09 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 7

นายพลอองซานยังไม่พ้นบ่วงกรรม
ข้าหลวงอังกฤษผู้ปกครองพม่าถูกชาวพม่าขับไล่
-------------
แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

นายพลฮิวเบอร์ต แรนซ์ ของอังกฤษเข้าปกครองพม่าแล้ว “สั่งสลาย” กองทัพพม่าทันที กำลังพลประมาณ 3,500 คน ของพม่าไม่พอใจ ไปรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม People’s Volunteer Organization (PVO) แล้วไปเชิญนายพลอองซาน มาป็นผู้บัญชาการ โดยไม่ยอมมอบอาวุธคืนแก่ทางการอังกฤษ รวมกันไปชักชวนกันมาเป็นทหารได้ กำลังพลถึงประมาณ 14,000 คน

ลอร์ด เมาท์แบทเทน พยามหาทางออกโดยยื่นข้อเสนอว่ากองทัพพม่าที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ (ตามแบบฉบับของอังกฤษ) นั้นจะแต่งตั้งนายพลอองซานเป็น “รองจเรทหารทั่วไป (Deputy Inspector General)” และเปิดโอกาสให้นายพลอองซาน เลือกทางเดินชีวิต ว่าจะเป็น “ทหาร” ต่อไปหรือจะเป็น “ผู้นำทางการเมือง” ในเดือนกันยายน 1945 นายพลอองซานตกลงใจเลือกที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง เขียนจดหมายตอบปฏิเสธตำแหน่ง “รองจเรทหารทั่วไป”

การตัดสินใจของนายพลอองซานในครั้งนี้มีผลกระทบอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศพม่าที่กำลังจะก้าวเป็นประเทศเอกราช ทำให้ภาพของกองทัพแห่งชาติพม่า เลือนลางเต็มที

เดือนตุลาคม 1945 หน่วยกิจการพลเรือนของกองทัพอังกฤษจบภารกิจถอนตัวออกจากพม่า อังกฤษส่ง Sir Reginald Dorman-Smith กลับมาเป็นข้าหลวงปกครองพม่าซึ่งไม่ค่อยจะถูกชะตากับนายพลอองซานอยู่ก่อนแล้ว ข้าหลวงคนนี้มีใจเอนเอียงสนับสนุน อู ซอ ที่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองเคยประกาศเป็นคู่แข่งทางการเมืองของนายพลอองซาน

องค์กรทางการเมืองที่ควบคุมประเทศพม่าที่แข่งแกร่งที่สุดในขณะนั้นคือ “สันนิบาตเสรีต่อต้านฟาสซิสต์(AFPFL)” ซึ่งข้าหลวงอังกฤษพยายามริดรอนบทบาทโดยอู ซอ ร่วมมือกับ ข้าหลวงอังกฤษประกาศจัดตั้ง “สภาบริหารประเทศ” ทำหน้าที่เสมือน “คณะรัฐมนตรี” ปกครองประเทศ โดยไม่เลือกบุคคลจาก AFPFL เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารแต่กลับเลือก อู ซอ และ เซอร์ ปอ ตุน (พวกอังกฤษ) เข้ามาร่วมทำงาน

สถานการณ์สับสนวุ่นวายอีกครั้งเมื่อตะขิ่น ตัน ตุน ผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์ ใน AFPFL จัดการเดินขบวนและเริ่มก่อสงครามกองโจรเพื่อต่อต้าน “สภาบริหารประเทศ” ที่จัดตั้งโดยข้าหลวงอังกฤษ

เดือนกันยายน 1946 นักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย ก่อการสไตร์คทั่วประเทศ เกิดภาวะจลาจล ข้าหลวงอังกฤษจึงเชิญนายพลอองซานมาพบเพื่อเข้าร่วมใน “สภาบริหารประเทศ” โดยให้นายพลอองซานเป็น “รองประธานสภา” เชิญสมาชิก AFPFL 6 คนมาร่วมด้วยจากจำนวนทั้งหมด 11 คน

2 ตุลาคม 1946 เหตุการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ

เหตุการณ์ทั้งปวงนี้ชาวพม่ากำลังดิ้นรนปากกัดตีนถีบเพื่อขอเป็นเอกราชจากอังกฤษ หากแต่ในการดิ้นรนนี้ ยังแฝงไปด้วยเขี้ยวเล็บการแย่งชิงอำนาจกันเองของชาวพม่าอีกด้วย

องค์กร AFPFL นั้นมีแนวทางกระเดียดไปทางแนวสังคมนิยม สมาชิกแกนนำมาจากบรรดาตะขิ่นทั้งหลายเป็นส่วนใหญ่ ที่นำโดยนายพลอองซาน โน้มเอียงไปทางแนวสังคมนิยมแต่ก็ไม่ใช่คอมมิวนิสต์

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 มีตะขิ่นบางคนจากกลุ่ม 30 สหายไปจัดตั้งกลุ่มคอมมิวนิสต์เป็นรูปเป็นร่างตั้งชื่อกลุ่มว่า Red Flag Communist (คอมมิวนิสต์ธงแดง) นำโดยตะขิ่น โซ มีนโยบายต่อต้านอังกฤษที่กลับเข้ามาปกครองพม่าอีกครั้ง เมื่อเห็นอังกฤษเข้ามาปกครองจริงจึงนำกลุ่ม คอมมิวนิสต์ธงแดง แยกออกไปขอต่อสู้กับอังกฤษใต้ดิน

ส่วนพวกที่เหลือไม่ได้ไปไหน ร่วมมือกับนายพลอองซานจัดตั้งกลุ่ม White Flag Communist (คอมมิวนิสต์ธงขาว) มีน้องเขยนายพลอองซาน ตะขิ่น ตาน ตุน ร่วมอยู่ด้วย

พม่า แม้กระทั่งจะเป็นคอมมิวนิสต์ก็รวมกันไม่ได้ ยังอุตส่าห์แบ่งออกเป็นคอมมิวนิสต์สองสี ผมว่าเจ้าของลัทธิคอมมิวนิสต์เองก็คง “งง” เหมือนกัน

ฝ่ายอู ซอ ที่ข้าหลวงอังกฤษหนุนหลังอยู่ก็จัดตั้ง “พรรคเมียวชิต(Myochit)” รอจังหวะเสียบขึ้นเป็นผู้นำพม่า สถานการณ์ทางการเมืองเรียกได้ว่าถึงทางตัน เคยมีนักวิชาการคุยกับผมว่า อังกฤษปกครองอาณานิคมมาทั่วโลกแต่ก็ไม่เคยปวดเศียรเวียนเกล้าเหมือนปกครองพม่า คลีเมนต์ แอตลี นายกรัฐมนตรีอังกฤษเชิญอองซานและคณะไปลอนดอนเพื่อหารือความคืบหน้าเรื่องการให้เอกราชแก่พม่า

คลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ที่นิ่งเงียบรอโผล่ขึ้นมาถล่มพม่าก็คือบรรดา “ชนกลุ่มน้อย” ที่ยังคงแข็งแกร่งอีกหลายกลุ่มอยู่ตามชายขอบประเทศ เฝ้ารอดูผลการเจรจาระหว่างอังกฤษกับนายพลอองซานว่าจะออกหัวออกก้อย ลุ้นระทึกอยากจะแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระ

ในขณะที่ชนกลุ่มน้อยเฝ้ามองการแย่งชิงอำนาจของชนเผ่าพม่าด้วยความกระหยิ่มยิ้มย่องกลุ่มกะเหรี่ยง กลุ่มไทยใหญ่ (ฉาน) กลุ่มชิน กลุ่มมอญ กลุ่มอาระกัน กลุ่มคะยาและกลุ่มคะฉิน คิดวางแผนอาศัยความชุนละมุนแยกตัวออกจากพม่า เต็มใจจะอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษโดยตรง

โดยเฉพาะกะเหรี่ยงประกาศหัวเด็ดตีนขาดว่าจะไม่ขอรวมกับพม่า แม้กระทั่งวันนี้ (ปี ค.ศ.2001) ก็ยังรบกับพม่าอยู่ รวมทั้งกลุ่ม SURA(กองทัพปฏิวัติไทยใหญ่) ซึ่งผมจะไม่ขอพาออกไปนอกเรื่อง

พูดถึงกะเหรี่ยง(Karen) แล้วเป็นคนละเผ่าพันธุ์กับคนพม่าเลยนะครับส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ภายใต้การปกครองของอังกฤษ อังกฤษเคยนำกะเหรี่ยงไปเป็นทหารในกองทัพอินเดีย แทนที่จะเอาคนพม่าไป เพราะว่าพม่ากับแขกอินเดียก็ไม่ค่อยจะลงรอยกันอยู่แล้ว

ในราวเดือนมกราคม 1995 ไม่นานมานี้เอง กองทัพพม่ายุยงให้กะเหรี่ยงแตกคอกันเองเป็นผลสำเร็จโดยกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาพุทธแยกตัวออกมาจัดตั้งกลุ่ม Democratic Karen Buddhist Army (DKBA) แล้วพม่าก็หนุนให้ DKBA ไปโจมตีกลุ่มกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์จนค่ายมาเนอปลอร์และค่ายคอมูราที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยแตกกระเจิงไปแล้ว

ผมขอวกกลับมาเรื่องพม่ากำลังเรียกร้องเอกราชดีกว่า

เมื่อนายพลอองซานและคณะเดินทางไปลอนดอน ในเดือนมกราคม 1947 เพื่อเจรจาเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษนั้นไม่ปรากฏผู้แทนของชนกลุ่มน้อยไปด้วยเลย

นายพลอองซานทำสำเร็จ....... 27 มกราคม 1947 อังกฤษลงนามตกลงใจให้ เอกราชแก่พม่าและมีรายละเอียดของสนธิสัญญาดังนี้

1.ให้เวลาพม่าเตรียมการ 1 ปี ก่อนเป็นประเทศเอกราช
2. ให้พม่าจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญภายใน 4 เดือน
3. อังกฤษจะสนับสนุนพม่าให้เป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศ
4. สัญญาว่าจะให้รัฐชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนเข้ารวมกับพม่า
5. จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่พม่า

ในระหว่างที่นายพลอองซานกำลังสาละวนอยู่กับการเจรจาเพื่อเอกราช บรรดาชนกลุ่มน้อยที่สนิทสนมกับอังกฤษก็เฝ้าติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด

บรรดา “เจ้าฟ้า” ในรัฐฉาน เชิญบรรดาชนกลุ่มน้อยมาร่วมหารือ (อย่างไม่เป็นทางการ) เตรียมหาแนวทางที่จะรับมือกับพม่าโดยจัดประชุมที่เมืองปางโหลง (Panglaung)

การประชุมครั้งประวัติศาสตร์คือการประชุมที่เมืองปางโหลง อย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 1947 ที่นายพลอองซานและอูนุ เข้าร่วมประชุมด้วย ผลสรุปก็คือ

ชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยจะรวมกันในรูปของสหภาพ(Union) รัฐฉาน รัฐชิน รัฐกะเรนนี และรัฐกะฉิ่น จะเข้ารวมกับพม่าแต่ขอแสงวนสิทธิ์ความเป็นอิสระในการ ปกครองภายในรัฐของตนเอง

รัฐฉานและรัฐกะเรนนีมีข้อตกลงเพิ่มเติมว่าเมื่อรวมกับพม่าครบ 10 ปีจะขอแยกตัวออกจากสหภาพพม่า (Union of Burma)

ส่วนกลุ่มกะเหรี่ยงและมอญเข้าร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตุการณ์ จะขอเจรจาโดยตรงกับอังกฤษด้วยประสงค์จะเป็นรัฐอิสระโดยไม่ขอรวมกับพม่า อยากจะเป็นอาณานิคมของอังกฤษ (อังกฤษเป็นกัลยาณมิตรกับกะเหรี่ยงมาช้านาน)

ข้อตกลงทั้งหมดนี้คือข้อตกลงปางโหลง (Panglaung Agreement) ที่ถือว่าเป็น “พิมพ์เขียวอนาคตสหภาพพม่า” ที่ลงนามกันเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 1947

ตกลงกันแล้วมีการเบี้ยวกันไปเบี้ยวกันมา ก็เลยต้องรบกันมาตลอด 50 ปี จนบัดนี้ก็ยังรบกันอยู่

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น