14 ธันวาคม 2552

บทที่ 1

เอกสารอ่านประกอบ วิชา การยุทธของฝ่ายตรงข้าม
เรื่อง เราชนะสงครามได้อย่างไร
โดย
นายพล โว เหงียน เกี๊ยบ
นายพล วัน เทียน ดุง
ตุลาคม ๒๕๕๑

-------------------
กล่าวนำ
..........การศึกษาหลักนิยมการรบของฝ่ายตรงข้าม ตามประมาณการร่วมภัยคุกคามของ ขว.ทหาร อันได้แก่หลักนิยมการรบของกองทัพประชาชนเวียดนามนั้น เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของงานในหน้าที่นายทหารฝ่ายการข่าวกรอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประมาณการข่าวกรอง อันจะเป็นมูลฐานให้แก่การวางแผนของนักยุทธวิธีของฝ่ายเราด้วย
..........นอกเหนือไปจากการศึกษาถึงหลักนิยมของประเทศอภิมหาอำนาจที่ให้การสนับสนุนโดยต่อเนื่องแก่เวียดนาม อันได้แก่สหภาพโซเวียต ซึ่งน่าจะเป็นพื้นฐานสำคัญของหลักนิยมการรบของกองทัพประชาชนเวียดนามแล้ว ยังเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาลึกลงไปให้ทราบว่า กองทัพประชาชนเวียดนาม ซึ่งมีประสบการณ์จากการรบอันต่อเนื่องยาวนานนั้น ได้ประยุกต์ใช้หลักนิยมทางทหารของโซเวียตเข้ากับสภาพแวดล้อม และประวัติศาสตร์ของเวียดนามอย่างไรจนถึงปัจจุบัน
..........หนทางซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ที่สนใจเรื่องนี้ได้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงที่มาของความคิดทางทหาร อันเป็นเสมือนรากเหง้าของหลักนิยมการรบ ทั้งระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ ตลอดจนยุทธวิธี ก็คือการศึกษาถึงประวัติการรบของกองทัพเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการบันทึกของผู้นำสำคัญทางทหารของกองทัพประชาชนเวียดนามเอง ที่สืบทอดการนำกองทัพต่อเนื่องกันมา ซึ่งได้แก่ นายพล โว เหงียน เกี๊ยบ และ นายพล วัน เทียน ดุง


บทที่ 1
ภูมิรัฐศาสตร์
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
-----------------------------------




1. ที่ตั้งและอาณาเขต
....1.1 ที่ตั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นับเป็นประเทศขนาดเล็กซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 329.6 พันตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตะวันออกของคาบสมุทรอินโดจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระหว่างเส้นรุ้ง 8 องศา 30 ลิบดาเหนือ ถึงเส้นรุ้ง 23 องศา 15 ลิปดาเหนือ เส้นแวง 102 องศา 10 ลิปดาตะวันออก ถึงเส้นแวง 109 องศา 30 ลิปดาตะวันออกมีรูปร่างยาวและมีความยาวของประเทศจากเหนือสุดถึงใต้สุดประมาณ 1,840 กม. โดยมีความกว้างจากตะวันออกถึงตะวันตกประมาณ 620 กม. (ที่ภาคเหนือ) ส่วนในภาคกลางที่แคบที่สุดบริเวณเมืองดองฮวยอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศค่อนไปทางเหนือมีความกว้างประมาณ 50 กม. และมีฝั่งทะเลยาวประมาณ 2,360 กม. มีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีนทางมณฑลยูนนาน และมณฑลกวางสี ยาวประมาณ 860 กม. โดยมีเทือกเขายูนนานเป็นเส้นกั้นเขต
ทิศใต้ ติดต่อกับทะเลจีนตอนใต้ของอ่าวไทย
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอ่าวตังเกี๋ยในทะเลจีน
ทิศตะวันตก ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธปไตยประชาชนลาว ยาวประมาณ 1,660 กม. และกัมพูชาประชาธิปไตย ยาวประมาณ 1,280 กม. โดยมีเทือกเขาอันนัม เป็นเส้นกั้นอาณาเขต
....1.2 ภูมิประเทศบริเวณภาคเหนือเป็นป่าและภูเขาประมาณร้อยละ 25 ของพื้นที่ส่วนใหญ่มีเนื้อที่เพาะปลูกประมาณร้อยละ 14 เท่านั้น พื้นที่ทางภาคเหนือยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ถ่านหิน เหล็ก ส่วนภาคกลางที่แคบที่สุดของประเทศ ซึ่งมีความกว้างประมาณ 50 กม. นั้น เป็นที่ราบสูงริมฝั่งทะเลมีหน้าผาสูงชันยากแก่การยกพลขึ้นบก ส่วนในภาคใต้เป็นที่ราบลุ่มบริเวณปากแม่น้ำโขง เหมาะแก่การเพาะปลูกและเป็นบริเวณที่สมบูรณ์ที่สุด ลักษณะโดยทั่วไปของบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นโคลนตม บางแห่งเป็นดินทรายมีน้ำท่วมอยู่เสมอ ไม่เหมาะสำหรับการใช้ยานยนต์ เช่น รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถถัง เป็นต้น

2. รูปร่างและขนาด
รูปร่างของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามมีลักษณะคล้ายอักษร “เอส” ขนาบด้วยทิวเขาทางทิศเหนือและทางทิศตะวันตก ส่วนกว้างที่สุดจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก มีความยาวประมาณ 620 กม. ส่วนแคบที่สุดอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศค่อนไปทางทิศเหนือบริเวณเมืองดองฮวย มีความกว้างประมาณ 50 กม. ส่วนยาวจากเหนือจรดใต้ประมาณ 1,840 กม. มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 329.6 พันตารางกิโลเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับพื้นที่ของประเทศไทย (ประเทศไทยมีพื้นที่ประมาณ 514,000ตารางกิโลเมตร)

3. ลักษณะภูมิประเทศ แบ่งกว้าง ๆ ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ
....3.1 เวียดนามตอนเหนือ (เวียดนามเหนือเดิม) แบ่งเป็น 2 บริเวณใหญ่ ๆ คือ
..........3.1.1 บริเวณที่ราบสูงภาคเหนือ ได้แก่พื้นที่ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบทุรกันดารยากแก่การติดต่อคมนาคม
..........3.1.2 บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ได้แก่บริเวณด้านตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดกับฝั่งตะวันออกของอ่าวตังเกี๋ย เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์แก่การเพาะปลูก
..........3.1.3 บริเวณที่ราบต่ำชายทะเลระหว่างสันเขาอันนัมกับทะเลจีน ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบชายฝั่งอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก
....3.2 เวียดนามตอนใต้ (เวียดนามใต้เดิม) แบ่งได้เป็น 3 ภาคที่สำคัญ
..........3.2.1 ภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่ราบแคบ ๆ ริมฝั่งทะเลด้านตะวันออกและเป็นภูเขาทางด้านตะวันตก ซึ่งต่อเนื่องมาจากเทือกเขาตรานนินท์ ซึ่งกั้นพรมแดนลาวกับเวียดนาม
..........3.2.2 ภาคกลาง เป็นที่ราบสูงกว้างใหญ่เป็นหย่อม ตามบริเวณฝั่งทะเลเพียงเล็กน้อย ตอนกลางเป็นเทือกเขา
..........3.2.3 ภาคใต้ เป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 65,000 ตารางกิโลเมตร อุดมสมบูรณ์โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งมีแม่น้ำโขงไหลลงสู่ทะเลมี คู คลอง เชื่อมโยงมากมายเหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างมาก พื้นที่บริเวณนี้สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 2 เมตร โดยทั่วไปพื้นที่ของบริเวณนี้มีลักษณะเป็นโคลนตม บางแห่งเป็นดินปนทรายไม่เหมาะกับการใช้ยานยนต์ขนาดหนัก เช่น รถถัง รถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถสายพานนอกเส้นทาง

4. ลักษณะของพื้นที่ราบ มีที่ราบสำคัญ ๆ อยู่หลายแห่งดังนี้
....4.1 บริเวณที่ราบต่ำสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง พื้นที่บริเวณนี้เป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ประชาชนประกอบอาชีพทางกสิกรรมอย่างหนาแน่น พืชหลักสำคัญได้แก่ ข้าว ยางพารา และถั่ว ที่ราบลุ่มด้านตะวันออกของนครโฮจิมินห์ ไปจนกระทั่งชายแดนกัมพูชาประชาธิปไตย อุดมสมบูรณ์ดีกว่าที่ราบลุ่มด้านตะวันออกของ นครโฮจิมินห์ เพราะเป็นที่ดินที่ได้รับปุ๋ยจากกระแสน้ำพัดมาให้ทุกปี บริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ นครโฮจิมินห์ ซึ่งเรียกว่า “แพลนเดอร์โจน” ที่เป็นบึง หนองน้ำ เป็นส่วนใหญ่ไม่เหมาะแก่การเกษตรกรรม ปากแม่น้ำโขงเต็มไปด้วยโคลนตมซึ่งกระแสน้ำพัดพามาทำให้ดินงอกออกไปในทะเลอยู่เรื่อย ๆ
....4.2 ที่ราบมินห์ชวน เป็นที่ราบกว้างใหญ่เริ่มตั้งแต่แหลม ปาดารัน แผ่ลงไปติดต่อกับที่ราบตอนใต้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินทรายและดินอันเกิดจากเถ้าถ่านของภูเขาไฟเก่าไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก
....4.3 ที่ราบเว้ อยู่ระหว่างเทือกเขาอันนัมกับชายทะเลด้านทิศเหนือและทิศใต้ของเมืองเว้ เป็นที่ราบแคบ ๆ แต่ยาวเหยียดขนานไปตามฝั่งทะเลผ่านเมือง ดองฮวย กวางตรี จนถึงช่องเขาโลคเดอร์มัวเตอร์
....4.4 ที่ราบระหว่างช่องเขาดูมองต์กับแหลมปาการัน เป็นที่ราบขนาดเล็กติดชายฝั่งทะเล
....4.5 ที่ราบรอบเมืองกวางนาม กว่างงาย และดินมินห์ เป็นที่ราบแคบ ๆ เฉพาะบริเวณ
....4.6 ที่ราบสูงในภาคกลาง ทางตะวันตกของทิวเขาอันนับเป็นที่ราบสูง ส่วนทางด้านตะวันออกเป็นที่ราบสูง ทรันนินห์ ที่ราบสูงคอนทูม และที่ราบสูงท่าหอยในภาคใต้ตั้งแต่ดาลัตลงมาที่ราบสูง ดาจิรัง ที่ราบสูงโซลอง และที่ราบสูงดาลัต
....4.7 ที่ราบฮงเตียนห์ อยู่บริเวณฮงเตียนห์จากที่ราบฮงเตียนห์ต่อลงไปทางใต้ที่ราบชายฝั่ง ฝั่งทะเลแคบ ยาวทอดขนานกับชายฝั่งผ่านเมือง ดองฮวย ไปถึงเส้นขนานที่ 17 จนถึงที่ราบเมืองกวางตรี และเมืองเว้
....4.8 ที่ราบไงอัน อยู่บริเวณรอบ ๆ เมืองวินห์ หรือเป็นที่ราบลุ่มของแม่น้ำดำ
....4.9 ที่ราบสูงแคว้นตังเกี๋ยหรือที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง เป็นพื้นที่ราบลุ่มที่มีพื้นที่กว้างขวางที่สุดประมาณ 15,000 ตารางกิโลเมตร โดยทั่วไปความสูงจากระดับน้ำทะเล 15 เมตร พื้นดินประกอบด้วยสิ่งที่น้ำพัดพามาเป็นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์ทางทิศใต้ของที่ราบนี้มีทิวเขาหินปูนบริเวณเมืองตันฮั้ว

5. ป่าไม้ ในบริเวณเวียดนามตอนเหนือ พื้นที่ 2 ใน 3 เป็นป่าไม้ประเภทเนื้อแข็ง ต่อมาได้มีการตัดไม้และถางป่า ต้นไม้ที่ขึ้นมาใหม่เป็นไม้เนื้ออ่อนและมีขนาดเล็ก ป่าไม้บริเวณลุ่มแม่น้ำโขง และเหนือเทือกเขาคอร์ดิลเลอรา เป็นป่าทึบ ส่วนตอนใต้ตั้งแต่ เดงแรค และคาดาไนม์ ลงมาลักษณะเป็นป่าทึบเมืองร้อนบางตอนอยู่สูงถึง 1,3001 เมตร ตอนเหนือขึ้นไปเป็นป่าไม่สู้ทึบนัก

6. ภูเขา ภูเขาส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาทอดยาวจากภาคเหนือคือ จากบริเวณ ทรันนินห์ ขนานกับฝั่งทะเลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีเทือกเขายูนนาน และเทือกเขาอันนัม เป็นหลัก ส่วนเทือกเขาอื่น ๆ ทางตอนใต้ส่วนใหญ่เป็นสาขาของเทือกเขาอันนัมทั้งสิ้น

7. ช่องเขา ช่องเขาที่สำคัญ ๆ มี 3 แห่ง คือ
....7.1 ช่องเขาบริเวณเทือกเขา ล๊อกนินห์ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 2,598 เมตร
....7.2 ช่องเขาบริเวณเทือกเขา เอตังอัน สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,000 เมตร
....7.3 ช่องเขาบริเวณ ช่องบอง สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,000 เมตร

8. แม่น้ำ แม่น้ำที่สำคัญ ๆ ของเวียดนามมีอยู่มากมายหลายสายด้วยกัน
....8.1 แม่น้ำไซ่ง่อน เป็นแม่น้ำสายสั้น ๆ จากปากแม่น้ำโขงไปถึงตัวเมือง โฮจิมินห์ยาว 75 กม. แม่น้ำไซ่ง่อนมีสาขาคลองต่าง ๆ แยกออกไปรวมความยาวถึง 2,250 กม.
....8.2 แม่น้ำแดง ยาวประมาณ 1,200 กม. ต้นแม่น้ำอยู่ในมณฑลยูนนานประเทศจีน แม่น้ำแดงเข้าเขตประเทศเวียดนามที่เมือง ลาวกาย มีความยาวจากเมือง ลาวกาย ถึงปากแม่น้ำประมาณ 500 กม. ปริมาณน้ำในแม่น้ำแดงฤดูแล้งมีประมาณ 700 ลูกบาศก์เมตร ในฤดูน้ำหลากมีประมาณ 30,000 ลูกบาศก์เมตร ช่วงที่มีน้ำมากอยู่ระหว่างเดือน มิ.ย. – ต.ค. แม่น้ำแดงมีระดับน้ำสูงไม่เป็นเวลาแน่นอนแล้วแต่จะมีฝนตกบนภูเขา
....8.3 แม่น้ำชูและแม่น้ำมา มีความยาวประมาณ 500 กม. ไหลลงสู่ทะเลจีนบริเวณเมืองตังฮั้ว
....8.4 แม่น้ำโขง อยู่ทางภาคใต้ของประเทศตอนบริเวณปากแม่น้ำยาวประมาณ 220 กม.
....8.5 แม่น้ำป่าสัก ไหลผ่านกัมพูชาเข้าสู่เวียดนามตอนใต้ ยาวประมาณ 180 กม.
นอกจากแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังมีแม่น้ำอื่น ๆ ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมได้แก่แม่น้ำ เบนฮาย แม่น้ำเรานาย แม่น้ำซองดาแรง แม่น้ำดา และแม่น้ำแดง และยังมีแม่น้ำสายสั้น ๆ เช่น แม่น้ำกวางตรี แม่น้ำเว้ แม่น้ำฟูไฟ และแม่น้ำฮายเนียม

9. ฝั่งทะเล เวียดนามมีฝั่งทะเลซึ่งอยู่ทางภาคใต้ตั้งแต่แม่น้ำฮายเนียมในบริเวณอ่าวไทยจนถึงเส้นขนานที่ 17 องศาเหนือ ยาวประมาณ 1,500 กม. มีลักษณะโค้งตามความยาวของพื้นที่แบ่งได้ดังนี้
....9.1 ฝั่งทะเลตะวันออก จากแหลมคามาถึงอ่าวร่าย ชายทะเลตอนนี้เป็นดินและทราย เรือไม่สามารถเข้าถึงฝั่งได้
....9.2 ฝั่งทะเลบริเวณ นครโฮจิมินห์ (ไซ่ง่อน) นาปี และแหล่งแซงค์จาดส์ มีท่าเรือโฮจิมินห์และนาปี อยู่ลึกจากปากน้ำ 75 กม. และ 50 กม. ตามลำดับ ในแม่น้ำมีโขดหินเป็นบางตอน ระดับน้ำต่ำสุด 6 เมตร เรือ กินน้ำลึกเกิน 6 เมตร ต้องคำนึงถึงระดับน้ำ แต่ถ้าระดับน้ำที่สูงขึ้นเรือที่ผ่านเข้า – ออก ก็ควรจะกินน้ำลึกระหว่าง 8.20 – 9.20 เมตร เมื่อระดับน้ำสูงขึ้น เรือมีความยาวเกิน 210 เมตร ไม่สามารถกลับลำในแม่น้ำได้ มีท่าเทียบเรือ 3 ท่า บริเวณแหลมแซงค์จาดส์ที่ซองตัน 1 ท่า ส่วนอีก 2 ท่า เป็นท่าเทียบเรือริมฝั่งทะเล
....9.3 ฝั่งทะเลตอนกลางตั้งแต่แหลมมาดีถึงคิวนอน เป็นหน้าผาสูงชัน เพราะติดกับเทือกเขาฮัมนาไมค์ มีดินทรายและหินโสโครกอยู่ทั่วไประหว่างแหลมพาดาวัน และวาเรลลา ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำเหนือไหลเชี่ยวมาก ส่วนในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ เหนือแหลมพาดาวันถึงคิวนอน มีท่าเรือ 2 ท่า คือ ดาโย และคัมรานห์ ซึ่งเป็นท่าเรือที่สำคัญที่โซเวียตใช้เป็นฐานทัพ ได้แก่ท่าเรือคัมรานห์ จากฝั่งทะเลคิวนอนถึงเวียดนามเหนือ (เดิม) มีฝั่งทะเล เช่นเดียวกับฝั่งทะเลตอนกลางของเวียดนามใต้ (เดิม) เมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดได้แก่เมืองดานัง มีชายฝั่งทะเลลึกโดยเฉลี่ยประมาณ 50 เมตร
....9.4 ฝั่งทะเลตอนเหนือของประเทศ ชายฝั่งทะเลมีความยาวประมาณ 500 กม. มีอ่าวเป็นท่าสำหรับจอดเรือขนาดใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ เมืองท่าไฮฟอง สามารถรับเรือขนาด 30,000 ตัน เทียบท่าได้ ตอนเหนือของฝั่งทะเลแบ่งได้เป็น 3 ตอน
..........9.4.1 ตามชายฝั่งทะเลระหว่างเมืองท่าไฮฟอง และเมืองม๊อกไซ มีอ่าวและเกาะมากที่สุดในบริเวณนี้ เกาะเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ทางทิศเหนือเป็นเกาะใหญ่ขนานกับฝั่งทะเล ได้แก่เกาะไกโบ ทางใต้ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยหลายเกาะและมีหินโล่จากพื้นน้ำบริเวณอ่าว ละออง และอ่าวฟาร์อิสลอง
..........9.4.2 ระหว่างเมืองท่าไฮฟองมีเกาะใหญ่ชื่อ แคทโบ และทางทิศตะวันออกมีเกาะเล็ก ๆ หลายเกาะ
..........9.4.3 ระหว่างเมือง ดองฮวย และเมืองท่าไฮฟอง ฝั่งทะเลบริเวณนี้ไม่มีอ่าวที่สำคัญ มีแหลมเป็นบางตอน และเป็นเนินทราย บางตอนติดต่อกับชายฝั่งและลึกเลยเข้าไปในแผ่นดิน

10. ลมฟ้าอากาศ
เวียดนามแต่ละท้องถิ่นมีลมฟ้าอากาศแตกต่างกัน เนื่องจากมีพื้นที่ยาวเหยียดจากเขตร้อนบริเวณใกล้ศูนย์สูตรขึ้นไปจนถึงเขตค่อนข้างหนาวซึ่งคุมตั้งแต่ เส้นรุ้ง 8 องศา 30 ลิปดา ขึ้นไปจนถึงเส้นรุ้ง 63 องศา 15 ลิบดาเหนือ จึงทำให้เวียดนามมีลมฟ้าอากาศแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันตามสภาพภูมิศาสตร์
บริเวณพื้นที่ ตั้งแต่เส้นรุ้ง 17 – 23 องศา 15 ลิปดาเหนือ แบ่งออกเป็น 2 ฤดู ขณะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ ต.ค. – เม.ย. เป็นฤดูแล้งหรือดูหนาว ถ้ามีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่ พ.ค. – ก.ย. เป็นฤดูฝนหรือฤดูร้อน ในฤดูหนาวมีอุณหภูมิค่อนข้างต่ำในระหว่าง 12 ถึง ลบ 7.5 เซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยเกินกว่า 30 เซลเซียส ส่วนบริเวณสามเหลี่ยมด้านที่ราบชายทะเลปากแม่น้ำแดงแถบตะวันออกในฤดูฝนจะคล้ายคลึงกับทางด้านป่าเขาแถบตะวันตกของภูมิภาค แต่ในฤดูแล้งจะมีลักษณะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในบริเวณพื้นที่ที่เหนือเส้นรุ้ง 17 องศาเหนือมักจะมีไต้ฝุ่นทำความเสียหายเกิดขึ้นทุกปี ทั้งนี้เนื่องจากลมและน้ำท่วมตามชายฝั่งทะเลนั้น ปกติจะก่อตัวทางด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ และพัดเข้าสู่ภูมิภาคส่วนนี้ในระหว่างเดือน ก.ค. และ ก.ย. โดยเฉพาะ ก.ค. มีไต้ฝุ่นพัดมากที่สุด
บริเวณตั้งแต่เส้นรุ้ง 8 องศา 30 ลิปดาเหนือ หรือตั้งแต่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงขึ้นไปจนถึงเส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ ลักษณะลมฟ้าอากาศแบ่งตามลมมรสุมได้เป็น 4 ฤดู คล้ายคลึงกับประเทศไทย คือระหว่างที่มีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่ พ.ค. – ก.ย. เป็นฤดูร้อน และฤดูฝน และระหว่างมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ ต.ค. – เม.ย. เป็นฤดูหนาวกับฤดูแล้ง ทั้งนี้จากลักษณะมรสุมที่พัดผ่านประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามในแถบนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้เริ่มตั้งแต่ พ.ค. ไปจนถึง ก.ย. หลังจากนั้นมรสุมและมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มพัดผ่านตั้งแต่ พ.ย. ไปจนถึง มี.ค. ซึ่งในระหว่าง เม.ย. มรสุมจะสงบอีกครั้ง ดังนั้นระหว่างที่มรสุมสงบนี้จะทำให้มีอากาศร้อนและแห้งแล้ง จากมรสุมที่พัดผ่านซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากลมฟ้าอากาศ จึงแบ่งเป็นฤดูได้ดังนี้ ตั้งแต่ พ.ค. – ก.ย. เป็นฤดูฝน ตั้งแต่ ก.ย. – ต.ค. เป็นฤดูแล้ง ต.ค. – ก.พ. เป็นดูหนาว และ มี.ค. – เม.ย. เป็นฤดูร้อน ระหว่างมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีลักษณะฝนตกหนัก มีเมฆปกคลุมหนา อุณหภูมิและความชื้นสูง เว้นชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกจะมีฝนปานกลาง เมฆปกคลุม และอากาศอบอุ่น ส่วนฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกน้อยหรือไม่มีฝนตกเลย ท้องฟ้าแจ่มใสอากาศอบอุ่น เว้นชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกจะมีเมฆหนาอากาศเย็นตลอดฤดูและมักมีฝนตกระหว่าง 1-2 เดือนแรกของฤดู การคุกคามของไต้ฝุ่นในพื้นที่เขตเส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ ลงมามักจะเกิดขึ้นระหว่าง ก.ค. – พ.ย. และมักจะรุนแรงในระหว่างเดือน ต.ค. ซึ่งบางครั้งจะมีไต้ฝุ่นพัดแรงกว่า 100 น๊อต แต่ใต้ฝุ่นมักจะอ่อนตัวลงเมื่อพัดเข้าสู่ฝั่ง และสลายตัวเมื่อปะทะกับภูเขาแถบตะวันตก
อย่างไรก็ตาม จากลักษณะภูมิประเทศตามธรรมชาติตามพื้นที่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามส่วนนี้ทำให้ลมฟ้าอากาศที่แตกต่างกันเล็กน้อย

11. สภาพภูมิอากาศบริเวณที่ราบสูงภาคกลาง
......11.1 น้ำฝน ระยะนี้มีฝนตกตั้งแต่ พ.ค. – ก.ค. ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยระหว่าง 8 – 14 นิ้วต่อเดือน มีฝนตกเฉลี่ย 20 วันต่อเดือน มีพายุฟ้าคะนองเกิดขึ้นเฉลี่ย 7 วันต่อเดือน ระยะที่มีความแห้งแล้ง เริ่มตั้งแต่ ธ.ค. – มี.ค. ระยะนี้จะมีฝนตกโดยเฉลี่ยประมาณ 3 วันต่อเดือน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยน้อยกว่า 2 นิ้วต่อเดือน
......11.2 เมฆ ระหว่างฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มักจะมีเมฆลอยต่ำประมาณ 2,000 ฟุต ระหว่างตอนบ่ายถึงตอนเย็น ระหว่างฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือโดยทั่วไปท้องฟ้าแจ่มใสในตอนกลางคืน และมักจะมีเมฆลอยสูงประมาณ 3,000 ฟุต ในตอนสายหรือก่อนบ่าย แต่จะกระจายในตอนเย็น
......11.3 ทัศนวิสัย ระหว่างฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงใต้มีทัศนวิสัยจำกัดน้อยกว่า 6 ไมล์ คิดเป็นระยะเวลาประมาณร้อยละ 10 ของฤดู และมีทัศนวิสัยลดลงเหลือ 1 ไมล์ ในห้วงระยะเวลาสั้น ๆ ระหว่างที่มีฝนตกหนัก ส่วนในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีทัศนวิสัยจำกัดน้อยกว่า 6 ไมล์ คิดเป็นระยะเวลาประมาณร้อยละ 30 ของฤดู
......11.4 อุณหภูมิ โดยเฉลี่ยสูงสุดประมาณ 80 องศาฟาเรนไฮท์ และต่ำสุดประมาณ 50 องศาฟาเรนไฮท์ เว้นในเดือน เม.ย. และ พ.ค. อุณหภูมิจะสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 90 องศาฟาเรนไฮท์ และในเดือน ธ.ค. กับ ม.ค. จะลดลงโดยเฉลี่ยเหลือประมาณ 40 องศาฟาเรนไฮท์
......11.5 ความชื้น ตามปกติจะมีความชื้นสูงโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 80 เว้นในเดือน ก.พ. และ มี.ค. ความชื้นต่ำลงเหลือประมาณร้อยละ 60
......11.6 ลมผิวพื้นและลมบน ระหว่างฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมพื้นผิวตะวันตกเฉียงใต้พัดไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ มีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 5 น๊อต และเพิ่มขึ้นเป็น 20 น๊อต ในห้วงระยะเวลาสั้น ๆ ระหว่างมีพายุและฝนตกหนักลงบนระยะ 5,000 ฟุต จากตะวันตกเฉียงใต้ไปยังตะวันออกเฉียงเหนือ ตามปกติจะพัดความเร็วเฉลี่ย 60 – 15 น๊อต ระหว่างฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ลมผิวพื้นจากตะวันออกเฉียงเหนือไปตะวันตกเฉียงใต้ มีความเร็วเฉลี่ยประมาณ 8 น๊อต ลมบนระยะ 5,000 ฟุต มีความเร็วเฉลี่ย 5 – 10 น๊อต

12. เส้นทางเข้า – ออก ที่สำคัญ
เส้นทางเข้า – ออก ที่สำคัญนอกจากทางทะเลแล้ว มีถนนและทางรถไฟเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ดังนี้
......12.1 เส้นทางติดต่อกับสาธารณประชาชนจีน ด้านมณฑลยูนนาน จากเมืองลาวกายไปสู่ฮานอยมีเส้นทางหมายเลข 1,2,3,4 ทางรถไฟสายเหนือและสายตะวันออกเฉียงเหนือ
......
12.2 เส้นทางติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีเส้นทางหมายเลข 4,6,7,8,9,15 และเส้นทางโฮจิมินห์
......12.3 เส้นทางติดต่อกับกัมพูชาประชาธิปไตย ได้แก่เส้นทางหมายเลข 19 แยกจากทางหลวงหมายเลข 1 ที่คิวนอน ถึงเปลกูผ่านเข้ากัมพูชาบรรจบกับเส้นทางหมายเลข 13 ทางตะวันออกเฉียงใต้เมืองสตึงเตรง 17 กม. เส้นทางหมายเลข 13 จากนครโฮจิมินห์ ผ่านกัมพูชา ไปจรดสนูล เส้นทางหมายเลข 1 จากนครโฮจิมินห์ ถึงพนมเปญ นอกจากนี้มีเส้นทางหมายเลข 8,14 และ 22
......12.4 เส้นทางไปสู่ท่าเรือมีถนน 5 สาย และทางรถไฟอีก 1 สาย จากฮานอยไปเมืองท่าไฮฟอง ทางหลวงหมายเลข 1 จากฮานอย – นครโฮจิมินห์ ออกไปทางท่าเรือทันฮา , วินห์ , ดองฮวย , นิน , ฮวา , นาตรัง , คัมรานห์ , ฟานรัง และฟ่านเนียต เส้นทางหมายเลข 15 จากนครโฮจิมินห์ไปหวุ่งเต่า นอกจากนั้นยังมีท่าเรือที่นครโฮจิมินห์ออกสู่ทะเลโดยแม่น้ำไซ่ง่อนด้วย

......13. เมืองสำคัญและพลเมือง
สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามแบ่งการปกครองออกเป็น 35 จังหวัด มีประชากรประมาณ 59 ล้านคน
......13.1 ฮานอย เป็นเมืองหลวงของเวียดนามมีประชากรหนาแน่น 1,500 คนต่อ 1 ตารางไมล์ (ปี 2507) เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศและการศึกษา
......13.2 ไฮฟอง เป็นเมืองอุตสาหกรรม และเป็นเมืองท่าเรือที่สำคัญเมืองหนึ่งทางภาคเหนือของเวียดนาม
......13.3 นครโฮจิมินห์ เป็นท่าเรือสำคัญที่สุดของประเทศ เป็นศูนย์กลางการค้าและการศึกษาเป็นเมืองที่มีชาวจีนอาศัยอยู่มาก่อน มีถนนกว้างสวยงามและร่มรื่น
......13.4 เว้ เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นเมืองหลวงของเวียดนามมาก่อนเป็นศูนย์กลางความเจริญทางวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมดั้งเดิมและวัฒนธรรมแผนใหม่
......13.5 ดาลัท เป็นเมืองตากอากาศที่มีทิวทัศน์สวยงามมาก มักใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเมืองสำคัญ
......13.6 ดานัง เป็นเมืองท่าสำคัญ ๆ ของภาคกลาง ปัจจุบันท่าเรือตื้นเขินมาก เรือเดินทะเลขนาดใหญ่เข้าไม่ถึง ทำให้หมดความสำคัญลง
......13.7 นาตรัง ตั้งอยู่ริมทะเลเป็นเมืองตากอากาศและเล่นกีฬาทางน้ำ มีหาดทรายขาวสะอาด ยาว 2/12 ไมล์ น้ำทะเลใสมีต้นมะพร้าวปลูกเป็นทิวแถวยาวไปตามชายหาดและมีภูเขาเป็นฉากกั้น
......13.8 เบียนฟว่า เป็นศูนย์กลางของการหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาอยู่ทางทิศตะวันออกของนครโฮจิมินห์ 20 ไมล์

14. การพิจารณาเวียดนามด้านภูมิศาสตร์
......14.1 สรุปลักษณะทางภูมิศาสตร์ของเวียดนาม
..............14.1.1 ขนาดเล็กมีพื้นที่ประมาณ 340,000 ตารางกิโลเมตร
..............14.1.2 รูปร่างยาว มีลักษณะคล้ายตัว “เอส” ถูกตัดขาดได้ง่าย
..............14.1.3 ที่ตั้ง ติดกับประเทศมหาอำนาจ คม. ทางเหนือตลอดแนวติดลาว เขมร ทางด้านทิศตะวันตกในลักษณะโอบล้อมติดฝั่งทะเลยาวตลอดประเทศทางทิศตะวันออก
......14.2 จุดอ่อน
.............14.2.1 การเมือง ม่มีอิสระในการกำหนดนโยบายของตน ต้องพยายามหลีกเลี่ยง อิทธิพลของจีนซึ่งเป็นศัตรูในประวัติศาสตร์เวียดนามใช้วิธีสร้างดุลย์แห่งความมั่นคงโดยรับอิทธิพลของโซเวียต ทำให้ประสบความยากลำบากเป็นอย่างยิ่ง และการที่เกิดสู้รบกับจีนในปัจจุบัน เพราะการรักษาดุลยภาพไว้ไม่ได้ การที่ประเทศมีรูปร่างยาวทำให้ถูกแบ่งทางการเมืองเป็นเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2497 แม้จะรวมกันสำเร็จในปี พ.ศ.2519 ก็ยังประสบความยุ่งยากภายในปัจจุบัน เพราะประชาชน เพราะประชาชนภาคใต้ไม่ยอมรับระบอบการปกครองใหม่ การเป็นประเทศขนาดเล็กทำให้ผู้บริหารประเทศคิดจัดตั้งสหพันธ์อินโดจีนอันเป็นชนวนให้เกิดการสู้รบระหว่างกัมพูชาและจีนขณะนี้
............14.2.2 การทหาร ฝั่งทะเลยาวจำเป็นต้องมีกำลังทหารเรือเข้มแข็ง พื้นที่ประเทศรูปยาวทำให้การควบคุมทางทหารในภาคใต้มีความยากลำบากถูกตัดขาดง่าย การเป็นประเทศขนาดเล็กแต่มีแสนยานุภาพทางทหารเกินขนาด เป็นภาระหนักถ่วงความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ
............14.2.3 เศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นประเทศขนาดเล็กทรัพยากรธรรมชาติแม้อุดมสมบูรณ์ก็ถูกจำกัดทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนาเศรษฐกิจด้วยลำพังตนเอง กระทำได้ด้วยความยากลำบากต้องพึ่งพาประเทศใหญ่ เพราะประเทศใกล้เคียงก็พึ่งพาได้ยาก คือ ลาว กัมพูชา คงได้แต่พึ่งประเทศใหญ่ ๆ เช่น โซเวียต ทำให้อิทธิพลของประเทศเหล่านั้นสูง นอกจากนั้นที่ตั้งมีภูเขา แม่น้ำ มักประสบภัยธรรมชาติจากน้ำท่วมฝนแล้งอยู่เสมอ ทำให้เลื่อนถอยทางเศรษฐกิจ
............14.2.4 สังคม ประชาชนในภาคเหนือและภาคใต้ไม่สามัคคีกลมกลืน กลุ่มศาสนามีความขัดแย้ง คือ พุทธ คริสต์ หัวเหา เกาได๋ มีชนกลุ่มน้อยมากคือ ชนเผ่าชาวเขากว่า 2 ล้านคน เป็นปัญหาด้านสังคม ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม เศรษฐกิจอ่อนแอ สังคมมีคนว่างงานมากกว่า 2.5 ล้านคน คนป่วย เด็กกำพร้าเกือบ 1 ล้านคน
.....14.3 จุดแข็ง
.....14.3.1 การเมือง ใช้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ทำให้สามารถควบคุมอำนาจไว้ได้ทั่วถึงถึงทั้งประเทศ พื้นที่ยาวโอบล้อม ลาว กัมพูชา ทำให้แผ่ขยายอิทธิพลได้ง่ายและการที่มีขนาดเล็กทำให้ต้องคิดจัดตั้งสหพันธ์อินโดจีน
.....14.3.2 การทหาร พื้นที่ด้านเหนือเป็นปราการธรรมชาติ และมีฝั่งทะเลยาวสามารถขยายอิทธิพลทางทะเลได้ง่าย
.....14.3.3 เศรษฐกิจ พื้นที่มีความแตกต่างกันทุกรูปแบบภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบลุ่มมีฝั่งทะเลยาวเหยียด ทำให้สามารถกำหนดรูปแบบทางเศรษฐกิจได้หลายอย่างรวมทั้งการมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์
.....14.3.4 สังคม การตกอยู่ในภาวะที่ไม่มีอิสระทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกชาตินิยมและดิ้นรนที่จะเป็นอิสระ การที่สภาวะลมฟ้าอากาศรุนแรงประสบภัยธรรมชาติจากมรสุมความแห้งแล้ง ทำให้ประชาชนมีความมานะอดทนมีคุณภาพสูง การที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคทำให้มีความเข้มแข็งในพลังแห่งชาติ


-------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น