09 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 5


กองทัพพม่าช่วยญี่ปุ่นโจมตีอังกฤษออกจากพม่า…
แล้วพม่าก็กลับมาช่วยอังกฤษโจมตีขับไล่ญี่ปุ่น
------------------

แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

กองทัพพม่ากำเนิดจากทหารแค่ 30 คน นำโดยอองซาน ไปรับการฝึกจากญี่ปุ่นบนเกาะไหหลำแล้วมารวมตัวกันประกาศจัดตั้ง Burmese Independence Army (BIA) ในประเทศไทยในเดือนธันวาคม ค.ศ.1941 เพื่อเตรียมสนับสนุนญี่ปุ่นโจมตี กองทัพอังกฤษให้ถอนตัวจากพม่า

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพลูกพระอาทิตย์บุกขึ้นพม่า โจมตีกองทัพอังกฤษจนต้องร่นถอยเข้าไปในอินเดียและกองทัพญี่ปุ่นก็ยึดครองพม่าได้โดยเด็ดขาด

ในจังหวะที่ BIA ของพม่าสนับสนุนนำกำลังกองทัพญี่ปุ่นบุกพม่านั้น ก็มีความหวาดระแวงกันอยู่ระหว่าง ออง ซาน กับกองทัพญี่ปุ่น ที่จริง ออง ซาน คาดหวังว่า BIA และกองทัพญี่ปุ่นควรมีภารกิจเพียงแค่การจัดตั้งและขยายกองทัพพม่าให้เติบโต ส่งมอบอาวุธ กระสุนให้ แต่ญี่ปุ่นกลับมุ่งโจมตี ยึดเอาทรัพยากรของพม่าเป็นลำดับแรกโดยเข้าตีเมืองมะละแหม่ง (บางคนเรียกว่าเมืองเมาะลำไย) ทางใต้ของพม่าก่อน

สถานการณ์รบในครั้งนั้นบรรดา “กลุ่ม 30 สหาย” เริ่มไม่พอใจกองทัพญี่ปุ่นแต่ต้องอดกลั้นเก็บความรู้สึกเอาไว้ ที่ร้ายไปกว่านั้น ชาวพม่าที่เข้าร่วมรบกับ กองทัพญี่ปุ่น เมื่อมีอาวุธในมือแล้วกลับทำตัวเป็น “กองโจร” ไร้การควบคุม ไม่มีใครเชื่อฟังใคร ไม่มีสายการบังคับบัญชา

มุ่งประสงค์ตั้งอกตั้งใจสังหารบรรดา “หัวหน้าชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยง” ใครที่เคยรับใช้ เป็นลูกน้องอังกฤษถูกโดนจับยิงเป้าทั้งหมด

งานนี้สับสนอลหม่าน กลายเป็น “แค้นต้องชำระ” พม่าฆ่าพม่า-พม่าฆ่ากะเหรี่ยง โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่น่าเวทนา กองทัพ BIA ถือโอกาสสังหารเป็นว่าเล่นเพราะเก็บความแค้นมานาน พม่าฆ่ากะเหรี่ยงก็สะใจเหมือนได้ฆ่าคนอังกฤษ

แม่ทัพญี่ปุ่นได้รับทราบพฤติกรรมเยี่ยงโจรของกลุ่ม BIA ซึ่ง ออง ซาน ก็ควบคุมไม่ได้จึงสั่ง “ยุติบทบาทและสลายกองทัพพม่า (BIA)” ทันที

คำสั่งของแม่ทัพญี่ปุ่นครั้งนี้ ออง ซาน สะเทือนใจมากถึงขั้นล้มป่วย เข้าโรงพยาบาล เป็นโอกาสได้พบกับ ดอ ขิ่น จี (ต่อมาได้แต่งงานกัน)

สิงหาคม ค.ศ.1942 ญี่ปุ่นตั้ง บา มอ เป็นนายกรัฐมนตรีของพม่าและตั้ง ออง ซาน เป็นผู้บัญชาการกองทัพพม่า มีกำลังพลประมาณ 4000 คน

มกราคม ค.ศ.1943 นายกรัฐมนตรี ฮิเดกิ โตโจ ของญี่ปุ่นประกาศว่าจะให้เอกราชแก่พม่าในราวปลายปี พอถึงเดือนสิงหาคมในปีนั้น…..ได้รับการสถาปนาเป็นประมุขของประเทศ แต่งตั้ง ออง ซาน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติ (Burma National Army : BNA) และอู นุ เป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

มาถึงช่วงเวลานี้ นับว่าพม่าพอจะเป็นรูปเป็นร่างเฉพาะในกลุ่มชาวพม่าในบริเวณภาคกลางของประเทศเท่านั้น บรรดาชนกลุ่มน้อยอีก 5-7 กลุ่มที่เหลือ ตามชายขอบประเทศยังมิได้มี “ความรู้สึกร่วม” ในสถานการณ์ความเป็นไปต่างๆ ชนกลุ่มน้อยเช่น กะเหรี่ยงยังคงมีความรู้สึกผูกพันกับอังกฤษ ส่วนชนกลุ่มน้อยที่เหลือก็จ้องรอจังหวะแยกตัวเป็นรัฐอิสระ

ความมุ่งหวังของชาวพม่าที่ต้องการเห็นพม่าเป็น “ประเทศที่สมบูรณ์” ยังอีกยาวไกล

เหมือนหนีเสือปะจระเข้…รัฐบาลของบา มอ เป็นเพียงรัฐบาลหุ่นแทบไม่มีอำนาจการตัดสินใจ อันที่จริงญี่ปุ่นมองพม่าเป็นแหล่งทรัพยากรเพื่อการทำสงคราม นายพล ออง ซาน เริ่มรู้สึกได้เมื่อได้รับเชิญไปเยือนโตเกียวในเดือนมีนาคม 1943 โดย พันเอก ซูซูกิ (อดีตผู้ประสานงานกับกองทัพพม่า) บอกกับนายพล ออง ซาน ว่าเขาถูกปลดพ้นหน้าที่ในข้อหาสนิทกับพม่ามากเกินขอบเขต

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ามาปกครองพม่าเต็มรูปแบบ ทหารญี่ปุ่นกลับกลายเป็นผู้กดขี่ข่มเหงชาวพม่าเสียเอง โดยเกณฑ์ชาวพม่าไปเป็นลูกหาบ กรรมกรในกองทัพญี่ปุ่นนับพันคน หน่วยทหารสารวัตรกองทัพญี่ปุ่นเป็นที่หวาดผวาของชาวพม่า
นายกรัฐมนตรีบา มอ เริ่มไม่พอใจและปฏิเสธที่จะร่วมมือกับนายทหารญี่ปุ่น ส่วนหน่วยข่าวกรองของทหารญี่ปุ่นใช้วิธีซ้อม ทรมานชาวพม่าเพื่อ “รีดข่าว” ขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องไต่สวน ชาวพม่าเริ่มรู้ตัวว่าญี่ปุ่นร้ายกว่าอังกฤษเสียอีก

บรรดาตะขิ่นทั้งหลาย รวมทั้งผู้นำระดับสูงของพม่าเริ่มคิดจะไล่ญี่ปุ่นออกจากพม่า นายทหารกะเหรี่ยงในกองทัพพม่ารับอาสาติดต่อกับ “หน่วยรบพิเศษของอังกฤษที่ 136” ประสานการปฏิบัติ “เฉพาะกลุ่มวงใน” รวมทั้งนายพล ออง ซาน ได้รวบรวมทุกกลุ่มในขณะนั้น เช่น กลุ่มนายทหารในกองทัพพม่า กลุ่มสังคมนิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์มาจัดตั้ง “กลุ่มสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” (Anti-Fascist People’s Freedom League : AFPFL) ขึ้นมา โดยมีนายพล ออง ซาน เป็นแกนนำ และต่อมา ออง ซาน ก็สามารถไปดึงเอากลุ่มกะเหรี่ยงเข้ามาด้วยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

ท่านที่อ่านบทความของผมมาตั้งแต่ตอนที่ 1 จะเห็นว่านี่เป็นลักษณะเฉพาะของพม่า คิดจะทำอะไรสักอย่างจะต้อง ตั้งกลุ่ม ตั้งชื่อ ซึ่งสะท้อนภาพให้เห็นว่า “ขาดเอกภาพ” มานานแล้ว ไม่มีเรื่องเดือดร้อนก็ไปคนละทิศละทาง สังคมแบบนี้ไม่สามารถอยู่ได้ถ้าขาดผู้นำที่แข็งแกร่ง เด็ดขาด จึงจะพาประเทศชาติไปรอดได้
การเดินเกมกำจัดญี่ปุ่นเป็นไปด้วยดี ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเทน ผู้บัญชาการกองกำลังสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกลงร่วมมือกับนายพล ออง ซาน

เค้าลางสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มส่งสัญญาณว่าญี่ปุ่นเริ่มเพลี่ยงพล้ำ ออง ซาน เองคิดหนักที่จะ “กลับลำ 180 องศา” คิดทรยศต่อญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเองก็คาดไม่ถึง

ออง ซาน ใคร่ครวญแล้วว่า “ประเทศพม่าต้องเป็นของชาวพม่า” เมื่อ มุ่งมั่นจะเป็นเอกราชให้ได้ เหตุการณ์บังคับให้พม่าจำต้อง “เลือกฝ่าย”อีกครั้ง

นายพล ออง ซาน เลือกฝ่าย อังกฤษ !!!
(อ่านต่อฉบับหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น