18 กันยายน 2552

ศรีลังกา(นอกตำรา)ปราบกบฏอีแลม ตอนที่ ๗

(เรา) เรียนรู้อะไรจากการพิชิตศึกพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

แปลและเรียบเรียงโดย
พลโท นิพัทธ์ ทองเล็ก
nthonglek@hotmail.com


สังคมโลกต่างหันมามองชัยชนะของรัฐบาลศรีลังกา ที่ประกาศความสำเร็จในการปราบปรามโดยเด็ดขาดต่อกองกำลังลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ว่ามียุทธศาสตร์ ยุทธการ ยุทธวิธีอย่างไร

ในบทวิเคราะห์ของนาย Paul Reynolds ผู้สื่อข่าว BBC ตั้งข้อสังเกตว่า

ชัยชนะของกองทัพศรีลังกาในครั้งนี้นับว่าเป็นการสวนทางกับทฤษฎีว่าด้วยการปราบปรามการก่อความไม่สงบอย่างสิ้นเชิง เพราะตัวบททฤษฎีกำหนดว่า กองทัพจะต้องเอาชนะจิตใจของประชาชนให้ได้ก่อน เพื่อให้ได้สันติภาพอย่างยั่งยืน

ทฤษฎีดังกล่าวระบุไว้ในคู่มือ “การต่อต้านก่อความไม่สงบ” ของกองทัพสหรัฐฯ ที่ได้รับการสนับสนุนโดย พลเอกเดวิด เพทราอุส (Gen David Petraus) ที่ได้เป็นผู้นำหลักการดังกล่าวมาใช้และสามารถสร้างเสถียรภาพได้จนเป็นที่น่าพอใจ ในอัฟกานิสถาน

ในข้อเขียนของนายพลผู้นี้ยังกล่าวว่า “หลักการของการปราบปรามการก่อความความไม่สงบ ( Counter Insurgency )นั้น จะต้องเป็นการปฏิบัติเพื่อหวังผลระยะยาว การใช้การปฏิบัติการทางทหาร ในลักษณะเข้าปราบปราม นั้น เป็นได้เพียงการเริ่มต้นทำงาน”

แต่นาย Paul Reynolds กลับเห็นว่าการปราบปรามการก่อความไม่สงบในศรีลังกากว่า ๓๐ ปี เป็นการทำงานหวังผลในระยะยาว แต่การปฏิบัติการเชิงรุก ( การปราบปราม ) ของกองทัพต่างหากเป็นจุดสุดท้ายของการเริ่มต้น

ในส่วนของกองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมที่ถูกจัดตั้งมาแบบกองทัพประจำการมีสมาชิกประมาณ ๘,๐๐๐ – ๑๐,๐๐๐ คน เป็นนักรบประมาณ ๓,๐๐๐ – ๖,๐๐๐ คน ใช้การสู้รบแบบกองโจรมุ่งทำลายเป็นเป้าหมายสำคัญ บุคคลสำคัญของประเทศศรีลังกา กลยุทธ์หลักคือการใช้ระเบิดพลีชีพ การลอบสังหาร การวางระเบิด การก่อวินาศกรรม ถึงแม้จะต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด ก็ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า เป็นต้นฉบับดั้งเดิม-ของแท้ การก่อการร้ายโดยเฉพาะระเบิดพลีชีพ ที่ถูกนำไปใช้ในการทำสงครามจิฮัดในตะวันออกกลางและอีกหลาย ๆ แห่งในโลก

เกือบ ๓๐ ปี ของการสู้รบ กองทัพศรีลังกาคิดค้น ปรับ พัฒนา แสวงหากลยุทธ์ที่เหมาะสมมาตลอด ในเมื่อพบว่า ยังไม่เคยใช้ “ ยาแรง” โดยเฉพาะการปิดล้อมและการเข้าตี การโดดเดี่ยวกองกำลัง LTTE ย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ต้องสงสัยโดยไม่ต้องการการสนับสนุนจากประชาชนอีกต่อไป บีบบังคับให้มีพื้นที่ทำงานที่แคบลงเรื่อยๆ แล้วให้กำลังทหารเข้าบดขยี้ กองทัพศรีลังกาเข้าควบคุมพื้นที่ได้จริง การปราบกบฏในศรีลังกา มีการใช้ปืนใหญ่ยิงสนับสนุนด้วยในบางโอกาส

มีบทเรียนจากการรบในเรื่องการใช้อาวุธหนักแตกต่างกันออกไปหลากหลาย เช่น กองทัพรัสเซียปราบกบฏเชเชนในปี ๒๕๔๐ – ๒๕๔๓ นั้นมีการใช้อาวุธหนักเพื่อเน้นอำนาจกำลังยิง

ส่วนการปราบกองโจรใน อัฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่มีการใช้อาวุธหนักแต่อย่างใด

ในกรณีของกองทัพตุรกีสู้รบกับกองกำลัง PKK บนเทือกเขาทางตะวันออกเฉียงใต้และตอนบนของประเทศ รวมทั้งกองทัพโคลัมเบีย ในการปราบปรามการก่อความไม่สงบก็มุ่งเน้น ให้กำลังทหารเข้าทำการรบแบบประชิดตัวมากกว่าการใช้อาวุธหนัก

นักวิเคราะห์ทางทหารหลายสำนัก นำเสนอให้คิดว่า รูปแบบการปราบปรามการก่อความไม่สงบในหลายพื้นที่ในโลกนี้ อาจมีความแตกแตกต่างและอ่อนตัวไม่เท่ากัน แต่ต้องยอมรับแนวคิดของกองทัพศรีลังกาที่ใช้กำลังทหารปราบปรามอย่างเด็ดขาด โดยยอมรับผลกระทบต่อการสูญเสียผู้บริสุทธิ์ควบคู่กันไปนั้น และในที่สุดก็สามารถ “เอาชนะ” สงครามที่ยืดเยื้อยาวนานได้

การแทรกแซงจากประชาคมโลกเป็นความอึดอัดที่รัฐบาลศรีลังกาตัดใจไม่รู้ไม่เห็นในช่วงการรบอย่างดุเดือดประมาณเดือนมีนาคม ๒๕๕๒ ศรีลังกาถูกสำนักงานข้าหลวงใหม่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ( UNHCR) กล่าวหาว่าเป็นการกระทำของอาชญากรสงคราม หรือแม้แต่องค์กรกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เสนอเงินกองทุนฉุกเฉินให้รัฐบาลศรีลังกาเป็นมูลค่าถึง ๑.๙ พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้นำเงินมาพัฒนาประเทศและชะลอการใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม

ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้รัฐบาลศรีลังกาปฏิเสธโดยสิ้นเชิง เพราะรู้ดีว่าถ้าไม่หนักแน่น ไม่เด็ดขาด และรับความช่วยเหลือ ( ที่แฝงด้วยเงื่อนไข ) ก็ไม่มีวันจะพบกับความสงบสุขได้

ความร่วมมือ ความเข้าใจ ความจริงใจ ของอินเดียโดยการลาดตระเวนร่วมทางทะเลกับกองทัพเรือศรีลังกาเพื่อสกัดกั้น มุ่งมั่นตัดท่อน้ำเลี้ยงของกลุ่มกองโจร LTTE เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ เช่นกัน

เป็นที่น่าชื่นชมยินดี สำหรับรัฐบาลศรีลังกาที่ “ตัดสินใจเด็ดขาด” นำความสันติสุข ความสงบมามอบให้มาตุภูมิอย่างไม่ต้องสงสัย

นักสังเกตการณ์ทางความมั่นคง เฉลยให้ชาวโลกฟังอย่างน่าสนใจในปัจจัยแห่งความสำเร็จของการปราบกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในครั้งนี้

๑. รัฐบาลและกองทัพ ไม่ลังเล ใช้ความหนักแน่น มุ่งมั่น และเห็นตรงกันว่า ใช้วิธีการอะไรก็ได้ที่จะชนะ โดยเฉพาะตัวประธานาธิบดีได้ให้ความเห็นว่า การเจรจาต่อรองที่ผ่านมาไม่ได้ผล จะไม่มีการเจรจาอีกต่อไป
๒. การทุ่มเทกำลังพลโดยเกณฑ์ทหารเพิ่มจาก ๘๐,๐๐๐ คน เป็น ๑๖๐,๐๐๐ คนเน้นการใช้อาวุธที่ไม่ต้องมีเทคโนโลยีสูงนัก
๓. กองทัพศรีลังกา สามารถตัดการสนับสนุนจากภายนอกได้ โดยเฉพาะจากอินเดีย โดยใช้มาตรการทางการทูตและอินเดียให้ความร่วมมือ
๔. รัฐบาลศรีลังกา ไม่ยอมให้มีการแทรกแซงจากนานาชาติ โดยเฉพาะเมื่อมีการใช้กำลังทหารเข้าโจมตีที่มั่นฝ่ายกบฏ ซึ่งพลเรือนผู้บริสุทธ์จะต้องได้รับผลกระทบ บาดเจ็บล้มตายส่วนหนึ่ง
เคยมีปราชญ์กล่าวว่า “ในโลกนี้เราไม่สามารถยุติการต่อสู้ของมนุษย์ชาติได้ แต่ เราอาจทำได้เพียง เปลี่ยนรูปแบบการต่อสู้ เท่านั้น”

ขอแสดงความยินดีที่ ศรีลังกาพบกับสันติภาพ ความสงบสุขเสียที หลังจากทนทุกข์มานานเกือบ ๓๐ ปี และศรีลังกาคงจะต้องหาทางรักษาความสงบสุขให้มั่นคง ยั่งยืน ตราบนานเท่านานครับ

-----------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น