14 ธันวาคม 2552


เรื่อง การมีส่วนร่วมของกองทัพไทย
กับกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย
-----------------
ลักษณะวิชายุทธศาสตร์
ผู้วิจัย พล.ท.นิพัทธ์ ทองเล็ก
หลักสูตร ปรอ. รุ่นที่ 20




จังหวัดอาเจห์ ตั้งอยู่บนส่วนปลายสุดของเกาะสุมาตรา ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา เหตุแห่งความรุนแรงได้อุบัติขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างกองกำลังที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการอาเจห์เสรี (Gerakan Aceh Merdeka ;GAM) ทำการต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยมุ่งหมายที่จะปลดปล่อยอาเจห์ให้เป็นรัฐอิสระ แยกตัวออกจากอินโดนีเซีย และในการวิจัยนี้จะตีกรอบในประเด็นของความขัดแย้งในอาเจห์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เพื่อศึกษาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์ ประวัติความเป็นมาของขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) ที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในหลายมิติ บทบาทของ EU และอาเซียน รวมทั้งการจัดองค์กร ในการสนับสนุนภารกิจกระบวนการสันติภาพ การมีส่วนร่วมของกองทัพไทยในกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์ และตรวจสอบการเชื่อมโยงกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

กระบวนการสันติภาพในอาเจห์จัดว่าประสบความสำเร็จ โดยสามารถยุติปัญหาความรุนแรงในอาเจห์ได้ ถึงแม้จะยังคงมีปัญหาทางเทคนิคอีกหลายประการที่รัฐบาลอินโดนีเซียจำเป็นต้องเจรจา ตกลงกับขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) ต่อไป ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่รัฐบาลอินโดนีเซีย เปิดโอกาสให้ขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) เสนอความต้องการ และรัฐบาลอินโดนีเซียพิจารณาตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้น โดยอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย สำหรับการทำบันทึกความเข้าใจ(MOU) ซึ่งเป็นผลผลิตจากการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างยึดถือ MOU เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ทำให้การปฏิบัติต่างๆ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน รวมทั้ง Aceh Monitoring Mission (AMM) นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางการไกล่เกลี่ยในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติของอีกฝ่าย นอกจากนี้การที่ Aceh Monitoring Mission (AMM) ได้เข้าไปตรวจสอบ การปฏิบัติตาม MOU ของทั้งสองฝ่าย ยังเป็นการขจัดความไม่ไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพให้หมดไปได้

ความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ นับเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งไทยสามารถนำมาพิจารณาใช้เป็นตัวอย่างในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทย โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ และพิจารณานำรูปแบบกระบวนการสันติภาพในอาเจห์มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม


บทที่ 1
บทนำ

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

จังหวัดอาเจห์ ตั้งอยู่บนส่วนปลายสุดของเกาะสุมาตรา ในหมู่เกาะอินโดนีเซีย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา เหตุแห่งความรุนแรงได้อุบัติขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างกองกำลังที่เรียกตัวเองว่า ขบวนการอาเจห์เสรี (Free Aceh Movement เรียกเป็นภาษาท้องถิ่นว่า Gerakan Aceh Merdeka หรือ GAM) ทำการต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดย GAM มุ่งหมายที่จะปลดปล่อยอาเจห์ให้เป็นรัฐอิสระ แยกตัวออกจากอินโดนีเซีย รากเหง้าของความขัดแย้งดังกล่าวมาจากแนวคิดที่ว่าชาวอาเจห์มิใช่เชื้อชาติเผ่าพันธุ์เดียวกับชาวอินโดนีเซีย กอรปกับอดีตประธานาธิบดี ซูการ์โน (ประธานาธิบดีคนแรกของ อินโดนีเซีย) ได้เคยให้สัญญาว่าจะให้สถานะพิเศษแก่จังหวัดอาเจห์ ในฐานะที่ชาวอาเจห์ได้ร่วมในการต่อสู้เพื่อให้อินโดนีเซียได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์ แต่สัญญาดังกล่าวถูกยกเลิก ความพยายามต่อสู้ของชาวอาเจห์เพื่อปกป้องมาตุภูมิ อนุรักษ์กลุ่มชาติพันธ์ตนเองนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเป็นสังคมอิสลามที่เคร่งครัด ที่เคยมีสุลต่านปกครองมาก่อน



อดีตประธานาธิบดี ซูการ์โน (Sukarno)

แผนภาพที่ 1 : อดีตประธานาธิบดี ซูการ์โน (Sukarno)“เคยสัญญาว่าจะให้สถานะพิเศษแก่จังหวัดอาเจห์”

ระยะเวลาที่ผ่านมา ความขัดแย้ง การต่อสู้ การก่อความไม่สงบในอาเจห์ส่งผลกระทบต่อนโยบายการสร้างชาติของรัฐบาลอินโดนีเซีย จนถึงรัฐบาลซูฮาร์โต้ ทำให้รัฐบาลอินโดนีเซีย ต้องประสบกับความยุ่งยากทางการเมือง และเศรษฐกิจตลอดมา ซึ่งการวิจัยนี้จะตีกรอบในประเด็นของความขัดแย้งในอาเจห์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 รวมทั้งการดำเนินการต่อสู้ของกลุ่ม GAM การเข้ามามีส่วนเจรจาหยุดยิงของ สหภาพยุโรป (EU) ที่ร่วมกับอาเซียน (ASEAN) บทบาทของ ทหารไทย (บางส่วน) ของหน่วยสังเกตการณ์หยุดยิงในอาเจห์ (Aceh Monitoring : Mission AMM) และปัจจัยแห่งความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพในอาเจห์

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1.เพื่อศึกษารากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทยทางทะเล
2. เพื่อศึกษาความเป็นมาของขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) ที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในหลายมิติ
3. เพื่อศึกษาบทบาทของ EU และอาเซียน รวมทั้งการจัดองค์กร ในการสนับสนุนภารกิจกระบวนการสันติภาพ
4. เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมของกองทัพไทยในกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์
5. เพื่อตรวจสอบการเชื่อมโยงปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์กับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย

ขอบเขตการวิจัย

1. เริ่มตั้งแต่ 15 ส.ค.2548 ซึ่งตรงกับวันที่ผู้แทนรัฐบาลอินโดนีเซีย ผู้นำ GAM และนาย อาติชารี ( Ahtisari ) อดีตประธานาธิบดี ฟินแลนด์ ในฐานะแกนหลักในการเจรจาสันติภาพ ลงนามใน MOU Helsinki ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ จนถึง วันที่ 14 มี.ค.2549 ซึ่งถือว่าจบภารกิจหลักของ AMM
2. ศึกษารากเหง้าของความไม่ลงรอย การไม่ยอมรับของกลุ่มชาติพันธ์ชวากับกลุ่มชาติพันธ์อาเจห์
3. วิเคราะห์การทำงานของกลุ่มบุคคลที่ทำงานในทางลับ เพื่อให้เกิดการเจราจาระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย กับกลุ่ม GAM จนเป็นผลให้เกิดการลงนามใน MOU Helsinki
4. พิจารณาการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ AMM ที่เป็นการบูรณาการอย่างสมบูรณ์แบบ (Fully Integrated) ระหว่าง สหภาพยุโรป ( EU ) กับอาเซียน ( ASEAN )ที่ทำให้เกิดความราบรื่นในการปฏิบัติภารกิจ
5. ศึกษาการปฏิบัติภารกิจตามเงื่อนไข MOU ของทางการอินโดนีเซีย และGAM
6. ศึกษาบทบาทของกำลังพลของกองทัพไทยในการเข้าร่วมกระบวนการสันติภาพ
7. วิเคราะห์ปัจจัยแห่งชัยชนะและความสำเร็จของภารกิจในทัศนะของผู้วิจัย

แผนภาพที่ 2 แสดงกรอบแนวความคิด

สมมติฐานการวิจัย

ความมุ่งมั่นของรัฐบาลอินโดนีเซีย ในการยุติปัญหาการก่อความไม่สงบในอาเจห์ และต้องการให้เกิดความสันติภาพในอาเจห์นั้น มีองค์ประกอบและปัจจัยในการดำเนินการที่สลับซับซ้อน มีทั้งการปฏิบัติตามหลักการและนอกหลักการ ในที่สุดสันติภาพในอาเจห์ได้เป็น
“ตัวแบบ” ของกระบวนการสันติภาพที่ได้รับการยกย่องจากสังคมโลก สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดสันติภาพ ซึ่งงานวิจัยนี้จะเปิดเผยและมุ่งเน้นเปิดเผย “ภาคปฏิบัติ” หรือ การแปลงแผนงานไปสู่การปฏิบัติ (Implementation) ของทุกภาคส่วนที่ประสานกลมกลืนอย่างดียิ่ง

ข้อตกลงเบื้องต้น

1. ข้อมูลส่วนมากมาจากการพบปะสนทนาแบบไม่เป็นทางการระหว่างผู้วิจัยกับอดีตนักรบของขบวนการอาเจห์เสรี ( GAM ) ซึ่งต่อมาได้รับการนิรโทษกรรมจากรัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อ 31 ส.ค.2548 และข้อมูลบางส่วนมาจาก บุคคลที่เกี่ยวข้องในระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ไม่สามารถหาทฤษฎี หรือหลักฐานใดมาประกอบได้ รวมทั้งการค้นคว้าเพิ่มเติมจากเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
2. ข้อมูลและ/หรือ การปฏิบัติใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง (ทั้งทหาร ตำรวจ อินโดนีเซีย และ GAM) ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ถือว่าเป็นข้อมูลจากบุคคลที่ได้รับการนิรโทษกรรมจากรัฐบาลอินโดนีเซียแล้ว และบุคคลเหล่านั้น ปัจจุบันเป็นผู้บริสุทธิ์ การปฏิบัติใดๆ ที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก่อนการนิรโทษกรรมนั้น ไม่มีผลทางกฎหมายย้อนหลังในการสืบสวนสอบสวนทั้งสิ้น

วิธีการดำเนินการวิจัย

การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีกรอบเวลาตั้งแต่ 4 ส.ค.2548 ถึง 14 มี.ค.2549 ขณะที่ผู้วิจัยได้ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่จังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย ทำการศึกษาโดยใช้แหล่งข้อมูลจากประสบการณ์ในการทำงานด้วยตนเอง จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างการปฏิบัติงาน กับผู้ร่วมงาน รวมทั้งค้นคว้าจากเอกสาร ทั้งนี้ผู้วิจัยได้มีการเก็บข้อมูลไว้เป็นส่วนตัวตั้งแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่จนจบภารกิจ

ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

1. ทราบถึงปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย และ ความเป็นมาของขบวนการอาเจห์เสรี (GAM) ที่มีความเชื่อมโยงกับชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในหลายมิติ รวมทั้งบทบาทของ EU และอาเซียน ในการจัดองค์กรสนับสนุนภารกิจในกระบวนการสันติภาพ เป็นการรวบรวมหลักฐาน ข้อมูล สถิติไว้เป็นกรณีศึกษาของกระบวนการทำงานที่ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มี อาณาเขตติดต่อทางทะเลกับประเทศไทย
2. ทราบถึงบทบาทของกองทัพไทย (กำลังพลจากกองทัพไทย) จำนวนหนึ่งที่เข้าไปมีส่วนในความสำเร็จ และได้รับความชื่นชมจากทุกฝ่าย ในการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพในจังหวัดอาเจห์
3. ทราบถึงความเชื่อมโยงของปัญหาการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของไทย กับปัญหาการก่อความไม่สงบ (Insurgency) ในอาเจห์ ซึ่งจากการเปิดเผยของอดีตผู้ร่วมปฏิบัติงานในกลุ่มของขบวนการอาเจห์ (GAM) จนทำให้ทราบถึงสายสัมพันธ์ทางอุดมการณ์ของชาวอาเจห์ที่เชื่อมต่อกับขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และเป็นข้อมูล นำมาวิเคราะห์ เพื่อเสนอแนะเป็นแนวทางในการทำงานของทุกภาคส่วนราชการ ในการแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

คำจำกัดความ

AMM Aceh Monitoring Mission
ASEAN Association of Southeast Asian Nations
ASNLF Aceh Sumatra National Liberation Front
Brimob Indonesian Paramilitary Riot Police
BRA Aceh Rehabilitation Board
CMI Crisis Management Initiative
COSA Commission of Security Arrangements
COHA Cessation of Hostilities Agreement
DOM Daerah Opevari Militier
EU European Union สหภาพยุโรป
ESDP Commission of Security Arrangements
GAERC General Affairs and External Relations Council
GAM Gerakan Aceh Merdeka ขบวนการอาเจห์เสรี(Free Aceh Movement)
HDC Henry Dunant Centre for Humanitarian Dialogue
IOM International Organization for Migration
IMP Initial Monitoring Presence
JSC Joint Security Committee
JICA Japanese Government Aid Organization in Indonesia
KPA Veteran Organization of GAM
LOGA Law on the Governing of Aceh
MP Majelis Pemrintahan
MOU Memorandum of Understanding
SBY Susilo Bambang Yudoyhono ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
SGI Indonesian Army Intelligence Service
SRSG Special Representative Secretary General
TAM Technical Assessment Mission
TNA GAM Military Wing
TNI Indonesian Armed Force
UNHCR UN High Commission for Refugee หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ
เพื่อผู้ลี้ภัย
USAID UAS Government Development Development Organization
UNDP UN Development Programme
WHO World health Organization องค์การอนามัยโลก
Yufuf Kalla รองประธานาธิบดี อินโดนีเซีย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น