02 พฤศจิกายน 2552

ชนกลุ่มน้อย….ไม่น้อย ในพม่า (1)


ชนกลุ่มน้อย….ไม่น้อย ในพม่า (1)
พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
E-mail: nthonglek@hotmail.com

..........พม่า…ประเทศที่มีพรมแดนเหยียดยาวติดกับประเทศไทยของเรา เป็นระยะทางถึง ๒,๔๐๑ กม. มากกว่าเพื่อนบ้านลาว เขมร และมาเลเซีย มีประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าเคยทำสงครามโรมรันพันตูกับไทย ทั้งสงครามเล็ก..ใหญ่ รวมแล้วถึง ๔๔ ครั้ง ในพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไทยทำสงครามกับพม่า รวม ๒๔ ครั้ง ต่อมาเมื่อถึงสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ไทยได้ทำสงครามกับพม่า อีก ๒๐ ครั้ง รวมทั้งสิ้น ๔๔ ครั้ง
..........เรื่องราวต่าง ๆ ในการทำสงคราม เราได้เรียนท่องกันมาในวิชาประวัติศาสตร์สมัยชั้นประถม มัธยม จนโชกชุ่ม ละเม็งละคร ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับสงครามไทย-พม่านั้น ถูกหยิบยกมาสร้างให้หวนระลึกถึงความยากแค้นลำเค็ญ ความพินาศ สูญเสีย และความเจ็บปวดของชาวไทยในอดีต คนไทยมีภาพลักษณ์ของพม่าเป็นคู่อาฆาตผู้เหี้ยมโหด หลับตาลืมตาเมื่อใดก็เห็นภาพบรรพบุรุษไทยผู้กล้าหาญพร้อมดาบ ๒ มือ โชกชุ่มด้วยโลหิตทั่วร่าง กำลังเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ร่ายเพลงดาบกับพม่าข้าศึก
..........เรื่องราวของประเทศพม่าที่เป็นปรปักษ์อยู่ในความสำนึกของคนไทยทั้งปวงเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรนำมาศึกษา เตือนสติ อนุชนรุ่นหลังให้เกิด "ความหวงแหนแผ่นดินเกิด รัก บูชาบรรพบุรุษผู้กล้าหาญ" ในเวลาเดียวกันคนไทยก็ควรเรียน "รู้เขา" ให้เห็นไส้เห็นพุงประเทศเพื่อนบ้านใกล้ตัวว่า ประเทศเพื่อนบ้านของเราทั้ง ๔ ประเทศนี้ มีสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ลักษณะสังคม ประชากร ฯลฯ เพื่อจะได้เข้าใจว่า เขากำลังทำอะไร ? ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ?
..........บทความนี้ผมตั้งใจจะกล่าวถึง "ลักษณะสังคมประชากรของพม่า" โดยมุ่งแยกแยะให้เห็นภูมิหลังที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "ชนกลุ่มน้อย" ในพม่า ซึ่งมีมากมายหลายหลากในแง่มุ่มซึ่งเราคงจะไม่ค่อยได้ทราบมาก่อนว่าแท้ที่จริงแล้ว ในความเป็นประเทศพม่านั้นโดยองค์รวมแล้วประกอบด้วย ผู้คนหลายเผ่าพันธุ์ หลายภาษา แต่ละเผ่าพันธุ์มีฤทธิ์มีเดช มีกองกำลังติดอาวุธ กระจายปนเปกันอยู่ในดินแดนพม่า ลักษณะทางสังคมของพม่ามีความซับซ้อนยุ่งเหยิง มีกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า ๖๗ เชื้อชาติ โดยยังไม่รวมถึงชาวอินเดีย จีน และ ยุโรป
.......... การสำรวจซึ่งทำในปลายสมัยล่าอาณานิคมของอังกฤษทำให้ทราบว่า มีภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกันอยู่ถึง ๒๔๒ ภาษา คิดแล้วผมว่าประเทศไทยของเราโชคดี ไทยเราก็มีหลายเชื้อชาติหลายเผ่าพันธุ์ ทางภาคเหนือมีชาวเขา เช่น ชาวเขาเผ่าลีซอ มูเซอร์ กะเหรี่ยง เย้า ฯลฯ เช่นเดียวกับพม่า เราเคยห่วงใยกันว่า " ชาวเขา " เหล่านี้จะไม่ยอมเป็น "ชาวเรา" หากแต่โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
..........โครงการมูลนิธิศิลปาชีพพิเศษ ของสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ล้นเกล้า ๒ พระองค์ ทรงมีสายพระเนตรยาวไกลแผ่พระบารมีเข้าไปสร้างความร่มเย็นเป็นสุข ทรงพระเมตตาสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับชนกลุ่มน้อย (ชาวเขา) เหล่านี้ให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการปลูกฝิ่น พืชเสพติดทั้งปวงให้หันมา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำงานฝีมือ จนพวกคนเหล่านั้นมีความรู้สึกว่าเขาเป็นคนไทยได้รับการดูแลไม่แตกต่างจากคนไทยในพื้นราบและที่สำคัญคนไทยเหล่านั้นรักและหวงแหนแผ่นดินไทย ยึดมั่นในชาติ ศาสน์กษัตริย์ เราจึงไม่ต้องมารบราฆ่าฟันกันเองเหมือนอีกหลาย ๆ ประเทศ
..........ข้อมูลส่วนใหญ่ของผมเรียบเรียงมาจากหนังสือ Ethnic Groups in Burma ของ Martin Smith ซึ่งผมได้รับเป็นของขวัญมาจาก ร.ศ. ดร. สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กัลยาณมิตรของผมที่มักจะป้อนข้อมูลเกี่ยวกับพม่ามาให้ผมจนแทบจะสำลักข้อมูลอยู่บ่อย ๆ ผมเลยขอนำข้อมูลนี้มาคุยกันให้ทราบว่า "ชนกลุ่มน้อย" ในประเทศพม่านั้น มัน "ไม่น้อย"
..........เราลองมารู้จัก “ชนกลุ่มน้อย” ในแต่ละชนเผ่า
..........๑. ชนเผ่าชิน (CHIN) หรือ ZOMI
..........ชนเผ่านี้นี้เป็นลูกผสมระหว่างเชื้อสายพม่ากับเชื้อสายธิเบต มีความเป็นอยู่แบบชาวเขา ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณที่ราบสูง ทางตะวันตกของประเทศพม่าติดพรมแดนอินเดีย-พม่า ซึ่งดินแดนบริเวณนี้อาจกล่าวได้ว่าทุรกันดารที่สุด มีประชากรประมาณ ๗๕๐,๐๐๐ - ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน นับถือศาสนาคริสต์และส่วนหนึ่งเป็นพวกนับถือภูตผีวิญญาณ มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด อาศัยการแลกเปลี่ยนอาหารกับชนเผ่าอื่นที่อยู่บนพื้นราบ ด้วยสภาพที่ทุรกันดารเช่นนี้ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อรัฐบาลพม่าในความพยายามที่จะรวมชาติ ชนกลุ่มนี้มีความรู้สึกว่าเขาเองค่อนข้างจะเป็นญาติกับชาวอินเดีย (ซึ่งอยู่ติดกัน) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในขณะอังกฤษเข้ายึดครองพม่านั้น อังกฤษได้เกณฑ์เอาชาวเผ่าชินจำนวนมากไปเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ ซึ่งก็ได้สร้างเกียรติประวัติการรบให้กับกองทัพอังกฤษ และคนกลุ่มนี้เองที่อยู่ในความดูแลของอังกฤษได้หันมานับถือศาสนาคริสต์
..........ในระหว่างที่อังกฤษได้ยึดครองพม่านั้น อังกฤษได้แบ่งพื้นที่อาศัยของชาวเผ่าชินออกเป็น ๒ ส่วน เมื่อพม่าได้เป็นเอกราชแล้วอาณาเขตที่ถูกแบ่งนี้ก็ยังมีผลบังคับใช้ ทางการพม่าไม่ยอมให้ชินเป็นรัฐอิสระ แต่กลับแบ่งพื้นที่ที่เป็นภูเขาล้วน ๆ ให้ชาวชินอาศัยแล้วตัดแบ่งพื้นที่ราบ ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญออกมา
..........ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ.๑๙๗๔ ได้ยกฐานะชินขึ้นเป็นรัฐ (State) มีเนื้อที่ประมาณ ๓๖,๐๑๗ ตร.กม. ทางการพม่าโดย SPDC (เดิมเป็น SLORC) พยายามจะเข้าไปพัฒนาภายใต้โครงการ Border Area Development Program (BADP) โดยมีการย้ายผู้คนมาจัดระเบียบใหม่ ผู้นำชาวชิน เองก็หวาดระแวงว่าทางการพม่าซ่อนเจตนาอะไรไว้หรือไม่ในระหว่างการจัดระเบียบใหม่ จึงทำให้ชาวเผ่าชินบางส่วนอพยพเข้าไปในอินเดียบางส่วนก็หนีความยากจนโดยสมัครเข้าไปเป็นทหารในกองทัพพม่า
..........ทางการพม่ามักจะหยิบยกกรณีการพัฒนาในพื้นที่ของชาวเผ่าชินมาเป็นตัวอย่างต้นแบบ ของการพัฒนาที่แสดงให้เห็นถึงความปรองดองเป็นพี่เป็นน้องกันได้ระหว่างชาวเผ่าชินกับชาวพม่าแท้ ในช่วงปี ค.ศ.๑๙๕๐ - ๑๙๖๐ มีชาวเผ่าชินกลุ่มหนึ่งไปเป็นแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า (CPB)
..........ในปี ค.ศ.๑๙๘๘ พม่ามีการเลือกตั้งและมีผู้แทนของรัฐชิน ได้เข้าไปนั่งในสภา ต่อมาเมื่อทางฝ่ายทหารพม่าประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และมีการกระด้างกระเดื่องจากผู้แทนรัฐชิน SLORC จึงได้สั่งจับผู้แทนของรัฐชินจนทำให้ผู้แทนของรัฐนี้ต้องขอลี้ภัยเข้าไปอยู่ในอินเดีย ต่อมา SLORC ได้ประกาศยกเลิกพรรคการเมืองของรัฐชินทั้งหมด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักศึกษาจำนวนหนึ่งได้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในอินเดีย มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธชื่อ CHIN NATIONAL FRONT ทำงานร่วมกับ ZO NATIONALIST GROUP (ซึ่งทำการสู้รบกับรัฐบาลอินเดีย) มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่ากองกำลัง CNF นี้ ได้รับการฝึกอาวุธจาก KACHIN INDEPENDENCE ARMY (KIA) หรือกองทัพกู้ชาติคะฉิ่น
..........๒. ชนเผ่าคะฉิ่น (KACHIN)
...............ชื่อชนเผ่าคะฉิ่นนี้ เราคงจะพอคุ้นหูกันบ้าง ชนเผ่าคะฉิ่นป็นกลุ่มชาวเขาที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่า (ดูแผนที่) ชาวคะฉิ่นนี้ก็เป็นชนเผ่าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความฝันว่าต้องการจะเป็นรัฐอิสระเช่นกัน ชาวคะฉิ่นผู้รักแผ่นดินเกิดจำนวนหนึ่งได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธของตนเองขึ้นมา เพื่อหวังจะปลดปล่อยตนเองให้เป็นรัฐอิสระ คะฉิ่นมีประชากรประมาณ ๑,๕๐๐,๐๐๐ คน สำหรับพวกผู้หญิงเผ่าคะฉิ่นมีชื่อเสียงในเรื่องความงาม เนื่องจากพื้นที่รัฐคะฉิ่นมีอากาศดี จึงทำให้สาว ๆ เผ่านี้มีผิวงามประกอบกับอัธยาศัยดี ส่วนหนึ่งของชาวคะฉิ่นนับถือศาสนาคริสต์ ส่วนบางพวกนับถือภูตผีวิญญาณ เช่นเดียวกับบรรดาชาวเขาทั่ว ๆ ไป ชนเผ่าคะฉิ่นอยู่กระจัดกระจายมีบางส่วนอาศัยอยู่ในเขตประเทศจีน หรือแม้กระทั่งในอินเดีย
...............ในตอนแรก กองกำลังติดอาวุธคะฉิ่นรวมตัวกันเพื่อต่อสู้จักรวรรดินิยมอังกฤษ แต่ต่อมาด้วยอิทธิพลทางศาสนาคริสต์ที่แพร่กระจายเข้าไปในชนเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าชิน (โดยคนเหล่านี้เข้าไปเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ) บวกกับความพยายามอย่างหนักของพวกมิชชันนารีที่เข้ามาช่วยจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือและช่วยรักษาพยาบาล จึงทำให้กองกำลังติดอาวุธและประชาชนเผ่าคะฉิ่นหันกลับมาเป็นผู้สนับสนุนกองทัพอังกฤษต่อสู้กับญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒
...............ความพยายามทุ่มเทในการทำสงครามให้กับฝ่ายอังกฤษนั้นเป็นแรงผลักดันให้กลุ่มคะฉิ่นเกิดความคิดรักถิ่นฐาน รักเผ่าพันธุ์ แต่ปัญหาของชนเผ่าคะฉิ่นเองก็คือสภาพทางภูมิศาสตร์ แต่ละกลุ่มย่อยอยู่กันกระจัดกระจาย ปะปนกับชนเผ่าอื่นและชนเผ่าพม่าแท้ ซึ่งคนเหล่านี้จะคอยขัดขวางชนเผ่าคะฉิ่นไม่ให้แยกตัวเป็นรัฐอิสระได้ หากแต่รัฐบาลพม่าได้ใช้การเจรจาผ่อนสั้นผ่อนยาวยอมให้คะฉิ่นขึ้นเป็นรัฐ ชื่อรัฐคะฉิ่นแล้ว ยกเมืองหลัก ๒ เมือง คือ เมือง MYITKYINA และ BHAMO ให้ผนวกเข้าไปในรัฐคะฉิ่นด้วย จึงทำให้รัฐคะฉิ่นมีเนื้อที่ประมาณ ๙๘,๐๔๒ ตร.กม. มีพลเมืองประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ - ๑๕๐,๐๐๐ คน
..........เช่นเดียวกับรัฐชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ รัฐคะฉิ่นก็มีกองกำลังติดอาวุธเป็นของตนเองเช่นกัน คือ
..........๑. PAWNGYAWAG NATIONAL DEFENCE FORCE (PNDF) ตั้งขึ้นเมื่อ ๑๕ พ.ย. ๑๙๔๙ มุ่งหมายจะแยกชนเผ่าคะฉิ่นออกมาเป็นรัฐอิสระมีกำลังติดอาวุธประมาณ ๓๐๐ คน ข้ามพรมแดนไปมาระหว่างจีน - พม่า ต่อมาในเดือน ม.ค.๑๙๖๘ กองกำลังนี้บางส่วนได้กลับเข้ามาปฏิบัติการในพม่าในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ (CPB) ปัจจุบันนี้กองกำลังดังกล่าวบางส่วนสลายตัวไป บางส่วนไปรวมตัวกับกลุ่มว้า
..........๒. KACHIN INDEPENDENCE ORGANISATION / ARMY (KIO / KIA) กองกำลังติดอาวุธนี้ก่อตั้งโดยนักศึกษาชาวคะฉิ่น จากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งรวมตัวกัน เมื่อ ๕ ก.พ.๑๙๖๑ มีกำลังประมาณ ๖,๐๐๐-๗,๐๐๐ คน ต่อมากำลังของกองพลน้อยที่ ๔ ของ KIA ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉานได้แยกตัวไปลงนามหยุดยิงกับรัฐบาลย่างกุ้งเมื่อ ๑๑ ม.ค.๑๙๙๑ กองกำลังอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ยอมลงนามหยุดยิงได้แปรสภาพไปเป็นกลุ่ม KACHIN DEMOCRATIC ARMY (KDA)
...............ในที่สุดความพยายามอย่างหนักของ SLORC ก็สามารถเกลี้ยกล่อมให้กองกำลังติดอาวุธของคะฉิ่นหยุดยิงกับ SLORC เป็นผลสำเร็จ เมื่อ ๘ เม.ย.๑๙๙๓ อย่างไม่เป็นทางการ
...............การลงนามในสัญญาหยุดยิงที่สมบูรณ์อย่างเป็นทางการระหว่างกองกำลังติดอาวุธของคะฉิ่นทั้ง ก๊กเล็ก ก๊กกลาง ก๊กใหญ่ ได้กระทำขึ้นที่เมือง MYITYINA เมื่อ ๒๔ ก.พ.๑๙๙๔ โดยมี พลตรี ซอ ไม ผบ.กองกำลังติดอาวุธชนเผ่าคะฉิ่น และ พล.ท.ขิ่น ยุ้นต์ เป็นผู้แทนฝ่ายพม่าร่วมลงนาม
...............บทความของผมตอนนี้ขอกล่าวถึงชนกลุ่มน้อยในพม่าเพียงแค่ ๒ กลุ่มก่อนนะครับ แล้วผมจะเขียนถึงชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ที่ยังเหลืออีกหลายกลุ่มมาลงในหนังสือนี้ต่อเนื่องกันไป
...............ท่านคงพอจะเห็นภาพความหลากหลายเผ่าพันธุ์และภูมิหลังของ"ชนกลุ่มน้อย”ในพม่าบ้างแล้วว่ามีหลายกลุ่ม-หลายก๊ก แต่ละกลุ่มมีประชากรเป็นเรือนแสน บางกลุ่มมีประชากรเป็นเรือนล้าน แต่ละก๊กแต่ละกลุ่มมีกองกำลังติดอาวุธเพื่อที่จะต่อสู้กับรัฐบาลกลางย่างกุ้ง แล้วยามว่างก็ยังรบกันเองแก้เหงาอีกต่างหาก ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะมีถิ่นอาศัยอยู่ตามชายขอบประเทศพม่า นำกำลังติดอาวุธข้ามไปข้ามมากับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นที่ซุกหัวเมื่อถูกไล่ล่าและจะกลับเข้าไปในประเทศพม่า เมื่อปลอดภัย โดยไม่คำนึงถึงเส้นเขตแดนใด ๆ ทั้งสิ้น จึงทำให้บางครั้งก็มาโผล่ในประเทศไทยของเรา รวมทั้งประเทศอื่น ๆ ที่มีชายแดนติดกับพม่า เป็นอย่างนี้มาประมาณ ๕๐ ปีแล้ว ท่านคงทราบดี บ้านไหนเมืองไหนเป็นแบบนี้ก็ลองนึกภาพดูเองก็แล้วกันว่าจะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ? ใช้เวลานานขนาดไหน ?
...............แต่เบื้องหลังความยุ่งยากสับสนแตกเป็นกลุ่มเป็นก๊กนี้ มีไอ้โม่งจากแดนไกลได้วางแผนวางยาเอาไว้อย่างแยบยล ท่านก็คงจะพอเดาออกว่า “ ไอ้โม่ง”เป็นใคร ?
อ่านต่อฉบับหน้า
--------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น