09 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 4

ญี่ปุ่นฝึก ออง ซาน และ "กลุ่ม 30สหาย"
เป็นนักรบกู้ชาติบนเกาะไหหลำ ฝึกจบแล้ว
"กลุ่ม 30 สหาย" กู้ชาติมาแวะกรุงเทพ ฯ
----------------------
แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

หลังจาก ออง ซานและลา เมียงประสบความสำเร็จในการเจรจาลับกับกองทัพญี่ปุ่นในโตเกียว ญี่ปุ่นสัญญาว่าจะส่งมอบอาวุธ กระสุนและฝึกวิชาทหารให้กับสมาชิกขบวนการชาตินิยมพม่า

กองทัพญี่ปุ่นนำตัวออง ซานและลา เมียงมาส่งที่กรุงเทพฯ ทั้ง 2 คนอยู่ในเมืองไทยได้ระยะหนึ่ง ออง ซานลักลอบกลับเข้าไปในพม่า ส่วนลา เมียงยังคงอยู่ประสานงานในกรุงเทพฯ ซึ่งในห้วงเวลานั้น บรรดาแกนนำการต่อสู้เพื่อเอกราชของพม่าส่วนหนึ่งแฝงตัวอยู่ในประเทศไทย

ราวเดือนมีนาคม 1941 ออง ซานกับแกนนำอีก 28 คนลักลอบทยอยเดินทางออกจาพม่าด้วยเรือสินค้าญี่ปุ่น มุ่งหน้าไปเกาะไหหลำ เพื่อรับการฝึกทางทหาร ต่อมา ลา เมียงที่อยู่ในกรุงเทพฯได้เดินทางไปสมทบกับบรรดาแกนนำทั้งหลายที่เกาะไหหลำ 29 คนจึงรวมเป็น 30 คน

พวกแกนนำขนานนามกลุ่มตัวเองว่า "กลุ่ม 30 สหาย" (Thirty Comrades)

มีข้อมูลบันทึกโดย โบ จ่อ ซอ (Bo Kyaw Zaw) ในหนังสือ Burma in Revolt โดย Bertil Lintner เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆในระหว่าง”กลุ่ม30 สหาย”ทำการฝึกบนเกาะไหหลำ บันทึกว่า

“ออง ซานและเนวินมีปากเสียงกันบ่อยครั้งขณะทำการฝึกบนเกาะไหหลำ ออง ซานเป็นคนตรงไปตรงมา ส่วนเนวินเป็นคนหลักแหลม เป็นนักวางแผนมือฉกาจ ออง ซานมักจะมีความเห็นไม่ตรงกับเนวิน ที่เนวินมักทำตัวเป็นนักการพนันและเจ้าชู้ ซึ่งขัดกับบุคคลิกของ ออง ซาน ส่วนพวกที่เหลือก็เห็นด้วยกับ ออง ซาน แต่เพื่อเห็นแก่ส่วนรวมและความสามัคคีเราจึงต้องอยู่ร่วมกันให้ได้”

เมื่อลองมาวิเคราะห์ “กลุ่ม30 สหาย” แล้วจะพบว่าบุคคลเหล่านี้มีแหล่งที่มาแตกต่างกัน เช่นมาจากกลุ่ม Dohbama Asiayone (กลุ่มเราชาวพม่า) มาจากพรรคคอมมิวนิสต์พม่า กลุ่มประชาชนปฏิวัติ กลุ่มคนจน และจากพรรคเล็กพรรคน้อยอีกหลายพรรค ราวเดือนธันวาคม 1940 กองทัพญี่ปุ่นส่ง “กลุ่ม30 สหาย” มาถึงกรุงเทพฯ

ในราวปลายเดือนธันวาคม โดยมี พันเอก ซูซูกิ เป็นผู้บังคับหน่วยและประสานงานกับกองทัพญี่ปุ่น

“กลุ่ม 30 สหาย” ประกาศจัดตั้ง “ Burma Independence Army(BIA) ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ของพม่าที่บันทึกว่ากองทัพพม่าที่แท้จริงมีกำเนิดจากคน 30 คนและมาประกาศจัดตั้งในกรุงทพฯ ประเทศไทยนี้เอง ถ้าผมจำไม่ผิดในพิพิธภัณฑ์กองทัพพม่าในกรุงย่างกุ้ง เขาเก็บโต๊ะ-เก้าอี้และของใช้บางชิ้นที่ “กลุ่ม30 สหาย” ใช้ประกาศจัดตั้ง BIA ไว้เป็นประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบันนี้

เมื่อประกาศจัดตั้ง BIA เป็นทางการ บรรดาชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 200 คนและคนญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทยในคราบของนักธุรกิจได้เผยโฉมหน้าและเข้าร่วมกับ BIA ทันที

ผมขอยืนยันว่าในหนังสือประวัติศาสตร์พม่าทุกเล่ม โดยเฉพาะหนังสือต่างประเทศได้ยืนยันตรงกันว่า “กลุ่ม30 สหาย” มาประกาศจัดตั้ง Burma Independence Army ในกรุงเทพ เป็นต้นกำเนิดของกองทัพพม่าในปัจจุบันนี้

นอกจากการจัดตั้ง BIA แล้ว “กลุ่ม30 สหาย” ยังกรีดเลือดสาบานแล้วดื่มร่วมกัน ถือฤกษ์ถือยามเปลี่ยนชื่อ เหมือนนักมวยไทยนั่นแหละครับ ชื่อต้อง “ดุ” ไว้ก่อน เช่น เสาหิน หลักหิน แรมโบ้ อะไรเทือกนั้น ออง ซานก็เปลี่ยนชื่อเป็น “โบ ที ซา” แปลว่า “นายพลที่มีอำนาจ” (Powerful General) คำว่า “โบ” แปลว่า “นายพล”

ชู หม่อง เปลี่ยนชื่อเป็น “โบ เน วิน” แปลว่า “นายพลที่จรัสแสงดั่งดวงอาทิตย์”

“กลุ่ม30 สหาย” เปลี่ยนชื่อเปลี่ยนเสียงกันหมดก่อนออกศึกรบกับอังกฤษ

ผมรู้สึกเสียดายว่าความเคลื่อนไหวที่พม่าจัดตั้ง BIA ในตอนนั้นหน่วยงานของไทยหรือบุคคลใดบ้างที่รับทราบและสนับสนุนช่วยเหลือ ผมไม่พบบันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้ไว้ที่ไหนเลย น่าจะบันทึกไว้ถ่ายทอดให้ชนรุ่นหลังได้ทราบบ้างว่า “ประเทศไทยก็เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ที่เอื้ออาทรต่อคนพม่า สนันสนุนให้พม่าพ้นจากการ เป็นอาณานิคม”

เรื่องดี ๆ แบบนี้ต้องช่วยกันพูด ช่วยกันเผยแพร่บ้าง

มกราคม 1942 หน่วยข่าวลับของญี่ปุ่นเป็นตัวประสานงานของ “กลุ่ม30 สหาย” กับกองทัพญี่ปุ่นให้ญี่ปุ่นบุกเข้าพม่าทางรัฐตะนาวศรี จากทะเลอันดามัน BIA ได้ช่วยอำนวยความสดวกให้กองทัพญี่ปุ่นและนำกำลังทหารญี่ปุ่นเข้าตีที่ตั้งทหารอังกฤษเป็นผลสำเร็จหลายครั้ง

ตะขิ่น ชู หม่อง แทรกซึมเข้าไปในย่างกุ้งเพื่อจัดตั้งและรับผิดชอบการก่อวินาศกรรมทำงานได้ผลดี ซึ่งต่อมาเป็นที่ทราบกันดีว่าเขาคือ “นายพล เนวิน” นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันนี้ (มีนาคม 2001) ก็คงเป็นรัฐบุรุษของพม่า กองทัพอังกฤษถอนตัวไปมัณฑะเลย์ มุ่งหน้าเข้าอินเดียโดยมีกองกำลังกะเหรี่ยงผู้จงรักภักดีสนธิไปกับกองทัพอังกฤษด้วย

มีนักประวัติศาสตร์ได้แสดงความเห็นไว้น่าสนใจว่าในสถานการณ์ขณะนั้นหาก วินสตัน เชอร์ชิล จะมีนโยบายอ่อนตัวสักหน่อย คือให้พม่ามีความหวังว่าจะได้เป็นเอกราช พม่าอาจตัดสินใจอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรช่วยอังกฤษรบก็ได้

ตรงกันข้ามกับฝ่ายญี่ปุ่นที่พยายามสร้างภาพให้พม่าเห็นว่า “เราชาว เอเซียกำลังร่วมมือกันขับไล่ นักล่าอาณานิคมผิวขาว”

ประเด็นนี้บรรดาตะขิ่นทั้งหลายไม่สนใจว่าใครจะผิวขาว-ผิวเหลือง ตะขิ่นเลือก “ทำอย่างไรจึงจะทำให้พม่าเป็นเอกราชเร็วที่สุด ?”

มีบันทึกในหนังสือBurma in Revolt ของBertil Lintner บันทึกชื่อ ประวัติย่อ พฤติกรรมของ “กลุ่ม30 สหาย” ไว้ทั้งหมด ผมชื่นชม “ความใจกว้าง” ที่บันทึกเรื่องราวของบรรพบุรุษตัวเองไว้ให้ลูกหลานได้รับทราบทั้งดีมาก-ดีน้อย

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น