09 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 2


แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า….กองทัพพม่าในปัจจุบันนี้
มาก่อมาตั้งในแผ่นดินไทยนี่เอง

แปลและเรียบเรียงโดย
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก

เป็นอันว่า เมื่ออังกฤษปกครองพม่าเป็นอาณานิคมนั้น อังกฤษสนับสนุนชนกลุ่มน้อยออกหน้าออกตา โดยเฉพาะกะเหรี่ยง ฉาน (ไทยใหญ่) และ คะฉิ่น ผลักดันคนพวกนี้ให้ได้รับการศึกษาตามแนวทางโลกตะวันตก บางคนโชคดีได้ไปเรียนต่อในประเทศอังกฤษ เมื่อกลับมาก็ได้บรรจุให้เข้าทำงานในระดับบริหารภายใต้การกำกับดูแลของอังกฤษ หนำซ้ำอังกฤษสนับสนุนให้เข้ามาเป็นทหาร - ตำรวจ อีกต่างหาก

ความรู้สึกของชาวพม่านั้น "อกไหม้ไส้ขม"

ชาวพม่าไม่คิดกอบกู้เกียรติภูมิของตัวเองบ้างละหรือ ? มีครับ กล่าวคือในห้วงปี ค.ศ.1930 - 31 ขบวนการชาตินิยมของนักศึกษา ประชาชนชาวพม่า ซึ่งได้รวมตัวกันมาก่อนแล้วอย่างลับ ๆ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็น "ขบวนการชาตินิยม" ได้เป็นกำลังหลักก่อการกบฎต่ออังกฤษที่เรียกว่า "กบฎ ซาย่า ซัน (Saya San Rebellion)" ที่พอจะเล่าสู่กันพอสังเขปดังนี้

ในช่วงปี ค.ศ.1930 ถือเป็นปีข้าวยากหมากแพง เศรษฐกิจตกต่ำ พืชผลขายไม่ได้ราคาทั่วโลก ประชากรพม่าก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย ชาวนาไม่มีเงินใช้หนี้นายทุน ประกอบกับในสังคมเมือง ชาวพม่าที่รับจ้างทำงานในเมืองก็เกิดเขม่นกับพวกแขกอินเดียที่อพยพเข้ามาแย่งงานกรรมกรพม่า กรรมกรอินเดียทำงานหนักกว่า ค่าแรงต่ำกว่า (โดยเฉพาะกรรมกรตามท่าเรือ) เหตุการณ์เหล่านี้คุกรุ่นมานานแล้ว นอกจากนั้นบรรดาคนงานพม่าก็ยังด้อยกว่าคนจีนที่อดทนกว่า หากินเก่งกว่าอีกด้วย จึงทำให้ทั้งในชนบทและในเมือง “ชาวพม่าแท้”เจ้าของประเทศแทบจะอดตาย

ชาวบ้านในเมือง เยเต็ก ในอำเภอธารวดีที่รวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่น ตั้ง อู ยา จ่อ (อดีตพระสงฆ์) เป็นหัวหน้า จัดตั้งสมาคมกาลอง (Galon) รวบรวมบรรดาเยาวชนพม่าจัดตั้งและขยายเครือข่ายออกไปทุกหนทุกแห่งที่มีความทุกข์ยาก เมื่อถึงคราวลำบาก ชาวพม่ารวมตัวกันเป็นปึกเป็นแผ่นเป็นครั้งแรกอย่างได้ผลยิ่ง เพื่อเป็นการลดแรงเสียดทาน อังกฤษตั้งชาวพม่าแท้ ชื่อนายโจเซฟ ออกัสตัส หม่อง จี ให้บรรดาศักดิ์เป็นถึง “ท่านเซอร์” (นับเป็นชาวพื้นเมืองคนแรกของพม่าที่ได้รับบรรดาศักดิ์นี้)

ท่านเซอร์โจเซฟ หม่อง จี เดินทางไปแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชนที่อำเภอธารวดี อยู่ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ชาวบ้านร้องขอให้ยกเลิกหรือพักชำระหนี้ 1 ปี เซอร์โจเซฟปฏิเสธอย่างไม่มีเยื่อใย

วันต่อมาบรรดาชาวนาที่รวมตัวกันก็ประกาศเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล

อู ยา จ่อ ไปเทียบเชิญ ซาย่า ซัน (Saya San) มาเป็นหัวหอกดำเนินการ ซาย่า ซัน ประกาศสถาปนาตัวเองเป็น "กษัตริย์" ทันที จัดตั้งกองทัพชาวนาเป็นฐาน รู้ทั้งรู้ว่ากองทัพชาวนามีแต่มือเปล่า จะต้องสู้รบตบมือกับกองทัพอังกฤษซึ่งมีปืนเล็กยาวใช้แล้ว

พวกชาวบ้านที่เข้าร่วมกับกบฎ ซาย่า ซัน เริ่มลงมือผลิตอาวุธเท่าที่พอจะดัดแปลงได้ เช่น ท่อเหล็กจากตัวถังจักรยาน ผลิตธนู หอก ดาบ

ชาวพม่าจำนวนไม่น้อยเห็นชอบกับ ซาย่า ซัน ที่จะสถาปนาระบบกษัตริย์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ชาวพม่าพร้อมใจกันจัดทำบัลลังค์พร้อมฉัตรประดับเกียรติยศ พูดกันปากต่อปากว่า ซาย่า ซัน เป็น "เทพ" ลงมาจุติเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจน

กองกำลังกบฎ ซาย่า ซัน ทำงานได้ผล ชาวบ้านผู้ยากจน คับแค้น ยึดที่ดิน ทวงเงินคืนมาได้จากเจ้าของที่ดิน เรื่องราวของกบฎ ซาย่า ซัน เริ่มผันแปรไปเป็น "ขบวนการชาตินิยม" ต่อต้านอังกฤษผู้กดขี่

การปล้นสดมภ์แพร่กระจายออกไปใน 12 เมือง หัวหน้ากบฎไปตั้งกองบัญชาการใน ป่าลึก Pegu Yona ทางเหนือของกรุงย่างกุ้ง อังกฤษเห็นสถานการณ์ลุกลามจึงส่งกำลังเข้าปราบปรามโจมตีกองกำลังกบฎในป่า

กองกำลังทหารอังกฤษปราบปรามอย่างเฉียบขาด รุนแรง ด้วยอาวุธทันสมัย ในช่วงนี้พม่าบันทึกประวัติศาสตร์ของตนเองไว้อย่างขมขื่น ชาวบ้านบางหมู่บ้านถูกสังหารทิ้งทั้งหมด โดยการตัดหัวเสียบต้นเสา หมู่บ้านแห่งหนึ่งถูกตัวหัว 15 หัว แล้วนำไปเสียบไว้ที่หน้าที่ทำการรัฐบาล ทหารอังกฤษถ่ายรูปผลงานการตัดหัวกบฎไปลงหนังสือพิมพ์ในอังกฤษ และแถลงผลงานในสภาผู้แทนของอังกฤษ

28 พฤศจิกายน 1931 กว่าทุกอย่างจะจบลงชาวพม่าถูกสังหารไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน ถูกจับขังคุกประมารเก้าพันคน ซาย่า ซัน และบริวารใกล้ชิดถูกจับแขวนคอ รวม 128 คน ส่วนฝ่าย รัฐบาลบาดเจ็บประมาณ 50 คน เชื่อกันว่ากองกำลังฝ่ายอังกฤษที่ปราบกบฎพม่านั้น อังกฤษใช้ ชนกลุ่มน้อยเป็นกำลังหลักมาปราบปรามคนพม่า

รอยแค้นนี้ พม่าคงไม่สามารถยกโทษให้อังกฤษ และชนกลุ่มน้อยได้ง่าย ๆ

ตัวอย่างของกบฎ ซาย่า ซัน นี้เป็นอุทาหรณ์ว่าชาวพม่าเองกล้าหาญพอที่จะต่อสู้กับจักรวรรดิ์นิยมอังกฤษ และเป็นรากฐานสำคัญให้ชาวพม่ารวมตัวรวมใจกันเป็นชาตินิยม และเป็นการปูทางในการจัดตั้งกองทัพของตนเองเพื่อเตรียมกอบกู้เอกราช

ความเคลื่อนไหวของชาวพม่าในช่วงนี้เริ่มก่อตัวเป็นรูปธรรมมากขึ้น บรรดาแกนนำเคลื่อนไหวเป็นพวกนักศึกษา โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่เดิมคนพม่าให้เกียรติคนอังกฤษ (หรือชาวยุโรป) โดยเรียกว่า

"ตะขิ่น" แล้วตามด้วยชื่อคน หมายถึงเขาคนนั้นเป็น "เจ้านาย" แต่ต่อมาแกนนำนักศึกษาเหล่านี้รณรงค์ให้ใช้คำนำหน้า "ตะขิ่น" กับผู้นำพม่าเสียเอง เพื่อต้องการให้รู้ว่าอังกฤษจะไม่ใช่เจ้านายของพม่าอีกต่อไป "ตะขิ่น" ที่เป็นดาวรุ่งเตรียมการเรียกร้องเอกราชในขณะนั้นล้วนศึกษาในมหาวิทยาลัยในย่างกุ้ง มี 5 คน คือ ตะขิ่น นุ (ต่อมาเป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อ อู นุ) ตะขิ่น ออง ซาน (ต่อมาเป็นนายพล ออง ซาน บิดาแห่งทัดมาดอ : กองทัพพม่า) ตะขิ่น จ่อ เยน ตะขิ่น เต็ง เป และ ตะขิ่น รา ชิด (เป็นมุสลิม อินเดีย) หากท่านผู้อ่านที่เคยได้รับรู้เหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ในประเทศไทย ฉันใด เหตุการณ์ นักศึกษาพม่าผู้เรียกร้องเอกราชจากอังกฤษ ก็ฉันนั้น ตะขิ่น 5 คนนี้ จัดตั้ง Rangoon University Student's Union หรือ RUSU เป็นองค์กรขับเคลื่อน โดยมีตะขิ่น นุ เป็นประธาน

ในปี 1936 นักเรียน นักศึกษาในย่างกุ้ง และอีกหลายเมือง พร้อมใจก่อการสไตร์คขับไล่อังกฤษครั้งใหญ่ ผลปรากฎว่า ตะขิ่น นุ และ ตะขิ่น ออง ซาน ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย นักเรียน นักศึกษายิ่งก่อความรุนแรงหนักขึ้นอีก จนกระทั่งอังกฤษต้องยอมให้ทั้ง 2 คน กลับเข้ามามีสถานภาพเป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย อีกครั้ง ในขณะนั้นความรู้สึกต่อต้านอังกฤษได้แผ่ซ่านกระจายไปในทุกชุมชนของชาวพม่าแล้ว แม้กระทั่งสังคมชนบทก็ขานรับ เพราะความยากจนอันเป็นผลจากการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ ไฟแห่งการเรียกร้องเอกราชในพม่าได้ถูกจุดขึ้นแล้ว

(อ่านต่อฉบับหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น