02 พฤศจิกายน 2552

ชนกลุ่มน้อย…(ไม่น้อย)...ในพม่า (2)

ชนกลุ่มน้อย…(ไม่น้อย)...ในพม่า (2)


แปลและเรียบเรียงโดย พลตรี นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
E-mail: nthonglek@hotmail.com

..........บทความตอนที่แล้ว ผมได้บรรยายถึงชนกลุ่มน้อยในพม่า 2 กลุ่ม คือ ชนเผ่าชิน (Chin) หนังสือบางเล่มออกเสียงว่า “ชนเผ่าฉิ่น” ชาวเขาที่มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน อยู่ชายขอบทางภาคตะวันตกของพม่า ติดกับพรมแดนอินเดีย และชนเผ่าคะฉิ่น (Kachin) ชาวเขาที่มีประชากรประมาณ 1 – 5 ล้านคน อยู่ชายขอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของพม่าติดกับพรมแดนจีน
..........เรื่องตัวเลขประชากรอาจจะดูหยาบไปหน่อย เพราะผมก็ค้นหามาจากหลายแหล่งข้อมูลซึ่งก็ไม่ค่อยตรงกัน ข้อมูลจากซีกโลกตะวันตกก็จะแสดงตัวเลขของชนกลุ่มน้อยเป็นตัวเลขจำนวนมาก โดยกล่าวหาว่าตัวเลขของทางการพม่าบิดเบือน อย่าไปซีเรียส เอาเป็นว่า…ตัวเลขของประชากรชนกลุ่มน้อยเป็นตัวเลขโดยประมาณก็แล้วกัน
..........บรรดา “ชนกลุ่มน้อย” ที่มีความเข้มแข็ง และเป็น “แกนนำ” ให้กับ
“ชนกลุ่มน้อย” กลุ่มอื่น ๆต่อสู้กับกองทัพพม่า คือ “ชนเผ่ากะเหรี่ยง” ในสงครามโลกครั้งที่ 2 คนกะเหรี่ยงพวกนี้รบกับทหารญี่ปุ่น ตายแทนทหารอังกฤษ โดยคาดหวังว่าเมื่ออังกฤษชนะสงคราม อังกฤษก็คงจะช่วยปลดปล่อยรัฐของชนกะเหรี่ยงกลุ่มน้อยเหล่านี้ให้เป็นอิสระจากพม่า อังกฤษจะทำให้ประชาคมระหว่างประเทศรับรองรัฐอิสระของพวกชนกะเหรี่ยงกลุ่มน้อย ….. แต่รัฐบาลทหารพม่ายอมไม่ได้ ตราบจนวันนี้ “ชนเผ่ากะเหรี่ยง” ก็ยังคงจับอาวุธสู้รบกับกองทัพพม่า

ชนเผ่ากะเหรี่ยง
..........กะเหรี่ยงเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 รองจากชนเผ่าบะม่าร์ (พม่า) กะเหรี่ยงและภาษาที่ใช้ในชนเผ่ากะเหรี่ยงยังแยกย่อยออกไปอีกมาก นักมานุษย์วิทยาประมาณการว่าจำนวนประชากรกะเหรี่ยงน่าจะอยู่ราว ๆ 4 ล้านคน (และอยู่ในประเทศไทยราว 200,000 คน) แต่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union) แจ้งว่าชนเผ่ากะเหรี่ยงมียอดราว 7 ล้านคน ในขณะที่ SLORC ประกาศว่าประชากรกะเหรี่ยงมียอดรวมแค่ 2.5 ล้านคน 1
..........เรื่องตัวเลขประชากรนี้แต่ละฝ่ายสามารถนำมาเกทับบลั๊ฟแหลก เพื่อให้เป็นประโยชน์ของแต่ละฝ่ายได้
..........ชนเผ่ากะเหรี่ยงเชื่อกันว่าตนเองนั้นสืบเชื้อสายมาจากเผ่ามองโกล อพยพมาจากบริเวณริมฝั่งแม่น้ำแยงซีเกียง เคลื่อนย้ายลงมาทางใต้ มาตั้งถิ่นฐานในบริเวณทิศตะวันออกของประเทศพม่าจนถึงทุกวันนี้ กระจายกันอยู่ทั้งบนเขาและอยู่ในพื้นราบ หากดูตามแผนที่แล้วจะพบว่ากะเหรี่ยงส่วนใหญ่จะเกาะกลุ่มหนาแน่นติดกับชายแดนไทย – พม่า แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งตั้งรกรากอยู่บริเวณปากแม่น้ำอิระวดี
..........ชนเผ่ากะเหรี่ยงยังแบ่งย่อยลงไปอีกประมาณ 20 กลุ่ม เช่น กะเหรี่ยงพื้นราบเผ่าโปว์ (Pwo) ซึ่งทำนาข้าวในเขตตะนาวศรี เผ่าสะกอ (Sgaw) เผ่าบะเว (Bwe) ทั้ง 3 เผ่านี้ไปทำนาข้าวพื้นราบบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอะระวดี บริเวณลุ่มแม่น้ำสะโตง และสาละวิน ส่วนที่เราค่อนข้างจะคุ้นสักหน่อยก็คือ “กะเหรี่ยงคอยาว” ที่เอาวงแหวนทองเหลืองมาล้อมคอนั่นแหละ ก็เป็นอีกเผ่าหนึ่งที่อยู่ในรัฐฉาน มีลักษณะชีวิตทำไร่เลื่อนลอย (Slash and Burn) คนพวกนี้ส่วนใหญ่เป็นคาธอลิค
..........เรื่องราวของชนเผ่ากะเหรี่ยงเริ่มปรากฏต่อสังคมโลก เมื่ออังกฤษเข้ามาล่าอาณานิคม อังกฤษจะเอาใจใส่ดูแลชนเผ่ากะเหรี่ยงเป็นพิเศษ เพราะรู้ว่ากะเหรี่ยงเป็นปรปักษ์กับพม่าอยู่ก่อนแล้ว
..........ตามประวัติศาสตร์ชนเผ่ากะเหรี่ยงถูกปกครองโดยพม่า อังกฤษรู้ภูมิหลังเรื่องนี้ดีจึงได้คัดเลือกเอากะเหรี่ยงมาเป็นทหารในกองทัพอังกฤษ อบรมบ่มเพาะให้เป็นคาธอลิค กะเหรี่ยงมีความสามารถพิเศษสำหรับการรบในป่าเขา พื้นที่ทุรกันดาร อังกฤษจึงเอากะเหรี่ยงมารบกับญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กะเหรี่ยงก็เห็นว่าอังกฤษนี่แหละจะช่วย “ปลดปล่อย” พวกเขาให้หลุดพ้นจาก “พม่า” เพื่อจัดตั้งรัฐอิสระได้
..........อังกฤษส่งเสริมกะเหรี่ยงออกหน้าออกตา โดยให้หมอสอนศาสนา ซึ่งเริ่มตั้งแต่การวางรากฐานจัดระบอบการปกครอง ดูแลรักษาพยาบาล ให้การศึกษา จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ ชักนำกะเหรี่ยงให้ลงมาพื้นราบ ให้เข้าเรียนในระดับสูง ให้เข้ารับราชการเป็นทหาร – ตำรวจ ในเขตที่อังกฤษปกครอง ในขณะที่อังกฤษเฉยเมยต่อชนเผ่าพม่าแท้ ไม่ช้าไม่นานนโยบายแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) ก็แบ่ง ชนเผ่าพม่าแท้ กับ กะเหรี่ยงออกเป็น 2 ขั้วชัดเจน
..........ชาวกะเหรี่ยงผู้ได้รับการหนุนหลังจากอังกฤษ ไฉนเลยจะไม่รักอังกฤษ ? กลุ่มกะเหรี่ยงที่มีการศึกษาสูง (บางคนก็ได้ไปศึกษาต่อในอังกฤษ) จึงเคลื่อนไหวเพื่อจะปลดปล่อยชนเผ่ากะเหรี่ยงออกเป็นรัฐอิสระให้ได้ โดยหวังพึ่งอังกฤษ ยอมแม้กระทั่งจะเข้าร่วมเป็นเครือจักรภพ (Commonwealth) ของอังกฤษ
..........การเคลื่อนไหวต่าง ๆ เหล่านี้ของกะเหรี่ยงสวนทางกับชนเผ่าพม่าอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเกลียดชังและพยายามจะปลดปล่อยตนเองออกจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ
..........กะเหรี่ยงได้เริ่มเรียกร้องอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2471 แกนนำคนสำคัญผู้เรียกร้องให้ชาวกะเหรี่ยงแยกออกมาเป็นรัฐอิสระ คือ Dr. San C. PO ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเคารพว่าเป็น “บิดา” ของชนชาติกะเหรี่ยง
..........Dr. San C. PO เคยกล่าวว่า “พวกพม่าเรียกแผ่นดินทั้งหมดนี้ว่าเป็น
แผ่นดินของพม่า แล้วกะเหรี่ยงล่ะ เราจะเรียกแผ่นดินของเราว่าอะไร ? เราจะเรียกแผ่นดินของเราว่า ประเทศกะเหรี่ยงดีไหม ?” 2
..........ตั้งแต่นั้นมาเหล่าปัญญาชนกะเหรี่ยงก็ขานรับ โดยมีการจัดตั้งองค์กรต่าง ๆ เช่น องค์กรแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Association : KNA) สหภาพแห่ง
ชาติกะเหรี่ยงพุทธ (Buddhist Karen Nation Association :BKNA) สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union :KNU)
..........องค์กรเหล่านี้ต่างก็เคลื่อนไหวเพื่อขอตั้งรัฐอิสระขึ้นตรงต่อรัฐบาลอังกฤษ อังกฤษก็ตอบสนองด้วยดี ชาวกะเหรี่ยงที่อังกฤษสนับสนุนให้เข้าเป็นข้าราชการ ทหาร – ตำรวจ ต่างพร้อมใจกันผนึกกำลังจะจัดตั้งรัฐกะเหรี่ยงให้จงได้
..........สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้พม่าเผชิญหน้ากับกะเหรี่ยงอย่างไม่มีทางเลือก
..........สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้น ญี่ปุ่นส่งกำลังบุกพม่า ชาวกะเหรี่ยงนับพันถูกสังหาร ถูกจับกุมในข้อหา “เป็นพันธมิตรกับอังกฤษ” เบื้องหลังเรื่องราวการสังหารหมู่ชาวกะเหรี่ยงนี้ กะเหรี่ยงทราบดีว่า “เป็นฝีมือของพม่า” นั่นเองที่สวมรอยญี่ปุ่น (เหตุการณ์สังหารหมู่นี้ เป็นการสังหารชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี และลุ่มน้ำสาละวิน)

กะเหรี่ยงยังคงเจ็บช้ำน้ำใจพม่ามาจนถึงปัจจุบัน
..........ผู้นำกะเหรี่ยงในตอนนั้นวางแผนสวยหรู มีวิสัยทัศน์ ให้รัฐอิสระของตนจะต้องสามารถดำรงชีพได้ มีทางออกทะเล
..........เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง นายพล ออง ซาน และคณะ ได้เดินทางไปลอนดอนในเดือนมกราคม 2490 เพื่อขอเป็นอิสระจากอาณานิคมอังกฤษ และลงนามใน Aung San – Attlee Agreement ซึ่งอังกฤษอนุญาตให้พม่า จัดตั้งรัฐบาลรักษาการณ์ แล้วจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น
กุมภาพันธ์ 2490 นายพล ออง ซาน จัดการประชุมเพื่อแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยกับทุกกลุ่ม เพื่อลงนามในสนธิสัญญาเมืองปางโหลง (Panglong) กะเหรี่ยงไม่เข้าร่วมประชุม รวมทั้งการเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ กะเหรี่ยงก็ไม่เข้าร่วมสังฆกรรมด้วยอีกเช่นกัน 3
..........เป็นกรรมเวรของกะเหรี่ยงเอง กะเหรี่ยงแตกคอกันเองเป็นกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวรวมชาติของ นายพล ออง ซาน ในปี พ.ศ.2491 ด้วยความหวาดระแวงและเกลียดชังพม่า ชาวกะเหรี่ยงจึงจัดตั้งกำลังทหาร KNDO (Karen Nation Defence Organization) เพื่อต่อสู้กับพม่า และวาดหวังจะจัดตั้งรัฐอิสระเมื่อพม่าเห็นว่ากะเหรี่ยงไม่เล่นด้วยกับตน กอร์ปกับเรื่องความแค้นเก่า
เมื่อหนหลัง เหตุการณ์เลวร้ายปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อกองทัพพม่าอิสระ (BIA) ได้เข้าโจมตีชุมชนกะเหรี่ยงในเมือง Kalaw อำเภอเมอกุย ก่อนวันคริสต์มาสปลายปี พ.ศ.2491 ในขณะที่ชาวกะเหรี่ยงกำลังทำพิธีทางศาสนาในโบสถ์ เหตุการณ์นั้นกะเหรี่ยงตายประมาณ 200 คน 4
..........มกราคม 2492 กะเหรี่ยงกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยรวมตัวกันติดอาวุธลุกฮือขึ้น ประกาศเป็นอริกับรัฐบาลรักษาการณ์พม่า หรือจะเรียกว่าเป็นการก่อการกบฎก็ไม่ผิด
..........กองกำลังกบฎกะเหรี่ยงสามารถยึดเมืองอินเส่ง (INSEIN) ได้ ซึ่งเมืองนี้อยู่ห่างจากย่างกุ้งเพียง 8 ไมล์ และยังบุกยึดเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ได้
..........ชัยชนะของกบฎกะเหรี่ยงในครั้งนั้นถึงกับทำให้กะเหรี่ยงประกาศจัดตั้งรัฐอิสระกอตูเล (Kawthoolei) ต่อชาวโลกเมื่อเดือน มิ.ย.2492 5
..........นายกรัฐมนตรี อูนุ (โดยนายพล เนวิน เป็น ผบ.ทหารสูงสุด) พลิกสถานการณ์ได้ โดยกองกำลังทหารพม่าสามารถสังหารประธานาธิบดีกะเหรี่ยง Saw Ba U Gyi ในการรบใน พ.ศ.2493 กองกำลังกะเหรี่ยงเริ่มเสียขวัญ และได้ถูกผลักดันถอยร่น จนเปลี่ยนไปเป็นกองโจรรบกับกองกำลังพม่าตามหมู่บ้าน ป่า เขา
สงครามล้างเผ่าพันธุ์ก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
..........2 มีนาคม 2505 นายพล เนวิน ผบ.ทบ.พม่า ปฏิวัติยึดอำนาจปกครองประเทศ ปรับยุทธศาสตร์การปราบกบฎกะเหรี่ยงใหม่ โดยประกาศใช้นโยบาย “ตัด 4” (Four Cuts) ซึ่งได้ผลชงัด ในห้วง พ.ศ.2511 – พ.ศ.2528 บรรดากะเหรี่ยงราว 50,000 คนถูกผลักดัน สู้พลาง ถอยพลาง อพยพหนีตายเข้ามาในประเทศไทย 6
..........และกะเหรี่ยงอีกนับล้านคน มาจ่อ มาปักหลักอยู่ตามแนวชายแดนไทย – พม่า ที่เหยียดยาว กว่า 2,400 กว่ากิโลเมตร ลักลอบข้ามไปข้ามมา เดี๋ยวมาโผล่ตรงนั้น ตรงนี้ในฝั่งไทย เพราะไม่มีอะไรจะกิน
เมื่อชนเผ่ากะเหรี่ยงที่ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เริ่มเป็นฝ่ายถอย
ไหลมารวมตัวกันกระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย-พม่า ก็เริ่มสร้างที่มั่นถิ่นฐาน
..........โชคชะตาเข้าข้างกะเหรี่ยงพอสมควร กะเหรี่ยงได้ติดต่อค้าขายกับไทยในระดับท้องถิ่นอย่างราบรื่น กะเหรี่ยงสร้าง “เขตปลดปล่อย” เป็นอาณาจักรของตนเองเป็นแนวยาวประมาณ 400 ไมล์ แนวชายแดนพม่า-ไทย
..........กะเหรี่ยงจัดตั้งโรงเรียน โรงพยาบาล แต่งตั้งผู้รับผิดชอบการปกครอง แบ่งเป็นเขตจัดตั้งคณะรัฐมนตรี ในเวลานั้นว่ากันว่า กะเหรี่ยงมีกองกำลังติดอาวุธถึง 10,000 คน มีการปกครองบังคับบัญชาโดยอดีตทหารผ่านศึกที่เคยเข้าไปอยู่ในกองทัพอังกฤษ
..........รัฐบาลทหารพม่าเร่งเสริมสร้างกำลังรบขนานใหญ่ เพื่อมุ่งมั่นปราบกะเหรี่ยงที่ตั้งเขตปลดปล่อย อาวุธที่สำคัญที่กองทัพพม่าจัดหามาจากจีน ได้แก่ เครื่องบิน F-7 จำนวน 11 ลำ เรือลาดตระเวน รถถัง รถสายพานลำเลียงพล ปืนต่อสู้อากาศยาน ขีปนาวุธต่อสู่อากาศยาน อาวุธประจำกาย กระสุน ฯลฯ มูลค่าราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจยิ่งในความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่าง ผู้นำทหารของพม่าและจีน
..........พ.ศ.2531 โชคชะตาดูเหมือนจะเข้าข้างกะเหรี่ยงอีก เมื่อประชาชน นักศึกษาในย่างกุ้งลุกฮือขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยถูกทางพม่าปราบปรามตามล่า ประมาณ 10,000 คน หนีออกมาจากย่างกุ้งมุ่งหน้าเข้ามาสมทบกับกองกำลังกะเหรี่ยง เพื่อขอมาลี้ภัย และให้กะเหรี่ยงช่วยฝึกอาวุธให้กลุ่มประชาชน นักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตย เหล่านี้ เมื่อหันหน้ามาพึ่งพากะเหรี่ยงต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า จึงมีการจัดตั้งกลุ่ม DAB (Democratic Alliance of Burma) และกลุ่ม NCUB (National Council Union of Burma) ประกาศจัดตั้งรัฐบาลต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่าเต็มรูปแบบ
..........ผมขอลำดับเหตุการณ์การสู้รบ 10 ปี ย้อนหลัง ระหว่างกองทัพพม่ากับ กองกำลัง KNU ของชนเผ่ากะเหรี่ยงที่สำคัญดังนี้
..........26 มีนาคม 2532 กองกำลังทหารพม่า เข้าตีที่มั่น Maw Pokay ของฝ่าย KNU ได้สำเร็จ
..........20 พฤษภาคม 2532 กองกำลังทหารพม่า ราว 400 คน ข้ามพรมแดนเข้ามาในไทย เพื่อจะเข้าตี ที่มั่น กองกำลังกะเหรี่ยง ที่วังข่า จากด้านหลัง และได้เผาบ้านวังแก้วในเขตไทย 7
..........สถานการณ์ในย่างกุ้งก็สับสนวุ่นวายจากการก่อวินาศกรรม การวางระเบิดตามสถานที่สำคัญหลายแห่ง ประชาชน นักศึกษา เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าภายใต้การนำของนาง ออง ซาน ซูจี ทางการทหารพม่าส่งกำลังออกกวาดล้างจับกุมผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยขนานใหญ่
..........ผมจำได้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในเมืองหลวงของพม่า เริ่มเป็นที่สนใจของสังคมไทย หลังจากเราให้ความสนใจสงครามใน ลาว เขมร และเวียดนาม กว่า 20 ปี
24 มกราคม 2533 กองกำลังทหารพม่า เข้าตี Thay Baw Bo ฐานที่มั่น
กะเหรี่ยงแตก กองกำลังทหารพม่าขยายผลไล่ติดตาม กองกำลังกะเหรี่ยง โดยเข้าตีฐาน Walay ของกะเหรี่ยงใกล้ชายแดนไทย ทำให้กะเหรี่ยงกว่า 6,000 คน หนีตายจากการสู้รบเข้ามาในเขตไทย
..........5 กุมภาพันธ์ 2533 กองกำลังทหารพม่าเข้าตีฐาน กองกำลังชาวมอญ และกะเหรี่ยง บริเวณพื้นที่ด้านตรงข้ามด่านเจดีย์สามองค์ ทำให้พวกมอญ และกะเหรี่ยง ราว 6,000 – 10,000 คน หนีตายเข้ามาในเขตไทย กองกำลังทหารพม่ายิ่งเพิ่มการกดดันกะเหรี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้ากะเหรี่ยงไม่ตายก็จะหนีข้ามเข้ามาในเขตไทย ไม่รกหูรกตาพม่า งานนี้มีแต่ได้กับได้ !
..........มาถึงในตอนนี้ กองทัพพม่า (ภาษาพม่าเรียกว่า Tatmadaw : ทัด – มา – ดอ) ได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่ ทั้งจำนวนกำลังพล และยุทโธปกรณ์ ราวเดือนเมษายน 2533 พม่าเริ่มใช้ บ.โจมตีฐานที่มั่นต่าง ๆของกะเหรี่ยง ที่อยู่รายรอบค่ายมาเนอปลอ (MANERPLAW) ซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงของกะเหรี่ยง และเป็นศูนย์กลางในการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า
..........กะเหรี่ยงนับพัน ทะลักหนีตายเข้ามาในประเทศไทยอีกระลอก
..........(ผมขอออกนอกเรื่องกะเหรี่ยงไปซักนิด กล่าวคือ ในเดือนธันวาคม 2533
..........จากสถานการณ์ไม่สงบในย่างกุ้ง มีการกวาดจับผู้ต้องสงสัยมากมาย พวกมุสลิม โรฮิงยา ประมาณ 20,000 คน ที่อาศัยอยู่ในรัฐอาระกัน ทางตะวันตกของพม่า ได้อพยพหนีภัยเข้าไปยังบังคลาเทศ สร้างความสับสนวุ่นวาย รัฐบาลบังคลาเทศประกาศว่ารัฐบาลทหารพม่าจะต้องรับผิดชอบ สถานการณ์ตึงเครียด ถึงขนาดกำลังทหารของทั้ง 2 ประเทศ วางกำลังเผชิญหน้ากัน….. ผมอยากจะบอกว่า ปัญหาภายในของพม่านั้นมิใช่ส่งผลกระทบต่อไทยเท่านั้น กับเพื่อนบ้านบังคลาเทศก็ไปสร้างความปั่นป่วนให้เขาด้วย)
..........ในทุก ๆ หน้าแล้ง การสู้รบจะทวีความรุนแรงขึ้น
..........ต้นปี พ.ศ.2535 กองกำลังทหารพม่า ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์พร้อมกว่าแต่
ก่อน หมายเผด็จศึกกะเหรี่ยงให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงเริ่มการโจมตีระลอกใหม่ต่อเมืองมาเนอปลอว์ กองบัญชาการใหญ่ของกะเหรี่ยง
..........ทหารพม่าส่งกำลังทางบกเข้าตีที่หมายหลัก Sleeping Dog Hill ซึ่งถือว่าเป็นภูมิประเทศสำคัญ (Key Terrain) ที่มีผลต่อมาเนอปลอว์ และสามารถยึดได้ในที่สุด หลังการสู้รบอย่างหนัก 2 เดือน
..........ชนเผ่ากะเหรี่ยงรู้ดีว่าพม่าเอาจริง คาดเดาออกว่าคงจะต้านทานทหารพม่าไม่ไหวแน่ จึงทะยอยหนีตายข้ามเข้ามาในเขตไทยอีก
..........พลจัตวา ติน งวย (Tin Ngwe ) ผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ 22 เคยประกาศก่อนเข้าตีว่า “อีก 3 ปี ข้างหน้านี้ ถ้าใครต้องการเห็นกะเหรี่ยง ก็ให้ไปดูได้ในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น”8
..........กองกำลังทหารพม่ามิได้ใช้อำนาจกำลังรบแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เบื้องหลังความสำเร็จของกองกำลังทหารพม่านั้น พม่าได้ใช้สงครามจิตวิทยา (Psychological Warfare) แยกสลายกะเหรี่ยงด้วยกันเอง โดยใช้พระภิกษุรูปหนึ่งซึ่งเป็นพระที่บรรดากะเหรี่ยงชาวพุทธนับถือ สร้างรอยร้าวลึกทางจิตใจ ให้เห็นความแตกต่างของผลประโยชน์ระหว่างกะเหรี่ยงพุทธกับกะเหรี่ยงที่นับถือศาสนาคริสต์
..........น้ำหยดลงหินครับ… มิช้ามินาน กะเหรี่ยงก็แยกออกเป็น 2 ขั้ว ระหว่าง กะเหรี่ยงพุทธ กับ กะเหรี่ยงคริสต์
..........ทหารพม่าได้กะเหรี่ยงพุทธไปเป็นแนวร่วม กะเหรี่ยงพุทธส่วนหนึ่งซึ่งเคยอยู่ในค่ายมาเนอปลอว์มาก่อน ก็นำกองทัพพม่าเข้าตีมาเนอปลอว์
..........26 มกราคม 2538 ค่ายมาปลอว์ก็ถึงกาลอวสาน กองกำลังกะเหรี่ยงถูก
เด็ดกล่องดวงใจ นายพลโบเมี๊ยะ เผาค่ายมาเนอปลอว์ทิ้ง แล้วย้ายกองบัญชาการไปเข้าที่มั่นแห่งใหม่ คือ ค่าย คอมูร่า (Kawmoora) บางคนเรียกว่า ค่ายวังข่า (Wangkha)
..........กะเหรี่ยงพุทธที่เข้าไปสวามิภักดิ์กับกองทัพพม่า ประกาศจัดตั้ง “กองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ” (DKBA : Democratic Karen Buddhist Army)
..........ผมว่า…พม่าใช้หลักการสงครามได้อย่างเหนือชั้นจริง ๆ โดยใช้ทั้งสงครามจิตวิทยาและใช้สงครามตัวแทน (Proxy War)
..........21 กุมภาพันธ์ 2538 ค่ายคอมูร่าก็ถูกทหารพม่าตีแตกอีก (จากเอกสารที่
ผมค้นคว้า และต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้นระบุว่า กองกำลังทหารพม่ามิได้รบกับกะเหรี่ยงอย่างเดียวนะครับในเวลาเดียวกันนั้น ทหารพม่ายังต้องรบกับคะฉิ่น กกล. MTA. ของขุนส่า กกล.คะยา อีกด้วย ซึ่งผมจะไม่ขอกล่าวถึง)
..........กะเหรี่ยงสูญเสีย 2 ที่มั่นหลัก ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ทำเอากะเหรี่ยงอ่อนแรงลงไปมาก กะเหรี่ยงปรับทิศทางเพื่อความอยู่รอด โดยหาลู่ทางเจรจาหยุดยิง ฝ่ายรัฐบาลทหารพม่าก็ลดระดับการปฏิบัติทางทหารลง ทั้งพม่าและกะเหรี่ยงสูญเสียกำลังพลไม่น้อย
ผลพลอยได้ที่ตามมา ที่นับว่าเป็นชัยชนะของกองทัพพม่าก็คือ ขุนส่าผู้นำ Mong Tai Army (MTA.) ประกาศวางอาวุธใน 22 ธันวาคม 2538 ในปีเดียวกันนั้น
..........เราก็ทราบดีว่า MTA. นั้นก็เป็นกระดูกชิ้นโตของพม่า กองกำลังติดอาวุธขุนส่าราว 12,000 คน วางอาวุธ (ที่เหลืออีกประมาณ 6,000 คน แตกกลุ่มออกไป เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลทหารพม่า เชื่อกันว่าหาเลี้ยงตนเองด้วยการผลิตยาเสพติด)
..........28 เมษายน 2539 กะเหรี่ยงเจรจาหาทางสงบศึกกับรัฐบาลพม่าที่เมืองมะละแหม่ง ซึ่งก็ไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไรทั้งสิ้น การประชุมเจรจาหยุดยิงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ไม่คืบหน้า เพราะฝ่ายกองทัพพม่ายืนยันในกฎเหล็กข้อที่ 1 ว่า “ฝ่ายกะเหรี่ยงจะต้องวางอาวุธเสียก่อน แล้วจึงจะมาพูดกัน”
..........กฎเหล็กข้อนี้ ผมเองซึ่งได้ติดตาม พลเอก เชษฐา ฐานะจาโร อดีต ผบ.ทบ. เคยได้ฟังคำยืนยันจากผู้นำรัฐบาลทหารพม่าโดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลทหารพม่า และฝ่ายกะเหรี่ยงต่างก็แสวงหาข้อตกลงหยุดยิง โดยมีบุคคลที่ 3 ช่วยดำเนินการมาโดยตลอด
..........ทั้งหมดนี้เป็นกิจการภายในของประเทศพม่าครับ ผมไม่มีความเห็น
..........ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของฝ่ายกะเหรี่ยงก็คือราวกลางเดือนมกราคม 2543 นี้เองมีการปรับเปลี่ยนตัวผู้นำกะเหรี่ยงจาก นายพลโบเมี๊ยะ มาเป็น SAW BA THIN SEIN คาดกันว่าการเจรจาหยุดยิงกับรัฐบาลทหารพม่าน่าจะมีแนวโน้มสูงกว่าแต่ก่อนและผู้นำกะเหรี่ยงคนใหม่ได้ออกมาเรียกร้องให้ อาเซียนสนับสนุนการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกะเหรี่ยงด้วย 9
..........ท่านคงจะพอเห็นภูมิหลังของความเป็นมาของ “ชนเผ่ากะเหรี่ยง” ความ
ขื่นขมรวมทั้งรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้ง การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชนเผ่ากะเหรี่ยง เรื่องราวต่าง ๆ ของชนเผ่ากะเหรี่ยงนี้ได้ส่งผลกระทบต่อบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศไทยมาช้านาน ผู้คนทุกข์ทรมานบาดเจ็บล้มตายกันไปไม่รู้เท่าไหร่ ?
..........ได้แต่สงสารเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตอนเป็นอาณานิคมโดนเขาแบ่งแยกแล้วปกครอง นักล่าอาณานิคมเสพสุขขนเอาทรัพยากรมีค่าออกไป โดนเขาหลอกให้ไปรบ ไปตายแทนเขา โดนยุแยงตะแคงรั่วจนหน้ามืดตามัว แย่งชิงกันเป็นใหญ่ นักล่าอาณานิคมผู้ทิ้งมรดกเลือดไว้เขาไม่มาช่วยดอก หาทางออกกันเอาเองก็แล้วกัน…ผมเอาใจช่วยครับ
อ่านต่อฉบับหน้า
-------------------


1 Martin Smith , Ethnic Groups in Burma , Development , Democracy and Human Rights , 1994 , p.42
2 Bertil Linter , Burma in Revolt Opium and Insurgency since 1948 , 1999 , p.52
3 Martin Smith , p.44
4 พรพิมล ตรีโชติ , ชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลพม่า หน้า 97
5 Bertil Linter , p.437
6 Martin Smith , p.44
7 Bertil Linter , p.466
8 Martin Smith , p.45
9 Bangkok Post , 29 FEB. 2000 , p.4

The Four Cuts หรือ “ตัด 4”


..........รัฐบาลทหารพม่าได้ใช้ยุทธศาสตร์การจัดระเบียบการตั้งถิ่นฐานประชากร ในประเทศเพื่อแก้ปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย ซึ่งถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่นำมาใช้ครั้งแรก หลังจากนายพลเนวินยึดอำนาจ เมื่อ พ.ศ.2505 เพื่อเป็นกลยุทธในการป้องกันและต่อต้านการก่อความไม่สงบ (Counter Insurgency) นโยบายนี้มีผลกระทบต่อประชากรนับล้านที่ต้องโยกย้ายถิ่นฐาน มีการต่อต้านคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวในมุงมองด้านสิทธิมนุษยชน แนวความคิดนี้มีความคล้ายคลึงกับนโยบาย “Strategic Hamlet” ของสหรัฐที่ใช้ในสงครามเวียดนาม
..........Four Cuts (ภาษาพม่าเรียกว่า Pya Ley Pya) คือการตัดตอนความเชื่อมโยงของอาหาร เงิน ข่าว และกองกำลังของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลพม่าให้แยกออกจากกัน โดยใช้กำลังทหารเข้าดำเนินการ แนวความคิดในการปฏิบัตินี้ทำให้พื้นที่บางแห่งถูกประกาศเป็น “พื้นที่ต้องห้าม” ทหารพม่าสามารถสังหารบุคคลในพื้นที่ดังกล่าวได้ทันที โดยไม่ต้องแจ้งข้อหา
..........ชนกลุ่มน้อยถูกกวาดต้อนไปตั้งหลักแหล่งในพื้นที่ที่ทางการจัดไว้ให้เท่านั้น ทหารพม่าจะเป็นผู้รับผิดชอบควบคุมอย่างเฉียบขาด ผู้ฝ่าฝืนที่ยังคงหลบซ่อนอยู่ในที่เดิม หรือผู้ที่พยายามจะเล็ดลอดออกมาจากพื้นที่ควบคุมจะถูกสังหาร
..........ยุทธศาสตร์ “ตัด 4” นี้เป็นไม้ตายของรัฐบาลทหารพม่าที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 30 ปี จนถึงปัจจุบัน



เชิงอรรถ

1 Martin Smith , Ethnic Groups in Burma , Development , Democracy and Human Rights , 1994 , p.42
2 Bertil Linter , Burma in Revolt Opium and Insurgency since 1948 , 1999 , p.52
3 Martin Smith , p.44
4 พรพิมล ตรีโชติ , ชนกลุ่มน้อย กับรัฐบาลพม่า หน้า 97
5 Bertil Linter , p.437
6 Martin Smith , p.44
7 Bertil Linter , p.466
9 Bangkok Post , 29 FEB. 2000 , p.4

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ9/6/55 15:31

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลนี้มากค่ะ

    ตอนนี้เรื่องมันเศร้าจัง หรือเศร้ามานานแล้วแต่เราเพิ่งรู้

    ไม่อยากหั้ยใครสมเพส และดูถูก

    แต่เราเลือกเกิดไม่ได้ จะทำให้ดีที่สุดก้อเท่านั้น

    คงไม่รอให้ใครมาช่วย บทเรียนมีให้เห็นอยู่

    ไม่มีใครรักเราเท่ากับเรารักตัวเองหรอก

    ฉันอายุครบ25ปีศึกษาป.โทแล้วกลับเพิ่งรู้ ฉันไม่มีสายเลือดไทย

    สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ

    คนไทยและสหประชาชาติที่มีมนุษยธรรม ทุกท่านมากค่ะ

    ที่ยังเมตตา กะเหรี่ยง

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ13/12/56 01:19

    ใช่แล้วในเมื่อเราเกิดมามีสายเลือดกะเหรี่ยงแล้วเราควรภูมิใจที่บรรพบุรุษเราได้สู้อย่างเต็มที่แล้ว ผมขอเป็นกำลังใจให้กับทหารKNUทุกคนด้วยนะครับ เพราะผมก็เป็นกะเหรี่ยงคนหนึ่งเหมือนกัน

    ตอบลบ
  3. กระเหรี่ยง10/6/57 07:03

    การต่อสู้เป็นวิถีชีวิตของเราชาวกระเหรียงจะขอต่อสู้รวมกับชนชาติกระเหรี่ยงในพม่าและพี่น้องคนไทยเพื่ออิสระภาพเสรีภาพและภราดรถาพ

    ตอบลบ