02 พฤศจิกายน 2552

คอบร้าโกลด์ 22 ขวบ

คอบร้าโกลด์ 22 ขวบ




พล.ต.นิพัทธ์ ทองเล็ก
ผู้อำนวยการสำนักการฝึกร่วมและผสมกรมยุทธการทหาร
ผู้อำนวยการฝึกคอบร้าโกลด์ 2003




..........เวลาช่างผ่านไปรวดเร็วจนแทบไม่น่าเชื่อว่า ไทยกับสหรัฐอเมริกา ได้ฝึกคอบร้าโกลด์กันมา 22 ปี (22ครั้ง) แล้วครับ นายทหาร นายสิบในกองทัพไทยจำนวนไม่น้อยคงจะเคยสัมผัสการฝึก หรือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกมาแล้ว นายทหารบางท่านที่รับราชการในหน่วยกำลังรบมานาน บางท่านออกปากด้วยความภาคภูมิใจว่า “ พี่ฝึกมา 5 ครั้งแล้วเว้ยไอ้น้อง ”
..........ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กรุณาแต่งตั้งให้กระผมเป็นผู้อำนวยการฝึกคอบร้าโกลด์ 03 (ก็คือ คอบร้าโกลด์ ปี ค.ศ.2003) นับเป็นการฝึกครั้งที่ 22 บก.ทหารสูงสุดและเหล่าทัพ ได้เตรียมการวางแผนล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 แล้ว เพื่อมาฝึกกันในระหว่าง 15 – 29 พ.ค.46
เราเตรียมการวางแผนกันอย่างไร?
..........1. การประชุมวางแผนร่วมไทย – สหรัฐฯ 5 ครั้ง ประกอบด้วย
...............1.1 การประชุม Preliminary Planning Meeting หรือ PPM เป็นการมานั่งหารือกันว่า การฝึก
ครั้งต่อไปจะมีทิศทางหรือแนวทางในการฝึกอย่างไร กำหนดวัตถุประสงค์ ขอบเขตกว้างๆ จะประชุม
ในเดือนมิถุนายน ของทุกปี พอฝึกปีนั้นจบ นายทหารอเมริกันจะอยู่ต่อเพื่อขอประชุมทันที เรียกว่าตีเหล็กกำลังร้อน ๆ
...............1.2 การประชุม Concept Development Conference ไทยกับสหรัฐฯ จะมากำหนดแนวความคิด ในการพัฒนาการฝึกให้เป็นไปตามแนวทางให้ตอบสนองต่อการใช้กำลังทหารของประเทศของตน และต้องสามารถปฏิบัติการร่วมกันได้ เรียกว่าคุยกันเพื่อตีกรอบแนวทางให้แคบลงมาจากข้อ 1.1 จะประชุมในเดือนกันยายน ของทุกปี
...............1.3 การประชุม Initial Planning Conference หรือเรียกว่าการประชุมวางแผนขั้นต้น จะรู้แน่ชัด
ว่าหน่วยใดจะเป็นหน่วยหลักในการฝึก ฝึกที่ไหนบ้าง ฝึกอะไร วัน – เวลา และกำหนดการสำคัญๆ ต่างๆ จะต้องลงตัวด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย กำหนดในเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี
...............1.4 การประชุม Middle Planning Conference หรือ MPC เป็นการประชุมวางแผนขั้นกลาง เราแบ่งกลุ่มย่อยๆ ประมาณ 15 กลุ่ม เพื่อคุยกันในรายละเอียดให้ครอบคลุมทุกเรื่อง เรียกได้ว่ากำหนดการต่างๆ เรื่องที่จะฝึกงานธุรการ งานส่งกำลังบำรุง จะมีความสมบูรณ์มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เช่น กองกำลังทางบกผสม ในปีหน้าของไทยคือ พล.ร. 3 ส่วนของ สหรัฐฯ คือ พล.ร. 25 จะต้องตกลงกันได้เรียบร้อยแล้วว่าจะต้องฝึกอะไรกันบ้างกำหนดในเดือนมกราคมของทุกปี
...............1.5 การประชุม Final Planning Conference หรือ FPC เป็นการประชุมวางแผนขั้นสุดท้าย
กล่าวได้ว่า งานทุกอย่างที่เหลืออีกประมาณ 10เปอร์เซ็นต์ จะต้องถูกเก็บกวาดจนหมด คำสั่ง แผนการฝึก แผนยุทธการ ที่กำหนดรายละเอียดเป็นชั่วโมง ทั้งภาษาไทยและอังกฤษต้องเสร็จเรียบร้อย บ่งการต่างๆ สำหรับการฝึกต้องเสร็จเรียบร้อย กำหนดในเดือนมีนาคมของทุกปี
..........การประชุมวางแผนทั้ง 5 ครั้งนี่แหละ ผมถือว่าเป็นการฝีกนายทหารไทยในการวางแผน นายทหารจาก บก.ทหารสูงสุดและเหล่าทัพ ทำงานร่วมกับนายทหารสหรัฐฯ ได้อย่างน่าพอใจ ไอ้เรื่องความรู้ทางวิชาการหลักการไม่ต้องห่วง เพราะโดยมากสำเร็จจากโรงเรียนเสนาธิการมาแล้วทั้งนั้น บางคนหิ้วกระเป๋า หอบตำรา มาวางขู่เยอะแยะ ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง ดูทะมัดทะแมงดี แต่ไอ้ที่น่าอึดอัดคือ ปากที่มันพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ดั่งใจนึก นี่ซิครับ บางครั้งทำเอาทหารไทยเหนื่อยโดยไม่ชักช้าเหมือนกัน
..........ผมอยากให้ท่านผู้อ่านสบายใจครับว่านายทหารไทยเกือบทุกคนใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นที่น่าพอใจ ประชุมแสดงความคิดเห็นได้ ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อะไรไม่รู้เรื่องให้ยิ้มไว้ก่อน ฝรั่งจะเข้าใจทันที หรือบางครั้ง ไม่รู้เรื่องเอามากๆ ก็ตอบ “เยส” มันหมดทุกเรื่อง ฝรั่งก็จะเข้าใจเองว่าทหารไทยขี้เกรงใจ ซึ่งที่จริงแล้วต้องการบอกว่า “โน”
..........สนุกดีครับ น่ารักดีครับ คนไทยสุภาพ ไม่เคยขัดใจใครอยู่แล้ว พวกเราทำหน้าที่ทูตวัฒนธรรมได้ดี เพื่อนฝรั่งแทบทุกคนใครๆ ก็อยากจะมาประชุมกับเราในเมืองไทย เ พราะเรา “ยิ้มสู้” มันทุกเรื่อง E-mail คือหัวใจของการประสานงานที่ดีที่สุด ประชุมกันเสร็จแล้วใช่ว่าจะจบแค่นั้น งานธุรการและการเคลื่อนย้ายกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และสัมภาระต่างๆ ของสหรัฐฯ เป็นเรื่องที่จะต้องประสานกันตลอดเวลา สหรัฐฯ มีการเคลื่อนย้ายขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า ช้างเหยีบนา พญาเหยียบเมือง ทั้งทางเรือและทางอากาศ แม้กระทั่งส้วมที่ใช้ในสนามก็ยังอุตส่าห์ ขนมาจากอเมริกาด้วย ฝึกเสร็จก็ขนกลับ ส้วมหน้าตาน่ารักน่าชังพิลึก การติดต่อประสานงานกันอย่างใกล้ชิด การแก้ไขกำหนดการต่างๆ เราทำให้สะดวกง่ายโดยใช้ E-mail การส่งเอกสารยาวๆ หรือไม่ยาว E-mail เป็นเสมือนหัวใจของการทำงานระหว่างไทยกับสหรัฐฯ วันไหนตัวเซิฟเวอร์ล่ม (failure) เราแทบจะทำงานไม่ได้ แฟกซ์จะเป็นเครื่องมือที่เราไม่เลือกใช้เพราะกระดาษแฟกซ์ แพงชะมัด เรื่องนำสารเลิกพูดได้เลย ขืนวิ่งรถไปมาระหว่าง บก.ทหารสูงสุด – เหล่าทัพ – จัสแมกไทย มีหวังเจ๊งก่อนฝึก ขอบคุณพระเจ้าที่โลกนี้มี E-mail ใช้ โรค SARS แขกผู้ไม่ได้รับเชิญ คอบร้าโกลด์ปี 03 ที่เพิ่งฝึกผ่านไประหว่าง 15 – 29 พ.ค.46 นั้น เกิดปัญหาแทรกซ้อนเรื่องโรคซาร์ส (SARS) เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง ผบ.ทหารสูงสุด ได้สั่งการเด็ดขาดให้กระผมเดินทางไปพบรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอคำแนะนำในการปฏิบัติ ที่ถูกต้องเหมาะสม เพราะว่าจะมีทหารสิงคโปร์ จำนวน 96 คน ทหารจากเวียดนาม 3 คน และจากจีน 3 คน (ซึ่งเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง) เดินทางเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ กระทรวงสาธารณสุขได้ทำจดหมายคำแนะนำเป็นภาษาอังกฤษ เราจึงส่งต่อไปยังผู้ช่วยทูตทหาร ให้ส่งต่อกลับไปกองทัพของตนเอง เพื่อให้ตรวจสอบสุขภาพก่อนออกเดินทางมาฝึกในประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความร่วมมือส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบอีกครั้งเมื่อกำลังพลกลุ่มเสี่ยงโรค SARS เดินทางมาถึงประเทศไทย ไม่ปรากฎอาการใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะทำการฝึก กองอำนวยการฝึกยังต้องรายงานสุขภาพของกำลังพลทุกวันให้สาธารณสุขจังหวัดชลบุรีทราบ ตราบจนวันสุดท้ายของการฝึก ไม่ปรากฎปัญหาเรื่องโรค SARS แต่อย่างใด สำหรับกำลังพลของสหรัฐฯ ประมาณ 7,600 คน ในส่วนที่เดินทางโดยเครื่องบิน เมื่อทราบปัญหาเรื่องนี้ จึงมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางบินไม่ไปจอดพักในประเทศกลุ่มเสี่ยง และต้องบินไกลกว่าเดิม ผู้บังคับบัญชาของทหารสหรัฐฯ ตัดสินใจได้รวดเร็ว ถูกต้อง ทันเวลา โรค SARS เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง แต่ในที่สุดเราโล่งใจ เพราะคอบร้าโกลด์ไม่ได้เป็นตัวพาหะนำเชื้อโรคเข้ามาในประเทศไทยครับ
กองกำลังผสมต่างๆ ไปฝึกที่ไหนกันบ้าง?
..........1. กรมการฝึกร่วมและผสมทหาร เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง กอฝ.คอบร้าโกลด์ 03 ณ พื้นที่กองบินทหารเรือ (สนามบินอู่ตะเภา) มีกระผมเองเป็น ผอ.กฝ.คอบร้าโกลด์ 03 ฝ่ายไทย และ พล.ต. Emerson N. Gardner JR. หน.ฝยก.กกล.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เป็น ผอ.กฝ.คอบร้าโกลด์ 03 ฝ่ายสหรัฐฯ
..........2. กองกำลังเฉพาะกิจ ร่วม/ผสม กองเรือยุทธการ เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง กกล.ฉก.ร่วม/ผสม ณ กบร.กร. อ.บ้านฉาง จ.ระยอง กำลังพลร่วมการฝึกประกอบด้วย ฝ่ายไทย 282 คน ฝ่ายสหรัฐฯ 1,100 คน และฝ่ายสิงคโปร์ 60 คน รวม 1,442 คน นย.สหรัฐฯ โพ้นทะเลที่ 3 เป็น รอง ผบ.กกล.ฉก.ร่วม/ผสม และ พลจัตวา Chin Phei Chen ผบ.พล.ร.6 กองทัพสิงคโปร์ เป็น ผช.ผบ.กกล.ฉก.ร่วม/ผสม
..........3. หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผสม หรือหน่วยรบพิเศษ พล.รพศ.1 เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง ฉก.ปพ.ร่วม/ผสม ณ กองร้อย ปตอ.3 พัน.ปตอ.พล.นย. อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ฝ่ายไทย มี พล.ต.บัณฑูร ติปยานนท์ ผบ.พล.รพศ.1 เป็น ผบ.ฉก.ปพ.ร่วม/ผสม และ ฝ่ายสหรัฐฯ คือ พล.จัตวา Trebone ผบ.หน่วยปฎิบัติการพิเศษ กองกำลังสหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เป็นรอง ผบ.ฉก.ปพ.ร่วม/ผสม
..........4. กองกำลังทางบกผสม ปีนี้สหรัฐฯ ใช้กำลังพลจาก พล.ร.25 จากฮาวาย มี พล.ต. Olson ผบ.พล. มาเป็นรอง ผบ.กกล.ทบ.ผสม ส่วนฝ่ายไทย มี พล.ต.ภิรมย์ ตังคะรัตน์ ผบ.พล.ร.16 เป็น ผบ.กกล.ทบ.ผสมพัน.ร. ของสหรัฐฯ มาฝึกร่วมกับ ร.31 รอ. ของไทยไปฝึกกันอยู่ในค่ายธนะรัชต์ ปราณบุรี ส่วนการฝึก CPX ใช้พื้นที่ พล.ร.16 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย
..........5. กองกำลังทางเรือผสม มีกองเรือยกพลขึ้นบก กองเรือยุทธการ เป็นหน่วยหลักในการจัดกำลัง ตั้ง บก.กกล.ทร.ผสม ณ พัน สอ.11 กรม สอ.1/รฝ. อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ฝ่ายไทยมี พล.ร.ต. เถกิงศักดิ์ วังแก้ว รน. เป็น ผบ.กกล.ทร.ผสม
..........6. กองกำลังนาวิกโยธินผสม มี กรม ร.3 พล.นย. เป็นหน่วยหลักในการจัดกำลัง จัดตั้ง บก.กกล.นย.ผสม ณ บก.พล.นย. อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มี พล.ร.ต. นิวัติ ศิริพละ รน. ผบ.พล.นย. เป็น ผบ.กกล.นย.ผสม
..........7. หน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการจิตวิทยาร่วม/ผสม พัน.ปจว.รพศ.2 เป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง ฉก.ปจว.ร่วม/ผสม จัดตั้ง ฉก.ปจว.ร่วม/ผสม ณ บริเวณ กองบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง มี พ.ท.สมบัติ คุณยศยิ่ง ผบ.พัน.ปจว.รพศ.2 เป็น ผบ.ฉก.ปจว.ร่วม/ผสม และ พ.ท. Burke ผบ.พัน.ปจว.กกล.สหรัฐฯ ภาคพื้นแปซิฟิก เป็นรองฯ
ประเทศผู้สังเกตการณ์คัดเลือกกันอย่างไร?
..........ในปีที่แล้วคือ คอบร้าโกลด์ 02 มีประเทศต่างๆ ขอส่งผู้แทนเข้ามาสังเกตการณ์ฝึกรวม 18 ประเทศ นับว่าเป็นภาระพอสมควรในเรื่องของค่าใช้จ่าย และเป็นกลุ่มบุคคลคณะใหญ่อุ้ยอ้าย ไปดูอะไรแต่ละที่ไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง มาปีนี้เราจึงตกลงกับสหรัฐฯ ว่าน่าจะกำหนดให้มีแค่ 10 ประเทศ แต่ก็อ่อนตัวได้เล็กน้อย โดยจะต้องพิจารณาร่วมกัน ในที่สุดปีนี้ ผบ.ทหารสูงสุดและกห.สหรัฐฯ มีความเห็นสอดคล้องกันคือ 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มองโกเลีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา เวียดนาม และบรูไน

ปีหน้าคอบร้าโกลด์ 04 จะเป็นอย่างไร?
..........ตามวงรอบการฝึกปี 2004 นั้น ทภ.2 จะเป็นหน่วยหลักในการจัดตั้ง กกล.ฉก.ร่วม/ผสม ฝ่ายสหรัฐฯ จะใช้กองทัพน้อยที่ 1 (1st CORPS) จากรัฐวอชิงตัน เป็นหน่วยหลัก รายละเอียดอื่นๆ นั้น ฝ่ายไทยและสหรัฐฯ ได้ไปตรวจภูมิประเทศ สถานที่ในพื้นที่ ทภ.2 มาแล้ว เมื่อ 3 มิ.ย.46 และได้ประชุม PPM ไปแล้ว ฟิลิปปินส์จะเป็นน้องใหม่ เข้ามาร่วมฝึกเฉพาะ CPX ญี่ปุ่นได้แจ้งด้วยวาจาแล้วว่าจะขอเข้ามาร่วมฝึก ในขั้น CPX หลังจากมาสังเกตการณ์ฝึกมาแล้ว 2 ปี ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ และฝ่ายไทย โดย ผบ.ทหารสูงสุด จะเป็นผู้ตกลงใจร่วมกันอีกครั้ง
..........ความต้องการมีส่วนร่วมของประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นโดยตลอดน่าจะเป็นดัชนีชี้วัดคุณค่าของการฝึกคอบร้าโกลด์ได้ดี แม้กระทั่งนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 5 ซึ่งได้มาดูงานในระหว่างการฝึก ยังได้แสดงความคิดเห็นว่า ขอให้จัดนักเรียนนายร้อยเข้ามาทำหน้าที่เป็นล่ามหรือทำหน้าที่ที่เหมาะสม เพื่อต้องการเรียนรู้และหาประสบการณ์ ก่อนจบเป็นนายทหาร ผมได้ยินแล้วก็ชื่นชมคลื่นลูกหลังที่มาแรงแบบคาดไม่ถึง
คิดว่าเรื่องนี้จะต้องขออนุมัติจาก ผบ.ทหารสูงสุด และจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก ผบ.เหล่าทัพ ด้วยนะครับน้อง
..........ทหารไทยในปัจจุบันไปทำงานนอกประเทศ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติมาตลอด ทั้งในติมอร์ ในอาฟกานิสถาน ในอาเจะห์ และอีกหลายพื้นที่ความขัดแย้งในโลกนี้ หลายคนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้จากการฝึกคอบร้าโกลด์ ประการสำคัญที่สุดคอบร้าโกลด์คือ สะพานเชื่อมความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างกองทัพไทยกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ได้อย่างแนบแน่น เป็นแรงสนับสนุน เป็นกลไกที่ช่วยให้กองทัพไทย และประเทศไทย ได้มีบทบาทโดดเด่น ไม่เป็นรองใครในเวทีโลกจริงๆ ครับ


------------------------------

1 ความคิดเห็น:

  1. ช่วยดูเหรียญปราบฮ่อให้ผมหน่อยครับผมมีหนึ่งเหรียญครับ
    ชื่อเฟสและราย
    ชื่อ กิติยา ภู่ไพรัช
    0988759010

    ตอบลบ