02 พฤศจิกายน 2552

ส่งกำลังบำรุงเสี่ยงตายในอิรัก

ส่งกำลังบำรุงเสี่ยงตายในอิรัก
โดย พลตรีนิพัทธ์ ทองเล็ก


..........จักรพรรดินโปเลียน ของฝรั่งเศส ได้บอกกล่าวทหารทั้งโลกว่า “กองทัพเดินได้ด้วยท้อง” ต่อมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลเออร์วิน รอมเมล จอมทัพของเยอรมันได้ตอกย้ำอีกครั้งว่า “แม่ทัพที่ดีจะต้องรอบรู้เรื่องยุทธวิธี แต่แม่ทัพที่ยิ่งใหญ่จะต้องรอบรู้เรื่องการส่งกำลังบำรุง”
..........ข้อมูลทางการสหรัฐเปิดเผยว่าในสงครามอ่าวเปอร์เซียร์ภาค 2 นี้ งานส่งกำลังบำรุงกลับกลายเป็นงานเสี่ยงตายพอๆกับทหารในแนวหน้า
..........รายงานข่าวนี้เผยว่า ทหารอเมริกันส่วนหนึ่งที่สูญหายไปในการรบจำนวน 12 คนนั้น เป็นทหารในเขตหลังที่ทำงานส่งกำลังบำรุง เรื่องราวของงานยุทธการนั้นมีคนเขียนไว้ดาษดื่น แต่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวคือคนทำงานส่งกำลังบำรุงซึ่งไม่ค่อยมีใครพูดถึง ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าว ทหารที่ทำงานไม่ได้โผล่หน้าทางจอทีวี เลยขอนำมาเปิดเผย
..........การส่งกำลังบำรุงในสงครามอ่าวภาค 2 นั้น แทบจะต้องใช้ทหารอีกหนึ่งกองทัพมาทำงานนี้ให้สำเร็จเพื่อเข้ายึดแบกแดดให้ได้ ตราบจนถึงทุกวันนี้สหรัฐก็ยังสามารถส่งกำลังบำรุงหนุนเนื่องกำลังรบในแนวหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
..........มร.ชาร์ลส เฮย์แมน บรรณาธิการหนังสือ Jane’s World Armies อดีตนายทหารราบอังกฤษให้ความเห็นว่า “เส้นทางส่งกำลังบำรุงที่ยาวนับร้อยไมล์ในสงครามอ่าวครั้งนี้แทบจะไม่ได้รับการคุ้มครองเลย หากเกิดอะไรขึ้นขบวนลำเลียงการส่งกำลังอาจจะต้องหยุดชะงักและจะทำให้หน่วยในแนวหน้าตกอยู่ในสภาพวิกฤตได้”
..........แต่นักวิเคราะห์อเมริกันกลับเห็นว่า “ความมุ่งหมายหลักของสงครามในครั้งนี้คือพุ่งตรงเข้ายึดกรุงแบกแดดอย่างรวดเร็ว สหรัฐจะไม่เข้ายึดครองเมืองเล็ก ๆ หากเรายึดแบกแดดได้นั่นหมายถึงเราชนะสงคราม”
..........การส่งกำลังบำรุงเพื่อให้หน่วยกำลังรบเข้ายึดกรุงแบกแดดเริ่มต้นจากท่าเรือในคูเวต ทหารอเมริกันใช้เครน ใช้เครื่องมือยกขนทุกชนิด ทำการขนถ่ายสิ่งอุปกรณ์ทั้งวันทั้งคืนจากท่าเรือและบรรทุกในรูปขบวนคอนวอย เพื่อลำเลียงไปสนับสนุนกองกำลังสหรัฐและอังกฤษทำการรบ
..........ระบบการขนส่งและระบบตรวจสอบเป็นมิติใหม่ ซึ่งใช้การตรวจสอบด้วยบาร์โค้ด ( Bar code) และระบบตารางเวลา เพื่อจะนำสิ่งอุปกรณ์ไปสู่หน่วยในแนวหน้าผ่านทะเลทรายที่กว้างใหญ่ไปสุ่แนวหน้า
..........ร.อ.ซัสนิส สังกัด กองร้อยขนส่งที่ ๓๖๘ กล่าวว่า “ การที่จะสนับสนุนให้กำลังรบในแนวหน้าทำการรบต่อไปอย่างต่อเนื่องก็จะต้องมีระบบส่งกำลังบำรุงที่ต่อเนื่องเช่นกัน” ขณะที่ทำการขนถ่ายสิ่งอุปกรณ์และลำเลียงอุปกรณ์เหล่านี้ พวกทหารต้องรีบหลบเข้าที่กำบัง เมื่อเสียงไซเรนเตือนถึงภัยของขีปนาวุธของอิรัก ดังขึ้น

งานอันตราย

..........ไม่ต้องสงสัยเลยว่างานลักษณะนี้เป็นงานที่อันตรายหรือไม่ ข้อพิสูจน์ข้อหนึ่งคือ ในวันอาทิตย์ต่อมา มีทหาร 12 คน ถูกจับเป็นเชลยในขณะทำการลำเลียงยุทโธปกรณ์บริเวณใกล้กับเมืองนาซิริยา เพื่อส่งกำลังบำรุงให้กับกองร้อยขีปนาวุธแพทริออท
..........พล.ท. แมคเคอแนน ผู้บัญชาการกองกำลังทางบกพันธมิตรในคูเวต กล่าวว่า “ การส่งกำลังบำรุงเข้าไปสู่ประเทศอิรัก เป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากธรรมชาติและความกว้างใหญ่ของประเทศอิรัก ระยะทาง ในการขนส่งจากชายแดนคูเวตไปยังแบกแดด ประมาณ ๖๐๐ กิโลเมตร หรือประมาณ ๓ เท่าของระยะทางที่สหรัฐเคยใช้ในสงครามอ่าวเมื่อปี ๑๙๙๑”
..........สายการส่งกำลังบำรุงเริ่มจากเมืองชาอิบา ท่าเรือทางใต้ของคูเวต ใกล้โรงกลั่นน้ำมัน และเป็นจุดซึ่งอันตรายต่อการถูกถล่มด้วยขีปนาวุธของอิรัก ณ ที่นั้น สิ่งอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์จะถูกดำเนินกรรมวิธีในที่โล่งแจ้ง บางส่วนจะขนถ่ายขึ้นรถบรรทุกและส่งตรงไปยังหน่วยในแนวหน้า บางส่วนจะถูกเก็บรักษาไว้ที่ฐานทัพใกล้ๆ กัน
..........เมืองอารีฟจาน(Arifjan)เป็นสัญญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงหลักนิยมของกองทัพบกสหรัฐ ที่ว่า “มิใช่อำนาจการยิงอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเท่านั้นที่จะทำให้ชนะสงครามได้ แต่ขึ้นอยู่กับการส่งกำลังบำรุงที่ดีด้วย”
..........เมื่อ ๖ เดือนที่แล้ว บริเวณทะเลทรายแถวท่าเรือนี้ว่างเปล่า มีเต้นท์อยู่เพียง ๒ - ๓ เต้นท์ ไม่มีน้ำประปาและ ไฟฟ้าใช้ แต่ในขณะนี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเหมือนเขตอุตสาหกรรมซึ่งมีทุกอย่างพร้อม และเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญให้กับหน่วยบัญชาการสนับสนุนยุทธบริเวณที่ ๓๗๗ ซึ่งเป็นหน่วยหลักด้านการส่งกำลังบำรุงในการทำสงครามครั้งนี้

ระบบการติดตามการขนส่งที่แม่นยำ
..........ระบบการควบคุมการขนส่งใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถควบคุมและติดตาม พร้อมทั้งวางแผนในการเบิกเพิ่มเติมสิ่งอุปกรณ์ในสนามเบ็ดเสร็จ
..........พล.ต.คริสเตียนเซ่น กล่าวว่า “ทหารในแนวหน้าต้องการน้ำและน้ำมันเท่าๆกับต้องการกระสุน” จากข้อมูลด้านการส่งกำลังนั้น หน่วยทหารระดับกองพลซึ่งมีกำลังพล ๒๐,๐๐๐ นาย จะใช้น้ำมันดีเซลประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ – ๗๕๐,๐๐๐ แกลลอนต่อวัน
..........สหรัฐใช้วิธีการสะสมน้ำมัน ไว้ในคูเวต ตั้งแต่ก่อนสงคราม ซึ่งเป็นการเตรียมการในด้านการส่งกำลังบำรุงล่วงหน้า น้ำมันดีเซล จำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ แกลลอน ถูกเก็บไว้ใต้ดินในประเทศคูเวต เมื่อ พล.ร.๓ เริ่มเคลื่อนที่ การส่งกำลังสป. 3 จะมาจากขบวนรถน้ำมันที่บรรจุน้ำมันคันละ ๕,๐๐๐ แกลลอน เคลื่อนที่ช้าๆ ตามหลังหน่วยรถถังไป

ใช้ระบบม้าด่วนส่งกำลัง

..........ในสงครามอ่าวครั้งนี้ สหรัฐยกเลิกหลักการเดิมๆ ที่เคยปฏิบัติมา ที่เคยวางการส่งกำลังบำรุงเป็นขั้นตอนหรือจัดตั้งตำบลส่งกำลัง ซึ่งกำหนดให้มีการจัดตั้งแหล่งรวมยุทโธปกรณ์ และเมื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้าก็จะสร้างแหล่งรวมยุทโธปกรณ์ตามเส้นทางการลำเลียง แต่ในสงครามนี้ เป็นการส่งกำลังให้ทหารในแนวหน้าโดยตรงจากท่าเรือเมือง อารีฟจาน
..........พลขับแต่ละคนจะขับรถระยะทาง ๓๐๐ – ๓๕๐ กม.ต่อวัน หรือประมาณวันละ ๑๔ ชม. แล้วจะส่งต่อให้รถลากในแนวหน้าเพื่อขับต่อไปในระยะทางพอๆกัน พลขับคนแรกก็จะขับรถกลับเมืองอารีฟจาน ในวันต่อมาเพื่อบรรทุกสิ่งอุปกรณ์ต่อไป
..........พล.ต. คริสเตียนเซนกล่าวว่า “การปฏิบัติลักษณะนี้สหรัฐยังไม่เคยปฏิบัติมาก่อน ไม่เคยให้การสนับสนุนกำลังพลในแนวหน้าโดยตรงซึ่งรุกเข้าไปลึกถึง 400 กม. การขับรถในระยะทางไกลๆ หมายถึงความเสี่ยงที่มากขึ้นจากการถูกโจมตีโดยกองทัพอิรัก อาจกล่าวได้ว่า กำลังพลมีความเสี่ยงมากที่สุดพวกหนึ่งคือพวกที่ทำหน้าที่ส่งกำลังบำรุงหลังแนวรบ เนื่องจากว่าเขาไม่มีรถถัง ไม่มีปืน และเป็นเรื่องง่ายมากที่รถบรรทุกน้ำมันขนาด ๕,๐๐๐ แกลลอน จะเป็นตกเป้าขนาดใหญ่จากการโจมตีของข้าศึก”
..........การเตรียมการส่งกำลังบำรุงก่อนการบุกอิรักเป็นงานขนาดมโหฬาร คนงานที่ท่าเรือจะทำงานตลอด ๒๔ ชม. เพื่อทำการขนถ่ายยุทโธปกรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ตู้คอนเทนเนอร์นับพันตู้ จากเรือนับร้อยลำ ก่อนวันคริสมาสต์ปีที่แล้ว รถบรรทุกน้ำมันจำนวน ๔๒๐ คัน ถูกลำเลียงเข้าไปอยู่ในคูเวตเรียบร้อยแล้ว ในแต่ละวัน ทหารจะต้องใช้น้ำดื่ม ๓.๕ ล้านลิตร และอาหารสำเร็จรูป (MRE) จำนวน ๒.๕ ล้านชุด
..........พล.ต. คริสเตียนเซน กล่าวว่า “น้ำจะมีความจำเป็นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถึงหน้าร้อนเราจะต้องเพิ่มปริมาณในการส่งน้ำให้หน่วย และแต่ละหน่วยจะมีหน่วยผลิตน้ำดื่ม ซึ่งมีความสามารถผลิตน้ำดื่มได้ ๕,๐๐๐ แกลลอนต่อวันจากแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ยูเฟรติส ขบวนสัมภาระที่เคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศ จะมีขนาดแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ ๑๐ - ๘๐ คัน และมียุทโธปกรณ์ตั้งแต่ รถยานเกราะขนาดเบาสะเทินน้ำสะเทินบกจนถึงรถบรรทุกขนาดหนัก ที่ผ่านมาเคยมีขบวนสัมภาระซึ่งประกอบด้วย รถบรรทุก ๗๒ คัน แต่ละคันทิ้งระยะห่าง ๑๐ หลา เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ๑๐ กม.ต่อ ชม.”

เป็นการขนส่งทางอากาศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สามในประวัติศาสตร์
..........ยุทธการเสรีภาพเพื่อชาวอิรัก(Operations Iraqi Freedom) นับเป็นการปฏิบัติการขนส่งทางอากาศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันอับที่สามของประวัติศาสตร์ทหาร
..........อันดับหนึ่ง คือการลำเลียงทหารและยุทโธปกรณ์เพื่อเข้ายึดกรุงเบอร์ลินในปี 1948-1949 อันดับสองคือปฏิบัติการพายุทะเลทรายเมื่อปี 1990-1991 มาคราวนี้หน่วยบัญชาการทหารขนส่ง (Trasportation Command) ขนทหารประมาณ 163,000 คน ด้วยอากาศยานและขนสัมภาระหนัก 360,000 ตัน โดยทางเรือและทางอากาศ เพื่อเตรียมทำสงคราม
..........ข้อมูลที่นำมาเปิดเผยนี้เป็นข้อมูลตัวเลขสถิติเมื่อกองทัพพันธมิตรบุกเข้าไปในอิรักได้เพียง ในสัปดาห์ต้นๆเท่านั้น ผมเชื่อว่าวีรบุรุษในมุมมืดเหล่านี้ทำงานกันนาทีต่อนาที ทั้งวันทั้งคืนแล้วยังเสี่ยงไม่น้อยไปกว่าหน่วยรบอีก จนมีนายทหารท่านหนึ่งว่า “งานส่งกำลังบำรุง มิใช่งานในแนวหลังอีกต่อไปแล้วครับ !”
---------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น