08 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 8

พม่าต้องการได้เอกราชอย่างสมบูรณ์
ไม่ต้องการอยู่ในเครือจักรภพอังกฤษ
ไม่ต้องการกษัตริย์อังกฤษเป็นประมุขพม่า
-----------

แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก


ผมขอแทรกเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับกะเหรี่ยงสักเล็กน้อย เพราะว่าในบรรดาชน กลุ่มน้อยด้วยกัน กะเหรี่ยงเป็นชาติพันธุ์ที่มีลักษณะแตกต่างจากชาติพันธุ์อื่นๆ

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน ในราวศตวรรษที่ 6 หรือ 7 พัฒนาการของกะเหรี่ยงได้รับการหล่อหลอมมาจากพวกมิชชันนารี เมื่อได้รับการอบรมวางรากฐานชีวิตมาจากชาวตะวันตก ความคิดความอ่านก็เปลี่ยนไป จากนับถือผีสางเทวดา ค่อยๆเปลี่ยนหันมานับถือศาสนาคริสต์ จะคิดจะอ่านอะไรก็ดูจะแตกต่างไปจากชนเผ่าพม่าหรือชนเผ่ามอญที่มีศาสนาพุทธเป็นรากฐานชีวิต

ในสมัยพม่าปกครองด้วยระบบกษัตริย์ กะเหรี่ยงมีรอยจารึกที่เลวร้ายกับราชวงค์ของพม่า ผู้นำกะเหรี่ยงเคยรวมตัวกันจัดตั้ง National Karen Association ตั้งแต่ปีค.ศ. 1881 ประมาณ 120 ปีมาแล้ว เป็นปึกเป็นแผ่นมีอารยะธรรมเป็นของตัวเอง เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองพม่าเต็มรูปแบบ เห็นความเป็นเอกภาพของกะเหรี่ยง “มิตรภาพ” ระหว่างอังกฤษกับกะเหรี่ยงจึงเป็นเรื่องง่ายดาย

เมื่อพม่ากำลังจะได้เอกราช กะเหรี่ยงจึงไม่ลังเลใจที่จะขอแยกทางกับพม่าและจะขอเป็นอาณานิคมของอังกฤษให้ได้

พม่าเห็นเค้าลางของเอกราชอยู่รำไรแต่ก็ยังมีปัญหาใหญ่สำหรับ “ประเทศ สหภาพพม่า” ว่าจะยอมเป็นเครือจักรภพอังกฤษหรือไม่? อังกฤษยังคงเดาใจพม่าไม่ออกว่าพม่าจะเอาอย่างไร ?

สำหรับบรรดาผู้นำชาวพม่าแล้วแทบจะไม่ต้องคิดเรื่องนี้เลย แต่บรรดาชาวพม่าบางส่วนก็มีความเห็นกันไปต่างๆนานา นายพลอองซานเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของทุกกลุ่มที่ซ่องสุมพลพรรครอจังหวะเสียบเข้ามาขัดขวางหรือรอจังหวะบวกเป็นผู้ร่วมด้วยช่วยชนะในขบวนการที่กำลังจะนำไปสู่เอกราชของประเทศ ถ้าหากประเทศสหภาพพม่าเข้าร่วมเครือจักรภพอังกฤษ ประชาชนส่วนหนึ่ง คิดว่าประเทศคงจะไม่เป็นเอกราชอย่างแท้จริง

ประการสำคัญที่สุดคือ ชาวพม่าไม่ต้องการเห็นกษัตริย์อังกฤษมาดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศสหภาพพม่า ชาวพม่าไม่พร้อมรับสถานภาพนี้

ตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัวพม่าคือกรณีของประเทศอินเดีย ในตอนแรกอังกฤษลังเล คิดว่าไม่น่าปล่อยพม่าหลุดมือไป แต่ทุกอย่างสายไป อังกฤษได้ให้เอกราชแก่พม่าโดยสมบูรณ์ พม่าหลุดลอยไปจากมืออังกฤษแล้ว

ตามที่กล่าวไว้แล้วว่า “ข้อตกลงปางโหลง” ที่ได้ลงนามกันไปเรียบร้อยแล้วเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1947 มีเงื่อนไขที่พอใจด้วยกันทุกฝ่าย คงเหลือแต่เพียงกลุ่มกะเหรี่ยงเท่านั้นที่ยังไม่ตัดสินใจ จะขอเป็นรัฐอิสระอาณานิคมของอังกฤษ

ความสำร็จของข้อตกลงปางโหลงนั้นพม่าบันทึกประวัติศาสตร์ว่าเป็นเพราะความพยายาม ความตั้งใจจริง และความเป็นผู้นำของนายพลอองซานอย่างแท้จริง

ในทรรศนะส่วนตัวของนายพลอองซานนั้นเขามีความคิดค่อนข้างจะเสรีนิยมและเปิดกว้าง ซึ่งตรงข้ามกับบรรดาบรรพบุรุษของพม่าที่เคยยึดถือหลักการว่า “ชาวพม่าจะต้องเป็นศูนย์กลางของบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลาย” ชาวพม่าแต่เดิมคิดว่านี่คือความคิดชาตินิยม

นายพลอองซานได้เน้นย้ำความเท่าเทียมกันของชาวพม่าแท้และชนกลุ่มน้อยตามชายแดนโดยประกาศว่าเขาจะเคารพในเสรีภาพ เอกลักษณ์และวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์

นายพลอองซานได้ประกาศหลักการว่า “สามารถมีเอกภาพในความแตกต่างได้ (Unity in Diversity) เขาใช้ความสุขุมละเอียดอ่อนในการแก้ปัญหาเรื่องการรวมประเทศตั้งใจจะให้เป็น “ประเทศสหภาพพม่า” ให้จงได้

ในความพยายามของนายพลอองซานเขาได้พูดประโยคที่เป็นประวัติศาสตร์เพื่อให้บรรดาชนกลุ่มน้อยเห็นความเท่าเทียมกันว่า “ถ้าคนพม่าได้เงิน 1 จ๊าต ท่านก็จะได้ 1 จ๊าต (If the Burmese receive one Kyat , you will also get one Kyat)”

ตามที่ตกลงกับอังกฤษไว้ เดือนเมษายน 1947 พม่าได้ จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ผู้แทนจากพรรค AFPFL ได้รับเลือก 172 ที่นั่ง พรรคคอมมิวนิสต์พม่าได้รับเลือก 7 ที่นั่ง ส่วนกะเหรี่ยงปฏิเสธร่วมการเลือกตั้ง

นายพลอองซานเป็นประธานเปิดการประชุมสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาของชาติ 7 ประการตามที่พรรค AFPFL ร่างขึ้นมา แนวทางแก้ไขปัญหาของชาติประเด็นหลักๆได้แก่

1. พม่าเป็นประเทศเอกราชมีอธิปไตยแห่งรัฐเรียกว่า “สหภาพพม่า”
2. อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชน
3. รัฐธรรมนูญจะให้ความเสมอภาคในทางสังคม เศรษฐกิจและขบวบการ ยุติธรรม
4. ชนกลุ่มน้อยจะได้รับการคุ้มครอง
ฯลฯ

ในวันรุ่งขึ้น สมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิก 75 คนและอนุกรรมการอีกหลายคณะเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่าแนวทางและรูปแบบการเลือกตั้งสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือประเทศไทยเราเรียกว่า “สสร.”แนวขั้นตอนต่างๆคงจะไม่แตกต่างมากนักกับห้วงที่เราปฏิบัติในประเทศไทย แนวทางดังกล่าวน่าจะเป็นสากลสำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ทั่วโลก

ถ้าจะลองจินตนาการย้อนยุคเหตุการณ์ในพม่าในขณะนั้น ดูเหมือนว่าทุกอย่างน่าจะเรียบร้อย ถ้าเอาบรรทัดฐานโลกตะวันตกมาวัด พม่าก็กำลังแล่นฉิวไปสู่ประเทศ เอกราชและประชาธิปไตย

ตัวผู้นำโดยเฉพาะนายพลอองซานได้แสดงวิสัยทัศน์ที่เปิดกว้างยอมรับความเป็นจริงในความแตกต่างหลากหลายความคิดระหว่างชนกลุ่มน้อยต่างๆ มีความมุ่งมั่นที่จะเห็น “สหภาพพม่า” ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความปรองดอง สงบสุขและสันติภาพโดยไม่ยึดติดกับความคิดดั้งเดิมที่ว่า “พม่าต้องปกครองชนกลุ่มน้อยเหล่านี้” กลุ่มนักการเมืองพม่าอีกจำนวนไม่น้อยเห็นตรงข้าบกับนายพลอองซานและจะไม่ยอมปล่อยให้นายพลอองซานดำเนินการเช่นนั้น

กลุ่มกะเหรี่ยงที่บอยคอตการเลือกตั้งสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญยังมีเขี้ยวเล็บจากอาวุธที่หลงเหลือจากการสนับสนุนของอังกฤษ (ที่ให้กะเหรี่ยงรบกับญี่ปุ่น) ข้าหลวงใหญ่อังกฤษทำจดหมายขอร้องให้กะเหรี่ยงมอบอาวุธคืนให้แก่ทางราชการ สมาชิก กองกำลังกะเหรี่ยงที่ได้รับการฝึกจากหน่วยรบพิเศษของอังกฤษตอบจดหมายไปว่า

“ในระหว่างสงครามกองทัพ BIA ของพม่าได้สังหารหมู่ชาวกะเหรี่ยงในเหตุการณ์เมืองมองเมี๊ยะ และเมืองปาปัน เราจะขอจำความโหดร้ายของพม่าและการข่มเหงน้ำใจชาวกะเหรี่ยงตลอดไป เราจะไม่ยอมวางอาวุธไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม”

ท่านที่ติดตามข่าวโทรทัศน์ อ่านหนังสือพิมพ์คงทราบตื้นลึกหนาบางแล้วนะครับว่าพม่ากับกะเหรี่ยงเหมือนขมิ้นกับปูนมาเป็นศตวรรษแล้ว

ราวเดือนกรกฎาคม 1947 สหภาพกะเหรี่ยงประกาศจัดตั้ง Karen National Defence Organization (KNDO) มี มาน บา ซาน (Mahn Ba Zan) เป็นหัวหน้า บรรดา ผู้บังคับบัญชาในกองกำลังนี้ล้วนเคยผ่านการฝึกและการรบมาแล้วจากหน่วยรบพิเศษ 136 ของอังกฤษ ตั้งกองบัญชาการในเมือง ซาน ชอง นอกเมืองย่างกุ้ง มีเครื่องแบบเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง กำลังพลออกมาฝึกในค่ายให้คนทั่วไปได้เห็น

กะเหรี่ยงแผลงฤทธิ์จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเผชิญหน้ากับกองทัพแห่งชาติพม่าซะแล้ว

ผมเล่าให้ทราบไปแล้วว่า นายพลอองซานกำลังนำพาประเทศไปสู่เอกราชโดยมีแนวนโยบายเปิดกว้างต่อชนกลุ่มน้อย

กลุ่มคนที่เห็นขัดแย้งอย่างรุนแรงกับนายพลอองซานและยอมไม่ได้....มีครับ จะเกิดอะไรขึ้นกับนายพลอองซาน วีรบุรุษหนุ่มอายุเพียง 32 ปี ?


(อ่านต่อฉบับหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น