14 ธันวาคม 2552

บทที่ 4



บทที่ 4
วิเคราะห์ปัจจัยแห่งความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ
ขั้นตอนการเตรียมการนำกองทัพเข้าร่วม
ในกระบวนการสันติภาพ
------------------

..........การแก้ปัญหาอาเจห์ ในสมัยหลังรัฐบาลซูฮาร์โต ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า กระบวนการเจรจาต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเพื่อให้การเมืองลงตัว การขาดการสนับสนุนจากกองทัพ โดยทั่วไปผู้นำเหล่าทัพจะต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆ กองทัพต้องการเอาชนะ GAM ด้วยกำลังทหารล้วนๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อเปิดยุทธการ Operasi Terpadu (พ.ศ.2546) ผบ.ทบ. ได้มีคำสั่งให้ “ทำลายกองกำลัง GAM ให้ราบคาบ โดยทำลาย ฆ่า ทุกคนที่ยังจับอาวุธต่อต้าน” กองทัพมีคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับการยืนยันจุดยืนนี้ กองทัพแสดงความเป็นชาตินิยม และไม่เต็มใจที่จะเจรจา สาเหตุเช่นนี้เองที่ผู้นำเหล่าทัพต้องถูกดึงมาร่วมรัฐบาล
ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (Susilo Bambang Yudoyhono;SBY) รีบเข้าจัดการกับความท้าทายนี้ในสัปดาห์แรกๆ ของการเข้ารับตำแหน่ง ในห้วงสุดท้ายก่อนลงจากตำแหน่ง ประธานาธิบดีมากาวาตี ได้ส่งจดหมายไปยังสภาเพื่อเสนอ พล.อ.Ryanizard Ryacudu เสธ.ทบ. ในขณะนั้น ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คนต่อไป Ryacudu เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างชัดเจนและได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากภายในกองทัพ อย่างไรก็ตาม SBY ได้เรียกจดหมายฉบับนั้นกลับ และต่ออายุรับราชการให้กับ พล.อ.เอ็นดรี อาร์โตโน ซูฮาร์โต ผบ.ทบ. คนเดิม ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่มีความสำคัญมาก “Ryacudu เป็นผู้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในกองทัพ” ในฐานะ เสธ.ทบ. แต่อย่างไรก็ตามเขายังมีอำนาจในการตัดสินใจต่อนโยบายที่สำคัญๆ
ในปี พ.ศ.2546 Ryauedu เป็นผู้ต่อต้านการดำเนินการเพื่อสันติภาพในอาเจห์ที่รุนแรงที่สุด และเชื่อว่าเขาเป็นต้นเหตุให้การเจรจาล้มเหลว รัฐมนตรีหลายคนกล่าวว่า หาก Ryacudu ได้เป็น ผบ.ทบ. ก็จะไม่มีการเจรจาสันติภาพเกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม พล.อ.เอ็นดรี อาร์โตโน
ซูฮาร์โต ก็ไม่ใช่นักปฏิรูปหัวรุนแรงนัก หากแต่เพียงได้รับความไว้วางใจจาก SBY ว่าเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้าง และเป็นผู้ให้การสนับสนุนการดำเนินการเพื่อสันติภาพ ผู้ใกล้ชิดในการเจรจารู้สึกว่าซูฮาร์โต มีแง่มุมที่มองโลกค่อนข้างซับซ้อนเอียงไปในทิศทางของนักการเมืองมากกว่ายึดถือหลักการ และพร้อมที่จะยอมรับและปรับสภาพให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย
SBY ใช้ พล.อ.ซูฮาร์โตในการดึงกองทัพไม่ให้แตกแถวตามนโยบายของเขา เมื่อ Ryacudu ยังต่อต้านการเจรจากับ GAM SBY ได้ขอให้ ซูฮาร์โต ควบคุมการให้สัมภาษณ์ของ ฝ่ายทหารและให้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และSBY ได้สานต่อนโยบายโดย มี.ค.2548 ได้กล่าวในลักษณะนโยบายเดียวกันที่ บก.ทบ. ในพิธีประดับยศ ผบ.หน่วยทหาร SBY อ้างว่าเป็นการเสี่ยงที่ได้ใคร่ครวญแล้ว แต่ก็มีความเชื่อมั่นในผลที่จะตามมา ภายหลังการล่มสลายของ ซูฮาร์โตเล็กน้อย ต่อมาได้มีประชามติเรียกร้องให้มีการปรับปรุงในกองทัพ SBY ได้แจกแบบสอบถามเพื่อให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้แสดงความคิดเห็น ปรากฏว่าร้อยละ 60 สนับสนุนการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องการให้ค่อยเป็นค่อยไปและอยู่ในความควบคุม ทางสายกลางนี้เป็นกลุ่มใหญ่แต่ไม่พูดอย่างเปิดเผยหรือทำตัวเด่น และวิธีนี้ก็เป็นทางเลือกของ SBY เช่นกัน ประมาณร้อยละ 25 ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงและประมาณร้อยละ 15 ต้องการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นายทหารหนุ่ม (พ.อ. ลงมา) ไม่ค่อยยุ่งเกี่ยวการเมือง และเปิดกว้าง กล่าวว่าสภาวะแวดล้อมโปร่งใสในการดำเนินการเปลี่ยนแปลง จุดสำคัญในการที่ SBY เรียกจดหมายการแต่งตั้ง Ryacudu คืนและต่อมาได้ดึงกองทัพเข้ามาร่วมงานเป็นการต่อยอดจากการเจรจาเฮลซิงกิ การยับยั้ง Ryacudu ขึ้นรับตำแหน่ง ผบ.ทหารสูงสุด ในกองทัพ และต่อมาได้ถอดเขาออกจากตำแหน่ง เสธ.ทบ. ใน ก.พ.2548 เป็นการยืนยันสิทธิในการเป็นผู้นำของ SBY และการควบคุมกองทัพโดยประธานาธิบดีที่มาจากพลเรือน ความสำเร็จของยุค SBY ในการบังคับให้กองทัพยอมทำตามกรณีอาเจห์ เป็นเครื่องแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างพลเรือน – ทหาร ในสมัยหลังยุคซูฮาร์โต เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลสามารถที่จะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพในการเจรจาต่อรองกับกลุ่มแบ่งแยกSBY มีนโยบายว่า หากมีการตกลงจะต้องอยู่ใน 2 ประเด็นพื้นฐานนี้
ประเด็นที่ 1 GAM ต้องยอมรับรัฐแห่งอินโดนีเซียว่ามีบูรณภาพแห่งดินแดน
ประเด็นที่ 2 หากมีการตกลงใดๆ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย Jasuf Kalla พัฒนาแนวทางของรัฐบาลซึ่งอยู่ในบันทึกช่วยจำต่อ SBY เมื่อ 9 ม.ค.2548 เมื่อ SBY ให้ความเห็นชอบจึงเป็นข้ออ้างอิงให้กับทีมเจรจาและเป็นการประกาศต่อสาธารณชนเมื่อ 10 ม.ค.2548
นโยบายของ SBY ประธานาธิบดีเมกะวาตี ซูการ์โนบุตรี คล้ายคลึงกัน โดยเน้นไปยังความเป็นเอกภาพของชาติมาอันดับแรก ซึ่งเป็นความเชื่อของทั้ง SBY และ Kalla ว่าเขาทั้งสองสามารถขายความคิดนี้ให้กับผู้มีผลได้ผลเสีย กลุ่มบุคคลสำคัญในจาการ์ตาได้ เช่น ผู้นำทางทหาร และผู้นำพรรคการเมืองจาก DPR และแน่นอนว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มเดิมๆ ที่เผชิญหน้ากับคณะบริหารชุดก่อนมาแล้ว SBY และ Kalla ได้จัดชุดเจรจาที่ไม่เป็นทางการเพื่อพบกับ GAM ที่เฮลซิงกิ เขาทั้งสองเลี่ยงระบบราชการและจงใจแต่งตั้งชุดทำงานเฉพาะกิจ ประกอบด้วยบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเจาะจงและมีความเชื่อมั่นสูง สามารถพูดตรงไปตรงมากับทั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี และใช้ความสามารถและประสบการณ์เฉพาะ ที่โต๊ะเจรจาได้ สมาชิกแกนนำ 3 คน ของชุด ถูกเลือกมามิใช่จากตำแหน่งเดิมหรือหน่วยงานของรัฐ ฮามิ อะวารุดดิน (รัฐมนตรียุติธรรมและสิทธิมนุษยชน) เป็นผู้นำชุดเจรจาและเคยทำงานใกล้ชิด Jusuf Kalla ในกรณีความขัดแย้ง Poso และ Sofyan Djalil (รัฐมนตรีคมนาคม) เป็นชาวอาเจห์ โดยกำเนิด ถูกเลือกเพราะมีความประสงค์ที่จะสร้างความสัมพันธ์โดยตรงและส่วนตัวกับผู้แทน GAM และนายแพทย์ ฟาริด ฮุสเซน (ผอ.กรมสุขภาพ) ซึ่งติดตามผู้นำ GAM มาตลอดระยะเวลากว่า 18 เดือน และเพราะว่าเขาเป็นคนที่มีนิสัยสุภาพและ มีความชำนาญในงานด้านการอำนวยความสะดวก ความจริงอีกข้อหนึ่งที่ว่าไม่มีสมาชิกระดับนำของคณะอินโดนีเซียเป็นชาวชวา ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นสำคัญด้วย มันเป็นความพยายามที่ละเอียดอ่อนต่อความเกลียดชังของ GAM ต่อการ “ยึดครองอาเจห์ของชาวชวา” นอกจากนี้ผู้แทนอินโดนีเซียยังจงใจหลีกเลี่ยงระบบราชการด้วย เมื่อการเจรจาเริ่มเดินหน้า
SBY มอบแนวทางว่า ทีมเจรจาจะต้องตั้งใจที่จะปฏิบัติต่อ GAM อย่างสมเกียรติ ไม่ใช่แบบจะเอาหรือไม่เอาก็ตามใจ เหมือนการเจรจาที่แล้วๆ มา ถ้าเราทำเหมือนอย่างเคยเหมือนกับเราเจรจาทางการทูต ซึ่งมีทั้งแบบแผนและโครงสร้างระบอบราชการ เราอาจจะเจอกับความยุ่งยากในการพบข้อตกลง มันจำเป็นมากที่เราต้องมีความยืดหยุ่น อย่างไรก็ตามเราก็หารือกับจาการ์ตาตลอดเวลา มีการแทรกแซงหรือการให้การสนับสนุนจากข้าราชการเพียงเล็กน้อย การปรึกษาหารือ ของคณะผู้แทนรัฐบาลที่เฮลซิงกิส่วนมากจะใช้โทรศัพท์ติดต่อกับ Kalla ที่อยู่ที่จาการ์ตา ก่อนออกเดินทางไปเฮลซิงกิ และหลังจากเดินทางกลับมาจาการ์ตา ทางคณะจะเดินทางเข้าพบประธานาธิบดีเพื่อสรุปสถานการณ์และวางแผนการเจรจาในรอบต่อไป สิ่งบอกเหตุว่าประธานาธิบดี SBY ให้ความสนใจและสนับสนุนการเจรจานั้นได้รับการยกเลิกจาก ฮามิด อะวารุดดิน ว่า SBY ปลีกตัวจากการเลี้ยงรับรองงานแต่งงานของบุตรชาย เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะได้ฟังการสรุปก่อนที่คณะจะเดินไปเฮลซิงกิ เพื่อเจรจาในรอบต่อไป อย่างไรก็ตามการเข้ามามีส่วนร่วมของหน่วยงานทางราชการ เข้ามามีบทบาทอย่างเป็นทางการเพียงเล็กน้อย เช่น การร่างเอกสารสำคัญ
จะเห็นได้ชัดว่า SBY และ Kalla จงใจลดอุปสรรคจากระบบราชการ การพูดแบบ เป็นนัย และการบ่อนทำลายจากราชการในคณะผู้แทน การบริหาร การทำงานนอกระบบ และการพึ่งพาการดำเนินนโยบายอย่างไม่เป็นทางการ ผลลัพธ์ของส่วนผสมระหว่างการสนับสนุนจากการเมืองระดับสูง ความยืดหยุ่นสูงสุดและการสื่อสารที่ค่อนข้างมีระเบียบ เป็นกุญแจสำคัญในการที่รัฐบาลสามารถควบคุมผู้สนับสนุนและกลุ่มผลประโยชน์ รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่อาจจะมีผลกระทบจากกองทัพ
เจตนารมณ์ของผู้นำอินโดนีเซียโดยเฉพาะ ประธานาธิบดี SBY และรองประธานาธิบดี Kalla ก่อนเข้ารับตำแหน่ง SBY และ Kalla มีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการเข้าถึงปัญหาอาเจห์ SBY มีความเชื่ออย่างมากว่าการแก้ปัญหาด้วยกำลังทหาร ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถาวรและเบ็ดเสร็จ จากประสบการณ์มากว่า 50 ปี ไม่ใช่เฉพาะที่อาเจห์เท่านั้น ในทำนองเดียวกัน Kalla ก็มีปรัชญา อันแรงกล้าในการเจรจาเพื่อหาหนทางยุติการต่อสู้ ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ นสพ. ฉบับหนึ่ง เลือกการเจรจาต่อรองกรณี อาเจห์ใกล้ถึงบทสรุป เมื่อ มิ.ย.2548 ว่า “ในประวัติศาสตร์ของเรา การแก้ปัญหาจำต้องผ่านกรรมวิธีการเจรจาเท่านั้น” ข้อยืนยันที่เข้มแข็งและโปร่งใสของ SBY และ Kalla เป็นการเปิดทางให้มีการพลิกแพลงรูปแบบการแก้ปัญหาของอาเจห์โดยใช้การเจรจา โดยมีบทเรียนจาก ครม. ของ นางเมกาวาตี ซึ่งไม่มีวิธีการเมืองที่เด่นชัดและมีการปกป้องเพียงเล็กน้อยต่อผู้ทำงานจากการโจมตี ซึ่งมาจากฝ่ายบริหารหรือ DPR ความมีเสถียรภาพในรัฐบาล SBY เป็นผลให้มีความได้เปรียบเหนือรัฐบาลสมัยที่แล้ว โดยมีลักษณะของการเจรจาอย่างต่อเนื่อง และการปฏิบัติการลับเพื่อล้มล้างความพยายามในการค้นหาสันติภาพ เป็นเหตุผลพื้นฐานในความล้มเหลวของการเจรจาในช่วงแรกๆ
ในคำกล่าวของ พล.ร.อ.Widodo Adi Sudjipto ที่กล่าวว่า “เราเป็นทีมเดียวกันที่มีนโยบายเดียวกัน” ทำให้ SBY ไม่ต้องคอยกังวลเกี่ยวกับนโยบายที่ขัดแย้งที่มาจากภายในคณะทำงานเดียวกัน หรือต้องแข่งขันในทางการเมืองกับรองประธานาธิบดี SBY และ Kalla เคยทำงานด้วยกันมาก่อนแล้วในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติในกรณี ของ โปโซ (Poso) และ อัมบน (Ambon) เขาทั้งสองเห็นพ้องว่าการใช้กำลังทหารจะไม่ได้รับผลสำเร็จ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เขาทั้งสองเห็นพ้องกันว่าการเจรจาต่อรองกับ GAM นั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การเริ่มเจรจาอีกครั้ง แต่อยู่ที่จะสามารถปกป้องและประคับประคองการเจรจาทั้งที่รู้ว่าจะมีการต่อต้านอย่างรุนแรงจากภายใน
การทำงานแบบบูรณาการระหว่าง ทีม SBY – Kalla
..........SBY บรรยายถึงบทบาทของเขาในการจัดตั้งเป้าหมายและพัฒนายุทธศาสตร์ สำหรับการเจรจาสันติภาพในอาเจห์ ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องและมีผลประโยชน์อยู่ 3 กลุ่ม
กลุ่มแรก คือประชาชนในท้องถิ่นซึ่งได้รับผลโดยตรงจากสถานการณ์อาเจห์ กลุ่มที่สอง เราต้องประเมินและบริหารกลุ่มผู้ลงคะแนนเสียง ซึ่งจะต่อต้านอย่างรุนแรงหากพวกเขามีความรู้สึกว่าถูกหักหลังจากพวกชาตินิยม ซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมือง ผู้นำเหล่าทัพในปัจจุบัน อดีตผู้บังคับบัญชาที่ยังคงดำรงการติดต่อกับกองทัพอยู่ กลุ่มสุดท้าย SBY มองไปยังประชาคมนานาชาติ ด้วยการสนับสนุนขนานใหญ่ของประชาคมนานาชาติในการฟื้นตัวหลังเหตุการณ์สึนามิ อาเจห์ตกเป็นข่าวใหญ่ แต่เขารู้สึกว่าประชาคมนานาชาติกำลังจับตามองว่ารัฐบาลของเขาจะหาข้อยุติความขัดแย้งกับ GAM และการสนับสนุนการพัฒนาระบอบการเมืองในอินโดนีเซียในระยะยาวด้วย การบริหารอย่างได้ผลต่อกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ทั้งสามกลุ่ม คนในพื้นที่ ประชาชน ระดับชาติ และระดับนานาชาติ จะเป็นกุญแจไขไปสู่ความตกลงเฮลซิงกิ SBY ให้ข้อสังเกตว่า ต้องเข้าไปสัมผัสกับทั้งสามด้าน เป็นบทเรียนที่เขาเชื่อว่าเขาได้รับมาจากอดีต เมื่อเมกาวาตีพลาดในการบริหารกลุ่มผลประโยชน์สำคัญๆ หมายถึงการสนับสนุนด้านการเมืองและการครอบคลุมที่จำเป็นต้องมีนั้น ไม่ปรากฏให้เห็นในขณะที่ SBY มองภาพอย่างกว้าง ๆ โดย มอบอำนาจให้ Kalla รับผิดชอบในรายละเอียดผลการเจรจา ส่วนมากจะเป็นร่างวิเคราะห์ส่วนตัวจากหลายทางเลือกหรือเอกสารเบื้องหลังหัวข้อสำคัญ เมื่อการเจรจาถึงขั้นสุดท้าย Kalla จะตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ให้ข้อคิดเห็นและแก้ไขแต่ละร่าง MOU ของแต่ละฝ่าย นาย ฮามิด อะวารุดดิน หัวหน้าเจรจาฝ่ายรัฐบาล รายงานว่า “Kalla โทรหาทุกสองชั่วโมง และในขั้นตอนสุดท้ายเราใช้ค่าโทรไป 20 ล้านรูเปีย (ประมาณ 2,000 USD)” ความแตกต่างในพื้นฐานการเมืองของคนทั้งสอง บางครั้งถูกนำมา กล่าวอ้างว่าเป็นจุดกำเนิดของความตึงเครียดหรือความขัดแย้งภายในของคณะทำงาน แต่ทั้งหมดเป็นการมองที่ขาดเหตุผล SBY และ Kalla เป็นกุญแจสำคัญในการทำงานเป็นทีมในการแก้ปัญหา อาเจห์
มีประเด็นของความแตกต่างของคนทั้งสองที่นำมาซึ่งการเกื้อหนุนและค้ำจุนกัน SBY ได้ชื่อว่าเป็นคนรอบคอบสูง ระมัดระวังตัวและสุขุมเยือกเย็น เขาจะตอบคำถามอย่างช้าๆ ลึกซึ้ง และพิจารณาถ้วนถี่ ส่วน Kalla กลับตรงกันข้าม เขาจะฉับไว สั้นและบ่อยครั้งที่ความคิดของเขาจะโดดไปโดดมาเพื่อให้เข้าบทสรุป ผบ.เหล่าทัพ หัวอนุรักษ์หรือนักการเมืองชาตินิยมหัวรุนแรง อาจจะรู้สึกอึดอัดกับการตัดสินใจแบบฉับไวของ Kalla ในทางกลับกัน SBY จะเยือกเย็นสุขุม และเขาจะชั่งน้ำหนักในแต่ละกรณีว่าเขาจะยอมได้แค่ไหนและจะยืดหยุ่นได้เท่าไหร่ สำหรับหลายๆ คนที่ยังข้องใจกับการเจรจากับ GAM ที่กล่าวมาน่าจะให้ความมั่นใจในการผูกมัดและถ่วงดุลกันได้
การมีคนกลางทำงานแบบไม่เปิดเผย
..........รัฐบาลอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการนำ GAM มาร่วมโต๊ะประชุมได้ ซึ่งทั้งรัฐบาลและ GAM ต่างได้รับความช่วยเหลือจากการผสมกันระหว่างมือสมัครเล่นที่มีแรงบันดาลใจจากผู้มีประสบการณ์ ที่ได้ร่วมกันช่วยทำให้ช่องว่างแห่งความแคลงใจของทั้งสองฝ่าย แคบลงและบรรลุข้อตกลงในที่สุด หนึ่งในมือสมัครเล่นเป็นพลเรือนชาวฟินแลนด์ ชื่อ Juha Christensen ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันดำเนินการโดยให้องค์กรเอกชนที่เรียกว่า Crisis Management Initiative (CMI) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เฮลซิงกิเข้าให้การสนับสนุน ณ จุดล่อแหลมระหว่างการเจรจาต่อรอง Juhaไม่เคยได้รับการอบรมพิเศษในฐานะคนกลางและไม่มีองค์กรอย่างเป็นทางการให้การยอมรับแต่ อาศัยความสนใจส่วนตัว พยายามจะช่วยรัฐบาลในการสถาปนาความสัมพันธ์กับผู้นำของ GAM เขาใช้เวลาส่วนตัวและทุนทรัพย์จำนวนมากเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ถึงแม้ว่าเขาจะเคยอาศัยอยู่ที่ Makassar ในปี พ.ศ.2533 และในปี พ.ศ.2546 เป็นเวลาที่ COHA ล่มสลาย Juha และครอบครัวพำนักอยู่ในฟินแลนด์ เขาพยายามสร้างความสัมพันธ์กับหัวหน้า GAM ที่อาศัยอยู่ในสวีเดน
Juha ช่วยรัฐบาลอินโดนีเซียสร้างความสัมพันธ์กับ GAM อย่างไรก็ตามในตอนแรกความพยายามของเขาไม่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าเขาจะมีความสัมพันธ์เก่าที่ Makassar ความพยายามของ Juha ทำให้รัฐบาลผิดหวัง เมื่อ ก.พ.2547 ดร. ฟาริด ฮุสเซน บินไปสต็อกโฮม โดยหวังที่จะได้พบตัวต่อตัวกับผู้นำของ GAM แต่ไม่สามารถเจรจากันได้ Juha ไม่ยอมแพ้โดยได้ติดต่อผู้สื่อข่าวฟินแลนด์ให้แนะนำตัวเขาต่ออดีตประธานาธิบดี อาตีซารี (Attisaari) ของฟินแลนด์ Ahtisaari เป็นประธานของ CMI หลังจากที่โทรศัพท์ประสานกลับไปกลับมา Ahtisarri ตกลงที่จะให้ Juha และ ดร. ฟาริด ฮุสเซน พบที่เฮลซิงกิ และในที่สุดก็ได้พูดคุยกับ Ahtisaari
Juha กลายเป็นกุญแจสำคัญ โดยการทุ่มเทช่วยเหลือประธานในการเจรจาที่เฮลซิกิ และได้ช่วยประคับประคองให้การเจรจาประสบผลสำเร็จ มีความสามารถในการพูดภาษาอินโดนีเซียอย่างคล่องแคล่ว ผสมผสานกับความชำนาญของ Ahtisaari ในด้านการทูต นักการเมืองที่ฉลาดสุขุม และมีอุปนิสัยที่จริงจัง จึงนำมาซึ่งความตกลงในที่สุด ในสายตาของผู้นำ GAM Ahtisaari ได้นำความเป็นสากลและความน่าเชื่อถือมาใช้ ซึ่งไม่เหมือนกับเมื่อครั้งที่ Henry Dunant Center (HDC) ใช้ในสมัยการเจรจา COHA ความโดดเด่นในแวดวงนานาชาติ ทำให้ผู้นำ GAM ที่ขี้ระแวงต้องรับฟัง ส่วน Ahtisaari เองก็มีความสามารถหลากหลายซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีส่วนสำคัญในการประคับประคองให้การเจรจาอยู่ในกรอบ ทรัพยากรเหล่านี้เป็นเรื่องของ ตัวบุคคลมากกว่า เป็นสถาบัน

คุณสมบัติเด่นของ Ahtisari ในบทบาทของประธานการเจรจาสันติภาพ
ประการแรก เขาเป็นประธานที่จริงจัง เข้มแข็ง เคร่งครัดในการรักษาการเจรจาให้อยู่ในประเด็น และจะไม่รีรอที่จะใช้น้ำเสียงที่จริงจังต่อ คณะผู้แทน หากเขารู้สึกว่าพวกนั้นจะหลงประเด็น จากความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงที่มีอยู่ Ahtisaari พร้อมที่จะใช้ไม้แข็งและเรียกร้อง
ทั้งสองฝ่าย
ประการที่สอง เขาจะแสดงความโปร่งใสตั้งแต่แรกเกี่ยวกับกรอบการเจรจาและกฎระเบียบของการเจรจาตลอดจนถึงอำนาจที่มอบให้CMI ตัวอย่างเช่น การเจรจาจะไม่พูดถึงอาเจห์ที่จะแยกออกเป็นเอกราช ส่วน GAMก็จะต้องไม่หาหนทางเพื่อขยายอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่นเกินโครงร่างของเขตปกครองตนเอง Ahtisaari ได้ตั้งหลักเกณฑ์พื้นฐานว่า “จะไม่มีการตกลง หากไม่สามารถตกลงได้ทุกเรื่อง” มันเป็นการบังคับทั้งสองฝ่ายต้องหาข้อตกลงซึ่งรวมถึงหัวข้อตกลงที่ยากที่สุด CMI วางบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการเจรจา แต่จะไม่รับผิดชอบในการติดตามการปฏิบัติดังเช่นที่ HDC เคยปฏิบัติ
ประการที่สาม Ahtisaari สามารถใช้เครือข่ายส่วนตัวเพื่อใช้ทรัพยากรภายนอกกล่าวคือได้ขอยืมตัวพันเอก แคลลี ไลเซนัน ( Kalle Liesenan ) จากกองทัพบกฟินแลนด์ เพื่อช่วยในการให้คำแนะนำในหัวข้อปลดอาวุธ ( Decommisioning ) ฝ่าย GAM เขาใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับประชาคมยุโรป (EU) ในการที่จะให้ส่งผู้สังเกตการณ์ไปร่วมการเจรจารอบสุดท้าย และขยายผลการมีส่วนร่วมของ EU ไปถึงการมีส่วนร่วมใน Aech Monitoring Mission หรือ AMM รวมทั้งการมีส่วนร่วมของ EU ในการตรวจสอบข้อตกลง อีกทั้งยังสามารถขอ EU ให้กลุ่มมอาเซียน (ASEAN) เข้ามาร่วมปฏิบัติงานใน AMM ควบคู่กันไปกับ EU และให้EU ส่งนาย Peter Erith ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ด้านงานพลเรือนระดับสากล ผู้เคยเป็นคนกลางกรณีข้อขัดแย้งในบอลข่านใน พ.ศ.2533 มาเป็นหัวหน้า AMM
ประการสุดท้าย Ahtisaari พร้อมที่จะเสี่ยงกับการสูญเสียด้านการเมือง หากเขารู้สึกว่าความก้าวหน้าในการเจรจากำลังถูกคุกคาม
รัฐบาลอินโดนีเซียและ GAM ต่างเคารพในข้อตกลง
ตลอดระยะเวลาที่ผู้วิจัยได้ปฏิบัติภารกิจในการกำกับดูแลให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม MOU Helsinki ได้พบความมีระเบียบวินัยของGAM ซึ่งเมื่อผู้แทน GAM ตกลงกับ AMM แล้วจะเป็นไปตามที่ตกลงไว้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชมเชย เป็นผลให้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดความน่าเชื่อถือในการดำเนินนโยบาย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการหาข้อตกลง สามารถยึดถือและมีความยั่งยืน ความมีวินัยของทหาร ตำรวจ ที่จะปฏิบัติตามข้อตกลง ผู้วิจัยได้เคยมีโอกาสพบปะแบบไม่เป็นทางการกับ ผบ.ทหารสูงสุดอินโดนีเซีย และได้กล่าวชมเชยผู้บังคับหน่วยที่สามารถดูแลกำลังพลในอาเจห์มิให้เกิดการกระทบกระทั่งกับฝ่าย GAM และประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระหว่างการปฏิบัติภารกิจในอาเจห์ตลอดระยะเวลา 7 เดือน เพื่อเป็นการปฏิบัติตาม MOU Helsinki จะมีการประชุมทุกวันอังคารและวันเสาร์ระหว่างเวลา 1000 – 1200 น. ณ อาคารรับรองเมืองอาเจห์ หรือ ภาษาพื้นเมือง คือ เพนโดโป เรียกว่า การประชุม Conferrence for Security Arrageent : COSA ประกอบด้วยผู้แทน 3 ฝ่ายคือ

1. ฝ่าย AMM คือ นาย Peiter Feith และ พล.ท. นิพัทธ์ ทองเล็ก
2. ฝ่าย GAM คือ นาย Irwandi Yusuf
3. ฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซียคือ พล.ต. บัมบัง ดาร์โมโน ตำแหน่งหลักคือ เจ้ากรมยุทธการกองทัพอินโดนีเซีย

ผู้วิจัยเคยทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมหลายครั้งแทน นาย Peiter Feith ที่ติดราชการในยุโรป มีข้อตกลงหลากหลายที่ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติ โดยเฉพาะฝ่าย GAM ที่ผู้วิจัยสงสัยว่าจะนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ หากแต่ต่อมาพบว่า นาย Irwandi Yusuf สามารถนำไปบังคับใช้กับฝ่าย GAMได้จริง หลังการประชุมทุกครั้งจะมีการแถลงข่าวทั้ง 3 ฝ่าย ผู้วิจัยต้องเตรียมตัวอย่างเคร่งเครียดทุกครั้ง เนื่องจากทุกคำพูดที่ออกไปนั้นคือ ข้อผูกมัด พันธกรณี ที่ต้องทำตาม ต้องรายงานตรงไปยัง EU สถานทูตกลุ่ม EU ในจาการ์ตา สถานทูตของ 5 ประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมใน AMM รวมทั้งรายงานรัฐบาลตรงต่อ ประธานาธิบดี อินโดนีเซีย
แผนภาพที่ 22 : พล.ท.นิพัทธ์ฯ เป็นประธาน
ในพิธีประกาศสลายกองกำลัง GAM
ที่ สู้รบมา 30 ปีโดยมีสื่อมวลชนทั่วโลกมาทำข่าว



และในที่สุดเมื่อการทำงานของ AMM ยุติลง นาย เออร์วันดี ยูซูป (Irwandi Iusuf ) อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวของ GAM และผู้แทน GAM ในการเจรจา ได้หาเสียงเพื่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอาเจห์ ในฐานะผู้สมัครอิสระ เขาได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเมื่อมีการเลือกตั้งในเดือน ธ.ค. และเขาก็ได้เป็นผู้ว่าการอาเจห์คนใหม่ในเดือน ก.พ.2550

แผนภาพที่ 23 : นาย โซเฟียน ดาวูด และ นาย เออร์วันดี ยูซูป
ผู้แทน GAM คนสำคัญ
ซึ่งต่อมานาย เออร์วันดี ยูซูป ได้เป็นผู้ว่าการอาเจห์คนใหม่



ภัยพิบัติสึนามิที่ทำให้เกิดการสูญเสียราว 200,000 คน


ภัยพิบัติสึนามิ
เมื่อ 26 ธ.ค.2547 เวลา 0800 น. เกิดแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล ขนาด 9 ริกเตอร์ บริเวณทะเลอินเดียห่างจากอาเจห์ 150 กม. แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami) ถาโถมเข้าสู่ชายฝั่งของประเทศต่างๆ อันนำไปสู่หายนะครั้งยิ่งใหญ่กว่า 12 ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และอาฟริกา – ตะวันออก เช่นไทย อินเดีย และศรีลังกา โดยมีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 150,000 คน ในหลายประเทศ ทั้งนี้ อินโดนีเซีย ถึเป็นประเทศที่เจอฤทธิ์จาก สึนามิลูกนี้รุนแรงที่สุด โดยเฉพาะในจังหวัดอาเจห์ ที่ใกล้กับศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากที่สุด ไม่กี่นาทีหลังจากเกิดแผ่นดินไหวนั้น คลื่นสึนามิก็พัดเข้าถล่มชายฝั่งตลอดระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัดอาเจห์ ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือสุดของเกาะสุมาตรา สังหารชีวิตประชาชนไปกว่า 168,000 คน ขณะที่อีกกว่า 600,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัยเพราะบ้านเรือนถูกทำลาย นำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ ซึ่งทำให้นักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาสังคมอาเจห์มายาวนานอย่าง Anthony Reid ถึงกับกล่าวประชดประชันโชคชะตาอันโหดร้ายเช่นนี้ว่าเป็น Verandah of Violence หรือ ชานแห่งความรุนแรง นอกเหนือจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย กับ GAM ตลอดช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมาแล้ว อาเจห์ยังต้องประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอีก

ความขัดแย้งและความรุนแรงเกิดขึ้นหลังจาก GAM ประกาศเรียกร้องเพื่อแบ่งแยกดินแดนจังหวัดอาเจห์ ออกจากการปกครองของอินโดนีเซีย ก่อนกลายมาเป็นความขัดแย้งติดอาวุธ (Armed Conflict) เมื่อถูกปฏิเสธข้อเสนอ จึงเกิดความรุนแรงมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายหลังการแยกตัวเป็นเอกราชของติมอร์ตะวันออก (East Timor) ออกจากอินโดนีเซียได้เป็นผลสำเร็จ ก็ยิ่งกลายเป็นพลังและความคาดหวังว่าอาเจห์จะสามารถมีเอกราชได้เช่นเดียวกัน เพราะมีพื้นที่ ทรัพยากรและประชากรพร้อมสรรพไม่ต่างจากดิมอร์ตะวันออก ความสูญเสียจากพิบัติในครั้งนี้ กลับมีสิ่งที่ชวนให้น่ายินดีอยู่ในขณะเดียวกัน เพราะคลื่นยักษ์สึนามิมิได้พัดพาเพียงความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน มาสู่อาเจห์เท่านั้น แต่กำลังพัดพาสันติภาพมาสู่อาเจห์ด้วย เมื่อกลายเป็นจุดเปลี่ยน (Turning Point) ครั้งสำคัญที่ทำให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนและรัฐบาลอินโดนีเซียหันหน้าเข้าหากัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างตระหนักถึงความสูญเสียแล้วยึดเอาการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยเป็นที่ตั้ง หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มอาเจห์ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็ประกาศหยุดยิงโดยทันที เพื่อเปิดโอกาสให้ทางการอินโดนีเซียและนานาชาติส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยและทหารเข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยไม่ต้องกังวลถึงการซุ่มโจมตีดังที่ผ่านมา

กระทั่งตลอดปี พ.ศ.2548 การสร้างสันติภาพในอาเจห์มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะการหันหน้าเข้าหากันบนโต๊ะเจรจา (Convening) เป็นครั้งแรกที่ประเทศฟินแลนด์เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ความขัดแย้งอันยาวนานนั้นได้คลี่คลาย และกำลังจะหมดสิ้นไปโดยทั้งสองฝ่ายต่างมีท่าทียอมรับข้อเสนอในเบื้องต้น เช่น รัฐบาลอินโดนีเซียยอมให้กลุ่มแบ่งแยกดินแดนตั้งพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งได้ หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยอมรับว่า อาเจห์ไม่สามารถแยกออกจากอินโดนีเซียได้

แม้ว่ายังไม่มีการลงนามอย่างชัดเจน แต่การเจรจา (Negotiation) อย่างเป็นทางการเป็นไปในลักษณะการไกล่เกลี่ย เพื่อแปลงสภาพความขัดแย้ง (Transformative Mediation) มุ่งเน้นปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนให้เกิดการยอมรับกันนับเป็นวิถีทางที่เหมาะสม สามารถชี้วัดถึงความเป็นไปได้ในการสร้างสันติภาพอยู่ในระดับสูง

ทำไมการเจรจาสันติภาพจึงเดินทางมาสู่อาเจห์เร็วกว่าที่คิด และดูเหมือนง่ายดายกว่าที่คาดไว้มาก เพราะจากสถานการณ์ก่อนการเกิดภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ แทบมองไม่เห็นทางหรือความเป็นไปได้เลยว่า ดินแดนแห่งนี้จะสงบสุขได้ มีแต่จะยืดเยื้อและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีกเหตุผลก็คือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อเกิดความสูญเสียหรือตกอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ มนุษย์ก็ย่อมต้องการและยินยอมรับความช่วยเหลือจากคนอื่น ในบางครั้งแม้กระทั่งศัตรู เชื่อว่าครอบครัวของสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจำนวนไม่น้อย ต่างก็ต้องประสบกับภัยพิบัติ ที่ต้องรอรับการช่วยเหลือเช่นเดียวกัน อีกทั้งกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็มีความเข้าใจในสภาพการณ์ดีว่า หากยังคงต่อต้านหรือซุ่มโจมตีฝ่ายรัฐบาลดังเช่นที่ผ่านมา ประชาชนชาวอาเจห์ก็จะได้รับความช่วยเหลือทั้งจากรัฐบาลและนานาชาติไม่เต็มที่ มีแต่จะทำให้เกิดผลเสียทั้งต่อภาพพจน์ของกลุ่มและต่อประชาชนชาวอาเจห์ด้วยกัน รวมทั้งต้องถูกประณามจากนานาชาติได้ว่าไร้สิ้นซึ่งมนุษยธรรมอย่างแน่นอน รัฐบาลอินโดนีเซียกมิได้ปล่อยให้ช่วงเวลาดังกล่าวผ่านเลยไป รีบไขว่คว้าโอกาสในห้วงเวลาแห่งความเห็นอกเห็นใจ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อันเป็นผลจากการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวอาเจห์ แล้วนำไปสู่การเจรจาสันติภาพในที่สุด

กรณีอาเจห์จึงเป็นภาพที่กำลังปรากฏขึ้นมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ความสมานฉันท์ และสันติภาพ คือสิ่งสำคัญที่ช่วยเยียวยาความเจ็บปวดของมนุษย์ได้ ทั้งจากการกระทำของธรรมชาติ และจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง ที่จังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย หลังการเกิดภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิ เค้าลางแห่งสันติภาพปรากฏเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ นั่นเพราะรัฐบาลได้มองเห็นและใช้ช่วงเวลาแห่งความสูญเสียช่วยเหลือกัน ทำให้เกิดความเข้าอกเข้าใจ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน แล้วนำไปสู่การเจรจาสันติภาพในที่สุด แม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่าบทสรุปจะเป็นเช่นไร แต่การนำปัญหาความขัดแย้ง ขึ้นสู่โต๊ะเจรจาย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทั้งมวล


การฟื้นฟูบูรณะจังหวัดอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซียในยุคหลังสึนามิกับผลต่อขบวนการสร้างสันติภาพ
ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียกับกลุ่ม GAM (Free Aceh Movement) มีความเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากโครงการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายในอาเจห์จาก ภัยพิบัติสึนามิ หลายฝ่ายมองเห็นสันติภาพเมื่อรัฐบาลและ GAM หันหน้ามาพูดคุยกัน เพื่อร่วมกันสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีอุปสรรคทางการเมืองอื่นๆ อยู่บ้าง


1. พัฒนาการความขัดแย้งในอาเจห์ก่อนเหตุภัยพิบัติสึนามิ
....1.1 การปฏิบัติการทางทหารภายใต้กฎอัยการศึกได้สร้างความเสียหายให้แก่สาธารณูปโภคของกลุ่ม GAM (Free Aceh Movement) ซึ่งเป็นผลให้การตอบโต้รัฐบาลของ GAM เป็นไปยากยิ่งขึ้น
....1.2 การเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศของ ปธน.Yudhoyono ชี้ให้เห็นว่า สังคมอินโดนีเซียส่งเสริมแนวทางประชาธิปไตย ในส่วนของการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ปธน.Yudhoyono เห็นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากงบประมาณส่วนมากต้องถูกใช้ไปกับการรักษาความมั่นคงในอาเจห์และปาปัว ขณะเดียวกันผู้นำใหม่ของอินโดนีเซียต้องการสร้างความแตกต่างให้เกิดกับแนวทางในการเผชิญหน้ากับกลุ่ม GAM กล่าวคือ รัฐบาลในปัจจุบันส่งเสริมการแก้ไขปัญหาแนวทางสันติมากกว่าการใช้ความรุนแรง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวข้างต้นนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่สันติภาพจะเกิดขึ้นในอาเจห์
2. สถานการณ์ในอาเจห์ภายหลังเหตุภัยพิบัติสึนามิ
....2.1 ความพยายามแก้ไขปัญหาแบบสันติวิธีได้รับการส่งเสริมมากขึ้น เมื่อหลายฝ่ายพร้อมใจกันและ ร่วมมือกันในการฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ปธน.Yudhoyono ได้ร้องขอให้ GAM ยุติการสู้รบและหันกลับมาหารือถึงแนวทางอยู่ร่วมกันแบบสันติอย่างถาวร ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดีจาก GAM ที่ต้องการเห็นการสงบศึกเพื่อเป็นโอกาสให้ประชาคมโลกหันมาให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากภัยดังกล่าว
....2.2 รัฐบาลไม่อาจปิดกั้นข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นไปในอาเจห์แก่ประชาคมโลกอีกต่อไป ซึ่งรวม หมายถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอาเจห์ที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของรัฐบาลในระหว่างที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ขณะเดียวกัน การเปิดกว้าง (access) มากขึ้นอาจส่งผลเสียโดยเฉพาะเมื่อกลุ่มหัวรุนแรงอื่นๆ อาจแฝงตัวเข้ามาอยู่ในอาเจห์ เช่น ที่เกิดใน Maluku และ Central Sulawesi สำหรับจุดยืนของ GAM นั้น ยังคงย้ำความต้องการที่จะแยกตัวเป็นอิสระโดยอาศัยเหตุผลทางประวัติศาสตร์เป็นที่ตั้ง ซึ่งหมายถึง การถูกปกครองโดยมิชอบธรรมจากรัฐบาลอินโดนีเซียมาเป็นเวลานานนับตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์
3. การฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังเหตุภัยพิบัติสึนามิ
....3.1 การจัดตั้ง The Rehabilitation and Reconstruction Agency for Aceh and Nias (BRR) โดย รัฐบาลอินโดนีเซียมีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดมาตรการ เฝ้ามอง และประเมินผลที่เกิดจากกระบวนการพื้นฟูบูรณะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โดยมีงบประมาณของการฟื้นฟูดังกล่าว 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอาเจห์ ทั้งนี้กระบวนการฟื้นฟูบูรณะแบ่งได้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
..........1. ขั้นฟื้นฟูแบบเร่งด่วนในการสร้างสิ่งจำเป็นของการดำรงชีวิต (ม.ค.2548 - ธ.ค.2549)
..........2. ขั้นฟื้นฟูแบบค่อยเป็นค่อยไป (เม.ย.2549 - ธ.ค.2549)
..........3. ขั้นฟื้นฟูแบบสมบูรณ์ (ก.ค.2549 - ธ.ค.2552)
....3.2 ความสำเร็จในปัจจุบันของ BRR อยู่ที่งานด้านการฟื้นฟูสภาพทางกายภาพทั่วไป เช่น สาธารณูปโภค การเคหะ แต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น สิ่ง ท้าทายที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้แก่
..........1. ถูกวิจารณ์ว่าการฟื้นฟูเดินหน้าช้าเกินไป
..........2. ติดขัดกับกระบวนการทางด้านระบบราชการ
..........3. ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ
..........4. การเบิกใช้เงินช่วยเหลือยังคงมีความล่าช้า
..........5. ขาดแรงงานที่มีทักษะในการฟื้นฟูงานด้านการก่อสร้าง
4. มุมมองสำคัญเกี่ยวกับการประกาศใช้ข้อตกลงสันติภาพ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและ GAM มีความคาดหวังที่ต่างกันและมุมมองของข้อตกลงสันติภาพ ซึ่งอาจต้องประสบกับความล้มเหลวในที่สุดเนื่องจากความซับซ้อนในกระบวนการทางการเมือง อย่างไรก็ดีปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจมิได้มาจากความล้มเหลวดังกล่าว แต่น่าจะมาจากทัศนคติของคนท้องถิ่นในอาเจห์ ซึ่งยังคงมองความขัดแย้งที่มีกับรัฐบาลในรูปของความเกลียดชังซึ่งกันและกัน อันเป็นผลมาจากการฝังรากลึกของการต้องถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากรัฐบาล

นอกจากนี้ ข้อตกลงสันติภาพดังกล่าวยังมีความเกี่ยวโยงกับข้อผูกมัดทางด้านกฎหมาย กล่าวคือ มีการกล่าวถึงสิทธิและอำนาจทางกฎหมายของอาเจห์ และอำนาจการปกครองทั่วไป ทั้งนี้ ความจริงใจของรัฐบาลในการอนุญาตให้อาเจห์มีอำนาจในการปกครองในระดับหนึ่งจะมีมากน้อยเพียงใดน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้จะมีความกระตือรือร้นจากฝ่ายรัฐบาลและจากองค์การระหว่างประเทศในยุคหลังสึนามิ ที่ต้องการเห็นสันติภาพในอาเจห์ แต่อนาคตทางการเมืองของอาเจห์ยังคงไม่แน่นอนเนื่องจากความซับซ้อนทางด้านการเมือง (โดยเฉพาะในเรื่องความขัดแย้งทางอำนาจระหว่างจาการ์ตาและอาเจห์) รวมถึงคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการสร้างสภาพที่สมดุลระหว่างการฟื้นฟูสภาพของพื้นที่ในด้านเศรษฐกิจและสังคม กับความสามารถของรัฐบาลในการให้หลักประกันทางด้านความปลอดภัยแก่ชาวอาเจห์

นอกจากนี้ การเปิดให้มีการเลือกตั้งโดยเสรีที่ให้โอกาสทุกกลุ่มการเมืองในอาเจห์ได้เข้าร่วมแบบยุติธรรมและเสมดภาคจะมีส่วนช่วยสร้างสันติภาพแบบยั่งยืนในอาเจห์ ซึ่งความสำเร็จนอกจากจะขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของรัฐบาล ปธน.Yudhoyono แล้ว ยังขึ้นอยู่กับกลุ่ม การเมืองต่างๆ ในอาเจห์ที่ต้องพร้อมใจกันส่งเสริมกระบวนการทางประชาธิปไตยเพื่อนำสันติภาพกลับสู่อาเจห์ต่อไป

ข้อตกลงที่เป็น Win - Win Situation

ข้อตกลงสันติภาพในอาเจห์ ได้กำหนดเป้าหมายของข้อตกลงร่วมกันไว้ว่า จะปฏิบัติตามพันธกรณีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในอาเจห์ตามแนวทางแห่งสันติวิธี ที่มีความยั่งยืน ด้วยความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของทุกฝ่าย โดยถือเป็นพันธกรณีในการสร้างสภาพความพร้อมเพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นของประชาชนอาเจห์ขึ้นตามกระบวนการประชาธิปไตย ที่ยุติธรรมภายใต้ความเป็นหนึ่งเดียวของสาธารณรัฐและรัฐธรรมนูญแห่งอินโดนีเซีย

นับเป็นตัวอย่างของการยุติการก่อความไม่สงบภายในประเทศที่ควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย ซึ่งกำลังเจอปัญหาในลักษณะคล้ายๆ กันนี้ในกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใจความสำคัญของข้อตกลงนั้นครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน และความมั่นคง

1. การเมือง : ปกครองตนเอง
GAM จะเลิกต่อสู้เรียกร้องเอกราชของอาเจห์ พลพรรคฝ่ายกบฏจะหันมาเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติอินโดนีเซีย” คือกลับคืนสู่สังคม ใช้ชีวิตทำมาหากินเยี่ยงพลเมืองทั่วไป ขณะที่ทางการก็จะมอบสิทธิอันพึงมีพึงได้ต่างๆ ให้แก่ผู้กลับใจเข้าร่วมพัฒนาชาติซึ่งเคยเป็นอดีตโจรแบ่งแยกดินแดน เช่นเดียวกับที่ชาวอินโดนีเซียทุกหนแห่งได้รับ อินโดนีเซียจะแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการปกครองตนเองของอาเจห์ในปีหน้า เพื่อเปิดทางให้สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นได้ เป็นการตระเตรียมรับการเลือกตั้งของจังหวัดซึ่งจะมีขึ้นในเดือน เม.ย.2549 ภายใต้กรอบการปกครองตนเองของอาเจห์นี้ รัฐบาลยังคงถือสิทธิ์ในการกำหนดกิจการด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศ กิจการด้านการเงินและการคลัง การยุติธรรม งานตำรวจ และการต่างประเทศ ส่วนอาเจห์นั้นมีสิทธิ์ออกกฎหมายในกิจการด้านอื่นๆ และสามารถมีธงและเพลงที่สื่อสัญลักษณ์ความเป็นอาเจห์ได้ แต่ไม่ถือเป็นธงชาติและเพลงชาติ
ในเรื่องระบบกฎหมายนั้น ขณะนี้อินโดนีเซียยอมให้จังหวัดอาเจห์ เป็นเขตอำนาจศาลเพียงแห่งเดียว ที่บังคับใช้ศาสนบัญญัติอิสลามหรือชะรีอะห์ได้

2. เศรษฐกิจ : เพิ่มส่วนแบ่งในทรัพยากร
อาเจห์มีสิทธิ์ขอกู้เงินและรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ตราบเท่าที่เป็นไปตามกรอบกติกาของธนาคารชาติของอินโดนีเซียและมีอำนาจในการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีของตนเอง
นอกจากนี้ อาเจห์ยังสามารถบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นด้วย และจะได้รับส่วนแบ่งรายได้จากแหล่งน้ำมันและก๊าซของตนในสัดส่วนสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และทุกวันนี้ อาเจห์ได้รับส่วนแบ่งรายได้จากน้ำมันในสัดส่วน 55เปอร์เซ็นต์ และจากก๊าซธรรมชาติในสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสัดส่วนนี้จะคงไว้ต่อไปจนถึงปี พ.ศ.2552 จากนั้นก็จะเพิ่มสัดส่วนการแบ่งสรรรายได้ดังกล่าว

3. สิทธิมนุษยชน : สมานฉันท์และเยียวยา
ข้อตกลงกำหนดให้มีการจัดตั้งศาลสิทธิมนุษยชน กับคณะกรรมการสมานฉันท์และตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นในอาเจห์ เพื่อสอบสวนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ และหาทางเยียวยาบาดแผลของสังคมอินโดนีเซียจะเริ่มนิรโทษกรรมแก่บรรดาสมาชิกของ GAM ในช่วงปลายเดือน ส.ค.2548 และปล่อยตัวบรรดากบฏแบ่งแยกดินแดน แต่คนที่ต้องคดีอาญาจะไม่ได้รับการยกเว้นโทษ สมาชิกของ GAM จะได้รับที่ดินทำกินและปัจจัยยังชีพต่างๆ เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธในครอบครอง หลังจากเริ่มการหยุดยิงนี้แล้วพลเรือนที่ถืออาวุธจะถูกดำเนินคดี

4. ความมั่นคง : กบฏวางอาวุธ กองทัพกลับที่ตั้ง
GAM ต้องส่งมอบอาวุธให้แก่คณะผู้สังเกตการณ์อาเจห์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ไม่ติดอาวุธจำนวน 250 คน จากสหภาพยุโรป และ 5 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ บรูไน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย อาวุธเหล่านี้จะถูกทำลายในอาเจห์ กระบวนการวางอาวุธเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2548 สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2548 อินโดนีเซียจะถอนทหาร 2 กองพัน หรือ 1,300 นาย ออกจากอาเจห์ในวันที่ 18 ส.ค.2548 และจะทยอยถอนทหารต่อไปตามสัดส่วนที่สอดคล้องกับการวางอาวุธของ GAM หากรัฐบาลจะเคลื่อนกำลังมากกว่า 1 หมวดขึ้นไป จะต้องแจ้งให้หัวหน้าคณะผู้สังเกตการณ์ทราบก่อน

ที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีทหารในอาเจห์กว่า 30,000 นาย และตำรวจตระเวนชายแดนอีกจำนวนมาก การถอนทหารจะทำให้อาเจห์มีกองกำลังฝ่ายรัฐบาลในระดับปกติ คือประมาณ 5,000 นาย และอาจเสริมเป็น 9,000 นาย ได้ภายในสิ้นทศวรรษนี้ ทั้งหมดข้างต้นคือข้อตกลงหลัก ซึ่งปัญหาท้าทายก็คือการปฏิบัติให้เป็นไปตามกรอบนี้ หัวใจของความสำเร็จนั้นอยู่ที่การทำตามข้อตกลงโดยเคร่งครัดของทั้งสองฝ่าย หาก GAM ไม่ยอมวางอาวุธ หรือหากฝ่ายกองทัพมีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในเรื่องจำนวนทหาร นั่นย่อมสร้างความหวาดระแวง ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ แล้วข้อตกลงจะล่มกลางคันอีก คนที่เดือดร้อนที่สุดก็คือ ชาวอาเจห์ นั่นเอง

บทเรียนจากการทำงานกระบวนการสันติภาพที่ได้รับ

การแก้ปัญหาความขัดแย้ง ไม่ได้หมายความว่า ทำให้ความขัดแย้งหมดไป
แต่เป็นการแปรสภาพความขัดแย้ง ไปสู่ความขัดแย้งที่ต้องการ เช่นในอาเจห์ เป็นการแปรสภาพจากความขัดแย้งด้วยอาวุธ (armed conflict) เป็นความขัดแย้งทางการเมือง (political conflict) เป็นการเปลี่ยนผู้เล่น (player) เปลี่ยนเวที (arena) เปลี่ยนเครื่องมือ (tools) และ เปลี่ยนเป้าหมาย (goal) จะเห็นได้ว่า มีประเด็นที่ GAM ยังไม่เห็นด้วยในกฎหมายปกครองอาเจห์ถึง 11 ประเด็น แต่ก็ไม่ได้จับอาวุธขึ้นมาต่อสู้ หรือ ประท้วงด้วยการถอนตัวจากกระบวนการสันติภาพ ทั้งนี้ ก็เพราะว่า ความขัดแย้งได้แปรสภาพเป็นความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ได้มีการลงนามระหว่างสองฝ่ายในข้อตกลงสันติภาพฯ อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสที่จะมีการสู้รบกันใหม่ เพียงแต่ว่าเราพยายามดึงทั้งสองฝ่ายไว้ที่โต๊ะเจรจาโดยชี้ให้เขาเห็นประโยชน์ที่สูงกว่าที่เขาจะได้รับ

ฝ่ายรัฐบาลจะไม่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนด้วยการใช้กำลัง

รัฐบาลอินโดนีเซียเริ่มใช้กำลังทหารและตำรวจปราบปราม GAM ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งขบวนการฯ เป็นต้นมา และเริ่มปราบปรามเข้มข้น โดยการแบ่งเป็นเขตปฏิบัติการทางทหารแบบเต็มตัว (military operations zone) ในปี พ.ศ.2532 ถึง ปี พ.ศ.2552 ก่อนที่จะเริ่มภารกิจ Joint Security Council (JSC) ตามข้อตกลง COHA แต่ปลากดว่า ฝ่ายขบวนการฯ มีความเข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม เพราะ การปราบปรามของฝ่ายรัฐบาลมักส่งผลเสียหายข้างเคียง (collateral damages) ซึ่งในที่สุด ทำให้ประชาชนที่เป็นกลาง หันไปสนับสนุนฝ่ายขบวนการฯ มากขึ้น รวมถึงการใช้กำลังทหารปราบปรามนั้น มีความล่อแหลมที่ประชาคมระหว่างประเทศ และภูมิภาคจะจับตามอง และ พร้อมนำไปขยายผล หากฝ่ายทหาร หรือรัฐบาลปฏิบัติงานผิดพลาดเกิดความเสียหายแก่ประชาชน

ประชาชนในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งมีแนวโน้มสูงมากที่จะให้การสนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน
เหตุผลประการแรก คือ พวกเขามองว่ารัฐบาลเอารัดเอาเปรียบพวกเขาตลอดมา และ ความจริงก็คือ ประวัติศาสตร์ก็ยืนยันเช่นนั้น การที่เมืองหลวงเอาเปรียบเมืองเล็ก หรือหัวเมือง ดึงเอาทรัพยากรท้องถิ่นไปเกือบทั้งหมด ย่อมสร้างความชอบธรรมให้กับการปกครองของตนได้ยากอย่างยิ่ง ประการที่สอง ประชาชนจะมองว่าพวกเขาแตกต่างจากเจ้าหน้าที่รัฐ ที่รัฐบาลกลางส่งเข้ามาปกครอง และพวกเขาไม่มีสิทธิ์มีเสียงที่จะเรียกร้อง หรือแสดงความเห็นใดๆ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ชอบผู้ปกครองที่ถูกส่งมาเหล่านี้ นอกจากนั้น ขบวนการแบ่งแยกดินแดนฯ ยังอยู่ใกล้กับประชาชนในพื้นที่ ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐอยู่ที่เมืองหลวง ความใกล้ชิด ความเห็นอกเห็นใจจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยากนักจากการโฆษณาชวนเชื่อง่ายๆ ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

ความขัดแย้งที่ไม่สลับซับซ้อนสามารถแก้ได้โดยกระบวนการสันติภาพภายในภูมิภาค
ความขัดแย้งในอาเจห์เป็นตัวอย่างหนึ่งของความขัดแย้งที่ไม่สลับซับซ้อน เป็นเรื่องที่ต้องการแยกตัวออกไปจากอินโดนีเซีย เพราะเห็นว่าอินโดนีเซียปกครองตนเองอย่างไม่เป็นธรรม โดยไม่มีเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าชาวอาเจห์ จะเป็นมุสลิมที่เข้มและเคร่งครัดก็ตาม GAM พยายามกันการแทรกแซงจากขบวนการมุสลิมหัวรุนแรงมาตลอด เพราะไม่ต้องการมีเจตนาทางการเมืองในการแยกตัวออกจากอินโดนีเซียด้วยเหตุผลทางศาสนา เพราะจะไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ เมื่อถึงที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็จะเห็นว่า อินโดนีเซียเองก็ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งในอาเจห์ มีลักษณะเป็นความขัดแย้งที่เป็นสากล (conflict being internationalized) แต่พยายามแก้ปัญหา ด้วยกระบวนการภายในภูมิภาค ในกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่และสามารถดำเนินการได้ หากเปรียบเทียบกับการแก้ปัญหา ติมอร์ ตอ. ที่มีลักษณะเป็นปัญหา ที่ประชาคมโลกเข้ามาแทรกแซง อินโดนีเซียย่อมต้องการแก้ปัญหาด้วยความร่วมมือทางภูมิภาคมากกว่า หรือหากเป็นไปได้ก็ให้องค์กรเป็นกลาง เช่น HDC เข้าช่วยเหลือเพราะเป็นการจำกัดการแก้ปัญหาให้อยู่ในวงแคบ

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภูมิภาคมีนโยบายให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน
การต่อสู้เพื่อแยกกดินแดนนั้น เป็นศัตรูกับรัฐบาล แต่รัฐบาลในแต่ละประเทศนั้นเป็นมิตรกัน ดังนั้น ทางรอดคือ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน ต้องเป็นเพื่อนกัน ต้องสนับสนุนกันได้เมื่อเข้าตาจน เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีของอาเจห์ ที่ผู้นำ MNLF เคยหนีการปราบปรามมาอยู่ที่อาเจห์ หรือ ชาวอาเจห์ ที่ถูกปราบปรามหนีไปมาเลเซีย หรือผู้นำ GAM บางคนหนีไปอยู่ที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นต้น ดังนั้น การแก้ปัญหารัฐบาลจึงต้องร่วมกันแก้ จึงจะมีประสิทธิภาพ

การเสริมสร้างความเป็นเอกภาพของขบวนการฯ
ความเป็นเอกภาพของขบวนการฯ มีความสำคัญ เพราะหากขบวนการฯ แตกแยกโอกาสที่กระบวนการสันติภาพจะล้มนั้นมีมาก บางคนเข้าใจว่า การที่ขบวนการฯ อ่อนแอ จะทำให้รัฐบาลได้รับประโยชน์ คือได้เปรียบในการเจรจา แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ การเจรจาจะยุ่งยากมาก และบรรลุประโยชน์ร่วมได้ยากมาก หากขบวนการมีหลายกลุ่ม และต่อรองเพื่อผลประโยชน์หลายเรื่องในเวลาเดียวกัน ส่วนการยุบเลิกขบวนการฯ นั้น เป็นปัญหาคนละเรื่องกับการทำให้ขบวนการอ่อนแอ หากขบวนการฯ มีความเข้มแข็ง และตัดสินใจยุบตัวเอง ย่อมทำได้ดีกว่าขบวนการฯ ที่แตกแยก อ่อนแอ เรื่องนี้มีปัญหาตัวอย่างมาแล้วในกระบวนการสันติภาพใน อาเจห์ เมื่อเกิดการแตกแยกภายในของ GAM ใน ต้น ต.ค.2549 ในที่สุด AMM ต้องใช้ทางเลือกการที่ทำให้ GAM สามารถคงความเป็นเอกภาพของตนเองไว้ได้

ใช้หลัก “สร้างความเชื่อมั่น บนฐานของการที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ (win – win) เดินไปข้างหน้าร่วมกัน สร้างอนาคตใหม่”
ข้อยุติที่ได้รับการยอมรับคือข้อยุติที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความหวัง หรือมีความหวัง และมองเห็นอนาคตที่ดีกว่าเดิม ดังนั้น การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยืนกราน จะเอาแต่ประโยชน์ตน เป็นกระต่ายขาเดียวนั้น ย่อมเป็นการตั้งป้อมที่ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งตอบโต้เอาได้ในอนาคต ดังนั้น ต้องแสวงหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ หรือ ทั้งสองฝ่ายไม่เสียอะไร หรือประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ หลายครั้งในอาเจห์ ที่ต่างฝ่ายต่างมีความอึดอัดที่จะคุยกันโดยตรงเพราะรบกันมาเกือบ 30 ปี แต่หลังจาก ที่ทั้งสองฝ่ายมองเห็นความหวังในการสร้างสิ่งที่มีความสำคัญกว่าการ รักษาหน้า หรือความหยิ่งของตน ความก้าวหน้าก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก นี่เป็นพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมั่นที่ทั้งสองฝ่ายต้องให้กันก่อน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะสร้างฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะจะ ไม่สำเร็จ

รัฐบาลควรจะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบกฎหมาย/การเมืองในการสนับสนุนกระบวนการสันติภาพเป็นการเฉพาะ
หลายๆ ครั้ง ปัญหาจะมาจาก กฎ ระเบียบ ของฝ่ายรัฐบาลที่หยุมหยิม ยุ่งยาก สลับซับซ้อน อธิบายให้ฝ่ายขบวนการฯ เข้าใจยาก เช่น ระเบียบการเงิน ที่เข้มงวด บางครั้ง ก็ขาดความอ่อนตัว เมื่อจะนำมาใช้ดำเนินการในเรื่องที่ต้องการความเร็วและความมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ควรจะมีความอ่อนตัว และมีระเบียบที่เหมาะสมให้รัฐบาลเลือกใช้ ต้องถือว่า การดำเนินการในกระบวนการสันติภาพ เป็นการดำเนินการในยามไม่ปกติ การดำเนินการใดๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ และความยั่งยืน เมื่อทั้งสองฝ่ายเห็นชอบแล้ว ควรจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือสภาผู้แทนราษฎร หรืออย่างน้อยก็มี กระบวนการในการชี้แจง ทำความเข้าใจกัน ระหว่าง

รัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ระดับผู้แทนเจรจา รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และมีความจริงใจ

ต้องยอมรับใน “ความไร้ระเบียบ” ที่จะมีมากขึ้นหลังจากที่เริ่มกระบวนการสันติภาพ

นี่คือความเป็นจริงของธรรมชาติของกระบวนการต่อรองเจรจา ซึ่งตั้งอยู่บน หลักประชาธิปไตย และความเท่าเทียมกันของคู่เจรจา ความไร้ระเบียบเป็นการเพิ่มขึ้นของ กิจกรรมต่างๆ เพราะการมีส่วนร่วมมากขึ้นของประชาชน กลุ่มผลประโยชน์ องค์การ และขบวนการทั้งใน และระหว่างประเทศ แต่ทั้งหมดนี้ คือ ธรรมชาติที่ต้องทน ไม่มีทางใดที่จะทำให้มันเกิดระเบียบขึ้นได้ หากเราเลือกแก้ปัญหาด้วยกระบวนการประชาธิปไตย การแสดงความเห็น ของสื่อมวลชน การเดินขบวนประท้วง เรียกร้อง เหล่านี้ จะเพิ่มขึ้น เพราะมันเป็นทางเดียวที่จะส่งผ่านความเห็นและข้อมูลเพื่อการพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มตน ในที่สุดพลวัตรนี้ก็จะก้าวไปสู่สมดุล

หลักการให้เกียรติ และเคารพซึ่งกันและกัน (The principle of dignity for all)
เรื่องนี้มีความสำคัญมาก ต้องขจัดการดูถูกเหยียดหยามระหว่างกันออกไป การเคารพในความคิดซึ่งกันและกัน การเชื่อว่า ทุกคนพยายามทำหน้าที่เพื่อส่วนรวมของตนให้ดีที่สุด บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ใจ ดังนั้น จึงต้องเคารพซึ่งกันและกัน การมีความจริงใจต่อหลักการนี้อย่างจริงจัง จึงเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน สำหรับผู้ทำหน้าที่ดำเนินการการเจรจานั้น ความเป็นกลาง ความโปร่งใส ตรงไปตรงมา การใช้ความอดทน เป็นต้น นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในอันที่จะรักษาความน่าเชื่อถือของตน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่กรณี นับว่า เป็นพื้นฐานที่สำคัญของความสำเร็จของกระบวนการสันติภา
หลักการประชาธิปไตยสันติธรรมาภิบาล (peaceful and democratic governance) เป็นการแก้ปัญหากฎหมายและความเสมอภาค เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และหลักเอกราช อธิปไตยการเมืองที่รากเหง้าของปัญหา นั่นคือ หลักความเป็นธรรมและสันติธรรม หลักการปกครองของประเทศ ในที่สุดแล้ว ปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง ปัญหาการเมืองไม่ใช่ปัญหาความมั่นคง

ความเชื่อมโยงระหว่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับอาเจห์

กล่าวทั่วไป
..........ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มิใช่ปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นมาเมื่อไม่นานนี้ ในทางกลับกันเป็นปัญหาที่สะสมกันมาเป็นเวลานานคู่มากับการเป็นรัฐชาติไทย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของการก่อกบฏจนถึงขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ และโจรก่อการร้าย จนกระทั่งสถานการณ์ การปล้นปืนและสังหารทหารในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ได้นำมาสู่จุดเปลี่ยนของปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้งหนึ่ง ความพยายามในการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ต้องมีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ของความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนในอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย หลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นในอาเจห์เมื่อหลายปีที่ผ่านมา กำลังดำเนินอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทั้งนี้ความสำเร็จในการแบ่งแยกดินแดนของติมอร์ตะวันออก ดูจะเป็นตัวอย่างและเป็นกำลังใจให้กับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ในภูมิภาคที่มีความคิดเห็นขัดแย้งทางด้านการเมืองการปกครองกับฝ่ายรัฐบาลในประเทศตน ดังเห็นได้จากเหตุการณ์ในอาเจห์หรือแม้แต่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยเป็นตัวอย่าง ในวิจัยนี้จะได้พยายามชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น มีส่วนของความคล้ายคลึง และความเกี่ยวพันอยู่กับเหตุการณ์ในอาเจห์ ประเทศอินโดนีเซีย การได้ศึกษาสถานการณ์ในอาเจห์ซึ่งอาจรวมไปถึงติมอร์ตะวันออก จึงอาจมีประโยชน์ต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก

สภาพและประเด็นปัญหาในความพยายามเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครอง
อันเป็นที่มาของแนวความคิดในการแบ่งแยกดินแดน และความพยายามในการใช้การเมืองและการทหารในการดำเนินการของกลุ่มขบวนการในติมอร์ตะวันออก อาเจห์ และ 3จังหวัดภาคใต้ของไทย สามารถที่จะสรุปออกมาให้เห็นถึงความคล้ายคลังกันได้หลายประเด็นดังนี้

1. ประเด็นปัญหาทางด้านประวัติศาสตร์ เป็นประเด็นที่กลุ่มคนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน หรือต้องการการเปลี่ยนแปลงทางด้านการปกครองในพื้นที่ได้นำมาใช้เป็นเงื่อนไข และข้ออ้างของความชอบธรรมต่อการที่จะได้อิสระในการปกครองตนเอง ทั้งนี้ข้ออ้างต่างๆ ดังกล่าวนี้มักจะมุ่งเน้นไปที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในด้าน เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ของคนพื้นที่นั้นๆ ซึ่งแตกต่างไปจากประชาชนโดยส่วนใหญ่ของประเทศ ดังเห็นได้ว่าในปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้มีความพยายามที่จะเผยแพร่ประวัติความเป็นมาของอาณาจักรลังกาสุกะ และเมืองปัตตานี (ที่ปัจจุบันได้ถูกแบ่งออกเป็นจังหวัด ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ที่มีศาสนาอิสลามเป็นศาสนาของผู้ปกครองและประชาชน ความเป็นเอกภาพทางด้านชาติพันธ์ของการเป็นคนมลายู ใช้ภาษายาวี มีวัฒนธรรม ประเพณีแบบคนมลายูที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่แปลกแยกไปจากความเป็นคนไทยในสังคมไทยโดยส่วนรวม ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ ควรจะได้มีสิทธิในการปกครองตนเอง เฉกเช่นเมื่อครั้งที่ยังเป็นเมืองปัตตานี หรืออาณาจักรลังกาสุกะ

ในขณะที่ อาเจห์ก็ได้มีการกล่าวอ้างถึงการเป็นรัฐเอกราชที่สามารถยืนหยัดต่อสู้กับการล่าอาณานิคมของตะวันตกอยู่ได้จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนที่จะตกเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์ (แต่ก็ยังมีการทำสงครามกองโจรกันต่อมา ถึงแม้จะตกเป็นเมืองขึ้นไปแล้วก็ตาม) โดยที่อาณาจักรอื่นๆ ในอินโดนีเซียปัจจุบันต้องตกเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์มาเป็นเวลาถึงสามร้อยปี ซึ่งต่อมาเมื่อมีการกู้เอกราช อาเจห์ก็เป็นส่วนหนึ่งในกองกำลังกู้เอกราชและต้องมาเป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียตามสนธิสัญญาที่กองกำลังกู้เอกราชทำกับเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้แล้วอาเจห์ยังภาคภูมิใจต่อการเป็นเมืองที่ประชาชนเคร่งครัดในการนับถือศาสนาอิสลาม และยังเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามในภูมิภาคนี้ ประเด็นเหล่านี้ได้สร้างอัตตาลักษณ์ที่ทำให้อาเจห์มีความเป็นเอกเทศ และแปลกแยกไปจากประชาชนชาวอินโดนีเซียโดยทั่วไป ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะถือได้ว่าเป็นประเทศอิสลามก็ตาม

สำหรับติมอร์ตะวันออกก็ได้อาศัยประวัติศาสตร์ในช่วงหลัง ที่ดินแดนแห่งนี้ตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสในขณะที่อินโดนีเซียเป็นเมืองขึ้นของเนเธอร์แลนด์ เมื่อติมอร์ตะวันออกกำลังจะได้เอกราชจากโปรตุเกส ประชาชนบางกลุ่มจึงถือว่าไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอินโดนีเซียแม้ว่าอินโดนีเซียจะได้ยกกำลังเข้ามายึดครอง และประกาศให้เป็นรัฐที่ 27 ของตนแล้วก็ตาม นอกจากนี้แล้ว ประชาชนในติมอร์ตะวันออกยังได้รับเอาศาสนาคริสต์เข้ามาเป็นศาสนาของตนในช่วงที่ถูกปกครองโดยโปรตุเกส ก็ได้ยิ่งทำให้วิถีชีวิตของชาวติมอร์ตะวันออกมีความแตกต่างไปจากชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ สิ่งนี้สร้างเงื่อนไขให้กับกลุ่มที่มีความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนออกไป

2. ประเด็นปัญหาของความพยายามของกลุ่มคนที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และ การสนับสนุนจากภายนอก เป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งจากการที่มีการสืบทอดเจตนารมณ์ของ ความพยายามในการแบ่งแยกดินแดน หรือเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรุ่นสู่รุ่น สมัยสู่สมัย ทั้งนี้จะ เห็นได้ว่าทั้งสามพื้นที่ที่ได้หยิบยกมาในบทความนี้ ได้มีการสืบทอดแนวทางในการดำเนินงานมา อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้มีการสนับสนุนจากภายนอกประเทศ ที่ส่งผลอย่างมากต่อการที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาของฝ่ายรัฐบาลเป็นไปด้วยความยากลำบาก และอาจล้มเหลวได้เช่นในติมอร์ตะวันออก ในขณะเดียวกันก็ช่วยดำรงรักษาสภาพของความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนไว้ได้อย่างยาวนาน เช่นในอาเจห์ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นต้น

ในขณะที่เราทราบกันแล้วว่า ความพยายามในการก่อการกบฏเพื่อแยกตัวออกไปจากประเทศไทยของเมืองปัตตานีมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จนมาถึงในยุคหลังที่ได้มีขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็น ขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติปัตตานี (Barisan National Pembebasan Pattani : B.N.P.P., ก่อตั้ง พ.ศ.2490), ขบวนการปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi National Pattani : B.R.N., ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2503), องค์กรแนวร่วมปลดปล่อยสหพันธ์ปัตตานี (Pattani United Liberation Organization : P.U.L.O., ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2511), ขบวนการมูจาฮีดีนปัตตานี (Barisan Bersatu Mujahidin Pattani : B.B.M.P., ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2526) และขบวนการ สหแนวร่วมกู้ชาติปัตตานี (Barisan Bersatu Kemerdekaan Pattani : BBKP., ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2532) ในขณะเดียวกันการต่อสู้เพื่อเอกราชในอดีต และความพยายามแยกตัวออกจากอินโดนีเซียของอาเจห์ มีขบวนการหรือกองโจรดำเนินงานมาตั้งแต่อดีต และในปัจจุบันก็คือ กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของอาเจห์ (Gerakan Aceh Merdeka, GAM, Free Aceh Movement) สำหรับติมอร์ตะวันออกซึ่งสามารถแยกตัวไปได้สำเร็จก็มี Fretilin ที่นำโดย นาย Kay Rala Xaxana Gusmao ผู้นำประเทศในปัจจุบันเป็นหัวหน้ากองกำลัง จะเห็นได้ว่าความพยายามในการแบ่งแยกดินแดนออกไปหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น มีการสืบทอดและรักษาเจตนารมณ์กันมาโดยตลอด ทั้งนี้ในบางห้วงที่สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ก็จะลดการดำเนินการไป ต่อเมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้ โดยเฉพาะเมื่อมีกาสนับสนุนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การทหาร การเมือง หรือเงื่อนไขทางสังคมก็ตาม การดำเนินงานของกลุ่มต่างๆ ก็จะทวีความรุนแรงและความเข้มข้นขึ้น

นอกจากนี้แล้วยังมีการสนับสนุนต่อขบวนการต่างๆ ที่จะพยายามเปลี่ยนแปลง การปกครองในพื้นที่ทั้งสามกรณีที่ยกมา ทั้งที่เป็นการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่และ ในประเทศเอง การสนับสนุนทางด้านการเงินจากกลุ่มศาสนาหรือกลุ่มอื่นจากภายนอกประเทศ การสนับสนุนทางด้านการฝึก อาวุธและผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มนอกกฎหมายทั้งในประเทศและนอกประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนในการให้ที่พักพิง การให้กำลังใจ และการสนับสนุนทางด้านการเมืองจากภายนอกประเทศ นอกจากนี้แล้ว ยังมีความรู้สึกเห็นใจจากกลุ่มองค์กรเอกชน องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่สนใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชน สิทธิในการปกครองตนเอง ดังเห็นได้ว่าในกรณีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาเจห์ ก็ได้มีองค์กรศาสนาจากกลุ่มประเทศอิสลามได้ส่งเงินเข้ามาสนับสนุนในพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งก็รวมถึงเงินที่นำมาใช้ในความพยายามใน การเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือแม้แต่แบ่งแยกดินแดนด้วย สำหรับติมอร์ตะวันออกใน ช่วงก่อนที่จะได้มีการแยกตัวออกจากอินโดนีเซียนั้น องค์กรด้านการศาสนาก็ได้เข้ามามีส่วนในการสนับสนุนเงินเข้าไปในพื้นที่เช่นกัน
ถ้าได้พิจารณากันให้ดีก็จะเห็นได้ว่า ระดับผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้กล่าวไปแล้ว ได้อาศัยดินแดนของประเทศอื่นในการหลบซ่อนตัวเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แกนนำของโจร ก่อการร้ายหลายคนที่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย หัวหน้าขบวนการ GAM ของอาเจห์อาศัยอยู่ในประเทศสวีเดน ในช่วงของการพยายามแยกตัวออกจากอินโดนีเซีย นายฮอร์ตา กลุ่มดำเนินการด้านการเมืองคนสำคัญคนหนึ่งในการแบ่งแยกดินแดนของติมอร์ตะวันออก ได้อาศัยอยู่ในที่พักหรูหราในประเทศออสเตรเลีย

สำหรับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน มีบทบาทในการตีแผ่ความ ไม่ชอบธรรมของอินโดนีเซียในการปกครองติมอร์ตะวันออก และขยายความชอบธรรมในการปกครองตนเองของชาวติมอร์ตะวันออก องค์กรและกลุ่มคนเหล่านี้ได้ให้ความสนใจ และเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่มาเป็นเวลานานนับสิบปี เพื่อเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของฝ่ายรัฐบาล รวมทั้งความสูญเสีย และความโหดร้ายในการการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาลกับ กลุ่มแบ่งแยกดินแดน สิ่งนี้ส่งผลเป็นอย่างมากกับความรู้สึกของสังคมโลก จนในที่สุดประเทศต่างๆ ก็ได้ให้ความเห็นชอบในการสนับสนุนต่อการที่จะเข้าไปแก้ปัญหาในติมอร์ตะวันออกของ Interfet ที่นำโดยออสเตรเลียและกองกำลังขององค์การสหประชาชาติในเวลาต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าวนี้กำลังเกิดขึ้นในอาเจห์เช่นกัน สื่อมวลชน และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้ลงไปทำงานในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพื่อการตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลมิให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น

3. ประเด็นปัญหาของความผิดพลาดในการแก้ปัญหาของฝ่ายรัฐบาล เป็นอีกประเด็นที่น่าศึกษาจากกรณีย์ที่เกิดขึ้นทั้งสามกรณีย์ กรณีของติมอร์ตะวันออก ปัญหาเริ่มมาจากการลงจากอำนาจของซูฮาร์โต ที่ทำให้พลังอำนาจและการต่อรองของประเทศอินโดนีเซียในสายตาชาวโลกตกลงมาอย่างมาก เมื่อนายฮาบีบี่ ผู้นำประเทศคนต่อมาตัดสินใจให้ติมอร์ตะวันออก
ทำการลงประชามติ ได้นำมาซึ่งความวุ่นวายและไม่สามารถควบคุมได้ ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียจะมีกำลังทหารในพื้นที่เป็นจำนวนมากก็ตาม และในที่สุดองค์การสหประชาชาติได้เข้ามาแก้ปัญหาเอง จะเห็นได้ว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างเหมาะสม จนต้องยอมให้มีการแบ่งแยกดินแดนออกไปในที่สุด

ด้วยมีบทเรียนจากติมอร์ตะวันออก อินโดนีเซียได้พยายามที่จะกำหนดนโยบายในการดำเนินการต่างๆ เพื่อรักษาอาเจห์ไว้ ดังเห็นได้ว่าอินโดนีเซียได้ยอมให้ผู้สังเกตการณ์จากนานาชาติ เข้าไปแก้ปัญหาในอาเจห์ตามข้อตกลงยุติการเป็นปรปักษ์ต่อกันของรัฐบาลกับกองกำลัง GAM ที่ทำกันที่เจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ ในปี พ.ศ.2545 ซึ่งผลออกมาก็ไม่ประสบผลสำเร็จ และกองกำลังทหารของอินโดนีเซียก็ได้ถือโอกาสเข้าสู่พื้นที่อาเจห์เพื่อเปิดปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับการประกาศกฎอัยการศึกในเดือน พ.ค.2546 ทั้งนี้การตัดสินใจดังกล่าวยังไม่แสดงผลที่ชัดเจนว่ารัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดหรือไม่ อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวนี้ก็ส่งผลในทางลบออกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านจากประชาชนทั่วไปในพื้นที่ที่ต้องการให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และการออกมาประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากองค์กรสิทธิมนุษยชน

สำหรับการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยในกรณีย์สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อาจยังจะเร็วไปที่จะบอกว่าเหมาะสมหรือไม่ แต่เราก็ได้เริ่มเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว จากการที่ผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้ออกมาประกาศที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการแก้ปัญหา สภาพดังกล่าวดำรงอยู่เป็นเวลาสองวัน ก่อนที่ผู้นำศาสนากลุ่มดังกล่าวจะได้หันกลับมาให้ความร่วมมืออีกครั้ง นอกจากนี้แล้ว กำลังทหารที่ส่งเข้าไปในพื้นที่เป็นจำนวนมากก็เริ่มที่จะประสบปัญหาในการปฏิบัติงาน ในขณะเดียวกัน ก็มีกระแสของการต่อต้านการใช้กฎอัยการศึกมาอย่างประปราย และถ้าได้มีการหยิบยกหลักการในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบขึ้นมาอ้างแล้ว อาจกล่าวได้ว่าแนวทางในการแก้ปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ในปัจจุบันนั้น ขัดแย้งกับหลักการแก้ปัญหาหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังแต่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น การลดความขัดแย้งให้เหลือน้อยที่สุด เอกภาพในการปฏิบัติงาน และความยินยอมพร้อมใจในการแก้ปัญหาของประชาชน

บทเรียนในการแบ่งแยกดินแดนของติมอร์ตะวันออก และสถานการณ์ใน อาเจห์ เครื่องเตือนใจต่อรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
บทเรียนจากการแบ่งแยกดินแดนของติมอร์ตะวันออก เป็นสิ่งที่มีแนวโน้มว่ากลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในอาเจห์ และ3 จังหวัดภาคใต้ของไทยอาจจะได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้นการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปในการดำเนินงานแบ่งแยกดินแดนในติมอร์ตะวันออกและอาเจห์ อาจพอเป็นแนวทางให้รัฐบาลไทยนำมาใช้ในการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานของกลุ่มที่กำลังก่อความไม่สงบในพื้นที่ได้ ซึ่งก็จะทำให้การกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาของรัฐบาลต่อการดำเนินการของกลุ่มที่กำลังก่อความไม่สงบอยู่ ได้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น สำหรับบทเรียนที่ควรได้นำมาพิจารณาสามารถที่จะสรุปออกมาได้ดังนี้
1. ความสำเร็จในการดำเนินงานของฝ่ายก่อความไม่สงบ ไม่ว่าจะเป็นในติมอร์ตะวันออก หรือในอาเจห์ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ มิได้ใช้การปฏิบัติการในลักษณะกองโจร หรือการก่อการร้ายเป็นการดำเนินงานหลัก ในทางตรงกันข้าม การปฏิบัติการในลักษณะกองโจร และการก่อการร้ายนั้น ถูกใช้ไปเพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมให้สามารถดำเนินงานด้านการเมืองอย่างได้ผล

ดังเห็นได้ว่า หลังปี พ.ศ.2539 GAM ได้ลดการปฏิบัติลงไป โดยมุ่งเน้นไปที่การทำงานด้านการเมือง และความพยายามในการดึงดูดความสนใจจากนานาชาติในปัญหาอาเจห์ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2541 จึงได้เริ่มเข้ามาปฏิบัติการใหม่ โดยในครั้งนี้ GAM พยายามใช้จุดอ่อนทางด้านการเมืองทั้งในระดับชาติ และในระดับท้องถิ่น ความขัดแย้งกันเองของฝ่ายทหารและตำรวจในอินโดนีเซีย เข้ามาเป็นช่องทางที่จะขยายแนวทางในการแบ่งแยกดินแดนของตนเอง และเป็นช่องทางที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนมากขึ้น

เหตุการณ์ปัจจุบันใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้พยายามไม่ออกมาประกาศตัวเหมือนเช่นก่อน แต่ได้พยายามเข้าไปแทรกซึมและดำเนินการด้านการเมืองเพื่อดึงมวลชน และเข้าสู่ช่องทางที่จะได้รับการสนับสนุนทั้ง จากประชาชนโดยทั่วไป ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำทางศาสนา รวมทั้งจากนักวิชาการที่อาจจะเห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดน หรือแค่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองการปกครองในพื้นที่ ทั้งนี้ด้วยการใช้เงื่อนไขที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ การแตกแยกของเจ้าหน้าที่ และปัญหาการแก่งแย่งทางการเมืองของนักการเมืองไทย

2. กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในอาเจห์ประสบความสำเร็จ ในการทำให้กำลังรักษาความปลอดภัยที่มีอยู่มากในพื้นที่เกิดการกระทบกระทั่งกับประชาชนอยู่เสมอ จนทำให้ประชาชนที่แต่เดิมเข้าข้างรัฐบาล หรือเป็นกลางอยู่หันเหไปให้ความสนับสนุนฝ่ายแบ่งแยกดินแดนมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว เหตุการณ์ในอาเจห์ก็ได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ จากปี พ.ศ.2542 ที่มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ในอาเจห์ประมาณ 300 คนเป็น 1,000 คนในปี พ.ศ.2543 และ 1,500 คน ในปี พ.ศ. 2544 โดยผู้เสียชีวิตส่วนมากนั้นก็คือ ประชาชนทั่วไปและฝ่ายกองกำลังแบ่งแยกดินแดน

ปัจจุบัน สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่รุนแรงจนถึงระดับที่เกิดขึ้นที่อาเจห์ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม จากการที่มีกำลังทหาร กำลังตำรวจ และกำลังของรัฐบาลอยู่ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และมีการก่อการร้ายของกลุ่มที่ต้องการทวีความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้น ด้วยการทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นสายให้กับฝ่ายรัฐบาลแทบทุกวัน และมีการเสียชีวิตของประชาชนทั่วไป ซึ่งไม่มีใครออกมาให้การอ้างว่าเป็นผู้กระทำ ได้ส่งผลให้เกิดความคลางแคลงใจต่อฝ่ายรัฐบาล สิ่งนี้ย่อมส่งผลต่อความรุนแรงของปัญหาที่อาจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต จนองค์กรต่างชาติต้องเข้ามาให้ความสนใจจนจัดเจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชน และสื่อมวลชนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น จำนวนผู้เสียชีวิตจะได้มีการบันทึกและเผยแพร่ต่อไปในอนาคต และถ้ายิ่งกำลังของฝ่ายรัฐบาลตอบโต้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง เกินกว่าเหตุแล้ว ในโอกาสต่อไปความสูญเสียอาจเพิ่มมากขึ้นเช่นในอาเจห์ได้

3. กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในอาเจห์ ประสบความสำเร็จในการดึงนานาชาติเข้ามาแก้ปัญหา ด้วยการทำข้อตกลงกับรัฐบาลอินโดนีเซียที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และมีผู้สังเกตการณ์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในอาเจห์ สิ่งนี้จะเป็นการทำให้สังคมโลกเห็นความชอบธรรมในการที่อาเจห์จะแยกตัวไปปกครองตนเองมากขึ้น และเห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้กำลังทหารเข้าทำการปราบปรามฝ่ายแบ่งแยกดินแดนมากขึ้น ถึงแม้ว่าข้อตกลงนี้มิได้นำไปสู่ความสำเร็จ และในทางกลับกันกลับนำมาซึ่งการเข้ามาปราบปรามของกองทัพอินโดนีเซียในอาเจห์อีกครั้ง แต่ก็ได้สร้างบันไดไปสู่ความสำเร็จในการแบ่งแยกดินแดนตามแนวทางของติมอร์ตะวันออกไว้ได้

สำหรับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังอยู่ในสภาวการณ์ที่ห่างไกลจากที่กำลังเกิดขึ้นในอาเจห์อยู่มากทีเดียว แต่สื่อมวลชลในโลกอิสลาม สื่อมวลชนทั่วไป และองค์กรเอกชนได้เข้ามาให้ความสนใจในพื้นที่มากขึ้น ถ้าการดำเนินงานของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับปัญหาแล้ว
อาจทำให้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินตามรอยอาเจห์ หรือติมอร์ตะวันออกก็เป็นได้

4. ในปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาเจห์ก็ได้มีปัจจัยเชิงบวกต่อฝ่ายรัฐบาลที่อาจทำให้ การดำเนินงานของฝ่ายก่อความไม่สงบไม่อาจจะประสบความสำเร็จได้โดยง่ายเช่นในติมอร์ตะวันออกด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากประเด็นปัญหาด้านศาสนาที่ประชาชนในติมอร์ตะวันออกเป็นคริสเตียนและมีประเทศตะวันตกให้การสนับสนุนอยู่ ในขณะที่ในอาเจห์และ3 จังหวัดภาคใต้มีประชากรส่วนใหญ่เป็นอิสลาม เมื่อวิเคราะห์ตามกระแสโลก และจากเหตุการณ์ที่สหรัฐฯ มหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก ที่กำลังทำสงครามกับกลุ่มก่อการร้ายที่ใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องชี้นำ ก็ทำให้อาจกล่าวได้ว่ากลุ่มที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอาเจห์และ3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ยังคงไม่เข้มแข็งพอที่จะดึงประชาคมโลกเข้ามาสู่ปัญหาและนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนได้ และนอกจากนี้ยังอาจจะได้รับการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจากสหรัฐฯ เสียด้วยซ้ำถ้าการแบ่งแยกดินแดนนั้นๆ ถูกมองว่าเป็นการก่อการร้าย เช่นการที่ฟิลิปปินส์ปราบปรามกลุ่มอิสลามที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ตอนล่างของประเทศ ด้วยความช่วยเหลือของสหรัฐฯ ที่มองว่ากลุ่มดังกล่าวนั้นเป็นกลุ่มก่อการร้าย และอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของอเมริกาได้ นอกจากนี้ ในอินโดนีเซียการปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในอาเจห์ไม่ค่อยถูกขัดขวาง มากนัก ถึงแม้ว่าจะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนกันอย่างประปราย

การประเมินยุทธศาสตร์ของกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
..........ผลจากความคล้ายคลึงกันของแนวทางในการดำเนินงานในติมอร์ตะวันออก อาเจห์ และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย รวมทั้งความสัมพันธ์ของกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในอาเจห์และในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เราสามารถวิเคราะห์และประเมินยุทธศาสตร์ของ กลุ่มดังกล่าวนี้ได้ ดังนี้
1. เป้าหมายในการดำเนินงานของกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นยังคงไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนัก จากการที่บางกลุ่มต้องการแบ่งแยกดินแดนไปจากประเทศไทยด้วย ความรุนแรง ในขณะที่บางกลุ่มต้องการความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ให้ไปในทิศทางที่กลุ่มศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และวิถีชีวิตแบบอิสลามได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น หรือศาสนาอาจถูกนำมาพิจารณาใช้เป็นหลักในการปกครองพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย อย่างไรก็ตามแต่ละกลุ่มได้พยายามผสมผสานประโยชน์ร่วมกันในการที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ในทิศทางที่ต้องการ ดังนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการผสมผสานกันทั้งโดยธรรมชาติ และอย่างตั้งใจเพื่อให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบการปกครองที่มีอยู่เดิมไปสู่ระบบแบบใหม่ที่อาจมีระดับตั้งแต่ เป็นจังหวัดที่บริหารโดยผู้ว่า นายอำเภอ และข้าราชการต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม ไปจนถึงการเป็นเขตปกครองพิเศษ หรือแยกออกไปเป็นรัฐอิสระ (ซึ่งมีแนวโน้มน้อยมาก)
2.แนวทางในการนำไปสู่ความสำเร็จของกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพื้นที่นั้น มิได้มุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติการทางทหาร แต่เน้นไปที่การปฏิบัติการทางด้านการเมือง โดยใช้ประเด็นปัญหาทางด้านสังคมจิตวิทยา เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี มาเป็นเงื่อนไขในการสร้างความชอบธรรมในการแยกตัว และเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองให้กับกลุ่มตน รวมทั้งเป็นสร้างความไม่ชอบธรรมในการปกครองให้กับรัฐบาลของประเทศ
ใช้ประเด็นปัญหาทางด้านการทหาร ความปลอดภัยมั่นคงของชีวิตประชาชนในพื้นที่ ความยากลำบากในการดำรงชีวิตทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตประจำวันตามความเชื่อในวัฒนธรรมและศาสนา รวมทั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องในการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ มาเป็นเงื่อนไข และข้ออ้างที่จะขยายความไม่พอใจของประชาชนต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล และรัฐบาลในที่สุด
3. จากแนวทางในการนำไปสู่ความสำเร็จดังกล่าวนั้น จะต้องให้มีการเชื่อมโยงและผสมผสานการดำเนินงานให้เกิดขึ้นมิใช่เฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะได้มีการโยงใยการดำเนินงานให้เชื่อมโยงไปกับกลุ่มคน องค์กร ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการจากนานาชาติด้วย องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนจะเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อขยายและสร้างความชอบธรรมในการดำเนินงานของกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ กรณีย์นี้จะเกิดขึ้นได้ก็จากเงื่อนไขที่ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย (ยังมิเกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ แต่ถ้าในพื้นที่ยังมีกองกำลังอยู่จำนวนมาก ก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่ายต่อการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ตั้งใจได้ เช่น การเข้าค้นในศาสนสถานโดยไม่มีขั้นตอนที่ดีพอ อาจถูกมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านวัฒนธรรมประเพณี และความเชื่อของกลุ่มคนได้)
4. ถ้ารัฐบาลไทยยังคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสอดคล้องในห้วงเวลา2-3 ปีต่อไปนี้ และถ้าความรุนแรงในพื้นที่ได้ทวีขึ้นแล้ว กลุ่มคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงก็อาจจะได้เริ่มพยายามที่จะดึงองค์กรนานาชาติเข้ามาร่วมแก้ปัญหา ซึ่งจะทำให้ปัญหามีความยุ่งยากและสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น
5. นอกจากนี้แล้ว การดำเนินงานของกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระยะสั้น และแนวโน้มของประชาชนในพื้นที่ พอที่จะสรุปได้ดังนี้
....5.1 กลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนมีแนวโน้มที่จะขยายผลจากความสำเร็จใน การปฏิบัติงานที่ผ่านมา ที่ได้ยกระดับของความรุนแรงของปัญหาให้สูงขึ้นจากการที่รัฐบาลตอบโต้ด้วยการประกาศกฎอัยการศึก และจัดกำลังทหารเข้าสู่พื้นที่เป็นจำนวนหลายพันนาย ทั้งนี้ การดำเนินงานในห้วงต่อไปของกลุ่มที่พยายามจะแบ่งแยกดินแดน หรือต้องการอำนาจอธิปไตยในพื้นที่ น่าจะมีการยั่วยุให้กำลังทหารตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐตอบโต้ในลักษณะที่เกินกว่าเหตุ มีลักษณะของการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งทางร่างกาย วัตถุ จิตใจ และความเชื่อทางศาสนาวัฒนธรรมประเพณี รวมทั้งจะมีการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิมในพื้นที่ เช่น มีการทำร้ายบุคคล หรือทำลายสถานที่สำคัญทางศาสนาของแต่ละศาสนา โดยทั้งนี้การปฏิบัติในลักษะของการโจมตีด้วยกองโจร หรือกำลังขนาดใหญ่ที่ต้องการการวางแผน และขั้นตอนในการปฏิบัติที่ซับซ้อนจะยังไม่เกิดในห้วงเวลาอันสั้นนี้ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มก่อความไม่สงบมีแนวโน้มที่จะเข้ามาร่วมมือกันมากขึ้น จนอาจถึงขั้นการรวมตัวเป็นขบวนการเดียวกันเพื่อการแยกดินแดน ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากความสำเร็จในการดำเนินงานที่ผ่านมา และอาวุธที่ได้เก็บสะสมไว้และพร้อมที่จะเริมก่อตั้งกองกำลังเพื่อการแบ่งแยกดินแดนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
....5.2 กลุ่มนักวิชาการ นักการเมือง ผู้นำท้องถิ่นและผู้นำทางศาสนาที่มีแนวความคิดต้องการอำนาจอธิปไตยในพื้นที่จะออกมาต่อต้าน ตำหนิรัฐบาล และเรียกร้องรัฐบาลในสิ่งที่เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ยินยอม รวมทั้งจะได้ทำการชี้นำประชาชน และสังคมไทย รวมทั้งประชาคมโลก ให้เห็นว่าไม่ได้มีขบวนการที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน การที่รัฐบาลได้สั่งการให้ทหารเข้ามาในพื้นที่นั้นก็เนื่องมากจากความระแวงของรัฐบาลเอง และเป็นการใช้กำลังทหารเข้ามาปราบปรามประชาชน หรือเข้ามาข่มขู่ชาวไทยมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย อีกทั้งกลุ่มดังกล่าวนี้จะได้ชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ของรัฐในสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต อันเนื่องมาจากมีกำลังของเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย และเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีการควบคุม และประสานงานกันยังไม่เป็นเอกภาพ และไม่มีความเข้าใจในพื้นที่ ประชาชน และปัญหาต่างๆ ดีพอ สำหรับ กลุ่มที่มีแนวความคิดต้องการอำนาจอธิปไตยในพื้นที่นี้ จะได้อาศัยโอกาสในการแสดง ความคิดเห็น และชี้นำสังคมโดยปะปนกันไปกับ กลุ่มนักวิชาการ นักการเมือง ผู้นำท้องถิ่น และผู้นำศาสนาที่มีความหวังดี และต้องการเสนอแนะแนวทางในการแก้ปัญหาในกับรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
....5.3 ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ กำลังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจที่จะเข้ากับฝ่ายใดดี หรือวางตัวเป็นกลางทั้งนี้ก็เพื่อรอการตัดสินใจ หรือเพื่อความปลอดภัยของตนเอง ฝ่ายใดที่สามารถเข้าใจและปรับหรือเรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ มีความรู้สึกปลอดภัย สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันของตน ซึ่งส่วนมากผูกพันอยู่กับศาสนา วัฒนธรรมประเพณี และการหาเลี้ยงชีพได้อย่างปรกติสุข ประชาชนจะไปเข้ากับฝ่ายนั้น ในการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ เข้าไปควบคุมพื้นที่มากขึ้นโดยมิได้มีความเข้าใจในเป้าหมายในการดำเนินการที่ชัดเจนของหน่วยของตน และของรัฐบาล รวมทั้งมิได้มีการเตรียมความพร้อมในการเผชิญปัญหาทางด้านอื่นๆ เช่น การเมือง สังคมจิตวิทยา และด้านเศรษฐกิจ ก็จะส่งผลให้ประชาชนเกิดความคลางแคลงใจ และมีแนวโน้มของความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่สูงขึ้น

บทสรุป
..........สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ยังคงมิใช่สถานการณ์ที่เลวร้ายหรือรุนแรงจนเกินไป และยังคงมีระดับความรุนแรงของปัญหาที่ยังคงน้อยกว่าที่กำลังเกิดขึ้นในอาเจห์มาก อีกทั้งแนวโน้มที่สถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะพัฒนาไปสู่การแบ่งแยกดินแดนแบบที่ติมอร์ตะวันออกก็มีความเป็นไปได้ไม่มากนัก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่า ขีดความสามารถของกลุ่มที่พยายามแบ่งแยกดินแดนเองยังไม่เพียงพอ และยังคงขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาชน กลุ่มนักวิชาการ ผู้นำศาสนา และผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ กลุ่มต่างๆ ก็ยังคงมีการประสานประโยชน์ร่วมกันแค่อย่างหลวมๆ อีกทั้งเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงก็ยังไม่เด่นชัดและรุนแรงจนถึงระดับที่ กลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงต้องการที่จะดำเนินงานอย่างสุดความสามารถ อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขและสถานการณ์ของความรุนแรงต่างๆ สามารถที่จะสร้างขึ้นมาได้ด้วย การปฏิบัติงานของกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน ด้วยการยั่วยุรัฐบาล และบ่อนทำลายรัฐบาล ในด้านต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลตอบโต้หรือแก้ปัญหาอย่างขาดยุทธศาสตร์และขาดสติ ซึ่งจะสามารถยกระดับความรุนแรงในพื้นที่ และสร้างเงื่อนไขให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความร่วมมือร่วมใจกันของ กลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนด้วยความรุนแรงกับกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยวีถีทางทางการเมือง รวมทั้งจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนต่อฝ่ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังจะเกิดการต่อต้านฝ่ายรัฐบาลมากขึ้น อันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้เป็นไปได้ในที่สุด ฝ่ายรัฐบาลควรจะได้มีการศึกษายุทธศาสตร์ และยุทธวิธีของกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพื้นที่ โดยอาจใช้บทเรียนจากการดำเนินการของกลุ่มบางกลุ่ม เช่นในอาเจห์ หรือติมอร์ตะวันออก มาเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้ก็เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ทั้งในระยะยาวและระยะสั้นออกมาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อที่จะได้ยุติปัญหาในพื้นที่ โดยมิให้ต้องรุกลามใหญ่โตเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น