02 พฤศจิกายน 2552

ผู้หญิงคนนี้...โลกต้องฟังเธอ

ผู้หญิงคนนี้...โลกต้องฟังเธอ



แปลและเรียบเรียงโดย
พล.ต. นิพัทธ์ ทองเล็ก



..........ผมติดตามเรื่องของ ดร.คอนโดลีซซ่า ไรซ์ มานาน ผมสนใจ “ ในความเป็นตัวตน ” ของเธอ “ ระบบการทำงาน ” ของเธอ ตำแหน่งนี้มีความรับผิดชอบต่อประธานาธิบดีอย่างไร แค่ใหน ? ประธานาธิบดีสหรัฐ นั้นตื่นเช้าขึ้นมา ท่านทำอะไรบ้าง ในเมื่ออเมริกาคือมหาอำนาจเดี่ยวของโลกปัจจุบัน มีกำลังทหารอยู่ใน 5 กองบัญชาการกระจายอยู่ทั่วโลก มีคนทำงานด้านความมั่นคงเคลื่อนไหวทั้งเปิดเผยเปิดเผยและปกปิดใน 4 มิติ ในอวกาศ ภาคพื้นดิน บนผิวน้ำ และใต้ทะเล หน่วยงานด้านความมั่นคง ทำงานในแทบทุกซอกทุกมุมของโลก รายงานข้อมูล ข่าวกรอง เข้ามาในวอชิงตันทั้งวันทั้งคืน ประธานาธิบดีสหรัฐ “ ต้องรู้อะไรบ้าง ? ” ใครรับผิดชอบงานในส่วนนี้ต่อประธานาธิบดีสหรัฐ ? น่าสนใจดีจัง
..........ผมเองมีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร. ไรซ์ ขณะนั่งในเต้นท์ สนามหน้ากองบัญชาการกองทัพบกเมื่อครั้ง ดร. ไรซ์ติดตามประธานาธิบดีบุชมาประชุมเอเปคที่กรุงเทพ เดือนตุลาคม 2546 เธอสุภาพ บุคลิกดี เป็นกันเอง สนใจงานความมั่นคงของประเทศไทย
..........ดร.คอนโดลีซซ่า ไรซ์ (ปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ) ในอดีตเคยทำหน้าที่ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงต่อประธานาธิบดีสหรัฐ สตรีผิวสี คนนี้ โดยตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เธอคือบุคคลท่านแรกที่จะได้เข้าชี้แจงต่อ ประธานาธิบดีบุช ทุกวันในเวลา 0600 น. เพื่อสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกในภาพรวมให้ ประธานาธิบดีบุช ฟังในกรอบงานของกระทรวงกลาโหม รวมกับงานของกระทรวงการต่างประเทศ

ประวัติของ ดร.ไรซ์ น่าสนใจ เธอเป็นใครมาจากไหน ?
............คอนโดลีซซ่า ไรซ์ เกิดเมื่อ 14 พ.ย. 1954 ในเมืองเบอร์มิงแฮม รัฐอาลาบามา ซึ่งเป็นชุมชนที่มีปัญหามากที่สุดในเรื่องการเหยียดผิว คนผิวดำจะถูกกีดกันออกไปไม่มีสิทธ์เท่าคนผิวขาว ไม่เรียนรวมกัน ขึ้นรถเมล์แบ่งเป็นที่นั่งของคนขาว ที่นั่งของคนดำ เธอและครอบครัวใช้ชีวิตที่ไม่รื่นรมย์ เต็มไปด้วยอันตรายรอบด้าน
...........วันหนึ่งเมื่อเธอ 8 ขวบขณะสวดมนต์ในโบสถ์ ทันใดนั้นโบสถ์สั่นสะเทือนแทบพังลงมา เพราะห่างไป 2 ช่วงตึกในโบสถ์แบ๊บติสต์ กลุ่ม Ku Klux Klan ( กลุ่มล่าสังหารคนผิวดำ ) วางระเบิดสังหาร เด็กหญิงผิวดำเสียชีวิต 4 คนตายในโบสถ์ และ 1 ในนั้นคือเพื่อนที่โรงเรียนของเธอเอง
..........ชื่อของเธอ Condoleezza มาจากศัพท์ในวิชาดนตรีของอิตาลี แปลว่า อ่อนหวาน คุณพ่อเธอ จอห์น ทำงานเป็นที่ปรึกษาแนะแนวการศึกษาในวิทยาลัย คุณแม่ เเองเจลีน่า เป็นครู ครอบครัวนี้ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวอุปถัมภ์โบสถ์เล็ก ๆ ในชุมชน วันอาทิตย์ จอห์นไปเป็นนักเทศน์ เเองเจลีน่าเล่นออแกน ส่วน ด.ญ.ไรซ์ เล่นเปียโนในโบสถ์ เธอสามารถอ่าน นสพ.ได้ตั้งแต่ตอน 3 ขวบ
..........สภาพแวดล้อมใน เบอร์มิงแฮม เต็มไปด้วยความชิงชังคนผิวสี ความรุนแรง การทำร้ายคนผิวสี และไม่มีอนาคต ทำให้ครอบครัวไรซ์ ต้องย้ายถิ่นพำนักโดยเด็ดขาด ในปี 1967 จอห์น ไปเป็นรองอธิการบดีที่ มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ไรซ์ ได้เข้าเรียนในเกรด 10 ในไฮสคูล เป็นครั้งแรกของเธอที่ได้เรียนกับคนผิวขาว ไรซ์มีความคิดเป็นผู้ใหญ่เกินกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เรียนเร็วกว่าเพื่อน 2 ปี เรียนเก่งได้พาสชั้น มีศักยภาพในการเล่นดนตรี กีฬา อายุ 15 ปี จบไฮสคูล และคิดจะเรียนปริญญาตรี วิชาเอกทางการดนตรี
..........ปี 1972 ในระหว่างเรียนปี 3 เธอได้ค้นพบตัวเองว่าหลงใหลในวิชาโซเวียตศึกษา โดย ศจ.โจเซฟ คอเบล อดีตชาวเชค (Czech ) ลี้ภัยมาอยู่อเมริกาที่มีลีลาการสอนหนังสือที่เร้าใจแถมเป็นคุณพ่อของ เมดลีน อัลไบร์ท อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสมัยคลินตัน ไรซ์ จึงหันมาทุ่มเทความชอบในประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ดนตรี และการเมือง การปกครองของโซเวียต โดยเฉพาะการใช้อำนาจของโซเวียตที่แผ่อิทธิพลไปทั่วโลกเทียมเท่ากับ อเมริกา
..........ปี 1974 จบปริญญาตรี พร้อมด้วยเกียรตินิยมอันดับ 3 แล้ว ศึกษาต่อ ปริญญาโท ในเรื่องโซเวียต ที่ ม.นอร์ทเทอร์เดม
..........ปี 1976 กลับมาศึกษาต่อปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ พร้อมกับเรียนภาษารัสเซีย เพื่อหาข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ แน่นอนที่สุดเธอรู้ ภาษารัสเซีย
..........ในช่วงจังหวะนั้นเอง เหมือนกับคำกล่าวที่ว่าสถานการณ์สร้างวีรบุรุษ ประธานาธิบดี คาร์เตอร์ เข้ารับตำแหน่งไม่นาน โซเวียตกรีธาทัพบุกอัฟกานิสถาน ดร.ไรซ์ ซึ่งรู้ซึ้งกับ “ระบอบการปกครองโซเวียต ” ถึงกับเสนอความเห็นว่าวิธีการของ คาร์เตอร์ นั้น “ มันอ่อนแอเกินไป ” แท้ที่จริงแล้วเธอรู้ดีว่า “ความเข้มแข็ง ของอเมริกา “ เท่านั้นที่จะจัดการกับโซเวียตได้ ความคิดเช่นนั้นคือแรงส่งที่ทำให้เธอกลายเป็นรีพับลิกัน เต็มตัว
..........ปี 1981 เธอเป็น ผศ. ที่อายุน้อยมาก ในอายุ 26 ปีมหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด ให้ทุนพิเศษเพื่อศึกษาเรื่องโซเวียต พร้อมกับสอนหนังสือสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง ได้รับรางวัลการสอนหนังสือดีเด่น 2 รางวัลขณะเป็นอาจารย์ เป็นสตรีเป็นคนผิวสีคนแรกที่ได้รับเลือกเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดของสแตนฟอร์ด บริหารงบประมาณ 1.5 พันล้านเหรียญต่อปี ดูแลอาจารย์1,400 คน นักศึกษาราว 14,000 คน เขียนหนังสือมากมาย ได้รับเทียบเชิญเป็นบอร์ดบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ Chevron บอร์ดบริษัท Hewlett Packard รวมทั้ง The Rand Corporation
..........ดร.ไรซ์ เป็นคนที่มีสัมมาคารวะ จริงใจ ตรงไปตรงมา มุ่งมั่นเด็ดขาด แต่ก็
อ่อนหวาน น้อยคนอาจไม่ทราบว่าเธอเคยเล่นเปียโน เพื่อหาเงินเข้าการกุศล เจ้าหน้าที่ ด้านความมั่นคงสหรัฐชมเชยเธอตรงที่มีจริยธรรมในการนำเสนอข้อมูลต่อ ประธานาธิบดี โดยไม่มีสอดใส่ความเห็นส่วนตัว ในปี 1987 ตอนเธอได้รับการคัดเลือกเข้ามาทำหน้าที่ช่วยงานประธานาธิบดีบุช ผู้พ่อ ในทำเนียบขาว
..........ปี 2000 เธอได้รับเชิญไปทานอาหารกับครอบครัว บุช และได้มีโอกาสพบกับ จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ซึ่งกำลังรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง บุช พบว่าเธอนี่แหละคือคนที่ต้องการที่สุดสำหรับงานต่างประเทศ ดร.ไรซ์ ช่วยบุชปราศัยหาเสียง และเมื่อทันทีที่ประกาศผลการเลือกตั้ง บุช แต่งตั้งเธอเป็น ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงโดยสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 22 ม.ค. 2001 พ่อของ ดร.ไรซ์ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจวายในวัย 77 ปีในวันคริสต์มาสปี 2000 ซึ่งก่อนตายพ่อของเธอได้ขอร้องไว้ว่ามิให้เธอรับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล เพราะด้วยความห่วงใยลูกสาวผิวสีคนนี้ อาจจะต้องมีอันเป็นไปเพราะเธอเป็นอัฟริกันอเมริกัน หลังเหตุการณ์ 11 กันยายน เธอคือเจ้าของหลักการ “สหรัฐมีสิทธ์ที่จะโจมตีก่อนหากพบว่าประเทศนั้นเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐ” เธอนี่แหละคือคนสำคัญในกรณี สหรัฐตัดสินใจโจมตีอัฟกานิสถาน และบุกอิรัก
..........มาจนถึงวันนี้ ดร.ไรซ์ ก้าวขึ้นมาเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ อย่างเต็มตัว ทุกคำพูดการปฏิบัติของเธอถูกจับจ้องตลอดเวลา เธอเป็นสุภ าพสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในปฐพีนี้



-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-


2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ3/11/52 17:24

    ให้กำลังใจนะครับ นำความรู้มาแบ่งปันกัน น่าสนใจมาก ๆ ทำต่อไปครับ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณครับ ที่แบ่งปันบทความดี ๆ แบบนี้ ที่ทำให้ผมมีความรู้รอบตัวเพิ่มขึ้น

    ตอบลบ