14 ธันวาคม 2552

บทที่ 5

บทที่ 5
สรุปและข้อเสนอแนะ

-------------


สรุป
..........ปัญหาความรุนแรงในอาเจห์เกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและกลุ่มอาเจห์เสรี(Free Aceh Movement : GAM) ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 วัตถุประสงค์เริ่มแรกของ GAM คือการต่อต้านความไม่ยุติธรรมที่รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้เข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันที่มีอยู่อย่างมากมายในอาเจห์ แต่กลับไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรจากรัฐบาลอินโดนีเซีย

ต่อมาในห้วงปี พ.ศ.2533 – 2541 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งกำลังทหารจำนวนมากเข้าปราบปรามสมาชิก GAM ที่ได้รับการฝึกจากลิเบีย การปราบปรามเป็นไปอย่างรุนแรง มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ทั้งจากฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM การปราบปรามดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อ ประธานาธิบดี ซูฮาร์โตถูกโค่นล้มจากตำแหน่ง และมีการถอนกำลังทหารส่วนใหญ่ออกจากอาเจห์ แต่ GAM ก็ยังคงปฏิบัติการโจมตี ต่อฝ่ายรัฐบาลในลักษณะที่ไม่รุนแรงมากนักและเป็นครั้งคราวมิได้เกิดขึ้นเป็นประจำ

การเรียกร้องเอกราชของติมอร์ ตะวันออก ในปี พ.ศ.2542 ทำให้นักศึกษาจำนวนมากใน อาเจห์เริ่มเรียกร้องให้ลงประชามติเพื่อการปกครองตนเองของอาเจห์ ทำให้ GAM มีวัตถุประสงค์ในการเรียกร้องเอกราชจากรัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอีกประการหนึ่ง และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ GAM ได้เพิ่มความรุนแรงและความถี่ในการโจมตี เจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซีย และได้เริ่มจัดตั้งระบบการปกครองมาซ้อนกับระบบของรัฐบาลอินโดนีเซีย รวมทั้งเริ่มมีการจัดเก็บภาษีที่เรียกว่าภาษีสงครามอีกด้วย

รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตอบโต้ด้วยการประกาศสภาวะฉุกเฉินและส่งกำลังทหารและตำรวจเข้าควบคุมพื้นที่ โดยกำลังเหล่านี้ได้เข้าโจมตีจุดที่สงสัยว่าเป็นฐานที่มั่นของฝ่าย GAM การปฏิบัติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประชาชนในพื้นที่ ในห้วงเวลาแห่งความรุนแรงดังกล่าว รัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ได้ทำข้อตกลง หยุดยิง 2 ครั้ง ครั้งแรกในห้วง ม.ค.2543 ถึง เม.ย.2544 และครั้งที่ 2 ระหว่าง ม.ค.2545 ถึง พ.ค.2546 เพื่อให้หน่วยงานบรรเทาทุกข์ต่างๆ เข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง แต่การหยุดยิงทั้ง 2 ครั้งก็ไม่ประสบความสำเร็จสาเหตุเนื่องมาจากการไม่ไว้ใจกันระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์สึนามิ เมื่อ 26 ธ.ค.2547 ได้เปลี่ยนสถานการณ์การเมืองไปเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้เข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ทำให้ประชาชน มากกว่าร้อยละ 70 มีความพอใจในการให้การช่วยเหลือของรัฐบาลอินโดนีเซีย และหลังเหตุการณ์ฯ รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้เปิดการเจรจาอย่างจริงจังกับ GAM อีก 5 ครั้ง จนนำไปสู่การลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในอาเจห์ ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM เมื่อ 15 ส.ค.2548 ณ กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

แนวความคิดในการปฏิบัติของกระบวนการสันติภาพในอาเจห์
..........รัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในประเด็นด้านการเมือง เศรษฐกิจและ การปกครอง ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้ประชาชนในอาเจห์มีสิทธิในการปกครองตนเองมากขึ้น โดยไม่ขัดกับกรอบรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย ประเด็นที่สำคัญของ MOU ประกอบด้วย
1. การสร้างสภาวะแวดล้อมที่สงบและปลอดภัย ซึ่งดำเนินการโดย
....1.1 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้กำลังในพื้นที่
....1.2 GAM ต้องปลดอาวุธของสมาชิกตนเอง
....1.3 รัฐบาลอินโดนีเซียต้องถอนกำลังทหารและตำรวจที่ไม่ใช่กำลังที่อยู่ตามปกติในอาเจห์ออกไปจากพื้นที่
....1.4 ตำรวจในท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัย และใช้กฎหมายในพื้นที่
2. การนิรโทษกรรมและการกลับคืนสู่สังคมของสมาชิก GAM โดยรัฐบาลอินโดนีเซียจะต้อง นิรโทษกรรมให้กับสมาชิก GAM และจะต้องให้ความช่วยเหลือในการนำบุคคลเหล่านี้กลับคืนสู่สังคม ด้วยการให้การสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการจัดหาที่ทำกิน เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และมีสิทธิเสรีภาพทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนสิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการทางการเมืองให้กับท้องถิ่นและระดับประเทศได้อย่างเสรี
3. การจัดตั้งภารกิจสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพในอาเจห์ (Aceh Monitoring Mission : AMM) เพื่อขจัดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM โดย AMM เป็นภารกิจร่วมระหว่างสหภาพยุโรป (European Union : EU) และ 5 ชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติตาม MOU ระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM

การดำเนินการเพื่อให้เกิดผลตาม MOU ที่ผ่านมาสรุปได้ดังนี้

1. การถอนกำลังติดอาวุธของรัฐบาลอินโดนีเซียและการปลดอาวุธ/ปลดประจำการสมาชิก GAM ปัจจุบัน การถอนกำลังทหารและตำรวจของรัฐบาลอินโดนีเซียที่ไม่ใช่กำลังซึ่งมีที่ตั้งปกติในอาเจห์ และการปลดประจำการสมาชิก GAM ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วแต่ยังคงมีสมาชิก GAM บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการสันติภาพยังคงมีอาวุธในครอบครองแต่มีจำนวนไม่มากนัก

2. การนิรโทษกรรมและการช่วยเหลือในการกลับคืนสู่สังคมของสมาชิก GAM ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับสมาชิก GAM เรียบร้อยแล้ว ส่วนการให้ความช่วยเหลือในการกลับคืนสู่สังคม รัฐบาลอินโดนีเซียช่วยเหลือด้วยการมอบเงินประมาณคนละ 200 – 300 เหรียญสหรัฐฯ ให้กับสมาชิก GAM ที่ออกมาแสดงตัวและนำอาวุธมามอบเรียบร้อยแล้ว ส่วนการมอบเงินทุนช่วยเหลือในการเริ่มต้นประกอบอาชีพคนละ 24 ล้านรูเปีย (ประมาณ 108,000 บาท) ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียต้องการที่จะจ่ายให้กับสมาชิก GAM โดยตรง แต่ GAM ต้องการให้จ่ายเงินดังกล่าวทั้งหมดให้ GAM เพื่อจะนำไปบริหารจัดการให้กับสมาชิกต่อไป สำหรับการจัดสรรที่ทำกินให้กับสมาชิก GAM คนละ 2 เอเคอร์ ยังไม่เริ่มดำเนินการ

3. การออกกฎหมายพิเศษเพื่อจัดการเลือกตั้งและให้สิทธิในการปกครองตนเอง ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายปกครองอาเจห์ (Law on Governing Aceh : LOGA) ซึ่งมีพื้นฐานมาจาก MOU ที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียและให้สิทธิสภานิติบัญญัติอาเจห์ในการออกกฎหมายประกอบอื่นๆ ได้ต่อไป โดย GAM ให้การรับรองกฎหมายดังกล่าวในภาพรวม แต่มีท่าทีที่จะขอแก้ไขกฎหมายในบางประเด็นในโอกาสต่อไป ซึ่งหลังจากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ส.ค.2549 เป็นต้นมา สภานิติบัญญัติอาเจห์ได้ออกกฎหมายเพื่อจัดการเลือกตั้งในอาเจห์เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดให้ทำการเลือกตั้งทั่วไปในอาเจห์ใน 11 ธ.ค.2549 ซึ่งการเลือกตั้งดังกล่าวจะเลือกผู้ว่าและรองผู้ว่าการอาเจห์ นายอำเภอ/หัวหน้าผู้บริหารระดับตำบล/นายกเทศมนตรี จำนวน 19 เขต จากทั้งหมด 21 เขต

วิเคราะห์กระบวนการสันติภาพในอาเจห์
..........โดยทั่วไปแล้วกระบวนการสันติภาพในอาเจห์จัดว่าประสบความสำเร็จ โดยสามารถยุติปัญหาความรุนแรงในอาเจห์ได้ ถึงแม้จะยังคงมีปัญหาทางเทคนิคอีกหลายประการที่รัฐบาลอินโดนีเซียจำเป็นต้องเจรจา ตกลงกับ GAM ต่อไป กระบวนการดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการแก้ปัญหาขัดแย้งด้วยการเจรจาพูดคุย จะเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีกว่าการใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน องค์ประกอบสำคัญที่มีผลต่อกระบวนการ ดังกล่าวคือ
1. การเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการที่รัฐบาลอินโดนีเซีย เปิดโอกาสให้ GAM เสนอความต้องการและรัฐบาลอินโดนีเซีย พิจารณาตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้น โดยอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย ปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเจรจาจำแนกได้เป็น 4 ปัจจัยคือ
....1.1 การมีคู่กรณีที่ชัดเจน ปัญหาความรุนแรงในอาเจห์เกิดจากความขัดแย้งระหว่างคู่กรณีที่ชัดเจนคือระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและ GAM โดย GAM มีระบบการควบคุมบังคับบัญชาที่แน่นแฟ้นสามารถควบคุมการปฏิบัติของสมาชิกส่วนใหญ่ได้ ทำให้การเจรจาทำได้ง่าย เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องไม่มาก ซึ่งหากเป็นกรณีที่มีคู่กรณีไม่ชัดเจนหรือฝ่าย GAM ไม่สามารถควบคุมกันเองภายในได้ ก็อาจทำให้ความต้องการของ GAM ไม่ชัดเจน หรือแม้กระทั่งเกิดความขัดแย้งกันเองอันจะส่งผลให้การเจรจาทวีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
....1.2 ความมุ่งมั่นที่จะยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี ทั้งรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ต่างก็มีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาพูดคุยเพื่อให้ได้แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โดยจะเห็นได้จากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้ความอดทนในการเจรจากันถึง 5 ครั้ง ในห้วง ม.ค.– มิ.ย.2548 ซึ่งในห้วงดังกล่าว ก็ยังเกิดมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในอาเจห์เป็นครั้งคราว ทั้งนี้หากทั้งสองฝ่ายไม่มีความตั้งใจจริงแล้วเหตุการณ์ความรุนแรงก็อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการเจรจาได้
....1.3 กรณีสึนามิ เนื่องจากอาเจห์ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์สึนามิ ประชาชนซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุน GAM ได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส ไม่อาจช่วยเหลือตนเองหรือ GAM ได้ จึงทำให้ GAM ลดความแข็งแกร่งลง กอปรกับการที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทุ่มเทให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ ทำให้ประชาชนซึ่งยังฝังใจกับเหตุการณ์ในห้วงปี พ.ศ.2533 – 2541 เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อรัฐบาลอินโดนีเซียไปในทางที่ดีขึ้น จนเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ GAM มีท่าทีอ่อนลงในระหว่างการเจรจา
....1.4 การมีตัวกลางในการเจรจา รากเหง้าของปัญหาในอาเจห์ส่งผลให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ทำให้เกิดอุปสรรคที่สำคัญในการยุติปัญหาความรุนแรง ที่เกิดขึ้นดังจะเห็นได้จากความล้มเหลวของการหยุดยิงทั้ง 2 ครั้งในห้วงปี พ.ศ.2543 – 2546 ดังนั้นเพื่อแก้ไขอุปสรรคดังกล่าว จึงได้มีการนำสหภาพยุโรปให้เข้ามาช่วยเหลือในการเป็นตัวกลางเพื่อไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในการเจรจาจนประสบความสำเร็จในที่สุด
2. MOU ซึ่งเป็นผลผลิตจากการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในกระบวนการสันติภาพฯ เนื่องจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างก็ยึดถือ MOU เป็นแนวทางในการปฏิบัติทำให้การปฏิบัติต่างๆ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ผลที่เกิดจากประเด็นสำคัญใน MOU คือ
....2.1 การให้มีการถอนกำลังทหารและตำรวจ และการปลดอาวุธ/ปลดประจำการของสมาชิก GAM ซึ่งส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในอาเจห์ ด้วยการลดโอกาสที่จะเกิดการปะทะระหว่างกำลังฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ลงไปเป็นอย่างมาก ทำให้การดำเนินงานในขั้นต่างๆ เป็นไปได้ด้วยดี
....2.2 การนิรโทษกรรมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรมของ GAM ทั้งหมด ถือเป็นการล้างไพ่ใหม่ทั้งหมดโดยไม่คำนึงถึงพฤติกรรมในอดีตของสมาชิกเหล่านี้ เป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ ระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ดีจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ในประเด็น การจ่ายเงิน 24 ล้าน รูเปีย ให้แก่สมาชิก GAM นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อกระบวนการสันติภาพใน อาเจห์ในปัจจุบัน เนื่องจากสมาชิก GAM ที่ปลดอาวุธและปลดประจำการแล้วเหล่านี้ยังไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติได้เนื่องจากการขาดแคลนเงินทุนและที่ดินทำกินจึงหันไปก่ออาชญากรรม อันเป็นสาเหตุให้อัตราการเกิดอาชญากรรมในอาเจห์สูงมากในขณะนี้ ปัญหาดังกล่าวอาจทำให้สมาชิก GAM เหล่านี้เกิดความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งอันอาจนำมาซึ่งการประทุของความรุนแรงขึ้นได้อีกครั้ง
....2.3 การที่รัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎหมายปกครองอาเจห์ (LOGA) เพื่อมอบสิทธิในการปกครองตนเองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซีย โดยมอบอำนาจให้สภานิติบัญญัติของอาเจห์เป็นผู้ออกกฎหมายประกอบอื่นๆ เพื่อรองรับ LOGA ได้เองนั้น ถือเป็นแนวทางการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งถึงแม้ GAM จะมีความพยายามในตอนต้นที่จะไม่ยอมรับ LOGA แต่เนื่องจากรัฐบาลอินโดนีเซียได้กำหนดช่องทางในการแก้ไข LOGA ได้ในโอกาสต่อไป จึงทำให้กระบวนการสันติภาพสามารถดำเนินต่อไปได้ จนในปัจจุบันสภานิติบัญญัติ อาเจห์ได้ออกกฎหมายเพื่อให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายใน 11 ธ.ค.2549
3. AMM นับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ โดยทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับการปฏิบัติของอีกฝ่าย ซึ่งหากไม่มี AMM เป็นตัวกลางในการโน้มน้าวให้คู่กรณีพยายามโอนอ่อนผ่อนปรนจนสามารถตกลงกันได้แล้ว คู่กรณี ก็จะยังคงยืนยันในท่าทีของตนเอง อันอาจนำไปสู่ความล้มเหลวของกระบวนการสันติภาพได้ นอกจากนี้การที่ AMM ได้เข้าไปตรวจสอบ การปฏิบัติตาม MOU ของทั้ง 2 ฝ่าย ยังเป็นการขจัดความไม่ไว้วางใจ ซึ่งกันและกัน อันเป็นอุปสรรคสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพให้หมดไปได้

ความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ นับเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งไทยสามารถนำมาพิจารณาใช้เป็นตัวอย่างในการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของรูปแบบและขั้นตอนในการดำเนินการ ซึ่งมีความชัดเจนและเป็นระบบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ ปัจจัย และเงื่อนไขต่างๆ ในอาเจห์และ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย มีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบ และพิจารณานำรูปแบบกระบวนการสันติภาพในอาเจห์มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินการในการยุติปัญหาความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย อย่างยั่งยืนต่อไป

ข้อเสนอแนะ

..........แนวทางการนำรูปแบบกระบวนการสันติภาพในอาเจห์ มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ถึงแม้กระบวนการสันติภาพในอาเจห์ จะประสบความสำเร็จในการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน พื้นที่ได้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ในอาเจห์ ซึ่งถึงแม้จะมีส่วนที่คล้ายคลึงกันสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่ก็ยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นการที่จะนำรูปแบบกระบวนการสันติภาพในอาเจห์มาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างชาญฉลาดและรอบคอบ โดยคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้เป็นสำคัญ

1. ปัญหาความไม่สงบใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกลุ่มผู้ก่อความ ไม่สงบ และอาจมีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมากกว่าหนึ่งกลุ่ม อันจะส่งผลให้การเจรจาต่อรองทวีความซับซ้อนยากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากข้อเรียกร้องของแต่ละกลุ่มอาจ ไม่เหมือนกันหรือแม้กระทั่งอาจขัดแย้งกันเอง รัฐบาลจึงควรจะดำเนินการเพื่อให้กลุ่มก่อความ ไม่สงบเหล่านี้มีข้อเรียกร้องที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อที่รัฐบาลจะได้พิจารณาตอบสนองต่อข้อเรียกร้องเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือหากไม่สามารถเจรจาทำความตกลงกับ กลุ่มก่อความไม่สงบเหล่านี้ได้โดยตรง ก็อาจพิจารณาให้เข้าถึงประชาชนโดยตรงเพื่อขอทราบ ความต้องการที่แท้จริง และพิจารณาสนองตอบต่อความต้องการเหล่านี้ต่อไป

2. หากไทยไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับปัญหาภายในประเทศมากนัก ไม่จำเป็นจะต้องจัดตั้งภารกิจในลักษณะ AMM แต่อาจพิจารณาให้มีบางประเทศทำหน้าที่เป็นตัวกลางในระหว่างการเจรจาหาข้อยุติ และจัดตั้งคณะกรรมการร่วมที่น่าเชื่อถือจากภาครัฐ กลุ่มก่อความไม่สงบ และประชาชนในพื้นที่เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามข้อตกลงและเพื่อไกล่เกลี่ยปัญหาข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการ
3. เมื่อรัฐบาลและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้วก็ควรที่จะได้มีการจัดทำ MOU ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้หากพิจารณา MOU ในกรณี อาเจห์เป็นแม่แบบแล้ว อาจพิจารณาได้ว่า MOU ที่จะจัดทำขึ้นควรครอบคลุมประเด็นหลักๆ ดังนี้
....3.1 การยุติความรุนแรงในขั้นต้นโดยให้สมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบมอบตัวและ ส่งมอบอาวุธให้กับฝ่ายรัฐบาลหรือคณะกรรมการร่วมที่จัดตั้งขึ้นมา และฝ่ายรัฐบาลอาจพิจารณาถอนกำลังทหารและตำรวจที่ไม่จำเป็นออกนอกพื้นที่ เพื่อลดโอกาสที่อาจเกิดการปะทะกันลง
....3.2 การช่วยเหลือในการกลับคืนสู่สังคมของสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยรัฐบาลอาจพิจารณาอบรม/ฝึกหัดความรู้ในการประกอบอาชีพ มอบเงินทุน ตลอดจนที่ดินทำกินให้กับสมาชิก ที่เข้ามอบตัวเหล่านี้ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมปกติได้ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวควรมีแผนหรือแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาการปฏิบัติในระหว่างขั้นตอนนี้ อันอาจเป็นสาเหตุให้สมาชิกเหล่านี้มีความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญาและหันไปก่อความไม่สงบในพื้นที่อีกครั้ง
....3.3 การพิจารณานิรโทษกรรมให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์ในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ทั้งนี้จะพิจารณาแยกเป็นกรณีก็ได้
....3.4 หากมีความจำเป็นรัฐบาลอาจต้องพิจารณามอบสิทธิในการปกครองตนเองให้กับประชาชนในพื้นที่ ในระดับที่รัฐบาลยอมรับได้ โดยอาจออกกฎหมายขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ สิทธิฯ เหล่านี้จะต้องไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญของไทย
4. หากไม่สามารถดำเนินการจัดทำ MOU เนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ รัฐบาลอาจพิจารณาออกกฎหมายเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้โดยตรง

5. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติและศาสนา ซึ่งในกรณีอาเจห์ไม่ถือเป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากฝ่ายรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ต่างก็นับถือศาสนาเดียวกันแต่อาจมีความเคร่งครัดแตกต่างกันบ้างเท่านั้น แต่ในกรณีของไทยการพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น จะต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประเด็นนี้โดยควรที่จะมีการพิจารณากำหนดวิธีการที่ประชาชนใน จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ยังสามารถที่จะดำรงรักษาเอกลักษณ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา ตลอดจนความเชื่อด้านศาสนาของตนเองเอาไว้ได้ อันจะเป็นการลดเงื่อนไขเรื่องเชื้อชาติศาสนาลงไปได้อีกทางหนึ่ง

6. เหตุการณ์สึนามิ นับว่าเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การเจรจาระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ประสบความสำเร็จ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนในอาเจห์เปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เคยมีต่อรัฐบาลอินโดนีเซีย และทำให้ GAM อ่อนแอลง ดังนั้นในกรณีของไทยจึงควรที่จะมีมาตรการจริงจัง ในการที่จะเข้าถึงประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีทัศนคติที่ดีต่อฝ่ายรัฐบาล ทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบอ่อนแอลงอันจะเป็นหนทางหนึ่งในการที่จะกดดันฝ่ายก่อความไม่สงบในระหว่างการเจรจาต่อรอง

7. ระยะเวลาในการดำเนินการ รัฐบาลจะต้องระลึกอยู่เสมอว่าการเจรจาต่อรองกับ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมีหลายกลุ่ม อาจต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานและในระหว่างนี้อาจมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยสร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อขัดขวางการเจรจาดังกล่าวดังนั้นรัฐบาลควรที่จะต้องอดทนอดกลั้นและมีความแน่วแน่ในการที่จะแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี ดังที่รัฐบาลอินโดนีเซีย และ GAM ได้ทำสำเร็จมาแล้ว
--------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น