09 กันยายน 2552

กำเนิด "ทัดมาดอ (กองทัพพม่า)" ตอนที่ 1

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า….
กองทัพพม่าในปัจจุบันนี้มาก่อมาตั้งในแผ่นดินไทยนี่เอง


แปลและเรียบเรียงโดย

พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก


..........อังกฤษเข้าปกครองพม่าอย่างเต็มรูปแบบในปี ค.ศ.1886 เจ้าอาณานิคมศึกษาหาข้อมูลมาเป็นอย่างดีว่า "ชาวพม่าแท้" กับบรรดา "ชนกลุ่มน้อย" ที่มีถิ่นพำนักอาศัยตามชายขอบประเทศนั้น มีความผูกพันธ์กันอย่างหลวม ๆ เป็นปรปักษ์ต่อกันเป็นครั้งคราว บรรดาชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ บางกลุ่มมีวัฒนธรรมเจริญทัดเทียมกับชาวพม่า เช่น พวกไทยใหญ่ในรัฐฉานมีระบบศักดินา มี "เจ้าฟ้า" ปกครองสืบทอดบัลลังค์ต่อกันมา เทียบเคียงได้กับระบบกษัตริย์ของพม่า

อังกฤษรู้เท่าทันเกมส์ในการชิงไหวชิงพริบของคนเหล่านี้ จึงใช้นโยบาย "แบ่งแยกแล้วปกครอง (Divide and Rule)" คือ แยกชาวพม่าแท้ (Proper Burma) ออกจากชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามแนวชายแดน (Frontier Areas)

สำหรับชาวพม่าแท้ (Proper Burma) นั้น อังกฤษได้วางรากฐานการปกครอง โดยส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษเข้ามาปกครอง จัดตั้งสภา วางรากฐานให้คนพม่าส่วนกลางเรียนรู้การปกครองตามแบบฉบับของอังกฤษ หากแต่บรรดาชนกลุ่มน้อยตามขอบชายแดนนั้น อังกฤษจะปล่อยให้ ปกครองตนเอง เคยทำอย่างไรก็ให้ทำอย่างนั้นต่อไป

ความแตกต่างในลักษณะทวิมาตรฐานนี้ อังกฤษก็ไม่ต้องเหนื่อยยากอะไร คน 2 กลุ่มในที่สุดจะระแวงกันเอง และประการสำคัญก็คือจะไม่มีวันที่จะมารวมตัวกัน แล้วกัดเจ้าอาณานิคมอังกฤษได้ ทุกวันนี้…

นี่ก็ปี ค.ศ.2001 แล้ว มรดกเลือดที่อังกฤษวางรากฐานไว้ บัดนี้ชาวพม่าแท้กับบรรดาชนกลุ่มน้อยก็ยังคงต้องรบกันต่อไป ผมขอแถมเป็นความรู้สักเล็กน้อยว่า การแบ่งเขตการปกครองของพม่านั้น แบ่งออกเป็น 7 รัฐ (State) และ 7 เขต (Division)

ด้วยความที่ประเทศพม่าไม่เป็นเนื้อเดียวกันนั้นจะสังเกตได้จาก พม่าใช้คำว่า "รัฐ" กับพื้นที่อาศัยของบรรดาชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ได้แก่ รัฐมอญ รัฐอะระกัน (ยะไข่) รัฐชิน รัฐคะฉิ่น รัฐฉาน รัฐคะยาห์ และ รัฐกะเหรี่ยง แต่พม่าใช้คำว่า "เขต" (Division) กับพื้นที่ที่มีชาวพม่าแท้อาศัยอยู่หนาแน่น เช่น เขต สะแกง เขตมะกวย เขตพะโค เขตมัณฑะเลย์ เขตอิระวดี เขตตะนาวศรี และ เขตย่างกุ้ง อังกฤษวางหมากไว้ 2 ชั้น ก่อนการจัดตั้งกองทัพพม่า เพื่อมิให้เป็นหอกข้างแคร่สำหรับอังกฤษเอง

กล่าวคือ อังกฤษสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยเข้ามาเป็นข้าราชการทหาร ตำรวจ มากกว่าชาวพม่าแท้ เพียงเท่านี้อังกฤษก็ปกครองได้ง่าย ใช้งานได้ทุกรูปแบบ และหมดห่วงเรื่องจะรวมตัวกันหันมาเเข็งข้อกับนายตัวเอง ทุกครั้งที่ชาวพม่าแท้รวมตัวกันต่อต้านขัดขืนคำสั่งของอังกฤษ ผู้ปกครองอังกฤษก็จะใช้ทหาร ตำรวจ ที่เป็นชนกลุ่มน้อยเข้าทำการปราบปราม โดยเฉพาะกะเหรี่ยงที่อังกฤษดูเหมือนจะเอาใจใส่เป็นพิเศษ จะได้รับมอบหมายให้เป็น "หัวหมู่ทะลวงฟัน" ปราบปรามชาวพม่าผู้แข็งข้ออยู่เสมอ ๆ

แล้วอย่างงี้พม่ากับกะเหรี่ยงจะรักกันได้อย่างไร ? ยิ่งนานวัน "ยาพิษเคลือบน้ำตาล" ที่ชาวอังกฤษมอบให้แก่ชาวพม่า และชนกลุ่มน้อยนั้นยิ่งได้ผล ชาวพม่าแท้นับวันจะจงเกลียดจงชังอังกฤษเข้ากระดูกดำ ในทางตรงข้ามกับบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายกลับได้รับการดูแล วางรากฐานชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีวันดีคืน มีการสอนภาษาอังกฤษ จัดตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ทั้งนี้รวมไปถึงการเผยแพร่ศาสนาเข้าไปอีกด้วย บทบาทในทางสังคมเหล่านี้ทหารอังกฤษเพียงแต่กำกับดูแลเท่านั้น

หมอสอนศาสนา บาทหลวง แม่ชีทั้งหลายเป็นผู้ดำเนินการครับ สถานการณ์เข้าขั้นที่เรียกว่าบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายยอมเป็นทาสรับใช้อังกฤษ เชื่อฟัง และยอมตายแทนอังกฤษก็ว่าได้ อังกฤษก็อยู่ในพม่าได้อย่างราชา ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในพม่าอีกหลายประการที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบได้แก่ สภาพภูมิประเทศของพม่า

ซึ่งถ้าเราจะจินตนาการว่าชายขอบประเทศนั้นล้อมรอบด้วยภูเขาสูงเหมือนเกือกม้าเป็นที่อยู่อาศัยของบรรดาชนกลุ่มน้อยนับร้อยเผ่าพันธุ์ แต่บริเวณที่ราบลุ่มกลางประเทศเป็นที่อยู่ของพวกพม่าแท้ ไม่ปะปนกัน ก็เท่ากับว่าภูมิประเทศที่เป็นเขาสูง ป่าทึบ ที่ราบลุ่ม เป็นปัจจัยแยกแยะคนพม่าออกจากชนกลุ่มน้อย การเดินทางไปมาหาสู่ในสมัยก่อนไม่เอื้ออำนวย ก็เลยต่างคนต่างอยู่

การเรียนรู้และการผสมผสานกัน รวมทั้งความรู้สึก "สำนึกร่วมในความเป็นชาติ" น่าจะเป็นสิ่งที่ห่างไกล และประการสำคัญ ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีผู้นำในลักษณะ "เจ้า" ปกครองอาณาเขตของตนเอง บ้างก็มี "กษัตริย์" ปกครอง ไฉนเลยจะยอมรวมกันได้ ? มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านจะยังไม่เห็นวี่แววกองทัพพม่าเลยใช่ไหมครับ เพราะอะไร ? ก็เพราะอังกฤษแยกสลายการรวมตัวทุกรูปแบบของคนพม่าเเท้โดยสิ้นเชิง

เรื่องราวในประวัติศาสตร์นี้ คงจะพอให้เราเห็นภาพบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้อ่านคงจะเคยเห็นว่าบรรดาผู้นำชนกลุ่มน้อยในพม่าสามารถให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว บางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ ใช้ชื่อเป็นฝรั่งมังค่า เช่น เจ้าฝาแฝด จอห์นนี่ เจ้า หนูน้อยลูเธอร์ (แฝดลิ้นดำสูบบุหรี่เหมือนโรงสี) ตั้งชื่อกลุ่มเป็นภาษาอังกฤษ เช่น God's Army และทุกกลุ่มตั้งชื่อเป็นภาษาอังกฤษเพื่อการต่อสู้กับรัฐบาลพม่า ขอยกตัวอย่างชื่อกองกำลังของชนกลุ่มน้อยที่ลงนาม “หยุด”ยิงกับรัฐบาลนับตั้งแต่ปีค.ศ.1989 จนถึงปีค.ศ.1996 มีดังนี้

1. Myanmar National Democratic Alliance (MNDA)
2. Myanmar National Solidarity Party (MNSP)
3. National Democratic Alliance Army Military and Local Administration Committee
4. Shan State Army (SSA)
5. New Democratic Army (NDA)
6. Kachin Democratic Army (KDA)
7. Pa-O National Organization (PNO)
8. Paluang State Liberation Party (PSLP)
9. Kayan National Guards (KNG)
10. Kachin Independence Organization (KIO)
11. Kayinni National Liberation Front (KNLF)
12. Kayan Pyithit Party (KPP)
13. Shan State Nationalities Peoples Liberation Organization
14. Karenni National Progressive Party (KNPP)
15. New Mon State Party (NMSP)

ในปัจจุบันบางกลุ่มก็เปลี่ยนใจไปรวมตัวจับขั้วกันใหม่หันมาจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่าอีกก็มี ในการต่อสู้และเปิดเผยข้อมูลของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ต่อสังคมโลก เขาใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ผมเคยอ่านข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ทางอินเตอร์เนท และเชื่อว่าสังคมโลกเข้าใจ เห็นใจชนกลุ่มน้อย จึงและกดดันรัฐบาลพม่าทุกรูปแบบ ขมิ้นกับปูน - พม่ากับชนกลุ่มน้อย ฉันใดก็ฉันนั้น



(อ่านต่อฉบับหน้า)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น