09 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 3

ทุกครั้งที่ชาวพม่าลุกขึ้นก่อจลาจลขับไล่อังกฤษ
อังกฤษจะใช้กะเหรี่ยงมาปราบพม่า
-------------
แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

ไฟเพื่อนำเอกราชมาสู่แผ่นดินพม่าได้ถูกจุดขึ้นแล้วหลังจากที่อังกฤษปกครองพม่ามาแล้ว 52 ปี

ในปี ค.ศ.1938 หลังจากเยาวชน นักเรียน นักศึกษาพม่าเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชอย่างเป็นรูปธรรมมาแล้ว 2 ปีเต็ม แกนนำนักศึกษาได้ก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว โดยกำหนดให้ปี ค.ศ.1938 เป็น "ปีแห่งการปฏิวัติ" (The Year of Revolution) หรือ "The 1300 Movement" (ถ้านับตามปีปฏิทินพม่า นับเป็นปีที่ 1300)

สถานการณ์สร้างวีรบุรุษเสมอ ในทุกเหตุการณ์จลาจลที่ต่อต้านอังกฤษจะมีวีรบุรุษเกิดขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้ชาวพม่าแข็งข้อกับอังกฤษมากขึ้นเป็นลำดับ เหตุการณ์จลาจลทุกครั้งมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าทำเพื่อขับไล่อังกฤษ และคนพม่าต้องการเอกราช

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่าทหาร ตำรวจ ที่อังกฤษใช้ปราบปรามจลาจลคนพม่านั้น จะเป็น "ชนกลุ่มน้อย" โดยเฉพาะกะเหรี่ยง ที่อังกฤษฝึกเอาไว้ มิใช่ "คนพม่า"

เหตุการณ์จลาจลในปี 1938 ที่นับว่ารุนแรงอีกครั้ง คือเหตุการณ์ที่คนงานพม่าในเมือง เยนายอง ที่ทำงานกับบริษัทน้ำมันของอังกฤษก่อการสไตร์ค สมทบกับบรรดานักศึกษาในย่างกุ้งเดินขบวนขับไล่อังกฤษ

ในการปราบจลาจลครั้งนั้น นายออง จ่อ นักศึกษาพม่าถูกตำรวจตีด้วยไม้กระบอง และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ข่าวนาย ออง จ่อ เสียชีวิตแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมเมือง โดยเฉพาะชาว มัณฑะเลย์ออกมาเดินขบวนประท้วงอังกฤษครั้งใหญ่ ตำรวจแก้ปัญหาโดยยิงผู้เดินขบวนเสียชีวิต 17 คน ประการสำคัญ 7 คน ใน 17 คนนั้นเป็นพระสงฆ์

เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เกิดขึ้นในขณะที่พม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ชาวพม่าจะขื่นขมอย่างไร ก็ได้แต่เพียงรวมตัวกันเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย มีแต่มือเปล่า

"กองทัพพม่า เพื่อชาวพม่า ยังไม่เกิด และจะเกิดไม่ได้ถ้าเป็นเมืองขึ้น"

ในขณะที่เหตุการณ์เสมือน "บ้านแตกสาแหรกขาด" นั้น ชาวพม่าผู้ต้องการขับไล่อังกฤษก็ไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน หันหน้าไปพึ่งใคร ว่ากันตามจริงความรู้สึกของชาวพม่าในขณะนั้นแทบจะยังไม่มี "ความรู้สึกร่วม" ว่ามีชาติมีประเทศ รวมตัวกันได้เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยตามชาติพันธุ์ ต่างคนต่างอยู่

อุดมการณ์และแนวทางการต่อสู้ของ "พรรคคอมมิวนิสต์" ก็เปรียบเสมือน "ขอนไม้" ที่ลอยมาตรงหน้า "คนกำลังจะจมน้ำ"

แกนนำนักศึกษา 5 คน รวมทั้งตะขิ่ง ออง ซาน ได้เป็นแกนนำจัดการประชุมเยาวชน นักวิชาการพม่าเป็นการลับ ผลการประชุมเมื่อ 15 ส.ค.1939 มีมติให้จัดตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์พม่า" (CPB) ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรขับเคลื่อน เป็นแนวทางในการรวบรวมพลังต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชของพม่า โดยมี ตะขิ่น ออง ซาน เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

ในขณะเดียวกันบรรดาชาวจีนในพม่าก็จัดตั้ง "ขบวนการคอมมิวนิสต์พม่า" ในกลุ่มชาวจีนด้วย ก็เป็นอันว่าในขณะนั้นเกิดมีคอมมิวนิสต์ 2 กลุ่ม

โชคชะตาดูเหมือนจะเริ่มเข้าข้างพม่าบ้างแล้ว ในปี 1939 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ตะขิ่น ออง ซาน และขบวนการชาตินิยมเริ่มมองเห็นเค้าลางลู่ทางการกอบกู้เอกราชของพม่า มีการเคลื่อนไหววางแผนจับอาวุธขึ้นต่อสู้ ออง ซาน เอง ในขณะนั้นอายุเพียงประมาณ 25 ปี แต่มากด้วยอุดมการณ์ และประสบการณ์ จึงจัดตั้งองค์การ "โดบาม่า" (The Dohbama Asiayone หมายถึง We Burmans Association : เราชาวพม่า) เป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า มุ่งหวังจะพึ่งพาชาว เอเซียด้วยกันที่จะมาช่วยปลดปล่อยพม่าให้เป็นเอกราช นั่นก็หมายถึงญี่ปุ่น

ในเดือนมีนาคม 1940 อังกฤษสังเกตเห็น ออง ซาน เคลื่อนไหวเป็นปฏิปักษ์ จึงจับ ออง ซาน ขังคุกนาน 17 วัน

กองทัพญี่ปุ่นสนใจอยากครอบครองพม่าด้วยเหตุผล 2 ประการคือ พม่าเป็นประเทศที่มีทรัพยากรมั่งคั่งโดยเฉพาะน้ำมันและป่าไม้ หากยึดพม่าได้จะเป็นเส้นทางส่งกำลังไปให้กองกำลังของ เจียงไคเช็ค ในเมืองจงกิงในประเทศจีนเพื่อทำให้ญี่ปุ่นเผด็จศึกกับจีนได้เร็วขึ้น(หมายความว่าญี่ปุ่นต้องการเข้าตีจีนจากประเทศพม่า) ญี่ปุ่นส่งสายลับมาติดต่อกับ บามอ ขอให้ขบวนการชาตินิยมของพม่าทั้งหลายที่ต่อต้านอังกฤษหันมาสนับสนุนญี่ปุ่น

หมูไป-ไก่มา หากพม่าช่วยญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจะช่วยขับไล่อังกฤษและให้พม่าเป็นเอกราช

การเจรจาลับเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งพม่าและญี่ปุ่นพอใจในผลประโยชน์ร่วมกัน ในขณะนั้น ออง ซาน ออกจากคุกแล้วไปร่วมประชุมกับ อินเดีย เนชั่นแนล คองเกรสในอินเดียซึ่งเป็นโอกาสทองที่ได้พบกับ เนห์รู และ คานธี รวมทั้งขบวนการชาตินิยมอินเดียที่มีอุดมการณ์ต่อต้านอังกฤษ

ก่อน ออง ซานเดินทางกลับพม่า ทราบว่ารัฐบาลได้ออกหมายจับเขา จึงตัดสินใจร่วมกับเพื่อนรัก ตะขิ่น ลา เมียงเดินทางออกนอกประเทศพม่าโดยอาศัยเรือบรรทุกสินค้าของจีนที่จอดอยู่ท่าเรือย่างกุ้ง ความตั้งใจที่แท้จริงของออง ซานคือการออกไปแสวงหาพันธมิตร ในที่สุดออง ซานและเพื่อนปลอมตัวเป็นกะลาสีทำงานบนเรือสินค้าจีน ออกเดินทางไปเมือง อะมอย ในประเทศจีนที่ กองทัพญี่ปุ่นยึดอยู่และในที่สุดทหารญี่ปุ่นได้นำตัวออง ซาน และลา เมียงเดินทางไปโตเกียว

ออง ซานประสานกับกองทัพญี่ปุ่นเพื่อวางแผนใช้ขบวนการชาตินิยมของพม่าที่จัดตั้งไว้แล้วประสานการปฏิบัติกับกองทัพญี่ปุ่น โจมตีทหารอังกฤษในพม่า จัดตั้งหน่วยข่าวกรอง มินามิ คิคัน (Minami Kikan) ควบคุมโดย พันเอก ซูซูกิ เพื่อเป็นศูนย์ประสานการปฏิบัติ ออง ซานประสบ ผลสำเร็จอย่างยิ่งสำรับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น ในด้านอาวุธ กระสุนและญี่ปุ่นตกลงจะฝึกคนพม่าให้เป็นนักรบ

กองทัพญี่ปุ่น จัดส่งออง ซานและลา เมียงกลับพม่า โดยให้เข้ามาในกรุงเทพฯ

ออง ซานเข้ามาทำอะไรในกรุงเทพฯ…..น่าสนใจครับ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น