09 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 6


เมื่อกองทัพอังกฤษที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นและกองทัพพม่า
โจมตีแตกพ่ายออกจากพม่า หันกลับมาร่วมมือกับพม่าโจมตีญี่ปุ่น
---------------------

แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก


ในปี 1944 ขณะที่นายพล ออง ซาน และทุกกลุ่มในพม่าหันมาจับมือกันจัดตั้ง "สันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์(AFPFL)" เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นโดยใช้กะเหรี่ยงเป็น "ลอบบี้ยิสต์" ขอหวนมาคืนดีกับอังกฤษอีกครั้งนั้น กองทัพญี่ปุ่นกำลังรุกออกจากพม่าเข้าตีผ่านเมืองมณีปุระ แต่กองทัพญี่ปุ่นต้องประสบกับการต้านทานอย่างหนัก และ ล้มเหลว

ต้นปี 1945 กองทัพสัมพันธมิตรยึดเมืองมิตจิน่า (Mgitkyina) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของพม่าเกือบติดพรมแดนจีนได้ ญี่ปุ่นยังไม่ระแคะระคายเลยว่าพม่าวางแผนหักหลังญี่ปุ่น

ลอร์ดหลุยส์เมาท์แบทเทน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ "เชื่อใจ" นายพลออง ซาน จึงส่งสัญญาณให้กองทัพพม่าเคลื่อนไหวได้ภายใต้การสนับสนุนของอังกฤษ

27 มีนาคม 1945 กองทัพพม่าเคลื่อนย้ายออกจากย่างกุ้งในฐานะส่วนหนึ่งของกองทัพญี่ปุ่น เข้าไปตั้งกองบัญชาการในป่า แล้วเริ่มปฏิบัติการเข้าตีที่ตั้งหน่วยทหารญี่ปุ่นอย่างได้ผล

ญี่ปุ่นเองก็นึกไม่ถึงว่านี่พม่าเล่นพิสดารอะไร ?

กองทัพที่ 14 ของอังกฤษ รุกลงมาจากทางเหนือของพม่า นำโดย นายพล Slim ในช่วงมีนาคม 1945 กองทัพญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำในทุกสมรภูมิ และ BNA ของพม่าก็ยึดย่างกุ้งกลับคืนมาได้ และใน 15 สิงหาคม 1945 ญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่ออังกฤษเข้าควบคุมปกครองพม่าได้เบ็ดเสร็จ ปัญหาใหม่ตามมา คืออังกฤษมีคำถามอยู่ว่า นายพล ออง ซาน คือ วีรบุรุษ หรือ อาชญากรสงคราม?

นายพล ออง ซาน ถูกเชิญไปพบกับ พลเอก Slim แม่ทัพสนามที่ 14 ของอังกฤษ

นายพล ออง ซาน ยืนยันว่ากองทัพของพม่าและรัฐบาลรักษาการของพม่าเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ

พลเอก Slim ปฎิเสธคำยืนยันของ นายพล ออง ซาน ยืนยันว่าตามกฎหมายอังกฤษ นายพล ออง ซาน มีพฤติการณ์เป็นผู้ทรยศ

แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นกองทัพพม่า (BNA) ค่อนข้างเป็นปึกแผ่น และกระแสความชื่นชมของชาวพม่าต่อ นายพล ออง ซาน ค่อนข้างแรง อังกฤษจะคิดทำอะไรคงต้องไต่ตรอง ดีไม่ดีอาจจะต้องเผชิญหน้ากับพลังประชาชนชาวพม่าที่กำลังเห็นว่า นายพล ออง ซาน เป็นวีรบุรุษของชาวพม่า

ผมเขียนมาถึงตอนนี้ ทำให้ผมนึกถึงช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยที่ละม้ายคล้ายกับเหตุการณ์ที่เกิดกับ นายพล ออง ซาน ท่านผู้อ่านคงจะนึกถึงเหตุการณ์ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กองทัพไทย ยุวชนทหาร และประชาชน คนไทยยอมพลีชีพต่อสู้กับกองทัพมหาอำนาจญี่ปุ่น เรียกว่าอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย แต่วีรบุรุษคนไทยเหล่านั้นก็ยอมตายเพราะความสำนึกในหน้าที่

เกียรติยศ และอธิปไตยของชาติไทย ฝ่ายไทยต่อสู้กับญี่ปุ่นอยู่ไม่นานก็มีคำสั่งจากรัฐบาลให้ยุติการต่อสู้ เปิดทางให้ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกได้ รัฐบาลไทยตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น แต่คนไทยส่วนหนึ่งในอเมริกามีความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลไทย จัดตั้ง "กลุ่มเสรีไทย" เป็นพันธมิตรกับฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เราก็เหมือนกับ นายพล ออง ซาน ว่าไทยเราเป็นฝ่ายไหนกันแน่ ? ในที่สุดไทยก็รอดปากเหยี่ยวปากกามาได้ด้วย "ความอัจฉริยะ" ของเหล่าบรรพบุรุษของเราชาวไทย ผมและประชาชนชาวไทยทุกคนขอคารวะบูชาการตัดสินใจที่ถูกต้องของบรรพบุรุษไทยทุกท่านที่ทำให้บ้านเมืองไทยเรารอดจากการเป็นเมืองขึ้นจวบจนทุกวันนี้ มีประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งต้องการไทยเป็นเมืองขึ้น แต่มีมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่งไม่เห็นด้วย ลองฟื้นความจำกันเอาเองนะครับว่า ประเทศอะไรบ้าง ?

กลับมาเรื่องของชะตากรรมของ นายพล ออง ซาน อาชญากรสงคราม หรือวีรบุรุษกันแน่ ?

ลอร์ด เมาท์แบทเทน ซึ่งรู้ภูมิหลังเกี่ยวกับพม่าดี จึงใช้อำนาจของแม่ทัพสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงส่งจดหมายตัดสินชะตาของ นายพล ออง ซาน ความว่า :

"ไม่มีสาเหตุใดที่จะต้องจับกุม ออง ซาน ขอให้ ออง ซาน ตระหนักว่าอังกฤษชื่นชมการสนับสนุนของกองทัพพม่าในเหตุการณ์ที่ผ่านมา อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งท่านเคยขัดขืนต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอาจจะต้องมีการสอบสวนคดีความ นับแต่นี้ไปความร่วมมือจากฝ่ายพม่าทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเป็นสิ่งที่เราจะพิจารณาและพิสูจน์"

ชัดเจนครับ ! อังกฤษฉลาดที่จะพลิกสถานการณ์จาก "วิกฤติ" เป็น "โอกาส"

ผมว่าพม่าเองก็โชคดีที่ ลอร์ดเมาท์แบทเทน ได้ใช้อำนาจชี้เป็นชี้ตายตรงนี้ได้อย่างถูกต้อง ลองคิดดูว่าถ้าเหตุการณ์เป็นไปตามที่ นายพล Slim ตัดสิน พม่าจะเป็นอย่างไร?

ความเห็นของ ลอร์ดเมาท์แบทเทน นี้ ถูกข้าหลวงอังกฤษที่ปกครองอินเดียคัดค้านอย่างรุนแรง รวมทั้งบรรดาผู้ใหญ่ในลอนดอนต่างก็เห็น ออง ซาน ทรยศต่ออังกฤษ และจะต้องได้รับโทษเป็น "อาชญากรสงคราม" โทษคือ ประหารชีวิต แต่ เมาท์แบทเทน มองการณ์ไกล เห็นว่า ออง ซาน นี่แหละที่จะเป็นผู้ประสานประโยชน์กับทุกกลุ่มในพม่า และประชาชนพม่าสนับสนุนให้ ออง ซาน เป็นผู้นำของเขา เพื่อเรียกร้องเอกราช

ลอร์ดเมาท์แบทเทน ช่วยชีวิต นายพล ออง ซาน ไว้ !

กองทัพอังกฤษเข้าบริหารประเทศพม่าได้ราว 4 เดือน กรมกิจการ พลเรือนของอังกฤษจึงเข้ามาบริหารแทน โดย นายพล Hubert Rance

ผมขอแถมเป็นความรู้ครับว่า ในกองทัพจะมี "หน่วยกิจการพลเรือน" (Civil Affairs Service) เพื่อไปจัดการปกครองดินแดนข้าศึกที่ยึดได้ เช่น สหรัฐอเมริกา ในช่วงยึดญี่ปุ่นได้ ก็ส่งหน่วยกิจการพลเรือนเข้าไปจัดการปกครองญี่ปุ่นที่แพ้สงคราม กองทัพไทยก็มี "กรมกิจการพลเรือน" เช่นกัน

พลเอก Hubert Rance ต้องเผชิญกับภารกิจ "การสลายกองกำลัง" ของกองทัพพม่า (BNA) แล้วปรับโอนกำลังพลบางส่วนไปเป็นทหารประจำการ (Regular Army) เรียกว่าอังกฤษจะปรับโครงสร้างกองทัพใหม่ ออง ซาน อยู่ในสภาพถูกมัดมือชก งานนี้เท่ากับว่าอังกฤษจะบงการจัดตั้งกองทัพพม่าใหม่ และควบคุมเอง กำลังพลในกองทัพทราบความเคลื่อนไหวที่เกิดความไม่พอใจ จึงเคลื่อนไหวอย่างลับ ๆ มาร่วมกลุ่มกันราว 3,500 คน จัดตั้งกองทัพกันเองในนามของ People's Volunteer Organization (PVO) แล้วเทียบเชิญ ออง ซาน มาเป็นผู้บัญชาการ

เอาอีกแล้ว แยกตัว ตั้งกลุ่ม ตั้งชื่อ กันอีกแล้วไม่รู้จักจบจักสิ้น ชอบนัก มุ้งเล็ก มุ้งใหญ่ มุ้งเล็กในมุ้งใหญ่ ในมุ้งลวด

อังกฤษจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น