14 ธันวาคม 2552

บทที่ 2 ภูมิหลังความขัดแย้ง กับการปฏิบัติการ


บทที่ 2
ภูมิหลังความขัดแย้ง กับการปฏิบัติกา


ในการศึกษาเรื่องการมีส่วนร่วมของกองทัพไทยกับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย ได้ใช้ข้อมูลจากประสบการณ์ในการทำงานในตำแหน่ง รองหัวหน้าภารกิจอาวุโส หน่วยสังเกตการณ์การหยุดยิงในอาเจห์ (Principal Deputy Head of Mission: Aceh Monitoring Mission) ตั้งแต่ 14 ส.ค.2548 – 14 มี.ค.2549 โดยได้มีโอกาสทำงานในฐานะ “คนกลาง” ในการปฏิบัติงาน จึงทำให้ทราบข้อมูล แนวคิด เจตนารมณ์ ของทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกัน
นอกจากนี้ ยังได้ศึกษา แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลภูมิหลัง/ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์ ความเป็นมาของขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) การดำเนินงานของ EU ร่วมกับ 5 ชาติจากอาเซียน ประกอบด้วย บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และไทย ในกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ และการดำเนินงานบางส่วนของกำลังพลจากกองทัพไทยในอาเจห์

ข้อมูลภูมิหลัง/ประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งใน จังหวัดอาเจห์

อาเจห์ (Aceh) หรือชื่อเต็มปัจจุบัน เขตปกครองพิเศษอาเจห์ (Nanggore Aceh Darussalam) เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเกาะสุมาตราเหนือ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเกาะสุมาตราบนแผนที่จะอยู่ด้านซ้ายของช่องแคบมะละกา ตั้งอยู่ ที่ 2◦ - 6◦ ละติจูดองศาเหนือ และ 95◦ - 98◦ ลองติจูดองศาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมด 57,365.57 ตารางกิโลเมตร (ประมาณจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงมาถึง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย) อาเจห์ห่างจากจังหวัดสตูล ของไทย และรัฐเปอร์ลิส รัฐเคดาห์ของมาเลเซีย โดยเดินทางทางเรือไม่เกิน 6 ชม. มีเมืองหลวงชื่อ บันดา อาเจห์ ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของเกาะ พื้นที่ของอาเจห์ มีเกาะทั้งหมด 119 แห่ง ภูเขา 35 ลูก และแม่น้ำ 73 สาย มีประชากรทั้งสิ้น 3,970,853 คน แบ่งเป็นชาย 1,972,230 คน และหญิง 1,998,623 คน มีผู้นับถือศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสเตนท์และคาทอลิก ศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธ คองฮูชู และอื่นๆ

ตารางที่ 1 : จำนวนผู้ที่นับถือศาสนาต่างๆ ในอาเจห์

ที่มา : ปรับจาก Badan Pusat Statistik (BPS)-Statistics,Population of Nanggroe Aceh Darussalam ฉบับหลังแผ่นดินไหว และสึนามิ, จาการ์ตา:อินโดนีเซีย,2005.หน้า97-99

ภูมิประเทศของอาเจห์ เป็นเทือกเขาบริเวณตอนกลางทอดยาวแนวเหนือใต้ สำหรับพื้นที่ราบเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งของทั้งสองด้านของเกาะ ที่สำคัญอาเจห์มีทรัพยากรธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ป่าไม้ และที่ยังไม่สำรวจอีกจำนวนมาก อาเจห์ เป็น เมืองท่าสำคัญแห่งแรกในภูมิภาคนี้ตั้งแต่โบราณ ศาสนาฮินดูเป็นศาสนาแรกที่เข้าเผยแผ่ใน ภูมิภาคนี้ ในบางพื้นที่ของอินโดนีเซีย ยังคงเหลือวัฒนธรรมจากฮินดูให้เห็น เช่นที่ เกาะชวา บาหลี และหลายส่วนของอินโดนีเซีย ต่อมาศาสนาอิสลามเข้ามาแทนที่ โดยเข้ามาที่อาเจห์เป็นแห่งแรก และแผ่ขยายไปยังหมู่เกาะรัฐมาเลย์ แล้วเข้ามาที่ปัตตานีตอนใต้ของไทย รวมทั้ง หมู่เกาะต่างๆ ในอินโดนีเซีย และบางส่วนของหมู่เกาะตอนใต้ประเทศฟิลิปปินส์ ในปัจจุบันอินโดนีเซียประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ชาวอาเจห์มีภาษาพูดเป็นของตนเองที่แตกต่างจากภาษาหลักของอินโดนีเซีย (Bahassa) ในแต่ละพื้นที่ของอาเจห์มีความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม และลักษณะกลุ่มชนที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ อาเจห์เป็นเมืองท่าที่สำคัญด้านตะวันตกของหมู่เกาะมาเลย์ตั้งแต่ยุคค้าเครื่องเทศ เดิมเคยเป็นรัฐฮินดู เริ่มปรากฏหลักฐานใน พ.ศ.1347 ว่าอาเจห์เป็นฐานของการเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปสู่หมู่เกาะมาเลย์ เกิดอาณาจักรอิสลามแห่งแรกขึ้นที่อาเจห์เรียก Perlak ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โปรตุเกส อังกฤษ และ เนเธอร์แลนด์ (หรือฮอลแลนด์) เข้ามามีอิทธิพลในเขตหมู่เกาะมาเลย์ แต่อาเจห์ มีการปกครองโดยสุลต่าน ยังคงรักษาความเป็นเอกราชไว้ได้ และมีศักยภาพเป็น ฐานการค้าที่สำคัญควบคุมการค้าบริเวณช่องแคบมะละกา สุลต่านที่สร้าง อาเจห์ให้เข้มแข็งและ เป็นยุคทองของอาเจห์ คือ สุลต่าน Iskandar Muda ปกครองอาเจห์ระหว่าง พ.ศ.2150 – พ.ศ. 2179

ช่วงยุคศตวรรษที่ 16 โปรตุเกส อังกฤษ และดัทช์ เข้ามามีอิทธิพลบริเวณหมู่เกาะ รัฐมาเลย์ ขณะนั้นอาเจห์เป็นฐานการค้าที่สำคัญมีการปกครองเจริญรุ่งเรืองโดยสุลต่าน ไม่ตกเป็นอาณานิคมของใคร ใน พ.ศ.2367 อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ได้ลงนามใน London Treaty ซึ่งอังกฤษตกลงส่งมอบดินแดนที่ยึดครองได้ของหมู่เกาะมาเลย์รวมทั้งเกาะสุมาตราให้กับเนเธอร์แลนด์ เพื่อแลกกับดินแดนอินเดีย และสิงคโปร์ ที่เนเธอร์แลนด์ยึดครองไว้ หลังจากรับมอบดินแดนจาก อังกฤษแล้ว ฮอลแลนด์ได้ยอมรับความเป็นเอกราชของอาเจห์ แต่ต่อมาใน พ.ศ.2414 ฮอลแลนด์มีความต้องการ อาเจห์ไว้ในครอบครองและอังกฤษเองอนุญาตให้ฮอลแลนด์ยึดครองอาเจห์ ทั้งนี้เพื่อสกัดอิทธิพลของฝรั่งเศสในภูมิภาคนี้ ใน พ.ศ.2416 ฮอลแลนด์ได้ประกาศสงครามกับอาเจห์ ซึ่งฮอลแลนด์ประสบความยากลำบากในการยึดครองอาเจห์ ใช้เวลาในการรบยาวนานกว่า 30 ปี สงครามยุติใน พ.ศ.2446 แต่การต่อต้านจากประชาชนอาเจห์ยังคงมีอยู่โดยแปรสภาพเป็นการรบแบบกองโจร การรบยืดเยื้อจนถึงอย่างน้อยใน พ.ศ.2457 แต่ฮอลแลนด์ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะยึดครองอาเจห์ ได้ดำเนินการจนถึง พ.ศ.2485 ทำให้สูญเสียกำลังพลในการรบมากกว่า 10,000 คน จึงสามารถชนะชาวอาเจห์และยึดครองได้ในระยะเวลาสั้นๆ ก่อนที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองหมู่เกาะมาเลย์ในสงครามโลก ครั้งที่ 2 ใน พ.ศ.2485

แผนภาพที่ 3 : ชาวอาเจห์ร่วมในการต่อสู้เพื่อให้อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์




หลังจากที่ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม ใน พ.ศ.2488 อินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชและครอบครองดินแดนทั้งหมดที่เคยเป็นของฮอลแลนด์ เมื่อ 17 ส.ค.2488 อาเจห์ได้กลายเป็น จังหวัดหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย กำลังทหารรัฐบาลจำนวนมากเข้าไปในจังหวัดอาเจห์ มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษย์ชน การกดขี่ข่มเหงจากกำลังทหาร การเข้าครอบครองทรัพยากร ธรรมชาติต่างๆ จากรัฐบาลกลางอินโดนีเซีย ทำให้มีความพยายามต่อต้านจากชาวอาเจห์ และ กลุ่มรัฐอิสลามขึ้น เกิดแนวคิดต้องการแยกอาเจห์ออกจากการปกครองของอินโดนีเซีย รัฐบาลอินโดนีเซียสมัยนั้นได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยประกาศว่าจะให้จังหวัดอาเจห์ เป็นเขตการปกครองพิเศษ

แม้ว่าอินโดนีเซียจะประกาศเอกราชและครอบครองดินแดนทั้งหมดแล้ว แต่อังกฤษและฮอลแลนด์ยังคงรักษาอิทธิพลในภูมิภาคนี้ไว้ เพื่อหวังผลทางการเมือง และเศรษฐกิจ ในเดือน มี.ค.2490 อังกฤษได้เป็นสื่อกลางให้มีการลงนามในข้อตกลง Linggarjati ความมุ่งหมายเพื่อให้ฮอลแลนด์รับรองเอกราชของอินโดนีเซีย เหนือเกาะสุมาตราและเกาะมาดูลา แต่อินโดนีเซียถือว่าฮอลแลนด์ได้ละเมิดอธิปไตยของอินโดนีเซีย ที่ได้ประกาศเขตแดนไว้แล้วตั้งแต่ พ.ศ.2488 ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับดินแดนระหว่างฮอลแลนด์กับอินโดนีเซีย เป็นเวลา 4 ปี ในปัจจุบันยังคงมีสุสานทหารฮอลแลนด์ในนครบันดา อาเจห์ (Kerkoff) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ใน พ.ศ.2485 ที่พวก อูลามาหรือพวกผู้นำศาสนาชาวอาเจห์ขับไล่ฮอลันดาออกจากอาเจห์ กลุ่มชนพวกนี้ในปัจจุบันได้รวมตัวเป็น “สมาคมอูลามาแห่งอาเจห์” หรือ “กลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามแห่งอาเจห์” เมื่อการปกครองอาณานิคมฮอลันดาสิ้นสุดลง อาเจห์ก็ยังเป็นเขตที่มีการปฏิวัติ ต่อต้านการปกครองของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยมีพวกอูลามาเป็นแกนนำระหว่าง พ.ศ.2496 – 2502 เหตุการณ์สำคัญที่เป็นปัญหาต่อทัศนคติของชาวอาเจห์อย่างมาก คือ การประชุมโต๊ะกลมภายใต้การจัดการของสหประชาชาติใน พ.ศ.2492 เพื่อส่งมอบดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของ ฮอลแลนด์ให้กับอินโดนีเซีย และอินโดนีเซียได้ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ เป็น Republic of Indonesia เมื่อ 27 ธ.ค.2492 และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหประชาชาติใน พ.ศ.2493 อาเจห์จึงได้กลายเป็นจังหวัดหนึ่งของอินโดนีเซีย ตั้งแต่ พ.ศ.2492 ภายใต้การรับรองของสหประชาชาติ และอินโดนีเซีย ได้ส่งกำลังทหารเข้าควบคุมอาเจห์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ความเป็นมาของการจัดตั้งขบวนการอาเจห์เสรี (GAM)

ชาวอาเจห์ส่วนหนึ่งมีความผังใจว่า อาเจห์มีเอกราชมาก่อนและมีความยึดมั่นในความเป็นดินแดนอิสลามที่แท้จริง ทำให้รู้สึกว่าไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกับอินโดนีเซีย มีบันทึกภาพประวัติศาสตร์บ่งบอกว่าอาเจห์มีสุลต่านปกครองตนเองมาก่อนที่เนเธอร์แลนด์จะเข้ายึดครองในปี พ.ศ.2416 และยังคงพยายามปกป้องรักษาเอกลักษณ์เผ่าพันธุ์ของตนเองอย่างเหนียวแน่นจนกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มาจากจาการ์ตาโดยเฉพาะการไม่เห็นชอบกับนโยบายในการสร้างชาติของอดีต ประธานาธิบดีซูการ์โน (ที่ปกครองสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ.2488 – 2510) อีกทั้งยังยืนหยัดต่อต้านมาจนถึงสมัย อดีต ประธานาธิบดีซู ฮาร์โต้ (พ.ศ.2508 – 2541) สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า อาเจห์กับจาการ์ตานั้นไม่ลงรอยกันมาตลอด ชาวอาเจห์มีความสำนึกและรอคอยว่า สักวันหนึ่งอาเจห์จะแยกการปกครองจากจาการ์ตา อาเจห์จะต้องมีสถานะพิเศษที่จาการ์ตาสัญญาว่าจะมอบให้ แต่ในเวลาเดียวกันจาการ์ตาจะมีภาพอาเจห์ในคราบของ “กบฏแบ่งแยกดินแดน”

บรรพบุรุษของชาวอาเจห์ได้ต่อสู้มา 2 ศึกใหญ่ ครั้งแรกเป็นการต่อสู้เมื่อครั้ง ความเป็นรัฐอิสลามบริสุทธิ์ (Darul Islam Rebellion) ซึ่ง Daud Beureueh เป็นผู้จุดประกาย การต่อสู้ในปี พ.ศ.2496 ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อ ม.ค.2494 ได้มีการประกาศให้อาเจห์เป็นจังหวัดหนึ่งของสุมาตราเหนือ การต่อสู้ของชาวอาเจห์ในครั้งแรกนี้กินเวลา 10 ปี ยุติลงในปี พ.ศ.2505 การต่อสู้ยาวนาน 10 ปีนี้เป็นผลให้เกิดการเจรจาและลงเอยด้วยการทำข้อตกลงว่า อาเจห์จะมีสถานะพิเศษ (Daerah Istimewa) มีความเป็นเอกเทศในเรื่องศาสนา มีธรรมเนียมปฏิบัติและมีการจัดการศึกษาของตนเอง ในการต่อสู้ครั้งที่สอง เริ่มต้นในปี พ.ศ.2519 การก่อตั้ง GAM โดยTengku Hasan M.di Tiro ที่มีรอยแค้นตกค้างมาจากการต่อสู้ครั้งแรก ซึ่งจาการ์ตารับปากว่าจะดำเนินการสนับสนุน อาเจห์ตามที่เคยเจรจาแต่ไม่มีอะไรคืบหน้า การตั้ง GAM ขึ้นมาในครั้งนี้เป็นการขยายเจตนารมณ์ออกไปอีก คืออาเจห์ต้องการเป็นเอกราช หลักฐานข้อมูลต่างๆ ในการต่อสู้ของอาเจห์ครั้งแรก ไม่ปรากฏมากนัก หากแต่การจัดตั้ง GAM เมื่อปี พ.ศ.2519 และกระบวนการต่อสู้ที่เริ่มมานี้ เริ่มมีบันทึกอย่างเป็นระบบ มีเอกสารทางราชการจำนวนหนึ่งระบุว่าการที่อดีต ประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ หมดอำนาจลงในปี พ.ศ.2541 นั้น เป็นเหตุทำให้จาการ์ตาลดความแข็งแกร่งลง จาการ์ตามีทางเลือกในการแก้ปัญหาอาเจห์ได้มากขึ้น ซึ่งแต่เดิม ซูฮาร์โต้ แข็งกร้าวที่จะใช้กำลังทหารเข้าแก้ไขปัญหาเสมอมา ขณะที่จาการ์ตาสับสนกับปัญหาการเมืองภายใน เมื่อซูฮาร์โต้ก้าวลงจากตำแหน่งนั้น GAM ได้ฉวยโอกาสในการเสริมสร้างอำนาจกำลังรบในทุกรูปแบบ
ในปี พ.ศ.2546 ฝ่ายกำลังรบ GAM พยายามขยายอิทธิพลออกมาจากพื้นที่ป่าภูเขา ออกมาครอบครอง มีอิทธิพลพื้นที่ 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ของอาเจห์ ด้วยกำลังติดอาวุธ และมีอิทธิพลในการปกครองท้องถิ่นทุกระดับหรือแม้กระทั่งของการชี้นำ ข่มขู่ข้าราชการให้ปฏิบัติตามได้ทุกเมื่อGAM ขยายตัวในทุกมิติ อำนาจกำลังรบและส่วนที่เป็นมันสมองในการขับเคลื่อนการทำงานอย่างประสานสอดคล้องกัน บันทึกทางการอินโดนีเซีย ระบุว่าการขยายตัวและปรับรูปแบบการต่อสู้เป็นผลมาจากปัจจัย 3 ประการคือ
1. กองทัพอินโดนีเซียเปิดยุทธการปราบปรามการก่อความไม่สงบ อย่างเต็มรูปแบบเมื่อปี พ.ศ.2532 – 2541
2. ทางรัฐบาลอินโดนีเซียไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลง เรื่องการให้เป็นเขตปกครองพิเศษตั้งแต่ ม.ค.2545 ผสมผสานกับปัญหาคอรัปชั่นในจังหวัดอาเจห์
3. เกิดช่องว่างทางอำนาจของจาการ์ตาใน ม.ค.2545 ถึง พ.ค.2546
ปัจจัยทั้ง 3 ประการ เป็นผลให้ชาวอาเจห์หันไปผักใฝ่ให้ความเชื่อถือ GAM เพราะชาวอาเจห์ต้องการแสดงออกถึงความเคียดแค้นที่หน่วยงานของรัฐใช้มาตรการรุนแรงเข้าปราบปราม ประกอบกับความห่างเหินที่นับจะทวีขึ้น ในระหว่างเกิดสุญญากาศทางอำนาจนั้น GAM ช่วงชิงการนำโดยขยายผลยุทธวิธีสงครามกองโจร และถือโอกาสรุกทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสบความสำเร็จในการยกระดับให้เป็นปัญหาระดับโลกได้ นักการทหารในอินโดนีเซีย ยืนยันในประเด็นที่ว่าในช่วงที่ กองทัพอินโดนีเซียได้ยุติการปฏิบัติการลงในปี พ.ศ.2543 – 2544 (Humanitarian Pause) และในช่วง “การยุติความเป็นปรปักษ์” ( Cessasion of Hotilities Agreement :COHA ) ในปี พ.ศ.2545 – พ.ศ. 2546 เป็นช่วงที่ GAM เติบใหญ่ ปรับองค์กร เกณฑ์พลพรรค ฝึก และสะสมอาวุธ นั้นเป็นช่วงที่ GAM เสริมอำนาจกำลังรบได้สูงสุด

การจัดตั้ง GAM

เมื่อ ต.ค.2519 Tengku Hassan M.di Tiro ประกาศจัดตั้ง GAM ในนามของ Aceh Sumatra National Liberation Front (ASNLF) นาย di Tiro เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากครูสอนศาสนาอิสลามผู้มีชื่อเสียงของอาเจห์และมีศักดิ์เป็นหลานของ Tengu Gik ai Tiro โดยพำนักอาศัยในสหรัฐฯ ในปี พ.ศ.2493 – ต.ค.2519 เรียนหนังสือและทำธุรกิจ มีประสบการณ์เคยเป็นหนึ่งในคณะทางการของอินโดนีเซีย ในสหประชาชาติ ในนิวยอร์ก เคยดำรงตำแหน่งผู้แทนในนครนิวยอร์กของดารุล อิสลาม (Darul Islam) มาก่อน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ Darul Islam ในปี พ.ศ.2496 นาย di Tiro จึงหันมาสนับสนุน Daud Beureueh ในการสร้างอาเจห์ให้เป็นรัฐอิสลามบริสุทธิ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2519 di Tiro เดินทางกลับอาเจห์ เพื่อต้องการสืบสานเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษที่ต้องการต่อสู้ให้อาเจห์เป็นเอกราช ได้เข้าร่วมกลุ่มกับชาวอาเจห์ที่ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจขนาดเล็กและข้าราชการพลเรือนที่มีการศึกษา และเตรียมพร้อมที่จะเข้าร่วมในขบวนการติดอาวุธ มีนักรบประมาณ 200 คนรวมตัวกัน ด้วยจำนวนอาวุธที่มีจำกัด

ปฏิบัติการของ GAM

หลังจากจัดตั้ง GAM ขึ้นมา มีความเคลื่อนไหวที่สามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงด้วยกันในช่วงแรก คือในปี พ.ศ.2519 – 2522 GAM เป็นกลุ่ม/แนวร่วมขนาดเล็ก แต่รวมตัวกันมีสมาชิกเพียง 70 คน ผู้นำ GAM ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีการศึกษาสูง มีทั้ง หมอ วิศวกร นักวิชาการและนักธุรกิจ ปลายปี พ.ศ.2522 กองทัพอินโดนีเซียกวาดล้างกลุ่มต่อต้านครั้งใหญ่ ทำให้สมาชิกต้องหนีไปต่างประเทศ บ้างก็ ถูกจำคุกและหลบไปปฏิบัติการใต้ดิน ในปี พ.ศ.2532 สมาชิก GAM ที่หลบลงต่อสู้ใต้ดิน แล้วแอบไปฝึกการต่อสู้จากลิเบีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ได้กลับมารวมตัวกันได้อีกครั้งใน อาเจห์ โดยเริ่มจากการสถาปนาความแข็งแกร่งในพื้นที่ Greater Aceh ในอำเภอ Pidie อาเจห์เหนือ และ ใน อาเจห์ตะวันออก นักรบที่ผ่านการฝึกมาจากลิเบีย แปรสภาพมาทำหน้าที่ครูฝึกให้กับสมาชิก/พลพรรค เพื่อทำสงครามกองโจรอย่างเต็มรูปแบบ

ในปี พ.ศ.2533 – 2541 กองทัพอินโดนีเซียเปิดยุทธการ Jaring Merah Red uet หรือยุทธการตาข่ายแดง เพื่อเข้าต่อสู้กับกลุ่มนักรบ GAM การขยายระยะเวลาดังกล่าวที่กองทัพอินโดนีเซียใช้มาตรการขั้นรุนแรงที่รู้จักกันดีในชื่อของ DOM (Daerah Opevari Militier หรือ Military Operation Zone) เพื่อเข้าจัดการกับบ้านที่เชื่อว่ามีส่วนในการสนับสนุนกลุ่มกองโจร การปฏิบัติการทางทหารในช่วงเวลานั้นถูกเปิดเผยต่อสังคมโลก จนกระทั่งกลุ่ม NGO ที่ เรียกว่า Amnesty International ประณามว่าเป็นยุทธวิธี “Shock Therapy” หรือนักสังเกตการณ์กลุ่มอื่นๆ ขนานนามว่า “การสร้างความหวาดกลัวเพื่อขจัดความหวาดกลัวเพื่อถอนการสนับสนุน GAM” ดังปรากฏในรายงานว่า กองทัพอินโดนีเซียใช้การโจมตีหมู่บ้านแล้วเข้าตรวจค้นบ้านทีละหลัง ในบ้านที่ถูกสงสัยว่าจะมีส่วนร่วม จะถูกเผาทำลาย ครอบครัวของผู้ต้องสงสัยจะถูกควบคุมตัวไว้เป็นตัวประกัน ผู้ต้องสงสัยว่ามีการติดต่อกับกลุ่ม GAM จะต้องเสี่ยงต่อการจับกุม ทรมาน หรืออาจหายตัวไป หรือถูกสังหาร กองทัพอินโดนีเซียจะควบคุมและจับตามองชาวบ้าน หรืออาจจะต้องบังคับให้ย้ายที่อยู่อาศัยมีการจัดตั้ง Militia หรือ ทหารบ้าน เพื่อทำหน้าที่ สนับสนุนการปฏิบัติการกวาดล้างฐานที่มั่นกองโจร ในช่วง 4 ปีแรกของยุทธการดังกล่าว มีกองโจรและประชาชนถูกลอบสังหาร ทรมาน หายตัว จำนวนหนึ่ง ผู้ที่หายตัวไปสารภาพว่าได้ถูกบังคับให้ขุดหลุมฝังคนที่ถูกทหารสังหาร ผู้หญิงจะถูกข่มขืน มีตัวเลขระบุจาก Amnesty International ว่า ในยุทธการ Daerah Opevari Militier;DOM ดังกล่าวมีผู้ที่ถูกสังหารราว 1,258 ถึง 2,000 คน และ 3,439 คน ถูกทรมาน หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนระบุตัวเลขว่ามีผู้สาบสูญราว 500 คน แต่หน่วยงานราชการในอาเจห์ระบุตัวเลขว่าสาบสูญราว 1,000 คน และ NGO Forum Aceh เชื่อว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติภารกิจทางทหารครั้งนี้ราว 39,000 คน แต่อย่างไรก็ตาม มีบันทึกว่ามีคดีข่มขืนและทรมานสตรีจำนวน 625 คดี มีสถิติประมานการว่าเด็ก 16,375 คน กลายเป็นเด็กกำพร้า ผู้หญิงราว 3,000 คน ต้องเป็นหม้าย หลังยุติยุทธการ DOM มีการบันทึกการละเมิดสิทธิมนุษยชนกว่า 7,000 คดี มีการตรวจสอบหลุมฝังศพ 12 แห่ง แต่มีเพียง 5 คดีที่ถูกนำไปพิจารณาสอบสวน

ในปี พ.ศ.2534 ฝ่าย GAM เคลื่อนย้ายฐานที่มั่นออกจากอาเจห์ด้วยเหตุผล 3 ประการคือประการแรก ผู้นำต้องอยู่รอดให้ได้เพื่อควบคุมสั่งการให้อาเจห์เป็นเอกราช ประการที่สอง ผู้นำ GAM คนสำคัญพร้อมทั้ง ผบ.หน่วย ได้ไปหลบไปอยู่ในมาเลเซีย ปะปนอยู่กับบรรดาผู้อพยพทั้งหลาย โดยที่ชาวอาเจห์ที่อพยพมาก่อนให้การสนับสนุน ประการสุดท้าย ยุทธการ DOM ของกองทัพอินโดนีเซีย ได้ก่อให้เกิดนักรบ GAM รุ่นใหม่ บรรดาชาวอาเจห์ที่พำนักอาศัยในพื้นที่ Pidie North Aceh และ East Aceh ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามอย่างรุนแรง เป็นที่คาดหวังจากชาวอาเจห์ว่าเมื่อ ซูฮาร์โต้ หมดอำนาจแล้ว กระบวนการยุติธรรมน่าจะทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ชาวอาเจห์ต้องผิดหวังหมดที่พึ่ง จึงส่งผลให้ GAM กลับกลายเป็นที่พึ่งและชาวบ้านให้การสนับสนุน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2541 เป็นต้นมา

อุดมการณ์และความมุ่งหวังของ GAM


แน่นอนที่สุด GAM มีอุดมการณ์อย่างแรงกล้าในการปลดปล่อยอาเจห์ มุ่งหวังเป็นอิสระจากการควบคุมทางการเมืองทั้งปวงที่มาจากจาการ์ตา GAM ดำรงสถานภาพการต่อสู้ที่ยาวนาน โดยต้องการให้เห็นว่าเป็นการต่อสู้เนื่องมาจากการต่อสู้ที่ต่อเนื่องจากการต่อต้านการล่าอาณานิคม (ที่เริ่มต่อสู้กับ Dutch มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2416 ที่ดัชท์พยายามยึดครองดินแดนของสุลต่าน อาเจห์) มีบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเองที่ขัดกับบันทึกของทางราชการอินโดนีเซีย กล่าวคือ GAM ระบุว่า ในปี พ.ศ.2488 อาเจห์มิได้สมัครใจเข้าร่วมกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย แต่เป็นเพียงความร่วมมือแบบไม่เปิดเผย โดยมีเหตุผล 2 ประการคือ

1. สังคมโลกรับรู้ทั่วไปว่า อาเจห์เป็นรัฐเอกราชอยู่แล้วในปี พ.ศ.2362 ดังปรากฏในสนธิสัญญาระหว่างสุลต่าน อาเจห์ กับสหราชอาณาจักร และ ไอร์แลนด์ หรือสนธิสัญญาที่ทำกับ ดัทช์ในปี พ.ศ.2367 ดังนั้นอำนาจอธิปไตยหรือดินแดนควรมอบคืนให้กับสุลต่าน อาเจห์ แทนที่จะไปมอบคืนให้กับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย นาย di Tiro ให้ข้อมูลว่า “ชาวอาเจห์” ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ “ชาวชวา” ในปี พ.ศ.2416 ชาวดัชท์ประกาศสงครามกับชาวอาเจห์ ไม่ได้ประกาศสงครามกับอินโดนีเซีย ซึ่งในปี พ.ศ.2416นั้น อินโดนีเซียยังไม่เป็นชาติด้วยซ้ำไป อินโดนีเซียเพิ่งปรากฏเป็นตัวตนเมื่อ ชาวอาเจห์ได้ชนะสงครามกับดัชท์และต้องล่าถอยไปเมื่อ มี.ค.2485 และเมื่อเนเธอร์แลนด์ มอบอธิปไตยให้แก่อินโดนีเซีย เมื่อ 27 ธ.ค.2492 นั้น เนเธอร์แลนด์มิได้ มาเกี่ยวข้องใดๆ กับอาเจห์”
2. ประชาชนชาวอาเจห์ไม่เคยได้รับการปรึกษาเรื่องการรวมอาเจห์เข้ากับอินโดนีเซีย ดังนั้นจะเห็นชัดเจนเลยว่าอินโดนีเซียละเมิดสิทธิในการครองใจของชาวอาเจห์ หลักฐานข้อนี้ปรากฏในคำประกาศเอกราชของ GAM ใน 4 ธ.ค. 2519 ที่ระบุว่าการโอนอธิปไตย อาเจห์ จาก ดัทช์ ไปสู่นักล่า อาณานิคมชวา เป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย GAM ยังระบุข้อความในเวปเพจของตนเองว่า ชาวอาเจห์จะต้องกำหนดความเป็นรัฐ มีความเป็นอิสระทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และมรดกทางศาสนา ซึ่งกำลังถูกทำลาย โดยนักล่าอาณานิคมชาวชวา และยังตระหนักเสมอว่าอาเจห์กำลังถูกเข้าครอบครองเป็นอาณานิคมอีกครั้ง โดย Dutch East India หรืออินโดนีเซียที่แปลงร่างมานั่นเอง ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการต่อสู้ของ GAM มุ่งประสงค์ที่จะสถาปนารัฐของชาว อาเจห์โดยเริ่มเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 มีการปรับแต่งวิธีการดำเนินการมาโดยตลอดเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ โดยเห็นได้ชัด 3 ประการคือ ความเป็นชาตินิยมของชาวอาเจห์ ความเป็นมุสลิม และต่อต้านทุนนิยมแบบตะวันตก

ความสำนึกในเลือดอาเจห์

กลุ่ม GAM จุดประกายแห่งความสำนึกให้ชาวอาเจห์รู้ว่าชาวอาเจห์มีตัวตนที่แท้จริงและเป็นกลุ่มก้อน อยู่เป็นหมู่เหล่าของตนเอง เป็นกลุ่มชาติพันธ์เฉพาะ (ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า Suku) ได้ตั้งถิ่นฐานมาช้านานหลายชั่วอายุคน และตัวตนที่แท้จริงของบรรพบุรุษเป็นมุสลิมใน 9 กลุ่ม คือ กลุ่มอาเจห์ ฮาลาส กาโย ซิมกิล ตาเมียง คลูเอท อาเนคอามี บูลโลลีฮี และ ซิมูลู มีเอกลักษณ์ปรากฏชัดเจนในภาษา (อาเจห์) วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ นาย di tiro พยายามสร้าง อัตตลักษณ์ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในการต่อสู้เพื่อเอาตัวเป็นเอกราชนั้น di Tiroได้ผลิตปฏิทินแจกจ่ายในหมู่ชาวอาเจห์ โดยไม่มีวันชาติของอินโดนีเซียและไม่ยอมรับวันหยุดอื่นๆ นอกจากวันหยุดของมุสลิม และในปฏิทินดังกล่าวยังกำหนดวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของชาวอาเจห์ไว้ในปฏิทิน กล่าวคือ วันTeungku Cak di Tiro วันCut Nyak Dien วันTeunku Umar และ วัน Iskandar Muda เหนือสิ่งอื่นใด ทางการอินโดนีเซียพยายามกำหนดให้อินโดนีเซียมีภาพลักษณ์ความเป็นหนึ่งเดียวคือ เป็นชาวชวาที่เคยถูกดัชท์เข้ามาปกครองและเป็นการรวมตัวกันของหมู่เกาะต่างๆ ภายใต้การปกครองนั้น ซึ่ง di Tiro กล่าวว่านี่เป็นเรื่องโง่เขลาที่สุดที่ทางการอินโดนีเซียพยายามกุขึ้นมาเพื่อพยายามบังคับให้คนเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่ชาวชวาต้องเชื่อและทำตาม di Tiro ยังย้ำอีกด้วยว่า คำว่า “อินโดนีเซีย” นั้นเป็นประเทศที่ไม่เคยมีตัวตนมาก่อนเลย อาเจห์ต่างหากที่มีหลักฐานภาพประวัติศาสตร์แห่งความเป็นรัฐที่สืบค้นกลับไปได้ยาวนานนับทศวรรษ หากแต่ไม่ปรากฏชัดในความเป็นรัฐสมัยใหม่เท่านั้นเอง

ความเป็นอิสลาม

ศาสนาเป็นส่วนเติมเต็มให้กับอุดมการณ์ของ GAM ศาสนาอิสลามช่วยส่งเสริมและขับเน้นความเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมประเพณีของชาวอาเจห์เท่านั้น มิได้เป็น “เครื่องมือ” ในการจัดตั้งกลุ่ม/การรวมตัวเพื่อต่อสู้แต่อย่างใด ต้องยอมรับว่าความเข้มข้นของศาสนาอิสลามในห้วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาคือในห้วง พ.ศ.2513 – 2533 นั้น มีความแตกต่างกันในกรณีช่วงการฟื้นฟูศาสนาของสุลตานที่ปกครองอาเจห์ โดยต้องการให้เป็น “รัฐอิสลาม” แต่ในหลักการประกาศนโยบาย Stavanger เมื่อ ก.ค.2545 นั้น มีความพยายามสถาปนา “ระบอบประชาธิปไตย” ในขณะเดียวกัน ผู้นำชาวอาเจห์ที่ลี้ภัยในต่างประเทศกลับให้ความสำคัญกับความเคร่งครัดของศาสนาอิสลามอย่างเข้มข้นโดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะการยึดมั่นในหลักการทางศาสนาในระดับหมู่บ้าน GAM ต้องอาศัยและพึ่งพาข่าวตามหน่วยงานผ่านระบบมัสยิด และ GAM ยังใช้การปลูกฝังการต่อสู้ผ่านช่องทางศาสนาอิสลาม เช่น กำหนดการต่อสู้โดย “ให้ประณามเหยียดหยามผู้ปกครองที่ลบหลู่” จงต่อสู้เพื่อให้มีการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม (Syariah Law) และจะต้องเป็นรัฐอิสลามที่เป็นเอกราช

ทั้งนี้ผู้นำ GAM หลายคนถึงกลับตีความเลยเถิดไปว่า ตนเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ “เพศหญิง “ ไปเลยก็มี แต่ผู้นำ GAM ส่วนใหญ่ไม่คล้อยตามแนวคิดดังกล่าว ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าศาสนาอิสลามเป็นทั้งศาสนาและวัฒนธรรมที่เปรียบเสมือนเกลียวเชือกที่พันกันแน่น ยากที่จะแยกจากกันและยังถูกโยงไปถึงความเป็นชาวอาเจห์ GAM หนักแน่นเสมอมาว่า อาเจห์เป็นรัฐอิสลามมาก่อนดัชท์เข้ามาปกครอง ซึ่งขณะนั้นดินแดนอาเจห์มีสุลต่านที่เป็นอิสลามปกครองอยู่ ศาสนาอิสลามเป็นตัวหล่อหลอมชาวอาเจห์กับกลุ่มชาติพันธ์อื่นๆ ในดินแดนอาเจห์ GAM พยายามใช้ความเสมอภาค ความยุติธรรมของอิสลาม เพื่อบอกกล่าวกับประชาชนที่ยังสับสน การใช้กลยุทธ์/ปรัชญาดังกล่าวนี้ ได้สร้างความอึดอัดใจให้กับกลุ่มครูสอนศาสนาอิสลามบางส่วน เพราะผู้นำ GAM พยายามแสวงหาช่องว่างในหลักศาสนาเพื่อสอดแทรกเอา Syariah Law เข้ามาไว้ด้วยเสมอและใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจและควบคุมสั่งการ

การต่อต้านลัทธิทุนนิยมที่นำไปสู่สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ในขณะที่ GAM เคลื่อนไหวเพื่อความเป็นอิสระนั้น ความรู้สึกเป็นชาตินิยมในประชาชนค่อนข้างหนักแน่นด้วยความภักดีในศาสนาอิสลาม จึงเริ่มมีการแสวงหาการสนับสนุนจากโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในช่วง 15 ปีแรก GAM ดำรงความมุ่งหมายในการต่อต้านระบบทุนนิยมและต่อต้านจักรวรรดินิยมรวมทั้งต่อต้านชาติตะวันตก เริ่มเรียนรู้และให้ความสนใจกับค่านิยมใหม่ในชาติตะวันตกคือ คำว่า “Human right” และคำว่า “Democracy” และได้นำประเด็นต่างๆ เหล่านี้มาขยายผลเพื่อสร้างความนิยมให้กับกลุ่มของตนโดยได้ตำหนิ ประธานาธิบดี ซู ฮาร์โต้ ที่ไปร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการเข้ามากอบโกยทรัพยากรธรรมชาติอันมั่งคั่งไปจากอาเจห์ นาย di Tiroได้บันทึกไว้ว่า “ชาวชวาได้จับเรานอนขึงพืดเปลือยเปล่าเพื่อรอให้นานาชาติมาข่มขืน” และบันทึกอีกว่า “สหรัฐฯ มีนโยบายที่จะให้รัฐบาลเข้ามาจัดการผลประโยชน์จากเรา เช่น การให้บริษัท Mobil Oil Cooperation เข้ามาซื้อ – ขาย” GAM เอาจุดนี้มาตีแผ่ มิได้ประสงค์จะต่อต้านสหรัฐฯ โดยตรงแต่ประการใด แต่นำมาเผยแพร่ในกรอบของแง่คิดด้านสิทธิมนุษยชน และกล่าวหา Exxon Mobil ว่าร่วมมือกับรัฐบาลอินโดนีเซีย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้เพื่อให้เข้ากับกระแสการเห่อเหิมสิทธิมนุษยชนของโลกในปี พ.ศ.2533
GAM มีชั้นเชิงและใช้กระแสโลกเรื่องสิทธิมนุษยชนได้อย่างเหมาะสมโดยการใช้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติและในระดับประเทศและเป็นเครื่องมือป่าวประกาศความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอินโดนีเซีย อย่างรุนแรงโดยไม่ต้องออกแรงมากนัก ความเปลี่ยนแปลงจากโลกภายนอกทั้งปวงมีผลทำให้มีการปรับยุทธศาสตร์ของตนเอง ให้สอดคล้องเสมอมาโดยเฉพาะกระแสการแยกตัวออกจากประเทศอิสระ (เช่นกรณีการล่มสลายของโซเวียตและแยกตัวออกเป็นประเทศย่อย ๆ ) รู้ถ่องแท้ว่า การที่จะเป็นเอกราชได้นั้นจะต้องมาจาก “นานาชาติ” เท่านั้น เช่น สหรัฐฯ หรือ UN มา กดดันรัฐบาลอินโดนีเซีย การที่ ซู ฮาร์โต้ ต้องก้าวลงจากอำนาจและกำลังก้าวเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย ตัวอย่างที่ชัดเจนและเห็นผลมากที่สุดคือ กรณีติมอร์ตะวันออก ที่สามารถเรียกร้อง ต่อสู้ จนเป็นประเทศเอกราช ได้ประสบความสำเร็จทำให้ GAM มีแรงบันดาลใจใน 3 ประเด็นแห่งความสำเร็จ คือ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและการลงประชามติ ที่นำมาเป็นหลักการที่ทรงพลังในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งอันที่จริงแล้วประเด็น “Human rights” เป็นประเด็นที่มีน้ำหนักมากที่สุดในการบรรลุความสำเร็จของติมอร์ตะวันออก
สำหรับชาวอาเจห์ที่หาเช้ากินค่ำทั่วไป เน้นเรื่องของการฆ่าตัดตอน การลักพาตัว การทรมาน และการข่มขืนว่า เป็นเรื่องที่ขมขื่นที่สุดและเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยมองไม่เห็นทางแก้ไข ความคับแค้นเหล่านี้ GAM ได้นำมาเป็นประเด็นในการ “สร้างความนิยม” ให้กับตนเองโดยพยายามเป็นปากเสียงให้กับประชาชนชาวอาเจห์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เมื่อเสียงเรียกร้องดังมากขึ้นจึงทำให้บรรดา NGO กระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ ผสมผสานคลุกเคล้าหลักสิทธิมนุษยชนปนเปไปกับเรื่อง “การแบ่งแยกดินแดง” ได้อย่างลงตัว ผลสุดท้ายกลับกลายเป็นบทสรุปที่ว่า รัฐบาลจาการ์ตาขาดความชอบธรรมในการปกครองดูแลอาเจห์ เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกตีแผ่ออกมาเป็นเช่นนี้ ดูเหมือน GAM กำลังเป็นต่อในเวทีโลกแต่ในเวลาเดียวกัน ก็ต้องหันมามองตนเองเช่นกัน กล่าวคือต้องไม่คิดที่จะนำระบบกษัตริย์มาปกครองอาเจห์อีก ต้องสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้ชาว อาเจห์ได้ประจักษ์และจะต้องรับฟังเสียงของพี่น้องอาเจห์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

กระบวนการของความขัดแย้งในอาเจห์
ในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย ชาวอาเจห์ได้มีส่วนสำคัญต่อการสร้างชาติอินโดนีเซีย ในปี พ.ศ.2492 ในสังคมชาวอาเจห์ ฉันทามติของคณะกรรมการคือ อาเจห์จะเป็นหัวหอกในขบวนการชาตินิยม และยอมพลีชีพเพื่อคุณค่าทางศาสนาอิสลามในประเทศ ซึ่งมีชาวมุสลิมถึง 88 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งหมด นับตั้งแต่อินโดนีเซียได้รับเอกราช ระบบการปกครองรวมอำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง ซึ่งแสดงบทบาทในการปกครองเฉพาะส่วนภูมิภาคได้ปรากฏขึ้นอย่างรวดเร็วในอินโดนีเซีย ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ (Guided Democracy) (พ.ศ.2492 – 2510)
ในห้วงยุคการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order Period) (พ.ศ.2510 – 2541) ทหารกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในทางการเมืองของอินโดนีเซีย และเป็นเสาหลักของการปกครอง ซึ่งสร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากต่อส่วนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ตามเกาะแก่งถึง 18,000 เกาะ ในอินโดนีเซีย ที่มีผู้อาศัยอยู่ถึง 300 ชุมชน ในอาเจห์ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2519 รัฐบาลกลางพยายามที่จะสลายความไม่พอใจของชาวอาเจห์ และในปี พ.ศ.2522 จึงเกิดมีการยกเลิกการรณรงค์การปราบปรามโดยใช้กำลังทางทหาร แต่ 10 ปี ต่อมา ในปี พ.ศ.2532 ได้มีการใช้ปฏิบัติการทางทหารอีกครั้ง ทำให้ห้วงเวลา 16 ปี ที่ GAM เข้าไปมีส่วนในการต่อสู้ประปรายกับกองทัพอินโดนีเซีย แม้ว่าจะไม่มีการต่อสู้อย่างหนักเกิดขึ้น สงครามกองโจรที่เกิดขึ้นแบบการปะทะด้วยหน่วยกองโจรขนาดเล็กนี้ ได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันอย่างกว้างขวาง ในประชากรชาวอาเจห์ทั้งหมด 4 ล้านคน คาดว่ามีคนราว 10,000 คน ถูกสังหาร
ระหว่างปี พ.ศ.2533
กำลังทหารได้ปราบปรามกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นใหม่อยู่เสมอ หลังจากสิ้นยุคภาวะผู้ปกครองแบบเผด็จการ (Dictatorship) ในปี พ.ศ.2541 ความพยายามที่จะไปสู่การสร้างหลักปักฐานทางการเมืองล้มเหลว เหมือนความขัดแย้งอื่นๆ ในอินโดนีเซียที่ทหารซึ่ง อุทิศตนเสมอมาที่จะทำการปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม ดุลแห่งอำนาจที่เปลี่ยนแปลงไปในกองทัพระหว่างอำนาจของทหารและพลเรือน มีโอกาสขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับการสร้างสันติภาพ โดยการมุ่งไปที่ความสนใจของนานาชาติเกี่ยวกับอาเจห์ ความสูญเสียจากมหันตภัยสึนามิ เมื่อ 26 ธ.ค.2547 กระตุ้นให้เกิดเงื่อนไขที่น่าพึงพอใจต่อแนวทางทางการเมืองที่มีต่อความขัดแย้ง แม้ว่าข้อตกลงจะมีการลงนามใน ส.ค.2548 ระหว่าง GAM และรัฐบาลอินโดนีเซีย มีการดำเนินงานที่เป็นเงื่อนไข มีกลไกการสังเกตการณ์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะเอาชนะความไม่ไว้วางใจกันใน กลุ่มต่างๆ

การเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาวอาเจห์
ในตอนกลางปี พ.ศ.2483 ขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซีย ได้ต่อสู้เพื่อความเป็นอิสรภาพ อาเจห์ได้กลายเป็นแนวหน้า ซึ่งเป็นแหล่งสนับสนุนการเงินที่สำคัญต่อกองกำลังชาตินิยมที่จะต่อสู้กับอำนาจของนักล่าอาณานิคมชาวดัชท์ ในยุทธศาสตร์การแบ่งแยกการปกครองแบบดั้งเดิม เจ้าหน้าที่ที่ล่าอาณานิคม ได้เสนอสถานภาพแบบสหพันธรัฐต่อผู้นำชาวอาเจห์ สิ่งนี้นับเป็นก้าวแรกที่มีต่อความมีอิสรภาพในภูมิภาคนี้ จริงๆ แล้ว อาเจห์เป็นรัฐที่มีอิสรภาพมายาวนาน อำนาจของนักล่าอาณานิคมได้เอาชนะรัฐนี้ เมื่อปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 หลัง 30 ปี ของสงคราม อย่างไรก็ตามผู้นำชาวอาเจห์ ได้ปฏิเสธข้อเสนอนั้น เอกลักษณ์ส่วนภูมิภาคที่เข้มแข็งบนพื้นฐานทางศาสนาอิสลาม ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการต่อต้านการครอบครองของกลุ่มนักล่าอาณานิคม และความทรงจำในความเป็นรัฐอิสระที่ปกครองตนเองในอดีต ไม่อยู่ในกรณีที่นำไปสู่ประเด็นของการแบ่งแยกดินแดน ความขัดแย้งที่หลากหลายจำนวนมากในลักษณะของความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์ เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของอินโดนีเซีย ที่เห็นได้ชัดคือ การก่อความไม่สงบในติมอร์ตะวันออก อิเรียน จายา และหมู่เกาะมะละกา หรือ สุลาเวสี ในจังหวัดไรอู (Riau) (ตอนกลางของสุมาตรา) หรือกะลิมันตัน (บอร์เนียว) ระบบการปกครองที่ผ่านกองทัพลงไปในพื้นที่ กลับกลายเป็นการกระตุ้นและเร่งรัดให้ฝ่ายต่อต้านปรากฏตัวออกมามากขึ้น กฎระเบียบทางสังคมถูกท้าทาย ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจมักจะกระจายไปสู่ชุมชนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ไม่สามารถสร้างความหวังที่ดีได้ ประชาชนมีทางเลือกอยู่อย่างจำกัด ความไม่พึงพอใจและชิงชังต่ออำนาจจากส่วนกลางได้รับการสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เอกลักษณ์ของชาวอาเจห์ ได้เปลี่ยนไปและกลายเป็นการต่อต้านต่อเอกลักษณ์ของชาติ นำไปสู่การขับไล่เจ้าหน้าที่ชาวดัชท์ และเปลี่ยนแปลงการปกครองท้องถิ่นที่มีต่อผลประโยชน์ของผู้นำทางศาสนาอิสลามและเครือญาติ (ผู้ชาย) จึงเป็นการเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาวอาเจห์ อำนาจส่วนท้องถิ่นและการจัดระเบียบทางสังคมและศาสนาได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อกระทรวงศาสนาของอินโดนีเซียปฏิเสธที่จะให้ความสำคัญต่อศาลทางศาสนาที่ใช้กฎหมายอิสลามในปี พ.ศ.2493 สิ่งนี้ได้ท้าทายฐานอำนาจของกลุ่มผู้นำทางศาสนาอิสลาม ความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งส่วนของการจัดระเบียบทางสังคมในพื้นที่ชนบทห่างไกล การตัดสินใจเช่นนั้น มุ่งไปสู่หนทางให้เกิดสถาบันศาล แทนกฎหมายจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น การปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันและการปฏิบัติทางศาสนา เช่น กิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้านที่จัดให้มีขึ้น อยู่ในความรับผิดชอบของกลุ่มผู้สูงอายุและบุคคลผู้มีชื่อเสียงที่จะนำไปสู่การสร้างนักสวดมนต์ 5 คนต่อวัน เป็นต้น
รัฐบาลจาการ์ตา ถูกท้าทายอำนาจจากบุคคลที่มีชื่อเสียงของท้องถิ่น
ในปี พ.ศ.2493 เพียง 1 ปีหลังได้รับอิสรภาพ สหพันธรัฐที่มีรัฐเดียวแต่หลายกลุ่มรวมกันซึ่งบุคคลชั้นสูงชาวอาเจห์สนับสนุนอยู่ และได้รับการยอมรับในช่วงสั้นๆ ต้องประสบกับความพ่ายแพ้และถูกยกเลิกโดยรัฐบาลจาการ์ตา นโยบายจากส่วนกลางที่จะแยกสลายชาวอาเจห์โดยส่งชาวอาเจห์ไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของเกาะสุมาตรา ขณะที่คนที่ไม่ใช่ชาวอาเจห์ จะถูกแต่งตั้งให้ทำงานอยู่ในอาเจห์ โครงสร้างการบริหารที่เคยถูกนำโดยชาวอาเจห์ในห้วง 5 ปี ของการต่อสู้เพื่อชาตินิยม ได้ถูกทำให้แตกแยกออกไป เมื่อจังหวัดอาเจห์ ถูกรวมเข้าไปในจังหวัดที่ใหญ่กว่าของสุมาตราตอนเหนือ ( North Sumatra ) ในปี พ.ศ.2493 ทั้งอุดมการณ์ของรัฐอินโดนีเซียและฐานอำนาจส่วนท้องถิ่น ถูกท้าทายจากชนชั้นสูงชาวอาเจห์ ที่เป็นผู้นำทางศาสนา ข้าราชการพลเรือนและทหาร ซึ่งมีส่วนร่วมในการปฏิวัติของ ดารุล อิสลาม (Darul Islam) /กองทัพอิสลามอินโดนีเซีย (Tentara Islam Indonesia)
การปฏิวัติเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2496 ทางชวาตะวันตกและมุ่งเน้นที่จะเปลี่ยนอินโดนีเซียให้เป็นรัฐอิสลาม สาขาอาเจห์ของดารุส ซาลามได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางให้เป็นที่รู้จัก ในปี พ.ศ.2483 การแยกตัวไปจากอินโดนีเซียไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในประเด็นของอาเจห์ การก่อตั้งรัฐบาลแห่งชาติให้เข้ากับประเด็นของท้องถิ่นยังคงเป็นแรงจูงใจหลักที่ทำให้มีส่วนร่วมกับการปฏิวัติครั้งนี้ สภาวะแวดล้อมดังกล่าวเป็นปัจจัยเสริมในการรับรู้ถึงความมีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของอาเจห์ แม้การต่อสู้ในจังหวัดจะมีอย่างจำกัดก็ตาม จนกระทั่งสิ้นปีแห่งการปฏิวัติในปี พ.ศ.2505 การสังหารพลเรือนชายอย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ โดยกองทัพอินโดนีเซีย ได้ฟื้นความทรงจำของความรุนแรงในอดีตที่เกิดขึ้น ขณะที่การต่อต้านอำนาจจากกลุ่มนักล่าอาณานิคม อำนาจจากส่วนกลางไม่ว่าจะเป็นจากชาวดัชท์ หรือชาวอินโดนีเซียได้ถูกซึมซับว่าเป็นสาเหตุของการเกิดความรุนแรงซ้ำอย่างฉับพลันและส่งผลรุนแรง ประสบการณ์ร่วมเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความไม่ไว้วางใจในระยะยาวแล้ว ยังเป็นตัวกระตุ้นความรุนแรงที่เป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของชาวอาเจห์ด้วย
กองทัพอินโดนีเซียไม่สามารถที่จะปราบปรามการต่อต้านนี้ได้ การตั้งถิ่นฐานในระยะแรกของกลุ่มต่อต้านเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2500 แม้ว่าจะเอื้อต่อการทำให้สิ้นสุดความขัดแย้ง แต่ กลับกลายเป็นแนวร่วมมุมกลับให้กับชาวอาเจห์ ยิ่งไปกว่านั้น ชนชั้นสูงชาวอาเจห์ ได้เลิก ความเป็นชาตินิยม และมุ่งเน้นไปที่อำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับสถานภาพพิเศษสำหรับการก่อตั้งใหม่ว่าเป็น “ภูมิภาคแห่งหนึ่ง” ผู้ว่าการจังหวัดอาเจห์ ได้รับแต่งตั้งและเลือกตั้งภายในองค์กรที่สนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้ การปกครองที่เป็นหนึ่งเดียวกันของอาเจห์ได้ถูกจัด วางไว้อย่างเข้าที่เข้าทาง ได้รับการเห็นชอบให้นำกฎหมายอิสลามมาใช้ในอาเจห์ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเต็มที่ในปี พ.ศ.2505 เหตุการณ์ในปี พ.ศ.2508 – 2509 เป็นตัวอย่างหนึ่งโดยมุ่งไปที่ประเด็นส่วนภูมิภาค การถูกท้าทายโดยส่วนของกองทัพ ประธานาธิบดีซูการ์โน และระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยชี้นำ ยังคงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของอำนาจที่ขึ้นอยู่ระหว่างพรรคการเมืองและทางการทหาร จะได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากแรงสนับสนุนสำคัญและโดยปริยายจากพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย (PKI) ในการปลุกกระแสการเกิดรัฐประหารที่เชื่อว่าเป็นไปเพื่อพรรค PKI
ในปี พ.ศ.2493 รัฐบาลจาการ์ตาได้ผิดสัญญาในการปฏิบัติตามข้อตกลงในอดีต สร้างความไม่ไว้วางใจต่อการตั้งถิ่นฐานในระยะเริ่มแรกที่จะรับประกันความมีลักษณะเฉพาะส่วนภูมิภาคของอาเจห์ ในต้นปี พ.ศ.2513 สถานภาพส่วนภูมิภาคที่มีลักษณะเฉพาะในอาเจห์โดย พฤตินัยนี้ได้ถูกลบเลือนไป กฎหมายว่าด้วยการปกครองส่วนภูมิภาคได้เข้ามาในปี พ.ศ.2517 และวางพื้นฐานการควบคุมจากส่วนกลางอย่างเข้มงวด ต่อองค์ประกอบของการปกครองส่วนภูมิภาค ให้ทหารเป็นตัวแก้ปัญหาหลักสำหรับกองกำลังที่แตกแยก ส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดจะได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ทำให้ความรับผิดชอบของเขาที่มีต่อสมัชชาจังหวัดได้ถูกกำจัดให้หมดไป แทนที่บทบาทก่อนหน้านี้ การอุทิศตนเพื่อผลประโยชน์ต่อรัฐบาลจาการ์ตา ทำให้กลายเป็นผู้แทนของอำนาจจากส่วนกลาง ยิ่งไปกว่านั้น ระบอบการปกครองยังสนับสนุนให้เกิดกลุ่มบุคคล ที่มีชื่อเสียงทั้งด้านการเมืองและวิชาการใหม่ (Technocrats) ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การปกครองระดับท้องถิ่นได้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่จะปฏิบัติตามนโยบายที่ได้รับจากรัฐบาลจาการ์ตา โดยไม่ต้องมีการปรึกษาหารือมาก่อน การปกครองที่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางอย่างสูงสุดนี้ ผลที่ตามมาผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นต้องต่อสู้แย่งชิงเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจาการ์ตา จนกลายเป็นความแตกแยกเพิ่มมากขึ้น ความสูญเสียและความไม่พอใจอย่างมากที่มีรากเหง้ามาจากนโยบายทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ทำให้ “บันทึกที่ปกปิด” ก้าวไปสู่ความยั่งยืน และเติมเต็มเข้าไปในความทรงจำของความรุนแรง ความไม่ไว้วางใจทางการเมือง รวมทั้งความรู้สึกที่ก่อตัวอย่างมั่นคงที่จะแยกเป็นอิสระและเน้นความมีลักษณะที่โดดเด่นของชาวอาเจห์ ที่ปราศจากการรับรู้จากรัฐบาลจาการ์ตา ทำให้เกิดการขยายตัวของช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างสังคมของชาว
อาเจห์และอำนาจจากส่วนกลาง

ผลของระบบเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลอินโดนีเซีย
เช่นเดียวกับประเทศที่เคยเป็นอาณานิคมทั้งหลาย อินโดนีเซียได้รับการปลูกฝังทั้งทางเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานจากการสร้างบริษัทสาธารณะ โดยข้อเท็จจริง การดำเนินงานได้สร้างระบบผูกขาดและเส้นทางการค้าที่มีต่อชาวชวา ความใกล้ชิด วงในแห่งอำนาจของรัฐบาลจาการ์ตา เป็นที่พึ่งสำหรับระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เน้นศูนย์กลางอย่างสูงสุดนำไปสู่การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วน การรวมตัวของเอกชนที่ไปด้วยกันได้ดี ก่อให้เกิดการผูกขาดในตลาดที่ทำกำไรได้มากอย่างสูงสุด ขณะที่การแต่งตั้งตำแหน่งในบริษัทสาธารณะหลักๆ ได้รับแรงกระตุ้นจากทางการเมือง ทหารก็ได้ผลประโยชน์จากระบบนี้ โดยการเพิ่มรายจ่ายงบประมาณผ่านทางนายทหารอาวุโส ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดูแลบริษัททั้งของรัฐและเอกชน
อาเจห์ประสบความยากลำบากจากระบบเศรษฐกิจแบบนี้อย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบในวงกว้างของผู้คนที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนท้องถิ่นตั้งแต่ชาวประมงจนถึงคนขายของและชาวไร่ชาวนา จากเมื่อก่อนที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าส่วนภูมิภาค กลับกลายเป็นจังหวัดที่มีเป้าหมายทางเศรษฐกิจสำหรับประชาชนลดลง แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติได้ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวของคนใกล้ชิดวงในกับรัฐบาลจาการ์ตา ขณะที่มีการลงทุนอย่างจำกัดในระดับท้องถิ่น สิ่งนี้ได้สร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง มีการรับรู้กัน มากขึ้นในฐานะการใช้อำนาจเอารัดเอาเปรียบ โรงกลั่นแก๊สธรรมชาติเริ่มที่จะใช้ประโยชน์จากแหล่งแก๊สชายฝั่งในพื้นที่ของ เมืองล็อกซูมาเว (Lhokseumawe) ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทางตอนเหนือของอาเจห์ ไม่เกินสิ้นปี พ.ศ.2523 อาเจห์จะมีการส่งออกน้ำมันและแก๊สถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ มีการสร้างเขตอุตสาหกรรมขึ้นรอบๆ โรงกลั่น แม้ว่าศูนย์กลางของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ จะมี การส่งออกไปที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น ไม่ช้าก็กลับกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการแสวงหาผลประโยชน์ของรัฐบาลจาการ์ตา อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักมีโอกาสการ จ้างงานอย่างจำกัด ทักษะพื้นฐานที่จำเป็นไม่มีในระดับท้องถิ่น คนงานต้องรับเข้ามาจากท้องถิ่นอื่นของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะจากชวา เขตอุตสาหกรรมและบริเวณชานเมืองถูกมองในฐานะที่เป็น ผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานและมีฐานะร่ำรวย ซึ่งตรงข้ามกับสภาพชีวิตชองชาวอาเจห์บางคนที่ขาดแคลนสาธารณูปโภค น้ำ และไฟฟ้า เขตอุตสาหกรรมกลับมีแต่สร้างมลพิษจำนวนมาก ซึ่งมลพิษที่ปนเปื้อนทางทะเล ได้ส่งผลกระทบต่อฝูงปลาด้วย จากสถิติ 60 เปอร์เซ็นต์ ของชาวประมงยังมีฐานะยากจน นอกจากนี้ชาวชนบทบางคนยังได้รับผลกระทบ เมื่อมีการก่อสร้างและขยายเขตอุตสาหกรรม ชาวอาเจห์ที่ถูกขับไล่ออกจากผืนดินของเขาโดย เงินชดเชยที่สัญญาว่าจะให้ แต่ไม่ถึงมือผู้ที่ถูกไล่ที่ ไม่มีการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เว้นแต่ เขตอุตสาหกรรมเท่านั้น ในส่วนอื่นๆ ของอาเจห์ อุตสาหกรรมค้าไม้ ได้นำไปสู่ความไม่พึงพอใจให้กับชาวอาเจห์เช่นกัน การจำกัดสิทธิ์ชาวบ้านในท้องถิ่นที่เข้าไปทำมาหากินในป่าและที่ดินทำการเพาะปลูก คนงานก็ไม่ใช่ชาวอาเจห์ เป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทต่างๆ จะเป็นของนักธุรกิจชาวจีนที่มีความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดวงในของรัฐบาลจาการ์ตา ในมุมมองของชาวอาเจห์ นักธุรกิจต่างด้าวรายใหม่ที่ได้รับมอบอำนาจในฐานะคนต่างด้าวกำลังตักตวงเอาผลประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรของอาเจห์ ธุรกิจสองประเภทดั้งเดิมในระบบเศรษฐกิจของอาเจห์ยังได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลจาการ์ตาทั้งพ่อค้าแม่ค้าและชาวชนบท อุปสรรคทางการค้าได้ขัดขวางเครือข่ายการค้าแบบดั้งเดิมกับทางมาเลเซีย นอกจากนั้นธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมเล็กๆ จำเป็นที่ต้องค้าขายผ่านทางท่าเรือเมดาน (Medan) ในตอนกลางของเกาะสุมาตรา ในขณะที่ท่าเรือล็อกซูมาเว เป็นท่าเรือพิเศษเฉพาะในการส่งออกของแก๊สและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นักธุรกิจรายใหม่บางคนสามารถที่จะทำการแข่งขันทางการค้า แต่ก็ยังจะตักตวงผลประโยชน์ทางระบบใบอนุญาตของผู้ส่งออกที่ทำขึ้นอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
ก่อนหน้านี้อาเจห์จัดเป็นเส้นทางการค้าที่เชื่อมต่อกันได้ดี แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชนบทจำเป็นที่จะต้องแข่งขันกับนโยบายการพัฒนาที่ได้นำมาปฏิบัติโดยรัฐบาลจาการ์ตา จากมุมมองทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจาการ์ตาได้พิจารณาว่า อาเจห์ควรจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ที่ร่ำรวยของสุมาตราได้ ขณะที่ระบบสัมปทานได้รับการคาดว่าจะพัฒนาการเกษตรแบบส่งออก ผลิตภัณฑ์ข้าวที่เพิ่มขึ้นนำไปสู่การตั้งราคาขาย ขณะที่ราคาของเครื่องใช้ที่มีประโยชน์กลับเพิ่มขึ้น แต่ผู้ผลิตกลับแย่ลง ยิ่งไปกว่านั้นทางเลือกที่มีจำกัดต่อวิถีทางทางการเกษตร พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรไม่มีทางเลือก ที่จำต้องอาศัยอยู่ข้างๆ กับที่ดินผืนนั้น โครงการการเคลื่อนย้ายผู้คน ( Resettlement program ) ก็เป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดความ ไม่พอใจ โครงการเคลื่อนย้ายผู้คนถูกออกแบบมาให้สนับสนุนผู้ที่มาตั้งถิ่นฐานให้มีการเพิ่มการผลิตพืชผลทางการเกษตรในอาเจห์ ครอบครัวหลายหมื่นครอบครัวได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในปี พ.ศ.2513 และ พ.ศ.2523 พวกเขาสามารถได้ประโยชน์จากที่ดินแบบแปลนจัดสรรขนาด 2.5 เฮกเตอร์ และสิ่งสาธารณูปโภคพื้นฐาน ชาวอาเจห์รับรู้ว่าเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างดีนั้น ส่วนใหญ่ต้องมาจากชวา เป็นสิ่งที่เก็บสะสมที่ก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจอีกครั้ง
ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในอดีตของอาเจห์มีที่มาจากการผลิตและการส่งออกยางพารา ชา กาแฟ และพริกไทย ความทรงจำที่เกี่ยวพันกับความเป็นอิสระในอดีตของอาเจห์ หรือการปกครองตนเองโดยพฤตินัย ในห้วงสงครามประกาศอิสรภาพ สำหรับความไม่พึงพอใจที่เกิดขึ้นนั้นมิได้ทำให้เกิดการเผชิญหน้าแบบขยายวงกว้าง เป็นเพียงอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างจำกัดและ เป็นระยะๆ เป็นการรณรงค์ต่อต้านที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น การเรียกรวมตัวอย่างฉุกเฉินไม่ให้มีการจ่ายภาษี เป็นต้น ผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่นที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลจาการ์ตา ก็เก็บความไม่พอใจนี้ไว้ และขัดขวางไม่ให้มีการสนับสนุนการเผชิญหน้ากัน ในกลางปี พ.ศ.2513 พวกเขาได้ก่อให้เกิด สิ่งสำคัญอันนำไปสู่การแยกออกเป็น GAM และความพยายามที่จะส่งกลุ่มกองโจรแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธออกปฏิบัติการ
การปราบปรามของกองทัพเป็นชนวนให้เกิดการแบ่งแยกดินแดน
กองกำลังติดอาวุธของ GAM ยังไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างแท้จริง ทั้งในปลายปี พ.ศ.2513 และ พ.ศ.2533 การปฏิบัติยังเป็นการใช้หน่วยขนาดเล็กทำการรบแบบกองโจร มี นาย di Tiro เป็นแกนนำ โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากภายใน และการช่วยเหลือจากต่างประเทศ การขาดแคลนผู้สนับสนุนที่สำคัญทั้งสองอย่างนี้ ขบวนการกองโจร GAM จึงถูกกดดันได้ง่ายจากทหาร และกลุ่มพันธมิตรของบุคคลที่มีชื่อเสียงชาวอาเจห์ในท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ขณะที่ di Tiro ทิ้งอาเจห์ไปเมื่อปี พ.ศ.2522 ก็ยังคงมีนักรบเหลืออยู่ประมาณ 20 – 30 คน ในพื้นที่ตอนกลางของภูเขาและป่า แม้ว่าจะไม่มีการปฏิบัติการทางทหารเกิดขึ้น แต่การที่ยังคงมี GAM บางส่วนเหลืออยู่ ทำให้มีการถกเถียงกันว่า ขบวนการนี้ควรที่จะได้รับการกล่าวอ้างหรือไม่ในฐานะผู้ต่อสู้ มาเป็นเวลา 30 ปีแห่งสงครามเพื่ออิสรภาพ
การเคลื่อนไหวของ GAM เกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2532 โดยยังคงมีกลุ่มติดอาวุธเล็กๆ ของนักรบประมาณ 200 คน จำนวนของทหารและตำรวจจำนวนหนึ่ง ที่ถูกปลดออกได้กลับเข้าร่วมกับนักรบจำนวน 150 คนที่เคยผ่านการฝึกในลิเบียมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับผลประโยชน์จากแหล่งสนับสนุนภายนอกใดๆ ยังคงไม่สามารถที่จะเชื่อมโยงกับขบวนการต่อต้านชาวอินโดนีเซียอื่นๆ ได้ di Tiro ได้พยายามในการสร้างความเชื่อมโยงกับเฟรทติลิน (Fretilin) ซึ่งเป็น ขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพของชาวติมอร์ตะวันออก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ มีความพยายามในการก่อตั้งรัฐอิสลามอีกครั้ง เพื่อเป็นองค์ประกอบสำคัญในการโฆษณาชวนเชื่อ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับกลุ่มเจมา อิสลามิยา (JI) ซึ่งเป็นองค์กรอินโดนีเซียที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอัลเคด้า (Al Qaeda) ขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวอาเจห์ ยังคงเป็นกลุ่มติดอาวุธที่ขาดเอกภาพและแยกตัว ซึ่งไม่สามารถ รปภ. เส้นทางส่งกำลังบำรุงตามปกติที่จะขยายจำนวนของอาวุธภัณฑ์ มีปฏิบัติการลอบสังหาร ทหาร ตำรวจ เป็นครั้งคราว โจมตี อาคารที่ทำการรัฐบาล การลอบวางเพลิง หรือการจลาจลที่เกิดขึ้นในอาเจห์ ทั้งที่มีความอ่อนแอ GAM ได้รับประโยชน์จากภาพลักษณ์ในทางบวกที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมชาวอาเจห์ เรื่องราวที่เล่าต่อกันมาได้ถ่ายทอดไปสู่นักเรียนชาวอาเจห์ในสถานศึกษา เรื่องเล่าเหล่านี้เป็นความต่อเนื่องของภาพลักษณ์ที่กล้าหาญของวีรบุรุษนักต่อสู้ในอดีต ขณะที่นักต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน ถูกทำให้เชื่อว่าจะมีอำนาจวิเศษ อาทิ การหายตัว หรือลูกปืนยิงไม่เข้า สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นภาพลักษณ์ทางบวกของทหารในสังคมของชาวอาเจห์ แม่ทัพภาคอาเจห์ ได้นำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ ในลักษณะที่ GAM เป็น ผู้ก่อความไม่สงบต่างๆ ที่เป็น “การร่ำลืออย่างไม่ทราบที่มา” เป็นสาเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาลอินโดนีเซีย สถิติของเหตุร้ายที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการปฏิบัติการต่อต้านอาชญากรรม โดยเฉพาะการต่อสู้กับการปลูกกัญชา
ใน ส.ค.2533 การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไปประจำในอาเจห์ที่มุ่งเน้นการปราบปราม คำสั่งจากส่วนกลางที่ส่งมาจากรัฐบาลจาการ์ตามุ่งเน้นการปฏิบัติทางทหาร มีการเสริมกำลังทหารเพื่อไปทำหน้าที่กดดันผู้ก่อความไม่สงบ หน่วยทหารที่มีประสิทธิภาพ 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยรบพิเศษและกองกำลังทางยุทธศาสตร์ (Kostradt) ได้ถูกส่งไปประจำการในอาเจห์ นายทหารส่วนใหญ่มีตำแหน่งสำคัญๆ ในหน่วยและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทหารที่อยู่วงใน นายพล พราโบโว สุเบียนโต บุตรเขยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ได้รับการแต่งตั้งให้ไปประจำที่ อาเจห์ อิทธิพลของเขากำลังเพิ่มมากขึ้นในกองทัพ รวมทั้งนายทหารอีกหลายคนที่เคยปฏิบัติการปราบปรามการก่อความไม่สงบในติมอร์ หรือเคยทำงานในลักษณะปฏิบัติการลับระหว่าง ปี พ.ศ.2508 – 2509 ประสบการณ์และความมั่นใจของทหารเหล่านี้จึงทำให้กองทัพมิได้คิดแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยใช้การเจรจา แนวทางการทำงานของทหารอินโดนีเซีย แบบ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเป็นวิธีที่โหดเหี้ยม ผบ.ภูมิภาคทหาร ได้กล่าวต่อสำนักพิมพ์รอยเตอร์ว่า หากทหารพบผู้ก่อการร้าย ให้ฆ่าได้เลย ไม่จำเป็นต้องสอบสวนแต่อย่างใด ถ้าเขาไม่ทำตามสั่งให้ยิงหรือลงมือฆ่าได้เลย ซึ่งชาวอาเจห์ทราบดีถึงคำสั่งที่ไม่เป็น ลายลักษณ์อักษรนี้ มีรายงานว่า หน่วยรบพิเศษ เผาบ้านผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกของ GAM การบุกค้นบ้านตอนกลางคืนและค้นจากบ้านหนึ่งไปสู่อีกบ้านหนึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ผู้หญิงบางคนที่ถูกระบุว่า เป็นสมาชิกของ GAM จะถูกข่มขืน มีการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะ ศพจะถูกนำไปทิ้งที่ข้างถนน การผ่านด่านตรวจของทหารได้กลายเป็นความกลัวว่าอาจถูกยิง ส่วนในเมืองประชาชนเริ่มหลีกเลี่ยงที่จะออกจากบ้านหลัง 20.00 น. เนื่องจากกลัวถูกจับ การเดินผ่านเส้นทางที่มีทหารจึงกลายเป็นสิ่งที่ชาวอาเจห์กังวลมากที่สุด
GAM ได้ทำการตอบโต้โดยโจมตีรถบรรทุกทหารเป็นครั้งคราว ความไม่ปลอดภัย บนถนนทำให้การจราจรบางตา ผู้นำในท้องถิ่นได้ไปเยี่ยมพบปะทหารเพื่อที่จะให้ควบคุมตัวและแสดงความรับผิดชอบด้วยตนเอง แต่เรื่องก็ยังคงเงียบไป ภายใต้การปฏิบัติร่วมระหว่าง ทหาร และ พลเรือน พลเรือนถูกบังคับให้ร่วมในปฏิบัติการทางทหาร โดยการบังคับเยาวชนลาดตระเวนร่วมกับทหารในตอนกลางคืน การจัดให้ชาวบ้านเดินเป็นแถวนำหน้ากองกำลังทหารระหว่างปฏิบัติการ สู้รบกับกองโจร และให้แสดงบทบาทเชิงบังคับในการหาข่าวของฝ่ายตรงข้าม การรวมพลจัดแถวชาวบ้านถูกจัดให้มีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เขาถูกกระตุ้นให้ “ กำจัดผู้ก่อการร้าย” และเพื่อจะประกันว่าเขาจะ“ทำลายมันจนสิ้นซาก” ชาวบ้านที่ไม่ร่วมมือ และขาดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติการจะได้รับการลงโทษ เรื่องราวข่าวลือในลักษณะนี้ สร้างความหวาดกลัวจนนำไปสู่ปัญหาการคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะที่ด่านตรวจของทหารที่จะเรียกเก็บเงิน รวมทั้งหน่วยงานพลเรือนที่เกี่ยวกับงานการปกครองที่เรียกเงินใต้โต๊ะสำหรับประชาชนที่มาติดต่องาน มีรายงานว่า ระหว่างปี พ.ศ.2532 และ พ.ศ.2534 ชาวอาเจห์ ราว 2,000 คนถูกฆ่า กลุ่มผู้ต่อต้านได้รับการปราบปราม อาเจห์เป็นพื้นที่การปฏิบัติการที่มีทหารกุมอำนาจเด็ดขาด เป็นการเปิดโอกาสให้ทหารได้รับผลประโยชน์ตอบแทน มีการสร้างเครือข่ายระหว่างทหาร และนักธุรกิจของอาเจห์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับหน่วยรบพิเศษ สามารถทำเงินเพิ่มได้ในฐานะผู้คุ้มครองความปลอดภัย หรือช่วยสนับสนุนการแข่งขันทางธุรกิจในท้องถิ่น ผลประโยชน์ทางธุรกิจเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ที่สร้างความความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถูกสร้างขึ้นทีละเล็กทีละน้อยภายในกองทัพ และร่วมกันในระบอบการปกครองอันสูงสุด ประธานาธิบดีซูฮาร์โต ได้จัดพิมพ์เผยแพร่ความทรงจำนี้ โดยชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งที่เรียกว่า “การรักษาอาการช็อก” (Shock Therapy) ได้รับการพิจารณาว่าเป็นเครื่องมือที่ชอบด้วยกฎหมายชนิดหนึ่ง ใครก็ตามที่ต่อต้านไม่ว่าจะชอบหรือไม่ จะถูกยิง
คำกล่าวของ ผบ.ภูมิภาคทหารของอาเจห์ ได้สะท้อนถึงหนทางของความรุนแรงที่เป็นทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นธรรมดาและเป็นหลุมหลบภัยสำหรับองค์กรลับด้านความมั่นคง ทั้งประสบการณ์ส่วนบุคคลของนายทหารและประวัติศาสตร์ความรุนแรงถูกนำไปสร้างความรุนแรงในฐานะที่เป็นหลักการสำคัญของการปกครอง นายทหารในติมอร์ หรือในอาเจห์ ที่ปฏิบัติงานตอบสนองในแนวทางการปราบปรามมักได้รับความเจริญก้าวหน้า ภายใต้ระบอบการจัดโครงสร้างกองทัพใหม่ ทหารจะได้รับการปกป้องจากการวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติที่ปรากฏในปลายปี พ.ศ.2523 จึงไม่มีผลต่อกองทัพอินโดนีเซียแม้แต่น้อย

การฝึกอบรมนายทหาร มุ่งเน้นมาตรการปราบปราม ความกดดันจากผู้ร่วมงานภายในกองทัพ ทั้งหมดดังกล่าวรวมตัวกันนำไปสู่การปฏิบัติการอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2531 รัฐสภายุโรปเรียกร้องเป็นครั้งแรกให้อินโดนีเซียถอนทหารออกมาจากติมอร์ สภาคองเกรส แห่งสหรัฐฯ ได้แสดงออกเป็นครั้งแรกถึงข้อห่วงใยอย่างมาก เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในติมอร์ มีการเสด็จมาเยือนติมอร์ ของพระสันตะปาปา เรียกความสนใจต่องานด้านสิทธิมนุษยชนของกองทัพอินโดนีเซียมากขึ้น ยุทธวิธีของกองทัพอินโดนีเซีย ที่เรียกว่า “การรักษาอาการช็อก” ที่อาจจะขาดแนวทางที่ชัดเจนสำหรับผู้ปฏิบัติระดับล่างในระยะเริ่มต้น เป็นตัวเลือกที่น่าพอใจมากที่สุดของทหาร และได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางโดยปราศจากการคัดค้าน
การเปลี่ยนแปลงในอินโดนีเซียทำให้เกิดแนวคิดในการเจรจา
ในปี พ.ศ.2540 ภาวะวิกฤตทางการเงินเกิดขึ้นในประทศไทย และกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใตอินโดนีเซียได้รับการประเมินจากองค์กรด้านการเงินนานาชาติ (IMF) ว่าระบบการเงินกำลังล่มสลาย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอันนำไปสู่การประท้วงระบอบการปกครอง รัฐบาลประธานาธิบดี ซูฮาร์โต อยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอลงและมีความกดดัน หากปล่อยให้บานปลาย อินโดนีเซียจะไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างประเทศ มีการคัดค้านการใช้กำลังทางทหารขยายตัวมากขึ้น ในการสัมมนาภายในกองทัพ การเลือกปฏิบัติและการคอร์รัปชั่น ได้ถูกหยิบยกมาโต้เถียงและวิพากษ์วิจารณ์ กลุ่มของนายทหาร ที่มีความคิดที่จะทำการปฏิรูป มีอิทธิพลอย่างมากในกองทัพ โฆษกประจำรัฐสภาเรียกร้องให้กองทัพจำกัดตัวเองในการใช้วิธีการปราบปราม เนื่องจากกองทัพ มีบทบาทในการช่วยเหลือประชาชนชาวอินโดนีเซียลดน้อยลง กลุ่มต่างๆ กำลังต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ ขณะที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โต พยายามลดอิทธิพลของกลุ่มคู่แข่ง โดยการแต่งตั้งนายทหารที่มีความสนิทสนมเป็นส่วนตัว และมีความจงรักภักดี การที่ประธานาธิบดีเข้ามามีบทบาทในสายการบังคับบัญชาของกองทัพอย่างเป็นทางการและรวมทั้งเกิดขัดผลประโยชน์ในคนบางกลุ่มในกองทัพ ทำให้ความไม่พอใจในหมู่ทหารขยายตัวมากขึ้น มีการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มต่างๆ มีการประท้วงของมวลชนเกิดขึ้นเพื่อประท้วงความล้มเหลวทางเศรษฐกิจของระบอบซูฮาร์โตและการปกครองแบบเผด็จการ มีการแก่งแย่งชิงดีกันภายในกองทัพและองค์กรลับด้านความมั่นคงที่ปกปิดอยู่ได้ออกมาแสดงพลังโดยใช้การประท้วงของมวลชนเป็นเครื่องมือขับไล่ซูฮาร์โตให้ลาออก หลังจากซูฮาร์โตออกจากตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ.2541 การต่อสู้แย่งชิงอำนาจได้ขยายไปในรัฐบาลจาการ์ตา และกลายเป็นความเร่งด่วนอันดับแรก สถานการณ์ในอาเจห์ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่มีความสำคัญรองลงมา ยุทธศาสตร์สร้างความหวาดกลัวในอาเจห์ยังคงดำเนินต่อไป แต่มีการปรับแนวทางใหม่ เมื่อพิจาณาลำดับของการเกิดกระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะพบว่า นโยบายที่นำมาปฏิบัติในการแก้ปัญหาอาเจห์ค่อนข้างจะสับสน ไม่ชัดเจนว่าจะปราบปรามหรือเจรจา แต่ค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีการเจรจาในสมัย พล.อ.ยุโดโยโน (ตั้งแต่ ก.ย.2547) 3 เดือนหลังจากซูฮาร์โตออกจากตำแหน่ง รมว.กห. และผู้นำกองทัพ พล.อ.วิรันโต ได้ออกมากล่าวต่อสาธารณะโดยขอโทษต่อประชาชนชาวอาเจห์ ที่ถูกทำร้าย และได้รับความเดือดร้อนทุกข์ทรมาน เขาประกาศที่จะถอนกองกำลังทางทหารออกไปและให้สิ้นสุดการปฏิบัติทางทหารในพื้นที่ดังกล่าว สิ่งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนซึ่งโดยหลักใหญ่จะเกี่ยวข้องกับคู่แข่งของเขาที่เป็น ผบ.หน่วยรบพิเศษ ซึ่งเป็นลูกเขยของ ซูฮาร์โต (พล.ท. พราโบโว) มีความพยายามจะถอนกำลังหน่วยรบพิเศษออกจากพื้นที่แต่ถูกขัดจังหวะ มีการจลาจลและทำลายทรัพย์สินและอาคารของทางราชการรวมทั้งบรรดาอาคารต่างๆ ของนักธุรกิจ ที่ไม่ใช่เป็นชาวอาเจห์ ความไม่พอใจที่ทำให้อุบัติการณ์ในท้องถิ่นลุกลามกลายเป็นการจลาจลที่ต่อต้านผู้แทนของรัฐและสถาบันต่างๆ บุคคลที่ทำงานร่วมกันในกองกำลังรักษาความมั่นคงทั้งที่จริงและกล่าวอ้างกลับตกเป็นเป้าและต้องเผชิญกับการแก้แค้นที่รุนแรง มีการเสริมกำลังเข้าไปเพิ่ม การปราบปรามจึงยังคงดำเนินต่อไปและกลายเป็นการต่อสู้แบบประปรายระหว่างทหารรัฐบาลกับทหารของ GAM
ในห้วง ม.ค.2542 พล.อ.วิรันโต สามารถรักษาตำแหน่งของเขาในกองทัพไว้ได้ แนวร่วมที่เป็นนายทหารนักปฏิรูปถูกย้ายไป ขณะที่กลุ่มทหารเหล่านี้ประสงค์จะให้มีสั่งการอีกครั้งสำหรับความเร่งด่วนของกองทัพในบทบาทการป้องกันภัยคุกคามทางทะเลและไม่ใช่ความมั่นคงภายใน กลุ่มของวิรันโต ต้องการที่จะสร้างความความมั่นคงให้เกิดขึ้นในกองทัพ โดยการสร้างความเข้มแข็งและควบคุมความเป็นเอกภาพในกลุ่มทหาร ในการสัมมนาของ ทบ. ได้เน้นย้ำถึงความมั่นคงภายในว่าเป็นความเร่งด่วนของกองทัพอินโดนีเซีย นายทหารที่มีภูมิหลังด้านการข่าวและการปราบปรามเหตุการณ์ความไม่สงบได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งโดยเฉพาะนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามอันโหดร้ายในติมอร์ตะวันออกได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งสำคัญ กองทัพอินโดนีเซีย ได้นำเอาวิธีการปราบปรามมาใช้อีกในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางปฏิบัติการต่อต้านการก่อความไม่สงบ คณะผู้นำอาเจห์ได้เดินทางไปที่จาการ์ตาและเข้าพบกับประธานาธิบดีฮาบิบี ยืนยันว่า อาเจห์จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซีย โดยขอให้มีการดำเนินการกับผู้ที่ทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง และขอให้มีสถานะเป็นการปกครองตนเองพิเศษ ข้อเสนอไม่ได้รับการปฏิเสธหรือตอบรับโดยทหารหรือรัฐสภา ประธานาธิบดีฮาบิบี ไปเยือนอาเจห์ และให้ข้อคิดเห็นที่จะปรับปรุงสถานการณ์ ในการที่จะขยายฐานทางการเมือง ได้ริเริ่มกฎหมายหลายๆ ฉบับเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่น การเพิ่มอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น มีความเห็นชอบร่วมกันว่า สัดส่วนของผลประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติระหว่างอาเจห์กับจาการ์ตานั้น ในกรณีของอาเจห์ จะเป็น 30เปอร์เซ็นต์ จากแก๊สธรรมชาติ และ 80 เปอร์เซ็นต์ จากอุตสาหกรรมป่าไม้ เหมืองแร่ และประมง กฎหมายเพิ่มเติมอื่นๆ ที่จะฟื้นฟูสถานภาพพิเศษของอาเจห์ อย่างไรก็ตามบทบัญญัติกฎหมายไม่ได้ตอบสนองความต้องการของอาเจห์ให้เป็นที่น่าพึงใจนัก เพราะการปกครองดังกล่าวเคยผิดสัญญากันมาก่อน ทำให้อาเจห์เคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติจริง ยิ่งไปกว่านั้น ฮาบิบียังประกาศให้มีการลงประชามติในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (Referendum on self – determination) เช่น ในติมอร์ โดยเลือกที่จะอยู่อย่างเดิมหรือแยกตัวออกไป และยังกล่าวต่อไปอีกว่า อาเจห์จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ ขบวนการนี้ก่อให้เกิดการรบกันประปรายระหว่าง GAM และTNI GAM โจมตีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ขณะที่กองทัพโจมตีหมู่บ้านที่สงสัยว่าจะเป็นที่ลี้ภัยของทหาร GAM
หลังจากฮาบิบีพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เมื่อ ต.ค.2542 ประธานาธิบดีคนใหม่คือ นายอับดุรามาน วาฮิด ต้องการที่จะสร้างอิทธิพลเหนือกองทัพ จึงคิดลดอำนาจ พล.อ.วิรันโต โดยการให้มีการดำเนินงานด้านสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นนี้จึงเข้าไปอยู่ใน ความสนใจของสังคม มีการเรียกร้องค่าคอมมิชชั่นในติมอร์ได้มีการฟ้องร้องกล่าวโทษ พล.อ.วิรันโต และ นายพลอีก 5 นาย จนทำให้ พล.อ.วิรันโต จำเป็นต้องลาออกเมื่อ ก.พ.2543 การเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจที่เกิดขึ้นนี้ นายทหารนักปฏิรูปพลอยได้รับอิทธิพลและผลประโยชน์จากการสนับสนุนของวาฮิด ความเต็มใจที่จะเป็นผู้สร้างสันติภาพ (peacemaker) และเผชิญกับแรงต้านน้อยลงจากกองบัญชาการทางทหารส่วนกลาง วาฮิดจึงอยู่ในบทบาทที่ทำให้เริ่มมีการเจรจากันโดยตรงเป็นครั้งแรกระหว่างจาการ์ตาและ GAM มีการเปิดศูนย์เจรจาทางมนุษยธรรม ณ กรุงเจนีวา (Geneva – based Center for Humanitarian Dialogue) ได้มีการลงนามในข้อตกลงเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ค. 2543 โดยเน้นที่ “การหยุด (ชั่วขณะ) ทางมนุษยธรรม” (Humanitarian Pause) เพื่อที่จะให้การเจรจาระหว่างกลุ่มต่างๆ ง่ายขึ้น การฟันฝ่าอุปสรรคด้วยความตั้งใจที่จะนำไปสู่การเจรจา ยังไม่ประสบผล การโจมตีของแต่ละฝ่ายบนหลักการยังไม่หยุด ยิ่งไปกว่านั้น นายวาฮิดยังถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งกับรัฐสภาและการทหาร รัฐสภาได้ประวิงเวลาการรับสถานภาพพิเศษใหม่สำหรับอาเจห์ ขณะที่ได้รับการสนับสนุนโดยนายวาฮิด ความพยายามที่จะควบคุมทางการทหารโดยการแต่งตั้งนายทหารที่มีความจงรักภักดีต่อเขาทำให้เกิดผลที่ไม่คาดคิด นายทหารที่ถูกจัดลำดับไว้ต้นๆ ในการดูแลความมั่นคงได้สร้างอำนาจขึ้นมาใหม่และบ่อนทำลายนายวาฮิด โดยการสนับสนุนรองประธานาธิบดีและเป็นคู่แข่งนายวาฮิด คือ นางเมกาวาตี
นายวาฮิดได้รับนโยบาย 6 ข้อสำหรับอาเจห์ แนวทาง การดำเนินงานระยะแรกยังไม่ถูกยกเลิก แต่ใน 6 ประเด็น ประธานาธิบดีวาฮิด อนุมัติให้มีการปฏิบัติการสำหรับการฟื้นฟูความมั่นคงซึ่งเท่ากับอนุญาตให้ทหารจัดการเรื่องนี้ ประธานาธิบดีวาฮิดจำเป็นต้องลาออก เมื่อ ก.ค.2544 ทำให้นางเมกาวาตี อดีตรองประธานาธิบดี ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแทนได้เห็นด้วยกับแนวคิดแบบประเทศเดียวปกครองหลายกลุ่ม (unitary approach) ของฝ่ายทหาร ทำให้ กองกำลังทหารถูกส่งไปประจำที่อาเจห์ ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ และการบาดเจ็บหมู่ขยายวงกว้าง อย่างไรก็ตามการเจรจา ณ กรุงเจนีวา ไม่ได้ถูกขัดขวาง และมีการลงนามในกฎหมายฉบับประธานาธิบดีว่าด้วยการปกครองตนเองพิเศษ แต่กระนั้นไม่ได้นำมาปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมกองกำลังของ GAM สูญเสียดินแดนที่ควบคุม แต่ยังคงรักษากำลังทหารไว้ราว 1,000 คน แม้ว่าหัวหน้าหน่วยทหารที่ประจำการหลักจะถูกสังหาร แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของ GAM แต่อย่างใด เมื่อ ธ.ค.2545 Center for Humanitarian Dialogue ได้เสนอข้อตกลงใหม่ รวมถึง การหยุดเป็นปรปักษ์กัน กำหนดให้มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ.2547 มีมาตรการการ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และทีมสังเกตการณ์ร่วมภายใต้คณะกรรมการด้านความมั่นคงร่วม (Joint Security Committee/JSC) ซึ่งประกอบด้วย ทหารของ GAM และกองทัพอินโดนีเซีย ทีมสังเกตการณ์ JSC ได้ถูกให้ออกจากบันดา อาเจห์ เนื่องจากได้รับการต่อต้านจากกลุ่มประท้วงที่ถูกจัดตั้ง และเรื่องการทำลายอาวุธ มีการนำกฎอัยการศึกมาบังคับใช้ในอาเจห์ การปฏิบัติการ ทางทหารได้เกิดขึ้นอีกครั้ง
เมื่อ พล.อ.ซูซิโล บัมบัง ยุโดโยโน ชนะนางเมกาวาตี ในการเลือกตั้งเมื่อ ก.ค.2547 ความท้าทายใหม่ได้เกิดขึ้น จากการที่เคยอยู่ใกล้ชิดกับกลุ่มทหารที่เป็นนักปฏิรูป และในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่ง รมต.กระทรวงกิจการเพื่อความมั่นคง สังคม และการเมือง พล.อ.ยุโดโยโน ยังได้เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นของอาเจห์ โดยการสนับสนุน “ การเจรจาที่เป็นสาระสำคัญ” เขาถูกมองว่าเป็นนายทหารที่ใช้รูปแบบการประนีประนอมมากกว่า รองประธานาธิบดี ยูซุป คัลลา ( Yusuf Kalla) ที่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการกับผู้แทนของ GAM ความพยายามในการเจรจาที่ผ่านมาได้รับการยอมรับจากทหาร และได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ นอกเหนือไปกว่านั้นการที่มีการระเบิดที่บาหลีในปี พ.ศ.2545 ภาวะคุกคามจากการก่อการร้ายกลุ่ม JI ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญสำหรับกองกำลังรักษาความมั่นคงอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้อำนาจอันชอบธรรมใหม่กับกองทัพอินโดนีเซีย ที่จะทำงานให้สอดคล้องกับความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษาความมั่นคงภายใน รวมทั้งคงไว้ซึ่งอิทธิพลของทหารในการเมืองอินโดนีเซีย ความสำคัญของประเด็นอาเจห์ จึงได้รับการถ่วงดุลโดยภาวะคุกคามที่เกิดขึ้นนี้
บริบทใหม่ดังกล่าวนี้เอื้อให้การเจรจาคืบหน้า เมื่อ ม.ค.2548 มีการเจรจา รอบใหม่เริ่มขึ้น ณ กรุงเฮลซิงกิ โดยนาย มาร์ติ อาติซารี ( Martti Ahtisaari) อดีตประธานาธิบดีของฟินแลนด์ เป็นผู้นำทีมไกล่เกลี่ย ทีมงานที่ริเริ่มด้านการบริหารวิกฤติการ (Crisis Management Initiative) ได้ศึกษาข้อตกลงที่ผ่านมา จุดอ่อนและหลักการที่ได้ตกลงไปแล้ว รวมทั้งปรึกษาผู้มีชื่อเสียงในสังคมและเคยเกี่ยวข้องกับการเจรจาครั้งก่อนๆ ในการสร้างข้อตกลงที่ผ่านมารวมทั้งต้องเอาชนะจุดอ่อนดังกล่าว ทีมไกล่เกลี่ยประสบความสำเร็จในการเสนอข้อตกลงหลังจากการเจรจามาแล้ว 5 รอบ มีการลงนามใน MOU ณ กรุงเฮลซิงกิ ซึ่งครอบคลุมถึงการปกครองในอาเจห์ มีการก่อตั้งหน่วยงาน AMM เพื่อการระงับข้อพิพาท จุดเด่นของ AMM คือการมีบุคคลจาก EU และอาเซียนจากนานาชาติ เข้ามาปฏิบัติงาน และ GAM เริ่มยอมรับอย่างเป็นทางการ อีกทั้งได้รับแรงส่งจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ โดยความร่วมมือกันทางการเมืองภายในและความเกี่ยวพันกับอำนาจหน้าที่ของ นาย มาร์ติ อาติซารี โดยมีการเจรจานอกรอบถึง 3 ครั้ง
แผนภาพที่ 4 : ผู้แทนรัฐบาล อซ. ผู้นำ GAM และ นาย Ahtisari อดีตประธานาธิบดีฟินแลนด์ ตกลงหยุดยิงใน Helsingki และลงนามใน MOU Helsinki ณ กรุงเฮลซิงกิ เมื่อ 15 ส.ค.48





องค์กรทางด้านพลเรือน ( ฝ่ายการเมือง)

GAM ที่อยู่ในอาเจห์มีการจัดออกเป็น 2 หน่วยงานคือ รัฐบาลพลเรือนและกองกำลัง ซึ่งกองกำลังจะอยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลพลเรือน แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การตัดสินใจส่วนใหญ่จะมีผลมาจาก ผบ.กองกำลัง ที่เผชิญอยู่กับปัญหา มีผู้กล่าวว่ารูปแบบของรัฐบาลพลเรือนของ GAM นี้เป็นรูปแบบเดียวกับรัฐบาลอาเจห์เมื่อสมัยโบราณ (สุลต่านปกครอง) ที่ di Tiro ได้พยายามพื้นฟูขึ้นมาเมื่อปี 2520 เพื่อคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของอาเจห์ โดยตำแหน่งสูงสุดคือสุลต่านก็คือตัว Hasan di Tiro เอง GAM ยังคงต้องการให้เรียกตำแหน่งนี้ด้วยภาษาพื้นเมืองว่า Wali Negara (แทนที่จะเรียกว่า Sultana) เพื่อจะสะท้อนให้เห็นบทบาทความเป็น “ผู้ปกป้อง”

องค์กรที่ถัดรองลงไปจาก Wali Negara คือ Nanggror หรือ Province ซึ่งจะมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือ Ulee Nanggroe เป็นผู้รับผิดชอบและมี ผบ.หน่วยทหารประจำจังหวัด หรือ Paylina Nanggror เป็นผู้ช่วย ในแต่ละ Nanggror จะมีหลาย Aiue หรือ Sagor ที่มีนายอำเภอ หรือ Ulee Sagoe โดยมี ผบ.หน่วยทหาร หรือ Panylina Sagoe เป็นผู้ช่วยแต่ละ Sagoe ประกอบด้วยหลายกิ่งอำเภอ หรือ Mukim ซึ่งจะมี Imum เป็นหัวหน้าในแต่ละ Mukim ประกอบด้วยหลายหมู่บ้าน ซึ่งมี หัวหน้าหมู่บ้าน คือ Geutihik ผู้ช่วยหัวหน้าหมู่บ้าน คือ Waki และมีผู้อาวุโส 8 คน ที่เรียกว่า Tuha Puet หมู่บ้านคือหน่วยปกครองที่เล็กที่สุด

ในเดือน ก.ค.2545 ในการประชุมที่ Starmager ประเทศนอร์เวย์ ฝ่าย GAM มีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และโครงสร้างตนเองในหลายๆ เรื่อง มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าที่จริงแล้วเป็นแค่เปลี่ยนชื่อขององค์กรภายในเท่านั้น ไม่มีอะไรใหม่น่าตื่นเต้น อย่างไรก็ตามมีการปรับคณะผู้บริหาร โดยกำหนดบรรดาผู้นำที่อยู่ในสวีเดนมีสถานะเป็นรัฐบาลพลัดถิ่น หน่วยการปกครอง ที่ใหญ่ที่สุดคือ ภาค (Region หรือ Wilayah) ซึ่งจะมีผู้ว่าการภาค และมีผู้ช่วยเป็น ผบ.ตร.ภาค (Uler Bentara) GAM กำหนดให้มี 17 Wilayah ในแต่ละ Wilayah ประกอบด้วย 4 อำเภอ (Daerah) แต่ละอำเภอประกอบด้วยหลาย Sagor หน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดคือ หมู่บ้าน องค์กร การปกครองในทุกระดับของ GAM มีหน้าที่ในการเก็บภาษี ตลอดจนออกใบสูติบัตร ออก ใบทะเบียนสมรส ซึ่งเหมือนกับองค์กรการปกครองพลเรือนทั่วไป การบริหารดังกล่าวนักวิชาการทั้งหลายกลับมองว่าเป็นการหาเงินที่ผิดกฎหมายและปล้นประชาชน ในส่วนของ GAM มองในลักษณะที่ตรงข้ามว่าเป็นองค์กรที่กำลังทำหน้าที่เพื่อความเป็นเอกราชของอาเจห์ ของรัฐบาล พลัดถิ่นจึงสามารถจัดเก็บภาษีจากประชาชนของตนเองตามกฎหมายสากลได้

การจัดการองค์กรทางด้านกองกำลังติดอาวุธ

หน่วยกำลังรบของ GAM ขนานนามกองกำลังว่าเป็น Tentara Negara Aceh หรือ TNA (Army of the State of Aceh) มีผู้บัญชาการ TNA หรือ Panglima TNA ซึ่งครั้งหนึ่ง นาย มูซากี มานาฟ (Muzzakir Manaf) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด โดยมี ผบ.ภาค (Panglima Wilayah) จำนวน 17 คน/17 ภาค แต่ละ Wilayah ประกอบด้วย 4 Daerah มี Pomylima Darvah เป็น ผบ.ควบคุมในระดับอำเภอ และมี Panglima Sagor เป็น ผบ.หน่วย รองลงไป และระดับต่ำสุดจะเป็นระดับส่วน (Cell) ซึ่งทราบกันดีว่ากองกำลัง GAM ในระดับล่างนี้แตกต่างและไร้วินัยมากที่สุด งานที่กองกำลังในระดับล่างปฏิบัติ คือ การหาประโยชน์ส่วนตัว และบางครั้งดำเนินงานสวนทางกับนโยบายข้างบนอยู่เนืองๆ มีคำถามว่า GAM ติดต่อกันอย่างไร ได้พบว่าในขณะปฏิบัติหน้าที่ในอาเจห์นั้น ทุกฝ่ายใช้โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมติดต่อกัน มีการใช้เครื่องบอกพิกัด GPS โดยมากจะใช้ส่งข้อความแบบ SMS บรรดากองกำลังในสนามทั้งหลายจะรายงานผลการปฏิบัติต่อผู้บังคับบัญชา ข้าราชการเป็นประจำ รวมทั้ง ผบ.กองกำลัง GAM และรายงานหัวหน้าที่เป็น ผู้นำสูงสุดที่อยู่ในสวีเดน

สายงานบังคับบัญชาของ GAM มีความชัดเจน มีกระบวนการติดต่ออย่างเป็นระบบ ผู้นำ GAM ในสวีเดนสามารถตรวจสอบลงไปจนถึงระดับล่างได้ไม่ยาก หรือผู้นำกับหน่วยในระดับล่างก็สามารถติดต่อกับผู้นำในสวีเดนได้ ทำให้ข้อมูลทุกอย่างไหลลื่นและทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลา กลไกดังกล่าวนับเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง อย่างกรณีการเสียชีวิตของ ผบ.กองกำลัง GAM คือ Abdullah Sgafif เมื่อ 22 ม.ค.2545 ถูกบันทึกไว้ว่า“การสูญเสีย Abdullah Sgafif เป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวง แต่จะไม่สามารถตัดการติดต่อสื่อสารของพวกเราได้เลย เพราะเรายังคงติดต่อกับบรรดา ผบ.หน่วย ในสนามทั้งหลายโดย เรายังควบคุมสั่งการได้ การตายของ Abdullah ไม่ส่งผลต่องานของเรา เรายังได้รับรายงานจาก ผบ.หน่วยต่างๆ สม่ำเสมอ มันเป็นโครงข่ายการทำงานที่ดี ถ้าการทำงานในสนาม มีปัญหา เราช่วยพวกเขาให้ติดต่อกันได้”

อย่างไรก็ตามการใช้โทรศัพท์ติดต่องานดังกล่าว บางครั้งก็สร้างความสับสนในแง่ของสายการบังคับบัญชา อย่างเช่นในกรณี ผบ.หน่วย Central Command โดย มาลิค มามุด ออกคำสั่งจากสวีเดน ลงมายัง ผบ.ทหารสูงสุด GAM และยังปรึกษาไปยัง ผบ.หน่วย ระดับล่าง และ ลงไปถึงสอบถามทางหน่วยในพื้นที่ลงไปอีก ซึ่งทำให้เกิดการสับสน หรือบางครั้งเป็นการก้าวล่วงลงมามากเกินไป

การสร้างอาณาจักรของ GAM และการหาแนวร่วม

เมื่อตอนก่อตั้ง GAM ในปี พ.ศ.2519 นั้น GAM มีแนวร่วมและฐานที่มั่นไม่มากนัก ชาวอาเจห์ทั่วไปมีความรู้สึกเห็นใจ GAM แต่ก็มิได้ฝักใฝ่กระตือรือร้น ที่จะเข้าไปร่วมกิจกรรมด้วยเนื่องจากเหตุผลที่ว่าพวก GAM ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านศาสนามากนัก ซึ่งทำให้เกิดความห่างเหิน di Tiro บันทึกไว้ว่า มีแนวร่วมเพียง 70 คน เท่านั้น ที่เข้ามาร่วมอุดมการณ์ในการจัดตั้ง GAM ระยะแรกทำหน้าที่ในด้านการส่งกำลังบำรุงให้กับกลุ่มกองโจร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ Pidie และหมู่บ้าน Tiro แนวร่วมเหล่านั้นล้วนมาจากพื้นที่ห่างไกล มีเชื้อสายซูกู ( Suku) อาเจห์ มี ความภักดีต่อตระกูล di Tiro และโดยเฉพาะมีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลอินโดนีเซีย แนวร่วมคนหนึ่งคือ ฮัสซันนั้นเจ็บแค้นทางราชการมานานเนื่องจากคนในครอบครัวของเขาถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐสังหาร

เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวร่วมระดับบริหารของ GAM เป็นผู้มีการศึกษาดีในระดับมหาวิทยาลัย เช่น ตัวของ di Tiro Dr.Husaini Humam Dr.Laini Abdullah Dr.Zubir Mahmud และ Dr.Muchter Hasbi ซึ่งเป็นระดับนักธุรกิจ ส่วนผู้นำองค์กรระดับกลางๆ โดยมากจะเป็นแนวร่วมที่ทำการสู้รบในสมัยปี พ.ศ.2496 – 2502 (ที่มีจุดมุ่งหมายให้อาเจห์เป็นรัฐอิสลามบริสุทธิ์) ช่วงที่บรรดาผู้นำ GAM ต้องหลบหนีออกนอกประเทศเป็นผลให้เกิดการมอบตัว มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกใน 2 ห้วงระยะเวลา คือ ในช่วงปี พ.ศ.2529 – 2532 ประเทศลิเบียได้เข้ามาให้การสนับสนุน ในการฝึกให้กับ GAM บรรดาชาวอาเจห์ที่สนับสนุนได้เดินทางเข้าไปในลิเบีย เพื่อรับการฝึกทางทหาร นาย มาลิค มามุด ได้บันทึกไว้ว่า “ท่าน Hasan di Tiro ได้รับจดหมายจากบรรดาชาวนาอาเจห์ ผู้ยากไร้ทั้งหลายว่า จะขอมอบลูกชายให้เป็นของขวัญและขอให้ท่านนำลูกของเราไปฝึก เพื่อเป็นนักรบอาเจห์ที่เก่งกล้า ซึ่งสร้างความตื้นตันให้เป็นอย่างมาก”

ในห้วงเวลาดังกล่าวนั้น ผบ. GAM คือ โซเฟียน ดาวูด (Sofyan Dawood) และ อิชาค ดาอูด (Ishak Daud) โฆษก GAM ภาคตะวันออก ได้เข้ามาเป็นแนวร่วมดังกล่าวรวมทั้งเป็น แรงบันดาลใจให้เด็กหนุ่มอาเจห์ในช่วงหลังเข้ามาร่วมขบวนการ และตัวโซเฟียนเองได้เข้ามาเป็นนักรบ GAM ในปี พ.ศ.2529 โซเฟียน ไม่ได้ไปฝึกที่ลิเบีย และไม่ได้ฝึกในอาเจห์แต่อย่างใด แต่ต้องกระโดดเข้ามา เพราะสถานการณ์บังคับในห้วง DOM โดยเฉพาะความเจ็บแค้นที่คนในครอบครัว ถูกสังหารในปี พ.ศ.2520 บิดาของโซเฟียนซึ่งเป็น GAM รุ่นแรกถูกทหารอินโดนีเซียสังหาร พี่น้องอีก 2 คน ได้รับความทุกข์ทรมาน เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักรบที่มีความสามารถ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโฆษกของ GAM ในภาคเหนือ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกใหญ่ของ GAM หลังจาก Ismail Shah Putra เสียชีวิตในเดือน มี.ค.2545 โซเฟียน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผบ.กองกำลัง GAM ภาคเหนือของอาเจห์แทน มูซากี มานาฟ ( Mazzakir Manaf ) ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ทหารสูงสุด ของ GAM (AGAM/TNA) แทนที่ Abdullah Syahlif

แผนภาพที่ 5 : หนังสือพิมพ์ Modus ในอาเจห์ลงภาพ พล.ท.นิพัทธ์ฯ คู่กับ นายโซเฟียน ดาวูด ผบ.กกล.GAM ที่ไม่เคยปรากฏตัวมานาน 15 ปี



สมาชิกคนสำคัญอีกคนของ GAM คือ อิชาค ดาอูด ตัดสินใจเข้ามาเป็นแนวร่วมของ GAM พร้อมกับ โซเฟียน ในปี พ.ศ.2529 โดยพักอาศัยอยู่ในสิงคโปร์ อิชาค ไปเข้าร่วมในการฝึกจากหลายสำนักในต่างประเทศ เดือน มี.ค.2533 เขาถูกจับในข้อหาสังหารทหารอินโดนีเซีย 2 นาย และ เด็ก 2 คน ในการเข้าโจมตีหมู่บ้านแห่งหนึ่ง แต่ติดคุกไม่นานก็สามารถแหกคุกหลบหนีเข้าไปในมาเลเซีย ทางการอินโดนีเซียใช้เวลาสืบสวนทำคดีอยู่ 2 ปี จึงจับขึ้นศาลได้และถูกศาลพิพากษาจำคุก 20 ปี แต่ติดคุกได้เพียง 1 ปี ก็ได้รับนิรโทษกรรมจาก ประธานาธิบดี ฮาบีบี เขาจึงหันกลับไปร่วมขบวนการ GAM อีกจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นโฆษกของ GAM อิชาค ได้เคยให้เหตุผลในการเข้าร่วมต่อสู้ว่า “ผมเองและ ผบ.ทหารสูงสุด GAM คือ มูซากี มานาฟ (Mazzakir Manaf) ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกันในห้วงเวลาที่ di Tiro กำลังทำความฝันให้เป็นจริง ผู้คนชาวอาเจห์จำนวนมาก ได้รู้เห็นเป็นประจักษ์พยานถึงความทุกข์ยากที่กองทัพอินโดนีเซียเข้ามาปราบปรามพวกเราเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี”

GAM ขยายพื้นที่อิทธิพลของตนเองอย่างได้ผล เมื่อบรรดากลุ่มกองโจรกลุ่มแรกกลับมาจากการฝึกในลิเบีย GAM เข้าไปควบคุมพื้นที่ Greater Aceh North Aceh และ East Aceh มีการระดมสรรพกำลังอย่างเข้มแข็งโดยเฉพาะชาวอาเจห์พื้นเมืองที่มีความผูกพันกันทางสายเลือดอยู่แล้ว พื้นที่อิทธิพลของ GAM มักจะเป็นพื้นที่ที่เห็นว่ามีเงื่อนไขในเรื่องความเสมอภาค มี ความเหลื่อมล้ำเปราะบาง มีการ ตอกย้ำความคิดลงไปให้แนวร่วมทั้งหลายได้เห็นว่า ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของพวกเขานั้นกลับถูกกอบโกย ออกนอกพื้นที่สร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้แก่คนอื่น ในขณะที่เจ้าของพื้นที่อาเจห์ยากจนต่อไป บรรดาพ่อค้าประชาชนทั้งหมดต่างเห็นสอดคล้องได้โดยง่าย แต่สำหรับแนวร่วมที่ GAM พุ่งเป้าเข้าไปหาคือบรรดาเด็กหนุ่มที่ไม่มีงานทำในพื้นที่ป่าเขาที่ไม่มีพื้นฐานการศึกษา ยิ่งทางการอินโดนีเซียเร่งปราบปรามมากเท่าใด เด็กหนุ่มเหล่านี้ยิ่งพากันเข้ามาเป็นแนวร่วมมากขึ้นโดยมุ่งหวังที่จะมาล้างแค้นให้กับ ญาติพี่น้องของตนที่ถูกทางการรังแก

ส่วนสมาชิกคนสำคัญอีกคนหนึ่งคือ อัมรี บิน อับดุล วาฮับ (Amri Bin Abdul Wahab ) ซึ่งเป็น ผบ.ภาค ในพื้นที่ภาค di Tiro ก็มีประวัติความเป็นมาในการเข้ามาเป็นแนวร่วม GAM หลังจาก ทางการอินโดนีเซียประกาศกวาดล้างครั้งใหญ่ (DOM) ในปี พ.ศ.2540 ก่อนเข้ามาร่วมงานเขาฝักใฝ่ในขบวนการเอกราชตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 โดยลุงของ อัมรี ได้เคยไปรับการฝึกในลิเบียมาก่อน จึงชักชวนเขาให้เข้าร่วมกับ GAM ประกอบกับเพื่อนสนิทหลายคนถูกสังหาร อัมรี เป็นนักรบในป่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผบ.กองกำลัง ในปี พ.ศ.2544 ในช่วงที่ Abdullah Syalfi เป็น ผบ.ทหารสูงสุด อัมรี มีความมุ่งมั่น โดยกล่าวว่า “ช่วงเวลาเลวร้ายที่สุดของพวกเราคือช่วงที่ดัชท์ปกครองเรา ประเทศที่อังกฤษปกครองจะมีโอกาสดีทางการศึกษาและสร้างความเป็นปึกแผ่น แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุด อันที่จริงแล้วไม่ได้เกิดจากดัชท์ แต่เกิดจากแนวคิดหลังยุคอาณานิคมของอินโดนีเซีย”

การขยายตัวของ GAM ในช่วงที่ 2 เริ่มในห้วงปี พ.ศ.2542 หลังจากยุทธการปราบปรามความไม่สงบครั้งใหญ่ของทางการอินโดนีเซียมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนออกมา จึงทำให้ GAM มีแนวร่วมเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก บรรดาแนวร่วมเหล่านี้ต่างฝังใจที่จะเข้ามาแก้แค้นกับทางการอินโดนีเซีย และต้องการเข้ามาเพื่อแสวงหาความความยุติธรรมที่อาจหลงเหลืออยู่ ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นการดึงผู้คนเข้ามาเป็น แนวร่วมได้อย่างมหาศาล จนทำให้เกิดนักรบหญิงขึ้นมาด้วยที่เรียกกันว่า “Inong Bale” ซึ่งบรรดาสตรีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแม่หม้ายที่สามีถูกสังหารในยุทธการ DOM เพราะเธอต่างประกาศตนเองเป็นลูกสาวของวีรชนผู้กล้าชาวอาเจห์

ในขณะเดียวกันสตรีชาวอาเจห์อีกจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเป็นแนวร่วม GAM เพราะว่าเธอเหล่านั้นเคยตกเป็นเหยื่อของบรรดาเจ้าหน้าที่ตำรวจ (Brimob) ที่มาสร้างความขมขื่น ความรุนแรงต่อสตรีในพื้นที่ GAM มองเห็นโอกาสที่ดีตรงนี้ จึงตั้งเป้าในการดึงสตรี แม่หม้าย เหล่านี้เข้ามาเป็นแนวร่วม และก็ประสบความสำเร็จได้โดยไม่ยากนัก เพราะสตรีเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ชิงชังเจ้าหน้าที่ของรัฐแบบเข้ากระดูกดำ ในบางพื้นที่ถึงกับมีการตั้งชื่อหมู่บ้านว่าเป็น “หมู่บ้านแม่หม้าย” เพราะผู้ชาย ส่วนใหญ่ถูกสังหารในระหว่างยุทธการ DOM บรรดา “แนวร่วมใหม่” ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ได้สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับ GAM อย่างเห็นได้ชัด และขยายตัวออกไปในพื้นที่อาเจห์ที่เหลือ แต่ผลกระทบในด้านลบได้ปรากฏขึ้นมาด้วย กล่าวคือ การมีแนวร่วมใหม่ของ GAM จำนวนหนึ่ง พบว่าการเข้ามาเป็น GAM ทำให้หาเงินได้มากขึ้นในเชิงคุณภาพพบว่าแนวร่วมใหม่ยังไม่มี ขีดความสามารถที่น่าพอใจ กลุ่มที่ไม่ใช่สายเลือดอาเจห์ดั้งเดิม ยังมีอุดมการณ์ไม่เข้มข้นเท่ากับ กลุ่มสายเลือดอาเจห์ ในขณะเดียวกันที่ในบางพื้นที่ก็ไม่สามารถเข้าไปมีอิทธิพลได้ เพราะทางการอินโดนีเซียได้เข้าไปปราบปรามประกอบกับเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีปัญหาหรือความยากจน

ดังนั้นจึงมีเรื่องที่บอกเล่ากันว่า GAM ได้พยายามขอให้แต่ละหมู่บ้านส่งผู้แทน 1 - 2 คน เข้าเป็นแนวร่วมให้ได้ และในทางปฏิบัติ GAM ก็ต้องใช้การคุกคาม ข่มขู่ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อสร้างความยำเกรงให้ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด จึงทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ติดตามมามากมาย รัฐบาลอินโดนีเซียเคยดำเนินนโยบายหยุดยิง 2 ครั้ง ซึ่ง GAM เข้าฉวยโอกาสนี้รีบเสริมความมั่นคงให้กับตนเอง ในช่วงการประกาศหยุดยิงครั้งแรก GAM มุ่งระดมหาแนวร่วมจากพื้นที่ฐานที่มั่น (Greater Aceh, north Aceh และ East Aceh) และพื้นที่บริเวณโดยรอบ โดยกำหนดให้เป็นฐานที่มั่น การหยุดยิงครั้งที่สองในช่วงนี้เรียกว่า Cessation of Hostilities Agreement หรือ COHA ในห้วงระหว่าง 9 ธ.ค.2542 – 18 พ.ค.2543 นั้น GAM มีเอกเทศมากขึ้นในการเสริมความมั่นคงแข็งแกร่ง ซึ่งแกนนำ GAM อาเจห์ในพื้นที่ ดารูมาลัม (Darumalam) ของอาเจห์ได้ให้ข้อมูลว่า “GAM พุ่งเป้าไปที่บรรดานักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อจะไห้เข้ามาเป็นแนวร่วม ซึ่งนาย อัมมิน บิน มาซากี ( Amin bin Marxaki) อธิบายว่ามีเหตุผล 3 ประการที่ผู้คนต่างเข้ามาเป็นแนวร่วม GAM คือ ประการแรก ประชาชนเห็นว่า GAM แข็งแกร่งและต้องการเข้ามาร่วมงาน ประการที่สอง ประชาชนทราบดีว่าทหารจะเข้ามาปฏิบัติการจึงทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมและคิดต่อสู้เพื่อชาติพันธ์ตนเอง และประการสุดท้าย ประชาชนไม่เชื่อใจรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่อย่างไร ก็ตามแนวร่วมเหล่านี้ต้องการให้โอกาสรัฐบาลอีกครั้ง เพื่อมอบความเป็นอิสระและความเป็นอยู่ ที่ดีให้ชาวอาเจห์ เราพบว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่เคยปรับเปลี่ยนนโยบายและประชาชนไม่เคยได้รับประโยชน์แต่อย่างใด มีแต่ผู้ปกครองท้องถิ่น (Pemda : regionalgov) และกองทัพเท่านั้น ที่ได้ประโยชน์”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น