02 พฤศจิกายน 2552

นักรบ SSA ก้างตำคอพม่า (1)

นักรบ SSA ก้างตำคอพม่า(1)


แปลและเรียบเรียงโดย พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
E-mail: nthonglek@hotmail.com



..........มาอีกแล้วครับ ……กองกำลังติดอาวุธประชิดชายแดนตะวัน\ตกของประเทศไทย ได้มาปรากฎบนจอโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์อีกแล้ว
..........ที่จริงกองกำลังกลุ่มนี้แทบจะเลือนหายไปจากเวทีการต่อสู้ในประเทศพม่ามานานแล้ว แต่เมื่อราวต้นเดือน ก.พ.44 นี่เอง ก็ได้แสดงบทบาทห้ำหั่นกองกำลังทหารรัฐบาลย่างกุ้งอย่างดุเดือดเลือดท่วมจอ
..........ผมขอแนะนำกองกำลัง SSA (Shan State Army) แต่ก่อนจะไปพูดถึงตัว SSA ผมขอให้ได้ทราบภูมิหลัง ความเป็นมาอันแสนจะสลับซับซ้อนที่มาที่ไปของ SSA เสียก่อน
..........รัฐฉานเป็นรัฐที่ประกอบด้วยชนชาติมากมายหลายเผ่าพันธุ์ เชื่อกันว่าอพยพลงมาจากทางตอนใต้ของจีนตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ประมาณว่ามีชนทุกเผ่าพันธุ์ประมาณ 6 ล้านคน ประกอบด้วยชาวไทยใหญ่ ชาวจีนจากยูนาน ชาวคะฉิ่น ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ เช่น ปะหล่อง ปะโอ ว้า มูเซอร์ อีก้อ เป็นต้น
..........รัฐฉานมีเนื้อที่ประมาณ 155,800 ตร.กม. ตลอดช่วง 40 ปีที่ผ่านมา แผ่นดินรัฐฉานไม่เคยสงบ ทุกหย่อมหญ้าโชกชุ่มไปด้วยเลือดเนื้อจากการสู้รบของกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ ประมาณ 20 กลุ่ม ทุกกลุ่มหักหลัง ต่อสู้กันเอง เป็นพันธมิตร (ชั่วคราว) มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตัวเอง
..........ในสมัยอังกฤษเข้ายึดครองพม่านั้น รัฐฉานมีระบบการปกครองในลักษณะเป็นแคว้นต่าง ๆ ถึง 34 แคว้น แต่ละแคว้นมี "เจ้าฟ้า" (Sawbwa) ปกครองเทียบเคียงได้กับกษัตริย์ของชาวพม่า
..........อังกฤษเข้าปกครองรัฐฉานโดยปล่อยให้รัฐฉานดูแลตัวเอง ปล่อยให้มีเจ้าฟ้าปกครองตามประเพณีดั้งเดิม มีการสืบทอดราชบัลลังค์ มีการใช้ศักดินา เมื่อมีการลงนามใน "สัญญาปางโหลง" ในปี 1948 พม่าได้กำหนดให้รัฐฉานเป็นหนึ่งเดียวเข้ามาร่วมเป็นสหภาพพม่า (Union of Burma) หากแต่จะได้รับสิทธิให้รัฐฉานแยกตัวออกมาเป็นรัฐอิสระได้หลังจากรวมกับพม่ามาแล้ว 10 ปี นั่นหมายความว่ารัฐฉานจะต้องรอจนถึง 4 ม.ค.1958 จึงจะแยกตัวจากพม่าได้
..........ในต้นปี 1954 บรรดาเจ้าฟ้าของแคว้นต่าง ๆ ในรัฐฉาน เคลื่อนไหวรวมตัวกันอย่างลับ ๆ เกณฑ์บรรดาเยาวชน นักศึกษา พ่อค้ายาเสพติด กลุ่มติดอาวุธทุกกลุ่มมาจัดตั้งกลุ่ม "Valiant Youth Organization" เพื่อเตรียมขอแยกตัวเป็นรัฐอิสระจาก "สหภาพพม่า"
..........ในช่วงปี 1958 - 59 รัฐบาลรักษาการของนายพลเนวิน ใช้ทั้งกำลังทหาร และการหว่านล้อมให้บรรดา "เจ้าฟ้า" ในรัฐฉานยกเลิกศักดินาความเป็นเจ้า แต่ความพยายามดังกล่าวกลับเป็นตัวเร่งให้บรรดาเยาวชนในรัฐฉานรวมตัวกันเป็น "กลุ่มต่อต้าน" รัฐบาลพม่า
..........ชาวไทยใหญ่เร่งฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีอันเก่าแก่ของตนให้เข้มแข็งยิ่งกว่าเก่า เจ้าส่วยไต้ ประธานาธิบดีคนแรกของพม่าเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ยืนหยัดในเจตนารมย์ไว้ด้วยการแยกตัวออกจากสหภาพพม่า ชาวไทยใหญ่ในรัฐฉานจัดการประชุมหลายครั้งเพื่อเตรียมแยกดินแดนออกจากพม่า
..........ในปี 1962 นายพลเนวิน ปฏิวัติยึดอำนาจได้เรียบร้อย จึงสั่งจับบรรดาผู้เข้าประชุมทั้งหมด รวมทั้งเจ้าส่วยไต้ ซึ่งต่อมาเจ้าส่วยไต้ก็ต้องตายในคุก (ตามระเบียบ)
..........ชาวไทยใหญ่จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นกลุ่มแรกประเดิมด้วยการเข้าโจมตีค่ายทหารพม่าที่บ้าน "ปองปายิน" ใกล้ชายแดนไทย จากการสนับสนุนจากบรรดาเจ้าฟ้าทั้งหลาย กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้เริ่มเติบโต แต่ขาดเอกภาพ ในที่สุดไม่ช้าไม่นานก็แตกคอกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย แยกย้ายไปตั้งเป็นกลุ่ม "Shan State Liberation Army" กลุ่ม "Shan State Army" กลุ่ม "Shan State Revolutionary Front" เล็กบ้างใหญ่บ้าง
..........ท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่องราวของพม่าคงจะไม่แปลกใจอะไรเลยว่าในช่วงหลังพม่าประกาศเอกราชเมื่อ 4 ม.ค.1948 มานั้น กองกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้กันนั้นมีมากจนจำไม่หวาดไม่ไหว บางท่านบอกว่าอ่าน "สามก๊ก" ยังง่ายกว่าอ่าน "ประวัติศาสตร์พม่า"
..........กองกำลังติดอาวุธเหล่านี้จำนวนไม่น้อยได้ขอเข้าร่วมอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB) ซึ่งก็ตั้งศูนย์บัญชาการ และกองกำลังอยู่ในรัฐฉานอีกนั่นแหละ พรรคคอมมิวนิสต์พม่าให้ความช่วยเหลือด้านการฝึก อาวุธกระสุน ทำให้บรรดากองกำลังติดอาวุธทุกกลุ่มเข้มแข็ง
..........พรรคคอมมิวนิสต์พม่าถือโอกาสชี้นำกองกำลังติดอาวุธชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ให้รวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับกองทัพพม่า ทำให้พื้นที่รัฐฉานเป็นพื้นที่การรบที่ดุเดือดและสับสนอลหม่านที่สุด

25 มี.ค.1964 กองกำลังหลัก 3 กลุ่มใหญ่ประกอบด้วย
..........The Shan State Independence Army (SSIA)
..........The Shan National United Front (SNUF)
..........The Kokang Revolutionary Force (KRF)
..........ได้รวมตัวกันเป็น SSA (Shan State Army) มีกำลังพลติดอาวุธประมาณ 5,000 - 6,000 คน ภายใต้การนำของมหาเทวีเฮือนคำ มีอุดมการณ์เพื่อที่จะแยกรัฐฉานออกจากพม่า แต่แท้ที่จริงแล้ว SSA ยังคงตกอยู่ภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า
..........เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีอูนุ ของพม่าถูกปฏิวัติใน 2 มี.ค.1962 อูนุได้เข้าไปร่วมอยู่กับกลุ่ม SSA และใช้ SSA เป็นฐานกำลัง
..........ในกลุ่ม SSA ก็ใช่ว่าจะเป็นหนึ่งเดียวเกลียวกลม มีรอยปริเล็ก ๆ เป็นเส้นแบ่งระหว่างกลุ่ม SSA ซ้าย ซึ่งนิยมพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และกลุ่ม SSA ขวา ซึ่งยอมเป็นพวกของอูนุ
..........SSA เป็นกองกำลังติดอาวุธ แต่ยังขาดองค์กรที่จะดำเนินงานทางการเมือง SSA จึงจัดตั้ง SSPP (Shan State Progressive Party) ขึ้นมาเมื่อ 16 ส.ค.1971 เพื่อเชื่อมโยงงานทางการเมือง - การทหาร กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าอย่างสมบูรณ์
..........กองทัพพม่าในสมัยนั้นยังไม่แข็งแรงพอ จำต้องส่งกำลังทั้งหมดออกปราบปรามทั้งคอมมิวนิสต์และชนกลุ่มน้อยติดอาวุธที่ลุกฮือขึ้นทั่วประเทศ กองทัพพม่าใช้กำลังทั้งหมดทั้งสิ้น และพม่าเองสูญเสียกำลังพลจากการรบเป็นจำนวนมาก
..........ในปี 1975 SSA ร่วมอุดมการณ์กันได้ไม่นานรอยปริก็กลายเป็นรอยร้าวลึก เมื่อ SSA กลุ่มนิยมคอมมิวนิสต์ โดยเจ้าไซ่เล็ก (Sai Leik) และนายเซติน นำกำลังไปเข้าร่วมหัวจมท้ายกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่าเต็มตัว
..........ในทศวรรษ 1980 สถานการณ์ในบริเวณรัฐฉานเปลี่ยนไป เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดความช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์พม่า ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์พม่าและกองกำลังชนกลุ่มน้อยต้องหันไปหาเลี้ยงตัวเองกับการค้ายาเสพติด
..........ในปี 1989 หลังจากกองทัพพม่าพยายามใช้การปราบปราม และการเจรจาลับ ทำให้กลุ่มโกกั้ง ว้า อาข่า และกลุ่ม SSA แยกตัวจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่าได้สำเร็จ โดยเฉพาะกลุ่มว้าได้ก่อการกบฎต่อพรรคคอมมิวนิสต์พม่า จนทำให้บรรดาแกนนำพรรคพม่าประมาณ 300 คนหนีตายเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่
..........บทบาทของว้าในครั้งนี้จึงถือเป็นบุญเป็นคุณต่อกองทัพพม่า
..........กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่าที่เหลือแยกย้ายกระจัดกระจายกลับไปอยู่ตามกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอง เช่น กลุ่ม New Democratic Army (NDA) กลุ่ม Myanmar National Democratic Alliance Army (MNDAA) กลุ่ม Eastern Chan State และกลุ่มที่สำคัญคือกลุ่ม United Wa State Army (UWSA) ซึ่ง UWSA นี้ ได้แผลงฤทธิ์เรื่องยาเสพติดจนทำให้เป็นปัญหาของเราในขณะนี้
..........เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนงดให้ความช่วยเหลือ ทางฝ่าย SSA โดยนายเซตินได้แสดงความจำนงอยากจะขอหยุดยิง โดยลักลอบจัดผู้แทนมาติดต่อกับกรมข่าวทหารของกองทัพพม่าโดยตรง ระบุว่าถึงแม้หัวหน้ากลุ่มคือเจ้าไซ่เล็กจะยินยอมเข้าร่วมขอหยุดยิงหรือไม่ก็ตาม
..........8 ก.ย.1989 นายเซติน ประกาศว่ากองกำลัง SSA จะถอนตัวออกจากกลุ่มพันธมิตรทุกกลุ่ม (ที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่า) แล้วประกาศปลดเจ้าไซ่เล็กเพื่อขอเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่า
..........20 ก.ย.1989 ผู้แทนของ SSA และกองทัพพม่านักโต๊ะเจรจากันที่เมืองลาเชี่ยว (Lashio) คุยกันเรื่องหยุดยิง และแผนการพัฒนาพื้นที่หลังจากหยุดยิงกันแล้ว
..........เซตินผู้นำการเจรจายืนยันว่าไม่ต้องการถืออาวุธอีกต่อไป แต่…… ขอครอบครองอาวุธไว้เพื่อป้องกันตนเองจากกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ที่ยังไม่ยอมวางอาวุธ กองทัพพม่านัดตกลงกันอีกครั้งเรื่องเงื่อนไขการถือครองอาวุธ
..........24 ก.ย.1989 แม่ทัพภาคตะวันออกของพม่า นำการเจรจาโดยตรงกับ เซติน ทุกอย่างตกลงกันได้ โดยกองทัพพม่าจะส่งความช่วยเหลือในรูปของอาหาร งบประมาณ และแผนงานพัฒนาพื้นที่
..........ฝ่าย เซติน ก็ส่งมอบบัญชีอาวุธชนิดต่าง ๆ รวม 1,340 รายการ และบัญชีกำลังพลของ SSA รวม 2,130 คน ให้กับกองทัพพม่า รัฐบาลพม่าจึงประกาศนิรโทษกรรมให้กำลังพล SSA 2,130 นาย และให้พื้นที่ที่ SSA ครอบครองอยู่นั้นเป็น "เขตปกครองฉานพิเศษ (3)" (Shan State Special Region)
..........เมื่อ SSA เลิกรบ ร่วมมือกับรัฐบาลทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ จัดตั้ง โรงงานผลิตน้ำตาลในพื้นที่ เซตินยังคงติดต่อกับฝ่ายรัฐบาลเป็นระยะ เพื่อจัดการกับอาวุธที่จะต้องทะยอยส่งมอบให้กับรัฐบาลเป็นขั้นเป็นตอน
..........ท่านผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่ากองทัพพม่าแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยโดยใช้ทั้งการปราบปรามและการเจรจา 40 กว่าปีมาแล้วพม่าจะไม่ยอมให้ชนกลุ่มน้อยใด ๆ แยกตัวเป็นอิสระไปได้ ข้อแลกเปลี่ยนที่สำคัญในการเจรจาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยคือ "โครงการพัฒนาท้องถิ่น" ซึ่งก็เป็นวิธีการที่ใช้แก้ปัญหากับทุกประเทศในโลกนี้ นอกจากนั้นเพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมพม่าได้จัดตั้ง "กระทรวงพัฒนาบริเวณชายแดน และเชื้อชาติ" (The Ministry of Development or Border Area and National Races) เมื่อ ก.ย.1992
สำหรับในตอนนี้ผมขอทิ้งท้ายไว้ว่ากองกำลัง SSA ใน "ส่วนใหญ่" ที่นำโดย เซติน ได้ตกลงหยุดยิงกับรัฐบาลพม่าไปแล้วเมื่อ 24 ก.ย.1989
..........แต่ยังคงมี SSAอีกส่วนหนึ่งที่ไปรวมตัวกับชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่นๆ ยังคงจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าต่อไป ซึ่ง SSA ในส่วนนั้น นำโดย พ.อ.เจ้ายอดศึก เขาเป็นใคร มาจากไหน และทำไม ? จึงมาเป็นพระเอกในโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ของไทย และเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อต้นเดือน ก.พ.44 นี้


โปรดติดตามบทความของผม……ในตอนหน้าครับ

---------------------




บรรณานุกรม

หนังสือภาษาไทย
พรพิมล ตรีโชติ, ชนกลุ่มน้อยกับรัฐบาลพม่า. กรุงเทพ : โรงพิมพ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, พม่า - กะเหรี่ยง - ชนกลุ่มน้อย : ปัญหาของพม่าและ
ของไทย. กรุงเทพ : สารคดี ฉบับมีนาคม, 2543
ภาษาอังกฤษ
Lintner, B. Burma in Revolt, Bangkok : White Lotus, 1994
Smith, M.Ethnic Groups in Burma : London, Anti - Slavery International,
1994
Yan Nyein Aye, Endeavours of the Myanmar Armed Forces Government
For National Reconsolidation, Yangon, 1999




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น