์ขึ้นระหว่างรัฐบาล ประชาชน ตำรวจ และกองทัพบกเป็นอย่างดี
..........๒. ผลที่เกิดขึ้นจากการตั้งถิ่นฐานใหม่
...............ประชาชนส่วนหนึ่งในมาลายา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรรมกรสวนยางมักจะตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหย่อมๆ กระจัดกระจายอยู่ตามชายป่าใกล้ๆ กับสวนยาง ประชาชนเหล่านี้ส่วนใหญ่ต้องสนับสนุนคอมมิวนิสต์ เพราะถูกขู่เข็ญและบีบบังคับ คอมมิวนิสต์ซึ่งใช้อาศัยเป็นฐานของการหาข่าวและส่งกำลังบำรุง รัฐบาลจึงได้นำเอานโยบาย “จัดตั้งถิ่นฐานใหม่” (Policy of Resettlement) มาใช้ในพื้นที่ๆ เห็นว่าสำคัญ เพื่อป้องกันประชาชนในรัฐพ้นจากการข่มขู่และบีบบังคับ โดยจะตัดประชาชนให้ขาดจากคอมมิวนิสต์ นโยบายนี้ทำให้คอมมิวนิสต์ต้องชะงักงันลงไป และประชาชนที่ถูกอพยพเข้าไปในถิ่นฐานใหม่นี้ก็ได้รับการคุ้มกันอย่างดี
...............เมื่อรัฐบาลได้อพยพประชาชนเข้าสู่ถิ่นฐานใหม่แล้ว ก็เริ่มทำการควบคุมประชาชนให้ขาดจากคอมมิวนิสต์ โดยกำหนดให้คนพื้นหมู่บ้านจะออกนอกบ้านภายในระยะเวลาที่กำหนดไม่ได้ ถ้าหมู่บ้านใดฝ่าฝืน ก็จะถูกปรับโทษเป็นส่วนรวม ทำให้ชุมชนแปรสภาพเป็นค่ายกักกันไปโดยปริยาย อัตราปันส่วนอาหารก็ถูกจำกัดให้ลดน้อยลงไปด้วย นอกจากนี้แล้วรัฐบาลยังได้ปิดกั้นพรมแดนที่ติดต่อกับประเทศไทย และปิดล้อมทะเล เพื่อป้องกันมิให้กองโจรได้รับการสนับสนุนจากภายนอกประเทศอีกด้วย
..........๓. มาตรการทางทหาร
...............การจัดกำลังทหารในมาลายา สามารถจัดหน่วยให้สนับสนุนความต้องการได้ทั้งการปราบปรามการก่อการร้าย และเหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นด้วย โดยทั่วๆ ไปกำลังทหารจะใช้เพื่อสนับสนุนกำลังตำรวจ และดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย ทั้งเป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติการในป่าทึบ หรือปฏิบัติการเป็นกลุ่มก้อน
...............การปราบปรามกบฏจำเป็นต้องใช้กำลังมากเทียบอัตราส่วนของทหารรัฐบาลต่อกองโจรแล้ว ประมาณ ๒๔ ต่อ ๑
...............การปฏิบัติการของทหารส่วนใหญ่ คือ การลาดตระเวน ใช้กำลังตั้งแต่หน่วยขนาดหมู่ หมวด บางครั้งอาจเป็นกองร้อย กองร้อยลาดตระเวนจะเข้าไปตั้งถิ่นฐานปฏิบัติการในป่าทึบนานๆ แล้วส่งหน่วยลาดตระเวนขนาดหมู่และหมวดกระจายออกไปทุกทิศทุกทาง ยุทธวิธีใช้เป็นหลักก็คือ การเข้าตีอย่างจู่โจม การทำลายที่พักข้าศึก และแหล่งสะสมอาหารของข้าศึก การตีโฉบฉวยและการซุ่มโจมตี ส่วนปฏิบัติการมักจะได้รับยานยนต์ เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบิน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้มากขึ้น การเตรียมฝ่ายกำลังพลจะได้รับการคุ้มกันจากยานหุ้มเกราะและยานลำเลียงพลหุ้มเกราะ กองทัพอากาศสนับสนุนหน่วยลาดตระเวนด้วยการยิงช่วย, การทิ้งระเบิด, การส่งกำลังทางอากาศ, การส่งกลับ และการลาดตระเวนถ่ายภาพ ปรากฏว่าการทิ้งระเบิดจากอากาศยานได้ผลไม่คุ้มค่า
...............การติดตามกองโจร โดยวิธีแกะรอยนั้นได้ผลมาก ฝ่ายรัฐบาลได้นำชนพื้นเมืองของเกาะเบอร์เนียว ชนเผ่า Dyak และสุนัข สำหรับแกะรอยกองโจร
ข่าวกรองทางทหารมักจะใช้ไม่ได้ผล ทำให้การปฏิบัติการหลายต่อหลายครั้งไม่ได้ผล ข่าวกรองทางตำรวจมักจะมีค่ามากกว่า เพราะข่าวสารส่วนมากได้รับการติดต่อกับประชาชน รู้ภาษาประชาชน และสามารถส่งสายลับแทรกซึมเข้าไปอยู่กับกองโจร
...............อังกฤษได้เปิดโอกาสให้ ผบ.หน่วยทางยุทธวิธีที่อยู่ใกล้กับข้าศึกมากที่สุด สามารถตัดสินในดำเนินการกับข้าศึกได้ทันทีโดยไม่ต้องรายงานที่ตั้ง หรือเสนอหนทางปฏิบัติให้หน่วยเหนือทราบก่อน ปรากฏว่าได้ผลมาก และสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดที่แล้วมาได้ เพราะในตอนต้นๆ อังกฤษปฏิบัติการล่าช้าอยู่เสมอ เปิดโอกาสให้กองโจรปฏิบัติการเป็นผลสำเร็จแล้วที่ไปโดยไม่ได้รับการตอบโต้เท่าที่ควร
..........๔. การนำบทเรียนที่ได้รับมาใช้ประโยชน์
ความล้มเหลวและความผิดพลาดของคอมมิวนิสต์ที่ได้กระทำในมาลายานั้นส่วนใหญ่ที่สำคัญ คือ คอมมิวนิสต์ไม่สามารถครองใจประชาชนได้เท่าที่หวังไว้เพราะเตรียมการไว้ไม่ดีพอ และต้องปฏิบัติการด้วยระยะเวลาที่สั้นเกินไป กอร์ปทั้งผู้นำคอมมิวนิสต์ก็ขาดประสบการณ์ ประชาชนจึงไม่ให้การสนับสนุน เมื่อเป็นเช่นนี้คอมมิวนิสต์จึงต้องถอนกำลังส่วนใหญ่ของตนเข้าไปในป่าทึบ ทำให้เหลือกำลังอยู่เพียงส่วนน้อย และไม่สามารถควบคุมประชาชนได้
...............การใช้วิธีการแบบทารุณโหดร้อยและการข่มขู่จะเกิดผลดีชั่วขณะเท่านั้น แต่จะทำให้เกิดความเกลียดชังขึ้นในส่วนลึกของจิตใจและคอยคิดจะต่อต้านอยู่เสมอ การทำลายเศรษฐกิจ การเผาหมู่บ้าน การทำการโจมตีที่ทำการไปรษณีย์ ประปา และไฟฟ้า การทำลายสวนยาง โรงงาน ฯลฯ เหล่านี้ไม่ได้ทำให้คอมมิวนิสต์ได้รับประโยชน์เลย กลับทำให้ประชาชนเกลียดชังและถอนตัวออกห่างมากขึ้น เพราะประชาชนเห็นว่าการกระทำเช่นนั้น เป็นการทำลายประชาชนทั้งทางตรง และทางอ้อม
...............รัฐบาลใดๆ ก็ตามที่พยายามป้องกันมิให้เกิดกบฏซึ่งมีคอมมิวนิสต์หนุนหลังนั้นหากจะคอยเฝ้าแต่จุดอ่อน หรือความล่อแหลมของตนเองเท่านั้น -ย่อมไม่พอ จำเป็นต้องคิดหาแผนการหรือวิธีการที่จะล่อ หรือบังคับให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องกระทำการอย่างผิดพลาดขึ้นอีก เพื่อจะได้พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นข้อเท็จจริงด้วยตาตนเอง มิฉะนั้นประชาชนก็จะเห็นว่าคอมมิวนิสต์ยังเป็นฝ่ายที่มีบทบาทควรแก่การสนใจอยู่ทั้งๆ ที่คอมมิวนิสต์เองชอบใช้วิธีการกดขี่และบีบบังคับ
...............ในประเทศที่ด้อยการพัฒนาที่ปล่อยให้คอมมิวนิสต์เข้าถึงประชาชนได้นั้นเป็นเรื่องที่ควรตำหนินักการเมือง และชนชั้นปัญญาเช่นที่เคยเพิกเฉยและปล่อยให้คอมมิวนิสต์เข้าครอบงำประชาชน ฉะนั้นฝ่ายปราบปรามจะต้องเป็นฝ่ายริเริ่มและชิงความได้เปรียบโดยปฏิบัติการก่อนคอมมิวนิสต์ให้ได้ กล่าวคือจะต้องแสดงให้ประชาชนประจักษ์ว่าคอมมิวนิสต์ขาดประสิทธิภาพและไม่มีความจำเป็นจะต้องโจมตีคอมมิวนิสต์ให้ตรงจุด และเป็นฝ่ายริเริ่มก่อนเสมอ พร้อมกันนั้นก็จะต้องแสดงความห่วงใยต่อสวัสดิภาพของประชาชนให้ควบคู่กันไป
...............ในขณะที่กำลังดำเนินการอย่างเข้มแข็ง - กับผู้สนับสนุนคอมมิวนิสต์นั้นจำเป็นจะต้องสนับสนุนพลเมืองให้เต็มที่ด้วย ประชาชนต้องได้รับการกระตุ้นเตือนและได้รับความช่วยเหลือ และต้องถือว่าประชาชนเป็นกำลังที่สุดของชาติ หากไม่สามารถจัดประชาชนให้อยู่ในขอบเขตเฉพาะได้แล้ว ก็น่าจะใช้วิธีเนรเทศชาวต่างประเทศที่ไม่พึงปรารถนาออกนอกประเทศให้หมด การป้องกันมิให้มีการลักลอบสะสมสิ่งอุปกรณ์ให้คอมมิวนิสต์ อาจใช้มาตรการที่เหมาะสมต่อไปนี้ คือ.-
...............- การลงโทษเป็นรายบุคคล
...............- การปรับโทษเป็นส่วนรวม
...............- การกักกันให้อยู่ในทำนองค่ายกักกัน
...............- การห้ามออกนอกบ้าน
...............- การปันส่วนอาหารและสิ่งอุปกรณ์
..............ท่าทีของประชาชนอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ให้เห็นผลที่เกิดขึ้นของการพิพาท เมื่อประชาชนแสดงเจตจำนงออกมา พวกที่บังคับและข่มขู่ก็อาจจะยอมรับภาวะที่ตรงกันข้ามฟังความต้องการของตน ในกรณีที่คอมมิวนิสต์สามารถแทรกซึมเข้ามาสนับสนุนฝ่ายกบฏได้ ถ้าหากว่าประชาชนได้รับการกระตุ้นเตือนให้ป้องกันตนเอง และประชาชนได้รับความคุ้มครองจากอำนาจที่ชอบธรรม ประชาชนก็สามารถจะแสดงความจำนงออกมาได้ ซึ่งหมายความว่าประชาชนก็จะเข้ากับฝ่ายรักษากฎหมายและความสงบ
..............ท่าทีของประชาชนอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะชี้ให้เห็นผลที่เกิดขึ้นของการพิพาท เมื่อประชาชนแสดงเจตจำนงของตน ในกรณีที่คอมมิวนิสต์สามารถแทรกซึมเข้ามาสนับสนุนฝ่ายกบฏ ได้ ถ้าหากว่าประชาชนได้รับการกระตุ้นเตือนให้ป้องกันตนเอง และประชาชนได้รับความคุ้มครองจากอำนาจที่ชอบธรรม ประชาชนก็สามารถจะแสดงความจำนงออกมาได้ ซึ่งหมายความว่าประชาชนก็จะเข้ากับฝ่ายรักษากฎหมายและความสงบ
...............นโยบายที่จะยอมให้ประชาชนบรรลุถึงเป้าหมายทางอุดมการณ์ของตนเอง โดยเปิดโอกาสให้แถลงข้อคิดเห็นของตนได้ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศกับรัฐบาลนั้น นับว่าเป็นข้อพึงประสงค์เบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งเรื่องนี้ทั้งรัฐบาลอังกฤษและนายพลเทมเปลอร์ได้มีความเข้าใจและนำมาใช้เป็นอย่างดี
...............กำลังกึ่งทหารและกำลังป้องกันฝ่ายพลเรือนในระดับหมู่บ้านนั้นมักจะเป็นกำลังที่สำคัญที่สุดเสมอ กำลังเหล่านี้จะต้องได้รับการฝึกและได้รับเครื่องมือติดต่อสื่อสารอย่างเพียงพอ รวมทั้งอาวุธยุทธภัณฑ์ ทั้งแบบทหารและอุปกรณ์ฝ่ายพลเรือน กำลังตำรวจ สามารถใช้ประโยชน์ได้ดียิ่ง สามารถปฏิบัติงานที่ทหารไม่ได้รับการฝึกมาโดยเฉพาะได้ คือ สามารถดำเนินการกับปัญหาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานอย่างจังๆ ของข้าศึก และสามารถเผชิญกับกำลังในดินแดนของฝ่ายปฏิบัติที่มีอันตรายมากที่สุดได้
...............การใช้กำลังทางอากาศโจมตี นับว่าได้ผลน้อยมาก จะได้ผลเพียงชั่วคราวและไม่เด็ดขาด แต่ในทางตรงข้ามการสนับสนุนทางอากาศทำให้กำลังทางพื้นดินมีความคล่องตัว ทำให้มีเสรีในการปฏิบัติในเมื่ออยู่ห่างจากฐานส่งกำลังบำรุงของตนช่วยเหลือในการปฏิบัติการลาดตระเวน และช่วยในการปราบปรามการก่อการร้ายในหนทางอื่นๆ อีกหลายประการ
...............ทหารราบที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี มีอาวุธครบ มีขวัญดีและรับการอบรมมาถูกต้อง ยังคงเป็นกำลังสำคัญของการปราบปรามกำลังกบฏที่ปฏิบัติการโดยเปิดเผย



----------------------------------


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ14/8/57 10:48

    เป็นข้อมูลที่ดีมาก ขอบพระคุณครับ

    ตอบลบ